56/พ.28 พ.ค.2551/ ว่าด้วยกาม ๒ อย่าง ๑

ในห้อง 'พระไตรปิฎก เสียงอ่าน' ตั้งกระทู้โดย ผ่อนคลาย, 28 พฤษภาคม 2008.

  1. ผ่อนคลาย

    ผ่อนคลาย Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    5,775
    ค่าพลัง:
    +12,934
    พระสุตตันตปิฎก
    เล่ม ๒๑

    ขุททกนิกาย มหานิทเทส

    ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

    อัฏฐกวัคคิกะ
    กามสุตตนิทเทสที่ ๑
    ว่าด้วยกาม ๒ อย่าง
    [๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
    เมื่อสัตว์ปรารถนากามอยู่ ถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่ สัตว์นั้นสัตว์นั้นได้
    กามตามปรารถนาแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน.

    [๒] กามในคำว่า เมื่อปรารถนากามอยู่ ได้แก่ กาม ๒ อย่าง โดยหัวข้อ คือ วัตถุ
    กาม ๑ กิเลสกาม ๑.

    วัตถุกามเป็นไฉน?
    รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชอบใจ เครื่องลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา นา ที่ดิน เงิน ทอง บ้าน นิคม ราชธานี แว่นแคว้น ชนบท กองพลรบ คลัง และวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วัตถุกาม. อีกอย่างหนึ่ง กามที่เป็นอดีต กามที่เป็นอนาคต กามที่เป็นปัจจุบัน ที่เป็นภายใน ที่เป็นภายนอก ที่เป็นทั้งภายในและภายนอก ชนิดเลว ชนิดปานกลาง ชนิดประณีต เป็นของสัตว์ผู้เกิดในอบาย เป็นของมนุษย์ เป็นของทิพย์ ที่ปรากฏเฉพาะหน้าที่นิรมิตเอง ที่ผู้อื่นนิรมิต ที่หวงแหน ที่ไม่ได้หวงแหน ที่ยึดถือว่าของเรา ที่ไม่ยึดถือว่าของเรา ธรรมที่เป็นกามาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมที่เป็นรูปาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมที่เป็นอรูปาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งตัณหา เป็นอารมณ์แห่งตัณหาชื่อว่ากาม เพราะอรรถว่า อันบุคคลพึงใคร่ เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา กามเหล่านี้ เรียกว่า วัตถุกาม.

    กิเลสกามเป็นไฉน?
    ความพอใจ ความกำหนัด ความพอใจและความกำหนัด ความดำริ ความกำหนัดมาก ความดำริและความกำหนัด ความพอใจคือความใคร่ ความกำหนัดคือความใคร่ ความเพลิดเพลินคือความใคร่ ในกามทั้งหลาย ความปรารถนาในกาม ความเสน่หาในกาม ความเร่าร้อนในกาม ความหลงในกาม ความติดใจในกาม ห้วงคือกาม ความประกอบในกาม ความยึดถือในกาม เครื่องกั้นกางคือกามฉันทะ ชื่อว่า กาม.

    สมจริงดังคำว่า
    ดูกรกาม เราเห็นรากฐานของท่านแล้วว่า ท่านย่อมเกิดเพราะความดำริ เราจักไม่ดำริถึงท่าน ท่านจักไม่มีอย่างนี้.
    กามเหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม.
    คำว่า เมื่อปรารถนากามอยู่ มีความว่า เมื่อใคร่ อยากได้ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย ชอบใจกามอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อปรารถนากามอยู่.

    [๓] คำว่า ถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่สัตว์นั้น มีความว่า คำว่า สัตว์นั้น ได้แก่ สัตว์ ผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร์ คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดาหรือมนุษย์. คำว่า กามนั้น ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ชอบใจ ซึ่งเรียกว่า วัตถุกาม.
    คำว่า ย่อมสำเร็จ มีความว่า ย่อมสำเร็จ สำเร็จโดยชอบ ได้ ได้เฉพาะ ประสบ พบ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่สัตว์นั้น.

    [๔] คำว่า ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน มีความว่า คำว่า แน่นอน เป็นคำกล่าวโดย
    ส่วนเดียว เป็นคำกล่าวโดยไม่มีความสงสัย เป็นคำกล่าวโดยไม่มีความเคลือบแคลง เป็นคำกล่าว ไม่เป็นสองส่วน เป็นคำกล่าวไม่เป็นสองอย่าง เป็นคำกล่าวไม่รวมกัน เป็นคำกล่าวไม่ผิด คำว่า แน่นอนนี้ เป็นคำกล่าวกำหนดแน่.
    คำว่า อิ่ม คือ ความอิ่ม ความปราโมทย์ ความเบิกบาน ความบันเทิง ความร่าเริง ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ความยินดี ความชื่นใจ ความชอบใจ ความเต็มใจ ที่ประกอบพร้อมเฉพาะด้วยกามคุณ ๕. คำว่า ใจ คือ จิต มนะ มานัส หทัย
    บัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ ที่เกิดแต่ ผัสสะเป็นต้นนั้น นี้เรียกว่า ใจ. ใจนี้สหรคต คือ เกิดร่วม เกี่ยวข้อง ประกอบ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีวัตถุอย่างเดียวกัน มีอารมณ์อันเดียวกัน กับด้วยความอิ่มนี้. คำว่า ย่อมเป็น ผู้อิ่มใจ คือเป็นผู้มีใจยินดี มีใจร่าเริง มีใจเบิกบาน มีใจดี มีใจสูง มีใจปลาบปลื้ม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน.

    [๕] คำว่า สัตว์นั้นได้กามตามปรารถนาแล้ว มีความว่า คำว่า ได้ คือ ได้ ได้แล้ว ได้เฉพาะ ประสบ พบ.
    คำว่า สัตว์ คือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์. คำว่า ตามปรารถนา คือ รูป เสียง กลิ่น รส หรือโผฏฐัพพะ ตามปรารถนา ยินดี ประสงค์ มุ่งหมาย ชอบใจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตว์นั้นได้กามตามปรารถนาแล้ว.
    เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เมื่อสัตว์ปรารถนากามอยู่ ถ้ากามนั้น ย่อมสำเร็จแก่สัตว์นั้น สัตว์นั้นได้ กามตามปรารถนาแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน.

    [๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่ เมื่อสัตว์มีฉันทะเกิดแล้ว ถ้ากามเหล่านั้น เสื่อมไป สัตว์นั้น ย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศรแทง เข้าแล้ว.

    [๗] คำว่า เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่ มีความว่า คำว่า เมื่อสัตว์นั้น ได้แก่ สัตว์ ผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร์ คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือมนุษย์. คำว่า ปรารถนากามอยู่ คือ เมื่อใคร่ อยากได้ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย ชอบใจ.

    อีกอย่างหนึ่ง สัตว์ย่อมไป ออกไป ลอยไป แล่นไป เพราะกามตัณหา เปรียบเหมือนมนุษย์ย่อมไป ออกไป ลอยไป แล่นไปด้วยยานช้างบ้าง ยานม้าบ้าง ยานโคบ้าง ยานแพะบ้าง ยานแกะบ้าง ยานอูฐบ้าง ยานลาบ้าง ฉันใด สัตว์ย่อมไป ออกไป ลอยไป แล่นไป เพราะกามตัณหา ฉันนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่.

    [๘] คำว่า เมื่อสัตว์มีฉันทะเกิดแล้ว ความว่า คำว่า ฉันทะ ได้แก่ ความพอใจในกาม ความกำหนัดในกาม ความเพลินในกาม ความอยากในกาม ความเสน่หาในกาม ความเร่าร้อน ในกาม ความหลงในกาม ความติดใจในกาม ห้วงคือกาม ความประกอบคือกาม ความยึดถือ ในกาม เครื่องกั้นกางคือกามฉันทะ ความพอใจในกามนั้น เกิดแล้ว เกิดพร้อม เกิดขึ้น เกิดเฉพาะ ปรากฏแล้วแก่สัตว์นั้น.
    คำว่า สัตว์ คือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อสัตว์มีฉันทะเกิดแล้ว.

    [๙] คำว่า ถ้ากามเหล่านั้นเสื่อมไป มีความว่า กามเหล่านั้นเสื่อมไปบ้าง สัตว์นั้น เสื่อมจากกามทั้งหลายบ้าง.

    กามเหล่านั้นเสื่อมไปอย่างไร?
    เมื่อสัตว์นั้น ดำรงอยู่นั่นแหละ โภคะเหล่านั้น ถูกพระราชาริบไปบ้าง ถูกโจรลักไปบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกน้ำพัดไปบ้าง ถูกพวกญาติผู้ไม่เป็นที่ชอบใจนำไปบ้าง สัตว์นั้นไม่พบโภคทรัพย์ที่เก็บฝังไว้บ้าง การงานที่ประกอบไม่ดีเสียไปบ้างคนผลาญสกุล ผู้แจกจ่ายกระจัดกระจายทำลายโภคะเหล่านั้นย่อมเกิดในสกุลบ้าง ความเป็นของไม่เที่ยงแห่งโภคะเป็นที่แปด กามเหล่านั้นย่อมเสื่อม เสียหาย กระจัดกระจาย รั่วไหล อันตรธานสูญหายไปอย่างนี้.

    สัตว์นั้นย่อมเสื่อมจากกามทั้งหลายอย่างไร?
    โภคะเหล่านั้น ยังตั้งอยู่นั้นแหละ สัตว์นั้นย่อมเคลื่อน ตาย อันตรธาน สูญหายไปจากโภคะเหล่านั้น สัตว์นั้นย่อมเสื่อม เสียหาย กระจัดกระจาย รั่วไหล อันตรธาน สูญหายไปจากกามทั้งหลายอย่างนี้ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โภคทรัพย์ทั้งหลาย ถูกโจรลักไป ถูกพระราชาริบไป ถูกไฟไหม้ เสียหาย อนึ่ง บุคคลผู้เป็นเจ้าของย่อมละทิ้งสรีรกาย กับทั้งข้าวของ เพราะ ความตาย นักปราชญ์ทราบเหตุนี้แล้ว พึงใช้สอยบ้าง พึงให้ทานบ้าง ครั้นให้ทาน และใช้สอยตามสมควรแล้ว เป็นผู้ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้า ถึงสถาน คือ สวรรค์. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กามเหล่านั้นย่อมเสื่อมไป.

    [๑๐] คำว่า สัตว์นั้นย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศรแทงเข้าแล้ว มี
    ความว่า สัตว์ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยเหล็กแทงเข้าแล้วบ้าง ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยกระดูกแทงเข้าแล้วบ้าง ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยงาแทงเข้าแล้วบ้าง ผู้ถูกลูกศรที่ทำด้วยเขาแทงเข้าแล้วบ้าง ผู้ถูกลูกศร ที่ทำด้วยไม้แทงเข้าแล้วบ้าง ย่อมกระสับกระส่าย หวั่นไหว ดิ้นรน จุกเสียด เจ็บตัว เจ็บใจ ฉันใด ความโศกรำพัน เจ็บกาย เจ็บใจ และคับแค้นใจ ย่อมเกิดขึ้นเพราะวัตถุกามทั้งหลาย แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป สัตว์นั้นถูกลูกศรคือกามแทงเข้าแล้ว ย่อมกระสับกระส่ายหวั่นไหว ดิ้นรน จุกเสียด เจ็บกาย เจ็บใจ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตว์นั้นย่อม
    กระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศรแทงเข้าแล้ว. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เมื่อสัตว์นั้นปรารถนากามอยู่ เมื่อสัตว์มีฉันทะเกิดขึ้น ถ้ากามเหล่านั้น เสื่อมไป สัตว์นั้นย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกลูกศรแทงเข้าแล้ว.

    [๑๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ใด ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย เหมือนบุคคลเว้นขาดหัวงูด้วยเท้า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้.

    ว่าด้วยการเว้นขาดกามด้วยเหตุ ๒ ประการ
    [๑๒] คำว่า ผู้ใด ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย มีความว่า คำว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ผู้ประกอบอย่างใด ผู้ชนิดอย่างใด ผู้มีประการอย่างใด ผู้ถึงฐานะใด ผู้ประกอบด้วยธรรมใด เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร์ เป็นคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิต เป็นเทวดา หรือเป็นมนุษย์. กาม ในคำว่า ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย ได้แก่ กาม ๒ อย่าง โดยหัวข้อ คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑

    วัตถุกามเป็นไฉน?
    รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชอบใจ ฯลฯ กามเหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ กามเหล่านี้ เรียกว่า กิเลสกาม.
    คำว่า ย่อมเว้นขาดกาม คือ ย่อมเว้นขาดกาม โดยเหตุ ๒ ประการ คือ โดยการข่มไว้อย่าง ๑ โดยการตัดขาดอย่าง ๑.

    ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้อย่างไร?
    บุคคลผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยโครงกระดูก เพราะอรรถว่าเป็นของมีความยินดีน้อย ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่ากามทั้งหลายเปรียบด้วยชิ้นเนื้อ เพราะอรรถว่าเป็นของสาธารณ์แก่ชนหมู่มาก ย่อมเว้นขาดกามโดย
    การข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยคบเพลิง เพราะอรรถว่าเป็นของตามเผา ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง เพราะอรรถว่าเป็นของให้เร่าร้อนมาก ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยความฝันเพราะอรรถว่าเป็นของปรากฏชั่วเวลาน้อย ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่ากามทั้งหลาย
    เปรียบด้วยของขอยืม เพราะอรรถว่า เป็นของเป็นไปชั่วกาลที่กำหนด ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยต้นไม้มีผลดกเพราะอรรถว่าเป็นของให้กิ่งหักและให้ต้นล้ม ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยดาบและมีด เพราะอรรถว่าเป็นของฟัน ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกหลาว เพราะอรรถว่าเป็นของทิ่มแทง ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้เห็นอยู่ว่ากามทั้งหลายเปรียบด้วยหัวงู เพราะอรรถว่าเป็นของน่าสะพึงกลัว ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้
    ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยกองไฟ เพราะอรรถว่าเป็นดังไฟกองใหญ่ให้เร่าร้อน ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ แม้ผู้เจริญพุทธานุสสติ ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ แม้ผู้เจริญธัมมานุสสติ ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ แม้ผู้เจริญสังฆานุสสติ ... แม้ผู้เจริญสีลานุสสติ ...แม้ผู้เจริญจาคานุสสติ ... แม้ผู้เจริญเทวตานุสสติ ... แม้ผู้เจริญอานาปานัสสติ ... แม้ผู้เจริญมรณานุสสติ ... แม้ผู้เจริญกายคตาสติ ... แม้ผู้เจริญอุปสมานุสสติ ... แม้ผู้เจริญปฐมฌาน ... แม้ผู้เจริญทุติยฌาน ... แม้ผู้เจริญตติยฌาน ... แม้ผู้เจริญจตุตถฌาน ... แม้ผู้เจริญอากาสานัญจายตนสมาบัติ ... แม้ผู้เจริญวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ... แม้ผู้เจริญอากิญจัญญายตนสมาบัติ ... แม้ผู้เจริญเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้. ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้อย่างนี้.ย่อมเว้นขาดกามโดยการตัดขาดอย่างไร? แม้บุคคลผู้เจริญโสดาปัตติมรรค ย่อมเว้นขาดกามอันให้ไปสู่อบายโดยการตัดขาด แม้บุคคลผู้เจริญสกทาคามิมรรค ย่อมเว้นขาดกามส่วนหยาบโดยการตัดขาด แม้บุคคลผู้เจริญอนาคามิมรรค ย่อมเว้นขาดกามอันเป็นส่วนละเอียดโดยการตัดขาด แม้บุคคลผู้เจริญอรหัตมรรค ย่อมเว้นขาดกามโดยอาการทั้งปวง โดยประการทั้งปวงหมดสิ้น มิได้มีส่วนเหลือ โดยการตัดขาด. ย่อมเว้นขาดกามโดยการตัดขาดอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ใดย่อม เว้นขาดกามทั้งหลาย.

    [๑๓] คำว่า เหมือนบุคคลเว้นขาดหัวงูด้วยเท้า มีความว่า งูเรียกว่าสัปปะ. เพราะอรรถว่าอะไร งูจึงเรียกว่าสัปปะ. เพราะอรรถว่าเสือกไป งูจึงเรียกว่าสัปปะ. เพราะอรรถว่าขนดไป งูจึงเรียกว่าภุชคะ. เพราะอรรถว่าไปด้วยอก งูจึงเรียกว่าอุรคะ. เพราะอรรถว่ามีหัวตกไป งูจึงเรียกปันนคะ เพราะอรรถว่านอนด้วยหัว งูจึงเรียกว่าสิริสปะ. เพราะอรรถว่านอนในรูงูจึงเรียกว่าวิลาสยะ. เพราะอรรถว่านอนในถ้ำ งูจึงเรียกว่าคุหาสยะ. เพราะอรรถว่ามีเขี้ยวเป็นอาวุธ งูจึงเรียกว่าทาฒาวุธ. เพราะอรรถว่ามีพิษร้ายแรง งูจึงเรียกว่าโฆรวิสะ. เพราะอรรถว่ามีลิ้นสองแฉก งูจึงเรียกว่าทุชิวหา. เพราะอรรถว่าลิ้มรสด้วยลิ้นสองแฉก งูจึงเรียกว่าทิรสัญญู. บุรุษผู้ใคร่ต่อชีวิต ไม่อยากตาย อยากได้สุข เกลียดทุกข์ พึงเว้น หลีก เลี้ยว อ้อมหนี หัวงูด้วยเท้า ฉันใด บุคคลผู้รักสุข เกลียดทุกข์ พึงเว้น หลีกเลี่ยง อ้อมหนีกามทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหมือนบุคคลเว้นขาดหัวงูด้วยเท้า.

    [๑๔] คำว่า ผู้นั้น เป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้ มีความว่า คำว่า ผู้นั้น คือ ผู้เว้นขาดกามทั้งหลาย. ตัณหาเรียกว่า วิสัตติกา ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดกล้า ความพอใจ ความชอบใจ ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยสามารถแห่ง ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดกล้าแห่งจิต ความปรารถนา ความหลง ความติดใจ ความยินดี ความยินดีทั่วไป ความข้อง ความติดพัน ความแสวงหา ความลวง ความให้สัตว์เกิด ความ
    ให้สัตว์เกี่ยวกับทุกข์ ความเย็บไว้ ความเป็นดังว่าข่าย ความเป็นดังว่ากระแสน้ำ ความซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ความเป็นดังว่าเส้นด้าย ความกระจายไป ความให้อายุเสื่อมไป ความเป็นเพื่อน ความตั้งมั่น เครื่องนำไปสู่ภพ ความติดอารมณ์ ความตั้งอยู่ในอารมณ์ ความสนิท ความรัก ความเพ่งเล็ง ความผูกพัน ความหวัง ความจำนง ความประสงค์ ความหวังในรูปความหวังในเสียง ความหวังในกลิ่น ความหวังในรส ความหวังในโผฏฐัพพะ ความหวังในลาภ ความหวังในทรัพย์ ความหวังในบุตร ความหวังในชีวิต ความปรารถนา ความให้สัตว์ปรารถนา ความที่จิตปรารถนา ความเหนี่ยวรั้ง ความให้สัตว์เหนี่ยวรั้ง ความที่จิตเหนี่ยวรั้ง ความหวั่นไหว อาการแห่งความหวั่นไหว ความพรั่งพร้อมด้วยความหวั่นไหว ความกำเริบ ความใคร่ดี ความกำหนัดในที่ผิดธรรม ความโลภไม่เสมอ ความใคร่ อาการแห่งความใคร่ ความมุ่งหมาย ความปอง ความปรารถนาดี กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาในรูปภพ ตัณหาในอรูปภพ ตัณหาในนิโรธ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพ ตัณหา ธัมมตัณหา โอฆะ โยคะ คันถะ อุปาทาน ความกั้น ความปิด ความบัง ความผูก ความเข้าไปเศร้าหมอง ความนอนเนื่อง ความกลุ้มรุมจิต ความเป็นดังว่าเถาวัลย์ ความปรารถนา วัตถุต่างๆ รากเง่าแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แดนเกิดแห่งทุกข์ บ่วงมาร เบ็ดมาร วิสัยมาร แม่น้ำตัณหา ข่ายตัณหา โซ่ตัณหา สมุทรตัณหา อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล เรียกว่า วิสัตติกา. คำว่า วิสัตติกา ความว่า เพราะอรรถว่าอะไร ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา. [อันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ] เพราะอรรถว่า ซ่านไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าแผ่ไป ตัณหาจึงชื่อว่าสัตติกา. เพราะอรรถว่าแล่นไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าครอบงำ ตัณหา
    จึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าสะท้อนไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้พูดผิด ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่ามีมูลรากเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่ามีผลเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าเปรียบด้วยเครื่องบริโภคเป็นพิษตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. อีกนัยหนึ่ง ตัณหานั้นแผ่ไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สกุล คณะ ที่อยู่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ ในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน แล่นไป ซ่านไป ในรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ได้ยินแล้ว กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ทราบแล้ว และในธรรมที่พึงรู้แจ้ง ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา.
    คำว่า ในโลก คือ อบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก.

    คำว่า เป็นผู้มีสติ ได้แก่เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่าง คือ เมื่อเจริญกายานุปัสสนา สติปัฏฐานในกาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เมื่อเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในเวทนาทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เมื่อเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในจิต ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เมื่อเจริญธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานในธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ.

    เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่างแม้อื่นอีก คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเว้นจากความเป็นผู้ไม่มีสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้กระทำธรรมทั้งหลายที่ควรทำด้วยสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้กำจัดธรรมทั้งหลายที่เป็นข้าศึกต่อสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หลงลืมธรรมทั้งหลายที่เป็นนิมิตแห่งสติ.

    เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่างแม้อื่นอีก คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้อยู่ด้วยสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้คล่องแคล่วด้วยสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หวนกลับจากสติ.

    เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่างแม้อื่นอีก คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ระลึกได้ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้สงบ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ระงับ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ. ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะพุทธานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะธรรมานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะสังฆานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะสีลานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะจาคานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเทวตานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะอานาปานัสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะมรณานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะกายคตาสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะอุปสมานุสสติ. ความระลึก ความระลึกถึง ความระลึกเฉพาะ ความระลึก กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค ธรรมนี้ เรียกว่า สติ. บุคคลเป็นผู้เข้าใกล้ เข้าชิด เข้าถึง เข้าถึงพร้อม เข้าไปถึง เข้าไปถึงพร้อม ประกอบ
    ด้วยสตินี้ บุคคลนั้นเรียกว่า มีสติ.คำว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้ มีความว่าเป็นผู้มีสติ ย่อมข้าม ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลย ตัณหาชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่าผู้ใด ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย เหมือนบุคคลเว้นขาดหัวงูด้วยเท้า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้.

    [๑๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่านรชนใด ย่อมปรารถนาไร่นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส คนภายในสตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก.

    [๑๖] คำว่า ไร่นา ที่ดิน เงิน มีความว่า ไร่นา คือ ไร่ข้าวสาลี ไร่ข้าวจ้าว ไร่ถั่ว
    เขียว ไร่ถั่วราชมาส ไร่ข้าวเหนียว ไร่ข้าวละมาน ไร่งา. คำว่า ที่ดิน คือ ที่เรือน ที่ฉาง ที่หน้าเรือน ที่หลังเรือน ที่สวน ที่อยู่. คำว่า เงิน คือ กหาปณะ เรียกว่า เงิน เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ไร่นา ที่ดิน เงิน.

    ว่าด้วยทาส ๔ จำพวก
    [๑๗] คำว่า โค ม้า ทาส คนภายใน มีความว่า โคทั้งหลายเรียกว่า โค. ปสุสัตว์
    เป็นต้นเรียกว่า ม้า. คำว่า ทาส ได้แก่ ทาส ๔ จำพวก คือ ทาสที่เกิดภายใน ๑ ทาสที่ซื้อมาด้วยทรัพย์ ๑ ผู้ที่สมัครเข้าถึงความเป็นทาสเอง ๑ เชลยผู้ที่เข้าถึงความเป็นทาส ๑.

    สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าคนบางพวกเป็นทาสโดยกำเนิดบ้าง คนบางพวกเป็นทาสที่เขาซื้อมาด้วยทรัพย์บ้าง คนบางพวกสมัครเข้าเป็นทาสเองบ้าง คนบางพวกเป็นทาสเพราะตกเป็นเชลยบ้าง.คำว่า คนภายใน ได้แก่ บุรุษ ๓ จำพวก คือ คนรับจ้าง ๑ กรรมกร ๑ พวกอยู่อาศัย ๑ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า โค ม้า ทาส คนภายใน.

    [๑๘] คำว่า สตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก มีความว่า สตรีที่มีเจ้าของ เรียกว่า
    สตรี. คำว่า พวกพ้อง ได้แก่ พวกพ้อง ๔ จำพวก คือ พวกพ้องโดยเป็นญาติ ชื่อว่าพวกพ้อง ๑ พวกพ้องโดยโคตร ชื่อว่าพวกพ้อง ๑ พวกพ้องโดยการเรียนมนต์ ชื่อว่าพวกพ้อง ๑ พวกพ้องโดยการเรียนศิลปะ ชื่อว่าพวกพ้อง ๑. คำว่า กามเป็นอันมาก คือ กามมาก. กามมากเหล่านี้ได้แก่ รูปที่ชอบใจ เสียงที่ชอบใจ กลิ่นที่ชอบใจ รสที่ชอบใจ โผฏฐัพพะที่ชอบใจ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า สตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก.

    [๑๙] คำว่า นรชนใด ย่อมปรารถนา มีความว่า คำว่า ใด คือ เช่นใด ประกอบ
    อย่างใด จัดแจงอย่างใด มีประการอย่างใด ถึงฐานะอย่างใด ประกอบด้วยธรรมใด คือ เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร์ คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือเป็นมนุษย์ คำว่า นรชนคือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์. คำว่า ย่อมปรารถนา คือ ย่อมปรารถนา ย่อมตามปรารถนา ย่อมปรารถนาทั่วไป ย่อมติดพัน ในวัตถุกามทั้งหลาย ด้วยกิเลสกาม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนใด ย่อมปรารถนา เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่านรชนใด ย่อมปรารถนา ไร่นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส คนภายในสตรี พวกพ้อง กามเป็นอันมาก.

    [๒๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเหล่ากิเลสอันไม่มีกำลัง ย่อมครอบงำนรชนนั้น เหล่าอันตราย ย่อมย่ำยีนรชนนั้น เพราะอันตรายนั้น ทุกข์ย่อมติดตามนรชนนั้นไป เหมือนน้ำไหลเข้าสู่เรือที่แตกแล้ว ฉะนั้น.


    ที่มา... http://www.palungjit.org/thai/index.php?cat=29



    [music]http://palungjit.org/attachment.php?attachmentid=331927[/music]

     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 30 พฤษภาคม 2008
  2. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    ผ่อนคลาย เสียง นุ่มมากกกก....ZzZzZ

    กึม..กึม...กึม...กึม....เคลิบเคลิ้ม..เคลิบเคลิ้มมมม
     
  3. Kob

    Kob เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2005
    โพสต์:
    6,161
    ค่าพลัง:
    +19,894
    พี่ผ่อนอ่านเยอะเชียว

    [​IMG] สาธุ ขออนุโมทนาคะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...