(๙) สิ้นโลก เหลือธรรม: ฌาน

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 21 มกราคม 2011.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ฌาน แปลว่า เพ่ง คือจะเพ่งเอาดิน น้ำ ไฟ ลมเป็นอารมณ์ของภายนอก หรือเอาของภายในกายของตัวเอง หรือจะเพ่งจิตเป็นอารมณ์ก็ตาม ได้ชื่อว่า "เพ่ง" ด้วยกันทั้งนั้น จิตที่เพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว ไม่ไปเอาอารมณ์อื่นมาเกี่ยวข้อง นั้นแหละ เป็นการข่มกิเลสด้วยเาน

    ฌาน เมื่อจิตถอนออกจากฌานแล้วกิเลสที่มีอยู่ก็ฟูขึ้นตามเดิม ท่านอธิบายไว้ชัดเลยว่า ฌานมีองค์ ๕ คือ วิตก ๑ วิจาร ๑ ปีติ ๑ สุข ๑ เอกัคคตา ๑

    เมื่อจะเป็นฌานก็มี ภวังคบาท ภวังคจรณะ ภวังคุปัจเฉท

    เมื่อเข้าถึงฌานแล้วละกิเลสได้ ๕ คือ กามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑ อุทธัจจกุกกุจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑ (แท้จริงเป็นเพียงแต่ ข่ม มิใช่ ละ) แต่ท่านไม่ได้อธิบายไว้ว่าฌานอะไร ละกิเลสได้เท่าไร นักปฏิบัติโปรดได้พิจารณาด้วย ถ้าเห็นในที่ใดแล้ว กรุณาบอกไปยังผู้เขียนด้วย ผู้เขียนยินดีฟังเสมอ

    ความรู้อันเกิดจากฌานนั้น ถ้าผู้นั้นเคยได้บำเพ็ญมาแต่ชาติก่อนก็จะเกิดความรู้ต่างๆ นานาหลายอย่าง แต่ความรู้นั้นมักจะเป็นไปในการส่งออกไปข้างนอก โดยมากจับเอาจิตผู้ส่งออกไปรู้ไม่ค่อยได้ เหมือนกับตามองเห็นรูป แต่ตาไม่เคยเห็นตาตนเองเลย เช่น รู้เห็นอดีต อนาคตของตนเองแลคนอื่น ว่าตนเองแลคนนั้นคนนี้เคยมีชาติภูมิเป็นอยู่อย่างนั้นอย่างนี้ เคยมีสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่ทราบว่าลำดับภพชาติแลในระหว่างนั้นได้เป็นอะไร ดังนี้เป็นต้น แต่หาได้รู้ละเอียดไปถึงตัวเราแลคนนั้นได้ทำกรรมอะไรไว้จึงได้ไปเกิดเช่นนั้นไม่ แลเมื่อจะรู้จะเห็นก็ต้องจิตเข้าถึงภวังค์ มีอาการคล้ายๆ กับคนจะนอนหลับเคลิ้มไป หรือหายเงียบไปเลยแล้วเกิดความรู้ขึ้นในขณะจิตเดียวเท่านั้น

    สมาธิ นั้นจะจับเอาคำบริกรรมของฌานดังอธิบายมาแล้วนั้นก็ได้ หรือจับเอาอันอื่นที่มาปรากฏแก่จิตของตนก็ได้ เช่น เดินไปเห็นเขาทำทารุณกรรมแก่สัตว์หรือมนุษย์อย่างสาหัส แล้วเกิดความสงสารเป็นอย่างยิ่งแก่สัตว์เหล่านั้น เป็นต้น แล้วจับเอามาพิจารณาจนเห็นชัดแจ้งว่า มนุษย์แลสัตว์เกิดมามีแต่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน สัตว์ตัวน้อยแลมีอำนาจน้อยย่อมเป็นเหยื่อของการเบียดเบียนของสัตว์ตัวใหญ่ แลมีอำนาจมากอยู่อย่างนี้หาได้มีที่สิ้นสุดไม่ ตราบใดโลกนี้ยังเป็นโลกอยู่ แล้วเกิดมีความสลดสังเวชในสัตว์เหล่านั้นพร้อมทั้งตัวของเรา ซึ่งก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่งของโลกเหมือนกับเขา จิตก็สลดหดหู่เหมือนขนไก่ถูกไฟฉะนั้น แล้วก็รวมเข้ามาเป็นสมาธิ

    พูดง่ายๆ เรียกว่า ฌาน พิจารณาบริกรรมเพ่งพยายามเพื่อให้จิตรวม เมื่อจิตรวมแล้วก็ยินดีกับสุขสงบของฌานนั้น ไม่อยากพิจารณาธรรมอะไรอีก สมาธิก็พิจารณาเช่นเดียวกัน แต่พิจารณาให้เห็นสิ่งนั้นๆ ให้เห็นสภาพตามความเป็นจริงของมันอย่างไร จิตจะรวมหรือไม่รวมก็ไม่คำนึงถึงมีแต่เพ่งพิจารณาให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงของมันก็แล้วกัน ด้วยอำนาจจิตที่แน่วแน่ในอารมณ์อันเดียวนั้นแหละ จิตเลยเป็นสมาธิไปในตัวมีลักษณะเหมือนกับนั่งสงบอยู่คนเดียว แต่จิตยังฟุ้งซ่านอยู่ ขยับออกไปนั่งอยู่อีกแห่งหนึ่งซึ่งอากาศโปร่งดี จิตใจก็เบิกบาน แล้วอารมณ์ภายในจิตก็หายหมดไม่วุ่นวาย ฉะนั้น

    เมื่อมันจะเกิดความรู้อะไรขึ้นมาในที่นั้น มันก็เกิดขึ้นมาอย่างฌานนั้นแหละ แต่มันไม่หลงลืมตัว รู้แลเห็นอย่างคนนั่งดูปลาหรืออะไรว่ายอยู่ในตู้กระจกฉะนั้น แลเมื่อจะเกิดถ้าผู้ชำนาญในการเข้าสมาธิแล้ว ไม่เลือกกาลเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน ย่อมรู้ได้ทุกเมื่อ อย่างพระโมคคัลลานะ ท่านลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏ เห็นเปรตตัวหนึ่งยาว ๓ คาพยุต มีปากเท่ารูเข็ม ท่านอดยิ้มไม่ได้ ท่านจึงยิ้มอยู่คนเดียว หมู่ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้นจึงถามท่านท่านก็ไม่บอก แล้วบอกว่าท่านทั้งหลายจะรู้เรื่องนี้ในสำนักของพระพุทธเจ้า เมื่อไปถึงสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านจึงกราบทูลพระพุทธองค์ว่า "ข้าพระพุทธเจ้าลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏ เห็นเปรตตัวหนึ่งยาว ๓ คาพยุต มีปากเท่ารูเข็ม กินอะไรเท่าไรก็ไม่อิ่ม" พระพุทธองค์ตรัสว่า "ดีแล้วๆ โมคคัลลานะเป็นสักขีของเรา เปรตตัวนี้เราเห็นแต่เมื่อเราตรัสรู้ใหม่ๆ วันนี้โมคคัลลานะมาเป็นพยานของเรา"

    สมาธิ เมื่อจะเข้าต้องมีสมาธิเป็นเครื่องวัด เมื่อจิตฝึกหัดอยังไม่ชำนาญมันจะรวมได้เป็นครั้งเป็นคราวนิดๆ หน่อยๆ เรียกว่า "ขณิกสมาธิ" ถ้าหากฝึกหัดจิตค่อยชำนาญหน่อย จิตจะรวมเป็นสมาธิอยู่ได้นานๆ หน่อยเรียกว่า "อุปจารสมาธิ" ถ้าฝึกหัดจิตได้เต็มที่แล้ว จิตจะรวมเข้าเป็นสมาธิเต็มที่เลยเรียกว่า "อัปปนาสมาธิ" แต่จิตจะเกิดรู้แต่เฉพาะจิตที่เป็นอุปจารสมาธิเท่านั้น สมาธิอื่นจะไม่เกิดเลย แลเมื่อเกิดก็มักเกิดเป็นไปเพื่อเตือนแลสอนตนเองเป็นส่วนมาก

    เช่น ปรากฏเห็นเป็นอุโบสถใหญ่มีพระสงฆ์เป็นอันมากเข้าประชุมกันอยู่ อันแสดงถึงการปฏิบัติของเราถูกต้องดีแล้ว หรือปรากฏเห็นว่าทางอันรกขรุขระ มีพระคลุมจีวรไม่เรียบร้อย หรือเปลือยกายเดินอยู่อันแสดงถึงการปฏิบัติของเราผิดทาง หรืไม่เรียบร้อยตามมรรคปฏิบัติดังนี้เป็นต้น

    การละกิเลาท่านก็แสดงไว้ว่า พระโสดาบัน ละกิเลสได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ พระสกทาคามี ละกิเลสเบื้องต้นได้ ๓ เหมือนกัน กับทำกามราคะ ๑ ปฏิฆะ ๑ ให้เบาบางลงอีก พระอนาคามี ก็ละกิเลส ๓ เบื้องต้นนั้นได้ แล้วยังละกามราคะ ๑ ปฏิฆะ ๑ ได้เด็ดขาดอีกด้วย พระอรหันต์ ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕ เบื้องต้นได้แล้ว ยังละรูปราคะ ๑ อรูปราคะ ๑ มานะ๑ อุทธัจจะ ๑ อวิชชา ๑ ได้อีกด้วย

    ฌาน แล สมาธิ ถึงแม้ว่าจะบริกรรมภาวนาอันเดียวกัน แต่การพิจารณามันต่างกัน แลเวลาเข้าเป็นองค์ฌาน แลสมาธิ มันก็ต่างกัน ความรู้ความเห็นก็ต่างกัน ดังด้อธิบายมานี้

    ฌานแลสมาธิทั้งสองนี้ ผู้ฝึกหัดกรรมฐานทั้งหลายจะไม่ให้เกิดไม่ได้ มันหากเกิดเป็นคู่กันอย่างนั้นเอง แล้วมันก็กลับกันได้เหมือนกัน บางทีจิตรวมเข้าเป็นฌานแล้วเห็นโทษของฌาน พิจารณากลับเป็นสมาธิไปก็มี บางทีฝึกหัดสมาธิไปๆ สติอ่อนรวมเข้าเป็นฌานไปก็มี ฌาน แลสมาธิ มันหากเป็นเหตุเป็นปัจจัยของกันแลกันอยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ผู้ใดไม่มีฌานผู้นั้นไม่มีสมาธิ ผู้ใดไม่มีสมาธิผู้นั้นก็ไม่มีฌานเหมือนกัน" เพราะฌานแลสมาธิฝึกหัดสายเดียวกัน คือเข้าถึงจิตเหมือนกัน เป็นแต่ผู้ฝึกหัดต่างกันเท่านั้น บางท่านกลัวนักกลัวหนากลัวฌาน ตายแล้วจะไปเกิดเป็นพรหมลูกฟัก แต่หารู้ไม่ว่าฌานเป็นอย่างไร จิตอย่างไรมันจะไปเกิดเป็นพรหมลูกฟัก

    ผู้ต้องการจะชำระจิตใจของตนให้สะอาดปราศจากกิเลสทั้งปวงจะต้องชำระ จิต นี้แหละ ไม่ต้องไปชำระที่ ใจ หรอก เมื่อชำระที่ จิต แล้ว ใจ มันก็สะอาดไปเอง เพราะ จิต แส่ส่ายไปแสวงหากิเลสมาเศร้าหมองด้วยตนเอง เมื่อชำระ จิต ให้ใสสะอาดแล้วก็จะกลายมาเป็น ใจ ไปในตัว

    นักปฏิบัติทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติเข้าถึงจิตถึงใจแล้ว ถึงไม่ได้เรียนให้รู้ชื่อของกิเลสตัวนั้นว่าชื่ออย่างนั้นๆ แต่รู้ด้วยตนเองว่า ทำอย่างนั้น จิตมันเศร้าหมองมากน้อยแค่ไหน คิดอย่างนั้น จิต มันเศร้าหมองมากน้อยแค่ไหน เมื่อเห็นโทษของมันแล้ว มันจะต้องหาอุบายชำระด้วยตนเอง มิใช่ไปรู้กิเลสทั้งหมดแล้วจึงชำระให้หมดสิ้นไป

    เมื่อครั้งปฐมกาล พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ใหม่ๆ พระพุทธเจ้าแลพระสาวกทั้งหลายออกประกาศพระศาสนา ท่านที่ได้บรรลุธรรมทั้งหลายส่วนมากก็คงไม่ได้ศึกษาธรรมอะไรกันเท่าไรนัก เช่นพระสารีบุตร เป็นต้นได้ฟังธรรมโดยย่อจากพระอัสสชิว่า "ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ พระพุทธเจ้าเทศนาให้ดับต้นเหตุ" เพียงเท่านี้อุปติสสะ (คือพระสารีบุตร) ก็มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าเทศนาหลายครั้งหลายหนเข้า พระสาวกทั้งหลายจดจำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าได้มากขึ้น จึงมีการเล่าเรียนกันสือบต่อๆ กันไป พระพุทธศาสตราจึงแพร่หลายกว้างขวางมาโดยลำดับ

    พระอานนท์พระอนุชาผู้ติดตามพระพุทธเจ้าจดจำคำสอนของพระพุทธเจ้าได้แม่นยำ จนได้ฉายาว่าเป็นพหูสูต ไม่มีใครเทียบเท่า เทศนาสั่งสอนลูกศิษย์ให้ได้สำเร็จมัคค์ผล นิพพาน มาแล้วมากต่อมาก แต่ตัวท่านเองได้เพียงแต่พระโสดาบันขั้นต้นเท่านั้น ตอนพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว พระสงฆ์อรหันตสาวกทั้งหลายพร้อมกันทำสังคายนา ในการนี้จะขาดพระอานนท์ไม่ได้ เพราะพระอานนท์เป็นพหูสูต แต่ยังขัดข้องอยู่ที่พระอานนท์ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ สงฆ์ทั้งหลายจึงเตือนพระอานนท์ว่า ให้เร่งทำความเพียรเข้า พรุ่งนี้แล้วพระสงฆ์ทั้งหลายจะได้ทำสังคายนาในคืนวันนั้น ท่านได้เร่งความเพียรตลอดคืน ธรรมที่ได้สดับมาแต่สำนักพระพุทธเจ้ามีเท่าใดนำมาพิจารณาคิดค้นจนหมดสิ้น ก็ไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ จนอ่อนเพลียจึงตัดสินใจว่า เอาเถอะไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ก็แล้วเถิด แล้วล้มพระเศียรเอนกายลงนอน พระเศียรยังไม่ทันแตะพระเขนยเลย จิตก็รวมเข้าสู่มัคคสมังคีปัญญาก็ตัดสิ้นได้เด็ดขาดว่าบรรลุพระอรหันต์แล้ว

    ผู้มีปัญญาพิจารณาคิดค้นเหตุผลในสิ่งนั้นๆ แล้วปล่อยวาง ทำจิตให้เป็นกลางในสิ่งทั้งปวงได้ ย่อมจะเกิดความรู้ในธรรมนั้นๆ ได้ไม่มากก็น้อย ดังท่านพระอานนท์เป็นต้น
     

แชร์หน้านี้

Loading...