สิ่งที่พระโพธิสัตว์ทั้งหลายควรทำไว้ในใจให้มั่นคง

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย ธัมมะสามี, 4 พฤษภาคม 2013.

  1. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... ท่านหลวงปู่พระมหาวีระ ถาวโร ท่านเล่าพระพุทธประวัติตอนนี้เอาไว้ว่า

    ... เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ก็ทรงนั่งนึกต่อไปว่า

    ... คำว่าศาสดา แปลว่า ครู

    ... การที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปฏิบัติมา ก็ไม่ใช่เพื่อต้องการความสุขส่วนตัว เป็นความต้องการที่ให้คนอื่นเขาสุขด้วย จึงเรียกว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ... เป็นอันว่าท่านก็นั่งนึกว่า

    ... " ใครหนอที่จะรับพระธรรมเทศนาที่เราบรรลุแล้วได้ เพราะธรรมที่ได้มาแล้วนี้ ลึกซึ้งคัมภีรภาพมาก ยากเหลือเกินที่คนจะปฏิบัติตามได้ "

    ... นึกมานึกไปก็หวนนึกขึ้นมาได้ว่า

    ... " โอหนอ ท่านอาจารย์ทั้งสองคือท่านอาฬารดาบสกับท่านอุทกดาบส สองท่านเป็นอาจารย์ที่สอนให้องค์สมเด็จพระจอมไตรได้สมาบัติ ๘

    ... ฉะนั้น ในเมื่อสอนให้ลูกศิษย์ได้สมาบัติ ๘ ได้ ตัวท่านก็ต้องได้สมาบัติ ๘ ด้วย การได้สมาบัติ ๘ คือรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ จิตละเอียดมาก ถ้ารับพระธรรมเทศนาจากองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แผล็บเดียวก็เป็น พระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ "

    ... คำว่า " ปฏิสัมภิทาญาณ " หมายความว่า

    ... ๑. ฉลาด ถ้าเขาพูดมาโดยย่อ ก็สามารถอธิบายให้ละเอียด เข้าใจชัดได้

    ... ๒. ถ้าเขาพูดมายาว ๆ ก็สามารถย่อให้สั้นเข้า พอจำได้

    ... ๓. และก็มีความฉลาดในภาษา มีปัญญารอบรู้ทุกอย่าง มีฤทธิ์รอบด้วยประการทั้งปวง เป็นอันว่าอภิญญา ๖ และวิชชา ๓ มีอะไร ปฏิสัมภิทาญาณก็มีหมด

    ... สำหรับปฏิสัมภิทาญาณนี้ต้องทรงสมาบัติ ๘ ก่อน(บรรลุอริยผลตั้งแต่อนาคามีขึ้นไป)

    ... องค์สมเด็จพระชินวรทรงคิดว่า

    ... " ถ้าอย่างนั้นเราจะไปเทศน์ให้ท่านอาจารย์ทั้งสองเพื่อจะได้บรรลุมรรคผล "

    ... ก่อนที่องค์สมเด็จพระทศพลจะทรงทำอะไร พระพุทธเจ้าไม่ใช่พ่อ และพ่อก็ไม่ใช่พระพุทธเจ้า ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านทำอะไร ท่านมีพระพุทธญาณเป็นเครื่องรู้ สมเด็จพระบรมครูจึงใช้ทิพยจักขุญาณดูว่า

    ... " อาจารย์ทั้งสองเวลานี้อยู่ที่ไหน ก็ทราบได้ว่าเวลานี้อาจารย์ทั้งสองตายจากความเป็นคนไปเกิดเป็นอรูปพรหม ไม่มีอายตนะ คือไม่มีเครื่องรับ เครื่องส่งของพระพุทธเจ้ามี เครื่องรับไม่มี ไม่มีตาจะรับ ไม่มีหูจะรับ มีแต่ตาไม่มีหู ตีใบ้ก็ยังใช้ได้ มีแต่หูไม่มีตา ใช้เสียงก็ยังดี นี่ไม่มีทั้งหูทั้งตา มีแต่จิตลอยเคว้งคว้างในอากาศ "

    ... สมเด็จพระบรมโลกนาถก็ทรงปลงอนิจจังว่า

    ... " โอหนอ น่าเสียดายอาจารย์ทั้งสอง ฉิบหายจากความดีเสียแล้ว "

    ... เพราะว่าองค์สมเด็จพระประทีปแก้วไม่มีโอกาสจะสนองคุณท่านอาจารย์ทั้งสอง เพราะไม่มีอายตนะจะรับ ความจริงพราหมณ์เขาก็เก่งนะ เขามีการสอนกันถึงสมาบัติ ๘




    ..... ต่อไปองค์สมเด็จพระจอมไตรก็ทรงระลึกถึงท่านปัญจวัคคีย์ฤาษีทั้ง ๕ ที่เกลียดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามักมากในอาหาร และก็มักมากในกามคุณ กลับมาฉันข้าวใหม่

    ... แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่นึกอะไร นั่นเป็นความเข้าใจของลัทธิพราหมณ์ ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ๆ จะไปนั่งห้ามปรามความรู้สึกกันไม่ได้ ฉะนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงได้ทรงคิดว่า

    ... " เวลานี้ปัญจวัคคีย์ คือฤาษีทั้ง ๕ ได้แก่ ท่านโกณฑัญญะ ท่านวัปปะ ท่านมหานามะ ท่านภัททิยะ และท่านอัสสะชิ ท่านทั้งหมดเวลานี้อยู่ที่ไหน "

    ... องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ทรงทราบว่า อยู่ในเขตป่าอิสิปะตะนะมฤคทายวัน แคว้นเมืองพาราณสี สถานที่นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปมากกว่าทุกเมือง

    ... แต่ทว่าการเดินทางไปของพระพุทธเจ้าไม่ถึงวัน เราก็ต้องคิดว่าองค์สมเด็จพระภควันต์ท่านทรงเดินไปแบบไหน

    ... ตอนนั้นเองพ่อก็มานึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

    ... การเสด็จไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันที่แขกสร้างสถูปไว้ตรงนั้นน่ะไม่ใช่ พ่อไม่ได้ทำลายผลประโยชน์ของเขา มันไม่จำเป็นหรอกถ้าเราจะไหว้กัน

    ... ที่จริงๆ จะต้องห่างจากที่ตรงนั้นไปประมาณ ๓ กิโลเมตร เอาเชือกผูกจากที่เขาทำสัญลักษณ์ไว้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก กางแขนเข้า แล้วก็ตัดมุมเฉียงเป็นตะวันออกเฉียงเหนือ เอาเชือกขึงไป ๓ กิโลเมตร ก็จะเข้าถึงเขตที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพบปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕

    ... ตอนนั้นท่านทั้งหลายอยู่ในป่าทึบ แต่ว่าไกลบ้านไม่มากนัก มีหมู่บ้านหนาๆ แต่ว่าเสียงไม่เกลื่อนกล่น หมายความว่าท่านหนีบ้าน ท่านไม่อยู่ในบ้าน ท่านอยู่ในป่า ท่านเป็นพราหมณ์ ท่านต้องการความดี ที่ตรงนั้นเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร

    ... ตอนนั้นจิตพ่อก็คำนึงไปถึงองค์สมเด็จพระชินสีห์ การลีลาของพระพุทธเจ้าท่านมีรองเท้าหรือเปล่า

    ... ดูแล้วองค์สมเด็จพระประทีปแก้วไม่มีรองเท้า ทรงพระบาทเฉย ๆ

    ... ดูรูปร่างขององค์สมเด็จพระบรมโลกนาถว่าจะเศร้าหมองหรือว่าผ่องใส

    ... ดูแล้วผ้าที่พระองค์ห่มก็สวย ทั้งนี้เพราะเป็นผ้าที่เทวดานำมาถวาย

    ... พระฉวีวรรณขององค์สมเด็จพระจอมไตรก็ทรงขาวและก็เหลืองจัด เหลืองน้อยกว่าผ้าไปหน่อยหนึ่ง รู้สึกว่าลักษณะของพระองค์สวยจริง ๆ ดูทุกส่วนก็สวยกลมกลืนไปหมด ดูภาพตามอารมณ์เคลิ้มของจิต พ่อคิดไปถึงท่าน มันเหมือนกับลืมตาฝันนั่นแหละ

    ... ดูลีลาการเยื้องขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาเสด็จเยื้องกรายไปช้าๆ แบบสบายๆ ไม่ใช่เดินแบบตามควายหรือหนีตำรวจ เป็นอันว่าท่านไปแบบเรียบร้อยจริง ๆ เดินไปได้สักครู่หนึ่งแต่ว่าผลแห่งการเดิน ลูกรัก รถเราไปตั้ง ๘ ชั่วโมง ท่านเดินไม่ถึงวัน




    ..... เวลาตอนเช้าฉันภัตตาหารที่เขานำมาถวายแล้ว อย่าลืมนะว่าอยู่ใกล้บ้านนางสุชาดา นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสอยู่แถวนั้น

    ... และเมื่อองค์สมเด็จพระภควันต์ทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็จงอย่าคิดว่า นางสุชาดาจะยังไม่นึกถึงองค์สมเด็จพระประทีปแก้วเพราะเดินอยู่แถวนั้น เดินไป เดินมา เด็กเลี้ยงควายก็เห็นหน้าท่าน

    ... ฉะนั้น นางสุชาดาก็ยังไม่ทิ้งองค์สมเด็จพระภควันต์ นอกจากถวายภัตตาหารครั้งนั้นแล้ว ก็ยังถวายต่อไป เพราะว่าเวลาที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ไม่ได้ใช้เวลาเป็นเดือน ท่านใช้เวลาคืนเดียว พูดกันอย่างภาษาไทยรวบรัดกัน เริ่มตั้งแต่ตอนเย็นก็ไปจบเอาเวลาใกล้รุ่ง คืนเดียวเท่านั้น ถ้าใครเห็นพระองค์เมื่อไรก็พบแต่ความชื่นใจ ฉะนั้น นางสุชาดาก็คงไม่โง่จนกระทั่งจะไม่ถวายอาหารใหม่

    ... เป็นอันว่าองค์สมเด็จพระจอมไตรเสวยพระกระยาหารแล้ว สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทรงเยื้องกรายมุ่งไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แต่ว่าเดินไปได้ไม่เท่าไร ก็ทรงพบอุปกาชีวก

    ... ท่านอุปกาชีวกนี่ลูกรัก ชีวกไม่ได้แปลว่านักบวช อาจจะเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ เขาเรียกกัน จะถือว่าเป็นนักบวชทีเดียวก็ไม่ใช่ แต่ว่าเป็นที่นิยมเรื่องศาสนาเหมือนกัน เพราะว่าในเมืองแขกนิยมศาสนา

    ... ท่านอุปกาชีวกเห็นองค์สมเด็จพระภควันต์มีฉวีวรรณผ่องใส เยื้องกรายก็น่ารักน่าเลื่อมใส จึงได้ถามองค์สมเด็จพระจอมไตรว่า

    ... " ท่านบวชในสำนักของใคร ใครเป็นครูบาอาจารย์สอนท่าน ฉวีวรรณจึงสวยสดงดงามมาก "

    ... สมเด็จพระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า ตถาคตนี่เป็นสยัมภูนะ หมายความว่า ตถาคตเป็นผู้รู้เอง ไม่มีใครสอน "

    ... ท่านอุปกาชีวกฉุนนิด ๆ คิดว่า

    ... " หมอนี่อวดวิเศษมากไปแล้ว ไอ้คนที่ไม่มีครูสอนน่ะ มันจะรู้เองได้ยังไง "

    ... ความจริงแกก็คิดตามเหตุผลธรรมดา แกก็เลยส่ายหน้าไม่เชื่อพระพุทธเจ้าแล้วหลีกไป

    ... องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ไม่ได้ว่าอะไร ไม่คิดอะไร เป็นเรื่องธรรมดาๆ เพราะว่าพระองค์มีเหตุมีผล ต่อมาภายหลังได้กลับมาหาพระพุทธเจ้า และได้เป็นพระอรหันต์ไปในที่สุด



    ..... หลังจากนั้นแล้วองค์สมเด็จพระทศพลจึงได้เดินทางต่อไปยังเขตของเมืองพาราณสีที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เวลาที่ทรงดำเนินไปนั้นก็เห็นจะไปด้วยกำลังของอภิญญาน้อยๆ

    ... คำว่าอภิญญาน้อยๆ ก็หมายว่าค่อยๆ เยื้องกรายไปให้เร็วกว่าธรรมดาหน่อย เพราะว่าถ้าเดินไปแบบธรรมดาๆ ก็ใช้เวลาหลายวัน

    ... สมเด็จพระพิชิตมารก็คงจะกำหนดเวลาว่าเราจะไปถึงเวลาตะวันคล้อย เงาคล้อยมาประมาณสัก ๒ นิ้วเศษพอดี หากว่าไปด้วยอภิญญาจริงๆ หรืออำนาจวาโยกสิน ปุ๊บเดียวมันถึงเลย

    ... ฉะนั้น พระพุทธเจ้าคงจะใช้กำลังน้อยๆ ไม่ใช้กำลังมากๆ ไป ให้พอดีๆ เป็นอันว่าประมาณบ่ายสองโมง องค์สมเด็จพระชินสีห์ก็เสด็จเข้าเขตป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เข้าไปใกล้กับที่ท่านทั้ง ๕ อยู่

    ... ท่านทั้ง ๕ เมื่อเห็นองค์สมเด็จพระบรมครูเสด็จเข้าไปเห็นหน้าตาแช่มชื่น มีผิวกายผ่องใส ผ้าที่ห่มก็มีสดใส ดูกายก็ไม่ซูบผอม เห็นร่างกายสมบูรณ์บริบูรณ์ทุกอย่าง สมลักษณะสมส่วน ท่านทั้ง ๕ ก็เกิดความไม่ชอบใจอีก เพราะถือว่าการอดเป็นของดี พราหมณ์ถือว่าอดจะบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณและทรงคุณธรรมพิเศษ คราวนี้องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์มีเนื้อเต็มซะแบบนี้ ไม่ชอบใจ

    ... เมื่อมองเห็นองค์สมเด็จพระจอมไตรก็จำได้ ท่านโกณฑัญญะซึ่งเป็นหัวหน้า เวลานั้นก็มีอายุแก่กว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประมาณเกือบ ๓๐ ปี เพราะว่าตอนที่องค์สมเด็จพระชินสีห์เมื่อท่านประสูติ โกณฑัญญะพราหม์ท่านบวชเป็นพราหมณ์แล้วและเก่งในไตรเภท ถึงกับดูลักษณะทายได้ถูกต้อง อายุเกือบจะ ๓๐ ปี ประมาณ ๒๗–๒๘ ปี

    ... อย่าคิดว่าท่านเป็นแขกดำมะเมื่อมนะ เป็นอันว่าทั้ง ๕ ท่านนี้มีผิวไม่ดำ ท่านเป็นแขกขาวไม่ใช่แขกดำ อย่าลืมว่าแขกก็มี ๒ พวก คือแขกขาวกับแขกดำ แขกขาวนี่เนื้อจริงๆ ละก็ เขาจะมีความฉลาดมากกว่าแขกดำ แต่จะถือว่าแขกขาวเก่งทุกคนก็ไม่ได้ แขกดำที่เขาเก่งก็มี

    ... ท่านโกณฑัญญะพราหมณ์มีรูปร่างลักษณะสูงโปร่งคล้ายคลึงพระพุทธเจ้า คำว่าคล้ายคลึงนี่หมายความว่า สูงไล่ๆ กันแต่ต่ำกว่าหน่อย ดูเนื้อจะเห็นว่าเป็นรอยผอมไปนิด เห็นจะเป็นเพราะการทรมานกาย ส่วนอีก ๔ ท่าน เป็นพราหมณ์หนุ่มรู้สึกว่าหน้าตาก็ดีด้วยกันทั้งหมด

    ... เมื่อเห็นองค์สมเด็จพระบรมสุคตเสด็จเข้าไปใกล้ จึงแนะนำกันว่า

    ... " เวลานี้ท่านสิทธัตถะหมดกำลังใจที่จะประพฤติความดี และพวกเราก็หนีมาอยู่ที่นี่เห็นจะลำบากต้องช่วยตนเอง การมาคราวนี้คงจะหวังความช่วยเหลือจากเรา ฉะนั้น พวกเราจงอย่าต้อนรับเธอ อย่าปูอาสนะให้นั่ง อย่ารับบาตร อย่ารับสังฆาฏิ อย่าล้างเท้าให้ อย่าทำทุกอย่างที่เคยปฏิบัติ "

    ... เพราะยังเจ็บใจที่องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถคลายความเพียรเวียนมาเพื่อความมักมากในอาหาร แต่ทว่าคนที่เคยเคารพกัน จะว่ากันไปอีกทีก็อาศัยบารมีขององค์สมเด็จพระภควันต์ก็อาจจะเป็นได้ เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรเข้าไปใกล้ทั้ง ๕ พราหมณ์ ก็ลืมอาณัติสัญญา ต่างคนต่างปูอาสนะ จัดน้ำใช้น้ำฉัน รับบาตร รับสังฆาฏิ ล้างเท้าให้เป็นอย่างดี

    ... แต่ทว่า จุดแรกที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งบนท่อนไม้เอาขาห้อย นั่งแบบสบายๆ แบบกันเองไม่ต้องมีลีลาอะไรมาก

    ... เพราะมีท่อนไม้ท่อนหนึ่ง มีต้นไม้ใหญ่ล้มลงก่อน ไม่ใช่ล้มขณะนั้น แต่ว่าท่านพวกนั้นถึงแม้ว่าจะต้อนรับ แต่ก็แสดงความไม่เคารพในองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค

    ... ในตอนนี้บรรดาลูกรักจะต้องคิดนะว่า

    ... " ความลำบากของพระพุทธเจ้าที่จะแสดงพระธรรมเทศนาว่าลำบากขนาดไหน ขนาดที่คนเขาไม่เชื่อ เขาเกลียดหาว่ามักมากในลาภสักการะ ละโมบโลภมากในอาหาร แต่องค์สมเด็จพระพิชิตมารก็สร้างศรัทธาให้เกิดกับเขา "

    ... ลูกลองคิดดูซิ มันสร้างความลำบากใจสักเพียงใด นี่เป็นความรู้สึกของพ่อ และก็อาจจะเป็นความรู้สึกของลูกด้วย เพราะเราไม่มีความสามารถเท่าพระพุทธเจ้า แต่ทว่าถ้าดูสภาพอารมณ์เคลิ้มของพ่อ ที่พ่อนึกถึงลูกว่าลูกไปเมืองพาราณสี และเป็นเขตที่องค์สมเด็จพระมหามุนีแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก คือ ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร จิตมันก็เลยเคลิ้มไปถึงพระพุทธเจ้าตอนที่แสดงปฐมเทศนา




    ..... ตอนนี้ภาพปรากฏกับจิตพ่อ ที่เรียกกันว่ามโนภาพ ก็เกิดขึ้นเป็นระยะตามที่กล่าวมา และในความรู้สึกว่าเวลานั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไมได้ทรงมีปริวิตกเหมือนกับที่พ่อคิด พ่อคิดว่า

    ... " พระพุทธเจ้าทรงลำบากมาก พราหมณ์เขาไม่เชื่อ ก็พยายามตามไปสอน ค่าจ้างรางวัลก็ไม่มี เมื่อเข้าไปถึงแล้วเขาก็ประณามพระองค์ด้วยถ้อยคำที่ไม่เคารพ "

    ... แต่ในเมื่อเขาพูดจบ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า

    ... " เวลานี้เราได้บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว "

    ... พอสมเด็จพระประทีปแก้วตรัสจบ เขาก็ค้านว่า

    ... " ท่านจะมาพูดอะไร เราไม่เชื่อหรอก ไม่มีใครเขาปฏิบัติ ไม่มีใครอุปถัมภ์ ต้องอยู่คนเดียวทนไม่ไหวในป่าเปลี่ยว ต้องออกมาหาที่พึ่ง การที่ท่านเลิกจากการทรมาน แล้วกลับมากินข้าวจนร่างกายอ้วนพีแบบนี้ จะมาบอกว่ามีส่วนแห่งความดี ได้บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณนี่ ฉันไม่เชื่อ เชื่อไม่ได้ เพราะการทำแบบนี้ไม่ใช่ทางบรรลุมรรคผล เป็นคนที่มักมากไปด้วยลาภสักการะ "

    ... แทนที่องค์สมเด็จพระจอมไตรจะทรงท้อถอย เบื่อหน่าย หรือจะโกรธ กลับมีพระมหากรุณาธิคุณ ตรัสง่ายๆ ว่า

    ... " พวกเธอทั้งหลายก่อนที่เราอยู่ด้วยกันมาถึงหลายปี ถ้อยคำอย่างนี้ คือ คำว่าบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ เธอเคยได้ยินไหมว่า ตถาคตเคยพูดกับเธอเมื่อไรบ้าง "

    ... บรรดาท่านพวกนั้นฟังก็ตกใจ นิ่งอึ้งว่า " จริงนะ "

    ... ลักษณะในตอนนั้นองค์สมเด็จพระภควันต์ก็ประทับนั่งอยู่บนตอไม้ ห้อยพระบาททั้งสองเอามือวางไว้บนขาทั้งสอง

    ... ดูลักษณะอาการสง่าผ่าเผยการเดินไปตั้งแต่ตอนเช้าถึงตอนบ่าย ถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ดูลักษณะขององค์สมเด็จพระทรงธรรมแล้ว ไม่เห็นมีความรู้สึกว่าเหนื่อยสักนิดเดียว

    ... ฉะนั้น การเดินทางไปคราวนั้นต้องใช้อภิญญาช่วยแน่ พระองค์จึงมีพระพักตร์สดใสสดชื่นเป็นปกติ พราหมณ์พวกนั้นก็มานั่งคิดกันและหันไปถามองค์สมเด็จพระภควันต์ว่า

    ... " วันนี้เดินทางมาจากไหน "

    ... สมเด็จพระจอมไตรก็ตรัสว่า

    ... " วันนี้ฉันมาจากต้นโพธิ์ที่ไปพัก แล้วพวกเธอก็หนีมา "

    ... เขาถามว่า

    ... " ออกเดินเวลาเท่าไร "

    ... สมเด็จพระจอมไตรก็ตรัสว่า

    ... " เวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้ามาประมาณ ๑ ใน ๔ ของเวลาเที่ยง จึงได้ออกเดิน "

    ... ถามว่าเดินวันเดียวหรือ

    ... " ท่านก็บอกว่าไม่เต็มวันหรอก เดินมาสักครู่เดียวมันก็ถึง "

    ... ถามว่า

    ... " เหนื่อยไหม "

    ... ท่านก็ตอบว่า

    ... " ถ้ายังไม่บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ถ้าจะเดินให้ถึงกับเหนื่อย คือเดินใกล้วิ่ง วันเดียวมันก็ไม่ถึง "

    ... ท่านก็ถามว่า

    ... " พวกเธอที่เดินมาจากตถาคตเดินมาใช้เวลาเท่าไรจึงถึง "

    ... ท่านพวกนั้นก็บอกว่า

    ... " การมามาแบบสบายกว่าจะมาถึงที่พักนี่ได้ก็ประมาณ ๗ ราตรี "

    ... องค์สมเด็จพระชินสีห์ก็ตรัสว่า

    ... " นั่นถูกแล้ว ถ้ามากันแบบสบายต้องแบบนั้น แต่ว่านี่ตถาคตมาไม่ถึงวัน เพราะว่าในฐานะที่ได้บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ "

    ... บรรดาท่านพวกนั้นก็แปลกใจ ก็คิดว่า

    ... " ถ้าจะจริงนะ เคยอยู่ด้วยกันมาตั้งนาน คำนี้ไม่เคยได้ยินเลย "

    ... ถ้ากระไรก็ดี ในเมื่อองค์สมเด็จพระมหามุนีตรัสอย่างนั้น ความรักความเคารพในครั้งเก่าก็คืนตัวใช้เวลานั่งสนทนากัน เวลาที่ท่านพวกนั้นพูดแสดงความไม่เคารพ แต่ว่าสมเด็จพระบรมสุคตก็ไม่ได้แสดงอาการออกว่าไม่พอใจ

    ... ปรากฏว่าพระพักตร์ขององค์สมเด็จพระจอมไตรยังสดชื่น ไม่มีอาการสะดุด คือคนที่ไม่ชอบใจนี่ ต้องมีอาการสะดุด ทั้งสิบลูกตามองหน้าพระพุทธเจ้า ไม่เห็นว่าพระพุทธเจ้ามีการสะดุดตรงไหนเลย

    ... ฉะนั้น ในเมื่อเห็นพระองค์ทรงเฉยๆ มีหน้าตาแช่มชื่น มีอารมณ์สบาย จึงมีความสงสัยว่า

    ... " เวลานี้สิทธัตถะราชกุมารคงจะได้บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว "

    ... ฉะนั้น จึงได้พร้อมยอมรับ

    ... " ถ้าอย่างนั้นข้าพเจ้าเชื่อ ถ้าหากว่าท่านได้บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณจริงๆ ละก็ ขอได้โปรดช่วยเทศน์สงเคราะห์สักหน่อยเถิด จะได้รับความรู้ในการเป็นพระโพธิญาณของท่าน "

    ... บรรดาลูกรักทั้งหลายอย่าลืมนะว่า

    ... การพูดของท่านโกณฑัญญะจอมฉลาดที่ให้องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถแสดงพระธรรมเทศนาโปรด เราจะถือว่าเชื่อเต็มอัตราน่ะไม่ได้แน่ะนี่เป็นการพิสูจน์กันจริงๆ หมายความว่าถ้าไม่เคยพูดก็ใช่ละ แต่เวลานี้มาพูดจะตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ ก็ต้องรู้กันตอนแสดงพระธรรมเทศนา

    ... ถ้าการแสดงพระธรรมเทศนาเป็นไปโดยไร้ประโยชน์ นั่นหมายความว่าท่านทั้ง ๕ จะไม่คบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกต่อไป

    ... เป็นอันว่าเราก็ต้องมองดูภาพกันคำว่ามองดูภาพ อย่านึกว่าพ่อมีอำนาจทิพยจักขุญาณ มันเป็นภาพเลือนตามกำลังใจที่นึกไป

    ... รวมความว่าท่านทั้ง ๕ ถ้าตามกำลังใจนี่รู้สึกว่า ตัดสินใจว่าเชื่อไม่เคยได้ยินสำหรับเรื่องที่จะเทศน์ให้ฟัง ความมั่นใจก็ยังไม่มีมากนัก ยังไม่มั่นใจมาก

    ... ฉะนั้น เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเทศน์ก็ค้านกับความรู้สึกแห่งความเป็นจริง เดี๋ยวก่อนลูกรัก ทั้งชายและหญิง

    ... พระพุทธเจ้าเวลาที่จะเทศน์ ท่านไม่ได้นั่งอยู่บนตอไม้หรือขอนไม้หรอกนะ

    ... เมื่อตกลงกันแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็จะทรงเทศน์

    ... ท่านโกณฑัญญะกับท่านวัปปะ ก็จัดสถานที่ใหม่ ขอให้นั่งที่โคนต้นไม้มีรากอยู่ข้างล่างรากวนมาวนไป มีสภาพเหมือนแท่น

    ... ท่านก็จัดที่ให้เรียบ เอาอาสนะไปปู คือผ้าเท่าที่จะหาได้นั่นเอง ในป่าอะไรจะว่าแก้วๆ ไปซะหมด ประเดี๋ยวชาวบ้านเขาจะหาว่าในป่านี้รวยแก้ว พระแท่นแก้ว รัตนบังลังก์ รัตนแปลว่าแก้ว รัตนบังลังก์ หมายถึง บังลังก์แก้ว ในป่าจะไปหาที่ไหน ถ้าแก้วแปลว่าดีใช้ได้ จะเอาเนื้อแก้วแท้ๆ ใช้ไม่ได้

    ... ก็เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าประทับนั่งเวลานั้นทางนั่งพับเพียบหรือว่านั่งขัดสมาธิ เอ้าใครตอบ

    ... พ่อพูดไปก็เอาใจนึกตามไปด้วยพระพุทธเจ้าไม่ได้นั่งพับเพียบ เสร็จประทับนั่งขัดสมาธิ ขัดแบบสบาย ๆ เขาเรียกว่าขัดสมาธิสองชั้น

    ... สมเด็จพระภควันต์ทรงพระกายตรง นั่งหลังตรง เห็นหรือเปล่า สวยสง่างามมาก ท่าทางผึ่งผาย

    ... แต่ว่าท่านทั้ง ๕ นั้น เวลานั่งนั่งพับเพียบหรือกระโหย่ง ไม่ใช่พับเพียบนั่งแบบกระโหย่ง จะถือว่านั่งแบบยอง ๆ ก็ไม่ชัด จะว่านั่งคุกเข่าทีเดียวก็ไม่ใช่ นั่งกระโหย่งพนมมืออยู่ประเดี๋ยวหนึ่ง

    ... ในที่สุดลงนั่งพับเพียบตามระเบียบปฏิบัติแห่งการฟังของพราหมณ์




    ..... องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงแสดงปฐมเทศนา ก็คือ เทศน์กัณฑ์แรกที่เราเรียกว่าธรรมจักร

    ... ธรรมจักรเป็นเทศน์หักล้างความรู้สึกของพราหมณ์เดิม โดยสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าถือเอาใจความว่า

    ... " อันดับแรกพระองค์ก็ทรงยกเรื่องการปฏิบัติของพราหมณ์ขึ้นมาพูดก่อนว่า การปฏิบัติของพราหมณ์ตามรูปเดิม ปฏิบัติมาไม่ถูกไม่ต้องตามความเป็นจริงไม่ใช่ทางบรรลุมรรคผล ทั้งนี้เพราะว่าตถาคตได้ทดลองมาแล้ว อย่างที่พวกเธอเห็นการทรมานตน ตถาคตทำมาแล้ว และทำยิ่งกว่าคนอื่นที่จะพึงทำ เธอทั้ง ๕ ก็เห็นแล้ว แม้แต่ตถาคตจะลุกขึ้นก็เซร่างกายเกือบจะทรงไม่ไหว เอามือลูบไปตามร่างกายขนก็หลุดตามมือ

    ... แต่ว่าการปฏิบัติอย่างนี้เป็นการเคร่งเครียดไป เป็นการทรมานตนไม่ใช่ทางบรรลุมรรคผล



    ... และอีกอันหนึ่งสำหรับการปฏิบัติที่จะไม่ได้บรรลุมรรคผลก็คือ ความอยาก ที่เรียกว่า กามะสุขัลลิกานุโยค ปฏิบัติไปด้วยมีความสนใจในกามคุณ ๕ ก็ดี หรือว่ามีการอยากได้ในมรรคผลต่าง ๆ ในขณะปฏิบัติก็ดี

    ... อย่างนี้ถือว่ามีอารมณ์ฟุ้งซ่าน จิตไม่มีกำลัง ถ้าจะให้จิตมีกำลังจริงๆ ต้องเว้นเหตุ ๒ ประการนี้เสีย เวลาปฏิบัติอย่าทำให้ถึงขั้นทรมานตน คำว่าทรมานตนคือตัวลำบากเกินไป เครียดเกินไป นั่งนานเกินไป ที่เรียกว่า อัตตะกิละมะถานุโยค การปฏิบัติอยู่ในเขต ๔ ประการได้ คือ นั่งก็ได้ ยืนก็ได้ เดินก็ได้ นอนก็ได้

    ... จงอย่าลืมว่าเราฝึกฝนกันที่ใจ เรื่องกายนี้ไม่มีความหมาย กายมันเป็นที่อาศัยของใจ ความบริสุทธิ์ผุดผ่องจะมีขึ้นมาได้หรือไม่ได้ มันอยู่ที่ใจเป็นสำคัญ

    ... ถ้าใจดีเสียอย่างเดียว ปากก็พูดดี กายก็ทำดี

    ... ถ้าใจเลว ปากก็พูดเลว กายก็ทำเลว

    ... ฉะนั้น เวลาที่ฝึกจะต้องใช้มัชฌิมาปฏิปทา คือ ทำปานกลาง หมายถึงว่าทำแบบสบายๆ อารมณ์ฝืนทางกายอย่าให้มี ปล่อยกายมันไปตามปกติ มันอยากจะนอนก็ให้มันนอน มันอยากจะนั่งก็ให้มันนั่ง มันอยากจะเดินก็ให้มันเดิน มันอยากจะยืนก็ให้มันยืน การเดินเป็นการบริหารร่างกายทำให้ท้องไม่ผูก ใจทรงอารมณ์เข้าไว้

    ... เวลาที่ใจทรงอารมณ์ของความดีก็ต้องดูกำลังใจด้วย เพราะว่าใจของเราคบหาสมาคมกับนิวรณ์ ๕ ประการมานาน นับเป็นแสนๆ กัปหรือนับเป็นอสงไขยๆ กัป มาอยู่ประเดี๋ยวเดียวเราจะจับให้มันอยู่ทรงตัวก็แสนยาก เราจะต้องฝึกฝนด้วยความลำบาก เพราะอามรณ์เคยชินของจิตเป็นอย่างนั้น

    ... จิตมันคิดเหนือขอบเขตต่างๆ มันก็คิดไปรอบๆ

    ... มีเหตุมีผลไม่มีเหตุไม่มีผลมันก็คิด

    ... อยู่เฉยๆ มันก็คิด

    ... สถานที่อยู่สบายมันก็คิด

    ... คิดกันคนละแบบ มันเป็นอารมณ์คิด

    ... แต่อารมณ์คิดของพวกเรานี่ โดยปกติก็มีความคิดอยู่อย่างเดียวว่า

    ... เราต้องการจะทรมานทั้งกายทั้งใจก็ดีให้เพลีย เมื่อมันเพลียแล้วมันก็ไม่รับอารมณ์ความชั่ว คือ อารมณ์ของอกุศล

    ... คิดว่าอารมณ์ที่เป็นกุศลจะมาจากการการเพลียของกายและใจ อันนั้นไม่ถูก

    ... กายก็ดีใจก็ดีที่มีอาการเพลียมาก กำลังต้านทานของอารมณ์ที่เป็นอกุศลก็จะไม่มีเหมือนกัน สิ่งที่จะเข้ามาแทนก็คือ อกุศล

    ... นั่นหมายความว่า ถ้ามันปวด มันเมื่อยขึ้นมา ความเบื่อหน่ายมันจะเกิด อารมณ์ฟุ้งซ่านมันจะมี มันจะมานั่งคิดว่า ถ้าเรากินข้าวมากๆ ก็จะดี จะไม่หิวอย่างนี้ และแรงจะไม่หมดแบบนี้ เราอยู่กับสามีภรรยาก็ดี จะได้มีคนปฏิบัติ

    ... องค์สมเด็จพระสวัสดิ์ตรัสว่า

    ... นั่นเป็นความเข้าใจผิดของพราหมณ์ และก็ถือกันมานานดึกดำบรรพ์ เข้าใจว่าเป็นของดี แต่ความจริงมันก็ดีหน่อยหนึ่ง แต่ก็ดีไม่มาก

    ... ดีที่ยกตนออกจากกามเข้ามาอยู่ในป่า

    ... แต่ทว่าก็เหมือนกับไม้ในป่านั่นแหละ เหมือนกับท่อนไม้ที่มียาง ชุ่มไปด้วยยางและก็แช่น้ำนั้น

    ... มีอุปมาเหมือนกับคนที่เกิดมาเป็นชาวบ้านไม่ใช่นักบวช และก็ยังอยู่ในกามคุณ มีผัวมีเมียกันมีความต้องการในด้านของความรักระหว่างเพศ ด้านของความโลภ ด้านของความโกรธ ด้านของความหลง อันนี้เหมือนกับท่อนไม้ที่ชุ่มไปด้วยยางและก็แช่น้ำ

    ... สำหรับพวกท่านมีสภาพเหมือนกับไม้ที่ชุ่มไปด้วยยาง แต่ยกมาจากน้ำแล้วคือ นักบวช ยกมาให้พ้นจากสภาพของการแช่น้ำ

    ... แต่ทว่าถ้าจิตยังอยู่ในขั้นอัตตกิลมถานุโยค คือการทรมานตนก็ดี และกามสุขัลลิกานุโยคก็ดี ถือว่าไม้นั้นยังชุ่มด้วยยาง ยางไม่ได้แห้งไปเพราะว่ากำลังใจตก เพราะการทรมานตน

    ... ฉะนั้น องค์สมเด็จพระทศพลจึงได้แนะนำว่า

    ... เธอต้องปฏิบัติตามสบายกลางๆ แบบสบายๆ ให้อารมณ์เป็นสุข

    ... แต่ต้องมีอารมณ์ฝืนจากอารมณ์เดิมที่เราต้องการ คือการทรมานตนต้องฝืน ต้องการให้ชุ่มไปด้วยยางนี่ต้องฝืน

    ... แต่ความจริงพวกกามนี่เธอไม่มีแล้ว การที่จะไปนึกถึงอยากมีลูก มีเมีย เขาไม่มี เขาเคร่งครัด แต่ว่าอยากอยู่อย่างเดียวว่าทำอย่างนี้ให้ได้มรรคผลได้ผล เป็นคนรู้ประเสริฐกว่าคนอื่น อารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ของกาม จงทิ้งไป

    ... เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาเทศน์ไป ท่านพวกนั้นก็นั่งฟัง ฟังไปอารมณ์มันก็ตีกันกับการรับคำสอนจากของเดิมว่า

    ... มีการทรมานกายเป็นสำคัญ แต่องค์สมเด็จพระภควันต์กลับมาบอกให้เลิกเสีย ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่าอันไหนมันแน่กันหนอ อารมณ์มันตีกัน ตอนนี้อารมณ์ฟุ้งก็เกิดขึ้น

    ... พระพุทธเจ้าก็ทรงเทศน์ต่อไปว่า

    ... ผลการปฏิบัติของความดีต้องใช้มรรค ๘ ประการเข้าช่วย มีสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ และก็มีสัมมาสมาธิ คือการตั้งใจชอบ เป็นปริโยสาน

    ... ก็หมายความว่าทรงศีลให้ดี ทำใจให้มั่นคง

    ... รู้จักผลแห่งการตัดขันธ์ ๕ เพราะขันธ์ ๕ เป็นปัจจัยของความทุกข์

    ... หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงยก อริยสัจ ว่า

    ... ความทุกข์ทั้งหมดที่มีเพราะอาศัยกายเป็นเหตุ

    ... ถ้าเราไม่มีร่างกายแล้ว อะไรมันปวด อะไรมันเมื่อย ที่เราปวด เราเมื่อยเพราะมีร่างกาย โรคภัยไข้เจ็บมันเกิดกับกายไม่ได้เกิดกับใจ ความหิวกระหายมันเกิดจากกาย ความแก่มันเกิดจากกาย ความหนาวความร้อนเกิดจากกาย

    ... เป็นอันว่ากายเป็นปัจจัยของความทุกข์ ทุกข์ในที่นี้มีอะไรเป็นเหตุ กายมันจะมีมาได้ก็เพราะอาศัยเหตุ ไม่มีเหตุให้เกิดกาย กายมันก็เกิดไม่ได้


    ... สมเด็จพระจอมไตรก็ตรัสต่อไปว่า

    ... กายที่มันจะมีขึ้นมาได้เพราะอาศัยตัณหา กายที่เป็นเหตุของความทุกข์ เป็นเครื่องรับทุกข์ กายก็เหมือนกับเครื่องรับวิทยุ เขาส่งคลื่นมาทางไหนมันก็เข้า ทุกข์ก็มาจากที่อื่น แต่ว่ามาชนกายเข้า คนอื่นเขาด่าเขาว่ามา หูของกายมันก็รับ กลิ่นเหม็นเข้ามา จมูกของกายมันก็รับ รูปร่างลักษณะท่าทางที่ไม่พอใจเกิดขึ้น ตาของกายมันก็รับ ความหนาวความร้อนเข้ามา ผิวกายมันก็รับรสอาหารจะอร่อยหรือไม่อร่อย ชอบใจหรือไม่ชอบใจ ลิ้นของกายมันก็รับรส รวมความว่ากายเป็นหน้าที่รับทุกข์

    ... ฉะนั้น เราจะทำลายทุกข์ให้พ้นไป และก็จะไม่มีกายขึ้นมาได้ก็ต้องทำลายตัวเหตุที่สร้างกายมารับความทุกข์ ด้วยเหตุที่สร้างกายมารับความทุกข์ นั่นก็คือสมุทัย คำว่าสมุทัย ด้วยเหตุให้เกิดทุกข์ได้แก่ตัณหา ๓ ประการ คือ

    ... ๑. อารมณ์ความอยากได้ในสิ่งที่ไม่มี อยากจะให้มีขึ้น

    ... ๒. สิ่งที่มันมีขึ้นแล้ว ก็ตะเกียกตะกายป้องกันไม่ให้มันทรุดโทรม

    ... ๓. พอทรุดโทรม จะพัง ก็ป้องกันไม่ให้ฟัง ในที่สุดก็ป้องกันไม่ได้ มันก็เป็นทุกข์

    ... ฉะนั้น เราต้องตัดจุดนี้

    ... การตัดก็ตัดด้วยอริยมรรค คือ สัมมาทิฐิ ตัวปัญญาความเห็นชอบ และก็สัมมาสมาธิเป็นตัวสุดท้าย ตั้งใจไว้ชอบ

    ... การตั้งใจทรงอารมณ์เป็นของสำคัญ ถ้าอารมณ์มีความมั่นของจิต

    ... การทรงอารมณ์จะดีหรือไม่ดี อยู่ที่ร่างกายสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์

    ... ถ้ากำลังร่างกายดี ประสาทดี จิตก็มีกำลังดี

    ... กำลังกายไม่ดี จิตก็มีกำลังไม่ดี

    ... ฉะนั้น ก็ควรจะใช้ทั้งสองอย่าง คือ กำลังของจิต ในเมื่อร่างกายสมบูรณ์ ได้แก่ สมาธิเป็นตัวสนับสนุน สร้างกำลังให้มีอำนาจเหนือกว่าความต้องการที่เรียกกันว่าฌานโลกีย์

    ... นอกจากนั้นองค์สมเด็จพระชินสีห์ก็ตรัสว่า

    ... ต้องใช้ปัญญาพิจารณาด้วย ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า

    ... " ร่างกายทั้งชายและหญิงมันเป็นอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง มันเป็นทุกขัง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา พังไปในที่สุด เมื่อร่างกายเป็นโรคนิทธัง มันเป็นรังของโรค ปภังคุณัง เน่าเปื่อยไปในที่สุด ขณะเมื่อทรงตัวอยู่ ร่างกายก็มีแต่ความสกปรกโสมมหาอะไรดีไม่ได้ "

    ... เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศน์จบ ทรงชี้เหตุว่า

    ... เหตุอันนี้แหละบรรดาเธอทั้งหลาย ถ้าเธอสามารถปฏิบัติได้ตามนี้ กิจที่จะต้องทำของเธอก็ไม่มีอีกแล้ว

    ... อาศัยที่ท่านทั้ง ๕ ตั้งใจฟังบ้าง และก็คิดไปบ้าง อารมณ์ค้านกันบ้าง เรียกว่าตีกันยุ่ง ของเก่าไปอย่างหนึ่ง ของใหม่ก็มาอีกอย่างหนึ่ง เราเคยใช้หม้อดินจะมาให้ใช้หม้อโลหะ เคยใช้เตาถ่านจะให้มาใช้เตาแก๊สยุ่งกันไปหมด ทั้งนี้อารมณ์มันก็ตีกัน การรับพระธรรมเทศนาจึงไม่สมบูรณ์แบบ

    ... เป็นอันว่าเมื่อเทศน์จบ รู้สึกว่าทั้ง ๕ ท่านมีอารมณ์ต่างกัน ท่านแรกคือพระโกณฑัญญะพราหมณ์มีความแช่มชื่นในจิตทั้งๆ ที่อารมณ์เดิมก็คิดต่อต้าน

    ... พอพระพุทธเจ้าเทศน์วาระแรกให้เลิกอัตตกิลมถานุโยค เมื่อเห็นเหตุผลที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาทรงเทศน์

    ... แต่ว่ามาเห็นเอาตอนปลายที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงโปรดเทศน์แบบนี้ ก็ไม่เคยได้ยินมาก่อน

    ... ฉะนั้นความเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระชินวรและความเชื่อมั่นในตอนต้น ตั้งแต่ตอนเข้าไปพยากรณ์ลักษณะ แต่ว่าเวลาก็ช้าไปนิดกว่าจะเชื่อเป็นอันว่าพอเทศน์จบ

    ... ท่านอัญญาโกณฑัญญะ ได้พระโสดาบัน ส่วนพราหมณ์อีก ๔ ท่านยังไม่ได้อะไรเลย ได้แต่ไตรสรณาคมน์

    ... พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยอำนาจพระพุทธญาณของพระองค์ว่า

    ... " เวลานี้โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว "

    ... คำว่าดวงตาในที่นี้หมายถึงปัญญาทราบเหตุทราบผล เป็นอริยชนเบื้องต้นคือพระโสดาบัน

    ... เพียงเท่านี้เพราะผลงานนี่เป็นเรื่องสำคัญ

    ... องค์สมเด็จพระพิชิตมารก็ทรงดีพระทัยว่า

    ... " การบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณของพระองค์นี้ไซร้ไม่ไร้ผล แม้ว่าการเทศน์ครั้งแรกจะได้ผลเพียงหนึ่งคน และก็ได้ผลไม่เต็มที่ ไม่เป็นไร "

    ... เพราะต้องการผลอย่างเดียว เหมือนกับเราปลูกดอกไม้ต้นไม้นั่นแหละ ปลูกตั้งร้อยต้น พันต้น มันมีผลสักต้นเราก็ชื่นใจฉันใด

    ... พระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็เหมือนกัน เทศน์กัณฑ์แรกก่อนจะเทศน์ก็เกี่ยงกันซะย่ำแย่ แต่พอเทศน์จบ ในเมื่อมีผลก็เป็นเหตุให้องค์สมเด็จพระทศพลดีพระทัยมาก ถึงกับเปล่งอุทานวาจาว่า

    ... " อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ "

    ... แปลเป็นใจความว่า " โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ "

    ... ความจริงท่านโกณฑัญญะเดิมทีท่านชื่อโกณฑัญญะเฉยๆ ต่อมาเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานวาจาอย่างนั้น

    ... ฉะนั้น อัญญาสิ จึงต่อหน้าชื่อของท่าน ภายหลังท่านทั้งหลายจึงเรียกว่า ท่านอัญญาโกณฑัญญะ

    ... อันนี้เป็นพระนามที่ได้จากการเปล่งอุทานวาจาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและต่อมาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเล็กๆ น้อยๆ กระจุ๋มกระจิ๋มอีกไม่กี่วันก็ปรากฏว่าทั้งหมดได้บรรลุมรรคผล คือเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

     
  2. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ยสะกุลบุตรออกบวช​

    ..... ในสมัยนั้น มีมาณพผู้หนึ่งชื่อว่า ยสะ เป็นบุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี บริบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงคาร มีเรือน ๓ หลัง เป็นที่อยู่ประจำใน ๓ ฤดู อย่างผาสุก อิ่มอยู่ในกามสุขตามฆราวาสวิสัย

    ... ครั้งนั้น ในฤดูฝนพระพุทธเจ้า ทรงจำพรรษาอยู่ที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลแต่บ้านยสะมานพ

    ... ราตรีวันหนึ่ง ยสะมานพนอนหลับก่อนเหล่านางบำเรอและบริวารนอนหลับภายหลัง แสงชวาลาที่ตามไว้ยังสว่างอยู่

    ... ยสะมานพตื่นขึ้นเห็นบริวารเหล่านั้นนอนหลับอยู่ ปราศจากสติสัมปชัญญะ แสดงอาการวิกลวิกาลไปต่างๆ บ้างกรน คราง ละเมอ เพ้อพึมพำ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีดังแต่ก่อน ปรากฏแก่ยสะมานพเหมือนซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้ในป่าช้า

    ... (ด้วยเหตุที่มีสาวกบารมีญาณแก่กล้าควรได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว) ยสะมานพเห็นแล้วเกิดความสลดใจ เบื่อหน่าย รำคาญ ออกอุทานด้วยความสังเวชใจว่า

    ... " ที่นี่วุ่นวาย ไม่เป็นสุข "

    ... แล้วออกจากห้องสวมรองเท้า เดินออกจากประตูเรือน (ด้วยบารมีเก่าและเทวดาสงเคราะห์) ยสะมานพเดินตรงไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

    ... เวลานั้นจวนใกล้รุ่งแจ้ง พระศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ทรงได้ยินเสียงยสะมานพ เดินบ่นมาว่า

    ... " ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ "

    ... ด้วยความสลดใจผ่านมาใกล้ที่จงกรมเช่นนั้น จึงรับสั่งเรียกด้วยพระมหากรุณาว่า

    ... " ยสะที่นี่ไม่วุ่นวาย ยสะที่นี่ไม่ขัดข้อง ยสะเข้ามานี่เถิด "

    ... ฝ่ายยสะมานพได้ยินเสียงพระศาสดารับสั่งว่า

    ... "ยสะที่นี่ไม่วุ่นวาย ยสะที่นี่ไม่ขัดข้อง "

    ... ก็ดีใจถอดรองเท้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่จงกรม ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง




    ..... องค์สมเด็จพระศาสดาตรัสเทศนาโปรดยสะมานพด้วยอนุปุพพิกถา คือ

    ... ๑. พรรณาการให้ทาน

    ... ๒. พรรณาการรักษาศีล

    ... ๓. สวรรค์ พรรณาผลการให้ทานและรักษาศีล

    ... ๔. กามาทีนวะ พรรณณาถึงโทษของกาม ของผู้บริโภคกาม ทั้งในมนุษย์ทั้งในสวรรค์ เป็นช่องทางแห่งทุกข์โทษ เพราะวุ่นวาย ไม่สงบ เดือดร้อน ไม่รู้จักสิ้นสุด น่าระอา น่าเบื่อหน่าย

    ... ๕. เนกขัมมานิสงส์ พรรณาถึงอานิสงส์ของการหลีกออกจากกาม เหมือนคนออกจากเรือนไฟที่กำลังติดอยู่ ไม่เร่าร้อน สงบ เย็นใจ เป็นสุข ไม่มีภัยไม่มีเวรทุกประการ

    ... ทรงฟอกจิตของยสะมานพด้วยอนุปุพพิกถา ให้สะอาดผ่องใสเหมือนผ้าที่ซักฟอกให้หมดมลทิน ควรจะรับน้ำย้อมได้แล้ว

    ... องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือ

    ... ทุกข์ คือ ความทนได้ยาก

    ... สมุทัย คือ เหตุให้ทุกข์เกิดทั้งปวง

    ... นิโรธ คือ ความดับทุกข์

    ... และมรรค คือ ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ทั้งปวง โปรดยสะมานพให้ได้บรรลุพระโสดาบัน ณ ที่นั่งนั้น




    ..... ฝ่ายมารดาของยสะมานพ ทราบว่าลูกชายหาย มีความเศร้าโศก บอกแก่เศรษฐีผู้เป็นสามี

    ... ท่านเศรษฐีตกใจให้คนออกติดตามตลอดทางทุกสาย แม้ตนเองก็ร้อนใจ อยู่ไม่ติดออกติดตามด้วย

    ... เทวดาดลใจเดินทางผ่านมาใกล้ที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เห็นรองเท้าของลูกก็จำได้ตามเข้าไปหาจนถึงที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่

    ... พระบรมศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ โปรดท่านเศรษฐี ให้เศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน

    ... เศรษฐีทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต ท่านเศรษฐีได้เป็นปฐมอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งคนแรก ก่อนกว่าชนทั้งปวงในพระศาสนานี้

    ... ขณะที่พระบรมศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ โปรดท่านเศรษฐี ยสะมานพนั่งอยู่ในที่นั้น ได้ฟังเทศนาทั้งสองเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้งหนึ่งในที่นั่งนั้นเอง

    ... พิจารณาตามกระแสพระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จอริยคุณเบื้องสูงเป็นพระอรหันต์พร้อมปฏิสัมภิทาญาณ ณ ที่นั้น

    ... นับว่ายสะมานพ เป็น พระอรหันต์องค์แรกที่อยู่ในเพศคฤหัสถ์ คือยังมิทันได้บวชก็บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ซึ่งเป็นคุณสูงสุดในพระศาสนานี้

    ... ฝ่ายเศรษฐีผู้บิดา ไม่ทราบว่าท่านยสะสิ้นอาสวะแล้ว จึงกล่าวแก่ยสะว่า

    ... " พ่อยสะ มารดาของเจ้าไม่เห็นเจ้า มีความเศร้าโศกพิไรรำพันยิ่งนัก เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าเถิด "

    ... ท่านยสะแลดูองค์สมเด็จพระบรมศาสดา สมเด็จพระมหามุนีจึงตรัสบอกแก่เศรษฐีให้ทราบว่า

    ... " บัดนี้ ยสะได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอรหันต์แล้ว มิใช่ผู้ที่จะหวนกลับคืนไปครองฆราวาสวิสัยได้อีก "

    ... ท่านเศรษฐีกราบทูลว่า

    ... " เป็นลาภอันประเสริฐของยสะแล้ว ขอให้ยสะได้รุ่งเรืองอยู่ในอนาคาริยะวิสัยเถิด "

    ... แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดากับพระยสะให้ไปรับอาหารบิณฑบาตที่เรือนของตนในเช้าวันนั้น

    ... ครั้นทราบว่า พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาด้วยอาการดุษณีภาพแล้ว ก็ถวายบังคมลากลับไปสู่เรือน แจ้งข่าวแก่ภรรยา พร้อมกับสั่งให้จัดแจงขาทนียะโภชนียาหารอันประณีต เพื่อถวายพระบรมศาสดา




    ..... เมื่อท่านเศรษฐีกลับแล้ว ยสะมานพได้กราบทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุ พระบรมศาสดาทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาเป็นพิเศษ ด้วยยสะมานพได้บรรลุพระอรหัตเป็นพระอรหันต์แล้ว เพียงแต่ทรงรับให้เข้าอยู่ในภาวะของภิกษุ ในพระธรรมวินัยได้เท่านั้น ดังนั้น จึงตรัสพระวาจาแต่สั้น ๆ ว่า

    ... " เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด " (ตัดคำว่า " เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ " ข้างท้ายออกเสีย ด้วยพระยสะถึงที่สุดทุกข์แล้ว)

    ... พอตรัสจบ บาตรและจีวรอันเกิดแต่บุญที่พระยสะมหาเถระเคยได้ถวายไว้ในพระพุทธศาสนาแต่กาลก่อนก็เข้ามาสวมกาย สำเร็จเป็นเพศบรรพชิตทันที

    ... ในเวลาเช้าวันนั้น พระบรมศาสดาก็มีพระยสะ เป็นพระตามเสด็จ ๑ รูป เสด็จไปยังเรือนท่านเศรษฐีตามคำอาราธนา ประทับนั่งยังอาสนะที่ตกแต่งไว้ถวายเป็นอันดี

    ... มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะเข้าเฝ้า พระบรมศาสดาทรงแสดงอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ให้สตรีทั้งสองนั้นได้ธรรมจักษุ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

    ... ปฏิญาณตนเป็นอุบาสิกาของถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ได้เป็นอุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนา ก่อนกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในโลกนี้

    ... ครั้นได้เวลาภัตตกิจ มารดาบิดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ได้จัดการอังคาสด้วยชัชชโภชนาหารอันประณีตด้วยมือของตนเอง เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้ว พระบรมศาสดาตรัสอนุโมทนา ให้อุบาสกอุบาสิกาทั้ง ๓ นั้น อาจหาญ ร่าเริงในธรรม เป็นอันดีแล้ว เสด็จกลับประทับยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน




    ..... ครั้งนั้น มีเศรษฐีบุตรชาวเมืองพาราณสี ๔ คน คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ ควัมปะติ ซึ่งเป็นสหายที่รักใคร่ของพระยสะ

    ... ครั้นได้ทราบข่าวว่าพระยสะออกบวช เกิดความสนใจใคร่จะรู้ธรรมที่พระยสะมุ่งหมายประพฤติพรต ดังนั้น

    ... สหายทั้ง ๔ คน จึงพร้อมกันไปพบพระยสะถึงที่อยู่ พระยสะได้พาสหายทั้ง ๔ คนนั้นไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลให้ทรงสั่งสอน พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเศรษฐีบุตรทั้ง ๔ นั้น ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ประทานอุปสมบทให้เป็นภิกษุ ทั้งทรงสั่งสอนให้บรรลุพระอรหัตผลในกาลต่อมา

    ... ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลกเป็น ๑๑ องค์ด้วยกัน ทั้งพระบรมศาสดา

    ... ต่อมามีสหายของพระยสะ ซึ่งเป็นชาวชนบท ๕๐ คน ได้ทราบข่าวพระยสะออกบวช มีความคิดเช่นเดียวกับสหายของพระยสะทั้ง ๔ นั้น

    ... จึงไปหาพระยสะที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้สดับธรรม มีความเลื่อมใส ได้อุปสมบท และได้บรรลุพระอรหัตผลด้วยกันทั้งหมดโดยนัยก่อน จึงเกิดมีพระอรหันต์รวมทั้งพระศาสดาด้วยเป็น ๖๑ องค์

    ... เมื่อพระสาวกมีมาก พอจะเป็นกำลังช่วยพระองค์ออกประกาศพระศาสนา เพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่คนเป็นอันมากได้แล้ว

    ... ครั้นออกพรรษาแล้ว จึงส่งพระสาวกทั้ง ๖๐ นั้นให้ออกไปประกาศพระศาสนาด้วยพระดำรัสว่า

    ... " ภิกษุทั้งหลาย เราได้พ้นแล้วจากบ่วงเครื่องรึงรัดทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้ท่านทั้งหลายก็เช่นกัน

    ... ท่านทั้งหลายจงเที่ยวไปในชนบท เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก ต่างรูปต่างไป แต่ละทิศละทาง อย่าไปรวมกัน ๒ รูป ในทางเดียวกัน

    ... จงแสดงธรรม ประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อย มีอยู่

    ... เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังธรรม ย่อมเสื่อมจากคุณที่จะพึงได้พึงถึง แล้วผู้ตรัสรู้ธรรมจักมีขึ้นตามโดยลำดับ แม้เราตถาคตก็จักไปยังอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรมเช่นกัน "

     
  3. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... ท่านหลวงปู่พระมหาวีระ ถาวโร เล่าพระพุทธประวัติตอนส่งพระสาวกประกาศพระศาสนาไว้ว่า

    ... ฉะนั้น องค์สมเด็จพระบรมสุคตเมื่อทราบว่า ทุกคนเป็นพระอรหันต์แล้ว สมเด็จพระทีปแก้วทรงทราบว่า

    ... " อารมณ์ของพระอรหันต์ก็มีความต้องการอย่างเดียว ต้องการให้คนทั้งโลกมีความสบาย "

    ... สบายแบบไหน ท่านจะไปแจกเงินแจกทอง ท่านไม่มีเงิน ไม่มีทองจะแจก แต่ว่าจริงๆ แจกเงินแจกทองมันก็สบายไม่จริง แต่ว่ามันเป็นความสุขเฉพาะหน้า

    ... ฉะนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงมีพระพุทธดำรัสว่า

    ... " เวลานี้ เธอทั้ง ๕ กิจที่จะพึงทำไม่มีอีกแล้วกิจที่พึงจะทำ เธอทำได้แล้ว และก็จบแล้ว กิจอื่นจากนี้ไม่มี หมายความว่ากิจที่จะทำให้เกิดมรรคเกิดผล นอกจากความเป็นอรหันต์ไม่มีอีกแล้ว เป็นอรหันต์ก็จบกันที "

    ... แล้วสมเด็จพระมหามุนีจึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า

    ... " พวกเธอทั้งหลายจงช่วยกันไปประกาศพระศาสนา สอนให้คนมีความเข้าใจธรรมะขององค์สมเด็จพระจอมไตร ถ้าบรรลุมรรคผล ทุกคนก็มีความเข้าใจ "

    ... ฉะนั้น องค์สมเด็จพระบรมครูจึงได้ส่งไปประกาศพระศาสนา และก็ทรงบอกว่าทางหนึ่งหรือสายหนึ่งไปองค์เดียวนะ อย่าไปซ้ำกันสององค์ ช่วยแยกกันไปสอน นับเป็นอรหันต์ชุดแรกในพระพุทธศาสนา




    ..... ตอนนี้ขอให้ลูกสังเกตให้ดีนะว่า ทำไมท่านปัญจวัคคีย์ฤาษีทั้ง ๕ ติดตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตั้งแต่เริ่มต้น และเมื่อเวลาที่องค์สมเด็จพระทศพลแสดงพระธรรมเทศนาโปรด ทุกท่านน่าจะเป็นอรหันต์ทันทีเหมือนกับคนอื่นทั้งหลายที่ไม่ได้ติดตามพระพุทธเจ้ามาก่อน

    ... แต่พอองค์สมเด็จพระชินวรเทศน์จบ อย่างเลวชาวบ้านก็ได้พระโสดาบันบ้าง ส่วนใหญ่ก็เป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณกันไปหมด และสำหรับทั้ง ๕ องค์ที่ติดตามองค์สมเด็จพระบรมสุคตมานาน

    ... แต่ว่าองค์สมเด็จพระพิชิตมารเทศน์ในตอนแรกพอจบท่านโกณฑัญญะได้พระโสดาบัน อีก ๔ องค์ไม่ได้อะไรเลย ได้แต่เพียงไตรสรณาคมน์หรือว่าได้แต่เพียงสรณาคมน์เท่านั้น สรณาคมน์แปลว่าการเข้าถึง ได้ที่พึ่ง คือยอมรับนับถือ

    ... ขอบรรดาลูกรักอย่าลืมว่า พราหมณ์ทั้ง ๕ มีความไม่พอใจในองค์สมเด็จพระจอมไตรมาก่อนว่า

    ... สมเด็จพระชินวรละจากการทรมานกาย เขาถือว่าไม่เป็นเหตุบรรลุมรรคผล เมื่อองค์สมเด็จพระทศพลมายืนยันก็ยอมรับ

    ... แต่ว่าการยอมรับ ก็ยังรับไม่เต็มตัว คือรับไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เอาแต่เพียงว่าไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยินมาก่อนในลักษณะการพูดอย่างนี้

    ... เมื่อองค์สมเด็จพระมหามุนีทรงยืนยัน ก็จะฟังเทศน์ การฟังเทศน์ ครั้งนี้ถือว่าเป็นการทดลอง ทดสอบความจริงกัน เชื่อก็มีส่วนเชื่ออยู่บ้างว่าไม่เคยพูด และตอนนี้มาพูด พูดตอนมีแรงก็ไม่แน่นักสำหรับคนที่จะหลอกลวงกัน จัดว่าเป็นลีลาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อพระปัญจวัคคีย์ฤาษีทั้ง ๕




    โปรดพระภัททวัคคีย์​

    ..... ครั้นพระสาวกทั้ง ๖๐ องค์ ถวายบังคมลาพระบรมศาสดาออกจากป่าอิสิปตนะมฤคทายะวัน จาริกไปประกาศพระศาสนายังชนบทน้อยใหญ่ ตามพระพุทธประสงค์แล้ว

    ... ส่วนพระองค์ก็เสด็จดำเนินไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ครั้นถึงไร่ฝ้ายในระหว่างทาง เสด็จหยุดพักที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง

    ... ขณะนั้น มานพ ๓๐ คน ซึ่งเป็นสหายที่รักใคร่กัน เรียกว่า " ภัททวัคคีย์ " อยู่ในราชตระกูลแห่งราชวงศ์โกศล

    ... ต่างคนต่างพาภรรยาของตนๆ มาหาความสำราญ บังเอิญสหายคนหนึ่งไม่มีภรรยา สหายเหล่านั้นจึงไปหาหญิงโสเภณีคนหนึ่งมาให้เป็นเพื่อนร่วมความสำราญ ครั้นเผลอไป ไม่ระแวดระวัง หญิงโสเภณีคนนั้น ได้ลักเอาเครื่องแต่งกายและสิ่งของอันมีค่าหนีไป

    ... มานพทั้ง ๓๐ คนนั้น จึงออกเที่ยวติดตาม มาพบพระบรมศาสดาที่ไร่ฝ้ายนั้น มานพเหล่านั้นจึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลถามว่า

    ... " พระองค์ได้ทรงเห็นหญิงผู้นั้นมาทางนี้หรือไม่ "

    ... พร้อมกับได้ทูลถึงพฤติการณ์ของหญิงนั้นให้ทราบด้วย

    ... พระบรมศาสดาได้ทรงตรัสว่า

    ... " ภัททวัคคีย์ ท่านทั้งหลายจะแสวงหาหญิงผู้นั้นดี หรือจะแสวงหาตนของตนดี "

    ... ครั้นสหายเหล่านั้นกราบทูลว่า แสวงหาตนดีกว่า จึงรับสั่งว่า

    ... " ถ้าเช่นนั้นจงตั้งใจฟัง เราจะแสดงธรรมแก่ท่านทั้งหลาย "

    ... แล้วทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ๔ ให้ภัททวัคคีย์มานพทั้ง ๓๐ นั้น ได้ดวงตาเห็นธรรม ประทานอุปสมบทให้เป็นภิกษุ แล้วทรงสั่งสอนให้บรรลุอริยผลเบื้องสูง ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาเช่นเดียวกับพระสาวก ๖๐ องค์ก่อนนั้น พระอริยสงฆ์คณะนี้ได้กราบทูลลาเดินทางไปยังเมืองปาวา ข้างทิศใต้แห่งแว่นแคว้นโกศลชนบท

     
  4. pco-

    pco- เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 เมษายน 2010
    โพสต์:
    2,162
    ค่าพลัง:
    +12,252
    โมทนาสาธุอย่างยิ่ง ไปต่อเรื่อยๆครับ
     
  5. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    โปรดชฏิล ๓ พี่น้อง​

    ..... ครั้นพระบรมศาสดาทรงส่งพระสาวกเหล่าภัททวัคคีย์ไปแล้ว ก็เสด็จตรงไปยังอุรุเวลาประเทศ อันตั้งอยู่ในเขตเมืองราชคฤห์มหานคร ซึ่งเป็นที่อยู่ของอุรุเวละกัสสปะอาจารย์ใหญ่ของชฎิล ๕๐๐

    ... ราชคฤห์นครนั้น เป็นเมืองหลวงแห่งมคธรัฐ ซึ่งเป็นมหาประเทศ พระเจ้าพิมพิสารมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองโดยสิทธิ์ขาด เป็นเมืองที่คับคั่งด้วยผู้คน เจริญด้วยวิทยาการความรู้ ตลอดการค้าขาย เป็นที่รวมอยู่แห่งบรรดาคณาจารย์เจ้าลัทธิมากในสมัยนั้น

    ... ในบรรดาคณาจารย์ใหญ่ๆ นั้น ท่านอุรุเวละกัสสปะ เป็นคณาจารย์ใหญ่ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนเป็นอันมาก ท่านอุรุเวละกัสสปะ เป็นนักบวชจำพวกชฎิล

    ... ท่านมีพี่น้องด้วยกัน ๓ คน ออกบวชจากตระกูลกัสสปะโคตร ท่านอุรุเวละกัสสปะเป็นพี่ชายใหญ่ มีชฎิล ๕๐๐ เป็นบริวาร ตั้งอาศรมสถานที่พนาสณฑ์ตำบลอุรุเวลา ต้นแม่น้ำเนรัญชรานที ตำบลหนึ่งจึงได้นามว่า อุรุเวละกัสสปะ

    ... น้องคนกลางมีชฎิลบริวาร ๓๐๐ ตั้งอาศรมสถานอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ถัดเข้าไปอีกตำบลหนึ่งจึงได้นามว่า นทีกัสสปะ

    ... ส่วนน้องคนเล็กมีชฎิลบริวาร ๒๐๐ ตั้งอาศรมสถานอยู่ที่คุ้งใต้แห่งแม่น้ำเนรัญชรานั้นต่อไปอีกตำบลหนึ่ง ซึ่งมีนามว่าตำบลคยาสีสะประเทศ จึงได้นามว่า คยากัสสปะ ชฎิลคณะนี้ทั้งหมดมีทิฏฐิหนักในการบูชาเพลิง




    ..... พระบรมศาสดาเสด็จไปถึงอาศรมสถานของท่านอุรุเวละกัสสปะในเวลาเย็น จึงเสด็จตรงไปพบอุรุเวละกัสสปะทันที ทรงรับสั่งขอพักแรมด้วยสัก ๑ ราตรี อุรุเวละกัสสปะรังเกียจทำอิดเอื้อน ไม่พอใจให้พัก เพราะเห็นพระบรมศาสดาเป็นนักบวชต่างจากลัทธิของตน พูดบ่ายเบี่ยงว่า " ไม่มีที่ให้พัก "

    ... ครั้นพระบรมศาสดาตรัสขอพักที่โรงไฟ ซึ่งเป็นสถานที่บูชาเพลิงของชฎิล ด้วยเป็นที่ว่าง ไม่มีชฏิลอยู่อาศัย ทั้งเป็นที่อยู่ของนาคราชดุร้ายด้วย อุรุเวละกัสสปะได้ทูลว่า

    ... " พระองค์อย่าพอใจพักที่โรงไฟเลย ด้วยเป็นที่อยู่ของพระยานาคมีพิษร้ายแรง ทั้งดุร้ายที่สุดอาศัยอยู่ จะได้รับความเบียดเบียนจากนาคราชนั้น ให้ถึงอันตรายแก่ชีวิต "

    ... เมื่อพระบรมศาสดารับสั่งยืนยันว่า

    ... " นาคราชนั้นจะไม่เบียดเบียนพระองค์เลย ถ้าท่านอุรุเวละกัสสปะอนุญาตให้เข้าอยู่ "

    ... ท่านอุรุเวละกัสสปะจึงได้อนุญาตให้เข้าไปพักแรม

    ..... ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ก็เสด็จเข้าไปยังโรงไฟนั้น ประทับนั่งดำรงพระสติต่อพระกัมมัฏฐานภาวนา ฝ่ายพระยานาค เห็นพระบรมศาสดาเสด็จเข้ามาประทับในที่นั้นก็มีจิตคิดขึ้งเคียดจึงพ่นพิษตลบไป

    ... ในลำดับนั้น พระบรมศาสดาก็ทรงพระดำริว่า

    ... " ควรที่ตถาคตจะแสดงอิทธานุภาพให้เป็นควันไปสัมผัสมังสะฉวีและเอ็นอัฎฐิแห่งพระยานาคนี้ ระงับเดชพระยานาคให้เหือดหาย "

    ... แล้วก็ทรงสำแดงอิทธาภิสังขารดังพระดำรินั้น พระยานาคมิอาจจะอดกลั้นซึ่งความพิโรธได้ ก็บังหวนพ่นพิษเป็นเพลิงพลุ่งโพลงขึ้น

    ... พระบรมศาสดาก็สำแดงเตโชกสิณสมาบัติบันดาลเปลวเพลิงรุ่งโรจน์โชตนาการ และเพลิงทั้งสองฝ่ายก็บังเกิดขึ้นแสงแดงสว่าง ดุจเผาผลาญซึ่งโรงไฟให้เป็นเถ้าธุลี ส่วนชฎิลทั้งหลายก็แวดล้อมรอบโรงไฟนั้น ต่างเจรจากันว่า

    ... " พระสมณะนี้มีสิริรูปงามยิ่งนัก เสียดายที่เธอมาวอดวายเสียด้วยพิษแห่งพระยานาคในที่นั้น "

    ... ครั้นล่วงสมัยราตรีรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าก็กำจัดฤทธิ์เดชพระยานาคให้อันตรธานหาย บันดาลให้นาคนั้นขดกายลงในบาตร แล้วทรงสำแดงแก่อุรุเวละกัสสปะตรัสบอกว่า

    ... " พระยานาคนี้สิ้นฤทธิเดชแล้ว "

    ... อุรุเวละกัสสปะเห็นดังนั้นก็ดำริว่า

    ... " พระสมณะนี้มี อานุภาพมาก ระงับเสียซึ่งฤทธิ์พระยานาคให้อันตรธานพ่ายแพ้ไปได้ ถึงดังนั้นไซร้ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา "

    ... มีจิตเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์ จึงกล่าวว่า

    ... " ข้าแต่สมณะนิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอยู่ ณ อาศรมของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะถวายภัตตาหารให้ฉันทุกวันเป็นนิตย์ "




    ..... พระบรมศาสดาก็เสด็จประทับยังพนาสณฑ์ตำบลหนึ่ง ใกล้อาศรมแห่งอุรุเวละกัสสปะชฎิลนั้น

    ... ครั้นสมัยราตรีเป็นลำดับ ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ก็ลงมาสู่สำนักพระบรมโลกนาถ ถวายอภิวาทและประดิษฐานยืนอยู่ใน ๔ ทิศ มีทิพยรังสีสว่างดุจกองเพลิงก่อไว้ทั้ง ๔ ทิศ

    ... ครั้นเวลาเช้า อุรุเวละกัสสปะจึงเข้าไปสู่สำนักพระบรมศาสดาทูลว่า

    ... " นิมนต์พระสมณะไปฉันภัตตาหารเถิด ข้าพเจ้าตกแต่งไว้ถวายเสร็จแล้ว แต่เมื่อคืนนี้เห็นรัศมีสว่างไปทั่วพนัสมณฑลสถาน บุคคลผู้ใดมาสู่สำนักพระองค์จึงปรากฏรุ่งเรืองในทิศทั้ง ๔ "

    ... พระบรมศาสดาจึงตรัส บอกว่า

    ... " ดูกรกัสสปะนั้นคือ ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ลงมาสู่สำนักตถาคตเพื่อฟังธรรม "

    ... อุรุเวละกัสสปะได้สดับดังนั้น ก็ดำริว่า

    ... " พระมหาสมณะองค์นี้มีอานุภาพมาก ท้าวจาตุมหาราชยังลงมาสู่สำนัก ถึงกระนั้นก็ยังมิได้เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา "



    ..... พระบรมศาสดา เสด็จมากระทำภัตตกิจ เสวยภัตตาหารของอุรุเวละกัสสปะเสร็จแล้ว ก็เสด็จกลับมาสู่ทิวาวิหารในพนาสณฑ์นั้น

    ... ครั้นรัตติกาลสมัย ท้าวสหัสสนัยก็ลงมาสู่สำนักพระบรมศาสดา ถวายนมัสการแล้วยืนอยู่ที่ควรข้างหนึ่ง เปล่งรัศมีสว่างดุจกองอัคคีใหญ่ไพโรจน์ยิ่งกว่าราตรีก่อน ครั้นเพลารุ่งเช้า กัสสปะชฎิลไปสู่สำนักพระบรมศาสดาทูลอาราธนาให้ฉันภัตตาหารแล้วทูลถามว่า

    ... " เมื่อคืนนี้มีผู้ใดมาสู่สำนักพระองค์ จึงมีรัศมีสว่างยิ่งกว่าราตรีก่อน "

    ... ตรัสบอกว่า

    ... " ดูกรกัสสปะ เมื่อคืนนี้ท้าวโกสีย์สักกะเทวราชลงมาสู่สำนักตถาคต เพื่อจะฟังธรรม "

    ... อุรุเวละกัสสปะชฎิล ได้สดับดังนั้น ก็ดำริเห็นเป็นอัศจรรย์ดุจนัยก่อน




    ..... พระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของกัสสปะดาบส แล้วก็กลับมาอยู่วิหารยังพนัสฐานที่นั้น

    ... ครั้นเข้าสมัยราตรี ท้าวสหัมบดีมหาพรหม ก็ส่งมาสู่สำนักพระบรมศาสดา เปล่งรัศมีสว่างยิ่งขึ้นไปกว่าสองราตรีนั้น

    ... ครั้นรุ่งเช้าอุรุเวละกัสสปะก็ไปทูลอาราธนาฉันภัตตาหาร แล้วทูลถามอีก ตรัสตอบว่า

    ... " คืนนี้ท้าวสหัมบดีพรหมลงมาสู่สำนักตถาคต "

    ... กัสสปะดาบสก็ดำริดุจนัยก่อน พระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของอุรุเวละกัสสปะชฎิล แล้วก็กลับมาสู่สำนัก




    ..... ในวันรุ่งขึ้น มหายัญญะลาภบังเกิดขึ้นแก่อุรุเวละกัสสปะชฎิล คือ ชนชาวอังคะรัฐทั้งหลาย จะนำเอาขาทนียะโภชนียาหารเป็นอันมาก มาถวายแก่อุรุเวละกัสสปะชฎิลๆ จึงดำริแต่ในราตรีว่า

    ... " รุ่งขึ้นพรุ่งนี้มหาชนจะนำเอาเอนกนานาหารมาสู่สำนักอาตมา หากพระสมณะรูปนี้สำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ ลาภสักการะก็จะบังเกิดแก่เธอเป็นอันมาก อาตมาจักเสื่อมสูญจากสรรพสักการบูชา ทำไฉน ณ วันพรุ่งนี้อย่าให้เธอมาสู่ที่นี้ได้ "

    ... สมเด็จพระบรมศาสดาทรงทราบความดำริของชฎิลด้วยเจโตปริญาณ ครั้นเพลารุ่งเช้าก็เสด็จไปสู่อุตตรกุรุทวีป ทรงบิณฑบาตได้ภัตตาหารแล้ว ก็เสด็จมากระทำภัตตกิจยังฝั่งอโนดาต แล้วทรงยับยั้งอยู่ ณ ทิวาวิหารในที่นั้น

    ... ต่อเพลาสายัณหสมัยจึงเสด็จมาสู่วนสณฑ์สำนัก ครั้นรุ่งเช้า กัสสปะชฎิลไปทูลอาราธนาเสวยภัตตาหารและทูลถามว่า

    ... "วานนี้พระองค์ไปแสวงหาอาหารในที่ใด ไฉนไม่ไปสู่สำนักข้าพเจ้าๆ ระลึกถึงพระองค์อยู่"

    ... จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสบอกวาระน้ำจิตของชฎิลที่วิตกนั้นให้แจ้งทุกประการ อุรุเวละกัสสปะได้สดับ ตกใจดำริว่า

    ... " พระมหาสมณะนี้มีอานุภาพมากแท้ เธอล่วงรู้จิตอาตมาถึงดังนั้น ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์ดังอาตมา "




    ..... ในกาลนั้น ผ้าบังสุกุลจีวรบังเกิดแก่พระบรมศาสดา พระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินไปซักผ้าบังสุกุล ซึ่งห่อศพนางปุณณทาสี ที่ทอดทิ้งอยู่ในอามกสุสานะป่าช้าผีดิบ

    ... เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นกษัตริย์อุภโตสุชาติ เสด็จจากขัตติยะราชสกุลอันสูงด้วยเกียรติศักดิ์ ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณเป็นพระสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ เป็นโมลีของโลกเห็นปานนี้แล้ว ยังทรงลดพระองค์ลงมาซักผ้าขาวที่ห่อศพนางปุณณทาสี ที่ทอดทิ้งอยู่ในป่าช้า เพื่อทรงใช้เป็นผ้าจีวรทรงเช่นนี้ เป็นกรณียะที่สุดวิสัยของเทวดาและมนุษย์ซึ่งอยู่ในสถานะเช่นนั้นจะทำได้ มหาปฐพีใหญ่ก็กัมปนาทหวั่นไหวเป็นมหาอัศจรรย์ถึง ๓ ครั้ง

    ... ตลอดระยะทางทรงพระดำริว่า

    ... " ตถาคตจะซักผ้าบังสุกุลนี้ในที่ใด "

    ... ขณะนั้น ท้าวสหัสสนัยอมรินทราธิราชทรงทราบในพุทธปริวิตก จึงเสด็จลงมาขุดสระโบกขรณีด้วยพระหัตถ์ในพื้นศิลา สำเร็จด้วยเทวฤทธิ์ให้เต็มไปด้วยอุทกวารี แล้วกราบทูลพระชินศรี ให้ทรงซักผ้าบังสุกุลในที่นั้น

    ... ขณะที่ทรงซัก ก็ทรงดำริว่า

    ... " จะทรงขยำในที่ใดดี "

    ... ท้าวโกสีย์ก็นำเอาแผ่นศิลาใหญ่เข้าไปถวาย ทรงขยำด้วยพระหัตถ์ จนหายกลิ่น ๔ อสุภ แล้วก็ทรงพระดำริว่า

    ... " จะห้อยตากผ้าบังสุกุลจีวรในที่ใดดี "

    ... ลำดับนั้นรุกขเทพยดา ซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ไม้กุ่มบก ก็น้อมกิ่งไม้นั้นลงมาถวายให้ทรงห้อยตากจีวร

    ... ครั้นทรงห้อยตากแล้วก็ทรงพระจินตนาว่า

    ... " จะแผ่พับผ้าในที่ใด "

    ... ท้าวสหัสสนัยก็ยกแผ่นศิลาอันใหญ่มาทูลถวายให้แผ่พับผ้ามหาบังสุกุลนั้น

    ... เพลารุ่งเช้าอรุณขึ้น อุรุเวละกัสสปะไปเฝ้าพระบรมศาสดา เห็นสระและแผ่นศิลาทั้งสอง ซึ่งมิได้ปรากฏมีในที่นั้นมาก่อน และกิ่งไม้กุ่มน้อมลงมาเช่นนั้น จึงทูลถามพระบรมศาสดา ตรัสบอกความทั้งปวงให้ทราบ เมื่อกัสสปะได้ฟังก็สะดุ้งตกใจ ดำริว่า

    ... " พระสมณะองค์นี้มีเดชานุภาพมากยิ่งนัก แม้ท้าวมัฆวาน ยังลงมากระทำการไวยาวัจจะกิจถวาย แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา "




    ..... สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของชฎิล แล้วก็กลับมาสถิตยังพนาสณฑ์ตำบลที่อาศัย

    ... ครั้นรุ่งขึ้นในวันเป็นลำดับ กัสสปะชฎิลไปทูลนิมนต์ฉันภัตตกิจ จึงตรัสว่า

    ... " ท่านจงไปก่อนเถิด ตถาคตจะตามไปภายหลัง "

    ... เมื่อส่งชฎิลไปแล้ว จึงเสด็จเหาะไปนำเอาผลหว้าใหญ่ประจำทวีป ในป่าหิมพานต์มาแล้ว ก็เสด็จมาถึงโรงไฟก่อนหน้าชฎิล

    ... ครั้นชฎิลมาถึงจึงทูลถามว่า พระองค์มาทางใดจึงถึงก่อน พระศาสดาจึงตรัสบอกประพฤติเหตุแล้ว ตรัสว่า

    ... " ดูกรกัสสปะ ผลหว้าประจำทวีปนี้ มีวรรณะสันฐานสุคันธรสเอมโอช ถ้าท่านปรารถนาจะบริโภคก็เชิญตามปรารถนา "

    ... อุรุเวละกัสสปะก็ดำริเห็นเป็นอัศจรรย์ดุจหนหลัง ครั้นพระศาสดาทรงทำภัตตกิจเสร็จแล้ว ก็เสด็จกลับไปยังพนาสณฑ์ที่สำนัก




    ..... ในวันต่อมา ได้ทรงทำอิทธิปาฏิหาริย์เช่นนั้นอีก ๔ ครั้ง คือ ทรงส่งอุรุเวละกัสสปะมาก่อนแล้ว เสด็จเหาะไปเก็บผลมะม่วงครั้งหนึ่ง เก็บผลมะขามป้อมครั้งหนึ่ง เก็บผลส้มในป่าหิมพานต์ครั้งหนึ่ง เสด็จขึ้นไปดาวดึงส์เทวโลก นำเอาผลไม้ปาริฉัตตกะครั้งหนึ่ง เสด็จมาถึงก่อน คอยท่าอุรุเวละกัสสปะอยู่ที่โรงไฟ ให้ชฎิลเห็นเป็นอัศจรรย์ใจทุกครั้ง

    ... วันหนึ่ง ชฎิลทั้งหลายปรารถนาจะก่อไฟ ก็มิอาจผ่าฟืนออกได้ จึงดำริว่า

    ... " ที่เป็นทั้งนี้ เพราะฤทธิ์พระมหาสมณะทำโดยแท้ "

    ... พระบรมศาสดาจึงตรัสถาม ครั้นทราบความแล้วก็ตรัสว่า

    ... " ท่านจงผ่าฟืนตามปรารถนาเถิด "

    ... ในทันใดนั้น ชฎิลก็ผ่าฟืนออกได้ตามประสงค์




    ..... วันหนึ่ง ชฎิลทั้ง ๕๐๐ ปรารถนาจะบูชาเพลิง ก่อเพลิงก็ไม่ติด จึงคิดปริวิตกเหมือนหนหลัง พระพุทธเจ้าตรัสถามทราบความแล้ว ก็ทรงอนุญาตให้ก่อเพลิงได้ เพลิงก็ติดขึ้นทั้ง ๕๐๐ กอง พร้อมกันในขณะเดียว ชฎิลทั้งหลายบูชาเพลิงสำเร็จแล้ว จะดับเพลิงๆ ก็ไม่ดับ จึงดำริดุจหนหลัง พระพุทธเจ้าตรัสถามทราบความแล้วก็ทรงอนุญาตให้ดับเพลิงๆ ก็ดับพร้อมกันถึง ๕๐๐ กอง


    ... วันหนึ่ง ในเวลาหนาว ชฎิลทั้งหลายลงอาบน้ำดำผุดขึ้นลงในแม่น้ำเนรัญชรานที สมเด็จพระชินสีห์ ผู้ทรงพระกรุณาแก่ชฎิล ทรงดำริว่า

    ... " เมื่อชฎิลขึ้นจากน้ำแล้วจะหนาวมาก จึงทรงนิรมิตเชิงกราณประมาณ ๕๐๐ อัน มีเพลิงติดทั้งสิ้นไว้ในที่นั้น "

    ... ครั้นชฎิลทั้งหลายขึ้นจากน้ำหนาวจัดก็ชวนกันเข้าผิงไฟที่เชิงกราณ แล้วก็คิดสันนิษฐานว่า " พระมหาสมณะคงทรงนิรมิตไว้ให้เป็นแน่ น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก "


    ... วันหนึ่ง มหาเมฆตั้งขึ้นมิใช่ฤดูกาล บันดาล ให้ฝนตกลงมาเป็นอันมาก กระแสน้ำเป็นห้วงใหญ่ไหลท่วมไปในที่ทั้งปวงโดยรอบบริเวณนั้น

    ... ธรรมดาว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จสถิตอยู่ ณ ประเทศใด แม้ที่นั้นน้ำท่วม ก็ทรงอธิษฐานมิให้น้ำท่วมเข้าไปในที่นั้นได้ และในครั้งนั้นก็ทรงดำริว่า

    ... " ตถาคตจะยังน้ำนั้นให้เป็นขอบสูงขึ้นไป ในทิศโดยรอบที่ระหว่าง กลางนั้นจะมีพื้นภูมิภาคจะราบเรียบขึ้นปกติ ตถาคตจะจงกรมอยู่ในที่นั้น "

    ... แล้วก็ทรงอธิษฐานบันดาลให้เป็นดังพุทธดำรินั้น

    ... ฝ่ายอุรุเวละกัสสปะนั้น คิดว่า

    ... " พระมหาสมณะนี้ น้ำจะท่วมเธอหรือไม่ท่วมประการใด หรือจะหลีกไปสู่ประเทศอื่น "

    ... จึงลงเรือพร้อมกับชฎิลทั้งหลาย รีบพายไปดูโดยด่วนถึง ประเทศที่พระองค์ทรงสถิต ก็เห็นน้ำสูงขึ้นเป็นกำแพงล้อมอยู่โดยรอบ แลเห็นพระบรมศาสดา เสด็จจงกรมอยู่ในพื้นภูมิภาคปราศจากน้ำ จึงส่งเสียงร้องเรียก พระพุทธเจ้าขานรับว่า

    ... " กัสสป ! ตถาคตอยู่ที่นี่ "

    ... แล้วก็เสด็จเหาะขึ้นไปบนอากาศเลื่อนลอยลงสู่เรือของกัสสปะชฎิลๆ ก็ดำริว่า

    ... " พระมหาสมณะนี้มีอิทธิฤทธิเป็นอันมาก แต่ถึงมีอานุภาพมากอย่างนั้น ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา "




    ..... แท้จริง ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จจากป่าอิสิปตนะมิคทายวัน ในวันแรมค่ำหนึ่ง เดือนกัตติมาส ( เดือน ๑๒ ) มาประทับอยู่ที่อุรุเวลาประเทศ จนตราบเท่าถึงวันเพ็ญ เดือน ๒ เป็นเวลาสองเดือน

    ... ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ทรมานอุรุเวละกัสสปะโดยเอนกประการ อุรุเวละกัสสปะก็ยังมีสันดานกระด้าง ถือตนว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อย่างนั้น ด้วยทิฐิอันกล้ายิ่งนัก จึงทรงพระดำริว่า

    ... " ตถาคตจะยังชฎิลให้สลดจิตคิดสังเวชตนเอง "

    ... จึงมีพระวาจาตรัสแก่ อุรุเวละกัสสปว่ะ

    ... " กัสสปะ ตัวท่านมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งทางปฏิบัติของท่านก็ยังห่างไกลมิใช่ทางมรรคผลอันใด ไฉนเล่าท่านจึงถือตนว่า เป็นพระอรหันต์ เท็จต่อตัวเองทั้งๆ ท่านเองก็รู้ตัวดีว่า ตัวยังมิได้บรรลุโมกขธรรมอันใด ยังทำตนลวงคนอื่นว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อีก

    ... กัสสปะ ! ถึงเวลาอันควรแล้ว ที่ท่านจะสารภาพแก่ตัวของท่านเองว่า ท่านยังมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งยังมิได้ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระอรหันต์ด้วย

    ... กัสสปะ ! แล้วท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ในกาลไม่นาน "

    ... เมื่ออุรุเวละกัสสปะได้สดับพระโอวาทก็รู้สึกตัว ละอายแก่ใจ ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาท แล้วกราบทูลว่า

    ... " ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอบรรพชาอุปสมบท ในสำนักพระองค์ ขอถึงพระองค์และพระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง "

    ... พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า

    ... " กัสสป ! ตัวท่านเป็นอาจารย์ยิ่งใหญ่ เป็นประธานแก่หมู่ชฎิล ๕๐๐ ท่านจงชี้แจง ให้ชฎิลบริวารยินยอมพร้อมกันก่อน แล้วตถาคตจึงจะให้บรรพชาอุปสมบท "

    ... อุรุเวละกัสสปะก็กราบถวายบังคมลามายังอาศรม แล้วก็บอกชฎิลอันเป็นศิษย์ๆ ก็ยินยอมพร้อมกันจะบรรพชา ในสำนักพระบรมครูสิ้น แล้วชฎิลทั้งหลายก็ชวนกันลอยดาบส บริขาร และเครื่องตกแต่งผม ชฎา สาแหรก คาน เครื่องบูชาเพลิง ทั้งน้ำเต้า หนังสือ ไม้สามง่าม ในแม่น้ำทั้งสิ้น แล้วก็พากันมาเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาท ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระบรมศาสดาก็ทรงพระกรุณาโปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเสมอกัน




    ..... ครั้งนั้น ท่านนทีกัสสปะดาบส ผู้เป็นน้องกลาง เห็นเครื่องบริขารทั้งปวงลอย น้ำมาก็ดำริว่า ชะรอยอันตรายจะมีแก่ดาบสผู้พี่ชาย จึงใช้ให้ชฎิลสองสามคนอันเป็นศิษย์ไปสืบดู รู้เหตุแล้ว นทีกัสสปะดาบสก็พาดาบสทั้ง ๓๐๐ อันเป็นศิษย์ มาสู่สำนักของท่านอุรุเวละกัสสปะ ถามเหตุนั้น ครั้นทราบความแล้วก็เลื่อมใสชวนกันลอยเครื่องดาบสบริขารลงในแม่น้ำนั้น พากันเข้าถวายอัญชลีทูลขอบรรพชา พระบรมศาสดาก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยกันทั้งสิ้นดุจชฎิลพวกก่อนนั้น



    ..... ฝ่ายคยากัสสปะดาบส ผู้เป็นน้องน้อย เห็นเครื่องดาบสบริขารของพี่ชายลอยน้ำลงมาจำได้ ก็คิดดุจนทีกัสสปะชฎิลผู้เป็นพี่นั้น แล้วพาดาบสทั้ง ๒๐๐ อันเป็นศิษย์ไปสู่สำนักพระอุรุเวละกัสสปะ ไต่ถามทราบความแล้วเลื่อมใส ชวนกันลอยเครื่องบริขารลงในกระแสชล ดุจหนหลัง แล้วก็เข้าทูลขอบรรพชาต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาดังกล่าวแล้ว



    ..... พระพุทธเจ้า ทรงทรมานชฎิลทั้ง ๓ พี่น้อง มีอุรุเวละกัสสปะ เป็นต้นกับทั้งชฎิลบริวาร ๑,๐๐๐ ให้สละเสียซึ่งทิฐิแห่งตน แล้วโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น เสร็จแล้วก็ทรงพาพระภิกษุสงฆ์พวกนั้นไปสู่คยาสีสะประเทศ ตรัสพระธรรมเทศนาอาทิตตะปริยายสูตร ความว่า


    ... ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้

    ... สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ที่คยาสีสะประเทศ ใกล้แม่น้ำคยากับด้วยพระภิกษุหนึ่งพันสามรูป

    ... ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า


    ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน

    ... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าชื่อว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน

    ... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุ (คือตา) เป็นของร้อน

    ... รูปทั้งหลายเป็นของร้อน

    ... วิญญาณอาศัยจักษุเป็นของร้อน

    ... สัมผัสอาศัยจักษุเป็นของร้อน

    ... ความรู้สึกอารมณ์ (คือเวทนา) เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยนี้แม้อันใด เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี แม้อันนั้นก็เป็นของร้อน

    ... ร้อนด้วยอะไร อันอะไรมาเผาให้ร้อน

    ... เรากล่าวว่า ร้อนด้วยไฟ คือ ราคะ ด้วยไฟ คือ โทสะ ด้วยไฟ คือ โมหะ ร้อนด้วยความเกิด ด้วยความแก่ แลความตาย

    ... ร้อนด้วยความโศก ด้วยความร่ำไรรำพัน ด้วยความเจ็บกาย ด้วยความเสียใจ ด้วยความคับแค้นใจทั้งหลาย


    ... โสตะ (คือหู) เป็นของร้อน

    ... เสียงทั้งหลายเป็นของร้อน

    ... วิญญาณอาศัยโสตะเป็นของร้อน

    ... สัมผัสอาศัยโสตะเป็นของร้อน

    ... ความรู้สึกอารมณ์ (คือเวทนา) เกิดขึ้นเพราะโสตะสัมผัสเป็นปัจจัยนี้แม้อันใด เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี แม้อันนั้นก็เป็นของร้อน

    ... ร้อนด้วยอะไร อันอะไรมาเผาให้ร้อน

    ... เรากล่าวว่า ร้อนด้วยไฟ คือ ราคะ ด้วยไฟ คือ โทสะ ด้วยไฟ คือ โมหะ ร้อนด้วยความเกิด ด้วยความแก่ แลความตาย

    ... ร้อนด้วยความโศก ด้วยความร่ำไรรำพัน ด้วยความเจ็บกาย ด้วยความเสียใจ ด้วยความคับแค้นใจทั้งหลาย


    ... ฆานะ (คือ) จมูกเป็นของร้อน

    ... กลิ่นทั้งหลายเป็นของร้อน

    ... วิญญาณอาศัยฆานะเป็นของร้อน

    ... สัมผัสอาศัยฆานะเป็นของร้อน

    ... ความรู้สึกอารมณ์ (คือ เวทนา) เกิดขึ้นเพราะฆานะสัมผัสเป็นปัจจัยนี้แม้อันใด เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี แม้อันนั้นก็เป็นของร้อน

    ... ร้อนด้วยอะไร อันอะไรมาเผาให้ร้อน

    ... เรากล่าวว่า ร้อนด้วยไฟ คือ ราคะ ด้วยไฟ คือ โทสะ ด้วยไฟ คือ โมหะ ร้อนด้วยความเกิด ด้วยความแก่ แลความตาย

    ... ร้อนด้วยความโศก ด้วยความร่ำไรรำพัน, ด้วยความเจ็บกาย ด้วยความเสียใจ ด้วยความคับแค้นใจทั้งหลาย


    ... ชิวหา (คือลิ้น) เป็นของร้อน

    ... รสทั้งหลายเป็นของร้อน

    ... วิญญาณอาศัยชิวหาเป็นของร้อน

    ... สัมผัสอาศัยชิวหาเป็นของร้อน

    ... ความรู้สึกอารมณ์ (คือเวทนา) เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัยนี้แม้อันใด เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี แม้อันนั้นก็เป็นของร้อน

    ... ร้อนด้วยอะไร อันอะไรมาเผาให้ร้อน

    ... เรากล่าวว่า ร้อนด้วยไฟ คือ ราคะ ด้วยไฟ คือ โทสะ ด้วยไฟ คือ โมหะ ร้อนด้วยความเกิด ด้วยความแก่ แลความตาย

    ... ร้อนด้วยความโศก ด้วยความร่ำไรรำพัน ด้วยความเจ็บกายด้วยความเสียใจ ด้วย ความคับแค้นใจทั้งหลาย


    ... กายเป็นของร้อน

    ... โผฏฐัพพะ (คือสิ่งที่สัมผัสถูกต้องด้วยกาย) เป็นของร้อน

    ... วิญญาณอาศัยกายเป็นของร้อน

    ... สัมผัสอาศัยกายเป็นของร้อน

    ... ความรู้สึกอารมณ์ (คือเวทนา) เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัยนี้แม้อันใด เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี แม้อันนั้นก็เป็นของร้อน

    ... ร้อนด้วยอะไร อันอะไรมาเผาให้ร้อน

    ... เรากล่าวว่า ร้อนด้วยไฟ คือ ราคะ ด้วยไฟ คือ โทสะ ด้วยไฟคือ โมหะ ร้อนด้วยความเกิด ด้วยความแก่แล ความตาย

    ... ร้อนด้วยความโศก ด้วยความร่ำไรรำพัน ด้วยความเจ็บกาย ด้วยความเสียใจ ด้วยความคับแค้นใจทั้งหลาย


    ... มนะ (คือใจ) เป็นของร้อน

    ... ธรรมทั้งหลาย (คืออารมณ์ที่มากระทบใจ มีโลกธรรมเป็นต้น) เป็นของร้อน

    ... วิญญาณอาศัยมนะเป็นของร้อน

    ... สัมผัสอาศัยมนะเป็นของร้อน

    ... ความรู้สึกอารมณ์ (คือเวทนา) เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยนี้แม้อันใด เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี แม้อันนั้นก็เป็นของร้อน

    ... ร้อนด้วยอะไร อันอะไรมาเผาให้ร้อน

    ... เรากล่าวว่า ร้อนด้วยไฟ คือ ราคะ ด้วยไฟ คือ โทสะ ด้วยไฟ คือ โมหะ ร้อนด้วยความเกิด ด้วยความแก่ แลความตาย

    ... ร้อนด้วยความโศก ด้วยความร่ำไรรำพัน ด้วยความเจ็บกาย ด้วยความเสียใจ ด้วยความคับ แค้นใจทั้งหลาย




    ..... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้เป็นปกติ

    ... ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูปทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในวิญญาณอาศัยจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสัมผัสอาศัยจักษุ

    ... ความรู้สึกอารมณ์ (คือเวทนา) เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยนี้แม้อันใด เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในความรู้สึกนั้น


    ... ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในโสตะ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในเสียงทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในวิญญาณ อาศัยโสตะ ย่อมเบื่อหน่าย ทั้งในสัมผัส อาศัยโสตะ

    ... ความรู้สึกอารมณ์ (คือเวทนา) เกิดขึ้นเพราะโสตะสัมผัสเป็นปัจจัยนี้แม้อันใด เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในความรู้สึกนั้น


    ... ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในกลิ่นทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในวิญญาณอาศัยฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสัมผัสอาศัยฆานะ

    ... ความรู้สึกอารมณ์ (คือเวทนา) เกิดขึ้นเพราะฆานะสัมผัสเป็นปัจจัยนี้แม้อันใด เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในความรู้สึกนั้น


    ... ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรสทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในวิญญาณอาศัยชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสัมผัสอาศัยชิวหา

    ... ความรู้สึกอารมณ์ (คือเวทนา) เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัยนี้แม้อันใด เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในความรู้สึกนั้น


    ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในกาย ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในโผฎฐัพพะทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในวิญญาณอาศัยกาย ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสัมผัสอาศัยกาย

    ... ความรู้สึกอารมณ์ (คือเวทนา) เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัยนี้แม้อันใด เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี


    ... ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในความรู้สึกนั้น ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในมนะ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในธรรมทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในวิญญาณอาศัยมนะ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสัมผัสอาศัยมนะ

    ... ความรู้สึกอารมณ์ (คือเวทนา) เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยนี้แม้อันใด
    เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในความรู้สึกนั้น


    ... เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด

    ... เพราะคลายกำหนัด จิตก็หลุดพ้นจากความถือมั่น

    ... เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็ย่อมเกิดญาณทัสนะหยั่งรู้ว่า เราหลุดพ้นแล้ว ดังนี้

    ... อริยสาวกนั้น ย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์เราได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำเราทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี



    ..... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค

    ... ก็แหละเมื่อพระองค์ได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่ ภิกษุ ๑,๐๐๓ รูปนั้น ต่างมีจิตหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณดังนี้แล ฯ

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 มีนาคม 2014
  6. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    เสด็จพระนครราชคฤห์​

    ..... พระบรมศาสดา เสด็จประทับอยู่ที่อุรุเวลาเสนานิคมโดยสำราญ พอสมควรแก่กาลแล้ว ทรงพระประสงค์จะประดิษฐานพระศาสนาให้มั่นคงที่พระนครราชคฤห์ และทรงพระประสงค์จะเปลื้องปฏิญญาที่ทรงประทานแก่พระเจ้าพิมพิสารไว้แต่แรก

    ... จึงชวนพระอริยสาวก ๑,๐๐๓ องค์ มีพระอุรุเวลกัสสปะมหาเถระเป็นประธานเสด็จไปยังมคธรัฐ ประทับอยู่ที่ลัฏฐิวันสวนตาลหนุ่ม ใกล้พระนครราชคฤห์

    ... ครั้นนายอุทยานบาลได้เห็นพระบรมศาสดา พร้อมด้วยพระขีณาสพ ๑,๐๐๓ รูป เป็นบริวาร ก็มีใจชื่นบานเลื่อมใส รีบนำเรื่องเข้าไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร

    ... เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบแล้ว ก็ทรงโสมนัสเสด็จออกจากพระนคร พร้อมด้วยพราหมณ์และคหบดี ๑๒ หมื่นเป็นราชบริพาร เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังลัฏฐิวันสถาน ถวายความเคารพในพระรัตนตรัยด้วยพระราชศรัทธา

    ... ส่วนพราหมณ์และคหบดีทั้งหลายนั้น มีอัธยาศัยแตกต่างกัน บางพวกถวายนมัสการแล้วก็นั่ง บางพวกก็กล่าวสัมโมทนียกถาถวายความยินดี ในการที่พระบรมศาสดาเสด็จมาสู่พระนครราชคฤห์ บางพวกถวายความยินดีที่มีโอกาสมาเข้าเฝ้า ได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางพวกก็ประกาศชื่อและโคตรของตน บางพวกก็นั่งเฉยอยู่ บางพวกบางหมู่ก็ปริวิตกจิตคิดไปต่างๆ ว่า

    ... " พระสมณะโคดมบวชในสำนักท่านอุรุเวละกัสสปะ หรือท่านอุรุเวละกัสสปะบวชในสำนักพระสมณะโคดม หรือใครเป็นศิษย์เป็นอาจารย์กัน "

    ... ลำดับนั้น พระบรมศาสดา ทรงทราบด้วยพระญาณ ทรงพระประสงค์จะบรรเทาทิฏฐิของราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสาร จึงทรงพระดำรัสแก่พระอุรุเวละกัสสปะมหาเถระว่า

    ... " เธอเห็นโทษในการบูชาไฟอย่างไร จึงได้เลิกละการบูชาไฟเสีย "

    ... พระอุรุเวละกัสสปะมหาเถระได้กราบทูลว่า

    ... " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นว่า การบูชายัญญ์ทั้งหลายมีความใคร่ในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นสิ่งที่พอใจ น่าปรารถนา

    ... เป็นสมุฏฐาน เป็นเหตุแห่งความเร่าร้อนเพราะความไม่สมปรารถนาบ้าง เพราะอารมณ์เหล่านั้นเปลี่ยนแปลงบ้าง เพราะอารมณ์เหล่านั้นไม่เป็นไปตามอำนาจบ้าง ไม่เป็นทางให้สิ้นทุกข์โดยชอบ ข้าพระองค์จึงได้ละยัญญ์เหล่านั้นเสีย "

    ... ครั้นพระอุรุเวละกัสสปะมหาเถระได้กราบทูลดังนั้นแล้ว มีความประสงค์จะสำแดงตนให้พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายรู้ว่าตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกระทำจีวรเฉวียงบ่า ถวายบังคมพระบรมศาสดา กราบทูลด้วยเสียงอันดังด้วยอาการคารวะว่า

    ... " ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์เป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า "

    ... และกระทำปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปในอากาศสูงประมาณชั่วลำตาล แล้วลงมาถวายบังคมแทบพระยุคลบาท ประกาศตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยอาการนี้ถึง ๗ ครั้ง ยังความสงสัยของพราหมณ์และคหบดีเป็นราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสารทั้งหมดในที่นั้น ให้เสื่อมสิ้นไป

    ... พร้อมกับได้ความเลื่อมใสและความอัศจรรย์ในพระบรมศาสดา พากันตั้งใจสดับธรรมโดยคารวะ

    ... ลำดับนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงแสดงจตุราริยสัจ โปรดพระเจ้าพิมพิสารและราชบริพาร ๑๑ หมื่น ให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล อีก ๑ หมื่นให้ได้ความเลื่อมใสมั่นคงอยู่ในพระรัตนตรัยเป็นอุบาสกในพระศาสนา

    ... เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลถวายความยินดีเลื่อมใสแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    ... " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันยังเป็นขัตติยะราชกุมารอยู่นั้น หม่อมฉันได้ตั้งความปรารถนาเป็นมโนปณิธานไว้ ๕ ข้อ คือ

    ... ๑. ขอให้ได้รับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เสวยราชสมบัติในราชอาณาจักรนี้

    ... ๒. ขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จมาสู่แคว้นของหม่อมฉัน

    ... ๓. ขอให้หม่อมฉันได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

    ... ๔. ขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงพระกรุณาประทานธรรมเทศนาแด่หม่อมฉัน

    ... ๕. ขอให้หม่อมฉันได้รู้ทั่วถึงในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทาน

    ... บัดนี้ มโนปณิธานทั้ง ๕ ประการ ที่หม่อมฉันตั้งไว้นั้น ได้สำเร็จแล้วทุกประการ หม่อมฉันมีความโสมนัสเบิกบาน ในพระธรรมเทศนาเป็นอย่างยิ่ง

    ... หม่อมฉันขออาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้ากับทั้งพระสงฆ์สาวกทั้งปวงจงรับภัตตาหารของหม่อมฉันในวันพรุ่งนี้ "

    ... พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณียภาพ

    ... ครั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่า พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาแล้ว ก็ถวายอภิวาททูลลาพาราชบริพารเสด็จกลับคืนเข้าพระนคร




    ..... ครั้นวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก ๑,๐๐๓ รูป เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังพระนครราชคฤห์ เสด็จสู่พระราชนิเวศน์ ขึ้นประทับยังพระบวรพุทธาอาสน์

    ... พระเจ้าพิมพิสารมหาราช พร้อมด้วยราชบริพารทรงถวายมหาทาน อังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยพระหัตถ์ ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสร็จการเสวยแล้ว พระเจ้าพิมพิสารจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    ... " ลัฏฐิวัน ที่ทรงประทับอยู่นั้นเล็ก ทั้งไกลจากชุมนุมชนเกินพอดี ไม่สะดวกแก่ผู้มีศรัทธา มีกิจจะพึงไป

    ... หม่อมฉันขอถวายพระราชอุทยานเวฬุวันให้เป็นสังฆาราม ด้วยเป็นสถานที่กว้างใหญ่ มีเสนาสนะเรียบร้อย ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไกลจากชุมนุมชน เงียบสงัด ไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน ผู้มีกิจจะพึงไปถึงได้ไม่ลำบาก สมเป็นพุทธาธิวาสอันพระองค์จะทรงประทับ "


    ... กราบทูลแล้ว ก็ทรงจับพระเต้าทองหลั่งน้ำทักษิโณทก ให้ตกลงที่พระหัตถ์พระบรมศาสดา ถวายพระราชอุทยานเวฬุวันเป็นปฐมสังฆาราม เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา

     
  7. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    อุปติสสะและโกลิตะออกบวช​

    ..... พระบรมศาสดาทรงรับพระเวฬุวันเป็นปฐมสังฆารามแล้ว ทรงอนุโมทนา พาพระสงฆ์สาวกเสด็จกลับประทับยังพระเวฬุวันมหาวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระศาสนาอันมโหฬารทั้งงามตระการและมั่นคง

    ... ควรแก่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งมาแต่จตุรทิศจะพึงเข้าพำนักอยู่อาศัย เป็นความสะดวกสบายแก่สมณะเพศ ที่โลกยกย่องว่าเป็นบุญญักเขตควรแก่การบูชา

    ... มหาชนมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หลั่งไหลกันมาสดับธรรมเทศนาเป็นอันมาก

    ... เป็นอันว่าพระบรมศาสดาได้เริ่มประดิษฐานพระศาสนาเป็นหลักฐานลงที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ณ พระนครราชคฤห์ เกียรติศักดิ์เกียรติคุณแห่งพระพุทธศาสนา ได้เริ่มแพร่ไปในประชุมชนตามตำบลน้อยใหญ่เป็นลำดับ

    ... สมัยนั้น มีหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ใกล้กรุงราชคฤห์ ๒ หมู่บ้าน เรียกว่าอุปติสสะคาม๑. โกลิตะคาม๑. บุตรคนใหญ่ของนายบ้านอุปติสสะคาม ซึ่งเกิดแต่นางสารีพราหมณี ชื่อว่า อุปติสสะ

    ... บุตรคนใหญ่ของนายบ้านโกลิตะคาม ซึ่งเกิดแต่นางโมคคัลลีพราหมณี ชื่อ โกลิตะ และเนื่องจากหมู่บ้านทั้งสองตั้งอยู่ไม่ไกลกัน มีฐานะทัดเทียมกัน ทั้งเคารพนับถือกันดี ดังนั้น บุตรของตระกูลทั้งสองนี้จึงรักใคร่ ไปมาหาสู่กันอย่างสนิทสนม คบหาสมาคมกันทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ไว้วางใจกันเป็นอย่างดี

    ... อุปติสสะ กับโกลิตะ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นสหชาติร่วมปีเกิดเดือนเกิดแต่อุปติสสะแก่วันกว่า โกลิตะจึงเรียกอุปติสสะว่า พี่ ในฐานะแก่กว่า

    ... คนทั้งสองเจริญวัยอยู่ในความอุปถัมภ์บำรุงของบิดามารดาเป็นอย่างดี มีเด็กในหมู่บ้านทั้งสองเป็นเพื่อนฝูงกันแต่เยาว์วัยก็มาก แม้เมื่อมีอายุควรแก่การศึกษาแล้ว คนทั้งสองตลอดมิตรสหายก็ได้เข้าศึกษาศิลปวิทยาในสำนักอาจารย์เดียวกัน แม้เมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็ยังเป็นเพื่อนร่วมงาน ร่วมความสนุกสนาน บันเทิงด้วยกันด้วยดีเสมอมา ในการชมมหรสพถึงคราวสรวลเสเฮฮา ก็สรวลเสเฮฮาด้วย ถึงคราวสลดใจก็สลดใจด้วย คราวเบิกบานใจ ควรตกรางวัล ก็ตกรางวัลให้ด้วยกัน

    ... วันหนึ่ง มีงานมหรสพบนภูเขามีผู้คนไปมาก อุปติสสะมานพและโกลิตะมานพก็ไปชมด้วยกัน แต่เป็นด้วยทั้งสองมานพมีบารมีญาณแก่กล้า ดูมหรสพด้วยพิจารณาเห็นความจริงของกัปกิริยาอาการของคนแสดงและคนดู รวมทั้งตนเองด้วย ปรากฏอยู่ในสถานะที่ไม่น่าจะนิยมชมชื่นเลย เมื่อเป็นเช่นนั้น การชมมหรสพก็ไม่ออกรส ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเหมือนแต่ก่อน หน้าตาก็ไม่เบิกบาน คิดว่า

    ... " อีกไม่ถึง ๑๐๐ ปี ทั้งคนแสดงและคนดูก็ตายหมด ไม่เห็นมีประโยชน์อันใดในการมาดูมหรสพนี้เลย ควรจะแสวงหาโมกขธรรมประเสริฐกว่า "

    ... ครั้นมานพทั้งสองได้ไต่ถามถึงความรู้สึกนึกคิด ทราบความประสงค์ตรงกันเช่นนั้นก็ดีใจ และอุปติสสะมานพก็กล่าวกะโกลิตะมานพว่า

    ... " เมื่อเราทั้งสองมีความตรึกตรองต้องกันเช่นนี้แล้ว สมควรจะบวชแสวงหาโมกขธรรมด้วยกันเถิด "

    ... เมื่อตกลงใจออกบวชด้วยกันแล้ว โกลิตะมานพจึงปรึกษาว่า

    ... " เราจะบวชในสำนักอาจารย์ใดดี "

    ... สมัยนั้น สัญชัยปริพพาชก เป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ในเมืองราชคฤห์ เป็นสำนักหนึ่งที่มีบริษัทบริวารมาก มานพทั้งสองจึงปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า

    ... " เราควรจะไปบวชในสำนักอาจารย์สัญชัยปริพพาชก "

    ... ครั้นตกลงใจแล้ว มานพทั้งสองต่างก็พาบริวารของตนรวม ๕๐๐ คน เข้าไปหาท่านอาจารย์สัญชัยปริพาชก ขอบวชและอยู่ศึกษาในสำนักนั้น

    ... จำเดิมแต่มานพทั้งสอง เข้าไปบวชเป็นศิษย์อยู่ในสำนักสัญชัยปริพพาชกไม่นาน สำนักก็เจริญ เป็นที่นิยมของมหาชนเป็นอันมาก ลาภสักการะพร้อมด้วยยศก็เจริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

    ... เมื่ออุปติสสะมานพและโกลิตะมานพบวชเป็นปริพพาชก ศึกษาลัทธิของอาจารย์สัญชัยไม่นาน ก็สิ้นความรู้ของอาจารย์ จึงได้เรียนถามว่า

    ... " ท่านอาจารย์ ลัทธิของท่านอาจารย์มีเท่านี้แหละหรือ "

    ... อาจารย์สัญชัยก็บอกว่า

    ... " ลัทธิของเรามีเพียงเท่านี้ ท่านทั้งสองเรียนจบบริบูรณ์แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่ข้าพเจ้ารู้โดยท่านไม่รู้เลย "

    ... แล้วตั้งให้อุปติสสะมานพ และโกลิตะมานพทั้งสอง เป็นอาจารย์สอนศิษย์ในสำนัก มีศักดิ์เสมอด้วยตน

    ... มานพทั้งสองปรึกษากันว่า

    ... " การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักนี้หาประโยชน์มิได้ ด้วยไม่เป็นทางให้เข้าถึงโมกขธรรม ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการหลุดพ้นได้ ความจริงชมพูทวีปนี้ก็กว้างใหญ่ คงจะมีท่านที่มีความรู้สอนให้เราเข้าถึงโมกขธรรมได้ ควรเราจะเที่ยวสืบเสาะ แสวงหาดู "

    ... แล้วมานพทั้งสองก็ลาอาจารย์เที่ยวเสาะแสวงหาผู้ที่มีความรู้ ความสามารถเป็นอาจารย์สอนโมกขธรรมให้ แม้พยายามเที่ยวไปในชนบทน้อยใหญ่ ได้ข่าวว่ามีอาจารย์ในสำนักใดดี มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมนับถือ ก็เข้าไปไต่ถาม ขอรับความรู้ความแนะนำ แต่แล้วก็ไม่สมประสงค์ เพราะทุกอาจารย์ที่เข้าไปไต่ถามต่างก็ยอมจำนน ด้วยไม่สามารถบรรเทาความสงสัย ให้ความเบิกบานเคารพนับถือได้

    ... เมื่อได้ท่องเที่ยวทุกแห่งจนสุดความสามารถ สิ้นศรัทธาที่จะพยายามสืบเสาะต่อไปอีกแล้ว มานพทั้งสองก็กลับมาอยู่ในสำนักอาจารย์เดิมดังกล่าว ต่างให้สัญญาไว้แก่กันว่า

    ... " ผิว่าผู้ใดได้รู้โมกขธรรมก่อน จงบอกให้แก่ผู้หนึ่งได้รู้เช่นกัน "




    ..... ในกาลนั้น พอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จไปตรัสเทศนาธรรมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์

    ... ตราบเท่าจนส่งพระอรหันต์ ๖๐ องค์ ออกไปเที่ยวประกาศพระศาสนาแล้ว

    ... พระองค์ก็เสด็จไปแสดงธรรมโปรดชฎิล ๑,๐๐๓ รูป แล้วเสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จประทับอยู่ในพระเวฬุวันวิหาร

    ... ครั้งนั้น พระอัสสะชิมหาเถระเจ้า ซึ่งอยู่ในคณะภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้ออกประกาศพระศาสนาจาริกมาสู่เมืองราชคฤห์

    ... เวลาเช้าทรงบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตภายในเมือง

    ... ขณะนั้น พออุปติสสะปริพาชกบริโภคอาหารเช้าแล้ว เดินไปสู่อารามปริพพาชก เห็นพระอัสสะชิมหาเถระเจ้า ซึ่งสมบูรณ์ด้วยอาจาระอันงามตามสมณะวิสัย จะก้าวไปข้างหน้า หรือจะถอยกลับ มีสติสังวรเป็นอันดี มีจักษุทอด พอประมาณทุกขณะ เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส เป็นที่พึงตาพึงใจของอุปติสสะเป็นอย่างมาก ดำริว่า

    ... " บรรพชิตมีกริยาอาการในรูปนี้ เรามิได้เคยพบเห็นมาแต่ก่อน ท่านผู้ใดได้รับยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์ในโลกนี้ บรรพชิตรูปนี้จะต้องนับเข้าในพระอรหันต์พวกนั้นรูปหนึ่งเป็นแน่แท้ ควรเราจะเข้าหาสมณะรูปนี้เพื่อได้ศึกษา ขอรับข้อปฏิบัติ เพื่อบรรลุโมกขธรรมเช่นท่านบ้าง "

    ... แต่แล้วอุปติสสะมานพก็กลับได้สติ ดำริใหม่ว่า

    ... " ขณะนี้เป็นเวลาเที่ยวบิณฑบาตของภิกษุรูปนี้อยู่ ไม่สมควรที่เราจะเข้าไปไต่ถาม "

    ... ครั้นอุปติสสะดำริฉะนี้แล้ว ก็เดินติดตามท่านภายในระยะทางพอสมควร

    ... ครั้นพระอัสสะชิมหาเถระเจ้าได้บิณฑบาตแล้ว หลีกไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าควรจะเป็นที่นั่งทำภัตตกิจได้ อุปติสสะปริพพาชกได้รีบเข้าไปใกล้ จัดตั้งอาสนะถวายแล้วนั่งปฏิบัติ ถวายน้ำใช้น้ำฉัน ครั้นพระเถระเจ้าทำภัตตกิจเสร็จแล้ว อุปติสสะปริพพาชก จึงกล่าวปฏิสันถารด้วยคารวะว่า

    ... " ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านหมดจดยิ่งนัก ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร "

    ... พระเถระเจ้าตอบว่า

    ... " ดูกรปริพพาชก พระมหาสมณะศากยบุตร เสด็จออกบรรพชาจากศากยราชตระกูล พระองค์นั้น เป็นบรมครูของเรา เราบวชอุทิศเฉพาะพระศาสดาพระองค์นั้น และเล่าเรียนธรรมในพระศาสดาพระองค์นั้นแล "

    ... อุปติสสะปริพพาชกจึงเรียนถามต่อไปว่า

    ... " อาจารย์ของท่านสอนธรรมอย่างไรแก่ท่าน "

    ... พระเถระเจ้าดำริว่า

    ... " ธรรมดาปริพพาชกย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อพระศาสนา ควรอาตมาจะแสดงคุณแห่งพระศาสนา โดยความเป็นธรรมลึกซึ้งและประณีตสุขุมเถิด "

    ... ครั้นแล้วจึงบอกว่า

    ... " ดูกรปริพพาชก อาตมาเพิ่งบวชใหม่ ไม่อาจแสดงธรรมวินัย โดยพิสดารแก่เธอได้ดอก "

    ... อุปติสสะปริพพาชกจึงได้เรียนปฏิบัติท่านว่า

    ... " ข้าพเจ้าชื่อว่า อุปติสสะ ขอให้พระเถระเจ้ากรุณาบอกธรรมเพียงแต่ย่อๆ เถิด "

    ... พระอัสสะชิมหาเถระเจ้า กล่าวคาถาแสดงวัตถุประสงค์ของพระศาสนาว่า

    เย ธัมมา เหตุปัปภะวา

    เตสัง เหตุง ตถาคโต

    เตสัญจะ โย นิโรโธ จะ

    เอวัง วาที มหาสะมะโณ

    ... เป็นอาทิความว่า

    ... " ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น และความดับไปแห่งธรรมนั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้ "

    ... อุปติสสะพอได้ฟังธรรมนั้นก็ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า

    ... " สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา"

    ... อุปติสสะปริพพาชกได้ปรีชาญาณหยั่งเห็นสัจจะธรรมถึงบรรลุโสดาปัตติผล โดยสดับเทศนาหัวใจพระศาสนา ของพระเถระเจ้าเพียงคาถาหนึ่งเท่านั้น แล้วเรียนท่านโดยคารวะว่า

    ... " เดี๋ยวนี้พระศาสดาประทับอยู่ที่ไหน "

    ... เมื่อท่านพระอัสสชิตอบว่า

    ... " พระศาสดาประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร "

    ... จึงกล่าวว่า

    ... " ถ้าเช่นนั้น ขอให้ท่านอาจารย์จงกลับไปก่อน แล้วกระผมจะตามไปภายหลัง ด้วยกระผมได้ให้สัญญาไว้กับโกลิตะมานพสหายที่รักว่า ถ้าผู้ใดได้โมกขธรรมก่อน จงบอกแก่กันให้รู้ ฉะนั้น กระผมจะกลับไปเปลื้องสัญญาเสียก่อน แล้วจะพาสหายผู้นั้นไปสู่สำนักพระบรมศาสดาของเราต่อภายหลัง "

    ... แล้วกราบพระเถระเจ้าด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ด้วยความเคารพ กระทำประทักษิณเดินเวียน ๓ รอบ แล้วส่งพระเถระเจ้าไปก่อน ส่วนตนออกเดินบ่ายหน้าไปสู่ปริพพาชการาม

    ... ส่วนโกลิตะปริพพาชกเห็นสหายเดินมาแต่ไกล จึงดำริว่า

    ... " ใบหน้าของสหายเรา วันนี้ดูเบิกบานผ่องใสยิ่งกว่าวันอื่นๆ ชะรอยจะได้โมกขธรรมเป็นแน่แท้ "

    ... ครั้นอุปติสสะปริพพาชกเข้ามาใกล้ จึงถามตามความคิด อุปติสสะก็บอกว่า

    ... " ตนได้บรรลุโมกขธรรมแล้ว มานี่ก็เพื่อบอกโมกขธรรมนั้นแก่สหาย ให้เป็นไปตามสัญญาของเราที่ ให้กันไว้แต่แรก ขอสหายจงตั้งใจฟังเถิด "

    ... แล้วอุปติสสะก็แสดงคาถาหัวใจของพระศาสนา ซึ่งตนได้สดับมาจากพระอัสสะชิมหาเถระเจ้า พออุปติสสะแสดงจบลง โกลิตะปริพพาชกก็ได้ปรีชาญาณหยั่งเห็นในอริยสัจจะ บรรลุโสดาปัตติผลเช่นเดียวกับอุปติสสะปริพพาชก

    ... โกลิตะจึงกล่าวแก่อุปติสสะว่า

    ... " เราทั้งสองได้บรรลุโมกธรรมแล้ว ควรจะไปสำนักพระบรมศาสดากันเถิด "

    ... อุปติสสะเป็นผู้เคารพบูชาอาจารย์มาก จึงตอบว่า

    ... " ถูกแล้ว เราทั้งสองควรจะไปเฝ้าพระบรมศาสดาดังที่เธอกล่าว ก่อนแต่จะจากสำนักนี้ไปเราทั้งสองควรจะไปอำลาท่านสัญชัยอาจารย์ แล้วหาโอกาสแสดงโมกขธรรมให้ฟัง ถ้าอาจารย์ของเรามี วาสนาบารมี ก็จะพลอยได้รู้โมกขธรรมด้วยกัน แม้ไม่ถึงอย่างนั้นเพียงแต่ท่านเชื่อฟัง แล้วพากันไปสู่สำนักพระบรมศาสดา เมื่อได้ฟังธรรมเทศนาแล้ว ก็จะได้บรรลุมรรคและผลตามวาสนาบารมีเป็นแน่ "

    ... ครั้นสองสหายปรึกษาตกลงกันแล้ว ก็พากันเข้าไปหาท่านสัญชัยอาจารย์ บอกให้ทราบว่า

    ... " บัดนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้วในโลก ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วนั้น เป็นนิยยานิกธรรม สามารถนำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์โดยชอบได้จริง พระสงฆ์สาวกก็ปฏิบัติชอบด้วยสุปฎิบัติ ท่านอาจารย์จงมาร่วมกันไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังพระเวฬุวันสถานนั้นเถิด "

    ... ท่านสัญชัยปริพพาชกจึงกล่าวห้ามว่า

    ... " ใยท่านทั้งสองจึงมาเจรจาเช่นนี้ เรามีลาภมียศใหญ่ยิ่ง เป็นเจ้าสำนักใหญ่โตถึงเพียงนี้แล้ว ยังควรจะไปเป็นศิษย์ของใครในสำนักใดอีกเล่า "

    ... แต่แล้วก็คิดว่า อุปติสสะและโกลิตะทั้งสองนี้เป็นคนดีมีปัญญาสามารถ น่าที่จะบรรลุโมกขธรรมตามที่ปรารถนายิ่งนักแล้ว คงจะไม่ฟังคำห้ามปรามของตน จึงกล่าวใหม่ว่า

    ... " ท่านทั้งสองจงไปเถิด เราเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยถึงความชราแล้ว ไม่อาจจะไปเป็นศิษย์ของผู้ใดได้ดอก "

    ... " ท่านอาจารย์อย่ากล่าวดังนั้นเลย "

    ... สหายทั้งสองวิงวอน

    ... " ไม่ควรที่ท่านอาจารย์จะคิดเช่นนั้น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ดังดวงอาทิตย์อุทัยให้ความสว่างแล้ว คนทั้งหลายจะหลั่งไหลไปฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วท่านอาจารย์จะอยู่ได้อย่างไร "

    ... " พ่ออุปติสสะ ในโลกนี้ คนโง่มาก หรือคนฉลาดมาก "

    ... สัญชัยปริพพาชกถามอย่างมีท่าเลี่ยง แต่อุปติสสะตอบตรงๆ โดยความเคารพว่า

    ... " คนโง่สิมาก ท่านอาจารย์ คนฉลาดมีปัญญาสามารถ จะมีสักกี่คน "

    ... " จริง ! อย่างพ่ออุปติสสะพูด "

    ... สัญชัยปริพพาชกกล่าวอย่างละเมียดละไม

    ... " คนฉลาดมีน้อย คนโง่มีมาก อุปติสสะ เพราะเหตุนี้แหละ เราจึงไม่ไปด้วยท่าน เราจะอยู่ในสำนักของเรา อยู่ต้อนรับคนโง่ คนโง่อันมีปริมาณมากจะมาหาเรา ส่วนคนฉลาดจะไปหาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น ท่านทั้งสองจงไปเถิด เราไม่ไปด้วยแล้ว "

    ... แม้สหายทั้งสอง จะพูดจาหว่านล้อมสัญชัยปริพพาชกด้วยเหตุผลใดๆ ก็ไม่สามารถจะโน้มน้าวจิตใจของสัญชัยปริพพาชกให้ไปเฝ้าพระบรมศาสดาได้ อุปติสสะและโกลิตะจึงชวนปริพพาชก ผู้เป็นบริวารของตน จำนวน ๒๕๐ คน ลาอาจารย์สัญชัยไปเฝ้าพระบรมศาสดา ยังพระเวฬุวันมหาวิหาร

    ... ขณะนั้น เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท ๔ เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นอุปติสสะและโกลิตะ พาบริษัทของตนตรงเข้ามาแต่ไกลเช่นนั้นจึงรับสั่งว่า

    ... " ภิกษุทั้งหลาย โน่น ! คู่อัครสาวกของตถาคตมาแล้ว พาบริวารของเธอมาให้ตถาคตด้วย "

    ... เมื่อปริพพาชกทั้งหลายเข้ามาเฝ้าแล้ว พระบรมศาสดาก็แสดงธรรมโดยควรแก่อุปนิสัยของปริพพาชกเหล่านั้น

    ... ครั้นจบพระธรรมเทศนา ปริพพาชกทั้งหมด เว้นอุปติสสะและโกลิตะได้บรรลุอรหัตตผลด้วยกันสิ้น

    ... สหายทั้งสองจึงพาบริษัทของตนทั้งหมดเข้ากราบทูลขอประทานอุปสมบท

    ... สมเด็จพระบรมสุคตก็ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสมบทแก่ปริพพาชกทั้ง ๒๕๒ คนนั้น เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา แล้วตรัสเรียกชื่อสหายทั้งสองนั้นตามนามของมารดา คือ

    ... รับสั่งเรียก พระอุปติสสะ ผู้เป็นบุตรของนางสารีพราหมณีว่า พระสารีบุตรมหาเถระ

    ... รับสั่งเรียก พระโกลิตะ ผู้เป็นบุตรของนางโมคคัลลีพราหมณีว่า พระโมคคัลลานะมหาเถระ

    ... อาศัยเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งเรียกท่านทั้งสองเช่นนั้นในท่ามกลางบริษัท ๔ พุทธบริษัทจึงนิยมเรียกท่านด้วยชื่อที่ได้รับพระมหากรุณาประทานใหม่ตลอดอายุของท่าน และนิยมเรียกมาจนบัดนี้

     
  8. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... ฝ่ายพระโมคคัลลานะมหาเถระ อุปสมบทแล้วได้ ๗ วัน หลีกไปทำความเพียรอยู่ในเสนาสนะป่า ใกล้บ้านกัลละวาลมุตตะคาม ในแคว้นมคธ

    ... ตามที่ปรากฏหลักฐานในโมคคัลลานะสูตร ความว่า

    ... พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าเภสกะลา มิคะทายะวัน ใกล้สุงสุมารคีรนคร แคว้นภัคคะ

    ... ก็สมัยนั้นแล ท่านมหาโมคคัลลานะนั่งโงกง่วงอยู่ ณ บ้านกัลละวาละมุตตะคาม แคว้นมคธ

    ... พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งโงกง่วงอยู่ ณ บ้านกัลละวาละมุตตะคาม แคว้นมคธด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุมนุษย์

    ... ครั้นแล้วทรงหายจากเภสกลามิคทายวัน ใกล้สุงสุมารคีรนคร แคว้นภัคคะ เสด็จไปปรากฏเฉพาะหน้าท่านพระมหาโมคคัลลานะ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น

    ... พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่พระมหาโมคคัลลานะปูลาดแล้ว ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า

    ... " ดูกรโมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ "

    ... ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า

    ... " อย่างนั้น พระเจ้าข้าฯ "

    ... ( พระพุทธเจ้าตรัสสอนวิธีแก้ความง่วงขณะทำกรรมฐานความว่า)

    ... " ดูกรโมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแหละ เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไรอยู่ ความง่วงนั้นย่อมครอบงำไม่ได้ เธอพึงทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

    ... ถ้าเธอยังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงตรึกตรองพิจารณาถึงธรรมตามที่ตนได้สดับแล้ว ได้เรียนมาแล้วด้วยใจ ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

    ... ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสาธยายธรรมตามที่ตนได้สดับมาแล้วได้เรียนมาแล้วโดยพิสดาร ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

    ... ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงยอนช่องหูทั้งสองข้าง เอามือลูบตัว ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

    ... ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างหน้าล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์ ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

    ... ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงทำในใจถึงอาโลกสัญญา ตั้งความสำคัญในกลางวันว่า กลางวันอย่างไร กลางคืนอย่างนั้น กลางคืนอย่างไร กลางวันอย่างนั้น มีใจเปิดเผยอยู่ฉะนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

    ... ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

    ... ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้น พอตื่นแล้วพึงรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า " เราจักไม่ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ " ดูกรโมคคัลลานะเธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

    ... ดูกรโมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษาอย่างนี้อีกว่า เราจักไม่ชูงวง คือ ถือตัวเข้าไปสู่ตระกูล ดูกรโมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล

    ... ถ้าภิกษุชูงวงเข้าไปสู่ตระกูล และในตระกูลมีกรณียกิจหลายอย่าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้มนุษย์ไม่ใส่ใจถึงภิกษุผู้มาแล้ว

    ... เพราะเหตุนั้น ภิกษุย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เดี๋ยวนี้ใครหนอยุยงให้เราแตกในสกุลนี้ เดี๋ยวนี้ดูมนุษย์พวกนี้ มีอาการอิดหนาระอาใจในเรา เพราะไม่ได้อะไร

    ... เธอจึงเป็นผู้เก้อเขิน เมื่อเก้อเขิน ย่อมคิดฟุ้งซ่าน เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ ฯ

    ... เพราะฉะนั้นแหละ โมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า

    ... " เราจักไม่พูดถ้อยคำซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน "

    ... ดูกรโมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล เมื่อมีถ้อยคำซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน ก็จำต้องหวังการพูดมาก เมื่อมีการพูดมาก ย่อมคิดฟุ้งซ่าน เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ ฯ

    ... ดูกรโมคคัลลานะ อนึ่ง เราหาสรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงไม่ แต่มิใช่ว่าจะไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงก็หามิได้ คือ

    ... เราไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยหมู่ชนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต

    ... ก็แต่ว่า เสนาสนะอันใดเงียบเสียง ไม่อื้ออึง ปราศจากการสัญจรของหมู่ชน ควรเป็นที่ประกอบกิจของผู้ต้องการความสงัด ควรเป็นที่หลีกออกเร้น เราสรรเสริญความคลุกคลีด้วยเสนาสนะเห็นปานนั้น ฯ "

    ... เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ... " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงไรหนอภิกษุจึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน มีธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ "

    ... พระพุทธเจ้าตรัสว่า

    ... " ดูกรโมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น ครั้นได้สดับดังนั้นแล้ว เธอย่อมรู้ชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่งครั้นรู้ชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง

    ... ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว ได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี

    ... ย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในเวทนาเหล่านั้น

    ... พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด

    ... พิจารณาเห็นความดับ

    ... พิจารณาเห็นความสละคืน เมื่อเธอพิจารณาเห็นอย่างนั้นๆ อยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก

    ... เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมปรินิพพานเฉพาะตัวทีเดียว

    ... ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

    ... ดูกรโมคคัลลานะ โดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน เป็นผู้เกษมจากโยคะล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย "


    ... ทรงประทานโอวาทในธาตุกัมมัฏฐาน พระโมคคัลลานะได้สดับแล้วปฏิบัติตาม ในคืนนั้นนั่นเอง ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมปฏิสัมภิทาญาณระดับพระอัครสาวกเบื้องซ้าย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 16 มีนาคม 2014
  9. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... ส่วนพระสารีบุตรเถระอุปสมบทแล้วได้กึ่งเดือน ตามพระบรมศาสดาไปอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตา ใกล้กรุงราชคฤห์

    ... ตามที่ปรารกฏในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค ทีฆนขสูตร เรื่องทีฆนขปริพพาชก

    ... ครั้งนั้น ปริพาชกชื่อ ทีฆนขะ (ผู้เป็นหลานของพระสารีบุตรเถระ ได้ยินว่าท่านพระสารีบุตรเถระ บวชในสำนักของพระศรีศากยมุนีเจ้า ได้ประมาณ ๑๕ วัน ได้ยินว่าหลวงพ่อพระสารีบุตรเถระและหลวงพ่อพระมหาโมคคัลลานะเถระ บวชตอนมีอายุประมาณ ๗๖ ปี) เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับที่ถ้ำสุกรขาตา ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค

    ... ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลว่า

    ... " ท่านพระโคดม ความจริงข้าพเจ้ามีปกติกล่าวอย่างนี้ มีปกติเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา "

    ... พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ... " อัคคิเวสสนะ แม้ความเห็นของท่านว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรานั้น ก็ไม่ควรแก่ท่าน "

    ... " ท่านพระโคดม ถ้าความเห็นนี้ควรแก่ข้าพเจ้า แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้น แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้น "

    ... " อัคคิเวสสนะ ชนในโลกผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้นทั้งนั้น แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้นทั้งนั้น ดังนี้

    ... ชนเหล่านั้นละความเห็นนั้นไม่ได้ และยังยึดถือความเห็นอื่นนั้น มีมาก คือมากกว่าคนที่ละได้

    ... อัคคิเวสสนะ ชนในโลกผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้นทั้งนั้น แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้นทั้งนั้น ดังนี้

    ... ชนเหล่านั้นละความเห็นนั้นได้ และไม่ยึดถือความเห็นอื่นนั้น มีน้อยคือน้อยกว่าคนที่ยังละไม่ได้ "


    ทิฏฐิเป็นเหตุให้เกิดวิวาท​

    ..... " อัคคิเวสสนะ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่ง
    ทั้งปวงควรแก่เรา ดังนี้ ก็มี

    ... สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ดังนี้ ก็มี

    ... สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ดังนี้ ก็มี

    ... อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกที่มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า

    ... สิ่งทั้งปวงควรแก่เรานั้น ใกล้ข้างกิเลสอันเป็นไปกับด้วยความกำหนัด

    ... ใกล้ข้างกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้

    ... ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุเพลิดเพลิน

    ... ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุกล้ำกลืน

    ... ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุยึดมั่น


    ... อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกที่มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรานั้น

    ... ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นไปกับด้วยความกำหนัด

    ... ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้

    ... ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน

    ... ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุกล้ำกลืน

    ... ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุยึดมั่น "




    ..... เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทีฆนขะปริพพาชกได้กราบทูล
    พระผู้มีพระภาคว่า

    ... " ท่านพระโคดมทรงยกย่องความเห็นของข้าพเจ้า ท่านพระโคดมทรงยกย่อง
    ความเห็นของข้าพเจ้า "

    ... " อัคคิเวสสนะ ในความเห็นนั้นๆ ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกที่มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา นั้น

    ... ส่วนที่เห็นว่าควร

    ... ใกล้ข้างกิเลสอันเป็นไปกับด้วยความกำหนัด

    ... ใกล้ข้างกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้

    ... ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุเพลิดเพลิน

    ... ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุกล้ำกลืน

    ... ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุยึดมั่น


    ... ส่วนที่เห็นว่าไม่ควร

    ... ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นไปด้วยความกำหนัด

    ... ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้

    ... ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน

    ... ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุกล้ำกลืน

    ... ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุยึดมั่น "




    ..... " อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ในความเห็นของสมณพราหมณ์ผู้ที่มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า

    ... สิ่งทั้งปวงควรแก่เรานั้น

    ... วิญญูชนย่อมเห็นตระหนักว่า เราจะยึดมั่น ถือมั่นซึ่งทิฏฐิของเราว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา ดังนี้

    ... แล้วยืนยันโดยแข็งแรงว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า เราก็พึงถือผิดจากสมณพราหมณ์สองพวกนี้ คือ

    ... สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ๑

    สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ๑

    ... เมื่อความถือผิดกันมีอยู่ดังนี้

    ... ความทุ่มเถียงกันก็มี เมื่อมีความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกันก็มี

    ... เมื่อมีความแก่งแย่งกัน ความเบียดเบียนกันก็มี

    ... วิญญูชนนั้นพิจารณาเห็นความถือผิดกัน ความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกัน
    และความเบียดเบียนกัน ในตนดังนี้อยู่

    ... จึงละทิฏฐินั้นเสียด้วย ไม่ยึดถือทิฏฐิอื่นด้วย การละการสละคืนทิฏฐิเหล่านี้ ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้ "




    ..... อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ในทิฏฐิของสมณพราหมณ์ผู้ที่มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า

    ... สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ดังนี้นั้น

    ... วิญญูชนย่อมเห็นตระหนักว่า ถ้าเราจะยึดมั่น ถือมั่นซึ่งทิฏฐิของเราว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เราดังนี้

    ... แล้วยืนยันโดยแข็งแรงว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า

    ... เราก็พึงถือผิดจากสมณพราหมณ์สองพวกนี้ คือ สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา ๑

    ... สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ๑

    ... เมื่อความถือผิดกันมีอยู่ดังนี้ ความทุ่มเถียงกันก็มี เมื่อมีความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกันก็มี เมื่อมีความแก่งแย่งกัน ความเบียดเบียนกันก็มี

    ... วิญญูชนนั้นพิจารณาเห็นความถือผิดกัน ความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกัน และความเบียดเบียนกัน ในตนดังนี้อยู่

    ... จึงละทิฏฐินั้นเสียด้วย ไม่ยึดถือทิฏฐิอื่นด้วย การละ การสละคืนทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้ "




    ..... " อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ในทิฏฐิของสมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า

    ... บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ดังนี้นั้น

    ... วิญญูชนย่อมเห็นตระหนักว่า ถ้าเราจะยึดมั่นถือมั่น ซึ่งทิฏฐิของเราว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เราดังนี้

    ... แล้วยืนยันโดยแข็งแรงว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า

    ... เราก็พึงถือผิดจากสมณพราหมณ์สองพวกนี้ คือ

    ... สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา ๑

    ... สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ๑

    ... เมื่อความถือผิดกันมีอยู่ดังนี้ ความทุ่มเถียงกันก็มี เมื่อมีความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกันก็มี เมื่อมีความแก่งแย่งกัน ความเบียดเบียนกันก็มี

    ... วิญญูชนนั้นพิจารณาเห็นความถือผิดกัน ความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกัน และความเบียดเบียนกันในตนดังนี้อยู่

    ... จึงละทิฏฐินั้นเสียด้วย ไม่ยึดถือทิฏฐิอื่นด้วย การละ การสละคืนทิฏฐิเหล่านั้น
    ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้ "




    ..... " อัคคิเวสสนะ ก็กายนี้เป็นที่ประชุมมหาภูตทั้งสี่ (คือ ธาตุดิน๒๐ ธาตุน้ำ๑๒ ธาตุไฟ๕ ธาตุลม๖)

    ... มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุกและขนมสด

    ... ต้องอบและขัดสีกันเป็นนิจ มีความแตกกระจัดกระจาย(คือตาย)เป็นธรรมดา

    ... ท่านควรพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง

    ... เป็นทุกข์

    ... เป็น(รังของ)โรค

    ... เป็นดังหัวฝี

    ... เป็นดังลูกศร(เสียบแทง)

    ... เป็นความลำบาก

    ... เป็นความเจ็บไข้

    ... เป็นดังผู้อื่น

    ... เป็นของทรุดโทรม

    ... เป็นของว่างเปล่าเป็นของมิใช่ตน

    ... เมื่อท่านพิจารณาเห็นกายนี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค
    เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นดังผู้อื่น เป็นของทรุดโทรมเป็นของว่างเปล่า เป็นของมิใช่ตนอยู่

    ... ท่านย่อมละความพอใจในกาย ความเยื่อใยในกาย ความอยู่ในอำนาจของกายได้ "




    เวทนา ๓​

    ..... " อัคคิเวสสนะ เวทนาสามอย่างนี้ คือ

    ... สุขเวทนา

    ... ทุกขเวทนา

    ... อทุกขมสุขเวทนา (ความไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข)

    ... อัคคิเวสสนะ สมัยใดได้เสวยสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่
    ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น

    ... ในสมัยใดได้เสวยทุกขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น

    ... ในสมัยใดได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ได้เสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาเท่านั้น

    ... อัคคิเวสสนะ สุขเวทนาไม่เที่ยง

    ... อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้นอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา


    ... แม้ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา


    ... แม้อทุกขมสุขเวทนาก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความ
    สิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา


    ... อัคคิเวสสนะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา ทั้งในทุกขเวทนา ทั้งในอทุกขมสุขเวทนา

    ... เมื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี


    ... อัคคิเวสสนะ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ย่อมไม่วิวาทแก่งแย่งกับใครๆ
    โวหารใดที่ชาวโลกพูดกัน ก็พูดไปตามโวหารนั้น แต่ไม่ยึดมั่นด้วยทิฏฐิ "





    ..... ก็โดยสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งถวายอยู่งานพัด ณ เบื้องพระปฤษฎางค์
    พระผู้มีพระภาค

    ... ได้มีความดำริว่า

    ... " ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคตรัสการละธรรมเหล่านั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งแก่เราทั้งหลาย

    ... ได้ยินว่า พระสุคตตรัสการสละคืนธรรมเหล่านั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งแก่เราทั้งหลาย "

    ... เมื่อท่านพระสารีบุตร(ส่งจิตไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนานั้น)เห็นตระหนักดังนี้ จิตก็หลุดพ้นแล้ว จากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน

    ... ธรรมจักษุปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่ทีฆนขปริพาชกว่า

    ... " สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา "

    ... ทีฆนขะปริพาชกแสดงตนเป็นอุบาสก

    ... ลำดับนั้น ทีฆนขะปริพาชกมีธรรมอันเห็นแล้ว มีธรรมอันถึงแล้ว มีธรรมอันทราบแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อต่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ... " ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก

    ... ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก

    ... เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คนหลงทาง
    หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด

    ... ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน

    ... ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ

    ... ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต
    ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล "





    ..... ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อดวงอาทิตย์ยังปรากฏอยู่ (ประมาณบ่ายสามโมงบ่ายสี่โมง)ทรงจบเทศนานี้ แล้วเสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏ เสด็จไปพระวิหารเวฬุวันได้ทรงประชุมพระสาวก(ประมาณได้ ๙ เดือนหลังจากบรรลุพระอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ และมีแค่ครั้งเดียวในพระศาสนาของพระพุทธเจ้า) ได้มีสันนิบาตประกอบด้วยองค์ ๔

    ... องค์ ๔ เหล่านี้ คือวันนั้นเป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำประกอบด้วยมาฆนักษัตร(วันเพ็ญเดือน ๓) ๑

    ... ภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป ประชุมกันตามธรรมดาของตนๆ ไม่มีใครนัดหมายมา ๑

    ... ภิกษุเหล่านั้นไม่มีแม้สักรูปหนึ่งที่เป็นปุถุชน หรือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ผู้สุกขวิปัสสก ภิกษุทั้งหมดเป็นผู้ได้อภิญญาหกพร้อมปฏิสัมภิทาญาณทั้งนั้น ๑

    ... มิได้ปลงผมด้วยมีดโกนบวชแม้แต่รูปเดียว ภิกษุทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุ พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เอง ๑.

    ... ในกาลนั้น พระบรมศาสดาได้ทรงตั้งพระมหาเถระเจ้าทั้งสองไว้ในตำแหน่งคู่แห่งอัครสาวก คือ

    ... พระสารีบุตรมหาเถระ เป็นอัครสาวกเบื้องขวาผู้เลิศด้วยปัญญา

    ... พระมหาโมคคัลลานะมหาเถระ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายผู้เลิศด้วยฤทธิ์


    ... เนื่องจากวันที่พระสารีบุตรเถระเจ้าได้บรรลุพระอรหัต เป็นวันมาฆปรุณมีเพ็ญเดือน ๓ เวลาบ่าย

    ... พระบรมศาสดาเสด็จมาประทับที่เวฬุวันมหาวิหาร พระอรหันต์ขีณาสพเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ คือ

    ... พระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระอุรุเวละกัสสปะเถระ พระนทีกัสสปะเถระ พระคยากัสสปะเถระ รวม ๑,๐๐๓ องค์

    ... กับพระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระสารีบุตรเถระ พระโมคคัลลานะเถระ รวม ๒๕๒ องค์

    ... รวมทั้งสองคณะ ๑,๒๕๐ องค์ (ถ้านับตามนี้จะได้ ๑,๒๕๕ องค์)ได้พร้อมกันไปเฝ้าพระบรมศาสดา

    ... พระองค์ทรงเห็นเป็นนิมิตอันดี จึงได้เสด็จในท่ามกลางพระสงฆ์ ๑,๒๕๐ องค์นั้น แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ความว่า

    ... การไม่ทำบาปทั้งปวง

    ... การทำกุศลให้ถึงพร้อม

    ... การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ

    ... ธรรม ๓ อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    ... ขันติ คือ ความอดกลั้นเป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง

    ... ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง

    ... ผู้ฆ่าสัตว์อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าบรรพชิตเลย

    ... ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย

    ... การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย

    ... การสำรวมในปาฏิโมกข์(คือ การรักษาศีลให้บริสุทธิ์)

    ... ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค

    ... การนอน การนั่งในที่อันสงัด

    ... ความหมั่นประกอบความเพียรในการทำจิตให้ยิ่ง

    ... ธรรม ๖ อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


    ... ทรงทำวิสุทธิอุโบสถ ประทานธรรมอันเป็นหลักแห่งพระศาสนา เพื่อเป็นหลักในการประกาศพระพุทธศาสนาสำหรับพระสาวกสืบไปในกาลเบื้องหน้า
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 18 มีนาคม 2014
  10. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    โปรดพระมหากัสสปะ
    เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์​

    ..... พระมหากัสสปะมหาเถระ เป็นบุตรของกปิลพราหมณ์ ตระกูลกัสสปะ ในบ้านมหาติฏฐะ แค้วนมคธ

    ... ชื่อเดิมของท่านคือ " ปิปผลิ "

    ... แต่คนทั่วไปมักเรียกท่านตามวงศ์ตระกูลว่า " กัสสปะ"

    ... เมื่อท่านอายุได้ ๒๐ ปี ได้ทำการอาวาหมงคล(แต่งงาน)กับนางภัททกาปิลานี ซึ่งเป็นสาวงามวัย ๑๖ ปี ธิดาของพราหมณ์ตระกูลโกลิยะ ณ เมืองสาคลนคร แคว้นมคธ

    ... ด้วยการจัดการของผู้ใหญ่ทั้งสองตระกูล ทั้งสองสามีภรรยาไม่มีจิตใจยินดีในโลกียวิสัย ถึงจะแต่งงานกันแล้ว ก็เป็นสามีภรรยากันแต่ในนามเท่านั้น มิได้ยุ่งเกี่ยวกันในทางกามคุณแต่อย่างใด

    ... ได้ยินว่า ด้วยความที่ท่านทั้งสองก่อนเกิดเป็นมนุษย์ เคยเกิดเป็นพรหม และยังเป็นพรหมสกิทาคามีที่อยู่ในระหว่างโคตรภูพระอนาคามีอีกด้วย ทำให้ไม่มีความใคร่ในกามเหมือนคนธรรมดา

    ... เมื่อบิดามารดาของทั้งสองคนสิ้นชีวิตแล้ว ทรัพย์สมบัติและหน้าที่การงานทุกอย่างจึงตกเป็นภาระของสองสามีภรรยา และเนื่องจากตระกูลทั้งเป็นตระกูลมหาเศรษฐีมีทรัพย์มาก เมื่อรวมสองตระกูลเข้าเป็นตระกูลทั้งสองเป็นตระกูลเดียวกันแล้วทรัพย์สมบัติก็ยิ่งมากมายมหาศาล มีสัตว์เลี้ยงและคนงานจำนวนมาก สองสามีภารยาต้องบริหารสั่งการทุกอย่าง

    ... จนกระทั้งวันหนึ่ง ในขณะที่ปิปผลิกำลังตรวจดูทาสและกรรมการทำงานอยู่ในไร่นา ได้เห็นนกกาจิกกินสัตว์เล็กสัตว์น้อยมีไส้เดือนเป็นต้น ก็รู้สึกสงสารและสลดใจที่สัตว์เหล่านั้นต้องตายเพราะตนเป็นเหตุ

    ... ส่วนนางภัททกาปิลานีก็ให้คนนำเมล็ดถั่วตากที่ลานหน้าบ้าน เห็นหมู่นกกามาจิกกินตัวหนอนและแมลงต่างๆ ก็เกิดความสงสารและสลดใจเช่นกัน เมื่อสองสามีภรรยามีโอกาสอยุ่กันตามลำพังได้สนทนาถึงเรื่องความในใจของกันและกันแล้ว จากนั้นทั้งสองก็มีความคิดตรงกันว่า

    ... " ผู้อยู่ครองเรือน แม้จะไม่ได้ลงมือทำการงานเอง แต่ก็ต้องคอยรับบาปที่ทาสและกรรมกรทำให้"

    ... จึงเกิดความเบื่อหน่ายเพศฆรวาสพร้อมใจกันสละทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้ญาติและบริวาร

    ... จะว่าไปตามคำพระพุทธเจ้า อาการอย่างนี้ท่านเรียกว่า มีญาณบารมีสุกงอม จึงเข้าดลจิตให้เกิดมีอารมณ์นิพพิทา เกิดความเบื่อหน่ายในสังขาร อยากหนีไปให้พ้น

    ... ส่วนทั้งสองสามีภรรยาพากันออกบวช จัดหาผ้ากาสาวพร้อมใจกันสละทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้ญาติและบริวาร

    ... ส่วนทั้งสองสามีภรรยาพากันออกบวช จัดหาผ้ากาสาพัสตร์ และบริขารพากันปลงผมแล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์

    ... อธิษฐานเพศบรรชิต บวชอุทิศต่อพระอรหันต์ในโลก

    ... แล้วเดินร่วมทางกันไป พอถึงทางสองแพร่ง จึงแยกทางกันปิปผลิไปทางขวา

    ... ส่วนนางภัททกาปิลานีไปทางซ้าย

    ... นางเดินทางไปพบสำนักปริชกแล้วได้เข้าไปขอบวชในสำนักนั้น

    ... เนื่องด้วยขณะนั้น พระผู้มีพระภาคยังมิได้ทรงอนุญาติให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา

    ... ต่อเมื่อพระนางมหาปชาวดีโคตมีได้บวชแล้ว นางจึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระเถรี ศึกษาพระกรรมฐานบำเพ็ญวิปัสสนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล




    อุปสมบทด้วยวิธีรับโอวาท ๓ ข้อ​

    ... พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณว่า ปิปผลิมาณพบวชอุทิศเฉพาะพระอรหันต์ในโลก จึงมาคอยท่าปิปผลิมาณพอยู่ใต้ร่มพหุปุตตนิโครธ (ต้นกร่าง) ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองลันทาต่อกัน

    ... ปิปผลิมาณพเห็นสมเด็จพระพุทธเจ้ามีพระฉัพพรรณรังสีซ่านจากพระวรกาย กับทั้งพระจริยารู้สึกน่าเลื่อมใสแปลกกว่านักบวชอื่นๆ ที่ตนเคยพบมา

    ... ปลงใจเชื่อว่าต้องเป็นพระอรหันต์แน่นอน

    ... จึงน้อมกายกราบถวายบังคับแทบพระบาท กราบทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา

    ... พระพุทธองค์ทรงประทานพระโอวาท ๓ ประการ

    ... เรียกว่า " โอวาทปฏิคคหญูปสัมปทา "

    ... โอวาท ๓ ข้อนั้นคือ

    ... ๑. กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักตั้งความละอายและความเกรงใจไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นพระเถระผู้เฒ่า ผู้มีพรรษาปานกลาง และผู้บวชใหม่

    ... ๒. กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักฟังธรรม บทใดบทหนึ่งอันประกอบด้วยกุศลด้วยความตั้งใจฟังโดยเคารพ และพิจารณาจดจำเนื้อความธรรมบทนั้น

    ... ๓. กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจะไม่ละสติไปในกาย คือ พิจารณากายเป็นอารมณ์โดยสม่ำเสมอ


    ... เมื่อท่านอุปสมบทแล้ว หลังจากอุปสมบทได้ ๘ วัน เป็นผู้ไม่ประมาท ทำความเพียรไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ

    ... พุทธบริษัททั้งหลายรู้จักท่านในนาม " พระมหากัสสปะมหาเถระ " ท่านได้ช่วยรับภาระธุระอบรมสั่งสอนพระภิกษุและพุทธบริษัทอื่นๆ จนมีภิกษุเป็นบริวารจำนวนมาก ท่านมีปกติสมาทานธุดงค์ ๓ ประการอย่างเคร่งครัด คือ

    ... ๑. ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร (หาเอาผ้าที่เขาห่อศพตามป่าช้าหรือที่เขาทิ้งตามขยะมาเย็บทำจีวร)

    ... ๒. ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร

    ... ๓. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร

    ... เพราะการปฏิบัติในธุดงค์คุณทั้ง ๓ ประการนี้อย่างเคร่งครัด พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงธุดงควัตร

    ... นอกจากนี้ ท่านพระมหากัสสปะมหาเถระ ท่านยังเป็นพระมหาสาวกผู้ใหญ่องค์ที่ ๓ รองจากพระมหาโมคคัลลานะมหาเถระ

    ... พระบรมศาสดายังทรงยกย่องท่านในทางอื่นๆ อีกหลายประการ กล่าวคือ

    ... ครั้งหนึ่ง ท่านติดตามพระพุทธองค์ไปประทับที่ภายใต้ร่มไม้ต้นหนึ่งท่านได้พับผ้าสังฆาฏิของท่านเป็น ๔ ชั้นแล้วปูถวายให้พระพุทธองค์ทรงประทับนั่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า

    ... " กัสสปะ ผ้าสังฆาฏิของเธอนุ่มดี "

    ... " ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์ทรงใช่สอยเถิด พระเจ้าข้า "

    ... " กัสสปะ แล้วเธอจะใช้อะไรทำอะไรสังฆาฏิเล่า "

    ... " ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อข้าพระองค์ได้รับจากพระองค์ ก็จะใช้เป็นสังฆาฏิ พระเจ้าข้า "

    ... ครั้นแล้ว พระบรมศาสดาได้ประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ ซึ่งเก่าคร่ำคร่าให้แก่ท่านแล้วทรงยกย่องท่านอีก ๔ ประการ คือ

    ... ๑. กัสสปะ มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอด้วยตถาคต เป็นผู้มักน้อยสันโดษภิกษุทั้งหลายควรคือเป็นแบบอย่าง

    ... ๒. กัสสปะ เมื่อเธอเข้าไปใกล้ตระกูลแล้ว ชักกายและใจออกห่างประพฤติตนเป็นคนใหม่ ไม่คะนองกาย วาจา และใจ ในสกุลเป็นนิตย์จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลนั้น ตั้งจิตเป็นกลางว่า

    ... " ผู้ใคร่ลาภจงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญจงได้บุญ ตนได้ลาภแล้วมีจิตเป็นฉันใด ผู้อื่นก็มีในเป็นฉันนั้น "

    ... ๓. กัสสปะ มีจิตประกอบด้วยเมตตา กรุณา แสดงธรรมแก่ผู้อื่น

    ... ๔ . ทรงแลกเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิกับท่านไปใช่สอย ทรงสอนภิกษุให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ โดยยกพระมหากัสสปะขึ้นเป็นตัวอย่าง




    เกร็ดอื่นๆ​

    ... ครั้งหนึ่ง พระเถระพักอยู่ที่ถ้ำปิปผลิ เข้าสมาบัติอยู่ ๗ วัน ออกจากสมาบัติแล้วเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน

    ... หญิงสาวคนหนึ่งเห็นพระเถระแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใส ได้นำข้าวตอกใส่บาตรพระเถระแล้วตั้งความปรารถนาว่า

    ... " ขอเข้าถึงส่วนแห่งธรรมที่พระเถระบรรลุแล้ว "

    ... พระเถระกล่าวอนุโมทนาแก่เธอแล้วกลับยังที่พัก

    ... ฝ่ายนางกุลธิดานั้นมีจิตเอิบอิ่มด้วยทานที่ตนถวาย ขณะเดินกลับบ้านถูกงูพิษกัดตาย และได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นามว่า " ลาชะ " (ลาชะ = ข้าวตอก)

    ... มีวิมานทองประดับด้วยขันทองห้อยย้อยอยู่รอบๆ วิมาน ในขันนั้นเต็มไปด้วยข้าวตอกทองเช่นกัน

    ... นางมองดูสมบัติทิพย์ที่ตนได้แล้วก็ทราบว่าได้มาเพราะถวายข้าวตอกแด่พระมหากัสสปะซึ่งเป็นเพียงบุญเล็กน้อย นางต้องการที่จะเพิ่มผลบุญให้มากยิ่งขึ้น จึงลงจากพิภพเข้าไปปัดกวาดเสนาสนะและบริเวรที่พักของพระเถระ จัดตั้งน้ำใช้น้ำฉันเสร็จแล้วกลับยังวิมานของตน

    ... พระเถระคิดว่า

    ... " กิจเหล่านี้คงจะมีพระภิกษุหรือสามเณรมาทำให้ "

    ... ในวันที่สองที่สาม นางเทพธิดามาทำเหมือนเดิม แม้พระเถระก็คิดเช่นเดิม

    ... ในวันที่สาม พระเถระได้ยินเสียงไม้กวาดและเห็นแสงสว่างจากช่องกลอนประตูจึงถามว่า

    ... " นั่นใคร "

    ... " ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันเป็นเทพธิดาชื่อลาช เป็นอุปัฏฐายิกาของท่าน "

    ... พระเถระคิดว่า หญิงผู้เป็นอุปัฏฐากของเราชื่ออย่างนี้ไม่มี

    ... จึงเปิดประตูเห็นนางเทพธิดากำลังปัดกวาดอยู่ จึงสอบถามทราบความโดยตลอดตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วจึงกล่าวห้ามว่า

    ... " กิจที่เธอทำแล้วก็ถือว่าแล้วกันไป ต่อแต่นี้เธอจงอย่ามาทำอีก เพราะในอนาคต จะมีพระธรรมกถึกยกเอาเรื่องเหตุนี้เป็นตัวอย่างอ้างแก่พุทธบริษัททั้งหลาย ว่าพระมหากัสสปะ มีนางเทพธิดามาปฏิบัติใช้สอยดังนี้ เธอจงกลับไปเถิด "

    ... นางเทพธิดา อ้อนวอนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า

    ... " ขอพระคุณเจ้าอย่าทำให้ดิฉันประสบหายนะเลย ขอดิฉันได้ครองสมบัติทิพย์นี้ตลอกกาลนานเถิด "

    ... พระเถระเห็นว่านางเทพธิดาดื้อดึงไม่ยอมฟังคำ จึงโปกมือพร้อมกล่าวขับไล่นางออกไป นางลาชเทพธิดาไม่สามารถดำรงอยู่ได้ จึงเหาะขึ้นไปบนอากาศยืนประนมมือร้องไห้เสียดายที่ไม่มีโอกาสทำทิพย์สมบัติของตนให้ถาวรได้ สุดท้ายนางเทพธิดาได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าก็เป็นพระโสดาบัน ตอนนี้ก็น่าจะได้ไปพระนิพพานแล้ว




    ชีวิตในบั้นปลาย​

    ..... ในคัมภีร์พระสาวกนิพพานกล่าวว่า

    ... พระมหากัสสปเถระเมื่อทำหน้าที่เป็นประธานในการทำปฐมสังคายนาแล้ว ได้พักอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ดำรงอยู่ถึง ๑๒๐ ปี

    ... ก่อนที่ท่านจะนิพพาน ๑ วัน ท่านได้ตรวจดูอายุสังขารของท่านแล้วทราบว่าจะอยู่ได้อีกเพียงวันเดียวเท่านั้น

    ... ท่านจึงประชุมบรรดาภิกษุผู้เป็นศิษย์ของท่านแล้วให้โอวาทเป็นครั้งสุดท้าย

    ... สั่งสอนภิกษุผู้ยังเป็นปุถุชนมิให้เสียใจกับการจากไปของท่าน

    ... ให้พยายามทำความเพียรและอย่าประมาท


    ... แล้วพระเถระก็เข้าไปถวายพระพรลาพระเจ้าอชาตศัตรู จากนั้นท่านได้พาหมู่ภิกษุไปยังภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพต (อยู่แถวๆเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์)

    ... แสดงอิทธปาฏิหาริย์ และให้โอวาทแก่พุทธบริษัทบริษัทแล้วอธิษฐานจิตขอให้ภูเขาทั้ง ๓ ลูกมารวมเป็นลูกเดียวกัน ซึ่งในภูเขาทั้ง ๔ ลูกนั้นมีภูเขาเวภารบรรพตสถานที่ทำประฐมสังคายนารวมอยู่ด้วย แล้วท่านก็ดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน ณ ที่นั้น

    ... (ด้วยผลกรรมที่พระศรีอาริย์ฯ ทำกับท่านไว้สมัยเกิดเป็นพญาช้างเผือก) ท่านได้อธิษฐานขอให้สรีระของท่านพร้อมทั้งข้าวของดอกไม้ เครื่องบูชาต่างๆ ที่อยู่ในที่นั้นทั้งหมด ยังคงสภาพเดิมไม่สูญสลาย จนกระทั่งกาลที่พระศรีอาริยเมตไตรยพุทธเจ้า ใกล้ปรินิพพาน พระองค์จะพาหมู่ภิษุสงฆ์มายังภุเขากุกกุฏสัมปาตบรรพต ยกสรีระของพระเถระวางบนพระหัตถ์ขวาชูขึ้นประกาศสรรเสริญคุณของพระเถระแล้ว เตโชธาตุก็จะเกิดขึ้นเผาสรีระของท่านบนฝ่าพระหัตถ์ของพระศรีอริยเมตไตรพุทธเจ้านั้น




    อดีตชาติตั้งความปรารถนา​

    ... ในกาลแห่งพระศาสนาของพระปทุมุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า พระมหากัสสปเถระนี้ ได้บังเกิดขึ้นในเรือนตระกูลหงสาวดีนคร มีชื่อว่า " เวเทหะ "

    ... วันหนึ่งได้ไปสดับฟังพระธรรมเทศนาของพระปทุมุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลาจบการแสดงพระธรรมเทศนา ท่านได้เห็นพระภิกษุรูปหนึ่งได้รับตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ถือธุดงควัตร แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

    ... ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายมหาทานแด่พระปทุมุตรสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวก

    ... ขณะที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกกำลังฉันภัตตาหารอยู่ที่บ้านของท่านนั้น พระมหานิสภะเดินบิณฑบาตผ่านมาพอดี

    ... ท่านจึงนิมนต์ให้เข้าไปฉันภัตตาหารในบ้าน พระมหานิสภะปฏิเสธเพราะท่านสมาทานธดงค์ครอบทั้ง ๑๓ ข้อ และธุดงค์อยู่ในข้อหนึ่งว่าด้วยการฉันแต่เฉพาะอาหารที่บิณฑบาตได้มา

    ... โดยไม่ยอมฉันในที่นิมนต์ ท่านจึงให้คนจัดอาหารมาใส่บาตร

    ... ครั้นพระมหานิสภะกลับไปแล้ว

    ... ท่านได้กราบทูลเรื่องพระมหานิสภะให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ

    ... พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรรเสริญพระมหานิสภะในด้านต่างๆ

    ... โดยเฉพาะเรื่องธุดงค์ ยิ่งทำให้ท่านเกิดความเลื่อมใส

    ... จึงถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นเวลา ๗ วัน

    ... วันสุดท้ายหลังจากพระพุทธเจ้าและพระสาวกฉันภัตตาหารแล้ว

    ... ท่านได้ถวายผ้าไตรจีวรให้พระพุทธเจ้าและพระสาวกครอง แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระสัมปทุมุตรพุทธเจ้าพลางกราบทูลว่า

    ... " ข้าแต่พระบรมศาสดาจารย์ ตลอด ๗ วันที่ข้าพระองค์ถวายมหาทานอยู่นี้ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ประกอบด้วยเมตตา

    ... ข้าพระองค์ไม่จำนงถึงซึ่งสมบัติอย่างอื่น ไม่ว่าสวรรค์สมบัติหรือมนุษย์สมบัติ นอกจากนิพพานสมบัติเท่านั้น

    ... ด้วยผลบุญนี้ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายผู้ถือธุดงควัตรเหมือนพระมหานิสภะ ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในกาลข้างหน้านี้เถิด พระเจ้าข้า "


    ... พระปทุมุตรพุทธเจ้า ทรงพิจารณาเห็นว่าการตั้งปณิธานของกุลบุตรผู้นี้จักสำเร็จสมมโนรถเป็นแน่แท้ จึงมีกระแสพระพุทธฏีกาว่า

    ... " ในที่สุดอีกแสนกัปข้างหน้า จะมีพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระสมณโคดม จะเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้บรรลุอรหัตผลและได้รับตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายผู้ถือธุดงควัตร "

    ... ท่านได้ฟังพระปทุมุตรพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ ตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึง

    ... ในสมัยของพระวิปัสสีสัมพุทธเจ้า ท่านได้มาเกิดพราหมณ์ยากจนชื่อ " จูเฬกสาฏก"

    ... ได้นางพราหมณียากจนคนหนึ่งเป็นภรรยา จูเฬกสาฏกกับภรรยาต่างผลัดเปลี่ยนกับไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้า

    ... ภรรยาไปฟังธรรมตอนกลางวัน ส่วนจูเฬกสาฏกไปฟังธรรมตอนกลางคืน

    ... เหตุที่ทั้งสองสามีภรรยาไม่สามารถไปฟังธรรมพร้อมกันได้เหราะมีผ้าห่มออกข้างนอกเพียงผืนเดียว จึงต้องผลัดกันใช้

    ... คืนวันหนึ่ง ขณะที่นั่งฟังพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่นั้น จูเฬกสาฏกเกิดศรัทธาจึงได้ถวายผ้าห่มที่มีอยู่ผืนเดียวของตนนั้นเป็นพุทธบูชา พร้อมทั้งเปล่งวาจาว่า

    ... " ข้าพระองค์ชนะแล้ว "

    ... ชัยชนะที่จูเฬกสาฏกหมายถึง คือ

    ... ชนะความตระหนีในใจของตนเองได้ พระเจ้าพันธุมราชกษัตริย์แห่งเมืองพันธุมดีทรงทราบความจริงจึงพระราชทานทรัพย์ให้เขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วยให้เขาพ้นจากความยากจน

    ... จูเฬกสาฏกกับภรรยาแม้จะมั่งมีขึ้นก็ไม่ได้ประมาท ทั้งสองได้บริจากทรัพย์ส่วนหนึ่งบำรุงพระพุทธศาสนาและบุญอื่นๆ ตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธดรหนึ่ง (ช่วงระยะเวลาที่โลกว่างพระพุทธเจ้า ไม่มีพระพุทธศาสนา)

    ... ชาติหนึ่งในพุทธันดรนั้นท่านได้เกิดเป็นบุตรกฏมพี วันหนึ่งขณะเดินไปตามริมฝั่งน้ำพบพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่งกำลังทำจีวรอยู่ ทราบว่าผ้าสำหรับทำอนุวาต (ผ้าทาบชายจีวร) ไม่พอท่านจึงได้ถวายผ้าชิ้นหนึ่ง จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพพูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธกาลของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ... ท่านได้เกิเเป็นบุตรเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พุทธบริษัทได้ช่วยกันสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ท่านได้สละทรัพย์จำนวนหนึ่งออกร่วมทำบุญถวายเป็นพุทธบูชา

    ... นอกจากนั้นยังได้จัดดอกไม้บูชาพระเจดีย์จนดูสวยงาม จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธกาลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านได้เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์กปิละดังกล่าวมาแล้ว ครั้นท่านออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผลดังที่กล่าวมาแล้ว ฉะนี้แล ฯ.

     
  11. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    เสด็จโปรดพระประยูรญาติศากยะวงศ์​

    ..... ครั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชาแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะ พระบิดาคอยติดตามสดับรับฟังข่าวตลอดเวลา

    ... ครั้นได้ทราบว่าพระราชโอรสของพระองค์บำเพ็ญความเพียรทุกข์กรกิริยาเป็นเวลา ๖ พรรษานั้น

    ... บัดนี้ ได้บรรลุอมตธรรม สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ สมดังคำพยากรณ์ของท่านอสิตดาบสและพราหมณ์ทั้ง ๘ คนแล้ว

    ... เสด็จเที่ยวประกาศพระธรรมคำสอนของพระองค์ตามคามนิคมต่างๆ

    ... ขณะนี้ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้เมืองราชคฤห์




    ..... พระพุทธบิดา ทรงตั้งพระทัยคอยอยู่ว่า

    ... "เมื่อไรหนอ พระพุทธองค์จะเสด็จมาสู่พระนครกบิลพัสดุ์ "

    ... ครั้นไม่มีข่าวว่าจะเสด็จมาเลย ก็เกิดความเร่าร้อนพระทัยปรารถนาจะได้ทอดพระ
    เนตรเห็นสมเด็จพระบรมศาสดาโดยเร็ว

    ... จึงได้จัดส่งอำมาตย์พร้อมด้วย บริวาร ๑,๐๐๐ คน ให้ไปกราบทูลอาราธนาเสด็จมายังพระนครกบิลพัสดุ์

    ... แต่อำมาตย์และบริวารเหล่านั้น เมื่อเดินทางไปถึงกรุงราชคฤห์แล้ว รีบตรงไปยัง
    พระเวฬุวันมหาวิหารโดยเร็ว

    ... ขณะนั้น พระพุทธองค์กำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนา อยู่ในท่ามกลางพุทธบริษัท

    ... คณะอำมาตย์จึงหยุดคอยโอกาสที่จะกราบทูลอาราธนา และขณะที่รอคอย
    อยู่นั้นก็ได้สดับพระธรรมเทศนาไปด้วย

    ... เมื่อจบพระธรรมเทศนาลง อำมาตย์และบริวารได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณด้วยกันทั้งหมด แล้วกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ประทานด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา

    ... เมื่ออุปสมบทแล้ว ทั้งอำมาตย์และบริวารก็สงบเสงี่ยมอยู่ตามสมณวิสัย จึงมิได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดา ตามภารกิจที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงมอบหมายมา




    ..... ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะ คอยสดับข่าวอยู่ด้วยความกระวนกระวายพระทัย เมื่อข่าวเงียบหายไป อีกทั้งอำมาตย์ก็มิได้กลับมากราบทูลให้ทรงทราบและพระบรมศาสดาก็มิได้เสด็จมา

    ... จึงส่งอำมาตย์พร้อมด้วยบริวารอีกเท่าเดิม ชุดใหม่ให้ไปกราบทูลอาราธนา

    ... แต่อำมาตย์ชุดนี้เมื่อไปถึงได้ฟังพระธรรมเทศนาได้บรรลุพระอรหัตผลทั้งหมด กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบทเหมือนคณะแรก

    ... ซึ่งเป็นธรรมดาว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายตั้งแต่ได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ย่อมสังวร
    สำรวมอยู่ในอริยภูมิ จึงมิได้กราบทูลข่าวสารของพระพุทธบิดา

    ... ทำให้พระเจ้าสุทโธทนะ ต้องส่งอำมาตย์ไปโดยทำนองนี้ถึง ๙ ครั้ง




    ..... ในที่สุดทรงพิจารณาเห็นว่า กาฬุทายีอำมาตย์ ผู้เป็นสหชาติคงจะช่วยให้สำเร็จสมพระประสงค์ได้ เพราะเป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่เป็นพระสหายเล่นฝุ่นกันมา เมื่อครั้งยังทรง
    พระเยาว์ เป็นที่สนิทสนมแห่งพระบรมศาสดา

    ... จึงส่งไปพร้อมด้วยบริวารจำนวนเท่าเดิม

    ... กาฬุทายีอำมาตย์ รับสนองพระราชโองการว่า

    ... "จะพยายามกราบทูลสมเด็จพระบรมศาสดา ให้เสด็จมาสู่พระนครกบิลพัสดุ์ให้สมพระราชประสงค์ให้จงได้ "

    ... และได้กราบทูลเพื่อขอบรรพชาอุปสมบทในพุทธศาสนา ในโอกาสนี้ด้วย

    ... เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงออกเดินทางพร้อมด้วยบริวาร ถึงกรุงราชคฤห์ แล้วเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร

    ... พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ประทานอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น




    ..... เมื่อ พระกาฬุทายีมหาเถระ บวชแล้วได้ ๘ วัน ก็สิ้นเหมันตฤดู(ฤดูหนาว) ย่างเข้าสู่ฤดูคิมหันต์(ฤดูร้อน) ถึงวันเพ็ญเดือน ๔ พอดี ท่านคิดว่า

    ... " พรุ่งนี้ ก็ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน บรรดากสิกรชาวนาทั้งหลาย ก็จะเกี่ยวข้าวกันแล้วเสร็จ หนทางที่จะเสด็จสู่กบิลพัสดุ์ ก็จะสะดวกสบาย

    ... ดอกไม้นานาพรรณก็เกลื่อนกล่นพื้นพสุธา พฤกษาชาติใหญ่น้อยที่ขึ้นอยู่ริมทาง ก็ให้ร่มเงาเย็นสบาย

    ... นับว่าเป็นเวลาอันสมควรที่พระบรมศาสดาจะเสด็จไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อสงเคราะห์พระประยูรญาติในบัดนี้ "




    ..... พระกาฬุทายี จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับกราบทูลสรรเสริญหนทางเสด็จว่า

    ... " พระพุทธเจ้าข้า หนทางไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์บุรี เป็นวิถีทางสะดวกสบายตลอดสาย ยามเมื่อแสงแดดแผดกล้า ก็มีร่มไม้ได้พักอาศัยเป็นที่หลบร้อนตลอดระยะทาง ๖๐ โยชน์

    ... หากพระองค์จะทรงบำเพ็ญปรหิตประโยชน์เสด็จโปรดพระประยูรญาติยังกบิลพัสดุ์นคร ก็จะเป็นที่สำราญพระวรกาย ไม่ต้องรีบร้อนแม้แต่พระสาวกที่ติดตามก็จะไม่ลำบากด้วยน้ำและกระยาหาร ด้วยตามระยะทาง มีโคจรคามเป็นที่ภิกขาจารตลอดสาย

    ... อนึ่ง พระพุทธบิดา ก็มีพระทัยมุ่งหมายใคร่จะได้ทอดพระเนตร พระองค์พร้อมด้วย
    ภิกษุสงฆ์ทั้งปวง หากพระองค์จะทรงพระกรุณาเสด็จไปโปรดให้สมมโนรถของพระชนกนาถ ตลอดพระประยูรญาติศากยวงศ์

    ... และประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงที่กบิลพัสดุ์บุรี ก็จะเป็นเกียรติเป็นศรีแก่พระพุทธศาสนา นำมาซึ่งคุณประโยชน์สุขแก่ปวงมหาชน เพื่อทรงโปรดพระชนกนาถ และพระประยูรญาติให้ปีติยินดี ในคราวครั้งนี้เถิด "

    ... สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงสดับสุนทรกถาที่พระกาฬุทายีเถระ กราบทูลพรรณารวม ๖๔ คาถา ก็ทรงอนุโมทนาสาธุการ

    ... ทรงรับอารธนาตามคำกราบทูลของท่านแล้ว ตรัสสั่งให้ท่านไปแจ้งข่าวแก่พระสงฆ์สาวกทั้งหลาย ให้ตระเตรียมการเดินทางไกล ณ กาลบัดนี้




    แจ้งข่าวพระบรมศาสดาเสด็จ​

    ..... พระกาฬุทายีเถระ แจ้งข่าวให้พระสงฆ์ทั้งปวงทราบ ตามพระบัญชา

    ... บรรดาพระสงฆ์เหล่านั้น ก็พากันตระเตรียมบาตร จีวร และบริขารอื่น ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กราบทูลให้ทรงทราบ

    ... สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จพุทธดำเนินพร้อมด้วยพระอริยสงฆ์ขีณาสพ ๒๐,๐๐๐ รูป เป็นบริวาร

    ... เสด็จจากรุงราชคฤห์สู่กรุงกบิลพัสดุ์โดยมิได้รีบร้อน เดินทางได้วันละ ๑ โยชน์ (๑๖ กม.) เป็นเวลา ๖๐ วันพอดี

    ... ส่วน พระกาฬุทายีเถระ คิดว่า

    ... " เราควรจะไปแจ้งข่าวให้สมเด็จพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบการเสด็จมาของพระบรมศาสดา "

    ... จึงล่วงหน้ามาแจ้งข่าวเป็นระยะ ๆ ทุก ๆ วัน

    ... พระเจ้าสุทโธทนะ ได้ถวายภัตตาหารแก่พระเถระแล้ว

    ... บรรจุพระกระยาหารอีกส่วนหนึ่ง ให้พระเถระนำไปถวายพระพุทธองค์ เป็นประจำทุกครั้งที่พระเถระมาแจ้งข่าว

    ... ฝ่ายพระประยูรญาติ ทั้งฝ่ายศากยะและฝ่ายโกลิยะ ได้ทราบข่าวว่าพระองค์กำลังเสด็จมาสู่พระนครกบิลพัสดุ์ ก็ปีติโสมนัสเบิกบานอย่างยิ่ง และได้ประชุมปรึกษาหารือตกลงเห็นพ้องต้องกันว่า อุทยานของพระนิโครธศากยราชกุมารนั้น เป็นรมณียสถานสมควรเป็นที่ประทับของพระบรมศาสดา จึงร่วมกันสร้างพระคันธกุฎี และเสนาสนะที่พักสำหรับภิกษุสงฆ์ ๒๐,๐๐๐ ลงในที่นั้น ถวายเป็นพระอารามในพระพุทธศาสนาชื่อว่า วัดนิโครธารามมหาวิหาร

     
  12. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... ครั้นสมเด็จพระชินสีห์ พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสด็จถึงกบิลพัสดุ์นคร

    ... บรรดาพระประยูรญาติที่มาสโมสรต้อนรับอยู่ทั่วหน้า มีพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา เป็นประธาน ต่างแสดงออกซึ่งความเบิกบานตามแก่วิสัย

    ... แล้วทูลเชิญให้เสด็จเข้าไปประทับยังพระนิโครธารามมหาวิหาร

    ... พระบรมศาสดาจารย์ก็เสด็จขึ้นประทับบนพระบวรพุทธอาสน์ บรรดาพระสงฆ์ ๒๐,๐๐๐ รูป ต่างก็ขึ้นนั่งบนเสนาสนะอันมโหฬาร ดูงามตระการปรากฏ สมเกียรติศากยบุตรพุทธชิโนรสบรรดามี

    ... ครั้งนั้น บรรดาพระประยูรญาติทั้งหลาย มีมานะทิฏฐิอันกล้า นึกละอายใจไม่อาจน้อมประณมหัตถ์ถวายนมัสการพระบรมศาสดาได้ ด้วยดำริว่า

    ... " พระสิทธัตถะกุมาร มีอายุยังอ่อน ไม่สมควรแก่ชุลีกรนมัสการ "

    ... จึงจัดให้พระประยูรญาติราชกุมาร ที่พระชนมายุน้อยคราวน้อง คราวบุตรหลาน ออกไปนั่งอยู่ข้างหน้า เพื่อจะได้ถวายบังคมพระบรมศาสดา ซึ่งเห็นว่าควรแก่วิสัย

    ... ส่วนพระประยูรญาติผู้ใหญ่พากันประทับ นั่งอยู่เบื้องหลังเหล่าพระราชกุมาร ไม่ประณมหัตถ์ ไม่นมัสการ หรือคารวะแต่ประการใด

    ... ด้วยมานะจิตคิดในใจว่าตนแก่กว่า ไม่ควรจะวันทาพระสิทธัตถะกุมาร




    ..... เมื่อพระบรมศาสดาจารย์ได้ทรงประสบเหตุ ทรงพระประสงค์จะให้เกิดสลดจิต คิดสังเวชแก่พระประยูรญาติ ที่มีมานะจิตคิดมมังการ

    ... จึงทรงสำแดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นลอยอยู่ในอากาศ ให้ปรากฏประหนึ่งว่าละอองธุลีบาทได้หล่นลงตรงเศียรเกล้า แห่งพระประยูรญาติทั้งหลาย ด้วยพุทธานุภาพเป็นมหัศจรรย์

    ... ครานั้น พระเจ้าสุทโธทนะมหาราช พระพุทธบิดา ได้ทรงเห็นปาฏิหาริย์เป็น มหัศจรรย์ จึงประณมหัตถ์ถวายนมัสการแล้วกราบทูลว่า

    ... " ข้าแต่พระผู้มีพระภาคแต่กาลก่อน เมื่อพระองค์ทรงประสูติใหม่ได้ ๑ วัน หม่อมฉันให้พระพี่เลี้ยงนำมาเพื่อนมัสการพระกาลเทวิลดาบส พระองค์ก็ทรงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏขึ้นไปอยู่บนชฎาพระกาลเทวิลอาจารย์ แม้ครั้งนั้น หม่อมฉันก็ได้ถวายนมัสการเป็นปฐม

    ... ต่อมางานพระราชพิธีนิยม ประกอบการวัปปะมงคลแรกนาขวัญ พระพี่เลี้ยงนางนมได้นำพระองค์ประทับบรรทมใต้ร่มไม้หว้า ครั้นเวลาบ่าย เงาไม้ก็ไม่ได้ชายไปตามตะวัน เป็นปาฏิหาริย์ที่มหัศจรรย์ได้ปรากฏ แม้ครั้งนั้นหม่อมฉันก็ได้ประณตนมัสการเป็นคำรบสอง ควรแก่การสดุดี รวมเป็นสามครั้งกับครั้งนี้ ที่หม่อมฉันได้อัญชลีนมัสการ "


    ... เมื่อสุดสิ้นพระราชบรรหารแห่งพระเจ้าสุทโธทนะมหาราช บรรดาเหล่าพระประยูรญาติสิ้นทั้งหมด ก็พากันยอกรประณตอภิวาทพระบรมศาสดา ด้วยคารวะเป็นอันดี




    ..... ต่อนั้น พระมหามุนีบรมสุคตเจ้า ก็เสด็จลงจากอากาศ ประทับนั่งลงบนพระพุทธอาสน์ในท่ามกลางพระบรมประยูรญาติสมาคม เป็นที่ชื่นชมโสมนัส สุดจะประมาณด้วยบุญญาภินิหารพระโลกนาถ ข

    ... ณะนั้น มหาเมฆก็ตั้งขึ้นในอากาศ บันดาลหยาดฝนโบกขรพรรษให้ตกลงในที่พระขัตติยะประยูรวงศ์ประชุมกัน

    ... น้ำฝนโบกขรพรรษนั้น มีสีแดงหลั่งไหลเสียงสนั่นลั่นออกไปไกล เหมือนเสียงสายฝนธรรมดา

    ... ถ้าผู้ใดปรารถนาจะให้เปียกกาย จึงจะเปียกกาย ถ้าไม่ปรารถนาแล้ว แม้แต่เม็ดหนึ่งก็มิได้เปียกตัว เหมือนหยาดน้ำตกลงในใบบัว แล้วก็กลิ้งตกลงไปมิได้ติดอยู่ให้เปียก

    ... ดังนั้น จึงได้นามขนานขานเรียกว่า "ฝนโบกขรพรรษ" เป็นมหัศจรรย์




    ..... ครั้งนั้น พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็ชวนกันพิศวง ต่างองค์ก็สนทนาว่า มิได้เคยเห็นมาแต่ก่อนกาล พระองค์จึงมีพุทธบรรหารตรัสว่า

    ... " ฝนโบกขรพรรษนี้ มิใช่จะตกในที่ชุมนุมพระประยูรญาติในครั้งนี้เท่านั้น ก็หาไม่ ในอดีตสมัย เมื่อตถาคตเสวยพระชาติเป็น พระเวสสันดร บรมโพธิสัตว์ ฝนโบกขรพรรษก็เคยได้ตกลงในที่ชุมนุมพระประยูรญาติเหมือนครั้งนี้ "

    ... แล้วสมเด็จพระมหามุนีจึงได้ทรงพระแสดงพระธรรมเทศนา เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ยอยกพระมหาบารมีทาน

    ... ก็พระเวสสันดรชาดกนั้น มีเนื้อในใจความสำคัญว่าดังนี้

    ... พระพุทธเจ้าครั้งเป็นพระเวสสันดร พระองค์ทรงทำอย่างไร ในพระคาถาของพระเวสสันดรชาดกมีมากมาย(ถึงหนึ่งพันพระคาถา) แต่จะยกมาแสดงเพียงย่อๆ ว่า

    ... ๑. ทานัง เทติ พระเวสสันดรท่านทรงให้ทาน

    ... ๒. สีลัง รักขะติ พระเวสสันดรท่านทรงรักษาศีล

    ... ๓. ภาวะนาวัง ภาเวตฺวา พระเวสสันดรท่านทรงเจริญภาวนา


    ... เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระประยูรญาติก็ถวายนมัสการทูลลากลับพระราชนิเวศน์หมดด้วยกัน ไม่มีใครเฉลียวจิตคิดถึงวันยามอรุณรุ่งพรุ่งนี้ว่า

    ... สมเด็จพระชินศรีและพระสงฆ์จะทรงเสวยบิณฑบาตที่ใด จึงไม่มีใครทูลอาราธนาให้เสด็จไปเสวยภัตตาหารในเคหะสถานของตน ในกรุงกบิลพัสดุ์

     
  13. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... ท่านหลวงปู่พระมหาวีระ ท่านเล่าพุทธประวัติตอนเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์โปรดพระพุทธบิดาเอาไว้ว่า

    ... ในสมัยที่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว

    ... ในตอนนั้นองค์สมเด็จพระประทีปแก้วยังไม่เสด็จไปเทศน์โปรดบรรดาพระประยูรญาติมีสมเด็จพระราชบิดา เป็นต้น

    ... ทั้งนี้เพราะว่าองค์สมเด็จพระทศพลทรงทราบอุปนิสัยของหมู่พระประยูรญาติทั้งหลายว่า มีทิฐิมานะมาก

    ... เพราะการที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงเทศน์โปรดจะมีมรรคมีผลก็ต้องอาศัยคนที่มีรับฟังมีศรัทธาความเชื่อ และก็มีปสาทะ คือความเลื่อมใสเสียก่อน

    ... ถ้าขาดศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใส

    ... ถึงแม้ว่าองค์สมเด็จพระจอมไตรจะเทศน์โปรดเท่าไรก็ไม่มีมรรคไม่มีผล

    ... ฉะนั้นการที่องค์สมเด็จพระทศพลจะเทศน์โปรดใครจึงได้ทรงอาศัยตรวจดูด้วยพระพุทธญาณเสียก่อน

    ... ถ้าบุคคลใดตกอยู่ในข่ายพระญาณขององค์สมเด็จพระชินวรเมื่อใด

    ... ตอนนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรจึงจะไปเทศน์โปรด

    ... ฉะนั้น การเทศน์ของพระพุทธเจ้าจึงไม่เหมือนการเทศน์ของพระสมัยปัจจุบัน

    ... ซึ่งการเทศน์ของพระในปัจจุบันนี่ไม่ได้พิจารณาคนอย่างหนึ่ง หรือถ้าจะเปรียบก็เหมือนหมอใช้ยาหม้อใหญ่ ใครเป็นโรคอะไรก็กินยาหมอนั้น

    ... ถ้าบังเอิญโรคไปตรงกับยาเข้ามันก็หาย แต่ส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคมักจะไม่ตรงกับยาที่ต้มให้ ฉะนั้นโรคจึงไม่หาย

    ... ข้อนี้มีอุปมาฉันใด การเทศน์ของพระสงฆ์ในสมัยปัจจุบันส่วนใหญ่มักจะเป็นการเทศน์ตามประเพณี

    ... โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีงานศพ งานบวชนาค งานทอดกฐิน ก็นิมนต์พระไปเทศน์

    ... เรื่องเทศน์ที่น่าหนักใจที่สุดก็คือ เทศน์งานศพ ซึ่งรู้สึกกว่าจะเป็นประเพณีมากเกินไป

    ... ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะสิ่งที่น่ารำคาญใจก็คือว่า ถ้าพระยังไม่เทศน์ แกก็ยังไม่ทุบน้ำแข็ง

    ... ถ้าพระเริมเทศน์เมื่อไร เจ้าหน้าที่ฝ่ายน้ำแข็งก็เริ่มทุบน้ำแข็งบนศาลาเมื่อนั้น

    ... เป็นอันว่าเสียงพระเทศน์ กับเสียงทุบน้ำแข็งมันดังไม่เท่ากัน คนผู้รับฟังก็ฟังเสียงทุบน้ำแข็งไปก่อน



    ..... องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อเวลาจะไปเทศน์โปรดใคร นอกจากจะทรงทราบอุปนิสัยของคนแล้ว

    ... องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทรงพิจารณาด้วยว่า

    ... " การเทศน์คราวนี้เราจะเทศน์เรื่องอะไรจึงจะมีมรรคมีผลแก่บุคคลผู้ฟัง "

    ... เป็นอันว่าในตอนต้นที่องค์สมเด็จพระทศพลยังไม่ไปโปรดหมู่พระประยูรญาติเพราะหมู่ประยูรญาติเป็นคนที่มีมานะทิฐิมาก ฉะนั้นพระองค์จึงวนเวียนอยู่ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองพาราณสี

    ... ต่อมาเมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณได้ ๕ ปี

    ... พระราชบิดา และหมู่พระประยูรญาติที่มีความเลื่อมใสได้ทรงทราบข่าวว่า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาได้บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ

    ... และก็สอนบุคคลทั้งหลายที่รับฟังพระธรรมเทศนาของท่าน ต่างคนต่างก็ได้บรรลุมรรคผลเป็นอันมาก

    ... ก็ตั้งใจคอยอยู่ว่า

    ... " เมื่อไรหนอองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จมาสู่กรุงกบิลพัสดุ์มหานคร "




    ..... ครั้นเมื่อจอมบพิตรอดิศรพระเจ้าสุทโธทนะมหาราช คอยมาสิ้นเวลาถึง ๕ ปี องค์สมเด็จพระชินสีห์ก็ไม่เสด็จไปก็ร้อนพระทัยว่า

    ... " จะต้องอาราธนาองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาไปกรุงกบิลพัสดุ์มหานคร "

    ... ดังนั้นจอมบพิตรอดิศรพระเจ้าสุทโธทนะมหาราชจึงส่งอำมาตย์คนหนึ่งพร้อมบริวาร ๑ พันคน ให้มากราบทูลอาราธนาสมเด็จพระทศพลไปเทศน์โปรด ที่กรุงกบิลพัสดุ์




    ..... เวลานั้นองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหารในกรุงราชคฤห์มหานคร

    ... เมื่ออำมาตย์กับบริวารมาเฝ้าองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วองค์สมเด็จพระทีปแก้วแสดงพระธรรมเทศนาโปรด

    ... เมื่อ(เทศน์)จบแล้ว มหาอำมาตย์พร้อมด้วยบริวาร ๑ พันคน ก็บรรลุอรหัตผลเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา ขอบวช แล้วก็ลืมคำสั่งของพระเจ้าสุทโธทนะมหาราช

    ... ตอนนี้ก็สงสัยเหมือนกันว่า ท่านลืมเองหรือพระพุทธเจ้าทรงใช้พุทธปาฏิหาริย์ให้ลืม

    ... เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะมหาราชเห็นอำมาตย์และบริวารหายไปประมาณ ๑ เดือนไม่กลับ

    ... จึงจัดอำมาตย์ประเภทนั้นพร้อมบริวาร ๑ พัน มา ๒-๓ คราวด้วยกัน

    ... ทุกคราวท่านทั้งหมดก็บรรลุพระอรหันต์หมด แต่ก็ไม่มีพระองค์ใดทูลอาราธนาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปกรุงกบิลพัสดุ์มหานคร

    ... พระเจ้าสุทโธทนะ ก็ร้อนพระทัยว่า

    ... " ส่งไปทีไรก็ไม่กลับมาสักที "

    ... จึงได้เรียกอุทายีซึ่งเป็นสหชาติ (เกิดวันเดียวกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทั้งหมดมี ๑ พันคน พระเจ้าสุทโธทนะสืบทราบก็นำมาเลี้ยง ให้เป็นเพื่อกับพระสิทธัตถะกุมาร)

    ... ท่านอุทายีเวลานั้นเป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ เข้ามาเฝ้า

    ... พระเจ้าสุทโธทนะก็สั่งว่า

    ... " อุทายี ฉันส่งคนไปอาราธนาองค์สมเด็จพระชินสีห์ครั้งละพันคนหลายครั้งแล้ว หายไปหมด แม้แต่องค์สมเด็จพระบรมสุคต และใครๆ ที่ส่งไปก็ไม่กลับมา

    ... ถ้าเช่นนั้นแล้วละก็ ไหนๆ เธอก็เป็นสหชาติเป็นเพื่อนเล่นมาตั้งแต่เด็กกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ... เธอจงพาบริวารไปพันคนไปเฝ้าองค์สมเด็จพระทศพลแล้วกราบทูลอาราธนาสมเด็จพระบรมศาสดามากรุงกบิลพัสดุ์มหานคร "

    ... ท่านอุทายีก็ไป



    ..... เมื่อท่านอุทายีเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระชินวรในพระเวฬุวันมหาวิการตอนนั้น

    ... องค์สมเด็จพระทรงธรรมก็แสดงพระธรรมเทศนาโปรด

    ... ปรากฏว่า ท่านอุทายี และบริวารพันคนต่างคนต่างก็เป็นพระอรหันต์จึงพากันขอบวชในสำนักขององค์สมเด็จพระภควันต์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อนุญาตโดยเปล่งพุทธวาจาว่า " เอหิภิกขุ " แปลว่า เจ้าจงมาเป็นภิกษุมาเถิด

    ... เมื่อพระอุทายีบวชแล้วก็คอยหาโอกาสที่จะกราบทูลอาราธนา

    ... อยู่มาวันหนึ่งโอกาสมีแล้วแทนที่ท่านจะกราบทูลอาราธนาโดยตรงว่า

    ..." เวลานี้พระราชบิดามีพระประสงค์จะอาราธนาพระพุทธองค์ไปกรุงกบิลพัสดุ์มหานคร "

    ... แทนที่ท่านจะกล่าวอย่างนี้ท่านกลับใช้ลีลาอย่างหนึ่ง ก็กราบทูลพรรณนาภูมิประเทศระหว่างทางจากกรุงราชคฤห์กับกรุงกบิลพัสดุ์ว่า ระยะทางที่ผ่านมาประมาณ ๖๐ โยชน์ เป็นหนทางที่น่ารื่นรมย์ น่าชมยิ่งนัก

    ... เป็นอันว่าองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงทราบว่า พระอุทายีต้องการกราบทูลอาราธนาพระองค์ไปกรุงกบิลพัสดุ์

    ... ฉะนั้นพระพุทธองค์ จึงตรัสว่า

    ... " อุทายิ ดูก่อน อุทายี การพรรณนาระหว่างทางของกรุงราชคฤห์มหานครกับกบิลพัสดุ์ ว่าเป็นสถานที่ร่มรื่น น่าชื่นชมในการทัศนาจร

    ... อันนี้เราทราบว่าเธอต้องการนิมนต์ตถาคตไปกรุงกบิลพัสดุ์ ถ้าอย่างนั้นละก็ตถาคตจะไปพร้อมด้วยบริวารจำนวนมาก

    ... แต่ก่อนที่ตถาคตจะไป เธอจงพาบริวารของเธอทั้งพันองค์ล่วงหน้าไปก่อน ไปทำให้จอมบพิตรอดิศรและหมู่พระประยูรญาติให้เกิดศรัทธา "

    ... พระอุทายีก็ปฏิบัติตาม

    ... ต่อมาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๒ หมื่นองค์เศษติดตามไปด้วย ระยะทาง ๖๐ โยชน์ พระพุทธองค์เสด็จไปวันละ ๑ โยชน์ ก็ทรงค้างแรม จึงใช้เวลาถึง ๖๐ วัน

    ... ทั้งนี้เพราะว่าองค์สมเด็จพระบรมศาสดาให้พระอุทายีไปสร้างศรัทธาก่อน เพราะหมู่ประยูรญาติมีทิฐิมานะมาก ถ้าใครเป็นเด็กกว่าละก็ไม่ยอมไหว้

     
  14. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    โปรดพระพุทธบิดา[/CENTER

    ..... ครั้นสิ้นสมัยราตรีรุ่งเช้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จด้วยพระขีณาสพ ๒ หมื่นเป็นบริวาร ทรงบาตรดำเนินภิกษาจารตามท้องถนนในกบิลพัสดุ์นคร

    ... ขณะนั้น มหาชนที่สัญจรในถนน ตลอดไปถึงทุกๆ คน ทุกบ้านช่อง ต่างก็จ้องดูด้วยความเลื่อมใสและประหลาดใจระคนกันว่า

    ... " ไฉนพระผู้เป็นเจ้าสิทธัตถะกุมาร จึงนำพระสงฆ์เที่ยวภิกษาจารด้วยอาการเช่นนี้ "

    ... แล้วก็โจษจันกันอึงทั่วพระนคร

    ... เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบก็ตกพระทัย รีบเสด็จลงจากพระราชนิเวศน์ เสด็จพระราชดำเนินไปหยุดยืนเฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดาแล้วทูลว่า

    ... " ไฉนพระองค์จึงทรงทำให้หม่อมฉันได้รับความอัปยศ โดยเที่ยวภิกษาจารเช่นนี้ "

    ... สมเด็จพระชินสีห์จึงตรัสตอบว่า

    ... " ดูกรพระราชสมภาร อันการเที่ยวบิณฑบาตนี้ เป็นจารีตประเพณีของตถาคต "

    ... " ข้าแต่พระผู้มีพระภาค อันบรรดากษัตริย์ขัตติยะสมมติวงศ์องค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งเที่ยวบิณฑบาตเช่นนี้ยังจะมีอยู่ ณ ที่ใด ประเพณีของหม่อมฉันไม่เคยมีแต่ครั้งไหนในก่อนกาล "

    ... " ดูกรพระราชสมภาร นับแต่ตถาคตได้บรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว ก็สิ้นสุดสมมติขัตติยะวงศ์

    ... เริ่มประดิษฐานพุทธวงศ์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันนี้ ดังนั้น การเที่ยวบิณฑบาตจึงเป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า ตลอดพระภิกษุสงฆ์ที่สืบสายพุทธวงศ์ชั่วนิรันดร "

    ... เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเช่นนี้แล้ว จึงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดา ให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล

    ... แล้วพระเจ้าสุทโธทนะก็ทรงรับบาตรของพระบรมศาสดา ทูลอาราธนาให้เสด็จขึ้นพระราชนิเวศน์ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ทรงอังคาสด้วยอาหารบิณฑบาตอันประณีต



    ..... วันรุ่งขึ้น พระบรมศาสดาเสด็จพระพุทธดำเนินไปรับภัตตาหารบิณฑบาตใน พระราชนิเวศน์เป็นวันที่สอง

    ... ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว ตรัสพระธรรมเทศนาโปรดพระนางมหาปชาบดีโคตมีและพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้บรรลุโสดาปัตติผล พระพุทธบิดาได้บรรลุสกิทาคามิผล



    ..... วันรุ่งขึ้นอีก พระบรมศาสดาเสด็จพระพุทธดำเนินไปรับภัตตาหารบิณฑบาต ในพระราชนิเวศน์เป็นวันที่สาม

    ... ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว ตรัสเทศนามหาธรรมปาละชาดกโปรดพระพุทธบิดา ให้สำเร็จพระอนาคามีผล​
     
  15. ธัมมะสามี

    ธัมมะสามี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2013
    โพสต์:
    513
    ค่าพลัง:
    +2,781
    ..... ท่านหลวงปู่พระมหาวีระ ถาวโร ท่านเมตตาเล่าพระพุทธประวัติตินโปรดพระพุทธบิดาไว้ให้ลูกหลานฟังว่า

    ... ครั้นเวลาครบ ๖๐ วัน องค์สมเด็จพระภควันต์ก็เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์มหานคร จอมบพิตรอดิศรพระเจ้าสุทโธทนะมหาราช พร้อมด้วยหมู่พระประยูรญาติก็เสด็จออกมารับ

    ... แล้วจัดที่พักให้ในเมือง เป็นมหาวิหารกว้างขวางมากพอกับพระสงฆ์ ๒ หมื่นองค์เศษ

    ... มีพระประยูรญาติบางคนแก่กว่าสมเด็จพระทศพลคิดว่า

    ... " สิทธัตถะราชกุมารเป็นคนชั้นลูกชั้นหลาน ถ้าหากเราจะกราบจะไหว้ก็ไม่เป็นการสมควร "

    ... จึงจัดให้ลูกหลานอายุอ่อนกว่าสมเด็จพระบรมศาสดานั่งข้างหน้า ตัวเองนั่งแถวหลัง

    ... แต่สมเด็จพระราชบิดา คือ พระเจ้าสุทโธทนะมหาราชก็ทรงถวายนมัสการองค์สมเด็จพระพิชิตมารตามปกติ ซึ่งพระองค์เคยไหว้มาแล้วถึง ๓ วาระ

    ... แต่หมู่พระประยูรญาติที่แก่กว่าไม่ยอมไหว้ สมเด็จพระจอมไตรสังเกตอากัปกิริยาของหมู่พระประยูรญาติว่ายังไม่มีศรัทธา ยังไม่สมควรจะแสดงพระธรรมเทศนา




    ..... นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ เวลาจะเทศน์โปรดใคร บุคคลนั้นต้องมีศรัทธา มีความเคารพในธรรม

    ... ถ้าคนใดไม่ยอมเคารพในธรรมองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจะไม่ยอมเทศน์

    ... ฉะนั้นการแสดงพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์แต่ละคราวจึงได้มีมรรคผล

    ... ไม่เหมือนบรรดาท่านสาธุชนในสมัยปัจจุบันที่นิมนต์พระไปเทศน์ตามประเพณีในงาน พระก็เลยเทศน์ตามประเพณี ก็เลยไม่มีผลตามประเพณีเหมือนกัน

    ... ใครกินเหล้าก็ยังกินเหล้าต่อไป ใครลักขโมยก็ยังลักขโมยต่อไป ใครฆ่าสัตว์ก็ฆ่าสัตว์ต่อไป ใครที่โกหกก็โกหกต่อไป ใครที่เจ้าชู้ไม่เลือกก็ประพฤติผิดในกามต่อไป ไม่มีผลตามประเพณี

    ... ขอย้อนถึงองค์สมเด็จพระทศพล ความจริงพระองค์ไม่ได้ถือตัว แต่ว่าส่วนใหญ่เขาเคารพ ที่ส่วนน้อยที่ไม่เคารพถือว่าพระพุทธองค์เด็กกว่า

    ... ฉะนั้นอาศัยที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดามีพระมหากรุณาธิคุณต่อหมู่พระประยูรญาติ จึงทรงแสดงพุทธปาฏิหาริย์ เหาะขึ้นไปบนอากาศวนไปวนมาแสดงความมหัศจรรย์

    ... ในตอนนั้นพระพุทธบิดาลุกขึ้นถวายนมัสการด้วยความเคารพแล้วก็ประกาศว่า

    ... " ภันเต ภควา ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญพระพุทธเจ้าข้า การถวายนมัสการพระองค์นี้ข้าพเจ้ากระทำแล้วเป็นวาระที่ ๓ ในครั้งนี้

    ... คือว่าครั้งแรกเมื่อคลอดออกจากครรภ์มารดาได้ ๗ วัน ในตอนนั้นมีพราหมณ์ท่านหนึ่งมาเยี่ยม พระพุทธองค์ยังเป็นเด็กเล็กอยู่ก็แสดงปาฏิหาริย์ไปยืนอยู่บนชฎาของชฏิลผู้มาเยี่ยม ตอนนั้นข้าพระพุทธเจ้าก็ถวายนมัสการครั้งหนึ่งแล้ว

    ... ต่อมาเมื่อองค์สมเด็จพระประทีปแก้วมีอายุได้ ๗ ปี วันนั้นกำลังทำพิธีแรกนาขวัญอยู่ องค์สมเด็จพระบรมครูนั่งอยู่ใต้ต้นไทรทรงเข้าสมาธิอานาปานุสติกรรมฐานถึงปฐมฌาน

    ... ความมหัศจรรย์เกิดขึ้น คือตะวันคล้อยบ่ายไปมากแล้ว แต่เงาร่มของต้นไม้ยังตรงอยู่เหมือนกับเวลาเที่ยงวัน

    ... ข้าพเจ้าเห็นอัศจรรย์ก็ถวายนมัสการพระองค์อีก เป็นวาระที่ ๒ ครั้นมาคราวนี้องค์สมเด็จพระมหานุมีเสด็จมา ข้าพระพุทธเจ้าก็ถวายนมัสการเป็นวาระที่ ๓ "

    ... เมื่อบรรดาหมู่พระประยูรญาติเห็นความอัศจรรย์อย่างนั้นก็พากันไหว้พากันกราบ

    ... เมื่อสมเด็จพระบรมโลกนาถเห็นว่าหมู่พระประยูรญาติคลายมานะความถือตัวถือตน องค์สมเด็จพระทศพลจึงเสด็จลงมา

    ... หลังจากนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็แสดงพระธรรมเทศนาโปรด ขึ้นต้นศีลห้า

    ... คือแนะนำให้เคารพในพระรัตนตรัย แสดงถึงคุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์

    ... แล้วจบลงด้วยอานิสงส์ของศีลห้าว่ามีประโยชน์เป็นปัจจัยให้เกิดความสุข


    ... เมื่อเทศน์จบ สมเด็จพระราชบิดาได้ดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุพระโสดาปัตติผล และหมู่พระประยูรญาติก็ได้มรรคผลไปตาม ๆ กัน

    ... เมื่อเทศน์จบคราวนี้มีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้น คือ ฝนโบกขรพรรษตกลงมา สำหรับฝนโบกขรพรรษนี่ ไม่เหมือนฝนตกธรรมดา คือ ตกเป็นละออง และน้ำฝนมีสีแดงคล้ายสีเท้านกพิราบ

    ... ถ้าใครต้องการให้เปียกมาก็เปียกมาก ใครต้องการให้เปียกน้อยก็เปียกน้อย ใครไม่ต้องการให้เปียกฝนก็จะไม่เปียก ทั้งนี้เป็นเพราะว่า เป็นฝนมาจากเทวดาบันดาล

    ... ครั้นฝนหายไปแล้ว เทศนาจบแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็เสด็จเข้าที่พักในมหาวิหาร บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายก็มานั่งคุยกันว่าวันนี้อัศจรรย์จริง การแสดงพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าครั้งไรไม่เคยมีฝนโบกขรพรรษอย่างเช่นครั้งนี้ เราไม่เคยเห็น

    ... คราวนั้นองค์สมเด็จพระภควันต์ประทับอยู่ในมหาวิหารทรงทราบเรื่องที่บรรดาพระสงฆ์นั่งสนทนากันเห็นว่าเป็นประโยชน์

    ... พระพุทธองค์จึงเสด็จออกจากมหาวิหารเข้าไปประทับนั่งระหว่างท่ามกลางสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ปูอาสนะถวายแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ประทับนั่ง แล้วทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า

    ... " ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอสั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร "

    ... พระสงฆ์ทั้งหลายก็พรรณนาเรื่องที่สนทนากันมาแล้ว ถวายให้ทรงทราบ

    ... องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า

    ... " ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่ตถาคตมีบารมีเต็ม ได้บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ได้ทำให้ฝนโบกขรพรรษให้ตกลงมาได้อย่างนี้เป็นของไม่อัศจรรย์ เพราะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าในสมันเมื่อตถาคตยังบำเพ็ญบารมีอยู่ คือบารมียังไม่เต็ม แต่ตถาคตสามารถทำฝนโบกขรพรรษให้ตกลงมาได้อย่างนี้ จึงถือว่าเป็นของอัศจรรย์ "

    ... ตรัสแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงดุษณีภาพนิ่งอยู่

    ... บรรดาพระสงฆ์อยากรู้เรื่องราวเป็นมายังไง จึงกราบทูลอาราธนาสมเด็จพระบรมศาสดาแสดงธรรมเบื้องต้น สมเด็จพระภควันต์จึงแสดงพระธรรมเทศนาให้ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายฟังว่า

    ... " ในสมัยเมื่อตถาคตยังมีบารมีไม่เต็ม ทรงเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรหน่อพระบรมพงศ์โพธิสัตว์สามารถทำฝนโบกขพรรษให้ตกลงมาได้เป็นของอัศจรรย์อย่างยิ่ง "

    ... แล้วสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเล่าเรื่องพระเวสสันดรให้ภิกษุสงฆ์ฟัง

     

แชร์หน้านี้

Loading...