(๔๓) มรดกธรรมพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 15 ธันวาคม 2011.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    คำบรรยายเรื่อง
    วิปัสสนากรรมฐาน
    เล่ม ๙ ครั้งที่ ๑๕๑
    บรรยายวันจันทร์ที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๐๖
    เรื่อง

    มหาสติปัฏฐาน
    (ว่าด้วยโพชฌงค์ ๗ ข้อที่ ๑)


    วันนี้ จะได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ว่าด้วยโพชฌงค์ ๗ ข้อที่ ๑ คือสติสัมโพชฌงค์ สืบต่อไป ดำเนินใจความว่า


    สติสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้จะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบด้วยองค์ ๒ คือ โยนิโสมนสิกาโร การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ๑ พหุลีกาโร การทำให้มากๆ ๑ ข้อต้นได้บรรยายมาแล้วในวันจันทร์กอน เฉพาะวันจันทร์นี้จะได้บรรยายข้อที่ ๑ สืบต่อไป

    คำว่า พหุลีกาโร แปลว่า ทำให้มากๆ ด้วยสติ อธิบายว่า ให้ผู้ปฏิบัติธรรมคือผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น หมั่นทำ ขยันทำ ทำบ่อยๆ ทำให้มากๆ ทำไม่หยุด ทำไม่ให้ขาดระยะ ทำให้ติดต่อกันไปดุจด้ายสนเข็ม เช่นเดินจงกลมแล้ว นั่งกำหนด นอนกำหนด ยืนกำหนด เป็นต้น ไม่เกียจคร้าน ไม่ประมาท ไม่มัวพูด มัวคุย ไม่มัวห่วงโน้นห่วงนี้อยู่ และไม่แก้ตัวว่า ยังยุ่งอยู่บ้าง ยังไม่ว่างบ้าง ยังมีธุระอยู่บ้าง เพราะถ้าเราวางเสียเราก็ว่าง ถ้าไม่วางก็ไม่ว่าง เมื่อไม่วางก็ต้องยุ่ง เมื่อยุ่งแล้วก็แย่ แย่แล้วก็แก้ยาก เพราะฉะนั้น จงรีบพยายามจนสุดความสามารถ อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปเปล่าๆ ประเดี๋ยวจะถูกยักษ์ใหญ่กินตาย ดังโบราณท่านกล่าวสอนไว้ว่า

    "พระยายักษ์หนึ่งหนา มีนัยน์ตาสองข้าง
    ข้างหนึ่งสว่าง ข้างหนึ่งริบหรี่
    มีปาก ๑๒ ปาก มีฟันไม่มาก
    ปากละ ๓๐ ซึ่ พระยายักษ์ตนนี้ กินสัตว์ทั้งปฐพี" ดังนี้

    หมายความดังนี้คือ
    ๑. พระยายักษ์หนึ่งหนา ได้แก่ พระกาล คือเวลา วัน คืน เดือน ปี
    ๒. มีนัยน์ตา ๒ ข้าง ได้แก่ ข้างขึ้น ข้างแรม
    ๓. ข้างหนึ่งสว่าง ได้แก่ข้างขึ้น
    ๔. ข้างหนึ่งริบหรี่ ได้แก่ข้างแรม
    ๕. มีปาก ๑๒ ปาก ได้แก่ ปีหนึ่ง มี ๑๒ เดือน
    ๖. มีฟันปากละ ๓๐ ซี่ ได้แก่ เดือนหนึ่งมี ๓๐ วัน
    ๗. พระยายักษ์ตนนี้กินสัตว์ทั้งปฐพี ได้แก่สรรพสัตว์ในสากลโลกนี้ย่อมตายด้วยกันสิ้นทั้งปฐพี ไม่มียกเว้นใครเลย โดยมากไม่เกินร้อยปี เพราะฉะนั้นเราควรจะพากันสร้างแต่ความดี คือ บุญกุศลไว้ให้มากๆ เถิด เมื่อจากโลกนี้ไปก็จะได้เป็นที่พึ่งที่อาศัยของตน สมดังพุทธนิพนธ์ว่า

    ปุญฺญานิ ปรโลกสฺมึ ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินํ
    บุญเป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า

    สกํ กตานิ ปุญฺญานิ ตํ มิตฺตํ สมฺปรายิกํ
    บุญกุศลที่ตนทำไว้นั่นเองจะเป็นมิตรเป็นสหายในสัมปรายิกภพอย่างแท้จริง


    หลักฐานประกอบในองค์ ๒ ประการนั้น มีปรากฏอยู่ในสังยุตตนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ หน้า ๘๒ ว่า

    อตฺถิ ภิกฺขเว สติสมฺโพชฺฌงฺคฏฺฐานิยา ธมฺมา ตตฺถ โยนิโสมนสิการ พหุลีกาโร อยมาหาโร อนุปฺปนฺนสฺส วา สติสมฺโพชิฌงฺคสฺส อุปาทาย อุปฺปนฺนสฺส วา สติสมฺโพชิฌงฺคสฺส ภิยฺโยภาวาย เวปุลฺลาย ภาวนาย ปาริปูริยา สํวตฺตนฺติ.

    แปลเป็นใจความว่า

    "ดูกรท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ๒ ประการ คือการทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ๑ การทำให้มากๆ ในธรรมนั้น ๑ นี้เป็นเครื่องประมวลแห่งสติสัมโพชฌงค์ เป็นไปพร้อมเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสติสัมโพชฌิงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้นและเป็นไปพร้อมเพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมยิ่งๆ ขึ้นไปแห่งสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว" ดังนี้

    ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์ ก็ได้แก่สตินั่นเอง ดังหลักฐานรับรองไว้ว่า

    สติเยว สติสมฺโพชฺฌงฺคฏฺฐานิยา ธมฺมา
    ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์ ก็คือสตินั่นเอง


    ถ. สติสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยองค์ ๒ และสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วจะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปก็ต้องอาศัยองค์ ๒ คือ โยนิโสมนสิการ การกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ๑ พหุลีกาโร การกระทำให้มากๆ ๑ ตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ดังที่ได้หยิบยกมาบรรยายไปแล้วนั้นก็เข้าใจได้ดี แต่ยังสงสัยอยู่อีก คือ เหตุอื่นๆ หรืองค์อื่นๆ นอกจากนี้จะไม่มีอีกหรือ หรือมีเพียงเท่านี้?

    ต. เหตุอื่นๆ หรือองค์อื่นๆ ที่จะให้สติสัมพชฌงค์เกิดขึ้นนั้น ยังมีอยู่อีกในอรรถกถาท่านแสดงไว้ ๔ ประการคือ


    ๑. สติสมฺปชญฺญํ มีสติ คือความระลึกได้ และมีสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวทุกๆ ขณะ ในฐานะ ๒๒ อย่างคือ
    ๑. อภิกฺกนฺเต เวลาก้าวไป ก็ให้มีสติกำหนดรู้

    ๒. ปฏิกฺกนฺเต ในเวลาถอยกลับมา ก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ๓. อาโลกิเต ในเวลาเหลียวไปข้างหน้า ก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ๔. วิโลกิเต ในเวลาเหลียวไปข้างๆ ก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ๕. สมฺมิญฺชเต เวลาคู้แขน ขา มือ เท้า เข้ามา ก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ๖. ปสาริเต เวลาเหยียดแขน ขา มือ เท้า ออกไป ก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ๗. สงฺฆาฏิธารเณ เวลาพาดสังฆาฏิ ก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ๘. ปตฺตธารเณ เวลาอุ้มบาตร ก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ๙. จีวรธารเณ เวลาห่มจีวร ก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ๑๐. อสิเต เวลาบริโภค ก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ๑๑. ปิเต เวลาดื่ม ก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ๑๒. ขายิเต เวลาเคี้ยว ก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ๑๔. อุจฺจารกมฺเม ในเวลาถ่ายอุจจาระ ก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ๑๕. ปสฺสาวกมฺเม ในเวลาถ่ายปัสสาวะ ก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ๑๖. คเต ในเวลาไปก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ๑๗. ฐิเต ในเวลายืน ก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ๑๘. นิสินฺเน ในเวลานั่ง ก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ๑๙. สุตฺเต ในเวลาหลับ ก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ๒๐. ชาคริเต ในเวลาตื่น ก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ๒๑. ภาสิเต ในเวลาพูด ก็ให้มีสติกำหนดรู้
    ๒๒. ตุณฺหีภาเว ในเวลานิ่ง ก็ให้มีสติกำหนดรู้


    ๒. มุฏฺฐสฺสติปุคฺคลปริวชฺชนตา เว้นจากบุคคลผู้มีสติหลงลืม คือเว้นจากบุคคลผู้มิได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน

    ๓. อุปฏฺฐิตสฺสติปุคฺคเสวนตา คบหาสมาคมกับบุคคลผู้ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ มีสติมั่นคงอยู่กับวิปัสสนากรรมฐาน

    ๔.ตทธิมุตฺตตา น้อมใจไปในอารมณ์ของพระกรรมฐานนั้นๆ เช่น น้อมใจไปในกาย เวทนา จิต ธรรมเป็นตัวอย่าง

    ถ. ผู้ที่บำเพ็ญสติสัมโพชฌงค์บริบูรณ์ดีแล้วจนได้สำเร็จมรรค ผล นิพพานนั้นในครั้งพุทธกาลมีใครบ้าง ขอจงยกมาเป็นตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง
    ต. ผู้ที่บำเพ็ญสติสัมโพชฌงค์บริบูรณ์ดีแล้ว จนได้สำเร็จมรรค ผล นิพพานนั้นในครั้งพุทธกาลมีมาก ได้แก่พระสาวกทุกๆ รุป แต่ในที่นี้จะได้ยกมาพอเป็นตัวอย่างสักรูปเดียวคือพระสิวลีเถระ มีประวัติย่อดังต่อไปนี้

    ท่านพระสิวลีเถระเป็นโอรสของพระนางสุปปวาสา ผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าโกลิยะ จำเดิมแต่พระราชโอรสมาถือปฏิสนธิในครรภ์พระมารดา เป็นเหตุให้พระมารดาอุดมสมบูรณ์ด้วยลาภสักการะเป็นอันมาก แต่ท่านอยู่ในครรภ์พระมารดาถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วันจึงประสูติ เวลาประสูตริก็ประสูติง่ายที่สุดประดุจน้ำไหลออกจาหม้อด้วยอำนาจพุทธานุภาพ คือเมื่อพระนางมีครรภ์แก่ครบกำหนดประสูติแล้วได้เสวยทุกเวทนาลำบากมา พระนางจึงได้ให้พระสวามี ไปกราบถวายบังคมทูลพระบรมศาสดา พระองค์ทรงตรัสพระราชทานให้พรว่า

    "สุขินี วต โหตุ สุปฺปวาสา โกฬิยธีตา,
    สุขินี อโรคา อโรคํ ปุตฺตํ วิชายตุ"

    ขอพระนางสุปปวาสา ผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงโกลิยะ จงเป็นหญิงมีความสุข ปราศจากโรคาพยาธิ ประสูตรพระราชบุตรผู้หาโรคมิได้เถิด" ดังนี้

    พระนางสุปปวาสาก็ได้ประสูติพระราชบุตรพร้อมกับขณะที่พระบรมศาสนดา ตรัสพระราชทานพร เมื่อประสูติแล้วพระญาติทั้งหลายขนานพระนามว่า "สิวลีกุมาร"

    ส่วนพระนางสุปปวาสา นึกถึงเหตุการณืที่ผ่านมาแล้ว มีความปรารถนาจะถวายมหาทานสัก ๗ วันพระราชสวามีก็ยินดีอนุมัติให้เป็นไปตามความประสงค์ของพระนางทุกประการ พระนางได้ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน

    เมื่อสีวลีกุมารเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้ออกผนวชในสำนักของท่านพระสารีบุตรได้ตั้งใจเจริญวิปัสสนากรรมฐานบำเพ็ญสติสัมโพชฌงค์อย่างเต็มที่จนได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ บรรลุ มรรค ผล นิพพาน สมความปรารนถา คือสิ้นอาสวกิเลสทั้งปวงเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอเสกขบุคคลในพระบวรพุทธศาสนา นัยว่า ท่านได้บรรลุมรรค ผล ในเวลากำลังปลงผม ดังนี้คือ
    ครั้งที่ ๑ เวลามีดโกนจดลงที่ศีรษะ ได้บรรลุโสดาปัตติผล
    ครั้งที่ ๒ ได้บรรลุสกทาคามีผล
    ครั้งที่ ๓ ได้บรรลุอนาคามิผล
    ครั้งที่ ๔ พอปลงผมเสร็จ ท่านก็ได้สำเร็จเป็นอรหันต์

    ทั้งนี้เพราะท่านได้บำเพ็ญสติสัมโพชฌงค์มาอย่างเต็มที่โดยลำดับๆ นับตั้งแต่รับวิปัสสนากรรมฐานจากพระอาจารย์ของท่านเป็นต้นไป

    ตั้งต้นแต่ท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้นมา ท่านเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัจจัย ๔ คือเป็นผู้มีลาภมาก ภิกษุทั้งหลายก็พลอยอุดมสมบูรณ์ด้วยปัจจุัย ๔ เช่นกัน เพราะอาศัยบารมีท่านพระสิวลี เพราะเหตุนั้น องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงทรงยกกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างเป็นผู้มีลาภมาก

    แม้ประชาชนชาวพุทธ ต่างก็พากันยนิยมแสวงหารูปของท่านมาไว้สักการบูชา มีคาถาภาวนา ว่า "สิวลี จ มหาเถโร" เป็นต้น เพื่อต้องการให้ตนเป็นผู้มีลาภผลทั้งทางโลกและทางธรรมเช่นกับท่านบ้าง

    ท่านพระสีวลีนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินพิิาน
    ตามประวัตินี้ ก็พอชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดีแล้วว่า พระสาวกทุกๆ รูป ต่างก็ได้บำเพ็ญสติสัมโพชฌงค์มาด้วยกันทุกๆ รูป

    ถ. โพชฌงค์ มีประโยชน์อย่างไรบ้าง?

    ต. มีประโยชน์มาก คือ
    ๑. ประโยชน์ขั้นต่ำ เพียงแต่ท่องได้ จำได้ สวดได้ ก็เป็นมหากุสล แม้ฟังผู้อื่นสวด เช่นเจริญพุทธมนต์ก็เป็นมหากุศล บางทีบำบัดทุกขเวทนาต่างๆให้หายไปได้ ตัวอย่างเคยมีมาแล้วคือ
    ก.ครั้งเมื่อ สมเด็จพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ท่านพระมหากัสสปะอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ อาพาธหนัก ในเวลาเย็นพระพุทธองค์เสด็จไปเยี่ยม ทรงถามสุขทุกข์กะพระมหากัสสปะ แล้วทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ ให้ฟัง ท่านพระมหากัสสปะได้ฟังแล้วมีความดีใจ เพลิดเพลินต่อภาษิตของพระพุทธองค์ ท่านก็หายจากอาพาธ


    ข. ครั้งหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะ อาพาธหนักดุจพระมหากัสสปะ พระพุทธองค์เสด็จไปเยี่ยม ทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ ให้ฟัง ท่านพระมหาโมคคลลานะ ก็หายจากอาพาธเช่นกัน

    ค. ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหารเมืองราชคฤห์ ทรงพระอาพาธหนัก พระมหาจุนทะจึงเข้าไปเฝ้า ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ปฏิภนฺตุ ตํ จุนฺท โพชฺฌงฺคา จุนทะ โพชฌงค์ แจ่มแจ้งกะเธอไหม?
    พระมหาจุนทะ จึงกราบทูลว่า "สตฺติเม ภนฺเต โพชฺฌงฺคา" เป็นต้น
    ใจความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โพชฌงค์ ๗ ประการเหล่านี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ถ้าได้บำเพ็ญให้เกิดให้มีขึ้นและทำให้มากๆ ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โพชฌงค์ ๗ ประการนั้นเป็นไฉน โพชฌงค์ ๗ ประการนั้น คือ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเปกขาสัมโพชฌงค์

    พอพระมหาจุนทะ แสดงโพชฌงค์ ๗ จบลงปรากฏว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพอพระทัย และพระพุทธองค์ก็ทรงหายจากโรคาพาธ

    ๒. ประโยชน์ขั้นกลาง สามารถยังผู้บำเพ็ญให้ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี

    ๓. ประโยชน์ขั้นสูง สามารถยังผู้บำเพ็ญให้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์


    วันนี้ได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ว่าด้วยธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เฉพาะโพชฌงค์ ๗ ข้อต้น คือสติสัมโพชฌงค์มา ก็นับว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้เพียงเท่านี้.



     

แชร์หน้านี้

Loading...