เรื่องเด่น “119 ปี เทียนพรรษา มุทิตาหลวงปู่มั่น”

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 28 มิถุนายน 2020.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    ช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งกำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ มีวันหยุดยาวหลายวันต่อเนื่องและเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา นั่นคือ วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา แน่นอนว่า คิดถึงเทศกาลเข้าพรรษาต้องคิดถึงจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นต้นแบบการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษามายาวนานกว่าร้อยปี และเป็นที่รู้จักกันในระดับนานาชาติ

    นางธนพร พูลเพิ่ม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานีกำหนดจัดงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2563 ขึ้น ระหว่างวันที่ 3-7 กรกฎาคม 2563 ซึ่งปีนี้ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 การจัดงานต่างๆ สืบสานงานประเพณีอันดีงามยังคงต้องทำอยู่ พร้อมๆ กับวางมาตรการป้องกันโรคติดต่ออย่างเข้มข้น เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานกลับไปด้วยความปลอดภัยและมีสุขภาพดี

    0b8b5e0b8a2e0b899e0b89ee0b8a3e0b8a3e0b8a9e0b8b2-e0b8a1e0b8b8e0b897e0b8b4e0b895e0b8b2e0b8abe0b8a5.jpg

    สำหรับ งานแห่เทียนพรรษาปีนี้ใช้ชื่องานว่า “อนุรักษ์เทียนพรรษา มุทิตาหลวงปู่มั่น” เพื่อเป็นการแสดงมุทิตาจิต เนื่องในโอกาสที่หลวงปู่มั่น อาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีชาติกำเนิดเป็นชาวอุบลราชธานี ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ

    งานจัดขึ้นบริเวณลานเทียนทุ่งศรีเมือง โดยมีการจัดแสดงต้นเทียนที่ได้รับรางวัล ทั้งประเภทแกะสลักขนาดใหญ่และขนาดกลาง ประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่และขนาดกลาง และเทียนโบราณ รวม 5 ต้น ได้แก่ 1.ต้นเทียนประเภทแกะสลัก ขนาดใหญ่ วัดผาสุการาม 2.ต้นเทียนประเภทแกะสลัก ขนาดกลาง วัดเลียบ 3.ต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ วัดพลแพน 4.ต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ ขนาดกลาง วัดมหาวนาราม 5.ต้นเทียนประเภทเทียนโบราณ วัดเลียบ

    ปีนี้ไม่มีการจัดขบวนแห่เทียนพรรษา แต่ใช้วิธีจัดงานภายในบริเวณทุ่งศรีเมือง โดยมีกิจกรรมต่างๆ ให้ได้รำลึกและสืบสานงานประเพณีอันยิ่งใหญ่ของชาวอุบลฯ ต่อเนื่องไม่ขาดตอน ททท. สำนักงานอุบลราชธานี ยังได้เพิ่มกิจกรรม ด้วยการเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันโพสต์ภาพถ่ายเก่าๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานแห่เทียนพรรษาที่ผ่านมา ผ่านโซเชียลมีเดีย ภายใต้แนวคิด “คิดถึงเทียน คิดถึงอุบลฯ” ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนไปจนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 โดยแบ่งช่วงเวลาส่งภาพเป็น 5 สัปดาห์ 5 หัวข้อ ได้แก่ เยือนชุมชนคนทำเทียน, เทียนประเภทแกะสลัก, เทียนประเภทติดพิมพ์, เทียนโบราณ และขบวนแห่เทียน ภาพที่ได้รับการโหวตสูงสุดจะได้รับรางวัลจาก ททท.เป็นการขอบคุณ

    8b5e0b8a2e0b899e0b89ee0b8a3e0b8a3e0b8a9e0b8b2-e0b8a1e0b8b8e0b897e0b8b4e0b895e0b8b2e0b8abe0b8a5-1.jpg

    สำหรับในวันที่ 4 กรกฎาคม 2563 มีการจัดกิจกรรมเข้าพรรษา “วิถีชุมชน ฅนเมืองเทียน” บริเวณถนนคนเดินเขมราฐ อุบลราชธานี มีการเปิดบ้านขุนภูรีประศาสน์และโรงเเรมสุขสงวน, โชว์เทียนโบราณ, นักท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมแกะเทียนถวาย 5 คุ้มวัด, การแสดงรำโชว์ 3 ชุด, การแสดงนางรำจาก ชมรมร้องเล่นเต้นรำ, นางรำจากชมรมศิลปวัฒนธรรมคนสามวัยใส่ใจสุขภาพ, นางรำจากโรงเรียนเขมราฐพิทยาคม และ นิทรรศการภาพถ่ายเทียนอำเภอเขมราฐตั้งเเต่ปี พ.ศ.2554-2562 โดยนายช่างหรั่ง-ประเสริฐ จำปาวัลย์ ช่างเทียนยอดฝีมือแห่งเมืองเขมราษฎร์ธานี (จัดโดยชมรมถ่ายภาพเขมราฐ) สำหรับผู้ร่วมงานสุภาพสตรีที่มาเที่ยวงานนี้ แนะนำให้นุ่งซิ่นมาเดินชม เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศและสามารถถ่ายภาพเป็นที่ระลึกได้

    ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานอุบลราชธานี กล่าวต่อว่า นอกจากมาชมงานแห่เทียนแล้ว นักท่องเที่ยวควรใช้โอกาสนี้เดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในจังหวัดอุบลราชธานีที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น “ผาชะนะได” อำเภอโขงเจียม ชมแสงแรกของดวงอาทิตย์ยามเช้าเป็นจุดแรกของประเทศไทย และชมทิวทัศน์แม่น้ำโขงเบื้องล่าง ซึ่งกั้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับลาว ที่มีความสวยงามเป็นอย่างมาก

    ใกล้ๆ กันคือ “ผาแต้ม” ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ปี เป็นภาพเขียนสีที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ความยาวทั้งหมดประมาณ 1,600 เมตร แบ่งออกเป็น 4 จุด คืออยู่ที่ ผาขาม, ผาแต้ม, ผาหมอนน้อย และผาหมอน โดยมีทางเดินจากหน้าผาด้านบนลงไปชมภาพเขียนสีเหล่านี้ได้สะดวก มีทั้งภาพคน สัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้ สัญลักษณ์ ลวดลายเรขาคณิต ฯลฯ ซึ่งบอกเล่าถึงพิธีกรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิตของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์

    8b5e0b8a2e0b899e0b89ee0b8a3e0b8a3e0b8a9e0b8b2-e0b8a1e0b8b8e0b897e0b8b4e0b895e0b8b2e0b8abe0b8a5-2.jpg

    “สามพันโบก” หรือ “แกรนด์แคนยอนเมืองไทย” แหล่งท่องเที่ยวที่ธรรมชาติสร้างขึ้นเป็นกลุ่มหินทรายแนวเทือกเขาภูพานตอนปลาย เรียงตัวทอดยาวเป็นสันดอนขนาดใหญ่ มีขนาดพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร ความงดงามอลังการของสามพันโบกถือเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ หินแต่ละก้อนที่ถูกกัดเซาะเว้าแหว่ง บางแห่งเกิดเป็นโพรงขนาดใหญ่จนสามารถแทรกตัวเข้าไปอยู่ได้ ส่วนไฮไลต์คือการได้ถ่ายภาพโบกที่มีชื่อว่า “มิกกี้เม้าส์” อีกทั้งมีกิจกรรมล่องเรือชมความงามของทิวทัศน์แม่น้ำโขง และรับประทานอาหารกลางวันแบบพื้นบ้าน เช่น ลาบปลา ต้มปลา ที่ร้านอาหารบริเวณสามพันโบก

    “แม่น้ำสองสี” อยู่ที่อำเภอโขงเจียม เป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติที่แม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกัน มีความแตกต่างระหว่างสีของแม่น้ำทั้งสองสาย ที่เรียกกันว่า “โขงสีปูน มูลสีคราม” จุดชมแม่น้ำสองสีมี 2 จุด คือ อยู่ริมตลิ่งหน้าวัดโขงเจียม และที่หมู่บ้านห้วยหมาก จากที่นี่มีเรือนั่งไปชมทัศนียภาพริมฝั่งโขงได้อีกด้วย

    8b5e0b8a2e0b899e0b89ee0b8a3e0b8a3e0b8a9e0b8b2-e0b8a1e0b8b8e0b897e0b8b4e0b895e0b8b2e0b8abe0b8a5-3.jpg

    นอกจากแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติแล้ว ที่อุบลราชธานียังมีวัดหลายแห่ง เช่น “วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว” หรือที่เรียกกันว่า “วัดเรืองแสง” ตั้งอยู่ที่อำเภอสิรินธร เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง โดยจำลองสภาพแวดล้อมของวัดป่าหิมพานต์ หรือเขาไกรลาสมาไว้ที่นี่ บริเวณยอดเขาจะมองเห็นพระอุโบสถสีทอง จุดเด่นของวัดคือการได้มาชมจิตรกรรมบนผนังด้านหลังของพระอุโบสถในยามค่ำคืน เป็นภาพเรืองแสงสีเขียวของต้นกัลปพฤกษ์ที่แสนงดงาม

    “วัดทุ่งศรีเมือง” ตั้งอยู่ในเขตใจกลางตัวเมืองอุบลฯ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี มีสถาปัตยกรรมอันงดงามมากมาย มี “หอไตรกลางน้ำ” เป็นหอพระไตรปิฎกที่สร้างด้วยไม้ตั้งอยู่กลางสระน้ำ มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างศิลปะของไทย ลาว และพม่า ตัวอาคารเป็นแบบเรือนไทยภาคกลางลักษณะเรือนยกพื้นสูง ผนังเป็นแป็นฝาไม้แบบเรียบ ภายในมีตู้เก็บพระธรรมลงรักปิดทอง บริเวณหลังคาเป็นทรงจั่วศิลปะไทยผสมพม่า คล้ายสถาปัตยกรรมแบบเชียงรุ้ง มีช่อฟ้าใบระกา นาคสะดุ้งและหางหงส์ ส่วนบนของหลังคาเป็นแบบ 2 ชั้น ส่วนลวดลายแกะสลักบนหน้าบันทั้ง 2 ด้านนั้นเป็นศิลปะแบบลาว บริเวณเรือนฝาปะกนด้านล่างมีลวดลายแกะสลักเป็นรูปสัตว์ประจำราศีต่างๆ ส่วนคันทวยหรือไม้ค้ำยันหลังคาสลักเป็นรูปเทพนมที่บริเวณด้านหน้าประตู นอกนั้นเป็นรูปพญานาคโดยรอบ

    8b5e0b8a2e0b899e0b89ee0b8a3e0b8a3e0b8a9e0b8b2-e0b8a1e0b8b8e0b897e0b8b4e0b895e0b8b2e0b8abe0b8a5-4.jpg

    ยังมีวัดของครูบาอาจารย์สายวัดป่าที่สำคัญ คือ “วัดหนองป่าพง” ตั้งอยู่ที่บ้านพงสว่าง หมู่ที่ 10 ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี แวดล้อมด้วยธรรมชาติอันสงบเงียบ มีบรรยากาศอันร่มรื่น เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมหรือการมาศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาในสายปฏิบัติ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2497 โดยพระโพธิญาณเถร หรือที่รู้จักกันในนาม หลวงพ่อชา สุภัทโท เป็นสถานที่ที่มีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่สนใจพุทธศาสนาเดินทางมาเยือนปีละจำนวนมาก

    “วัดสระประสานสุข” หรือวัดบ้านนาเมือง อยู่ห่างจากตัวเมืองเพียง 5 กิโลเมตร เป็นวัดที่มีชื่อเสียงทั้งในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง มีพุทธศาสนิกชนเลื่อมใสจำนวนมาก ด้วยบารมีของหลวงปู่บุญซึ่งเคร่งครัดในพระวินัยตามสายพระธรรมยุต รวมทั้งมีสถาปัตยกรรมสวยงาม มีพระอุโบสถแปลกตา สร้างเป็นรูปเรือสุพรรณหงส์ประดับตกแต่งด้วยเซรามิก ทำให้มีคนเดินทางมาชมและมาทำบุญจำนวนมาก

    เดินสายท่องเที่ยวและทำบุญกันมาหลายจุดแล้ว เมื่อมาอุบลราชธานีไม่ควรพลาดอาหารประจำถิ่นที่หารับประทานได้ง่ายๆ เช่น ในตัวเมืองอุบลฯ มีอาหารเช้ารสเลิศคือ ไข่กระทะ หมูยอ และกวยจั๊บญวน หาชิมได้จากร้านทั่วไป มีให้เลือกเกือบทุกถนน

    8b5e0b8a2e0b899e0b89ee0b8a3e0b8a3e0b8a9e0b8b2-e0b8a1e0b8b8e0b897e0b8b4e0b895e0b8b2e0b8abe0b8a5-5.jpg

    ส่วนของฝากจากเมืองอุบลราชธานี มีทั้งหมวดอาหารอย่างหมูยอ หรือเส้นกวยจั๊บเมืองอุบลฯ แท้ มีหลายแบรนด์ ทุกร้านรับประกันคุณภาพสินค้า ไม่ใส่สารกันบูด กินแล้วสบายใจ ส่วนคนชอบผักก็ต้องไม่พลาดกับแหนมเนืองเมืองนี้ ซึ่งขึ้นชื่อเช่นกัน

    8b5e0b8a2e0b899e0b89ee0b8a3e0b8a3e0b8a9e0b8b2-e0b8a1e0b8b8e0b897e0b8b4e0b895e0b8b2e0b8abe0b8a5-6.jpg

    “ทั้งนี้ สถานที่จัดกิจกรรมและสถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่ง จะมีมาตรการทางด้านสาธารณสุขให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เริ่มจากการลงชื่อเข้า-ออกสถานที่ผ่านโปรแกรมไทยชนะ หรือการเซ็นชื่อ เพื่อลดความแออัด การตรวจวัดไข้ การตั้งเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือในจุดต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทุกคน” ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานอุบลราชธานี กล่าว

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.thaipost.net/main/detail/69892
     

แชร์หน้านี้

Loading...