(๔) วิมุตติมรรค:ทางแห่งความหลุดพ้น(ภาคปัญญา)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 28 ตุลาคม 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

    ขอนอบน้อมแด่พระอรหันต์ อุปติสสะ ผู้รจนาหนังสือวิมุตติมรรค

    บทที่ ๑๑
    ตอนที่ ๑

    ว่าด้วยเรื่องอุบายห้า

    [๑] ถ้าโยคีใหม่ในพระศาสนานี้ ปรารถนาจะหลีกพ้นจากชรา มรณะและประสงค์จะกำจัดเหตุแห่งการเกิด และความปรวนแปรไป ปรารถนาจะขับไล่ความมืดแห่งอวิชชา เพื่อตัดเชือกแห่งตัณหา และเพื่อได้มาซึ่งอริยปัญญา เธอควรเจริญอุบาย คือขันธอุบาย อายตนอุบาย ธาตุอุบาย ปฏิจจสมุปบาทอุบายและสัจจอุบาย

    อุบาย แปลว่า วิธี การภาวนาเพื่อหวังผลถึง มรรค ผล นิพพาน ต้องอาศัยการพิจารณาขันธ์ อายตนะ ธาตุ ปฏิจจสมุปบาท และอริยสัจสี่

    ดังนั้น ผู้ที่จะเข้าสู่วิปัสสนาจะต้องรู้เรื่องเหล่านี้อย่างดี ดังนั้น ขั้นแรกจึงจำเป็นต้องศึกษาเรื่องเหล่านี้ให้แตกฉานก่อน

    ขันธอุบาย

    [๒] (ถาม) ขัีนธอุบายเป็นไฉน?
    (ตอบ) ขันธห้า คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์

    [๓] (ถาม) รูปขันธ์เป็นไฉน?
    (ตอบ) มหาภูตรูปสี่และอุปาทายรูปซึ่งอาศัยมหาภูตรูป

    [๔] นิยามมหาภูตรูปสี่
    (ถาม) มหาภูตรูปสี่เป็นไฉน?
    (ตอบ) มหาภูตรูปสี่ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ
    ความหมายของคำว่าธาตุ หมายถึงสิ่งที่ทรงสภาวะของตน เช่น ธาตุดิน หมายถึงสิ่งที่มีลักษณะแข็ง เป็นต้น ไม่เหมือนกับคำว่า ธาตุที่ใช้กันในปัจจุบัน
    (ถาม) ปฐวีธาตุ เป็นไฉน?
    (ตอบ) คือสิ่งที่เป็นธรรมชาติแข็งและมั่นคง เรียกว่า ปฐวีธาตุ
    (ถาม) อาโปธาตุเป็นไฉน?
    (ตอบ) สิ่งที่เป็นธรรมชาติไหลและเกาะกุม เรียกว่า อาโปธาตุ
    (ถาม) เตโชธาตุเป็นไฉน?
    (ตอบ) คือสิ่งที่เป็นธรรมชาติร้อนและทำให้สุกเรียกว่า เตโชธาตุ
    (ถาม) วาโยธาตุเป็นไฉน?
    (ตอบ) สิ่งที่เป็นธรรมชาติเคลื่อนไหวและรองรับ* เรียกว่าวาโยธาตุ
    ความเชื่อของคนโบราณ เชื่อว่า โลกเรานี้ มีวาโยธาตุรองรับอยู่

    โยคีใหม่เอาชนะความลำบากใน ๒ ทาง กล่าวคือ พิจารณาธาตุเหล่านั้นโดยย่อ และพิจารณาธาตุโดยพิศดาร

    เรื่องมหาภูตรูปนี้ โยคีควรจะได้เข้าใจตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแล้วอย่างสมบูรณ์ในจตุธาตุวิวัฏฐาน *

    ในธาตุวิวัฏฐานเป็นการพิจารณาแยกร่างกายออกเป็นส่วนย่อยๆ จะทำให้เห็นได้ว่าไม่มีส่วนใดเลยที่น่ายึดมั่นถือมั่นว่า สวย เที่ยง หรือเป็นสาระแก่นสาร หาตัวตนมิได้ เมื่อพิจารณาจนเห็นชัดดังนี้ก็จะละความยินดีผูกพันในกายตน ละความยึดมั่นว่ามีตัวตน ในภาคผนวกจะเสอธาตุวิภังคสูตร อันเป็นตัวอย่างในการพิจารณากายเป็นส่วนย่อยนำไปสู่การละความยินดียึดมั่นในกายได้

    [๕] อุปาทายรูป
    (ถาม) อุปาทายรูปเป็นไฉน?
    (ตอบ) อุปาทายรูป คือจักขุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาท รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ อิตถีภาวะ ปุริสภาวะ ชีวิตินทรีย์ กายวิญญัติ วจีวิญญัติ ปริเฉทรูป รูปลหุตา รูปมุทุตา รูปกัมมัญญตา อุปจยรูป สันตติรูป ชาติรูป ชรตารูป อนิจจตา อาหารรูป หทัยวัตถุ มิทธรูป (ความเซื่องซึมของรูปอันเกิดจากอาหาร)
    [๖] จักษุประสาท
    (ถาม) จักขุประสาทเป็นไฉน?
    (ตอบ) จักขุประสาทคืออวัยวะที่ทำให้เห็นรูป เมื่อรูปกระทบกับอวัยวะนี้แล้ว จะเกิดจักขุวิญญาณขึ้น (ซึ่งเป็นผู้เห็นหรือรู้รูป)* อวัยวะนี้เรียกว่า จักขุประสาท
    จักขุวิญญาณเกิดจากรูปและจักขุประสาท เป็นคำอธิบายที่สั้นและเข้าใจง่ายที่สุด ถ้าจะอธิบายให้เต็มๆ รูปกระทบกับจักขุประสาท ทำให้เกิดผัสสะ การประชุมพร้อมกันของรูป จักขุประสาท และผัสสะทำให้เกิดจักขุวิญญาณอันเป็นผู้รู้รูป (ในประสาทรูปที่เหลือ เช่น โสตประสาท ก็ทำนองเดียวกัน)

    อนึ่ง จักขุประสาทที่อาศัยดวงตาซึ่งมีชิ้นเนื้อเล็กๆ ๓ ชิ้นอยู่รอบๆ ดวงตาดำและตาขาว และตาที่อยู่เป็นเนื้อเดียว ๕ ชั้นของเนื้อ เลือด ลม เสมหะ และน้ำเหลือง ซึ่งมีขนาดเท่าเมล็ดฝิ่นครึ่งเม็ด มีลักษณะคล้ายศีรษะเล็น สร้างขึ้นโดยมหาภูตรูป ๔ ตามอดีตกรรม และัเป็นอวัยวะที่มีเตโชธาตุมาก นี้เรียกว่า จักขุประสาท ดังที่พระธรรมเสนาบดีสารบุตรเถระกล่าวไว้ว่า จักขุประสาทเป็นอวัยวะที่ทำให้เห็นอารมณ์ ซึ่งมีขนาดเล็กละเอียดเท่าศีรษะเล็น

    [๗] โสตประสาท
    (ถาม) โสตประสาทเป็นไฉน?
    (ตอบ) โสตประสาทคืออวัยวะที่ฟังเสียง เสียงเมื่อกระทบอวัยวะนี้จะเกิดโสตวิญญาณขึ้น นี้เรียกว่า โสตประสาท
    อนึ่ง โสตประสาทตั้งอยู่ภายในช่องหูทั้ง ๒ ที่ปกคลุุมด้วยขนสีน้ำตาล อาศัยเยื่อแผ่นมีลักษณะคล้ายๆ ก้านเมล็ดถั่วเขียว สร้างขึ้นโดยมหาภูตรูป ๔ ตามอดีตกรรมและเป็นที่ซึ่งมากนักไปด้วยมีอากาศธาตุ (ช่องว่าง) มาก นี้เรียกว่า โสตประสาท

    [๘] ฆานประสาท
    (ถาม) ฆานประสาทเป็นไฉน?
    (ตอบ) ฆานประสาทคืออวัยวะที่สูดดมกลิ่น กลิ่นเมื่อกระทบกับอวัยวะนี้จะเกิดฆานวิญญาณขึ้น นี้เรียกว่า ฆานประสาท
    อนึ่ง ฆานประสาทตั้งอยู่ภายในจมูก ซึ่งมีอยู่ ๓ อนุรูป อาศัยช่องเล็กๆ อันหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายดอกทองหลาง สร้างขึ้นโดยมหาภูตรูปสี่ตามอดีตกรรม ตั้งอยู่ในที่มีวาโยธาตุมาก เรียกว่า ฆานประสาท

    [๙] ชิวหาประสาท
    (ถาม) ชิวหาประสาทเป็นไฉน?
    (ตอบ) ชิวหาประสาทเป็นอวัยวะรู้รส รสต่างๆ เมื่อกระทบกับอวัยวะนี้ จะเกิดชิวหาวิญญาณขึ้น นี้เรียกว่า ชิวหาประสาท
    อนึ่ง ชิวหาประสาทมีขนาดกว้าง ๒ นิ้ว มีรูปลักษณะคล้ายๆกับดอกอุบลซึ่งตั้งอยู่ภายในชิ้นเนื้อของลิ้น สร้างขึ้นโดยมหาภูตรูปสี่ซึ่งเกิดจากอดีตกรรม และอยู่ในที่ที่มีอาโปธาตุมาก นี้เรียกว่า ชิวหาประสาท

    [๑๐] กายประสาท
    (ถาม) กายประสาทเป็นไฉน?
    (ตอบ) กายประสาทเป็นอวัยวะที่รู้การกระทบ เมื่ออวัยวะนี้กระทบกับสิ่งสัมผัส กายวิญญาณจึงเกิดขึ้น นี้เรียกว่า กายประสาท
    อนึ่ง กายประสาทนี้ตั้งอยู่ทั่วๆ ไปในร่างกาย ยกเว้นที่ผม ขน เล็บ ฟันและส่วนอื่นๆ ที่ไม่มีความรู้สึก สร้างขึ้นโดยมหาภูตรูปสี่ตามอดีตกรรม ตั้งอยู่ในที่มีปฐวีธาตุมาก นี้เรียกว่า กายประสาท

    [๑๑] รูปารมณ์เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์ที่พึงเห็น
    สัททารมณ์เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์ที่พึงฟัง
    รสารมณ์เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์ที่พึงลิ้ม
    คันธารมณ์เป็นปฎิกิริยาของอารมณ์ที่พึงดม
    อิตถีภาวะคือลักษณะของธรรมชาิติที่เป็นหญิง
    ปุริสภาวะคือลักษณะของธรรมชาติที่เป็นชาย
    ชีวิตินทรีย์คือภาวะที่รักษากายโดยกรรม
    กายวิญญัติเป็นกิริยาอาการทางกาย
    วจีวิญญัติเป็นกิริยาอาการทางวาจา
    ปริเฉทรูปคือช่องว่างระหว่างรูป
    รูปลหุตาคือความเบาของรูป
    รูปมุทุตาคือความอ่อนของรูป

    รูปกัมมัญญตาคือความควรแก่การงานของรูป
    สภาวะทั้งสามนี้คือความไม่เฉื่อยชาของรูป
    อุปจยคือความเติบโตของรูป
    สันตติคือความสืบต่อของรูป
    ชาติรูปคือการเกิดขึ้นของรูป
    ชรตาคือความแก่ของรูป
    อนิจจตาคือความไม่เที่ยงของรูป
    อาหารรูปคือสิ่งสำคัญของอาหารที่สัตว์ได้รับ
    หทัยรูปคือสิ่งที่เกิดขึ้นโดยอาศัยมหาภูตรูปและมโนวิญญาณธาตุ
    มิทธรูปหมายถึงมหาภูตรูปที่แสดงลักษณะโดยอุปาทายรูป
    มหาภูตรูปทั้งหมดมีลักษณะของการรู้ได้ด้วยการถูกต้อง
    มหาภูตรูปสี่และอุปาทายรูป ๒๖ เป็นรูป ๓๐

    (วิมุตติมรรคต่างจากอภิธัมสังคหะโดยเพิ่มชาติรูปและมิทธรูป)
    [๑๒] ความแตกต่างระหว่างมหาภูตรูปสี่และอุปาทายรูป
    (ถาม) อะไรคือความแตกต่างระหว่างมหาภูตรูปสี่และอุปาทายรูป
    (ตอบ) เมื่ออาศัยซึ่งกันและกันแล้ว มหาภูตรูปสี่จึงเกิดขึ้น อุปาทายรูปเกิดขึ้นเพราะอาศัยมหาภูตรูปสี่ แต่มหาภูตรูปสี่ไม่ได้อาศัยอุปาทายรูปเกิดขึ้น และอุปาทายรูปถ้าปราศจากมหาภูตรูปสี่แล้วเกิดขึ้นไม่ได้
    [๑๓] ข้ออุปมาว่าด้วยไม้ ๓ อัน
    มหาภูตรูป ๔ ควรจะทราบเสมือนไม้ ๓ อันค้ำกันและกัน อุปาทายรูปจากมหาภูตรูปสี่ ควรจะทราบเสมือนเงาที่แผ่กระจายไป โดยไม้ ๓ อัน ที่ค้ำยันกันอยู่ นี้เป็นความแตกต่างกันระหว่างรูปทั้งสอง
    [๑๔] ในที่นี้โยคีควรรู้ว่ารูป ๓๐ ทั้งหมดเหล่านี้ มี ๕ ชนิด คือโดยการเกิดขึ้น กลาปะชาติ ต่างกัน รวมกัน รูปโดยการเกิดขึ้น
    (ถาม) โดยการเกิดขึ้นอย่างไร?
    (ตอบ) รูปที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยของกรรมมี ๙ ชนิด คือ จักขุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาท อิตถีภาวะ ปุริสภาวะ ชีวิตินทรีย์และหทัยรูป

    รูปที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยคือจิต มี ๒ คือ กายวิญญัติ และวจีวิญญัติ

    รูปที่เกิดจากเหตุปัจจัยของอุตุและจิตมี ๑ คือ สัททารมณ์

    รูปที่เกิดจากเหตุปัจจัยของอุตุ จิต และอาหาร มี ๔ อย่าง คือ รูปลหุตา รูปมุทุตา รูปกัมมัญญตา และมิทธรูป

    รูปที่เกิดจากเหตุปัจจัยของกรรม จิต อุตุ อาหาร มี ๑๒ คือ รูปารมรณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ ปริเฉทรูป อุปจยรูป สันตติรูป ชาติรูป อาหารรูป และมหาภูตรูปสี่

    รูป ๒ คือ ชรตา และอนิจจตา ไม่มีการเกิด

    อนึ่ง ชรตาอาศัยชาติเพราะมีชาติ จึงมีชรา เมื่ออาศัยชรตาจึงเป็นอนิจจตา (เพราะชรา จึงเรียกว่ามีการเปลี่ยนแปลง)

    เพราะฉะนั้น บุคคลควรจะทราบลักษณะของรูปเหล่านี้ โดยการเกิดขึ้น ดังนี้


     

แชร์หน้านี้

Loading...