เรื่องเด่น มหาจุฬาอาศรมปากช่องต้นแบบสถานธรรมการพัฒนาสติยุควิถีใหม่

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 2 ตุลาคม 2021.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    e0b8b2e0b8ade0b8b2e0b8a8e0b8a3e0b8a1e0b89be0b8b2e0b881e0b88ae0b988e0b8ade0b887e0b895e0b989e0b899.jpg

    วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เปิดเผยว่า ร่วมบันทึกการสวดมนต์เสียงธรรมทางมหาจุฬาอาศรม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเผยแพร่ผ่านออนไลน์ซึ่งนำทำวัตรสวดมนต์และเจริญจิตภาวนาโดย พระเดชพระคุณ พระธรรมวัชรบัณฑิต ศาสตราจารย์ ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พร้อมคณะสงฆ์ ในวาระโอกาสทำบุญอายุวัฒนมงคลหลวงพ่ออธิการบดี มจร จึงมีการเจริญพระพุทธมนต์ มีการปล่อยปลาในเขตอภัยทานภายในมหาจุฬาอาศรม และปลูกต้นโพธิ์ในโอกาสอายุวัฒนมงคลครบ ๖๑ ปี ถือว่าเป็นแนวทางในการสร้างบารมีเพื่อให้สังคมได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง

    มหาจุฬาอาศรมถือว่าเป็นต้นแบบรักษาป่ารักษาน้ำรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน พัฒนาฝายมีชีวิต เดินตามรอยพระพุทธเจ้าซึ่ง พระองค์ทรงเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาจุฬาอาศรมจึงมีความเป็นสัปปายะเหมาะแก่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยมีพระครูปลัดอุทัย พลเทโว ดร. รองผู้อำนวยการส่วนธรรมนิเทศ มจร และคณะ รับนโยบายในการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม มีการทำฝายมีชีวิตมหาจุฬาอาศรมเป็นฝายที่คนในชุมชนร่วมสร้างอย่างสามัคคีธรรม เพราะเริ่มต้นจากความแห้งแล้งจึงมีการทำฝายเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในยามฤดูร้อน จึงมีความร่วมมือเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายของชุมชนเพื่อสร้างฝายเก็บน้ำ โดยเป็นการดูแลสวนพุทธเกษตรสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร น้ำจึงมีความสำคัญในการดำรงชีวิตของชุมชน

    ทำให้สอดรับกับแนวทางของพระพุทธเจ้าจึงเป็นบิดาผู้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก พระพุทธศาสนามีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าตามหลักคำสอนเรื่อง ปฏิจสมุปบาท ที่ว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นจึงดับ เป็นการเน้นถึงความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในโลก ว่ามีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ดังคำกล่าวที่ว่า น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ข้าพึ่งเจ้า บ่าวพึ่งนาย และ นายพึ่งบ่าว เจ้าพึ่งข้า ป่าพึ่งเสือ เรือพึ่งน้ำ ด้วยเหมือนกัน ซึ่งคำว่า ป่าพึ่งเสือ มีหมายความว่า เสือมีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง ดินดีเพราะหญ้ายัง หญ้ายังเพราะดินดี

    โดยพระพุทธเจ้าพระองค์ทรงเป็นบิดาผู้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางพระพุทธศาสนาเพราะ โดยประสูติในสวนป่าลุมพินีวัน ตรัสรู้ในป่าใต้ต้นมหาโพธิ์ นิพพานในป่าใต้ต้นสาละ ซึ่งตามพระวินัยพระพุทธเจ้าทรงห้ามพระสงฆ์มิให้ตัดไม้ทำลายป่า และมิให้ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ บ้วนน้ำลายลงบนพืชพันธุ์ธัญญาหาร และแม่น้ำลำคลอง ที่ยิ่งกว่านั้นทรงบัญญัติให้อยู่โคนไม้ เป็นการรักษาธรรมชาติเพื่อจะได้พึ่งพาธรรมชาติ สมัยพระพุทธกาลจะมีอาราม คือ สวนป่า เช่น วัดเวฬุวันวนาราม เป็นสวนไผ่ วัดชีวกกัมพวนาราม เป็นสวนมะม่วง กลุ่มพระสงฆ์ผู้พำนักอยู่ในวัดป่าเรียกว่า #อรัญญวาสี พระสงฆ์จึงเป็นนักอนุรักษ์ป่าไม้ได้เป็นอย่างดี ด้วยการชักชวนศรัทธาประชาชนเห็นคุณค่าของป่าไม้ ถือว่าเป็นการสร้างบุญจากการรักษาสิ่งแวดล้อม

    สิ่งที่มหัศจรรย์มากคือ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน วนโรปสูตร ด้วยความว่า ชนเหล่าใดปลูกสวน ปลูกป่า สร้างสะพาน สร้างโรงน้ำ ขุดบ่อน้ำ บริจาคอาคารที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นได้บุญตลอดเวลาทั้งกลางคืนและกลางวัน” เพราะผู้คนตลอดถึงพระสงฆ์ได้ใช้ประโยชน์นั่นเอง ซึ่งใน #สีสปาวนสูตร พระพุทธเจ้าใช้ป่าไม้เป็นอุปกรณ์ในการสอนธรรมแก่พระสงฆ์ พระองค์ทรงหยิบใบประดู่ลายแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ใบประดู่ลายเล็กน้อยที่เราได้ถือไว้ กับใบที่อยู่บนต้นประดู่ลาย อย่างไหนจะมากกว่ากัน พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายทูลตอบว่า ใบประดู่ลายในพระหัตถ์ของพระองค์น้อยกว่า ใบที่อยู่บนต้นประดู่ลายมีมากกว่า พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เรื่องที่เราตรัสรู้แล้ว แต่มิได้บอกท่านทั้งหลายก็มีมากกว่า ฉันนั้น เหมือนกัน เรื่องที่เราบอกท่านทั้งหลายมีน้อยกว่า เหมือนใบไม้ในกำมือนี้”และกล่าวย้ำว่า ตถาคตสอนเรื่องทุกข์ กับความดับทุกข์เท่านั้น

    ดังนั้น เครื่องมือสำคัญในการรักษาป่ารักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องอาศัยวิถีแห่งชุมชน สร้างเป็นพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน สร้างเป็นพื้นที่แห่งความเคารพในชุมชน และสร้างจิตสำนึกรักษาป่ารักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ด้วยการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในชุมชน คือ บ้าน วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์จึงพัฒนาฝายมีชีวิตสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน ถือว่าเป็นต้นแบบรักษาป่ารักษาน้ำรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาจุฬาอาศรมเดินตามรอยพระพุทธเจ้านักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกและบูรณาการกับการพัฒนาจิตใจอย่างดียิ่ง ในโอกาสอายุวัฒนมงคลพระเดชพระคุณ พระธรรมวัชรบัณฑิต ศาสตราจารย์ ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และในฐานะอาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มจร ขอกราบถวายมุทิตาในโอกาสนี้ในนามคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิตของหลักสูตรสันติศึกษา มจร ทุกรูปคน

    ขอขอบคุณที่มา

    https://www.banmuang.co.th/news/education/252714
     

แชร์หน้านี้

Loading...