บุพกรรมของพระพุทธองค์ และพระอรหันต์

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย sithiphong, 14 กันยายน 2008.

แท็ก: แก้ไข
  1. sithiphong

    sithiphong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    45,445
    ค่าพลัง:
    +141,949
    บุพกรรมของพระสิวลี

    โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

    ท่านกล่าวว่า สมัยหนึ่งบรรดาภิกษุทั้งหลาย คำว่าสมัยหนึ่งก็คือเวลาต่อมานั่นเอง คือไม่ใช่เวลาเดี๋ยวนั้น หลังจากฉันข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว บรรดาภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะเหตุอะไรหนอแล พระสีวลีเถระจึงเป็นผู้อยู่ในท้องมารดาถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แล้วก็เป็นเพราะกรรมอะไร พระสีวลีจึงได้ไหม้ในนรก เพราะกรรมอะไร จึงได้ถึงความเป็นผู้เลิศในลาภ และมียศเลิศอย่างนั้น

    หมายความว่าพระสีวลีนี้ เวลาแม่ตั้งท้อง อยู่ในท้อง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน และก่อนที่พระสีวลีจะมาเกิด ท่านก็นอนในนรกสิ้นกาลนาน เมื่อเกิดแล้วมาเป็นพระ คราวไปป่า คราวนี้มีลาภมาก เทวดาปรารภพระสีวลีแต่ผู้เดียวว่า การทำบุญคราวนี้เราต้องการถวายหลวงปู่สีวลี หลวงพ่อสีวลีของเราเท่านั้น แม้แต่องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ คือพระพุทธเจ้าไปด้วย เทวดาก็ไม่ได้ปรารภ พระพุทธเจ้านี้ถ้าเป็นคนที่มีกิเลส เห็นใครเขามาบูชาลูกน้องมากกว่า น่ากลัวว่าลูกน้องจะลำบาก ทั้งนี้ เพราะอะไร เพราะว่าลูกพี่แกจะอิจฉาเอา แต่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อย่างนั้น พระองค์ทรงยกย่อง ถ้าลูกศิษย์องค์ไหนดี ก็ยกย่องว่าเป็นพระดี เป็นพระควรแก่การบูชา

    ในลำดับนั้น เวลาที่บรรดาภิกษุทั้งหลายโดยทั่วหน้ากำลังปรารภกันว่า พระสีวลีนี้เป็นเพราะกรรมอะไร จึงได้อยู่ในท้องแม่ 7 ปี 7 เดือน 7 วัน เป็นเพราะกรรมอะไรจึงได้ลงไปในนรกสิ้นกาลนาน เป็นเพราะกรรมอะไร เวลาที่เกิดมานี้จึงมีลาภมาก จึงมียศใหญ่ เป็นที่เคารพของเทวดาทั้งหลาย

    ในขณะที่บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายคุยกันอยู่นั้น องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จพระทับอยู่ในพระคันธกุฎี สมเด็จพระพิชิตมารฟังเสียงของบรรดาพระสงฆ์ด้วยทิพโสตญาณ คือหูทิพย์ คุยอยู่ที่ไหนพระพุทธเจ้าก็ได้ยิน องค์สมเด็จพระมหามุนีใคร่จะเปลื้องความสงสัยของบรรดาภิกษุทั้งหลาย สมเด็จพระจอมไตรจึงได้เสด็จมา

    เมื่อเสด็จมาถึงแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็เสด็จประทับอยู่ในที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว จึงถามบรรดาภิกษุทั้งหลายว่า ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกล่าวอะไรกัน พวกเธอพูดอะไรกัน

    บรรดาภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นจึงกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้ากำลังปรารภเรื่องบุพกรรมของพระสีวลีพระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้ามีความสงสัยว่า ในสมัยที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาเสด็จไปเยี่ยมพระเรวัตตะคราวนี้ ปรากฎว่าพระสีวลีแสดงบุญญาธิการเป็นที่เลื่อมใสของบรรดาเทวดาทั้งหลาย ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเกิดสงสัยว่า ทำไมพระสีวลีมีบุญญาธิการขนาดนี้ จึงได้ต้องอยู่ในท้องมารดาถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน และก่อนจะมาเกิดก็ได้ตกนรกเสียก่อน เมื่อมาเป็นคนแล้ว ก็มีบุญใหญ่ มีลาภมาก มียศศักดิ์มาก ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยอย่างนี้พระพุทธเจ้าข้า

    เป็นอันว่า เมื่อบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายกราบทูลดังนี้แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทรงพยากรณ์บุพกรรมของพระสีวลีว่า เหตุที่พระสีวลีต้องไปอยู่ในท้องแม่ถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน เป็นต้น มาจากกรรมที่เป็นอกุศลอะไร

    บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับเรื่องราวบุพกรรมของพระสีวลีก็ของดไว้ก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนพงคลสมบูรณ์พูนผล และจงเจริญไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง 4 ประการ จงมีแก่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี.

    *****************



    บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับตอนที่แล้ว ได้มาจบลงตรงที่บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายพากันมาประชุมกัน หลังจากที่กลับมาจากที่อยู่ของพระเรวัตตะแล้ว ต่างพากันมารำพึงว่า เหตุใดพระสีวลีจึงต้องอยู่ในท้องมารดาถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน เป็นเพราะกรรมอะไร พระสีวลีจึงต้องตกนรก หลังจากนั้นก็เป็นผู้มีลาภมาก มียศใหญ่

    หลังจากบรรดาภิกษุทั้งหลายได้พากันประชุมหารือกัน ขณะเดียวกันนั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมา แล้วถามบรรดาภิกษุทั้งหลายว่า เธอพูดปรึกษาหารือกันด้วยเรื่องอะไร บรรดาภิกษุทั้งหลายกราบทูลองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาตามที่กล่าวมาแล้ว หลังจากนั้น องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงได้นำเอาบุพกรรมของพระสีวลีมาแสดงแก่บรรดาภิกษุ สงฆ์ทั้งหลาย ซึ่งเรื่องจะได้เริ่มขึ้นในตอนนี้



    พระราชากับประชาชนแข่งกันทำบุญ



    ความตามพระบาลีมีอยู่ว่า ในขณะนั้นองค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดา ได้ทรงมีพระพุทธฎีการตรัสว่า ภิกขเว ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ในกัปที่ 91 กับ นับถอยหลังไปจากนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี ทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก สมัยหนึ่งเสด็จจาริกไปในชนบท กลับมาสู่พระนครของพระราชบิดาแล้ว สมเด็จพระวิปัสสีท่านก็เป็นลูกของพระเจ้าแผ่นดินเหมือนกัน พระราชาทรงเตรียมอาคันตุกะทาน

    อาคันตุกะทานคือ ทานแก่พระผู้มา หรือแขกผู้มา อาคันตุกะ แปลว่า แขกผู้มา พระท่านมาจากที่ไกล ไม่ได้ประจำอยู่เฉพาะ ถือว่าเป็นอาคันตุกะ ทานังแปลว่า การให้ หมายความว่า ตั้งใจถวายทานแก่พระอาคันตุกะทั้งหมด มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

    แล้วก็ส่งข่าวให้แก่ชาวเมืองทั้งหลายว่า ชนทั้งหลายจงมาเป็นสหายในทานของเรา หมายความว่า พระองค์ให้ส่งข่าวให้ชาวบ้านมาร่วมกันบำเพ็ญทาน บรรดาชนทั้งหลายเหล่านั้นทำอย่างนั้นแล้ว คิดว่าเราก็จะต้องถวายทานแด่บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเหมือนกัน แต่ชาวบ้านเขาคิดกันว่า พวกเราจักถวายทานนี้ให้ยิ่งกว่าทานที่พระราชาถวายแล้ว เขาเรียกว่าแข่งกันดี หรืออวดดี ไม่ใช่อวดเลว เมื่อพระราชาถวายทานแบบไหน เราจะทำไม่ให้แพ้พระราชา อย่างนี้เขาเรียกว่าอวดดี ควรอวด

    จึงนิมนต์องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าในวันรุ่งขึ้น แล้วก็แต่งทานถวาย แล้วก็ส่งข่าวไปทูลแด่พระราชา พระราชาเสด็จมาทอดพระเนตรทานของประชาชนเหล่านั้นแล้วดำริว่า เราจักถวายทานให้ยิ่งกว่าทานนี้ คือดีกว่า ประเสริฐกว่าที่บรรดาประชาชนถวายแล้ว

    ในวันรุ่งขึ้น จึงนิมนต์องค์สมเด็จพระประทีปแก้ว พร้อมไปด้วยบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลาย พระราชาไม่ทรงสามารถจะให้ชาวเมืองแพ้ได้ เป็นอันว่าต่างคนต่างถวายแข่งกัน พระราชาถวายแบบนี้ได้ ชาวเมืองก็ถวายได้ ทำให้ดีกว่าพระราชา พระราชาก็ทำให้ยิ่งไปกว่าชาวเมือง ชาวเมืองก็ทำให้ยิ่งกว่าพระราชา ว่ากันอย่างนี้เป็นลำดับ

    แล้วท่านกล่าวว่า ถึงชาวเมืองก็ไม่สามารถให้พระราชาท่านแพ้ได้ ต่างคนต่างไม่มีใครแพ้ใคร วันนี้เราถวายเพียงนี้ วันรุ่งขึ้นเขาถวายยิ่งไปกว่า วันรุ่งขึ้นอีกเราก็ถวายยิ่งไปกว่านั้น ฉะนั้น ในครั้งที่ 6 ชาวเมืองจึงมาคิดว่า บัดนี้ พวกเราจักถวายทานในวันพรุ่งนี้ จะทำเรื่องของทานที่เราทำทั้งหมด โดยที่ใคร ๆ ก็ไม่อาจจะพูดได้ว่า วัตถุชื่อนี้ไม่มีในทานของเรานี้

    เป็นอันว่าการแข่งการให้ทาน ยิ่งประเสริฐเท่าไร มากเท่าไร เกิดการไม่แพ้กันขึ้นมาแล้ว ชาวเมืองคิดใหม่ว่า ขึ้นชื่อว่าทานทั้งหมดที่เราจะถวายในวันพรุ่งนี้ ไม่ว่าอะไรทั้งหมดจะไม่มีใครมาติได้เลยว่า สิ่งทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งมันไม่มีในที่นั้น จะต้องมีทุกอย่าง



    ขาดน้ำผึ้งดิบ



    เมื่อต่างคนต่างคิดแล้ว วันรุ่งขึ้นได้จัดแจงของถวาย เสร็จแล้วตรวจดูว่า มีอะไรหนอแลที่ยังไม่มีอยู่ในที่นี้อีก มองไปมองมาก็มองไม่เห็นน้ำผึ้งดิบ จะมีก็แต่น้ำผึ้งสุก น้ำผึ้งดิบไม่มี ส่วนน้ำผึ้งสุกมีมาก บรรดาชนทั้งหลายเหล่านั้น จึงใช้ให้คน ๆ พวก นำทรัพย์ไปพวกละหนึ่งพันกหาปณะ คือหนึ่งพันตำลึง ไปยืนอยู่ที่ประตูพระนคร 4 ประตู เพราะประตูเมืองมันมีอยู่ 4 ประตู เพื่อต้องการน้ำผึ้งดิบ หมายความว่า ถ้ามีคนเขาเอามา เราก็ไปซื้อ

    ครั้งนั้น คนบ้านนอกคนหนึ่ง มาเพื่อจะเยี่ยมพวกชาวบ้านในเมือง ก็ไม่เห็นจะมีอะไรติดมือมาได้ เพราะแกอยู่ป่า ก็ถือรวงผึ้งมา 1 รวง ไล่ตัวผึ้งออกให้หนีไปหมดแล้ว จึงตัดกิ่งไม้แล้วก็ถือรวงผึ้งนั้นมา พร้อมทั้งไม้คอนเสร็จ จึงเข้ามาสู่เมือง ด้วยคิดตั้งใจว่า เราจะไปให้กับเพื่อนของเราในเมือง สำหรับคนที่ไปยืนอยู่หน้าประตูเมือง เห็นบุรุษคนนี้ถือรวงผึ้งมา เป็นคนบ้านนอก จึงถามว่า ท่านผู้เจริญ น้ำผึ้งนี้ท่านขายไหม คนบ้านนอกคนนั้นบอกว่า น้ำผึ้งฉันไม่ขาย ฉันจะไปให้เพื่อนของฉัน คนทั้งหลายเหล่านั้นก็บอกว่า ท่านผู้เจริญ ท่านรับเอากหาปณะเท่านี้ คือท่านขายน้ำผึ้งให้เรา เราจะให้ 4 บาท หรือ 1 ตำลึง คนบ้านนอกก็คิดว่า รวงผึ้งนี้ราคาไม่ถึงบาท แต่ว่าเจ้านี่จะให้สตางค์ถึง 4 บาท น่ากลัวเจ้าคนนี้มันจะสติไม่ดี ให้มากเกินไป เรายังไม่ให้ ต้องขึ้นราคาก่อน แกก็เป็นนักฉวยโอกาสเหมือนกัน

    แกจึงกล่าวว่า เราไม่ให้ เราให้ไม่ได้ ราคา 1 ตำลึง น้ำผึ้งรวงนี้ให้ไม่ได้ ราคามันแพง พวกนั้นก็ขึ้นราคาเป็น 2 ตำลึง 3 ตำลึง 4 ตำลึง ก็ว่ากันดะไป ผลที่สุดก็ขึ้นราคาถึง 1,000 ตำลึง สำหรับบุรุษผู้นั้นจึงคิดว่า คนพวกนี้น่ากลัวจะสติไม่ดี น้ำผึ้งรวงเดียวราคาไม่ถึงบาท มันดันให้ตั้งพัน และก็บอกด้วยว่า ฉันมีอยู่แค่ 1,000 ตำลึงเท่านั้นนะ หมด ขอท่านจงให้น้ำผึ้งแก่เรา

    แต่ทว่าบุรุษผู้มาจากป่าแกก็เป็นคนมีปัญญา คิดว่าต้องมีอะไรพิเศษสักเรื่องหนึ่ง จึงได้ถามว่า ผู้เจริญ ข้าพเจ้ารู้ว่ากรรมที่ข้าพเจ้าจะทำในน้ำผึ้งนั้นมีอยู่ เพราะเหตุใดท่านจึงมาขึ้นราคาอย่างนี้ พวกนั้นก็ถามว่า น้ำผึ้งท่านจะไปทำอะไร แกก็บอกว่า ฉันจะไปให้เพื่อนของฉัน ฉันเป็นคนอยู่ป่า มาคราวหนึ่งไม่มีอะไรติดมือมามันก็ไม่ดี พวกนั้นก็บอกว่า ฉันเองก็มีความจำเป็นด้วยเรื่องน้ำผึ้งดิบ อย่างอื่นมีครบ จึงให้ราคาถึง 1,000 ตำลึง ความจริงฉันรู้ว่า น้ำผึ้งนี้ราคามันไม่ถึงบาท แต่ด้วยความจำเป็นจึงให้

    คนบ้านนอกจึงถามว่า เรื่องอะไรจึงได้ให้ราคาแพง บอกมาสิ อยากจะรู้ ถ้าควรจะให้ก็ให้ บรรดาคนพวกนั้นบอกว่า พวกข้าพเจ้าเตรียมการถวายทานเป็นการใหญ่ เพื่อสมเด็ยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระวิปัสสีทศพล ผู้มีสมณะ คือพระ รวมด้วยกันทั้งหมด พระที่เป็นบริวาร 6,800,000 องค์ และก็มีพระพุทธเจ้าอีก 1 ในมหาทานครั้งนี้ อะไร ๆ ของเราก็มีหมด ไม่มีอยู่อย่างเดียวคือน้ำผึ้งดิบเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอซื้อรวงผึ้งของท่านด้วยราคาแพง เพราะว่าต้องการจะเอาบุญ เพราะทานคราวนี้มีความประสงค์ว่าจะให้มีทุกอย่าง ขึ้นชื่อว่าอะไรในทานนั้นไม่มี เราไม่ต้องการ ต้องการให้มันครบ ฉะนั้นจึงยอมซื้อของแพง ขอให้ขายเถิด



    ทำบุญปิดท้าย



    คนบ้านนอกแกก็บอกว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นเพื่อนข้าพเจ้าก็จักไม่ให้ ด้วยราคาเรื่องการซื้อไม่ยอมขาย แต่ถ้าท่านทั้งหลายจะยอมให้เราร่วมบุญร่วมกุศลด้วยจะให้ บรรดาคนพวกนั้นจึงได้ส่งข่าวไปหาหัวหน้าในเมือง บอกว่าเวลานี้เจอะคนนำน้ำผึ้งดิบมาแล้ว แต่ว่าเขาไม่ยอมขาย แต่ให้เขาร่วมบุญด้วยละก็เขาจะให้

    เมื่อชาวเมืองทราบที่ศรัทธาของเขามี จึงได้ยกมือสาธุ ดีแล้ว ๆ พ่อคุณเอ๋ย มาร่วมบุญร่วมกุศลด้วยกันเถิด เรื่องบุญนั้นไม่หวง ที่ต้องการน้ำผึ้งที่ต้องซื้อเพราะเกรงว่าจะไม่ยอมทำบุญด้วย จึงกล่าวว่า ขอเขาจงเป็นผู้มีส่วนได้บุญ มาร่วมบุญกัน บรรดาพวกชาวเมืองทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อได้น้ำผึ้งแล้ว ก็ได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ให้มาเสวยอาหาร ถวายข้าวต้ม ถวายของเคี้ยว

    ทีนี้เขาบอกว่า ให้คนนำเอาถาดทองคำใบใหญ่มาแล้ว แล้วก็บีบรวงผึ้งลงไป เอาน้ำหวานออก แม้กระบอกนมส้มอันมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้นนำมาเพื่อต้องการจะเป็นของกำนัลมี อยู่ เขาก็เทนมส้มเหล่านั้นลงไปในถาดทองคำ เคล้ากับน้ำผึ้งนั้น ได้ถวายแก่บรรดาพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข น้ำผึ้งนั้นก็ทั่วถึงแก่บรรดาพระภิกษุ
    ทุกรูป

    อย่าลืมว่ามีพระพุทธเจ้าองค์เดียว มีพระสงฆ์ถึง 6,800,000 องค์ น้ำผึ้งรวงเดียวกับนมสัมหน่อยหนึ่งที่เขาผสมกันพอดิบพอดี คือเหลือจากพระเสียอีก ท่านกล่าวว่า ผู้รับเอาจนพอความต้องการ หมายความว่า บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายพอหมดแล้ว แถมเหลือเสียด้วยซ้ำ

    ตอนนี้พระบาลีท่านกล่าวว่า ใคร ๆ ก็คิดไม่ได้ว่า น้ำผึ้งน้อยอย่างนั้นจะเพียงพอกับภิกษุ 6,800,000 องค์ได้อย่างไร ท่านกล่าวต่อไปตามพระสูตรว่า จริงอยู่ น้ำผึ้งนั้นถึงได้ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า น้ำผึ้งนั้นมีมากมายด้วยอำนาจของพระพุทธเจ้า แล้วท่านกล่าวต่อไปว่า ขึ้นชื่อว่าพุทธวิสัย ใคร ๆ ก็ไม่ควรคิด



    อจินไตย



    ท่านบอกว่า จริงอยู่ เหตุ 4 อย่างที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ไม่ควรคิด ใคร ๆ เมื่อคิดถึงเหตุเหล่านั้นเข้า ก็ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นคนบ้าเอาละสิ ท่านบอกว่า สิ่งที่เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ถ้าคิดแล้วก็บ้าเปล่า ๆ ไม่รู้เรื่องรู้ราว เหตุ 4 อย่างที่ไม่ควรคิด ที่พระพุทธเจ้ากล่าวก็คือ

    1. พุทธวิสัย วิสัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราคิดไม่ได้ ขืนคิดอยากจะรู้เท่าทันพระพุทธเจ้า เราก็บ้า เพราะว่าเรารู้ไม่ได้

    2. ฌานวิสัย วิสัยของบุคคลผู้ทรงฌาน ถ้าเราไม่สามารถได้ฌานสมาบัติ เราอย่าไปคิดเรื่องฌานสมาบัติ ยิ่งคนสมัยปัจจุบันย่อมอยากจะพูดกันถึงเรื่องพระนิพพานบ้าง เรื่องวิสัยของอรหันต์บ้าง แต่ความจริงแค่ฌานโลกีย์เท่านี้ พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ถ้าเรายังเข้าไม่ถึงก็ไม่ควรจะคิด คิดเท่าไรมันก็ผิด

    3. กรรมวิสัย คือกฎของกรรม เรื่องกฎของกรรมนี้ก็เหมือนกัน อย่าไปคิดมันคิดไม่ออกหรอก นอกจากว่าเราจะได้วิชชาสาม อภิญญาหก แล้วก็เป็นพระอริยเจ้าขั้นอรหันต์ จึงจะพอคิดถึงเรื่องกรรมได้ ถ้ายังไม่ถึงอย่าไปคิด คิดแล้วมันก็จบลงไม่ได้

    4. โลกจินไตย เรื่องของโลก เรื่องของโลกนี้ เราจะคิดว่ามันจะไปจบลงตรงไหน อย่าไปคิด มันไม่มีทางจบ คือโลกหาที่สุดไม่ได้

    จำไว้ให้ดีว่า เหตุ 4 อย่างที่พระพุทธเจ้าบอกว่า ไม่ควรคิด ถ้าคิดแล้วก็บ้าเปล่า ๆ นั่นก็คือ หนึ่งพุทธวิสัย สอง ฌานวิสัย สามกรรมวิสัย สี่ โลกจินไตย



    กลับมาเกิดใหม่เป็นพระราชากรุงพาราณสี



    สำหรับบุรุษนั้น เมื่อทำทานประมาณเท่านั้นแล้ว ท่านกล่าวว่า ในกาลเป็นที่สุดแห่งอายุ ก็บังเกิดในเทวโลกเป็นเทวดาท่องเที่ยวไป สิ้นกัปมีประมาณเท่านี้ คือ 91 กัป เป็นเทวดาเกะกะ ๆ อยู่ 91 กัป

    ในสมัยหนึ่งจุติจากเทวโลกแล้ว ก็มาบังเกิดในกรุงพาราณสี โดยกาลที่พระชนกทิวงคตแล้ว เขามาเกิดเป็นลูกพระราชาในตระกูลพาราณสี เมื่อพระราชบิดาตาย ทิวงคต เขาแปลว่า ตาย สวรรคต จึงได้เสวยราชสมบัติแทนพระราชบิดา

    มาในครึ่งหนึ่งท้าวเธอคิดว่า เราจะยึดเอาพระนครนครหนึ่ง ซึ่งมีกำลังน้อยกว่าให้ได้ จึงได้เสด็จไปแล้วก็ล้อมพระนครนั้นไว้ แล้วก็ส่งสาส์นกับชาวเมืองว่า ท่านจะให้ราชสมบัติคือสมบัติแก่เรา หรือจะให้เรารบ บรรดาชาวเมืองทั้งหลายเหล่านั้นตอบว่า เราจะไม่ให้ราชสมบัติ และเราก็จะไม่ให้ทั้งการรบ เราจะปิดประตูเมืองไม่ให้ท่านเข้า ดังนี้

    พระราชาองค์นั้นก็ล้อมไว้ แล้วก็ปิดประตูเมือง ประตูใหญ่ แต่ว่าชาวเมืองก็อาศัยประตูเล็กออกไปหาฟืน หาน้ำ มาทางประตูเล็ก ทำธุรกิจทุกอย่าง การล้อมของพระราชาจึงไม่มีผล ต่อมาเมื่อพระราชาปิดประตูเมืองของเขา ล้อมไม่ให้เขาออกไว้สิ้นเวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน ล้อมไว้ ต้องการให้คนในเมืองเขาอดตาย จะได้ยอมแพ้ เขาก็ไม่ยอมแพ้ เพราะเขาออกทางประตูเล็กมาหากินกันได้



    กรรมที่ล้อมเมือง



    ในกาลต่อมา พระราชชนนีคือมารดาพระราชาองค์นั้น ตรัสถามบรรดาอำมาตย์ข้าราชบริพารว่า ลูกชายของเราเขาทำอะไร บรรดาอำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ไปล้อมเมืองไว้พระเจ้าข้า ล้อมประตูใหญ่หมด ท่านจึงตรัสว่า พุทโธ่เอ๋ย...ลูกชายของฉันนี้ มันไม่น่าจะโง่อย่างนี้เลย ก็ไปล้อมประตูใหญ่แล้วก็ไม่ล้อมประตูเล็ก คนเขาก็ออกมาหากินกันได้ จงล้อมประตูเล็ก ๆ เสีย ประตูช่องเล็ก ๆ ปิดมันเสีย ชาวเมืองออกมาไม่ได้ ประเดี๋ยวมันก็ยอมแพ้

    อำมาตย์จึงได้ไปส่งข่าวพระราชา ท้าวเธอทรงสดับคำของพระราชชนนีแล้ว ก็มีคำสั่งให้ปิดประตูเล็ก คือกันคนออกทางด้านประตูเล็กเสียอีก ฝ่ายชาวเมืองเมื่อออกไปหากินภายนอกไม่ได้ ก็เริ่มอด อดแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร ในวันที่ 7 จึงพากันปลงพระชนม์พระราชาของตนเสีย แล้วก็ได้เปิดประตูเมืองรับพระราชาองค์นั้น ถวายพระราชสมบัติแก่พระองค์

    ท้าวเธอทรงทำกรรมแบบนี้ ในกาลเป็นที่สุดแห่งอายุ หมายความว่าเวลาที่ตาย แล้วก็ไปเกิดในอเวจีมหานรก ไหม้อยู่แล้วในอเวจีมหานรกนั้น ตราบเท่ามหาปฐพี คือผืนแผ่นดินนี้หนาขึ้นประมาณ 1 โยชน์ โทษของการล้อมเมืองเขา ทำให้เขาฆ่าพระราชาของเขา ลงนรกอเวจีด้วย แล้วให้แผ่นดินหนา 1 โยชน์ ไม่รู้เวลาเท่าไร

    ครั้งจุติจากอัตภาพ คือพ้นจากนรกนั้น แล้วก็มาปฏิสนธิในท้องของมารดานั่นแหละ หมายความว่า มารดาในสมัยนั้นก็มาเป็นแม่สมัยนี้ เข้าไปอยู่ในท้องแม่สิ้น 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แม่ต้องถูกทรมานด้วย ก็เพราะอาศัยที่ให้คำแนะนำกับลูก แต่บังเอิญแม่ไม่ได้ตกนรกด้วย จึงได้คลอด เพราะโทษที่แม่ต้องรับโทษด้วย เพราะว่าสั่งให้ปิดประตูเล็ก 4 ประตู นี่เป็นกรรมของพระสีวลีที่ต้องตกนรก และก็อยู่ในท้องแม่

    องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกขเว ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พระสีวลีไหม้แล้วในนรกสิ้นกาลนานประมาณเท่านี้ เพราะกรรมที่เธอล้อมพระนคร และยึดไว้ในกาลนั้น และถือปฏิสนธิของมารดานั้นนั่นแหละ อยู่ในท้องสิ้นกาลประมาณเท่านั้น 7 ปี 7 เดือน 7 วัน ก็เพราะว่าความที่เธอปิดประตูเล็กทั้ง 4 ต่อมา เป็นผู้ถึงความเป็นผู้มีลาภมากและมียศเลิศ ก็เพราะว่าการที่เธอถวายน้ำผึ้ง ด้วยประการฉะนี้

    ในวันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า แม้สามเณรผู้เดียว ทำเรือน 500 หลัง เพื่อภิกษุ 500 รูป มีลาภมีบุญน่าชมจริง ๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา แล้วถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นรับถ้อยคำเช่นนั้นแล้ว จึงตรัสว่า

    “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราไม่มีบุญ ไม่มีบาป ก็เพราะว่าบุญบาปทั้งสองของเธอละเสียแล้ว”

    จึงตรัสพระธรรมเทศนาว่า

    “บุคคลใดในโลกนี้ พ้นเครื่องข้องทั้งสองอย่าง คือบุญและบาป เราเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นผู้ไม่โศก ปราศจากกิเลสเพียงดังธุลี ผู้หมดจดว่าเป็นพราห์ม”

    เป็นอันว่าท่านทั้งหลาย เรื่องราวของบุคคลตัวอย่าง จงจำไว้ด้วยว่า กฎของกรรมของพระสีวลีท่านมีลาภมาก มียศยิ่งใหญ่มาก การที่มีลาภก็เพราะว่าถวายรวงผึ้ง แต่ว่าต้องลงในนรก เพราะอาศัยที่ไปปิดล้อมเมืองเขาไว้ และมารดาผู้เป็นต้นคิดก็มีปัจจัยร่วมเช่นเดียวกัน

    เอาละ สำหรับเรื่องราวของบุพกรรมของพระสีวลี ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล จงมีแก่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี.


    -http://kaskaew.com/index.asp?contentID=10000004&title=%BA%D8%BE%A1%C3%C3%C1%A2%CD%A7%BE%C3%D0%CA%D5%C7%C5%D5&getarticle=107&keyword=&catid=3-



     
  2. sithiphong

    sithiphong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    45,445
    ค่าพลัง:
    +141,949
    บุพกรรมของพระอัครสาวก

    โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

    สำหรับ วันนี้ ก็จะขอนำเอาบุพกรรมของพระอัครสาวกมาเล่าสู่กันฟัง ตามพระบาลีท่านกล่าวว่า ภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า “พระอัครสาวกทั้งสอง ได้ทำกรรมอะไรไว้พระเจ้าข้า”

    องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงได้ตรัสว่า “อัครสาวกทั้งสองทำความปรารถนาไว้พื่อเป็นอัครสาวก”

    พระองค์ ทรงกล่าวว่า ในที่สุดแห่งอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปนี้ไป พระสารีบุตรเกิดในสกุลพราหมณ์มหาศาล มีนามว่า สรทมาณพ พระโมคคัลลานะ เกิดในตระกูลคหบีมหาศาล มีนามว่า สิริวัฑฒกฎุมพี มาณพทั้งสองนั้นได้เป็นสหายเล่นฝุ่นมาด้วยกัน สรทมาณพ เมื่อบิดาตายแล้วได้ครอบครองทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก อันเป็นมรดกของตระกูล

    ใน วันหนึ่งอยู่ในที่ลับตา คิดว่า เราย่อมรู้อัตภาพโลกนี้เท่านั้น หารู้จักอัตภาพโลกหน้าไม่ (หมายความว่า ชาตินี้เราเกิดเป็นคน แต่ชาติหน้าเราจะเกิดเป็นอะไรนี่เราไม่รู้)

    อันธรรมดาความตายของ สัตว์เกิดแล้วย่อมเป็นของเที่ยง (หมายความว่าสัตว์ทุกคนที่เกิดมาแล้วในโลก ต้องตายเหมือนกันหมด ไม่มีใครหนีได้) ควรที่เราจะบวชเป็นบรรพชิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำการแสวงหาโมกขธรรม

    คำว่า โมกขธรรม แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องพ้นแห่งความตาย

    สรท มาณพนั้นเข้าไปหาสหายแล้วพูดว่า “สิริวัฑฒะผู้สหาย ข้าพเจ้าจักบวชแสวงหาโมกขธรรม ท่านจักบวชกับเราหรือไม่ หรือว่าไม่อาจจักบวช”

    ท่านสิริวัฑฒะก็ตอบว่า “ข้าพเจ้าจักไม่อาจ สหาย ท่านบวชคนเดียวเถิด”

    สรทมาณพนั้นคิดว่า ธรรมดาผู้ไปสู่ปรโลก จะพาสหายหรือญาติมิตรไปด้วยได้ ไม่มี

    นี่ หมายความถึงว่า คนเราน่ะจะรักกันขนาดไหนก็ตาม เวลาตายไม่สามารถจะพาใครเขาตายไปพร้อมกันได้ คนที่บอกว่ารักเรามากที่สุดน่ะ ความจริงเวลาเราตายเขาไม่ได้ตายไปด้วย เราตายของเราคนเดียว

    ท่านคิดต่อไปว่า กรรมที่ตนทำแล้วย่อมเป็นของตนเอง ดังนั้น ท่านสรทมาณพจึงไปเปิดเรือนคลังแก้วออกให้ทานเป็นการใหญ่ แก่คนกำพร้า คนเดินทาง และวณิพก คือคนยากจนเข็ญใจทั้งหลาย แล้วเข้าไปสู่เชิงเขา บวชเป็นฤาษี บรรดาชนทั้งหลายที่มีความรักในท่าน บวชตามท่านสรทะนั้นด้วยอาการอย่างนี้คือ หนึ่งคน สองคน สามคน จนกระทั่งมีชฎิลประมาณเจ็ดหมื่นสี่พันคน

    สรทชฎิลหรือสรทดาบส (ท่านใช้นามว่าชฎิลนะ) ทำอภิญญา 5 และสมาบัติ 8 ให้เกิดแล้ว บอกกสิณบริกรรมแก่ชฎิลทั้งหลายเหล่านั้น บรรดาชฎิลที่เป็นลูกศิษย์ทั้งหลายทั้งหมดก็ทำอภิญญา 5 และสมาบัติ 8 ให้เกิดขึ้น

    ท่านกล่าวต่อไปว่า ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ในนครที่มีชื่อว่า จันทวดี มีพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า ยสวันตะ เป็นพระราชบิดา พระราชเทวีมีนามว่า ยโสธรา เป็นพระราชมารดา มีไม้รกฟ้า เป็นที่ตรัสรู้ (ต้นไม้ เดิมเขาเรียกว่าต้นไม้รกฟ้า แต่พอตรัสรู้ ที่ตรงนั้นเขาเรียกว่า ต้นโพธิ์ เหมือนกัน โพธิ แปลว่า รู้)

    มีพระอัครสาวกทั้งสอง ชื่อ นิสภะ และ อโนมะ อุปัฏฐากชื่อว่า วรุณะ อัครสาวิกาเป็นอัครสาวกซ้ายขวาเหมือนกัน มีนามว่า สุมนา และ สุนทรา (อัครสาวิกา หมายความว่าภิกษุณี คือพระผู้หญิงน่ะ) พระชนมายุพระองค์มีแสนปี พระสรีระนั้นสูงถึง 58 ศอก พระรัศมีแห่งพระสรีระแผ่ไปได้ 12 โยชน์ มีภิกษุแสนหนึ่งเป็นบริวาร

    วันหนึ่ง เวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี นั้นเสด็จออกจากมหากรุณาสมาบัติ

    หมาย ความว่า ตอนเช้ามืด พระพุทธเจ้าย่อมเข้าสมาบัติ อันหนึ่งที่เราเรียกกันว่า พระพุทธญาณ เป็นญาณเฉพาะของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ พระสาวกหรืออัครสาวกไม่สามารถจะทำได้ พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ทำอย่างนี้เหมือนกันหมด

    ทรงพิจารณาดู สัตว์ในโลกอยู่แล้ว ก็ทอดพระเนตรเห็นสรทดาบส แล้วทรงมีพระพุทธดำริว่า “เพราะเราไปสู่สำนักสรทดาบสในวันนี้ จะเป็นปัจจัยให้เธอได้ฟังพระธรรมเทศนา จักมีคุณใหญ่ และสรทดาบสนั้นจะปรารถนาตำแหน่งพระอัครสาวก สิริวัฑฒกฎุมพีผู้สหายดาบสนั้น จักปรารถนาตำแหน่งพระอัครสาวกที่สอง (หมายความว่าอัครสาวกเบื้องซ้าย) ทั้งในการเทศนาชฎิลเจ็ดหมื่นสี่พันบริวารของดาบสนั้น จักบรรลุอรหันต์ เราควรไปที่นั้น”

    เมื่อทรงดำริดังนี้แล้ว จึงได้ถือบาตรและจีวรของพระองค์ ไม่ตรัสเรียกใครอื่น เสด็จไปแต่พระองค์เดียวเหมือนพญาราชสีห์ เมื่ออันเตวาสิกทั้งหลายของสรทดาบสไปแล้วเพื่อต้องการผลาผล ทรงอธิษฐานว่า “ขอสรทดาบสจงทราบความที่เราเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อสรทดาบสเห็นอยู่นั่นแหละ” และก็ทรงเสด็จลงจากอากาศประทับยืนบนแผ่นดิน

    ขณะนั้น ท่านสรทดาบสเห็นพระพุทธานุภาพและความสำเร็จแห่งสรีระ สอบสวนมนต์สำหรับทำนายลักษณะก็ทราบว่า อันผู้ประกอบลักษณะอย่างนี้ เมื่ออยู่ในท่ามกลางเรือน ย่อมเป็นพระเจ้าจักพรรดิ เมื่อออกบวชก็จะต้องเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า มีกิเลสเครื่องมุงบังอันเปิดแล้วในโลก (คำว่าเปิดแล้ว หมายความว่าหมดไป) บุรุษนี้จักเป็นพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย จึงทำการต้อนรับถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ได้จัดอาสนะถวายแล้ว พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่จัดไว้ สรทดาบสนั่งในที่อันตนเห็นสมควร คือต่ำกว่าในส่วนข้างหน้า

    ในสมัย นั้น บรรดาชฎิลเจ็ดหมื่นสี่พัน ถือผลไม้ต่าง ๆ อันประณีต มีรสอันโอชะ มาถึงสำนักของอาจารย์ แลดูอาสนะที่พระพุทธเจ้าประทับและอาจารย์นั่งแล้ว จึงได้พูดขึ้นว่า “ท่านอาจารย์ พวกผมเที่ยวไปด้วยเข้าใจว่า ในโลกนี้ ผู้เป็นใหญ่กว่าอาจารย์ย่อมไม่มี และบุรุษผู้นี้เห็นจะเป็นใหญ่กว่าอาจารย์กระมังขอรับ”

    ท่านสรทดาบสก็ ตอบว่า “พ่อทั้งหลาย พวกเจ้าพูดอะไร พวกเจ้าปรารถนาเพื่อทำเขาสิเนรุซึ่งสูง 68 แสนโยชน์ให้เสมอกับเมล็ดพันธุ์ผักกาดกระนั้นหรือ”

    นี่ท่านหมายความ ว่า ตัวท่านน่ะเหมือนกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด แต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคมีอานุภาพเหมือนกับเขาพระสุเมรุสูง 68 แสนโยชน์

    ท่าน จึงกล่าวว่า “ลูกทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าทำการเปรียบเทียบเรากับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย” ครั้งนั้นดาบสเหล่านั้นคิดว่า “ถ้าบุรุษผู้นี้จักเป็นคนเล็กน้อยแล้วไซร้ ท่านอาจารย์ของพวกเราคงไม่ชักสิ่งเหล่านี้มาอุปมา บุรุษผู้นี้จักเป็นใหญ่เพียงไรหนอ” เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว เขาทั้งหมดนั่นแหละหมอบลงแทบพระบาททั้งสอง ถวายบังคมด้วยเศียรเกล้า

    ครั้ง นั้น พระอาจารย์กล่าวกับดาบสเหล่านั้นว่า “ไทยธรรมที่สมควรแก่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราไม่มี สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จมาในเวลานี้ เป็นเวลาภิกขาจาร (คือเป็นเวลาบิณฑบาต) พวกเราจักถวายไทยธรรมตามสติตามกำลัง พวกเราจงนำผลไม้อันประณีตมีรสอร่อยที่สุดที่มีอยู่มาถวายเถิด” ครั้นนำมาแล้ว ล้างมือทั้งสองแล้ว ตั้งไว้ในบาตรของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยตนเอง

    เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับผลไม้แล้ว บรรดาเทวดาทั้งหลายก็โปรยโอชะอันเป็นทิพย์ลง ดาบสนั้นได้กรองน้ำถวายด้วยตนเอง

    เห็น ไหม เทวดาย่องผสมเขาเสมอ เวลาที่ใครเขาถวายทานแก่พระพุทธเจ้า เทวดาท่านก็ย่อง ๆ เอาของทิพย์มาโปรยให้เสมอ เป็นอันว่าทำบุญร่วมกัน

    ตอน นั้น เมื่อองค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาทรงประทับทำภัตกิจ (คือฉัน) แล้ว ดาบสนั้นเรียกอันเตวาสิกทั้งสิ้นมานั่ง กล่าวสาราณียกถา ใกล้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    สาราณียกถา คือ ชม จะไปนั่งกล่าวบนศาลาไม่ใช่อย่างนั้นนะ ชมเชยความดีของพระพุทธเจ้า

    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดำริว่า “ขออัครสาวกทั้งสองจงมาพร้อมด้วยบรรดาพระภิกษุสงฆ์”

    พระ อัครสาวกทั้งสองนั้น ทราบดำริขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า อโนมทัสสีแล้ว บรรดาพระขีณาสพหรือพระอรหันต์แสนรูปเป็นบริวาร ก็มาถวายบังคมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    ลำดับนั้น สรทดาบสเรียกอันเตวาสิกคือลูกศิษย์ทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า “พ่อทั้งหลาย แม้อาสนะที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งต่ำ ซ้ำอาสนะสำหรับสมณะตั้งแสนก็ไม่มี พวกเจ้าควรทำพุทธสัการะให้โอฬารในวันนี้ จงนำดอกไม้ทั้งหลายที่ถึงพร้อมไปด้วยสีและกลิ่นมาแต่งเชิงเขา”

    เวลา ที่พูดดูเหมือนกับเนิ่นช้า แต่ความจริงเรื่องผู้มีฤทธิ์แผลบเดียวก็ได้ จำให้ดีนะ เพราะเรื่องของท่านมีฤทธิ์ คนอื่นที่ไม่มีฤทธิ์อย่าเข้าไปคิด คิดแล้วเป็นบ้า เป็นอจินไตย เวลานี้ มักจะชอบคิดกันวิจารณ์กัน ทั้งที่ตนเองแม้แต่ศีล 5 ก็ไม่ครบ บางคนหาศีลไม่ได้เลย ก็ยังไม่คิดเปรียบเทียบอารมณ์ของตนกับท่านผู้มีฤทธิ์นี่น่าสงสาร

    เพราะ ฉะนั้น โดยการเพียงครู่เดียวเท่านั้น บรรดาบุตรทั้งหลายเหล่านั้นก็นำดอกไม้ทั้งหลายที่ถึงพร้อมไปด้วยสีและกลิ่น มา แล้วตบแต่งอาสนะดอกไม้สำหรับพระพุทธเจ้า ประมาณได้หนึ่งโยชน์ สำหรับพระอัครสาวกทั้งสองประมาณ 3 คาวุธ ( 1 คาวุธ เท่ากับ 100 เส้น โยชน์หนึ่งเท่ากับ 400 เส้น) สำหรับภิกษุที่เหลือ ประมาณแตกต่างกัน มีประมาณครึ่งโยชน์เป็นต้น สำหรับภิกษุใหม่ประมาณ 2 อุสุภะ (อุสุภะหนึ่งยาว 25 วา) ใคร ๆ ไม่พึงคิดว่าในอาศรมแห่งเดียวจะตกแต่งอาสนะใหญ่โตเพียงนั้นได้อย่างไร

    เรื่อง ของผู้มีฤทธิ์น่ะมันได้ทั้งนั้นแหละ อย่างขวดเล็ก ๆ ลูกเดียว บรรดาพระอรหันต์แสนองค์สามารถอยู่ในนั้นพร้อมกันได้ถ้าทรงอภิญญา หรือว่าไม่เป็นพระอรหันต์ แต่เป็นพระผู้ทรงอภิญญาก็สามารถอยู่ได้

    เมื่อ ตกแต่งอาสนะเสร็จแล้วอย่างนั้น ท่านสรทดาบสก็ยืนประคองอัญชลี (คือพนมมือ) เบื้องพระพักตร์ กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงเสด็จขึ้นสู่อาสนะดอกไม้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด พระเจ้าข้า”

    ตอนนี้มีภาษิต อยู่ตอนหนึ่ง ขอกล่าวตามพระบาลีว่า เพราะเหตุนั้นโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า สรทดาบสเอาดอกไม้ต่าง ๆ และของหอมรวมด้วยกัน ตกแต่งอาสนะดอกไม้ไว้แล้ว ได้กราบทูลองค์สมเด็จพระประทีปแก้วว่า

    “ข้าแต่พระวีระ อาสนะที่ข้าพระองค์ตกแต่งแล้วนี้ สมควรแด่พระองค์ พระองค์เมื่อจะยังจิตของข้าพระองค์ให้เลื่อมใสแล้ว ขอจงประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้ พระพุทธเจ้าได้ทรงยังจิตของข้าพระองค์ให้เลื่อมใสแล้ว ยังโลกนี้และเทวโลกให้ร่าเริงแล้ว ขอจงประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้ตลอด 7 วัน 7 คืน”

    เอาเข้าแล้ว นี่ท่านให้พระพุทธเจ้าประทับนั่ง 7 วัน 7 คืน คงจะนอนด้วยกระมัง แต่ว่าไม่ได้นะ ท่านดาบสพวกนี้ท่านได้อภิญญา 5 ท่านทรงสมาบัติ 8 ไอ้เรื่องนั่งเฉย ๆ นอนเฉย ๆ 7 วัน 7 คืน น่ะมันเรื่องเล็ก ๆ จะว่ากัน 70 วัน 70 เดือน 70 ปี ก็ยังได้ มันเป็นของไม่ยาก ถ้าไม่มั่นใจละก็ ลองกันดูก็ได้

    ทุกท่าน ถ้าไม่เชื่อว่าคำที่พูดนี้เป็นไปได้ จงทำอภิญญา 5 ให้ปรากฎ แล้วก็ทรงสมาบัติ 8 ให้ปรากฎ จะเห็นว่าที่พูดว่า 7 ปี 7 เดือน 7 วัน นี่มันยังเล็ก ท่านคงคิดว่าน่าจะพูด 700 ปี 700 เดือน 700 วัน หรือ 7,000 ปี 7,000 เดือน 7,000 วัน ถ้าตั้งจิตอธิษฐานด้วยอำนาจของอภิญญา 5 หรือสมาบัติ 8 มันเป็นของเล็กจริง ๆ เอ้า คุยกันต่อไป

    เมื่อองค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับนั่งแล้ว พระอัครสาวกทั้งสอง และภิกษุที่เหลือก็นั่งแล้วอยู่บนอาสนะที่สมควรแก่ตน ท่านสรทดาบสได้ถือฉัตรดอกไม้ใหญ่ ยืนกั้นเหนือศรีษะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธองค์ได้ทรงอธิษฐานว่า “ขอสักการะของชฎิลนี้จงมีผลใหญ่”

    นี่ เป็นคำครอบ พระจำให้ดีนะ กินของเขาแล้วอย่ากินเปล่า รับของของเขาแล้วอย่ารับเปล่า ทำจิตให้บริสุทธิ์ ตั้งจิตอธิษฐานอย่างนี้ เอาง่าย ๆ เอาเหมือนพระพุทธเจ้าแล้วกันว่า “ขอสักการะของท่านผู้นี้ที่สงเคราะห์แก่เราแล้วจงมีผลใหญ่” เท่านี้พอ

    เมื่อ พระองค์ตรัสดังนั้นแล้ว ก็ทรงเข้า นิโรธสมาบัติ อัครสาวกทั้งสองก็ดี ภิกษุที่เหลือก็ดี ทราบว่าองค์สมเด็จพระชินสีห์เข้านิโรธสมาบัติแล้ว ก็เข้าสมาบัติบ้าง คือ ผลสมาบัติ (อภิญญาผลสมาบัตินะ เพราะท่านได้อภิญญา)

    ส่วนพวกอันเตวาสิก เมื่อถึงเวลาเที่ยวไปภิกษาบริโภคมูลผลาผลในป่าแล้ว ก็ยืนประคองอัญชลี แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ตลอดเวลาที่เหลือ (หมายความว่า เวลาที่กินอะไรเสร็จก็มายืนไหว้พระพุทธเจ้าตลอด 7 วันเหมือนกัน)

    สำหรับพระอาจารย์ไม่ยอมฉันอาหาร กั้นฉัตรดอกไม้อยู่อย่างนั้นแหละ ให้เวลาล่วงไปโดยที่มีปีติ คือความอิ่มใจ แล้วก็สุขตลอด 7 วัน

    เมื่อ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา เสด็จออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ตรัสเรียกพระนิสภเถระ พระอัครสาวกผู้นั่งข้างขวา ด้วยรับสั่งว่า “นิสภะ เธอจงทำโมทนาอาสนะดอกไม้ แด่บรรดาดาบสทั้งหลายผู้ทำสักการะ”

    พระ เถระมีใจยินดีประดุจหนึ่งแม่ทัพใหญ่ ประสพลาภใหญ่จากสำนักของพระเจ้าจักรพรรดิราช ตั้งอยู่ในสาวกบารมีญาณ จึงเริ่มอนุโมทนาอาสนะดอกไม้

    ในที่สุดแห่งเทศนาของพระนิสภะเถระนั้น สมเด็จพระภควันต์ได้ตรัสเรียกพระสาวกองค์ที่สองด้วยรับสั่งว่า “ภิกขเว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้เธอจงแสดงธรรม”

    พระอโนมเถระ เป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย ได้พิจารณาพระพุทธวจนะคือพระไตรปิฎกแล้วก็กล่าวธรรม ด้วยพระธรรมเทศนาของพระอัครสาวกทั้งสอง การตรัสรู้มิได้มีแก่บรรดาดาบสแม้แต่รูปใดรูปหนึ่ง เพราะว่าบรรดาดาบสทั้งหมดนี้เป็นผู้ได้อภิญญาและสมาบัติ 8 ฟังเทศน์จากพระอัครสาวกทั้งสองแล้ว แทนที่จะบรรลุมรรคผลกลับไม่ได้บรรลุมรรคผล ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าเป็นดาบสที่มีกำลังใหญ่ และก็ต้องเป็นดาบสที่เป็นวิสัยขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจะทรง สงเคราะห์เอง จึงจะมีมรรคมีผล

    ครั้นองค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดา ตั้งอยู่ในพุทธวิสัยไม่มีปริมาณ (คำว่า พุทธวิสัย คือวิสัยของพระพุทธเจ้าซึ่งหาประมาณมิได้ มากมายเหลือเกิน) จึงได้เริ่มแสดงพระธรรมเทศนา ในกาลจบพระธรรมเทศนา บรรดาชฎิลเจ็ดหมื่นสี่พัน (ยกเว้นท่านสรทดาบส) บรรลุอรหันต์ทั้งหมด

    องค์ สมเด็จพระบรมสุคตทรงเหยียดพระหัตถ์แล้วตรัสว่า “เธอทั้งหลาย จงเป็นภิกษุมาเถิด” ทันใดนั้นเอง ผมและหนวดของบรรดาชฎิลก็อันตรธานไป บริขาร 8 ที่สำเร็จไปด้วยฤทธิ์ก็ลงมาสวมกายของพระพวกนั้น

    ตามบาลี ท่านกล่าวว่า มีคำถามสอดเข้ามาว่า “เพราะเหตุไร สรทดาบสจึงไม่บรรลุอรหันต์” ความจริงท่านน่าจะบรรลุอรหันต์เพราะตั้งใจบวชด้วยดี ตาพระบาลีท่านแก้ว่า “เพราะความที่เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน จึงไม่ได้อรหัตผล”

    ตามพระบาลี กล่าวต่อไปอีกว่า จำเดิมแต่กาลที่ท่านสรทดาบสนั้นเริ่มฟังพระธรรมเทศนาของอัครสาวก ผู้นั่งบนอาสนะที่สองแห่งพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่ในสาวกบารมีญาณแสดงธรรมอยู่ เกิดความคิดขึ้นมาว่า “โอหนอ แม้เราได้รับธุระที่พระสาวกรูปนี้ในศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้จะบังเกิดในอนาคต”

    นี่หมายความว่า พอฟังเทศน์ของพระอัครสาวกแล้ว ท่านก็คิดว่า เรานี่อยากจะเป็นอัครสาวกบ้าง ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งเกิดขึ้นในโลกในกาลต่อไป เราต้องการเป็นอัครสาวก

    อย่างนี้ถือว่าเป็นอธิษฐานบารมี ตามพระบาลีท่านบอกว่า จิตฟุ้งซ่าน ก็หมายความว่า ซ่านด้วยการฟังแล้วไม่คิดตาม เพราะว่าเห็นว่าท่านเป็นอัครสาวกมีศักดาใหญ่ ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงให้โอกาสแสดงพระธรรมเทศนาก่อน จึงเห็นว่า งานนี้เป็นงานเด่นมาก เราอยากจะเป็นบ้าง ฟังไปแล้วก็คิดไป เลยไม่ได้บรรลุมรรคบรรลุผล

    บาลีท่านว่าต่อไปว่า เพราะอาศัยความปริวิตกอย่างนั้น สรทดาบสจึงไม่มีโอกาสที่จะถึงทำการแทงตลอดมรรคผลได้

    หมาย ความว่า เวลาฟังไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณา ฟังแล้วก็คิดว่าเราอยากจะเป็นอัครสาวก ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาอย่างบรรดาลูกศิษย์ของท่าน ท่านก็จะได้เป็นอรหันต์และเป็นไม่ยากด้วย เพราะมีกำลังแรงกล้ากว่าคนอื่น

    ท่าน จึงยืนถวายบังคม องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาแล้วในที่เฉพาะพระพักตร์ ได้กราบทูลว่า “ภันเต ภควา ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญพระพุทธเจ้าข้า ภิกษุที่นั่งบนอาสนะลำดับพระองค์ชื่อว่าอะไรขอรับ”

    สมเด็จพระจอม ไตรทรงพระนามว่าอโนมทัสสี จึงได้มีพุทธฎีกาตรัสว่า “ภิกษุผู้ยังธรรมจักรอันเราให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามนั้น บรรลุที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ แทงตลอดปัญญา 16 อย่างตั้งอยู่ผู้นี้ ชื่อ่าอัครสาวกในศาสนาของเรา” (อัคร แปลว่า ผู้เลิศ เป็นสาวกผู้เลิศกว่าสาวกทั้งหลายในศาสนาของพระองค์)

    ท่านจึงได้ทำ ความปรารถนาว่า “ด้วยผลแห่งสักการะของข้าพระองค์ ตั้งฉัตรดอกไม้ทำแล้วตลอด 7 วันนี้ ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาความเป็นท้าวสักกะ (คือพระอินทร์) หรือว่าต้องการจะเป็นพรหม แต่ว่าข้าพระองค์ขอพึงเป็นอัครสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใด องค์หนึ่งในอนาคตกาล เหมือนพระนิสภเถระองค์นี้” เห็นไหมล่ะ ท่านตั้งใจจะเป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง แต่พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี ท่านมีเสียแล้วนี่ ก็ต้องรอต่อไป

    องค์ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี เมื่อสดับถ้อยคำของสรทดาบสดังนี้ จึงได้พิจารณาด้วยอำนาจพระพุทธญาณ ทรงพิจารณาว่า ความปรารถนาของบุรุษจักสำเร็จหรือไม่หนอ พระองค์ทรงเห็นว่าผ่านไป 1 อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปแล้วจะได้สำเร็จ ครั้นทรงเห็นแล้ว จึงตรัสกับสรทดาบสว่า

    “ความปรารถนาของท่านนี้จัก ไม่เปล่าประโยชน์ เพราะว่าในอนาคตล่วงไป1 อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระสมณโคดม จะทรงอุบัติขึ้นในโลก พระมารดาของพระองค์จักมีพระนามว่า มหามายาเทวี พระพุทธบิดาของพระองค์จะมีพระนามว่า สุทโธทนมหาราช พระโอรสจะมีพระนามว่า ราหุล พระผู้อุปัฏฐากจะมีพระนามว่า อานนท์ พระสาวกที่สองคืออัครสาวก จักมีพระนามว่า โมคคัลลานะ ส่วนตัวท่านจะเป็นอัครสาวกของพระองค์นามว่า ธรรมเสนาบดีสารีบุตร

    ครั้นทรงพยากรณ์ดาบสนั้นแล้ว ตรัสธรรมกถา มีภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้วเหาะไป

    เป็นอันว่า คำพยากรณ์ขององค์สมเด็จพระจอมไตรทรงบอกละเอียด รู้ละเอียด ญาณนี้จะมีเฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้น

    ฝ่าย สรทดาบสได้ไปยังสำนักของพระเถระผู้เป็นอันเตวาสิก แล้วกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ขอท่านทั้งหลายจงบอกแก่สหายของข้าพเจ้าว่า สรทดาบสผู้สหายของท่าน ได้ปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกในศาสนาของพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระสมณโคดม ซึ่งจะทรงอุบัติขึ้นในอนาคตกาล แทบบาทมูลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า อโนมทัสสีแล้ว ท่านจงปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่สองเถิด”

    ท่านบอกแก่บรรดาพระที่เป็น อรหันต์ที่เคยเป็นลูกศิษย์ของท่าน ให้ไปบอกเพื่อน แต่ท่านเองก็ไปเหมือนกัน ไปแล้วได้ยืนอยู่ที่ประตูเรือนของสิริวัฑฒะ

    สิ ริวัฑฒะได้กล่าวว่า “นานนักหนอพระคุณเจ้าของเราจึงมา” จึงได้นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ ตนนั่งบนอาสนะต่ำกว่า แล้วเรียนถามว่า “ทำไมอันเตวาสิก บริษัทของพระคุณเจ้าทั้งหลายจึงหายไปแล้วเจ้าข้า”

    สรท ดาบสจึงได้กล่าวว่า “พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าอโนมทัสสีเสด็จมายังอาศรมเป็นวันที่เจ็ด แล้วก็เพิ่งเสด็จกลับวันนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมา เราทำการสักการะแล้ว สมเด็จพระประทีปแก้วแสดงพระธรรมเทศนาโปรด ในเวลาที่จบพระธรรมเทศนา เว้นข้าพเจ้าคนเดียว นอกจากนั้นบรรลุอรหันต์ทั้งหมด และก็บวชเสียแล้ว ข้าพเจ้าเห็นพระนิสภเถระ อัครสาวกเบื้องขวาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีความปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกในศาสนาของพระพุทธเจ้า มีนามว่า “พระสมณโคดม” ซึ่งจะอุบัติขึ้นในโลกในอนาคตกาล แม้เธอก็จงตั้งความปรารถนาในตำแหน่งอัครสาวกที่สอง ในศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์นั้นเหมือนกัน เพราะเราเป็นเพื่อนกัน”

    ท่านสิริวัฑฒะจึงกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่มีความคุ้นเคยกับพระพุทธเจ้าทั้งหลายเสียเลย จะทำยังไงล่ะขอรับ”

    ท่านสรทะจึงกล่าวว่า “เรื่องที่จะทูลกับพระพุทธเจ้าเป็นภาระของข้าพเจ้าเอง ขอท่านจงจัดสักการะที่ยิ่งใหญ่ไว้เถอะ”

    ท่าน สิริวัฑฒะฟังคำของดาบสผู้ป็นสหายแล้ว ได้ทำสถานที่มีประมาณ 8 กรีส (1 กรีสเท่ากับ 125 ศอก หรือว่า 1 เส้นกับ 11 วา กับอีก 1 ศอก) ท่านกล่าวว่า ได้ทำสถานที่ประมาณ 8 กรีส โดยมาตราหลวง ที่ประตูเรือนของตนให้มีพื้นที่เสมอกัน แล้วเกลี่ยทรายโปรยดอกไม้ และทำมณฑปมุงไปด้วยดอกอุบลสีเขียว (ดอกบัวสีเขียว) ตกแต่งพุทธอาสน์ จัดอาสนะบรรดาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นบริวาร จัดสักการะและเครื่องต้อนรับไว้เป็นอันมาก ได้ให้สัญญาแก่ท่านสรทดาบสเพื่อประโยชน์แห่งการนิมนต์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ เจ้า มีพระนามว่าอโนมทัสสี

    สำหรับพระดาบส ได้พาภิกษุสงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขไปที่อยู่ของสิริวัฑฒกฎุมพีแล้ว สิริวัฑฒกฎุมพีทำการต้อนรับ รับบาตรจากพระหัตถ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชิญเสด็จให้เข้าไปสู่มณฑป ถวายน้ำทักษิโณทก (น้ำฉัน) แก่บรรดาภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ซึ่งนั่งบนอาสนะที่ตกแต่งไว้ ได้ถวายโภชนะอันประณีต

    ในเวลาที่เสร็จ ภัตกิจ นิมนต์ภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ครองผ้าอันมีค่ามากแล้ว จึงได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความริเริ่มนี้มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตำแหน่งมีประมาณน้อย ขอพระองค์จงทำความอนุเคราะห์โดยทำนองนี้ สิ้นเวลา 7 วัน”

    องค์ สมเด็จพระภควันต์ทรงรับแล้ว เขายังมหาทานให้เป็นไป โดยทำนองนั้นแหละตลอด 7 วัน ถวายบังคมองค์สมเด็จพระภควันต์ยืนประคองอัญชลี กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า สรทดาบส สหายของข้าพระองค์ปรารถนาว่า เราพึงเป็นอัครสาวกเบื้องขวาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใด ข้าพระองค์พึงเป็นอัครสาวกองค์ที่สอง คือเบื้องซ้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเหมือนกัน”

    สมเด็จ พระภควันต์ทรงพิจารณาถึงอนาคตกาล ทรงเห็นภาวะคือความสำเร็จแห่งความปรารถนาของเขา จึงได้ทรงพยากรณ์ว่า “แต่นี้ล่วงไป 1 อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป แม้ท่านก็จักได้เป็นอัครสาวกองค์ที่สองขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระสมณโคดม”

    ท่านสิริวัฑฒะฟังคำพยากรณ์ขององค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้เป็นผู้มีความร่าเริงบันเทิงใจ แม้องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงทำภัตตานุโมทนา พร้อมด้วยบริวารเสด็จไปยังวิหาร

    คำว่า ภัตตานุโมทนา ก็หมายความว่า อนุโมทนาในอานิสงส์ของการถวายทานแล้ว

    เป็น อันว่าเมื่อกล่าวเรื่องนี้จบ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงกล่าวแก่บรรดาภิกษุทั้งหลายว่า “ก็บุตรของเราคือ โมคคัลลาน์และสารีบุตร เขาตั้งความปรารถนาเป็นอัครสาวกตั้งแต่สมัยนั้น ฉะนั้น เมื่อถึงเวลาแล้ว เราจึงได้ตั้งท่านทั้สองเป็นอัครสาวก จะถือว่าการแต่งตั้งนี้เป็นการเลือกหน้าซึ่งกันก็หาไม่ เพราะเป็นการแต่งตั้งตามความปรารถนาเพื่อตนของตนได้บำเพ็ญไว้แล้ว ได้ตั้งใจแล้ว”

    เป็นอันว่า เรื่องบุพกรรมของพระอัครสาวกทั้งสองก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน

    -http://kaskaew.com/index.asp?contentID=10000004&title=%BA%D8%BE%A1%C3%C3%C1%A2%CD%A7%BE%C3%D0%CD%D1%A4%C3%CA%D2%C7%A1&getarticle=155&keyword=&catid=3-


     

แชร์หน้านี้

Loading...