“ผมไม่มีธรรมะ”

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย ฐาณัฏฐ์, 2 มิถุนายน 2010.

  1. ฐาณัฏฐ์

    ฐาณัฏฐ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 มกราคม 2008
    โพสต์:
    6,197
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +4,075
    ถวัลย์ ดัชนี...“ผมไม่มีธรรมะ”
    โดย : กรุงเทพธุรกิจ
    [​IMG]

    "เวลาวาดรูปใจต้องว่าง ไม่มีตัวเรา ไม่มีรูป ไม่มีอะไร ถ้าอยากให้เป็นนั่น เป็นนี่ อย่าเขียนรูปเลย ไปเป็นพนักงานดูดส้วมดีกว่า


    เมื่อกล่าวถึง ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ที่มักจะเรียกตัวเองว่า นักวาดรูป แต่งานของเขายิ่งใหญ่อลังการเพียงใด คงไม่ต้องกล่าวถึง

    เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีโอกาสเยี่ยมชมบ้านดำ 32 หลังบนเนื้อที่ 39 ไร่ ของอาจารย์ถวัลย์ที่เชียงราย โดยมี ท่าน ว.วชิรเมธี นำทีมท่องเที่ยวไทยให้ถึงธรรม ไปดูงานศิลปะและพูดคุยเรื่องพุทธศาสนา

    อาจารย์ถวัลย์ เคยได้ทุนเรียนศิลปะที่เนเธอร์แลนด์และจบปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปะ อัมสเตอร์ดัม ระหว่างการพาดูภาพศิลปะ อาจารย์มักจะคุยติดตลกและถ่อมตัวอยู่เรื่อยๆ

    “เรามีปลาร้า ข้าวสาร เนื้อเค็มผูกไว้ให้เห็น เพื่อให้รู้อยู่เสมอว่างานศิลปะเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง “อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เล่าขณะพาชมงานศิลป์เพื่อโยงกับความจริงบางอย่างในชีวิต ซึ่งผลงานบางชิ้นเป็นฝีมือลูกศิษย์ เขาบอกว่า บางชิ้นที่เห็นเป็นแค่หนังกำพร้าที่ทำ ไม่ใช่กิจของนักวาดรูป

    เขาบอกว่า “ผมไม่ใช่ศิลปิน ถ้าเป็นศิลปิน ต้องมีค่าย มีอัลบั้ม ผมไม่มีค่าย ดังนั้นจึงเป็นได้แค่ช่างวาดรูป”
    แต่ผลงานช่างวาดรูปเช่นถวัลย์ ก็ได้รับการยอมรับระดับโลก เขาสอนศิลปะชั้นสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เขาบอกว่า “ผมไม่มีธรรมะ” แต่สิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตของเขา กลับมีธรรมะทุกลมหายใจ ไม่เว้นแม้กระทั่งการวาดรูป แม้จะมีคนถามว่า เวลาวาดรูปรู้สึกอย่างไร

    เขาบอกอีกว่า “ตอนผมวาดรูป ผมไม่มีความรู้สึก ถ้าจะวาดรูปด้วยวิธีนั้น โดยวนอยู่กับความรู้สึกเพื่อให้เป็นไปหรือไม่ให้เป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ หรือภาษาพระเรียกว่า ภาวะตัณหาหรือวิภาวะตัณหา มีการปรุงแต่ง อยากให้งานศิลปะออกงาม นั่นแสดงว่ายังมีความรู้สึก มีตัวตนเข้าครอบครอง”

    ถ้าการวาดรูปเต็มไปด้วยความอยากและความต้องการ อาจารย์ถวัลย์บอกว่า อย่าวาดดีกว่า นั่นเป็นการปรุงแต่งเบญจขันธ์ ถ้าอยากให้เป็นนั่นนี่ รู้สึกร้อน รู้สึกหนาว อย่าไปเขียนรูป ไปเป็นพนักงานดูดส้วม หรือไม่ก็ไปทำอย่างอื่น ถ้าอยากเขียนรูปต้องทำอย่างนี้

    “ถ้าจะวาดรูป ใจต้องนิ่ง มีสุญญตา รูปกับตัวเราต้องรวมเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีตัวเรา ไม่มีรูป ไม่มีอะไร เป็นมวลสารของความว่างโดยสิ้นเชิง แล้วสิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้น เป็นภาวะของจิตที่ไม่ถูกปรุงแต่ง”

    เมื่อคุยถึงเรื่องธรรมะ อาจารย์ถวัลย์ บอกว่า “ผมไม่ได้ปฏิบัติธรรม ผมเป็นฝ่ายตรงข้ามกับธรรมะ อย่างอบายมุข 6 ข้อหนึ่งบอกว่าอย่าคบคนชั่วเป็นมิตร ผมละเว้นอบายมุขได้เกือบทุกข้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยวกลางคืน แต่สิ่งที่ไม่อาจละได้คือ คบคนชั่วเป็นมิตร"

    “เพราะคนดีมันน่าเบื่อ ผมเป็นนักวาดรูป ถ้าชีวิตไม่มีรสชาติ ก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม นิพพานอะไรก็ใช่จริง ผมไม่ใช่คนเขียนรูปสวย ผมเป็นคนเขียนรูปโหด เลว และไม่ดี “ อาจารย์ถวัลย์ เล่า แล้วบอกว่า

    "การทำงานอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะบ้าอะไร ทิ้งไปให้หมด ก่อนอื่นคุณต้องมีดำริชอบ (การใช้ความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม) ถ้าคุณไม่มีดำริชอบ คุณกระจอก อย่างผมระดับกระจอกเทศ”

    หากถามว่า ทำไมภาพวาดของเขาต้องมีรูปสัตว์ อาจารย์ถวัลย์ตอบว่า ในโลกนี้ต้องมีคน สัตว์ และสิ่งของ
    “ผมเคยวาดสิ่งของหรือพืชมาบ้าง ช่างวาดรูปที่ยิ่งใหญ่ในโลกนี้จะเขียนสองอย่างคือ คนกับสัตว์ พวกที่เขียนดอกไม้ใบหญ้าต่างๆ เป็นพวกกระจอก"

    เขากล่าวเช่นนั้นและบอกว่า ในแถบตะวันออกจะมีการเขียนรูปสัตว์ ทั้งอัณฑชะโยนิ คือสัตว์ดิรัจฉานบางประเภทที่เกิดอยู่ในฟองไข่ก่อนฟักออกมาเป็นตัว ส่วนชลาพุชะโยนิคือ สัตว์ที่อยู่ในครรภ์ก่อนแล้วคลอดออกมา เป็นได้ทั้งมนุษย์และสัตว์บางประเภท และสังเสทชะโยนิ สัตว์ที่เกิดในเถ้าไคล ได้แก่ สัตว์ที่เกิดในของสกปรก เช่น หนอง ยุง แมลงบางประเภท

    อาจารย์ถวัลย์บอกว่า สิ่งที่นักวาดรูปตะวันตกไม่มีก็คือ โอปปาติกะโยนิ ภาพวาดพวกผีเปรต อสูรกาย ผีเสื้อยักษ์ เทวดา ที่เกิดจากแรงอธิษฐานของจิต พวกนี้เกิดเป็นตัวตนได้เลย

    “แม้ผมจะเคยเรียนในต่างประเทศ แต่ผมจะไม่ทำตามฝรั่ง ผมศึกษาและเรียนรู้ว่าฝรั่งคิดตัดสินใจและมีค่านิยมอย่างไร ผมเป็นคนไทย และผมเป็นคนตะวันออกที่มีวิธีคิดของผมเอง”

    ดังนั้นการเขียนภาพคนหรือสัตว์ จึงต้องมีวิธีการของตัวเอง ณ วันนี้ เขาผ่านเรื่องราวประสบการณ์ในชีวิตมากมาย อาจารย์ถวัลย์บอกว่า “มาถึงตอนนี้ผมไม่ใช่คนที่เสาะแสวงหา แต่ผมเป็นผู้พบ และดำเนินวิถีชีวิตจากการที่ผมเป็นผู้พบ”

    เขาเปรียบเปรยชีวิตตัวเองว่า ได้ขึ้นไปสู่ปลายภูเขาแล้ว และตอนนี้กำลังเดินลงไปที่หลุมฝั่งศพของตัวเอง เพราะเขาผ่านช่วงชีวิตการเสาะในวัยหนุ่มมาแล้ว จนได้พบสัจธรรมแห่งชีวิต

    แม้จะมีคนสงสัยอยู่เรื่อยๆ ว่า ทำไมต้องวาดรูปด้วยสีดำขาวอย่างเดียว อาจารย์ถวัลย์บอกว่า ไม่ได้ดำขาวอย่างเดียว แต่วาดสีขาวดำด้วย

    “ผมขึ้นมาถึงมหาวิหารแล้ว ผมได้พบความพิศวงแห่งจิตในทุกมุม ผมไม่เสาะแสวงหาแล้ว ผมพบแล้ว ฉะนั้นเวลามีคนนัดแนะว่า ให้มาเจอตรงนั้นตรงนี้ ผมบอกว่า อย่าเพิ่งพูด เพราะเมื่อวานผ่านไปแล้ว พรุ่งนี้ยังไม่มา เราจะพูดกันวันนี้และเดี๋ยวนี้ “เรื่องราวบางเศษเสี้ยวของอาจารย์ถวัลย์ที่ทำให้หลายคนฉุกคิด แม้กระทั่งการซื้อกล้วยสักหวี
    “ทุกวันนี้เวลาผมจะซื้อกล้วย ผมยังไม่กล้าซื้อทั้งหวี ผมไม่แน่ใจว่าจะอยู่จนกล้วยสุกทั้งหวีหรือเปล่า”

    แม้จะเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่หลายประโยคเต็มไปด้วยเรื่องของธรรมะสอนใจ เมื่อหลายคนเดินเข้ามาในห้องที่ตกแต่งด้วยรูปทรงอินทรีย์จากธรรมชาติ อาจารย์ถวัลย์ บอกว่า บางครั้งก็นำพวกจิ้งเหลน จิ้งจอกมาเป็นองค์ประกอบ นี่เป็นความงามทางสุนทรียะภาพของสิ่งที่ตายแล้ว

    “ผมไม่ได้คิดอะไรมากมาย ผมถึงชอบวิธีการสอนของท่านว.วชิรเมธี สอนกันง่ายๆ ไม่ต้องไปพูดถึงนรก สวรรค์ ผมเป็นลูกศิษย์ของคาร์ล อดอล์ฟ เจลเลอร์รุป คนเขียนวรรณกรรมเรื่องกามนิต ผมระลึกได้ว่า งานที่เขาเขียน ตอนกามนิตนั่งสนทนากับพระพุทธเจ้า มีการพูดถึง ใบไม้ในมือกับใบไม้ในป่าอะไรมากกว่ากัน เหมือนเช่นท่านว.วชิรเมธี บอกว่า ใบไม้ในมือจะนำเราไปสู่ความเข้าใจเรื่องอริยมรรค8"

    ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม อาจารย์ถวัลย์บอกว่า เขาเป็นนักวาดรูปธรรมดาๆ คนหนึ่ง สิ่งที่พูดออกมา ก็เพื่อสอนตัวเอง
    “ทั้งหมดผมเป็นแค่แสงหิ่งห้อยส่องก้นตัวเอง ผมไม่เที่ยวไปสอนใคร ผมแค่สอนตัวเอง”

    แสงหิ้งห้อยที่ปราดเปรื่องเช่นนี้ เมื่อมีคนถามเรื่องการศึกษาธรรมตามแนวทางท่านอาจารย์พุทธทาส อาจารย์ถวัลย์บอกว่า เคยอ่านหนังสือธรรมะเกือบทุกเล่มที่ท่านพุทธทาสเขียน ตั้งแต่คู่มือมนุษย์ ซึ่งจำได้ทุกบรรทัดที่ท่านเขียน
    ในบ้านอาจารย์ถวัลย์จึงมีตู้หนังสือของท่านพุทธทาสไว้หนึ่งตู้ เขาบอกว่า สมัยหนุ่มๆ ชีวิตยังมีความกระหายอยากอ่านหนังสือ แต่พอเป็นผู้ใหญ่ก็วาดรูปเป็นหลัก ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับการวาดรูป

    เมื่ออาจารย์ถวัลย์เห็นว่า กลุ่มที่เข้าเยี่ยมชม โดยมีท่านว.วชิรเมธีนำทีมเป็นกลุ่มปฏิบัติธรรม อาจารย์ถวัลย์ย้อนถามว่า ปฏิบัติธรรมนี่ทำยังไง

    “อย่างผมนั่งเฉยๆ ผมหายใจเข้า นั่ง นอน ยืน เดิน ผมคิดว่านี่...ปฏิบัติธรรมแล้ว ผมทำกายานุปัสสนา หายใจเข้า หายใจออก สำรวมกาย จิตและวาจา และผมก็เขียนรูป ผมมีดำริชอบ ผมคิดว่า นี่แหละคือหัวใจของการปฏิบัติธรรม เพราะปฏิบัติธรรมไม่ใช่ว่าเพ่งลงไป มองเห็นดวงแก้วใส ผมไม่รู้ปฏิบัติแบบนั้นทำไม" อาจารย์ถวัลย์ บอก และแหย่ว่า บางเรื่องพูดเล่นๆ ซึ่งเป็นอุปนิสัยของเขา เพราะสิ่งที่ท่านว.วชิรเมธีทำถูกต้องแล้ว เพราะท่านชักจูงพวกคุณมา เหมือนอาจารย์ของเขาเคยจูงพวกเขามาเหมือนควาย

    "เมื่อจูงมาถึงแล้ว จะกินหรือไม่ เป็นเรื่องของควาย เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ พาคนมาฟังแล้วคิด อย่างนี้เป็นการปฏิบัติธรรมแล้ว ผมไม่อยากบอกว่า ให้ไปเข้าแคมป์หรือเข้าค่าย เคยมีคนถามผมว่า ทำไมไม่ทำบ้านรัดหน้าท้อง

    อาจารย์ถวัลย์ถามว่า พวกคุณรู้จักบ้านรัดหน้าท้องไหม...ก็โฮมสเตย์ไง
    “ผมไม่ใช่นักบวช นักพรต ผมเป็นนักวาดรูป ผมมุ่งวิถีแห่งอริยมรรค พวกสมบัติบ้าเหล่านี้ ผมไม่จำเป็นต้องเอาเรือแบกข้ามไป ผมข้ามสังสารวัฏ จากนั้นผมเอาเรือทิ้งไว้ให้ลูกศิษย์หรือคนที่ยังไม่ข้ามใช้ แต่ไม่ว่าอย่างไรศรัทธาจริตต้องมี” <!-- / message --><!-- sig -->
     

แชร์หน้านี้

Loading...