ZEN 2010 จากสวนโมกข์สู่หมู่บ้านพลัม

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย ฐาณัฏฐ์, 22 ธันวาคม 2010.

  1. ฐาณัฏฐ์

    ฐาณัฏฐ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 มกราคม 2008
    โพสต์:
    6,197
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +4,075
    ZEN 2010 จากสวนโมกข์สู่หมู่บ้านพลัม
    โดย : ปริญญา ชาวสมุน

    [​IMG]


    เซน (Zen) คือ อะไร? บางคนต้องการรู้ บางคนต้องการคำตอบ และบางคนไม่คิดแสวงหา

    หากเอ่ยถึง 'เซน' อาจมีพุทธศาสนิกชนชาวไทยเพียงไม่กี่คนที่เข้าใจ หรือแม้กระทั่งรู้จัก ความคลางแคลงสงสัยค่อยๆ คลี่คลาย เมื่อสารคดีชุด 'ZEN 2010 จากสวนโมกข์สู่หมู่บ้านพลัม' ออกอากาศในรายการ 'ชีพจรโลกกับสุทธิชัย หยุ่น' ตั้งแต่ตอนที่หนึ่งถึงตอนสุดท้าย

    กระทั่งล่าสุด บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้จัดงานเสวนาเรื่อง 'วิถี ZEN วิถีแห่งชีวิต' ขึ้นในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ ห้อง Meeting Room 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมี สุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น เจ้าของหนังสือ 'เซนกับคนบ้าข่าว' และ DVD สารคดีพิเศษชุด 'ZEN 2010 : จากสวนโมกข์สู่หมู่บ้านพลัม' ร่วมด้วย พระพิทยา ฐานิสสโร, พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี), มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ และดำเนินรายการโดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน


    ก่อนอื่นน่าจะทำความรู้จักกับ 'เซน' ในเชิงทฤษฎีกันเสียก่อน เพื่อที่จะก้าวสู่เซนในทางปฏิบัติต่อไป

    'เซน' เป็นพระพุทธศาสนานิกายหนึ่งที่พัฒนาขึ้นในดินแดนจีนช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 และ 8 โดยการผสมผสานแนวคิดของพระพุทธศาสนานิกายมหายานจากอินเดีย และปรัชญาเต๋าจากจีน คำว่า 'เซน' (Zen) นี้มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต ว่า 'ธยานะ' (Dhyana) และภาษาบาลีว่า 'ฌาน' (Jhana) ที่แปลว่า ' สมาธิ' ซึ่งเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา เมื่อเผยแพร่สู่ดินแดนจีน ชาวจีนออกเสียงว่า 'ฉาน' (Ch’an) ต่อมาจึงพัฒนาเป็นพระพุทธศาสนานิกายฉาน และอิทธิพลของแนวคิดนิกายฉานนี้เข้ามาในดินแดนญี่ปุ่นด้วย เหตุที่เรียกเป็นพระพุทธศาสนานิกายเซนก็เพราะชาวญี่ปุ่นออกเสียงคำว่า 'ฉาน' เป็น 'เซน' นั่นเอง


    "หากเปรียบพระพุทธศาสนาดั่งนก เซนก็เปรียบเสมือนปีกข้างหนึ่งของพระพุทธศาสนา" ถ้อยความสั้นๆ จากพระนักเขียน-นักเทศน์อย่างท่าน ว.วชิรเมธี อธิบายเปรียบเทียบ


    เมื่อการเสวนาถูกจุดประกายให้เริ่มต้น ความหมายของเซนก็ค่อยๆ เผยให้เข้าใจขึ้นเช่นกัน โดยเหตุที่เซนอยู่ห่างไกลจากวิถีพุทธแบบไทยก็เพราะพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเป็น 'นิกายเถรวาท' และเซนเป็นส่วนหนึ่งของ 'นิกายมหายาน' ทั้งสองนิกายมีความแตกต่างกันในเรื่องแนวทางการปฏิบัติ

    นิกายเถรวาทมีแนวปฏิบัติที่เคร่งครัด แต่ เซนหรือนิกายมหายานมีแนวปฏิบัติที่ยืดหยุ่น จึงนำมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตได้ดีกว่า ทว่า การที่นกจะบินได้ต้องอาศัยปีกทั้งสองข้าง เมื่อนำเซนมาใช้กับการดำเนินชีวิตแล้วก็ควรยึดหลักคำสอนแบบเถรวาท พระพุทธศาสนาก็จะโบยบินได้อย่างสมบูรณ์


    "เมื่อก่อนผมไม่รู้ว่าเส้นแบ่งระหว่างเถรวาทกับมหายานคืออะไร แต่ผมสนใจสาระคำสอนของพระพุทธเจ้ามากกว่า และเซนน่าจะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ดีที่สุด" สุทธิชัย หยุ่น จากคนบ้าข่าวหันมาสู่การปฏิบัติและศึกษาเกี่ยวกับ 'เซน' กล่าวถึงความเป็นมา


    ในความคิดดั้งเดิมของคนไทย พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ค่อยได้ เข้าถึงได้ยาก หากจะเข้าถึงหรือจะบรรลุแก่นธรรมต้องคร่ำเคร่ง ปฏิบัติตามพิธีกรรมซึ่งมีมากเหลือเกินเท่านั้น หากไม่ทำก็ถือว่าบาป แม้แต่การพูดจาล้อเล่น เท่ากับว่าพูดจาเลื่อนลอย ไร้สาระ ก็ถือว่าบาปอีกเช่นกัน


    อย่างไรก็ตาม พิธีกรรมไม่ใช่สิ่งที่ไร้สาระหรือไม่ควรกระทำ เพราะพิธีกรรมจะเป็นประโยชน์นำพามนุษย์ไปถึงแก่นธรรมได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติเอง เซน ไม่มีพิธีรีตองมากมาย ทุกสิ่งทุกอย่างจะง่าย พูดกันง่ายๆ ปฏิบัติกันง่ายๆ ไม่ต้องหยิบยกคำว่า 'บาป' มาบีบคั้นผู้ที่นับถือให้ปฏิบัติตาม มีเพียงว่าปฏิบัติกับไม่ปฏิบัติ หากปฏิบัติก็ย่อมได้รับผลจากการกระทำนั้น ส่วนผู้ที่ไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้รับนั่นเอง


    [​IMG]



    ก่อนที่ สุทธิชัย หยุ่น และพระมหาวุฒิชัย จะเดินทางไปพบท่าน ติช นัท ฮันห์ พระเซนชาวเวียดนามที่หมู่บ้านพลัม เมืองบอร์โดซ์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส ทั้งคนบ้าข่าวและพระนักคิดนักเขียนชื่อดัง เล่าว่ามีคำถามมากมายที่ตั้งใจจะไปถามท่านติช นัท ฮันห์ ทุกคำถามล้วนยากแก่การหาคำตอบ ด้วยความคิดที่ตรงกันของทั้งสองว่าจะไปพบบุคคลระดับโลก ก็ต้องมีคำถามที่แสนฉลาดไปถาม


    แต่เมื่อไปถึง ได้สนทนาธรรม คำถามทั้งหมดที่ตระเตรียมไว้ กลับไม่ออกจากปากของทั้งสองท่านแม้แต่น้อย เพราะทุกสิ่งที่ท่านติช นัท ฮันห์ พูดนั้น ล้วนเข้าใจง่าย ทุกสิ่งทุกอย่างมีคำตอบในตัวของมัน สามารถตอบกับผู้ไม่เข้าใจได้


    ต่างกับการสอนพระพุทธศาสนาแบบไทยที่มักจะสอนเป็นวิถีโค้ง คือ 'อ้อมค้อม' กว่าจะเข้าถึงเนื้อหาสาระที่แท้จริงก็ต้องพรรณนา บรรยายไปเสียมากมาย อาทิ คนไทยจะเรียนพระพุทธศาสนาให้เข้าใจ ก็ต้องรู้ภาษาบาลี อันที่จริงความเชื่อนี้อาจไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะพระพุทธศาสนาเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องใช้ภาษาบาลีก็ได้ แต่เรียนรู้ด้วยภาษาใจ

    ฉะนั้น 'เซน' เป็นเรื่องของใจ ใช้ใจเข้าถึง หากทำได้ก็ประสบความสำเร็จ เหมือนกับพระมหากัสสปะ ซึ่งเป็นมหาสังฆะปริณายกองค์แรก ท่านบรรลุธรรมได้ด้วยการดูดอกบัวเพียงดอกเดียว ไม่ต้องทำอะไรที่เยิ่นเย้อ มากความแต่อย่างใด
    เมื่อเซนเป็นการเข้าถึงจุด ก็ไม่ต่างจากข่าวที่ สุทธิชัย หยุ่น คลุกคลีกันมานาน คือต้องเข้าถึงประเด็น หากมัวแต่เยิ่นเย้อ ส่วนที่สำคัญจะถูกตัดออกไป เช่นเดียวกับเซนที่สอนให้เรามุ่งตรงสู่ประเด็น พิธีกรรมต่างๆ ให้เอาไว้ทีหลัง เริ่มจากการเข้าใจแก่นแท้สาระก่อนเลย มิฉะนั้นผู้ปฏิบัติก็จะละทิ้งแก่นธรรม สนใจแต่พิธีกรรมความเชื่อ

    นอกจากนี้มีหลายคนที่เข้าใจว่าผู้รักษาศีล ปฏิบัติธรรม อย่างพระและภิกษุณี ต้องเคร่งขรึม ห้ามยิ้มแย้ม ห้ามเต้นรำ เพราะดูไม่เหมาะสม ทว่า ในความเป็นจริงท่าน ติช นัท ฮันห์ บอกไว้ว่า การปฏิบัติธรรมก็เพื่อพ้นทุกข์ พบเจอความสุขสงบ และที่สำคัญ พระควรเป็นตัวของตัวเอง หากแต่ต้องสื่อสารให้เป็น เพื่อจะถ่ายทอดความรู้และธรรมะที่มีอยู่ได้เต็มที่ ถ้าสื่อสารไม่เป็นจะถ่ายทอดออกมาได้อย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ การยิ้มแย้มที่แสดงออกถึงความสุขที่ตนมี ก็ย่อมทำได้ หากแต่ว่าการยิ้มแย้ม ไม่ใช่การพูดจาตลกโปกฮาไร้สาระ จนกระทั่งขาดสติ

    สุทธิชัย หยุ่น เคยถามพระเซนผู้ยิ่งใหญ่นี้ว่า "เป็นพระ ยิ้มได้ไหม?" ท่านก็ตอบกลับด้วยรอยยิ้มเล็กๆ ที่ดูสุขสงบ ---
    อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความสงสัยแก่พุทธศาสนิกชนชาวไทย คือ การร้องเพลงประกอบการบรรเลงเครื่องดนตรี และการเต้นรำของผู้ปฏิบัติเซน ที่ดูจะขัดกับหลักคำสอนทางเถรวาท กระทั่งเกิดความคลางแคลงใจกันว่าเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร?


    คำตอบก็ยังคงไม่ต่างจากเดิม ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวผู้ปฏิบัติเอง พระพิทยา ฐานิสสโร กล่าวว่า "บทเพลงมีไว้เพื่อร้องให้เกิดความสุข หากไม่มีความสุขก็อย่าไปร้อง ก็เหมือนเซนกับเถรวาท ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเรา ถ้าทุกการกระทำยังครองสติของตนไว้ได้ ก็เท่ากับเป็นการเจริญสติอย่างหนึ่ง"


    ในมุมมองคนต่างชาติ ไม่ได้คิดว่าเซนคือศาสนาหนึ่ง หรือลัทธิหนึ่ง พวกเขาแยกเซนออกจากคำว่า 'ศาสนา' แต่พวกเขามองเซนเป็นเรื่องการปฏิบัติ เป็นชีวิตประจำวัน เป็นเสมือนทางออกหนึ่งของวิถีชีวิตมนุษย์ เหตุที่มีชาวต่างชาติจำนวนมากไปฝึกตนแบบเซนที่หมู่บ้านพลัมก็เพื่อบำบัด แสวงหาความสุขทางใจ และทำให้ตนเครียดน้อยลง การปฏิบัติของเซนไม่ได้แตกต่างจากการใช้ชีวิตอย่างมนุษย์ธรรมดา ยังคงดำเนินชีวิตตามปกติ มีความรู้สึก มีง่วง มีเมื่อย มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะ


    แม้แต่ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต และเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของโลกอย่าง องค์ทะไล ลามะ ก็เคยกล่าวกับสุทธิชัยว่า "เวลานั่งสมาธิ เจริญสติ ก็มีเมื่อย มีง่วง เหมือนกับคนทั่วไป ไม่ได้แตกต่างกันเลย" อีกทั้งท่านก็ยังมีความสนใจในเรื่องอื่นๆ เช่น การสะสมและซ่อมนาฬิกา เพียงแต่ว่าการซ่อมนาฬิกานั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่การทำกิจกรรมยามว่าง แต่ช่วยฝึกสมาธิ เจริญสติ เพราะชิ้นส่วนทุกชิ้นมีขนาดเล็กมาก ต้องค่อยๆ ทำ จะใจร้อนไม่ได้


    ประเทศไทยนั้นมักจะมุ่งเน้นศึกษาองค์ความรู้ พิธีกรรม กระทั่งไสยศาสตร์ ซึ่งทำให้เราไม่สามารถไปถึงแก่นธรรมของพระพุทธเจ้าจริงๆ ได้ คนไทยมักจะแยกศาสนาออกจากชีวิต พอมีความทุกข์หรืออยากจะปฏิบัติก็ทำเพียงไม่กี่วัน ชั่วขณะหนึ่ง เมื่อกลับมาก็เป็นเหมือนเดิม ปฏิบัติตัวอย่างเดิมและทุกข์เหมือนเดิม พอถึงวันสำคัญทางศาสนาก็ทำพิธีกรรมตามประเพณีที่ปฏิบัติตามๆ กันมา ทั้งๆ ที่บางครั้งยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ตนทำคืออะไร ทำเพื่ออะไร


    หากเป็นการปฏิบัติตนแบบเซนที่หมู่บ้านพลัมก็จะได้ปฏิบัติเลย ต่างกับคนไทยที่ติดอยู่กับกรอบธรรมเนียม จะจุดธูปจุดเทียนไหว้พระคราวหนึ่ง ต้องคิดกันก่อนว่าจะจุดซ้ายหรือขวาก่อน ผู้ปฏิบัติเซนจึงเข้าถึงได้เร็วกว่า หากต้องการเข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนา ก็ควรวางพิธีกรรม จารีตต่างๆ เอาไว้ก่อน แล้วมุ่งตรงไปสู่การปฏิบัติ เจริญสติ สุดท้ายพิธีกรรมที่ถูกที่ควรก็จะตามมาเอง เซน สอนว่า 'อย่าทำอะไรที่ไม่เข้าใจ ควรทำสิ่งต่างๆ เพราะเราเข้าใจมัน'


    ถ้าอยากรู้แก่นของเซนต้องปฏิบัติ ต้องฝึก ไม่มีทางที่เราจะเข้าใจเซนด้วยตรรกะทางวิทยาศาสตร์ หรือด้วยเหตุผล เพราะเซนคือ 'การกระทำดังกว่าคำพูด'


    สุทธิชัย หยุ่น พิธีกรข่าวชั้นครู เล่าว่า "เคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับเซน เขาบอกว่าให้นั่งเฉยๆ ไม่ต้องกังวล เซนที่แท้จริงคือไม่ต้องกังวลว่าจะทำได้หรือไม่ได้ เมื่อไม่กังวลก็จะสำเร็จเอง เซนจะทำให้มีความเป็นมนุษย์ เราปฏิบัติเซน เพื่อให้เรากลับมามีความเป็นมนุษย์" ด้วยความง่าย แต่เข้าถึงได้เร็วนี่เอง เซนจึงเป็นแนวปฏิบัติที่นำพาชีวิตไปสู่ความสุขได้อย่างมีสติ


    ปัจจุบันขณะ 'สุทธิชัย หยุ่น' ยังย้ำจุดยืนว่า "กลับมาอยู่กับข่าวเหมือนเดิม แต่ข้างในไม่เหมือนเดิม และรู้แล้วว่าจะเดินทางต่อไปอย่างไร"


    By : bangkokbiznews.com
     
  2. โลกุตตระ

    โลกุตตระ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กุมภาพันธ์ 2010
    โพสต์:
    448
    ค่าพลัง:
    +2,624
    บทความของ จขกท ให้ความรู้เรื่อง zen ดี ..แต่ผมว่าผู้เขียนบทความ
    (ปริญญา ชาวสมุน)ไม่ควรนำพุทธมาเปรียบเทียบกับZen และยกว่าZen
    มีข้อดีอย่างไรเมื่อเทียบกับพุทธเถรวาท ผมว่า ยังเป็นมุมมองที่แคบ
    และไม่สมบูรณ์ ไม่ครบถ้วน บางเรื่องก็รู้ไม่จริงเกี่ยวกับพุทธเถรวาท
    ลองอ่านดูวิเคราะห์ดูก็จะเห็นเอง..

    ผมว่าทุกศาสนาก็มีจุดดีในตัวเองนะครับ ผู้เขียนบทความ ควรจะชี้ให้เห็นข้อดีของ
    ลัทธิหรือศาสนาที่ตนชอบ ตนศรัทธา ใครชอบก็ปฏิบัติกันไป การวิเคราะห์ให้ความ
    คิดเห็นที่พาดพิงโจมตีศาสนาอื่น ดูอย่างไรก็ไม่เหมาะ ไม่ควร

    ...ก็ควรพิจารณากันอย่างรอบคอบนะครับ..
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 ธันวาคม 2010
  3. jobcup

    jobcup สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 มิถุนายน 2011
    โพสต์:
    1
    ค่าพลัง:
    +0
    บางครั้งผมก็งงกับพิธีกรรมต่างๆ ของทางวัดนะครับ
    แต่ เซน บอกได้ถูกใจมากครับว่า อย่าทำอะไรที่ไม่เข้าใจ ควรทำสิ่งต่างๆ
    เพราะเราเข้าใจ...พอไปอ่านเจอเรื่องของศรัทธาในตำราพุทธศาสนาว่า
    ศรัทธาต้องมีปัญญาเป็นพื้นฐานด้วย ก็พอเข้าใจเลยครับว่า
    เซนเป็นการประยุกต์คำสอนให้เข้ากับวิถีชีวิตปี 2011
     
  4. Kama-Manas

    Kama-Manas เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    5,351
    ค่าพลัง:
    +6,491
    ผมรักเซน มาตั้งนานมากแล้วครับ รักทุกท่านที่เข้าใจในความเป็นเซน(จริงๆ)
    "อย่าทำอะไรที่ไม่เข้าใจ ควรทำสิ่งต่างๆเพราะเราเข้าใจมัน"

    "ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเรา ถ้าทุกการกระทำ ยังครองสติของตนไว้ได้ ก็เท่ากับเป็นการเจริญสติอย่างหนึ่ง" ขอบคุณจขกท.มากครับ ที่นำมาลงให้อ่าน
     

แชร์หน้านี้

Loading...