“คิดมาก..ก็ทุกข์มาก สุขทุกข์อยู่ที่ใจ”

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย Boomsc, 2 สิงหาคม 2011.

  1. Boomsc

    Boomsc Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2010
    โพสต์:
    23
    ค่าพลัง:
    +27
    [​IMG]

    “คิดมาก..ก็ทุกข์มาก สุขทุกข์อยู่ที่ใจ”

    สนทนาธรรมโดย อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม


    กราบนมัสการ หลวงพ่อคำเขียน และพระคุณเจ้าที่เคารพอย่างสูง
    และสวัสดีญาติธรรม ผู้ที่มีจิตใจฝักใฝ่ในธรรม ผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน


    วันนี้ผมรู้สึกยินดีมาก ที่ได้มีโอกาสมาทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ให้พระธรรม
    ก็ตั้งใจว่าจะมาพูดในสิ่งที่เป็นสาระเป็นประโยชน์กับท่านผู้ฟัง
    โดยปกติแล้ว ผมไม่ค่อยจะมีโอกาสจะมาในลักษณะเช่นนี้
    คนพิการไม่ค่อยได้ออกไปไหน มักจะอยู่ในบ้าน
    จึงไม่ค่อยมีความรู้อะไรกว้างขวางนัก
    ส่วนใหญ่ก็จะรู้แต่เรื่องร่างกาย เรื่องจิต เรื่องใจ
    ของตัวเองเสียเป็นส่วนมาก เพราะคอยเฝ้าดูสิ่งนี้อยู่
    และที่ผมมาวันนี้ ก็ตั้งใจไว้ว่าจะมาพูดธรรมะในลักษณะที่มาเล่าสู่กันฟัง
    ขอให้ท่านผู้ฟังทุกท่าน จงมีความสุขในการฟังในวันนี้


    หลายท่านก็อยากจะทราบว่า ทำไมผมจึงตกอยู่ในสภาพเช่นนี้
    มันมีเหตุ มีเหตุความเป็นมา ก็จำเป็นที่จะต้องเล่าเรื่อง
    ย้อนรอยไปในอดีตสักเล็กน้อยเพื่อประกอบกับการพูดธรรมะ
    สู่กันฟังในวันนี้ คือเมื่อประมาณ 22 ปีที่ผ่านมา
    ผมเคยรับราชการเป็นอาจารย์สอนอยู่ในวิทยาลัยพละศึกษา
    จังหวัดอ่างทอง ผมรับราชการได้แค่ 3 ปี ก็โชคไม่ดี
    แล้วประสบอุบัติเหตุในขณะที่กำลังสอนว่ายน้ำอยู่
    คือ ผมได้กระโดดน้ำลงไปในสระว่ายน้ำ ในท่าที่พุ่งหลาวลงไป
    มันเกิดพลาดท่า เพราะมีความประมาทอยู่ด้วย พุ่งแรงไปหน่อย
    ศีรษะไปกระแทกถึงพื้นก้นสระ ทำให้เป็นอัมพาตไปทั้งร่างกาย
    จมไปที่ก้นสระ ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้
    ลูกศิษย์ที่อยู่ในเหตุการณ์ก็เห็นว่า อาจารย์กระโดดน้ำลงไปนานผิดปกติ
    จึงลงไปช่วยชีวิตขึ้นมาได้ แล้วก็นำส่งโรงพยาบาลกลางที่กรุงเทพฯ
    คุณหมอที่โรงพยาบาลกลาง ท่านก็ตรวจพบว่ามีกระดูกต้นคอข้อที่ 5 หัก
    แล้วไปกระทบกระเทือนถึงระบบประสาทไขสันหลัง
    ทำให้ร่างกายทั้งหมดเป็นอัมพาต แล้วก็ต้องพิการไปตลอดชีวิต


    คุณหมอก็ให้รักษาโดยการทำการผ่าตัด 2 แห่ง
    แห่งแรกคือ เอากระดูกเชิงกรานด้านซ้าย มาต่อกระดูกต้นคอที่หัก
    แล้วก็อยู่ทำกายภาพที่โรงพยาบาลกลาง ประมาณ 4 เดือน
    ก็ทำให้แขนทั้งสองข้างเริ่มเคลื่อนไหวได้บ้าง
    แต่ก็ยังไม่ค่อยแข็งแรง ความพิการถึงตอนนี้ ที่ท่านเห็นอยู่นี้ก็คือ
    แขนทั้งสองข้างเขาอ่อนแรง นิ้วมือทั้งสองข้างนี่ ก็กระดิกไม่ได้เลย
    เขาจะงออยู่ในลักษณะเช่นนี้ ตั้งแต่ต้นคอเรื่อยมาจนถึงปลายเท้า
    เขาไม่สามารถเคลื่อนไหวเองได้ จะมีอาการชาไปทั้งตัว ไม่ได้รู้สึกเจ็บ
    อย่าว่าแต่หยิกเลย เอาเข็มแทงก็ไม่เจ็บ ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้
    ทั้งปัสสาวะและอุจจาระ ต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นส่วนมาก
    ก็จะลงมานั่งบนรถเข็นที่บ้านเป็นบางโอกาส
    ก็ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยยกลงมาให้
    สรุปแล้วก็คือ อยู่ในสภาพช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
    แล้วผมก็ได้ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพเช่นนี้แหละ 22 ปี
    ตั้งแต่อายุ 24 ตอนนี้ 46 แล้ว
    ตอนเป็นใหม่ๆ รู้สึกว่า เรามีความทุกข์มาก
    มีความทุกข์ทั้งร่างกายและจิตใจ
    คิดว่าเรานี้ฝันไป คิดว่าเป็นความฝัน
    คิดว่าในโลกนี้ คงไม่มีใครมีความทุกข์หนักเท่ากับเราอีกแล้ว
    คิดไปถึงขนาดนั้น นี่คือ เรื่องในอดีต
    อดีตที่แสนหวาน ก่อนที่ผมจะมาปฏิบัติธรรม
    ก็เลยฉุกคิดได้ว่า
    ไหนๆ เราก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาพเช่นนี้ไปจนตลอดชีวิตแล้ว
    เราจะทำอย่างไรให้ชีวิตของเรามีสาระมีประโยชน์สำหรับเราขึ้นมาบ้าง
    และใช้ความพิการที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์กับตัวเราได้อย่างไร
    ถ้าเราขืนปล่อยชีวิตไปตามบุญตามกรรม ก็ต้องทุกข์ไปจนตายแน่นอน
    ผมเริ่มหาที่พึ่งภายในแล้ว แต่ก็ยังหาไม่พบ
    พอดีในช่วงนั้น คุณพ่อผมท่านก็มีความทุกข์มาก
    ก็เพราะผมนี้แหละทำให้ท่านต้องคิดมาก


    และเพราะความทุกข์ท่านก็จะหันเหชีวิตเข้าหาธรรมมะเลย
    ท่านไปศึกษา แล้วก็ไปปฏิบัติธรรมตามวัตต่างๆ
    ตามสำนักต่างๆที่เขามีการอบรมปฏิบัติธรรมะกัน
    คุณพ่อไปมาหลายแห่ง แล้วเวลาคุณพ่อกลับมานี่
    ท่านก็จะนำธรรมะมาฝากผมและครอบครัว
    ผมถือว่า ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับลูก
    เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับครอบครัว ตอนนี้ท่านก็เสียชีวิตไปแล้ว


    เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมานี้ ทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า
    สิ่งที่คุณพ่อนำมานี้ มันน่าจะมีสาระมีประโยชน์สำหรับเรา
    เราน่าจะเอาธรรมะที่คุณพ่อนำมานี้มาศึกษาและปฏิบัติ
    เพื่อให้มีขึ้นในตัวเรา
    อย่างน้อยความทุกข์ที่มีอยู่มันก็มีโอกาสที่จะลดน้อยลงไปได้
    ดีกว่าเรามานอนคิดปล่อยจิตปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน ไร้สาระเสียเวลาชีวิต
    นี้ก็เพราะความทุกข์เป็นต้นเหตุ
    ทำให้ผมเกิดศรัทธาที่จะมาศึกษาและปฏิบัติธรรมะ
    เพื่อนำตนให้พ้นไปจากความทุกข์
    ถ้าผมไม่มีความทุกข์ ธรรมะก็ไม่จำเป็นสำหรับผม
    และหลังจากนั้นผมจึงเริ่มศึกษาธรรมะจากการอ่าน
    และการฟังเป็นเวลานาน แต่ไม่เคยคิดที่จะปฏิบัติ
    นี่ถ้าโดยเฉพาะการอ่านหนังสือธรรมะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
    ทำให้คนเราบรรลุธรรมได้ ผมก็คงบรรลุธรรมไปนานแล้ว
    เพราะว่าผมอ่านๆมาตั้ง 16 ปี
    แต่ความทุกข์ก็ยัง กลุ้มรุมจิตใจผมอยู่มาก
    นี่เพราะไม่มีการปฏิบัติ

    ก็เมื่อก่อนนี้เคยมีความเห็นผิดไปว่า
    คนที่พิการในสภาพอย่างเรา คงจะปฏิบัติธรรมไม่ได้หรอก
    โดยเฉพาะในเรื่องของการทำกรรมฐาน
    เพราะการทำกรรมฐานนี้ เราต้องมีอิริยาบถสี่ ที่สมบูรณ์แบบ
    คือ การนอน การนั่ง การยืน แล้วก็การเดิน
    แต่ผมทำอย่างนั้นไม่ได้ นั่งสมาธิก็ไม่ได้ เดินจงกรมก็ไม่ได้
    และจะทำกรรมฐานได้อย่างไร ก็เคยลองฝึกดูบ้างเหมือนกัน
    คุณแม่เป็นผู้ที่สอนให้ ให้ทำแบบพุทโธ
    นอนปฏิบัติแล้วหลับตาด้วย
    เวลาหายใจเข้าก็บริกรรมว่าพุท หายใจออกก็บริกรรมว่าโธ
    ทำในสภาพนี้ จิตมันก็สงบ ต่อมาก็หลับใหลไปเลย สบาย
    พอตื่นขึ้นมาก็ยังมีความทุกข์เหมือนเดิม
    ยังเห็นความพิการติดอยู่ที่เรา ยังมีเราเป็นผู้พิการอยู่
    และทำกรรมฐานทีไร ก็หลับทุกข์ที
    เราก็มาคิดว่า กรรมฐานนี่เขาทำให้หลับรึไง
    เราจะดับความทุกข์ให้กับตัวเราเองได้ ก็เฉพาะตอนหลับรึไง
    เวลาเรามีความคิดมากๆ เครียดมากๆ
    จะทำกรรมฐานก็ไม่เป็นกรรมฐาน มันยิ่งเบื่อยิ่งอึดอัดขัดเคือง
    ท้อถอยความเพียร ยิ่งเครียดหนักเข้าไปใหญ่
    สู้การอ่านหนังสือธรรมะไม่ได้
    เรายังเพลิดเพลินไปกับการอ่าน ยังรู้ธรรมะจากหนังสือบ้าง
    เราทำกรรมฐานหลับตาแล้วหลับก็ไปเลย ไม่รู้อะไรเลย
    การทำกรรมฐานนี่
    ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์คอยเป็นกัลยาณมิตรให้การแนะนำ
    เราก็มักจะทำแบบหลงทิศหลงทาง
    จะมีแต่ความสงสัย ลังเลใจ จะไม่มั่นใจในการปฏิบัติ
    ผมเห็นว่าครูบาอาจารย์สำคัญมาก
    ผมเองก็อยากมีครูบาอาจารย์
    เมื่อสมัยก่อน จึงเขียนจดหมายไปกราบเรียนถามหลวงพ่อคำเขียน
    เพื่อขอให้ท่านแนะนำ วิธีการปฏิบัติธรรม สำหรับผู้พิการ
    ที่มีอิริยาบถเดียว คือ นอน
    หลวงพ่อท่านก็เมตตาตอบจดหมายมายังผม
    พร้อมทั้งแนะนำวิธีการทำกรรมฐานให้กับผม
    คือหลวงพ่อท่านให้ผมทำสติปัฏฐาน 4 ในอิริยาบถนอน
    ก็คือ การเจริญสติไปกับการเคลื่อนไหวนี่เอง

    หลวงพ่อท่านแนะนำว่าความรู้สึกตัวนี่ แม้แต่จะนอนอยู่ก็ปฏิบัติได้
    ให้เรามากำหนดรู้ วิธีการ พลิกมือเล่นไปมา ก็ให้รู้สึกตัวไป
    เวลามันเกิดความคิดก็อย่าไปตามความคิด
    ให้กลับมากำหนดรู้อยู่ที่กาย มีเจตนารู้อยู่ที่กายอย่างเดียว
    ให้ขยันสร้างตัวรู้ให้มากๆ การขยันสร้างตัวรู้นี้แหละ เรียกว่าการภาวนา
    ถ้ามันเกิดความสงบ หลวงพ่อท่านก็ว่า อย่าไปเอาความสงบ
    ให้ขยันรู้สึกตัว นี่คือกรรมฐาน อาศัยการกระทำอย่างนี้เรื่อยๆไป
    ถ้าเรามีความรู้สึกตัวมาก ความหลงจะลดน้อยไปหรือหมดไปเอง
    ทำให้เราเกิดธรรมวิจยะ เป็นรูปธรรมนามธรรมไปเอง
    เวลาปฏิบัตินี้หลวงพ่อท่านเน้นว่า ให้เป็นผู้ดู อย่าเข้าไปอยู่
    อย่าเข้าไปเป็นกับอะไร
    มีอะไรเกิดขึ้นกับกายกับจิตใจเราก็ให้เราดูรู้แจ้งเข้าไป

    บางทีมันเกิดความสุข ท่านก็ว่าไม่ให้เอาความสุขอีก
    ให้เห็นสักแต่ว่าความสุขเท่านั้น และตรงกันข้าม
    ถ้ามันเกิดความทุกข์ก็อย่าเข้าไปเป็นผู้ทุกข์
    ให้เห็นสักแต่ว่าคือทุกข์
    ถ้ามันเกิดอาการเบื่ออึดอัดขัดเคืองในจิตใจละก็ นั่นคืออาการของจิต
    อย่าเข้าไปเป็นกับอะไร
    ให้ขยันปฏิบัติไป ก็จะเกิดญาณปัญญาขึ้นเรื่อยๆ
    ทุกวันนี้ผมก็ได้อาศัยกรรมฐานบทนี้แหละ
    มาเป็นเครื่องอยู่ของชีวิตจิตใจของผม
    กรรมฐานบทนี้สามารถเปลี่ยนชีวิตจิตใจของผมไปในทางที่ดีได้

    ทีนี้ท่านผู้ฟัง ก็จะได้ทราบว่า คนพิการในสภาพเช่นนี้น่ะ
    เขาเจริญสติอย่างไร แล้วท่านผู้ฟังก็สามารถนำเอาไปปฏิบัติได้
    ปฏิบัติแบบคนพิการนี้ก็ทำได้
    การเจริญสติไปกับการเคลื่อนไหวนี้นะ ทำง่ายๆ ไม่ต้องมีพิธีรีตรองอะไร
    ไม่ต้องหลับตา ไม่ต้องใช้คำบริกรรม
    และที่สำคัญไม่ต้องใช้ความคิดด้วย ทำได้ทุกๆคนเลย
    เพราะว่าหลักธรรมคำสอนในทางพุทธศาสนา


    ทีนี้ท่านผู้ฟัง ก็จะได้ทราบว่า คนพิการในสภาพเช่นนี้น่ะ
    เขาเจริญสติอย่างไร แล้วท่านผู้ฟังก็สามารถนำเอาไปปฏิบัติได้
    ปฏิบัติแบบคนพิการนี้ก็ทำได้ การเจริญสติไปกับการเคลื่อนไหวนี้นะ
    ทำง่ายๆ ไม่ต้องมีพิธีรีตรองอะไร ไม่ต้องหลับตา ไม่ต้องใช้คำบริกรรม
    และที่สำคัญไม่ต้องใช้ความคิดด้วย ทำได้ทุกๆคนเลย
    เพราะว่าหลักธรรมคำสอนในทางพุทธศาสนาถือว่า เป็นหลักสากล
    ปฏิบัติได้ไม่เลือกเพศ วัย ชาติชั้น วรรณะ
    นับถือศาสนาอะไร อาชีพอะไร คนปกติหรือพิการก็ย่อมปฏิบัติได้
    นี่แหละคือหลักสากล
    ลองนำไปปฏิบัติดูสิ จะมีแต่ประโยชน์ส่วนเดียว
    อย่างผมเองก็เริ่มต้นโดยการนอน
    แล้วก็พลิกมือข้างขวาได้เพียงข้างเดียวเท่านั้น
    เริ่มต้นใหม่ๆ พลิกมือหงาย ก็ให้มีสติเข้าไปรู้ พลิกมือคว่ำนี้ก็ให้รู้
    พลิกมือหงายนี้ก็ให้รู้ พลิกมือคว่ำนี้ ก็ให้มีสติเข้าไปรู้
    ให้รู้ทุกครั้ง ที่มือเขาพลิกหงายพลิกคว่ำ
    ให้รู้เฉยๆ ไม่ต้องหลับตา ไม่ต้องมีคำบริกรรม
    แล้วก็ไม่ต้องใช้ความคิดอะไร แต่เวลาเราไม่ได้ใช้ความคิดนี่
    ถ้าเราปฏิบัติ มันก็มีความคิดเกิดขึ้นเหมือนกัน
    การทำกรรมฐานนี้ ย่อมมีความคิดเป็นธรรมดา
    แต่เราก็ไม่ตามความคิด เราเพียงแต่รู้เฉยๆ
    ทำใหม่ๆนี่ สติก็ไม่ค่อยจะมี
    เรามักปล่อยจิตปล่อยใจให้หลงตามความคิดไป
    ปล่อยจิตปล่อยใจให้ออกนอกอารมณ์กรรมฐาน
    แต่พอเรามีสติเกิดขึ้น
    สตินี้แหละสามารถดึงจิตเรากลับมาตั้งอยู่บนอารมณ์กรรมฐานใหม่
    มันก็เกิดการชักกะเย่อกันอยู่อย่างนี้แหละ
    ระหว่างความคิดลากเอาไป สติดึงกลับมา
    มันเป็นประสบการณ์บางครั้งพอเราทำไป มันเกิดความง่วง
    นี้เป็นเรื่องธรรมดานะ
    การทำกรรมฐาน คนที่เคยปฏิบัติจะเข้าใจ
    ย่อมจะมีความง่วงเป็นธรรมดา
    เพราะความง่วงมันเป็นเพื่อนที่แสนดีสำหรับพวกเราทุกคนอยู่แล้ว
    แต่เราไม่ยอมจำนนกับความง่วง
    เรามีวิธีการแก้ไข คือ พลิกมือให้มันเร็วขึ้น แรงขึ้น
    เป็นการปลุกสติให้มันตื่นขึ้น มันจะได้ไม่ง่วง
    นี่คือ ประสบการณ์หนึ่งอีกเหมือนกัน
    ทำใหม่ๆ อุปสรรคมันก็มีมาก

    คนพิการนี้ อุปสรรคมีมาก แต่ก็ฝืนทนทำไปก่อน
    กรรมฐานนี้ล้มลุกคลุกคลาน
    ต้องตั้งต้นกันใหม่อยู่เรื่อยๆ แต่ก็ฝืนทนทำไปก่อน
    เพื่อให้มันเกิดความเคยชิน
    ถ้าเราทำจนเคยชินแล้ว เดี๋ยวมันจะเป็นไปเอง
    ไม่คิดท้อแท้ มันท้อไม่ได้หรอก
    ท้อแล้วเดี๋ยวกลับไปทุกข์เหมือนเดิม
    เดิมพันมันสูงตรงนี้แหละ ทำอยู่มือข้างเดียวข้างขวานี้แหละ
    ทำนานๆ มันก็ปวดๆมาก มันจะเกิดทุกขเวทนาทางกายแล้ว
    ปวดจนกระทั่งนอนไม่หลับ
    คือ ไม่รู้จะวางมือไว้ตรงไหนถูกนอนตั้งมือ แล้วก็หลับก็มี
    ทีนี้พอเรามาหัดมือข้างซ้ายดูบ้าง
    มือข้างซ้ายนี้แหละ เขาอ่อนแรงอยู่แล้ว พลิกไม่ค่อยถนัด
    แต่เราก็พยายามฝืน พยายามพลิก ให้รู้สึกตัวไป
    พอทำไปนานๆเข้า เราก็พลิกง่ายขึ้น
    ทำให้แขนซ้ายแข็งแรงขึ้นด้วย
    เมื่อก่อนจะยกแขนซ้าย ต้องเอามือขวาช่วยจับ
    เดี๋ยวนี้สามารถยกชูได้นะ สติก็ได้ ร่างกายก็แข็งแรง
    ทีนี้พอเราทำกรรมฐาน เป็นแล้ว
    เรามีสติแล้ว เรามีประสบการณ์แล้ว
    ก็พยายามสรรหาอิริยาบถใหม่ๆ ให้กับตนเอง
    คนพิการ อิริยาบถก็มีจำกัด การเคลื่อนไหวก็มีได้น้อย
    เราก็ค่อยดูว่า ร่างกายส่วนไหนที่ไม่พิการหรือพิการน้อย
    เราก็จะเอาส่วนนั้นมาเคลื่อนไหว และก็ให้มีสติเข้าไปรู้เอาไว้


    ในร่างกายของผมนี้
    นอกจากแขนทั้งสองข้างที่พอจะเคลื่อนไหวได้แล้ว
    ก็มีส่วนศีรษะนี้ ส่วนนี้เป็นปกติมาก ก็เอาส่วนนี้มาเคลื่อนไหว
    แล้วก็ให้มีสติ กำหนดรู้เอาไว้
    ยกตัวอย่าง เอียงซ้ายนี่ก็ให้รู้ เอียงขวาก็ให้รู้
    เหลียวซ้ายแลขวา ก้ม เงย นี้ก็ให้รู้ กระพริบตาก็ให้รู้
    ยักคิ้วนี้ก็เจริญสติได้นะ ขยับจมูก ขยับปาก
    แม้แต่กระดิกหูนี้ ก็เจริญสติได้ ลองทำดูสิ
    คือ ให้สติมันโคจรไปทั่วร่างกายที่เขาเคลื่อนไหวได้
    ให้มีปัจจุบันอยู่ในตัวเรานี้ ไม่ให้ออกนอกตัวไปไหน


    ผมเห็นญาติธรรมบางท่าน นั่งฟังไปด้วย ยักคิ้วไปด้วย….
    ทีนี้พอเราทำจนชำนิชำนาญแล้ว
    เราก็พยายามทำให้ต่อเนื่องในทุกอิริยาบถ
    การปฏิบัติกรรมฐานนี่ กรรมฐานจะให้ผล
    เราต้องพยายามทำให้ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ แล้วปัญญาจะเกิดขึ้น
    เพราะปัญญาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้
    ก็ต่อเมื่อเรามีสติตามรู้ในทุกอิริยาบถตลอดทั้งวัน
    นี่คือปัญญาที่เกิดจากการภาวนาไม่ใช่ปัญญาเกิดจากการนึกคิด
    หาเหตุผล ไม่ใช่อย่างนั้น

    เราลืมตาตื่นขึ้นมาตอนเช้า ให้เรารู้สึกตัวทันที
    จะพลิกซ้าย จะพลิกขวา จะพับผ้าห่ม ก็พยายามเติมสติลงไป
    จะแปรงฟัน ล้างหน้า เช็ดหน้า ทานข้าว ดื่มน้ำ
    ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ แต่งเนื้อแต่งตัวหรือเข็นรถไปมา
    ก็พยายามเติมสติลงไปในอิริยาบถเหล่านี้
    และสติมันเต็มเนื้อเต็มตัวเราไปหมด
    เราต้องมีเจตนาที่จะเคลื่อนไหว เพื่อให้สติมันเกิด
    สตินี้จะเกิดขึ้นได้ เราต้องสร้างขึ้นมา
    เราทำเหตุตรงนี้ให้มากๆก่อน คือ การขยันสร้างสติ สร้างตัวรู้
    แล้วเรื่องผล ไม่ต้องคำนึงถึง มันจะเกิดขึ้นมาเอง


    พอเราทำไปนานๆเข้า มันก็เพลิดเพลินไปกับการปฏิบัติ
    มันขยัน มันกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติอยู่เรื่อยๆ
    พุทธภาษิตท่านกล่าวไว้ว่า คนมีสติย่อมขยัน

    การทำกรรมฐานนี้ มันมีรสชาติมาก
    ซึ่งมีรสชาติมากกว่าการอ่านหนังสือธรรมะหรือฟังธรรมะอีก
    เทียบกันไม่ติดเลย เพราะจิตใจของเรา
    สามารถเข้าไปสัมผัสกับสภาวธรรมจริงๆ เป็นธรรมชาติ เป็นสันทิฐิโก
    สันทิฐิโกนี้ ก็แปลว่า พระธรรมเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ
    พึงเห็นได้ด้วยตนเอง นี้เราสัมผัสผลเลย
    พอเราทำไปนานๆ นานวันๆ สติเขาก็มีการวิวัฒน์พัฒนาตัวเขาขึ้นมา
    จนมีมากขึ้นๆกลายเป็นมหาสติ จะเริ่มมีกำลังแก่กล้าจะเป็นใหญ่
    มีอำนาจอยู่เหนือตัวเรา
    จิตใจที่เคยชอบครุ่นคิดวุ่นวายไปในอารมณ์ต่างๆ
    อดีตก็ดี อนาคตก็ดี เมื่อเขาได้สัมผัสกับสตินานวันเข้านี่
    ทำให้เขาสงบ เย็นลงได้


    นี้ก็ได้อาศัยสติไปกับการเคลื่อนไหว
    เป็นหลักของกรรมฐานเพื่อล่ามจิตล่ามใจ
    ให้เป็นปกติสุขได้ในปัจจุบัน จิตเชื่องแล้ว ก็ทำให้เกิดธรรมะวิจยะ
    เกิดญาณปัญญา เห็นแจ้งในเรื่องเกี่ยวกับตัวเรา
    การเห็นแจ้งนี้ เราไม่ได้ไปเห็นแจ้งที่ไหน
    ไม่ได้ไปเห็นแสง เห็นพระพุทธเจ้า เห็นเลข เห็นเบอร์ ไม่ใช่
    อันนั้นไม่ใช่ของจริง เราเฝ้าดูตัวเราเองอยู่
    เราก็ย่อมเห็นแจ้งในสัจธรรมที่มีในตัวเรา
    สติสัมปชัญญะหรือตัวปัญญานี้แหละ คือ ผู้ที่เห็นแจ้ง
    เรามาปฏิบัติธรรม
    ก็เพื่อให้เราได้รู้ได้เห็นได้เข้าใจตัวเราอย่างชัดเจนเท่านั้น
    นี่คือจุดมุ่งหมาย


    ขั้นต้นเราจะเห็นว่า ชีวิตของเรานี้ประกอบไปด้วยส่วน 2 ส่วน
    คือ ส่วนของกาย กับ ส่วนของจิต นี่แหละคือ ตัวเรา
    ส่วนของกายคือรูปธรรม ส่วนของจิตใจคือนามธรรม
    สรุปแล้วมี 2 อย่าง เท่านั้น ในชีวิตเรา
    คือ มีกายกับจิต ที่มิใช่ส่วนเดียวกัน แต่เขาอาศัยกันอยู่
    ขั้นต่อมา เราก็จะเห็นว่าธรรมชาติของร่างกายเป็นอย่างไร
    ธรรมชาติของจิตใจเป็นอย่างไร อาการของกายเป็นอย่างไร
    อาการของจิตใจเป็นอย่างไร ความคิดเป็นอย่างไร
    ความรู้สึกตัวเป็นอย่างไร จะเห็นแจ้งวนเวียนในสิ่งเหล่านี้แหละ
    ใครปฏิบัติอย่างนี้ก็ต้องเห็นอย่างนี้
    เพราะธรรมะแท้นี้ ต้องรู้ต้องเห็นในสิ่งเดียวกัน
    ธรรมะแท้ๆต้องรู้กันได้ และเห็นกันได้ ทั้งผู้พูดและผู้ฟังด้วย
    จึงจะเป็นธรรมะแท้ ถ้าผู้ปฏิบัติมามีสติเป็นผู้ดู เป็นผู้เห็น
    แต่ก็ไม่ได้เข้าไปเป็นกับกาย ไม่ได้เข้าไปเป็นกับจิต
    และก็ไม่ได้เข้าไปเป็นกับความคิด ไม่เข้าไปเป็นกับอะไร
    เป็นเพียงผู้ดู ผู้รู้ ผู้เห็นตามหน้าที่เท่านั้น


    เรามีหน้าที่อะไรก็ทำตามหน้าที่ ทำตามสมมุติที่เขามอบหมายให้
    จิตใจของผู้ปฏิบัติจะเป็นอิสระมาก จะเป็นปกติ
    จะไม่ตกเป็นทาสของความคิดและก็อารมณ์ต่างๆที่มาปรุงแต่ง
    จะทำให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติ คือ มั่นใจในชีวิตมาก
    พอถึงจุดนี้แล้วมันจะเกิดการเปลี่ยนชีวิตใหม่เลยนะ
    เปลี่ยนใหม่แล้ว เป็นการเปลี่ยนทางด้านจิตใจ
    ไม่ใช่เปลี่ยนทางด้านร่างกาย เป็นชีวิตใหม่ในร่างเก่า



    ทุกวันนี้ ผมก็ได้อาศัยในร่างกายที่พิการนี้แหละ เคลื่อนไหวไปมา
    ผมอาศัยเขาเคลื่อนไหวไปมา
    เพื่อให้มีสติเข้าไปรู้เป็นปัจจุบัน ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต
    ก็จะทำอยู่อย่างนี้แหละ จะทำให้เป็นอาชีพเลย
    จะใช้ความพิการที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ถึงที่สุด
    พาเราไปสู่ความพ้นทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง


    ผมคิดว่าคุ้มค่าแล้ว ที่ผมได้ใช้ชีวิตที่พิการมา 22 ปี
    ความทุกข์และอุปสรรคต่างๆ
    มันกลับกลายมาเป็นอุปกรณ์สอนให้ผมได้เรียนรู้อะไรต่างๆ
    เกี่ยวกับชีวิตของผมมากมาย
    เพราะความทุกข์นี้แหละ ท่านผู้ฟัง
    ทำให้ผมได้พบหนทางแห่งความดับทุกข์กับตนเอง
    ขณะนี้ผมไม่ปฏิเสธแล้ว ความทุกข์ ต้องขอบคุณเขา
    ทำให้เราได้มาปฏิบัติธรรม ได้รู้จักกับธรรมะ
    ความพิการ ครั้งแรกนึกว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเจริญสติ
    แต่พอผมปฏิบัติไป ก็ได้พบอุปสรรคเข้าจริงๆ
    และก็ได้เปลี่ยนอุปสรรคมาเป็นอุปกรณ์ที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติไปเลย
    มีหลายอย่าง ที่จริงแล้วรายละเอียดเรื่องการปฏิบัติมีมาก แต่เวลามีน้อย



    ท่านผู้ฟังที่เคารพ ผมเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่า
    จะได้มาใช้ชีวิตที่พิการอย่างนี้
    จะได้มาอาศัยอยู่ในร่างกายที่พิการอย่างนี้
    ซึ่งโลกแห่งจินตนาการของผมมันไม่ใช่อย่างนี้หรอก
    ความไม่แน่นอนของชีวิตมันได้เกิดปรากฏชัดเจนกับตัวผมแล้ว
    ดังที่ทุกท่านได้มองเห็นอยู่นี้
    และท่านผู้ฟังที่มีร่างกายเป็นปกติ
    ผมก็ขออวยพรให้ท่านจงเป็นปกติอย่างนี้ตลอดไป


    แต่ว่าอย่าได้ประมาทในความมีความเป็นของเราอยู่
    ใครจะทราบได้บ้างว่า วันเวลาข้างหน้า
    จะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับเราบ้าง เพราะฉะนั้นไม่ควรประมาท


    ความไม่ประมาทนี้ก็คือ การมีสติอยู่ทุกเมื่อ
    หรือว่ามีสติเป็นหน้ารอบ
    สติ สติ นี้ ทุกๆท่านก็มีอยู่แล้ว ถ้าท่านผู้ฟังไม่มีสติ มาที่นี่ไม่ได้หรอก
    แต่ว่าเป็นสติตามธรรมชาติ ที่ธรรมชาติเขาให้มา
    ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาชีวิตเราได้
    เราจึงต้องมาพัฒนาสติตัวนี้ให้มีมากขึ้นๆ จนกลายเป็นมหาสติ
    จะทำหน้าที่ดึงเอาปัญญามาใช้ แก้ปัญหาชีวิตเราได้อย่างสิ้นเชิง


    การพัฒนาสตินี้ ท่านก็ไม่ต้องไปหาจากที่ไหนหรอก
    เอากายเอาจิตที่มีอยู่ของเรานี้แหละ มาเป็นฐานที่ตั้งของสติ
    เอากายเอาจิตของเรานี้แหละมาเป็นอุปกรณ์
    มาเป็นโรงงานเพื่อผลิตสติให้กับเรา
    ถ้าท่านทำให้มาก ทำบ่อยๆ ทำจนชำนิชำนาญ แล้วละก็
    ท่านจะมีที่พึ่งภายใจอันประเสริฐ แล้วจะเป็นอริยทรัพย์ที่ไม่มีวันหมด
    ผมเองซึ่งเป็นผู้ที่มีร่างกายพิการ
    ปฏิบัติใหม่ๆ ก็ทำได้เพียงนอนพลิกมือข้างขวา
    แล้วเอาสติตามรู้ เพียงรู้เท่านี้เท่านั้น
    ก็ยังปฏิบัติจนได้รับผล เป็นที่น่าพอใจ คือ ความทุกข์มันลดน้อยลง
    แต่ถ้าเป็นท่านผู้ฟัง ผู้ที่มีร่างกายเป็นปกติ
    แล้วก็ยังมีสติสัมปชัญญะ ดีอยู่ ก็ย่อมที่จะปฏิบัติ
    และก็ได้รับผลดียิ่งกว่าผมอีกหลายเท่านัก ไม่เหลือวิสัยนะ
    คนพิการยังทำได้เลย


    ท่านมีโอกาสดีแล้ว ให้เริ่มปฏิบัติเสียแต่บัดนี้
    ไม่ต้องรอให้พิการอย่างผมก่อนหรอก
    ถ้าพิการอย่างผมนี่ อุปสรรคมันจะมีมาก
    บางทีมันท้อแท้หมดกำลังใจไปเลย
    พระพุทธเจ้าท่านตรัสเป็นพุทธภาษิตไว้ว่า
    คนมีสติเท่ากับมีสิ่งนำโชคอยู่ตลอดเวลา
    แต่จะนำโชคอย่างไร ขนาดไหนนั้น ขอเชิญท่านมาพิสูจน์ดูได้



    เอาละ วันนี้ ผมก็ได้ใช้เวลามาทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ให้พระธรรม
    ได้พูดในสิ่งที่เป็นสารประโยชน์ ก็หวังว่าท่านผู้ฟัง
    คงจะได้รับประโยชน์ในการรับฟังครั้งนี้บ้างไม่มากก็น้อยนะ
    ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา


    ท้ายที่สุดนี้ ขอความมีดวงตาเห็นธรรม
    นำตนให้พ้นทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์
    กล่าวคือ มรรค ผล นิพพาน
    จงได้บังเกิดแก่ญาติธรรม ทุกท่านทุกคนเทอญ


    ถอดเทปมาตอนหนึ่งจาก
    “คิดมาก…ก็ทุกข์มาก สุขทุกข์อยู่ที่ใจ”

    บรรยายธรรม โดย หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ
    อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม และ นายแพทย์กำพล พันธ์ชนะ

    ณ ห้องต้นเจ้าพระยา แฟรี่แลนด์สรรพสินค้า จ. นครสวรรค์

    วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2544


    โพสโดย พุทธธรรม รวบรวมธรรมะแก่นแท้
     

แชร์หน้านี้

Loading...