(๒๘) มรดกธรรมพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 20 ธันวาคม 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๓๖

    บรรยายวันจันทร์ที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๐๖
    เรื่อง

    มหาสติปัฏฐาน
    (ข้อว่า นวสีวถิกาปัพพะ)


    วันนี้จะได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ข้อว่า นวสีวถิกาปัพพะ สืบต่อไป

    ถ. คำว่า นวสีวถิกาปัพพะ แปลและหมายความว่าอย่างไร?
    ต. แปลว่า หมวดที่ว่าด้วยป่าช้า ๙ หมายความว่า กายานุปัสสนาหมวดนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่องป่าช้า ๙ ไว้อย่างละเอียดละออกมา

    ถ. ป่าช้าที่ ๑ มีหลักรับรองว่าอย่างไร?
    ต. มีหลักรับรองไว้ในพระไตรปิฎกว่า
    "ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ เสยฺยถาปิ ปสฺเสยฺย สรีรํ สีวถิกาย ฉฑฺฑิตํ เอกาหมตํ วา ทฺวีหมตํ วา ตีหมตํ วา อุทฺธมาตกํ วินีลกํ วิปุพฺพกชาตํ"
    เป็นต้น แปลเป็นใจความว่า
    " ดูกรท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน นอกจากอานาปนปัพพะ สัมปชัญญะปัพพะ ปฏิกูลปัพพะ ธาตุปัพพะแล้ว ยังมีอยู่อีก คือ ท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร พึงเห็นสรีสระที่เขาทิ้งไว้แล้วในป่าช้าพึี่งตายได้วันหนึ่ง สองวัน หรือสามวัน กำลังขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด ซากศพนี้ย่อมเป็นฉันใด เธอก็น้อมเข้ามาสู่กายของตนนี้นี่แลว่า แม้ร่างกายนี้ก็จะต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกัน ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้" ดังนี้
    ถ. วิธีปฏิบัติในป่าช้าข้อที่ ๑ นี้ จะกำหนดอย่างไรจึงจะได้ผลดี ขอให้ยกตัวอย่างมาประกอบอธิบายด้วย?
    ต. มีวิธีปฏิบัติเป็น ๒ ขั้น คือ
    ขั้นที่ ๑ ใช้ซากศพที่ตายได้วันหนึ่ง สองวัน สามวัน มาเป็นอารมณ์กรรมฐานก่อน คือเอามาเป็นบาทเบื้องต้น เอามาเป็นยานพาหนะขี่ไปสู่วิปัสสนาญาณสูงๆ ขึ้นไป เช่นไปสู่ป่าช้าที่มีซากศพเช่นนั้น และต้องให้ได้ซากศพที่เป็นสภาคกันคือ ถ้าเป็นผู้ชายก็ให้ได้ซากศพของผู้ชาย ถ้าเป็นผู้หญิงก็ให้ได้ซากศพของผู้หญิง จึงจะถูกต้องตามวิธีปฏิบัติ เมื่อได้ซากศพแล้วให้ภาวนาว่า "อุทฺธุมาตกํ ปฏิกูลํ" ประมาณสัก ๓๐ นาที แล้วเริ่มพิจารณาว่า
    อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน
    อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข.

    สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ตายไปอย่างนี้ ถ้าสังขารเหล่านี้สงบระงับเสียได้ คือไม่เกิดอีก เป็นสุข ดังนี้ได้พิจารณาด้วยคาถาบทนี้ประมาณ ๓๐ นาที

    ต่อจากนั้น ให้พิจารณาว่า ซากศพที่ตายนี้ ฉันใด สรีระของเธอนี้ก็ย่อมเป็นฉันนั้น แล้วใช้สติกำหนดที่ท้อง โดยภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ ต่อไปจนกว่าจะเห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ได้มรรค ผล นิพพาน วิธีนี้เรียกว่า สมถยานิก แปลว่าเอาสมถกรรมฐานมาเป็นยาน คือเป็นบาท เป็นพาหนะสำหรับขี่ไปสู่วิปัสสนาได้ผลดีเหมือนกัน

    ตัวอย่างในเรื่องนี้ มีปรากฎอยู่ในธรรมบทภาค ๑ เรื่องพระมหากาล ใจความย่อว่า
    เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอาศัยเสตัพยนคร ประทับอยู่ที่ป่าไม้สีเสียด ทรงแสดงธรรมประชาชนเป็นจำนวนมาก วันหนึ่งมหากาลเห็นชาวเมืองสาวัตถีถือดอกไม้รูปเทียนไปฟังธรรม จึงติดตามไปฟังด้วย วันนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปพพิกถา ๕ มหากาลได้ฟังแล้ว เกิดความคิดขึ้นมาว่า

    สพฺพํ กิร ปหาย คนฺตพฺพํ ปรโลกํ คจฺฉนฺตํ เนว โภคา น ญาติโย อนุคจฺฉนฺติ กึ เม ฆราวาเสน ปพฺพชิสฺสามิ.

    แน่นอนเหลือเกิน คนทุกๆ คน จะต้องละิทิ้งสิ่งทั้งปวงไป โภคะทั้งหลายก็ดี ญาติพี่น้องทั้งหลายก็ดี ไม่ติดตามบุคคลผู้ไปสู่ปรโลกได้เลย เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะอยู่ครองเรือนเอาประโยชน์อะไร เราจักต้องบวชแน่ละ
    มหากาลจึงไปลาพี่่น้องญาติมิตรแล้วบวช ครั้นบวชแล้ว ได้เข้าไปกราบทูลถามถึงธุระในพระพุทธศาสนาว่ามีเท่าไร พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า มีอยู่ ๒ ประการ คือ
    ๑. คันถธุระ ได้แก่ การเรียนพระพุทธพจน์นิกายหนึ่ง สองนิกาย สามนิกาย สี่นิกาย หรือจบทั้งพระไตรปิฎก
    ๒. วิปัสสนาธุระ ได้แก่ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

    ท่านขอเรียนวิปัสสนา สมาทานพระกรรมฐานจากพระพุทธองค์ ถือธุดงค์คือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตรอีกข้อหนึ่ง ท่านตั้งใจปฏิบัติอย่างเต็มที่ วันหนึ่ง มีคนนำศพมามอบให้นางกาลีผู้เฝ้าป่าช้าเผา นางได้ไปกราบเรียนท่่านให้มาปลงพระกรรมฐาน ท่านไปในเวลาศพกำลังถูกไฟเผา ศพมีสีเหมือนกับแม่โคด่าง เท้างอหงิกห้อยลง มือทั้ง ๒ กำเข้า หนังหน้าผากลอกออกไป ท่านเริ่มปลงกรรมฐานขึ้นต้นๆ ว่า

    "อิทํ สรีรํ อิทาเนว โอโลเกนฺตานํ อปริยนฺตีกรํ หุตฺวา อิทาเนว ขยปฺปติตํ วยปฺปตฺตํ"

    เมื่อก่อนสรีระนี้ทำให้คนทั้งหลายผู้แลดูอยู่เกิดความกระสัน ไม่วายรักเลย แต่บัดนี้ถึงความสิ้น ถึงความเสื่อมไปแล้ว

    ท่านกลับไปที่พักกลางคืนนั่งขัดสมาธิพิจารณากรรมฐานขั้นกลางๆ ต่อไปคือพิจารณาถึงความสิ้นและความเสื่อมอยู่ว่า

    อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน
    อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข.

    ต่อจากนั้นก็เจริญวิปัสสนาอย่างเต็มที่ โดยกำหนดกาย เวทนา จิต ธรรมไม่ช้าไม่นานท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔

    ขั้นที่ ๒ ใช้ซากศพเป็นๆ คือซากศพที่ยังไม่ตายเป็นอารมณ์พระกรรมฐานได้แก่ รูปนามของผู้ปฏิบัตินั่นเอง โดยพิจารณาที่สกลกายของตัวเรานี้แหละ ภาวนาในขั้นต้นๆ ว่า

    อุทฺธุมตกํ ปฏิกูลํ วินีลกํ ปฏิกูลํ วิปุพฺพกชาตํ ปฏิกูลํ

    สรีระนี้จะต้องพองขึ้น เป็นของน่าเกลียด สรีระนี้จะต้องมีสีเขียว เป็นของน่าเกลียด สรีระนี้จะต้องมีน้ำเหลืองไหลออกเป็นแน่ เป็นของน่าเกลียดแท้

    พิจารณาอย่างนี้ประมาณ ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที อย่าให้สติออกหนีจากกายได้เป็นดี

    การพิจารณาอย่างนี้เป็นจินตามยปัญญา คือเป็นปัญญาขั้นคิดเอาถูกครึ่งหนึ่งผิดครึ่งหนึ่ง อยู่ในเขตสมถกรรมฐาน กับวิปัสสนากรรมฐานต่อกัน

    ต่อจากนั้นให้ใช้สติกำหนดที่ท้อง โดยภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ ต่อไป ถ้าพอง ยุบ ไม่ปรากฎชัดจะเปลี่ยนเป็น นั่งหนอ ถูกหนอ ก็ได้

    เมื่อกำหนดติดต่อกันไปประมาณสัก ๑ ชั่วโมง หรือ ๒ ชั่วโมง ก็สามารถจะเห็นความเกิดดับของรูปนามได้ เมื่อเห็นความเกิดดับของรูปนามเมื่อใด ก็ชื่อว่าเข้าเขตภาวนามยปัญญาเมื่อนั้น เริ่มตั้งแต่ญาณที่ ๔ คืออุทยัพพยญาณ เป็นต้นไป จนกระทั่วถึงญาณที่ ๑๖ คือ ปัจจเวกขณญาณเป็นปริโยสาน

    การกำหนดโดยวิธีนี้เรียกว่า วิปัสสนายานิก แปลว่า เอาวิปัสสนาเป็นยานเป็นรถ เป็นพาหนะ ขี่ไปสู่มรรค ผล นิพพาน โดยตรงเลย ไม่ต้องไปจับสมถะมาเป็นบาทให้มากเหมือนขั้นหนึ่งก็ได้

    แต่ถ้าจะกล่าวตามความเป็นจริงแล้ว สมถะกับวิปัสสนานั้น สำหรับผู้เจริญมรรค ๘ ตามนัยแห่งสติปัฏฐานแล้วจะต้องอาศัยซึ่งกันและกันโดยแท้

    ถ. ถ้าประสงค์จะปฏิบัติวิปัสสนาให้ย่อๆ กว่านี้แต่ให้ได้ผลดีเท่าๆ กัน จะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรบ้าง?
    ต. มีวิธีปฏิบัติอย่างนี้ คือ
    ๑. ให้เดินจงกรมเสียก่อนประมาณ ๓๐ นาทีเป็นอย่างต่ำ ๑ ชั่วโมงเป็นอย่างสูง เอาสติไว้ที่ส้นเท้า ภาวนาว่า "ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ"
    ๒. เมื่อเดินจงกรมครบกำหนดแล้ว ให้นั่งลงคือนั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้ให้ดี หลับตา เอาสติไว้ที่ท้องพิจารณาว่า "พองหนอ ยุบหนอ" ประมาณ ๓๐ นาที เป็นอย่างต่ำ ๑ ชั่วโมงเป็นอย่างสูง

    ถ้านั่งครบกำหนดแล้ว ให้ลุกขึ้นเดินจงกรมอีก นั่งอีก ทำให้ติดต่อกันไปอย่างนี้ ก็สามารถจะได้ผลดีเท่าๆ กัน โดยมากนิยมปฏิบัติกันอย่างนี้ ปรากฎว่าได้ผลดีทุกๆ ราย เว้นไว้แต่ผู้ที่ไม่ตั้งใจทำ หรือทำไม่จริง ทำเล่นๆ ทำเพื่อทดลองดูเท่านั้น ถ้ายังเป็นนักลองอยู่อย่างนี้ตราบใดก็จะไม่พบของจริงตราบนั้น
    ถ. คำว่า มีปกติพิจารณาเห็นกายนกายภายในอยู่เนืองๆ ในป่าช้าที่ ๑ นี้หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า พิจารณาเห็นรูปนามของตัวเอง

    ถ. คำว่า มีปกติพิจารณาเห็นกายในกายในภายนอกอยู่เนืองๆ ในป่าช้าีที่ ๑ นี้หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่าพิจารณาเห็นรูปนามของคนอื่น

    ถ. คำว่า มีปกติพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่เนืองๆ หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า พิจารณาเห็นรูปนามของตัวเอง และพิจารณาเห็นรูปนามของคนอื่น คือบางครั้งก็พิจารณาเห็นรูปนามของตัวเอง บางครั้งก็พิจารณาเห็นรูปนามของคนอื่น

    ถ. คำว่า มีปกติพิจารณาเป็นธรรม คือความเกิดขึ้น มีปกติพิจารณาเห็นธรรมคือความดับไป และมีปกติพิจารณาเห็นธรรม ทั้งความเกิดทั้งความดับในกายกายอยู่เนืองๆ นั้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า พิจารณาเห็นรูปนามเกิด และดับอยู่ทุกครั้งในเวลาที่นั่งพิจารณาอยู่นั้น โดยใจความย่อๆ ก็ได้แก่ อุพยัพพยญาณ คือญาณที่ ๔ เป็นต้นไปนั่นเอง

    ถ. คำว่า อตฺถิ กาโย กายมีอยู่ สติของผู้ปฏิบัิติก็ปรากฎอยู่เฉพาะหน้าเพียงแต่รู้ เพียงแต่ระลึกได้นั้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า วิปัสสนาปัญญาของท่านผู้นั้นถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว

    ถ. คำว่า อนิสฺสีโต จ วิหรติ ตัณหา มานะ ทิฏฐิไม่อาศัยนั้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า ผู้นั้นปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้ผลดีแล้ว คือมรรคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขญาณเกิดแล้ว

    ถ. คำว่า น จ กิฺญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นอะไรเลยในโลกนั้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า ไม่ยึดมั่นขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตน เรา เขา เพราะละสักกายทิฏฐิเป็นต้นเสียได้แล้ว
    เอวมฺปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ
    ดูกร ท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร มีปกติพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เนืองๆ
    ดังที่ได้บรรยายมาอย่างนี้

    ถ. การกำหนดอาการพองและยุบของท้อง โดยภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ นั้นจะถูกป่าช้าข้อที่ ๑ หรือไม่ เพราะเหตุไร?
    ต. ถูกแน่นอน เพราะความตายนั้นมีอยู่ ๓ อย่างคือ ขณิกมรณะ ๑ สมบัติมรณะ ๑ สมุจเฉทมรณะ ๑ รูปกับนามของแต่ละบุคคลนี้ เมื่อว่่าตามหลักปรมัตถ์คือพระอภิธรรมแล้ว ตายอยู่ทุกขณะ ผู้ภาวนาว่า พอง ยุบ จึงถูกรูปถูกนาม เมื่อรูปนามอยู่ที่ไหน ความตายก็อยู่ที่นั้น เมื่อความตายอยู่ที่ไหน ป่าช้าข้อที่ ๑ ก็อยู่ที่นั้นเช่นเดียวกัน

    ถ. การพิจารณาป่าช้าข้อที่ ๑ นี้ จัดเป็นอริยสัจ ได้อย่างไร?
    ต. จัดเป็นอริยสัจได้อย่างนี้ คือ
    ๑. ปฐมสีวฏฺฐกาปริคฺคาหิกา สติ ทุกฺขสจฺจํ
    สติที่กำหนดป่าช้าข้อที่ ๑ จัดเป็นทุกขสัจ
    ๒. ตสฺสา สมุฏฺฐปิกา ปุริมตณฺหา สมุทยสจฺจํ
    ตัณหาก่อนๆ ที่ยังสตินั้นให้เกิดขึ้น จัดเป็นสมุทยสัจ
    ๓. อุภินนํ อปฺปวตฺติ นิโรธิสจฺจํ
    ทุกข์กับสมุทัยดับลงไป จัดเป็นนิโรธสัจ
    ๔. ทุกฺขปริชานโน สมุทยปชหโน นิโรธารมฺรโณ อริยมคฺโค มคฺคสจฺจํ
    อริยมรรคมีองค์ ๘ กำหนดรู้ทุกข์ และสมุทัย มีนิพพานเป็นอารมณ์ จัดเป็นมัคคสัจ

    วันนี้ ได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ว่าด้วยป่าช้า ๙ ข้อที่ ๑ มา ก็นับว่าสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้

     

แชร์หน้านี้

Loading...