(๓๗) มรดกธรรมพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 30 กรกฎาคม 2010.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๔๕
    บรรยายวันจันทร์ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๐๖

    เรื่อง
    มหาสติปัฏฐาน
    (ข้อว่า เวทนานุปัสสนา)



    วันนี้ จะได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐานว่าด้วย เวทนานุปัสสนา สืบต่อไป

    ถ. คำว่า เวทนานุปัสสนา แปลและหมายความว่าอย่างไร?
    ต. แปลว่า ปัญญาตามพิจารณาเห็นเวทนาเนืองๆ หมายความว่า ผู้ปฏิบัิติธรรม กำหนดเวทนา คือ เอาเวทนาเป็นอารมณ์ จนสามารถเห็นความเกิดดับของเวทนาและได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน เป็นปริโยสาน

    ถ. เฉพาะคำว่า เวทนา แปลและหมายความว่าอย่างไร?
    ต. แปลว่า รู้อารมณ์ก็ได้ แปลว่า เสวยอารมณ์ก็ได้ หมายความว่า ถ้าอารมณ์ดี เช่น รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสดี ก็ให้เกิดความสุข ถ้าอารมณ์ไม่ดี เช่น รูปไม่สวย เสียงไม่เพราะ กลิ่นไม่ดี ก็ให้เกิดความทุกข์ ถ้าอารมณ์กลางๆ ไม่ดีและไม่ชั่ว ก็ให้เกิดอุเบกขา คือความเฉยๆ สุข ทุกข์ เฉย จัดเป็นเวทนาทั้งสิ้น

    ถ. เวทนา มีลักษณะ คือ เครื่องหมาย มีรส คือหน้าที่ มีปัจจุปัฏฐาน คือ ผลปรากฏ และมีปทัฏฐาน คือเหตุใกล้ชิดที่จะให้เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง?
    ต. เวทนามีลักษณะ คือ เครื่องหมายเป็นต้นไปตามประเภทของเวทนา จะยกมาพอเป็นตัวอย่างเฉพาะสุขเวทนาเท่านั้น คือ
    ๑. อิฏฺฐโผฏฺฺฐพฺพานุภาวนลกฺขณา สุขเวทนา มีการเสวยโผฏฐัพพารมณ์ที่ดีเป็นลักษณะ

    ๒. สมฺปยุตฺตานํ พฺรูหนรสา มีการทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกับตนเจริญงอกงามขึ้น เป็นรส

    ๓. กายิกอสฺสาทปจฺจุปฏฺฺฐานา มีความชื่นชมยินดีในในสุขทางกาย เป็นผลปรากฏ

    ๔. กายินฺทฺริยปทฏฺฐานา มีกายินทรีย์ เป็นเหตุใกล้ชิด คือมีกายปสาทเป็นเหตุใกล้ชิด
    ถ. เวทนามีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. เวทนามีมาก เช่น เวทนา ๓ เวทนา ๕ เวทนา ๙ เป็นต้น
    เวทนา ๓ คือ
    ๑. สุขเวทนา ได้แก่ ความสุขของร่างกาย
    ๒. ทุกขเวทนา ได้แก่ ความทุกข์ของร่างกาย
    ๓. อุเปกฺขาเวทนา ได้แก่ ความไม่สุข ไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ ของกายและจิต

    เวทนา ๕ คือ
    ๑. สุขเวทนา ได้แก่ ความสุขของร่างกาย คือ สุขสหคตกุศลวิบากกายวิญญาณ

    ๒. ทุกขเวทนา ได้แก่ ความทุกข์ของร่างกาย คือ ทุกขสหคตอกุศลวิบากกายวิญญาณ

    ๓. โสมนัสสเวทนา ได้แก่ ความสุขของจิต คือจิตเป็นโสมนัสสสหคตะ ๖๒ ดวง คือ โสมนัสในจิตเป็นโลภมูล ๔ ดวง ในจิตเป็นกามาวจรโสภณ ๑๒ ดวง โสมนัสสันตีรณะ ๑ ดวง หสิตุปบาท ๑ ดวง และในจิตเป็นมหัคคตะกับโลกุตตระ ๔๔ ดวง คือจิตเป็นปฐมฌาน ๑๑ ดวง ทุติยฌาน ๑๑ ดวง ตติยฌาน ๑๑ ดวง จตุตถฌาน ๑๑ ดวง รวม ๔๔ ดวง เมื่อรวมทั้งหมดจึงเป็นโสมนัสสเวทนา ๖๒ ดวงพอดี

    ๔. โทมนัสสเวทนา ได้แก่ ความทุกข์ของจิต คือจิตเป็นโทสมูล ๒ ดวง ซึ่งเรียกว่า โทมนัสสปฏิฆสัมมปยุตตจิต แปลว่า จิตที่เกิดพร้อมด้วยความเสียใจประกอบด้วยความโกรธ

    ๕. อุเบกขาเวทนา ได้แก่ จิตเป็นอุเบกขา ทั้งหมดมี จำนวน ๕๕ ดวง คือ ในจิตเป็นอกุศลมี ๖ ดวง ในอเหตุกะมี ๑๔ ดวง ในกามาวจรโสภณมี ๑๒ ดวง รวมกามาวจรอุเบกขา ๓๒ ดวง ในจิตเป็นมหัคคตะ ๑๕ ดวง คือ ปัญจมฌาน ๓ ดวง ในอรูปฌานเป็นอุเบกขาทั้งหมด ๑๒ ดวง ในจิตเป็นโลกุตตระ ๔๐ มีอุเบกขาปัญจมฌาน ๘ ดวง รวมทั้งหมดเป็น ๕๕ ดวง


    เวทนา ๙ คือ
    ๑. สุขเวทนา
    ๒. ทุกขเวทนา
    ๓. อุเบกขาเวทนา
    ๔. สุขเวทนาอิงอามิส ได้แก่ โสมนัสเวทนา ๕ อิงกามคุณ ๕
    ๕. สุขเวทนาปราศจากอามิส ได้แก่ โสมนัสสเวทนา ๖ อาศัยเนกขัมมะ คือสมถะและวิปัสสนา
    ๖. ทุกขเวทนาปราศจากอามิส ได้แก่ โทมนัสเวทนาอาศัยเรือน ๖ อย่างเพราะไม่บริบูรณ์ด้วยกามคุณ ๕
    ๗. ทุกขเวทนาปราศจากอามิส ได้แก่ โทมนัสสเวทนาอาศัยเนกขัมมะ เพราะไม่ได้รับอริยมรรคอริยผล
    ๘. อุเบกขาเวทนาอิงอามิส ได้แก่ อุเบกขา เวทนาอาศัยเรือน ๖ อย่าง
    ๙. อุเบกขาเวทนาปราศจากอามิส ได้แก่ อุเบกขาเวทนาอาศัยเนกขัมมะ ๖ อย่างเกิดขึ้นเพราะสมถะและวิปัสสนา

    ถ. เวทนาในมหาสติปัฏฐานนี้ ได้แก่เวทนาอย่างไหน?
    ต. ได้แก่ เวทนาทั้ง ๙ ข้อนี้

    ถ. เด็กเล็กที่นอนหงายอยู่บนเบาะ เวลาดื่มน้ำนมของแม่ ก็รู้ว่าตนมีความสุขอย่างนี้จะจัดเป็นเวทนานุปัสสนาได้หรือไม่ เพราะเหตุไร?
    ต. จัดเป็นเวทนานุปัสสนาไม่ได้ เพราะการรู้อย่างนี้ไม่ละ ไม่ถอน ความสำคัญผิดว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขาได้และไม่เป็นกรรมฐาน ไม่เป็นมหาสติปัฏฐานภาวนา


    ถ. ใครเสวยเวทนานี้ เวทนาของใคร เสวยเวทนา เพราะเหตุไร?
    ต. ไม่มีใครเสวยเวทนา คือ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา เสวยเวทนาและไม่ใช่เวทนาของสัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา อะไรทั้งสิ้น แต่เพราะเวทนากระทำวัตถุแห่งความสุขเป็นต้นนั้นๆ ให้เป็นอารมณ์ แล้วเสวยเข้าไป ถือเอาความเป็นไปแห่งเวทนานั้นเป็นเหตุ จึงมีโวหารว่า เราเสวยเวทนา ดังตัวอย่างต่อไปนี้
    พระเถระรูปหนึ่ง เวลาไม่สบาย มีเวทนากล้า กลิ้งไปกลิ้งมาอยู่ ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งถามว่า เจ็บตรงไหน เสียดแทบตรงไหนขอรับ ท่านตอบว่า แยกไม่ได้คุณชื่อว่าเสียดแทงเฉพาะเป็นแห่งๆ ไป ไม่มีเลย เสียดแทงไปหมดนั้นแหละ ภิกษุหนุ่มพูดปลอบใจว่า อธิวาสนา ภนฺเต เสยฺโย การอดกลั้นได้เป็นของประเสริฐแท้ขอรับ ท่านได้พยายามอดกลั้นอย่างเต็มที่ และเจริญกรรมฐานไปพร้อมกันจนไส้ไหลออกมากองอยู่บนเตียง ท่านถามภิกษุหนุ่มว่าความอดกลั้นขนาดนี้สมควรหรือยังคุณ? ภิกษุหนุ่มได้แต่นิ่ง ไม่ตอบเลยสักคำเดียว เพราะเห็นแล้วว่า ท่านอดกลั้นอดทนอย่างเต็มที่ไม่ช้าไม่นานท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพาน

    ถ. กรรมฐานมีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. มี ๒ อย่าง คือ รูปกรรมฐาน๑ อรูปกรรมฐาน ๑

    ถ. เวทนานุปัสสนา ในมหาสติปัฏฐานนี้ จัดเข้าในกรรมฐานอย่างไหน?
    ต. จัดเข้าในอรูปกรรมฐาน


    ถ. ข้อว่า กถญฺจ ภิกฺขเว ภิกฺจุ เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี วิหรติ ดูกรท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร มีปกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นไฉนเล่า หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า พิจารณาเห็นเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งในเวทนาทั้ง ๙ นั้น เช่น สุขเวทนาเกิดขึ้นก็พิจารณาเห็นสุขเวทนานั้น เป็นต้น คำว่า เวทนาสุ ได้แก่เวทนา ๙ คำว่า เวทนานุปสฺสี ได้แก่ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง

    ถ. ข้อว่า อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ สุขํ เวทนํ เวทิยมาโน เป็นต้นนั้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า เมื่อสุขเวทนาเกิดขึ้น ก็ให้มีสติกำหนดรู้ จนเห็นเวทนาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดนิพพิทา วิราคะ วิมุติ

    ถ. ข้อว่า ทุกฺขํ เวทนํ เวทิยมาโน เป็นต้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า เมื่อทุกขเวทนาเกิดขึ้น ก็ให้มีสติกำหนดรู้ จนเห็นทุกขเวทนานั้น เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดนิพพิืทา วิราคะ วิมุติ เช่นเดียวกัน


    ถ. เมื่ออุเบกขาเวทนาเป็นต้นเกิดขึ้น จะพึงปฏิบัติอย่างไร?
    ต. เมื่อเวทนาข้อที่ ๑ จนถึงข้อทีี่ ๙ เกิดขึ้นก็ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับสุขเวทนา คือ ให้กำหนดรู้จนเห็นเวทนานั้น เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดนิพพิทา วิราคะ วิมุติ หลุดพ้นจากอาสวะกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาน

    ถ. คำว่า อามิส หมายความว่าอย่างไร มีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. คำว่า อามิส หมายความว่า เหยื่อ หรือเครื่องหลอกล่อให้สรรพสัตว์หลงติดอยู่ในโลกทั้ง ๓ มีอยู่ ๔ อย่าง คือ
    ๑.วฏฺฏามิสํ อามิส คือ วัฏฏะ ที่เป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งหมด
    ๒. โกลามิสํ อามิสของโลก ได้แก่ กามคุณทั้ง ๕
    ๓. กิเลสามิสํ อามิส คือ กิเลส ได้แก่ กิเลสทั้งหมด
    ๔. มารามิสํ อามิส คือ มารทั้ง ๕ ได้แก่ ขันธมาร อภิสังขารมาร มัจจุราชเทวบุตตมาร

    ถ. พิจารณาเห็นเวทนาภายใน เวทนาภายนอก และพิจารณาเห็นทั้ง ๒ อย่างคือทั้งภายใน ทั้งภายนอกนั้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า พิจารณาเห็นเวทนาของตน เวทนาของคนอื่น และพิจารณาเห็นทั้งของตนและของคนอื่น คือเมื่อพิจารณาเห็นเวทนาของตนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดนิพพิทา วิราคะ วิมุติ ได้แล้วก็สามารถซาบซึ้งถึงเวทนาของคนอื่นทั่วทั้งหมดว่า เป็นดุจพิมพ์เดียวกันอย่างนี้

    ถ. พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น เห็นความเสื่อม และเห็นทั้ง ๒ อย่างนั้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า ผู้นั้นได้กำหนดเวทนานุปัสสนามาดีแล้ว จนสามารถเห็นความเกิดดับของเวทนาได้ดี เพราะมีวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมาโดยลำดับๆ จนถึงญาณที่ ๔ เป็นต้นไป

    ถ. ข้อว่า เวทนามีอยู่ เป็นต้นนั้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า เวทนานั้นมีอยู่จริง แต่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขาทั้งสิ้น เป็นนามซึ่งอาศัยรูปเกิดขึ้นเท่านั้น

    ถ. ข้อว่า อยู่อย่างไม่มีอะไรอาศัยนั้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า ไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิ อาศัยอยู่ เพราะผู้นั้นได้เจริญวิปัสสนา ละตัณหา มานะ ทิฏฐิ ได้แล้ว

    ถ. ข้อว่า ไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกนั้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น เวทนาว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา เพราะละสักกายทิฏบิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เป็นต้นได้แล้ว

    ถ. ปฏิบัติอย่างที่บรรยายมานี้ จะชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ได้เต็มที่แล้วหรือยัง มีอะไรเป็นหลักอ้าง?
    ต. ชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาได้อย่างเต็มที่แล้ว มีพระบาลีในมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นหลักอ้างว่า
    เอวํ โข ภิกฺขเว ภิกฺขุ เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี วิหรติ
    ดูกรท่านผู้เห็นภัยในวัฏกสงสารทั้งหลาย ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ย่อมมีปกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เนืองๆ ด้วยอาการดังที่บรรยายมาด้วยประการฉะนี้
    ถ. การพิจารณาเวทนา จัดเป็นอริยสัจ ๔ ได้อย่างไร?
    ต. จัดเป็นอริยสัจ ๔ ได้อย่างนี้ คือ
    ๑. เวทนาปริคฺคาหิกา สติ ทุกฺขสจฺจํ สติที่กำหนดรู้เวทนา จัดเป็นทุกขสัจ

    ๒. ตสฺสา สมุฏฺฐาปิกา ปุิริมตณฺหา สมุทยสจฺจํ ตัณหาก่อนๆ ที่ยังสตินั้น ให้เกิดขึ้น จัดเป็นสมุทัยสัจ

    ๓.อุภินฺนํ อปฺปวตฺติ นิโรธสจฺจํ ความไม่เป็นไปแห่งทุกข์กับสมุทัย คือ ทุกข์ สมุทัย ดับลงไปอย่างสนิท จัดเป็นนิโรธสัจ

    ๔. ทุกฺขปริชานโน สมุทยปชหโน นิโรธารมฺมโณ อริยมคฺโค มคฺคสจฺจํ อริยมรรค กำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย มีนิโรธเป็นอารมณ์ จัดเป็นมัคคสัจ

    วันนี้ได้บรรยายมหาสติปัฏฐาน ว่าด้วยเวทนานุปัสสนา มาก็นับว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้เพียงเท่านี้.
     

แชร์หน้านี้

Loading...