(๒๖) วิมุตติมรรค:ทางแห่งความหลุดพ้น(ภาคปัญญา)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 12 พฤษภาคม 2010.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

    ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
    ขอนอบน้อมแด่พระอรหันต์ อุปติสสะะ ผู้รจนา หนังสือวิมุตติมรรค


    ผนวกที่สอง
    สัพพาสวสังวรสูตร

    การละอาสวะกิเลสด้วยวิธีต่างๆ


    บทนำ

    สัพพาสวสังสรสูตร เป็นพระสูตรที่ ๒ ของมัชฌิมนิกาย มูลปัณนาสก์เป็นพระสูตรที่อธิบายถึงการละอาสวะต่างๆไว้อย่างครบถ้วน ที่สำคัญที่สุดก็คือการละอาสวะด้วยโสดาปัตติมรรค ซึ่งในพระสูตรนี้เรียกว่าการละอาสวะด้วยการเห็น (ทรรศนะ) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนการปฏิบัติเพื่อโสดาปัตติมรรค ด้วยวิธีพิจารณาอย่างแยบคายในอริยสัจสี่ อรรถกถาของพระสูตรนี้เรียบเรียงโดยท่านพระพุทธโฆษาจารย์ (ผู้เรียบเรียงวิสุทธิมรรค) ถึงกับกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าสอนการเจริญวิปัสสนากรรมฐานด้วยโยนิโสมนสิการล้วนๆ ทีเดียว คือเจริญวิปัสสนาโดยเกือบไม่ต้องใช้อารมณ์ปัจจุบันเลย หนังสือวิมุตติมรรคเล่มนี้ก็อธิบายวิธีการปฏิบัติตามแนวทางของพระสูตรนี้ ดังนั้นจึงขอยกพระสูตรนี้มาแสดงทั้งสูตร พร้อมด้วยสรุปอรรถาธิบายจากอรรถกถาของพระสูตรนี้

    ในพระสูตรนี้สอนการละอาสวะไว้ ๗ วิธีคือ การละอาสวะด้วยทัสนะ (โสดาปัตติมรรค) การละอาสวะด้วยการสังวร การละอาสวะด้วยการพิจารณา การละอาสวะด้วยการอดกลั้น การละอาสวะด้วยการเว้น การละอาสวะด้วยการบรรเทา การละอาสวะด้วยการอบรม ( ภาวนา คือด้วยมรรคชั้นสูงขึ้นไปจนถึงอรหัตมรรค)

    ในตอนที่ ๑ ว่าด้วยอาสวะที่ละได้เพราะทัสนะ (การเห็น) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิบายธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ๑๖ อย่าง มักเรียกกันว่า ธรรมอันเป็นเหตุเพื่อความสงสัย ๑๖ อย่าง การค้นหาคำตอบของปัญหาเหล่านี้จึงเป็นต้นเหตุแห่งความยึดถือ ๖ ทิฏฐิ การนำเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาแสดงก็เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้มีความรู้ยิ่ง (อภิญเญยยะ) จะได้กำหนดรู้และละเสีย อันจะนำมาซึ่งการละสักกายทิฏฐิ และพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนธรรมที่ควรมนสิการอันได้แก่อริยสัจสี่ อันเป็นทางทำให้ละสักกายทิฏฐิได้ในที่สุด แท้จริงแล้ว การละอาสวะด้วยวิธีแรก (โสดาปัตติมรรค) และการละอาสวะด้วยวิธีสุดท้ายคือการอบรม ( ภาวนาเพื่อมรรคขั้นสูงๆ ขึ้นไป) การละอาสวะทั้งสองวิธีนี้ก็เป็นการละอาสวะได้ทุกชนิดแล้ว และเป็นการละแบบสมุจเฉทปหาน คือ ละได้เด็ดขาดด้วย เหตุใดพระพุทธองค์จึงทรงสอนการละอาสวะเพิ่มอีก ๕ วิธีเล่า ซึ่งทั้ง ๕ วิธีนี้ก็ไม่ใช่การละชนิดเด็ดขาด เป็นแต่เพียงการข่มไว้ชั่วคราวเท่านั้น?

    คำตอบเรื่องนี้ ท่านอรรถกถาจารย์กล่าวว่า การข่มอาสวะได้ ๕ วิธีนั้น ทำให้กิเลสต่างๆ อ่อนแรงลง ยิ่งข่มไว้ได้นานมาก กิเลสก็ย่อมอ่อนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อกิเลสอ่อนแรงลงมากแล้ว การละด้วยมรรคคือการละด้วยวิธีที่ ๑ และวิธีสุดท้ายก็จะทำได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการปฏิบัติด้วยการละอาสวะในวิธีที่ ๒ ถึงวิธีที่ ๖ จึงต้องทำอยู่ตลอดเวลา การเจริญภาวนาจนถึงมรรคผลนิพพานจึงจะเป็นไปได้สำเร็จ

    (จบบทนำ)


     
  2. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    สัพพาสวสังวรสูตร

    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถปิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงปริยายว่า ด้วยการสังสรอาสวะทั้งปวงแก่พวกเธอ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภิาคเจ้าได้ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นอาสวะไว้ สำหรับภิกษุผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ เราไม่กล่่าวความสิ้นอาสวะไว้สหรับภิกษูผู้ไม่รู้ ไม่เห็นภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นอาสวะจะมีได้แก่ภิกษุผู้รู้อะไร เห็นอะไร ความสิ้นอาสวะจะมีได้แก่ภิกษุผู้รู้ เห็น โยนิโสมนสิการและอโยนิโสมนสิการ

    ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมนสิการโดยไม่แยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และอาสวะที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ ภิกษุทั้งหลายเมื่อภิกษุมนสิการะโดยแยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และอาสวะที่เกิดขึ้นแล้ย่อมละเสียได้

    ภิกษุทั้งหลาย (๑) อาสวะที่พึงละได้ด้วยการเห็นก็มี (๒) ที่จะพึงละได้ด้วยการสังวรก็มี (๓) ที่จะพึงละได้ด้วยการเสพเฉพาะก็มี (๔) ที่จะพึงละได้เพราะความอดกลั้นก็มี (๕) ที่จะพึงละได้เพราะเว้นรอบก็มี (๖) ที่จะพึงละได้เพราะบรรเทาก็มี (๗) ที่จะพึงละได้เพราะอบรมก็มี

    (๑) อาสวะที่พึงละได้ด้วยการเห็น ภิกษุทั้งหลายก็อาสวะเหล่าไหนที่จะพึงละได้เพราะการเห็น?

    ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่รู้ธรรมอันตนควรมนสิการ เมื่อเขาไม่รู้ธรรมที่ควรมนสิการ ไม่รู้ธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมมนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ไม่มนสิการธรรมที่ควรมนสิการ

    ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ที่ปุถุชนมนสิการอยู่เป็นไฉน?
    เมื่อปุถุชนมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสะวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดข้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ ธรรมเหล่านี้ไม่ควรมนสิการ ซึ่งเขามนสิการอยู่

    ภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรมนสิการ ที่ปุถุชนไม่มนสิการอยู่เป็นไฉน?
    เมื่อปุถุชนไม่มนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป ธรรมเหล่านี้ควรมนสิการซึ่งเขาไม่มนสิการอยู่ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญแก่ปุถุชนนั้น เพราะมนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และเพราะไม่มนสิการธรรมที่ควรมนสิการ

    ปุถุชนนั้นมนสิการโดยไม่แยบคายดังนี้ว่า เราได้มีแล้วในอดีตกาลอันยืดยาวนานหรือหนอ หรือเราไม่ได้มีแล้วในอดีตกาลอันยืดยาวนาน ในอดีตกาลอันยืดยาวนาน เราได้เป็นอะไรหนอ ในอดีตกาลอันยืดยาวนาน เราได้เป็นอย่างไรหนอ ในอดีตกาลอันยืดยาวนานเราได้เป็นอะไร แล้วจึงเป็นอะไรหนอ ในอนาคตอันยืดยาวนาน เราจักเป็นหรือหนอ ในอนาคตอันยืดยาวนาน เราจักไม่เป็นหรือหนอ ในอนาคตอันยืดยาวนาน เราจักเป็นอะไรหนอ ในอนาคตอันยืดยาวนาน เราจักเป็นอย่างหนอ ในอนาคตอันยืดยาวนาน เราจักเป็นอะไร แล้วจึงจักเป็นอะไรหนอ

    หรือว่า ปรารภกาลปัจจุบันอันยายนานในบัดนี้ มีความสงสัยขึ้นภายในว่า เรามีอยู่หรือ หรือเราไม่มี เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ สัตว์นี้มาแต่ไหนหนอ และจักไปไหน

    เมื่อปุถุชนมนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ บรรดาทิฏฐิ ๗ ทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้น ทิฏฐิ โดยจริงโดยแท้ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนนั้นว่า อัตตาของเรามีอยู่ หรือว่าอัตตาของเราไม่มีอยู่ หรือว่าเราย่อมรู้อัตตาด้วยอัตตาเอง หรือว่าเราย่อมรู้สภาะที่ไม่ใช่อัตตาด้วยอัตตา หรือว่าเราย่อมรู้อัตตาด้วยสภาพมิใช่อัตตา

    อีกอย่างหนึ่ง ทิฏฐิย่อมเกิดแก่ปุถุชนนั้นอย่างนี้ว่า อัตตาของเรานี้ได้เป็นผู้(บงการ) เสวย ย่อมเสวยวิบากของกรรมทั้งดีทั้งชัี่วในอารมณ์นั้นๆ อัตตาของเรานี้เป็นของเที่ยง ยั่งยืน ติดต่อ ไม่แปรปรวน จัดตั้งอยู่อย่างนั้นเสมอด้วยสิ่งที่ยั่งยืนแท้

    ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เรากล่าว่า ทิฏฐิ ชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนามคือทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ สังโยชน์ (สิ่งที่ประกอบสัตว์ไว้) คือทิฏฐิ

    ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เรากล่าวว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ผู้ประกอบด้วยทิฏฐิสังโยชน์ ย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ย่อมไม่พ้นจากทุกข์

    ภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้สดับ ผู้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ได้รับแนะนำด้วยดีในธรรมของพระอริยเจ้า ผู้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำด้วยดีในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมรู้ธรรมที่ควรมนสิการและไม่ควรมนสิการ ย่อมไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ

    ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าไหนที่อริยสาวกไม่ควรมนสิการ?
    ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออริยสาวกมนสิการธรรมเหลาใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ ธรรมเหล่านี้ไม่ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกไม่มนสิการ

    ภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรมนสิการเหล่าไหน ที่อริยสาวกมนสิการอยู่?
    คือเมื่ออริยสาวกมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ด ที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป ธรรมเหล่านี้ที่ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกมนสิการอยู่ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดจะไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเสื่อมสิ้นไปเพราะอริยสาวกนั้น ไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการและเพราะมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ อริยสาวกย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการโดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ ๓ คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเป็นอันเธอละได้ ภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เราตถาคตกล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการเห็น

    อ่านต่อ (๒) อาสวะที่ละได้เพราะการสังวร
     
  3. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    (๒) อาสวะที่ละได้เพราะการสังวร

    ภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหนที่จะพึงละได้ด้วยการสังวร?
    ภิกษุทั้งหลาย คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในจักขุนทรีย์อยู่ ภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่สำรวมจักขุนทรีย์ อาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้สำรวมจักขุนทรีย์อยู่อย่างนี้ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในโสตินทรีย์อยู่... ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วในฆานินทรีย์อยู่... ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในชิวหินทรีย์อยู่... ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในกาอินทรีย์อยู่... ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใดพึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่สำรวมมนินทรีย์ อาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้สำรวมมนินทรีย์อยู่อย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เราตถาคตกล่าวว่าจะพึงละได้ด้วยการสังวร

    (๓) อาสวะที่ละได้ด้วยการพิจารณา

    ภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะการพิจารณาเสพ?
    ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพจีวรเพียงเพื่อกำจัดหนาว ร้อน สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อจะปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ

    พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบิณฑบาต มิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อตบแต่ง เพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ เพียงให้เป็นไป เพื่อกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า จะกำจัดเวทนาเก่าเสียด้วย จะไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไป ความไม่มีโทษ และความอยู่สบายด้วย จักมีแก่เราฉะนี้

    พิจารณาโดยแยบคายแล้ว แล้วเสพเสนาสนะ เพียงเพื่อกำจัดหนาว ร้อน สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเืพื่อบรรเทาอันตรายแต่ฤดู เพื่อรื่นรมย์ในการหลีกเร้นอยู่

    พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบริขาร คือยาอันเป็นปัจจัยแ่ก่คนไข้ เพียงเพื่อกำจัดเวทนาที่เกิดแต่อาพาธต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความเป็นผู้ไม่มีอาพาธเบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง

    ภิกษุทั้งหลาย อาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่พิจารณาเสพปัจจัยอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้พิจารณาเสพอยู่อย่างนี้ ภิกษุทั้งหลายอาสวะเหล่านี้ เราตถาคตกล่าวว่า จะพึงละได้ด้วยการพิจารณาเสพ

    (๔) อาสวะที่ละได้เพราะความอดกลั้น

    ภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหนที่จะพึงละได้เพราะความอดกลั้น?
    ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว กระหาย สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เป็นผู้มีชาติของผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำที่ผู้อื่นกล่าวชั่ว ร้ายแรง ต่อเวทนาที่มีอยู่ในตัว ซึ่งบังเกิดขึ้นเป็นหนัก หนา แข็ง กล้า ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่ชอบใจ อาจพร่าชีวิตเสียได้

    ภิกษุทั้งหลาย อาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่อดกลั้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้อดกลั้นอยู่อย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เราตถาคตกล่าวว่า จะพึงละได้เพราะความอดกลั้น

    (๕) อาสวะที่ละได้เพราะการเว้น

    ภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหนที่จะพึงละได้เพราะความเว้นรอบ

    ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว หลีกหนีช้างที่ดุร้าย ม้าที่ดุร้าย โึคที่ดุร้าย สุนัขที่ดุร้าย งู หลักตอ สถานที่มีหนาม บ่อ เหวที่ี่ที่เต็มด้วยของไม่สะอาด โสโครก เพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลาย พึงกำหนดลงซึ่งบุคคลผู้นั่ง ณ ที่ไม่ใช่อาสนะเห็นปานใด ผู้เที่ยวไปในที่มิใช่โคจเห็นปานใด ผู้คบมิตรที่ลากมกเห็นปานใด ในสถานทั้งหลายอันลามก ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เว้นที่มิใช่อาสนะนั้น ที่มิใช่โคจรนั้น และมิตรผู้ลากมกเหล่านั้น ภิกษุทั้งหลาย จริงอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่เว้นสถานหรือบุคคลอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้เว้นรอบอยู่อย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เราตถาคตกล่าวว่า จะพึงละได้เพราะความเว้นรอบ

    (๖) อาสวะที่ละได้เพราะการบรรเทา

    ภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหนที่จะพึงละได้เพราะการบรรเทา?

    ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา กามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ทำให้ถึงความไม่มี

    ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา พยาบาทวิตกที่เิกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ทำให้ถึงความไม่มี

    ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา ธรรมที่เป็นวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญทำให้ถึงความไม่มี

    ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา ธรรมที่เป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล ทำให้สิ้นสูญ ทำให้ถึงความไม่มี

    ภิกษุทั้งหลายก็อาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่บรรเทาธรรมอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้บรรเทาอยู่อย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เราตถาคตกล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการบรรเทา

    (๗) อาสวะที่ละได้เพราะการอบรม

    ภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหนที่จะพึงละได้ด้วยการอบรม?
    ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสลัดออก
    เจริญธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์...
    เจริญวิริยสัมโพชฌงค์...
    เจริญปีติสัมโพชฌงค์...
    เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์...
    เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์...
    เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสลัดออก
    ภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่อบรมธรรมอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้อบรมอยู่อย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เราตถาคตกล่าวว่า จะพึงละได้เพราะอบรม

    ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเหตุว่าอาสวะเหล่าใด อันภิกษุใด จะพึงละได้ด้วยการเห็นอาสวะเหล่านั้น ภิกษุละได้แล้วเพราะการเห็น อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุจะพึงละได้เพราะการสังวร อาสวะเหล่านั้นเป็นอันภิกษุละได้แล้วเพราะการสังวร อาสวะเหล่าใด อันภิกษุใดจะพึงละได้เพราะการพิจารณาเสพ อาสวะเหล่านั้น ภิกษุละได้แล้วเพราะการพิจารณาเสพ อาสวะเหล่าใด อันภิกษุใด จะพึงละได้ด้วยการเว้นรอบ อาสวะเหล่านั้น ภิกษุละได้แล้วเพราะการเว้นรอบ อาสวะเหล่าใด อันภิกษุใด จะพึงละได้ด้วยการบรรเทา อาสวะเหล่านั้น ภิกษุละได้แล้วเพราะการบรรเทา อาสวะเหล่าใด อันภิกษุใด จะพึงละได้ด้วยการอบรม อาสวะเหล่านั้น ภิกษุละได้แล้วเพราะการอบรม

    ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่าเป็นผู้สำรวมด้วยการสังวรในอาสวะทั้งปวงอยู่ตัดตัณหาได้แล้ว ยังสังโยชน์ให้ปราศไปแล้ว ได้ที่สุดทุกข์เพราะความตรัสรู้ ด้วยการเห็นและการละมานะโดยชอบ

    พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสังวรปริยายนี้แล้วว ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉะนี้แล

    (จบสัพพาสวสังวรสูตร)

    อ่า่นต่อ อรรถกถาสัพพาสวสังวรสูตร


     
  4. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    อรรถกถาสัพพาสังวรสูตร

    คำอธิบายจากอรรถกถา สรุปเฉพาะข้อความที่สำคัญ
    อาสวะ
    อธิบายคำว่า อาสวะ

    อาสวะหมายถึงกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน มีอำนาจในการควบคุมการแสดงทางกาย วาจา ใจให้เป็นไปตามอำนาจของอาสวะนั้นๆ ในอารมณ์อันเป็นที่ผูกพันของอาสวะนั้น ตัวอย่างเช่น กามาสวะอันเป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต เมื่อมีอารมณ์เช่นรูปที่อาสวะนั้นผูกพันอยู่ ก็จะแสดงออกด้วยความรัก ความชอบใจ หรือความต้องการในอารมณ์นั้น เป็นต้น

    อาสวะมีอยู่ ๓ หรือ ๔ ประเภท คือกามาสวะ คือกิเลสในกามคุณห้า ที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ภวาสวะ คือกิเลสทที่ผูกพันอยู่กับภพทั้งสามภพ (กามาวจรภพ รูปภพ อรูปภพ) หรือกิเลสที่ผูกพันอยู่กับฌานอันมีรูปฌานและอรูปฌาน อวิชชาสวะ เป็นกิเลสที่เกิดร่วมกับอาสวะต่่างๆ อวิชชาสวะนี้เป็นอาสวะที่เกิดจากความไม่รู้ตามความเป็นจริงของสิ่งหรืออารมณ์ต่างที่ที่เข้ามาสู่จิต ทิฏฐาสวะ เป็นชื่อของอาสวะอันเกิดจากความยึดมั่นว่ามีตัวตน มีการแสดงออกถึงการยึดถือความเป็นต้น ความเป็นของตน เพราะความไม่รู้จริงในเรื่องของตน ซึ่งก็คืออวิชชาสวะนั่นเอง ท่านจึงไม่ใคร่แยกออกเป็นอาสวะต่างหากอีก โดยกล่าวรวมว่าเป็นอวิชชาสวะ

    อาสวะเหล่านี้ ละได้เด็ดขาด โดยโสดาปัตติมรรค ละทิฏฐาสวะ อนาคามีมรรค และกามาสวะ อรหัตมรรคละภวสวะและอวิชชาสวะ

    สังวร

    อธิบายคำว่า สังวร สังวรหมายถึงการปิดกั้น หยุดยั้ง มิให้อาสวะมีอำนาจในการแสดงออกมา ทางกาย วาจา หรือใจ การสังวรมี ๕ ชนิดคือสีลสังวร ปิดกั้นไว้ด้วยอำนาจศีลที่ตนรักษาไว้อย่างดี โดยที่ไม่ยอมให้มีการกระทำที่ล่วงละเมิดในบทของศีลที่ระบุไว้ในปาติโมกขศีล สติสังวร เป็นการปิดกั้นไว้ด้วยการมีสติอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีอารมณ์มากระทบทางทวารทั้งห้าก็ไม่ยอมให้อาสวะมีอำนาจมาควบคุมอารมณ์นั้นๆ คือไม่ยอมให้ความชอบใจหรือไม่ชอบใจเกิดขึ้น สติที่มีกำลังจะต้องควบคู่ไปกับปัญญาเสมอปัญญาจะคอยบอกให้ทราบว่าอารมณ์เหล่านั้นมีสภาวะตามความเป็นจริงอย่างไร ความลุ่มหลงในอารมณ์นั้นๆ จึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามอำนาจของอาสวะ ญาณสังวรเป็นการปิดกั้นด้วยปัญญา คือรู้สภาวะของสิ่งเหล่านั้นตามความเป็นจริง รู้ถึงคุณ รู้ถึงโทษ และวิธีการสลัดออกจากความลุ่มหลงในอารมณ์นั้นๆ ขันติสังวรปิดกั้นไม่ให้อาสวะมีอำนาจโดยการอดทนต่อความทุกข์ทรมานที่เกิดจากสิ่งนั้นๆ การอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์เดือดร้อนจากอารมณ์นั้นโดยไม่ยอมสละออกไปเรียกวา อธิวาสนะ ขันติ แต่ใช้ความทุกข์จากอารมณ์นั้นๆ ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน วิริยสังวรเป็นการปิดกั้นด้วยความเพียร พยายาม เพื่อบรรเทายับยั้งหรือหยุดความคิดที่เป็นอกุศลอันเกิดขึ้นในจิต เช่น กามวิตก (ความคิดในเรื่องกาม) เป็นต้น

    (หมายหตุ การสังวรทุกชนิด มีองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะขาดไม่ได้ในสังวรเหล่านั้น คือสติและปัญญา ในบาลีท่านมักใช้คำว่า มีสติและปัญญารักษาตัว)


    ญาณทัสนะ

    อธิบายญาณทัสนะ ความรู้ ความเห็นตามความเป็นจริงในสิ่งนั้นๆ เรียกว่า ญาณทัสสนะ ถามว่า รู้ เห็นอย่างไร ตอบว่า รู้เห็นว่า สิ่งที่เกิดจากการประชุมร่วมกันของปัจจัยต่างๆ นั้น ล้วนไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่เป็นไปในอำนาจของใครๆ ไม่ใช่สิ่งสวยงามอะไร สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะมีปัจจัยต่างๆ ที่เหมาะสมมาประชุมร่วมกัน เมื่อหมดเหตุปัจจัย สิ่งนั้นก็ย่อมดับไป เสื่อมไปสลายไป ความรู้นี้รวมถึงความรู้ในเหตุปัจจัยของสิ่งนั้นๆ ตามหลักปฏิจจสมุปบาทด้วย

    โยนิโสมนสิการ

    อธิบายคำว่า โยนิโสมนสิการ คำว่ามนสิการหมายถึง การน้อมนึก การนึก การผูกใจ การใฝ่ใจ การทำไว้ในใจ คำว่า โยนิโส หมายถึงถูกทาง ถูกวิธี หรือโดยแยบคายคือโดยถูกต้อง ดังนั้น คำว่า โยนิโสมนสิการ คือการน้อมนึกไปในทางที่ถูกต้อง น้อมนึกไปถูกวิธีท่านมักแปลกันว่าการทำไว้ในใจโดยแยบคาย

    การน้อมนึกอย่างถูกวิธีคืออย่างไร?
    ตอบว่า คือการน้อมนึกไปตามสภาพที่แท้จริง ซึ่งได้แก่มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่สิ่งที่สวยงามน่าเพลิดเพลินยินดี ซึ่งตรงข้ามกับการน้อมนึกอันผิดสภาวะความจริง ดังที่ท่านเรียกกันว่า มีความคิดวิปัลลาส ได้แก่การเห็นของไม่เที่ยงว่าเป็นของเที่ยง เป็นต้น

    นอกจากนั้น โยนิโสมนสิการยังหมายรวมถึงการเห็นคล้อยตามอริยสัจสี่อีกด้วยคือเห็นว่าขันธ์ทั้งหลายเกิดจากการประชุมร่วมกันของเหตุปัจจัย ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งนั้นอันมีต้นเหตุมาจากตัณหา เป็นต้น

    อโยนิโสมนสิการ เป็นการน้อมนึกไปในทางตรงข้ามกับโยนิโสมนสิการ คือมีความคิดความเห็นวิปัลลาส และสวนทางกับอริยสัจสี่

    การมีโยนิโสมนสิการอยู่ตลอดเวลา ก็คือการเจริญวิัปัสสนานั่นเอง

    ความสำคัญของโยนิโสมนสิการ
    ในสังยุตนิกาย มหาวารวรรค ตอนมรรคสังยุต กล่าวถึงความสำคัญของโยนิโสมนสิการไว้พระสูตรชื่อว่า โยนิโสมนสิการสัปทาสูตรที่ ๑ ความว่า

    สวัตถินิทานฯ
    ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือแสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิดขึ้นแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์แปดของภิกษุ คือความถึงพร้อมแห่งการทำไว้ในใจโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ฉันนั้นเหมือนกัน

    ภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการทำไว้ในใจโดยแยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์แปด จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วอยงค์แปดฯ

    (จบพระสูตรที่อ้าง)

    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้นิยามของคำว่า โยนิโสมนสิการไว้ว่า เป็นการมนสิการในสิ่งที่ไม่ทำให้อาสวะทั้งหลายเกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมดับหรือเสื่อมสูญไป การมนสิการดังนั้น เรียกว่า โยนิโสมนสิการ การมนสิการในทางตรงข้าม อันทำให้อาสวะที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ยิ่งเจริญมากขึ้น การมนสิการดังนั้นเรียกว่าอโยนิโสมนสิการ
    ๑. ธรรมที่พึงละด้วยทัสนะ
    อรรถกถาให้ความหมายของคำว่าทัสสนะ คือโสดาปัตติมรรค ธรรมที่จะละได้ด้วยทัสนะ มี ๓ กลุ่ม คือ ความลังเลสงสัย (วิจิกิจฉา) สีลัพพัตตปรามาส (ความยึดมั่นผิดในศีลและพรต) และทิฏฐิที่ประกอบด้วยความยึดมั่นว่ามีตน (สักกายทิฏฐิ)

    ในพระสูตร ทรงอธิบายถึงวิจิกิจฉา ๑๖ ประการซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเกิดจากอโยนิโสมนสิการ และนำมาซึ่งทิฏฐิ ๖ ทิฏฐิเหล่านี้มีความเกี่ยวพันกับความยึดมั่นว่ามีตน (สักกายทิฏฐิ) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้ใช้โยนิโสมนสิการในอริยสัจสี่ วิจิกิจฉาและสักกายทิฏฐิก็จะถูกละออกได้ ซึ่งรวมไปถึงสีลลัพพัตตปรามาสอันเป็นทิฏฐิอย่างหนึ่งด้วย

    วิธีโยนิโสมนสิการในอริยสัจสี่ อรรถกถาท่านเรียกว่า กัมมัฏฐานในอริยสัจสี่และอธิบายไว้ดังนี้
    กัมมัฏฐานในอริยสัจสี่จากอรรถกถาของสัพพาสวสังวรสูตร

    อริยสาวก ผู้เจริญกัมมัฏฐานในสัจจะสี่นั้น ในชั้นแรกทีเดียวต้องเรียนกัมมัฏฐานประกอบด้วยสัจจะสี่ในสำนักของอาจารย์อย่างนี้ว่า ขันธ์ที่เป็นไปในภูมิสาม ชื่อว่า เป็นทุกข์เพราะโทษคือตัณหา ตัณหาชื่อว่าเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ความไม่เป็นไปแห่งทุกชข์และทุกขสมุทัยทั้งสองชื่อว่านิโรธ ทางให้ถึงความดับ (นิโรธ) ชื่อว่ามรรค ดังนี้แล้ว สมัยต่อมาเธอก้าวขึ้นสู่งทางแห่งวิปัสสนาย่อมใส่ใจถึงขันธ์อันเป็นไปในภูมิสามเหล่านั้น โดยแยบคายว่า สิ่งนี้เป็นทุกข์คือย่อมรำพึงและพิจารณาเห็นแจ้งโดยอุบายคือ โดยถูกทาง

    ก็ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสวิปัสสนาโดยยกมนสิการเป็นสำคัญทีเดียว จนถึงโสดาปัตติมรรค พระโยคาวจรย่อมใส่ใจโดยแยบคายว่า ก็ตัณหานี้ได้เป็นสมุโฐานคือเป็นเหตุห้เกิดทุกข์นั้นแหละ ตัณหานี้ชื่อว่า สมุทัย พระโยคาวจรย่อมใส่ใจโดยแยบคายว่า ก็เพราะทุกข์นี้ด้วยทั้งสมุทัยนี้ด้วย ครั้นมาถึงฐานะนี้แล้วย่อมดับไป คือไม่เป็นไป ฉะนั้น ฐานะนี้จึงชื่อว่า นิพพาน นี้แลชื่อว่าทุกขนิโรธ พระโยคาจววรย่อมใส่ใจโดยแยบคายถึงมรรคมีองค์แปดอันเห็นเหตุให้ถึงนิโรธว่า นี้คือปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ พระโยคาวจรย่อมพิจารณาและย่อมเห็นแจ้งโดยอุบาย คือโดยถูกทาง ในข้อนั้น มีอุบาย (กำหนด) ดังนี้ชื่อว่าความยึดมั่นย่อมมีในวัฏฏธ หามีในวิวัฏฏะไม่ ฉะนั้น พระโยคาวจรกำหนดภูตรูปสี่ในสันตติของตน (ในร่างกายที่กำลังเป็นไปของตน) เป็นต้นว่า ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ มีอยู่ในกายนี้ ดังนี้แล้วกำหนดอุปาทายรูปตามทำนองแห่งภูตรูปนั้นแล้ว กำหนดว่า นี้เป็นรูปขันธ์ดังนี้ เมื่อกำหนดรูปขันธ์นั้นย่อมกำหนดธรรมคือจิตและเจตสิก อันมีรูปขันธ์นั้นเป็นอารมณ์เกิดขึ้นแล้วว่า ธรรมสี่ประการนี้ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็นอรูปขันธ์

    ต่อแต่นั้นย่อมกำหนดว่า ขันธ์ห้าเหล่านี้เป็นทุกข์ ก็ขันธ์ห้าเหล่านั้น โดยสังเขปมี ๒ ส่วนเท่านั้น คือนามและรูป และนามรูปนี้มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น พระโยคาวจรย่อมกำหนดเหตุและปัจจัยของนามรูปนั้น มีอวิชชา ภวตัณหา กรรมและอาหารเป็นต้นว่านี้เป็นปัจจัย ต่อแต่นั้น พระโยคาวจรกำหนดกิจและลักษณะของตนตามความเป็นจริงของปัจจัยและธรรมซึ่งอาศัยปัจจัยเหล่านั้นเกิดขึ้แล้วยกขึ้นสู่อนิจจลักษณะว่า ธรรมเหล่านี้ไม่มีแล้วเกิดมีขึ้น ยกขึ้นสู่ทุกขลักษณะว่า ธรรมเหล่านี้เป็นทุกข์ เพราะความที่ถูกความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปบีบคั้น ยกขึ้นสู่อนัตตลักษณะว่า ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นอนัตตา เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ

    พระโยคาวจรครั้นยกธรรมเหล่านี้ขึ้นสู่ไตรลักษณ์อย่างนี้แล้ว ให้วิปัสสนาเป็นไปโดยลำดับย่อมบรรลุโสดาปัตติมรรคได้ ในขณะนั้นเธอย่อมแทงตลอดสัจจะทั้งสี่ด้วยการแทงตลอดด้วยญาณดวงเดียวเท่านั้น ย่อมตรัสรู้ด้วยการตรัสรู้ด้วยญาณดวงเดียว ย่อมแทงตลอดทุกข์ด้วยการแทงตลอดโดยการกำหนดรู้ ย่อมแทงตลอดสมุทัยด้วยการแทงตลอดด้วยการละ ย่อมแทงตลอดนิโรธด้วยการแทงตลอดโดยการทำให้แจ้ง ย่อมแทงตลอดมรรคด้วยการแทงตลอดด้วยการเจริญ อนึ่ง เธอย่อมตรัสรู้ทุกข์ด้วยการตรัสรู้โดยการกำหนดรู้ ฯลฯ ย่อมตรัสรู้มรรคด้วยการตรัสรู้ด้วยการเจริญ หาใช่ตรัสรู้สัจจะอีกข้อหนึ่งด้วยญาณอีกดวงหนึ่งไม่

    ความจริง พระโยคาวจรย่อมแทงตลอดและย่อมตรัสรู้นิโรธสัจจะด้วยความเป็นอารมณ์ และสัจจะที่เหลือด้วยความเป็นกิจด้วยญาณดวงเดียวเท่านั้น ก็ในสมัยนั้นเธอย่อมไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า เราย่อมกำหนดรู้ทุกข์ดังนี้ หรือ ฯลฯ หรือว่าไม่มีความคิดอย่างนี้ว่าเราย่อมยังมรรคให้เจริญ ดังนี้ อีกอย่างหนึ่งแล เมื่อเธอทำญาณนั้นให้เป็นอารมณ์แล้วกระทำให้แจ้งซึ่งนิโรธอยู่นั้นแล ญาณนั้นชื่อว่า ย่อมทำหน้้าที่่กำหนดรู้ทุกข์บ้าง ทำหน้าที่ละสมุทัยบ้าง ทำหน้าีที่เจริญมรรคบ้าง

    เมื่อเธอใส่ใจโดยอุบายแยบคายอย่างนี้ ย่อมละสังโยชน์ได้ ๓ อย่างคือ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ วิจิกิจฉามีวัตถุ ๘ สีลัพพตปรามาสเพราะ ลูบคลำศีลและพรต ว่า ความบริสุทธิ์มีได้เพราะศีล ความบริสุทธิ์มีได้เพราะพรต บรรดาอาสวะทั้งสี่เหล่านั้น สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉาเป็นสังโยชน์อย่างเดียวไม่เป็นอาสวะ คือเป็นทั้งอาสวะ เป็นทั้งสังโยชน์ ว่า ทัสสนา ปหาตัพพา อาสวา ดังนี้ เหตุนั้น ธรรมเหล่านี้ จึงเรียกว่า ปหาตัพพธรรมพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงสักกายทิฏฐิเป็นต้นเหล่านี้ว่า เป็นอาสวะที่ชื่อว่า ทัสสนาปหาตัพพาธรรมจึงได้ตรัสไว้อีกอย่างหนึ่งสักกายทิฏฐินี้ใด ที่ท่านจำแกไว้โดยสรุปนั้นแล อย่างนี้ว่า บรรดาทิฏฐิ ๖ อย่าง ทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาสักกายทิฏฐินั้น จึงตรัสว่า อิเม วุจจันติ ภิกขเว ดังนี้ก็เพราะสักกายทิฏฐินั้น พระโยคาวจรย่อมละได้พร้อมกับวิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาาสที่เกิดร่วมกัน และมีความหมายอย่างเดียวกันด้วยการละ

    ความจริง เมื่อพระโยคาวจรละทิฏฐาสวะได้แล้ว กามาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดีในจิตที่เป็นทิฏฐิสัมปยุต ๔ ดวงที่เกิดร่วมกับทิฏฐาสวะนั้น พระโยคาวจรย่อมละได้เช่นเดียวกัน ส่วนอาสวะซึ่งเกิดข้นได้ด้วยสามารถแห่งความสำเร็จความปรารถนาของนาคและครุฑเป็นต้น ในจิตซึ่งเป็นทิฏฐิวิปยุติ ๔ ดวงชื่อว่า ธรรม ที่มีความหมายอย่างเดียวกันด้วยการละ อาสวะทั้ง ๓ ที่เหลืออย่างนี้ คือ อวิชชาสวะที่สัมปยุตด้วยภวาสวะนี้ก็ดี อวิชชาสวะอันเป็นตัวทำให้บังเกิดอกุศลกรรมอันมีปานาติบาตเป็นต้น ในโทมนัสจิต ๒ ดวงก็ดี อวิชชาสวะซึ่งสัมปยุตตด้วยวิจิกิจฉาเช่นเดียวกันก็ดี พระโยคาวจรย่อมละได้โดยประการทั้งปวง
    (จบกัมมัฏฐานในสัจจะสี่ตามอรรถกถามสัพพาสวสังวรสูตร)

    อ่านต่อ ๒. อาสวะที่ละได้เพราะสังวร (อินทรีย์)










     
  5. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ๒. อาสวะที่ละได้เพราะสังวร (อินทรีย์)

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนการละอาสวะด้วยการสังวรเป็นลำดับต่อจากการละด้วยทัสสนะ

    ถามว่า ก็ขึ้นชื่อว่าอาสวะที่พระโยคาวจรพึงละไม่ได้ด้วยกิจ ๒ อย่าง เหล่านี้คือ ด้วยทัสสนะและด้วยภาวนาไม่มีไม่ใช่หรือ? เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงอาสวะที่พระโยคาวจรพึงละด้วยกิจ มีสังวรเป็นต้นไว้อีกแผนกหนึ่งเล่า?

    ตอบว่า เพราะอาสวะทั้งหลายที่พระโยคาวจรข่มไว้ได้ในส่วนเบื้องต้นด้วยกิจมีการสังวรเป็นต้น ย่อมถึงการเพิกถอนด้วยมรรคสี่ ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงการละอาสวะเหล่านี้ในส่วนเบื้องต้นแห่งมรรคเหล่านั้นด้วยการข่มไว้ด้วยอาการ ๕ อย่าง จึงตรัสอย่างนี้ ฉะนั้นโสดาปัตติมรรคข้อแรกที่พระองค์ตรัสไว้แล้วนี้ใด และมรรค ๓ ที่พระองค์จักตรัสโดยชื่อว่าภาวนาในบัดต่อไป กถาที่ว่าด้วยอาสวะที่พึงละเพราะสังวรเป็นต้นนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นบุพพภาคปฏิปทาของโสดาปัตติมรรค และมรรคทั้ง ๓ เหล่านั้นแม้ทั้งหมด (การสังวรเหล่านั้น เป็นการปิดกั้นไม่ให้อาสวะ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้นได้ ยิ่งกว่านั้นยังทำให้อาสวะที่มีอยู่เดิมเหล่านั้นขาดการกระตุ้น ขาดอาหารในการเจริญเติบโต ก็จะห่อเหี่ยว อ่อนแรงลง ทำให้การสังวรด้วยโสดาปัตติมรรคและการสังวรด้วยการภาวนาบรรลุผลสำเร็จได้ง่ายขึ้น"

    การสังวรในบทนี้ ท่านหมายถึง การปิดกั้นไม่ให้กิเลสคืออาสวะเกิดขึ้น เมื่อมีอารมณ์มากระทบทางทวารหก อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ โดยการมีสติและปัญญาพิจารณาให้เห็นโทษของการไม่สังวร โดยปล่อยให้จิตเป็นไปตามอำนาจของกิเลส ซึ่งแสดงออกด้วยอาการชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง หรือเฉยๆ โดยไม่รู้สภาวะของสิ่งนั้นๆ ตามความเป็นจริง

    การขาดการสังวรในอินทรีัย์ ย่อมทำให้อาสวะ ๔ และความเร่าร้อนเพราะกิเลสหรือความเร่าร้อนเพราะวิบากอันทำความคับแค้นต่างๆ อาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น อาสวะที่เกิดแล้วย่อมเจริญมากขึ้น

    ถาม อาสวะเหล่านั้นได้แก่อะไร?
    ตอบว่า กามาสวะย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ชอบใจ เพลิดเพลินใจในอารมณ์อันน่าชอบใจที่มาปรากฏ ภวาสวะย่อมบังเกิดขึ้นก่ภิกษุผู้ยินดีด้วยความปรารถนาในภพว่า เราจักได้สมบัติเช่นนี้ในสุคติภพข้างหน้า ทิฏฐาสวะย่อมบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ยึดถือว่าเป็นสัตว์ หรือว่าเป็นของสัตว์ ความไม่รู้สภาวะของอารมณ์นั้นตามความเป็นจริง ซึ่งบังเกิดพร้อมกับอาสวะทั้งหมดนั้นนั่นแหละ ชื่อว่า อวิชชาสวะ อาสวะทั้ง ๔ ย่อมเกิดขึ้นอย่างว่ามานี้ แม้กิเลสทั้งหลายเหล่าอื่นซึ่งเกิดร่วมกับกาสวะเหล่าใด แท้จริงกิเลสเป็นต้นเหล่านั้น ท่านกล่าวว่าพึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ การสังวรอินทรีย์ อรรถกถาท่านจัดเป็นสติสังวร
    ๓. อาสวะที่ละได้เพราะการพิจารณา (แล้วเสพ)
    อรรถกถาท่านอธิบายถึงอาสวะที่เกิดขึ้นแก่ผู้ไม่สังวรแล้วเสพปัจจัย มีดังนี้

    กามาสวะย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้อยากได้ปัจจัยที่ตนยังไม่ได้ หรือยินดีในปัจจัยที่ตนได้รับ ภวาสวะ เป็นอาสวะของภิกษุผู้ยินดีในภพว่า เราจักได้สมบัติเช่นนี้ในสัมปัตติภพ เช่นสุคติภพอื่น การบังเกิดขึ้นของทิฏฐาสวะ เมื่อภิกษุทั้งความสำคัญในตนว่า เราจะได้ดังนี้ หรือว่า สิ่งนี้จักเป็นของเรา อวิชชาสวะเกิดขึ้นพร้อมกับอาสวะทั้งปวง ส่วนความเร่าร้อนเพราะวิบาก ก็ได้แก่การบังเกิดขึ้นแห่งเวทนาใหม่ อาสวะเหล่านี้ย่อมละได้เพราะการพิจารณาแล้วเสพ อรรถกถาจัดประเภทการพิจารณาแล้วเสพว่าเป็นญาณสังวร
    ๔. อาสวะที่ละได้ด้วยการอดกลั้น

    ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วอดทนต่อความหนาว จะสั่นสะท้านเพราะความหนาว ก็เพียงเล็กน้อย พระโยคาวจรก็อดทนไม่ยอมหลีกหนีความหนาวนั้น (อธิวาสนขันติ) ท่านไม่ยอมละทิ้งกรรมฐาน อีกอย่างหนึ่งแล ท่านถูกความหนาวจัดสัมผัสก็ไม่สั่นสะท้าน ย่อมใส่ใจเฉพะากรรมฐานเท่านั้น

    กัมมัฏฐานนั้น เป็นอย่างไร?

    จุดมุ่งหมายของวิปัสสนากรรมฐาน ก็เพื่อการสละละอาสวะกิเลสมุ่งไปสู่ผลคือมรรค ผล และนิพพาน กัมมัฏฐานที่ทำกิจอันนี้คือวิปัสสนากรรมฐาน การเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็เพื่อทำให้เกิดนิพพิทาญาณก่อน แล้วจึงสามารถดำเนินไปสู่วิปัสสนาญาณขั้นสูงจนถึงมรรคผล

    กรรมฐานในที่นี้ หมายถึงกรรมฐาน ๒ ชนิด ชนิดแรก เมื่อเวทนาที่เกิดขึ้นยังไม่รุนแรงนัก ก็เจริญกัมมัฏฐานเดิมต่อไป ต่อเมื่อเวทนารุนแรงมากขึ้น (แต่ยังสามารถอดทนรับไว้ได้โดยไม่เป็นอันตราย หรือเมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงเวทนานั้นได้) ก็ใช้กัมมัฏฐานชนิดที่ ๒ คือให้พิจารณาเห็นทุกขเวทนานั้นอันจะพึงเกิดขึ้นในอบายภูมิ หากสังสารวัฏยังคงดำเนินไป เมื่อพิจารณาเห็นอยู่เช่นนี้ ก็จะเกิดนิพพิทาญาณคือความเบื่อหน่ายในสังสารวัฏจิตก็จะแล่นไปสู่วิปัสสนาญาณขั้นสงจนถึงมรรคผลนิพพานได้

    ตัวอย่างในอรรถกถา ท่านกล่าวถึงพระโลมนาคเถระ บำเพ็ญเพียรอยู่กลางแจ้งใกล้ถ้ำปียังคุ ขณะนั้นหิมะตก (หนาวมาก) ท่านก็ไม่ยอมละทิ้งกัมมัฏฐานเลย คงบำเพ็ญเพียรอยู่กลางแจ้งนั้นแหละ ท่านพิจารณาถึงเวทนาอันมีในโลกันตนรก แม้ในฤดูร้อนก็ย่อมอดกลั้นทนต่อความร้อนถึงแม้อยู่กลางแจ้งได้ ไม่ยอมหลบเข้าที่ร่ม นั่งพิจารณาความร้อนในอเวจีมหานรก เมื่อกระหายน้ำก็พิจารณาถึงการเกิดเป็นเปรตในสังสารอันมีที่สุดเบื้องต้นที่ไม่สามารถรู้ได้ แม้ถูกสัมผัสโดยเหลือบ ยุง และแดด ก็พิจารณาการเข้าถึงกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน โดยพิจารณาถึงอัตตภพในกาลก่อน ที่กลิ้งเกลือกอยู่หลายวาระในปากของราชสีห์และเสืองโคร่ง เป็นต้น งูพิษตัวอนึ่งได้กัดพระเถระผู้กำลังฟังอริวังสสูตรอยู่ พระเถระแม้รู้แล้ว ก็ยังคงมีจิตเลื่อมใสฟังธรรมตามปกติ กำัลังพิษได้แรงกล้าขึ้นตามลำดับ พระเถระได้พิจารณาศีลของตนเริ่มต้นตั้งแต่อุปสมบท แล้วก็เกิดปีติขึ้นว่า เรามีศีลบริสุทธิพร้อมกับการการเกิดขึ้นแห่งปีติ พิษได้แล่นกลับเข้าแผ่นดินไป พระเถระได้เอกคตาจิต ณ ที่นั้นเอง เจริญวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหันต์ ภิกษุใดฟังคำพูดหยาบคาย หรือคำด่า ก็พิจารณาถึงคุณของขันติ (ความอดกลั้น) ภิกษุย่อมทนต่อเวทนาอันแรงกล้าได้ ไม่หวั่นไหวและดำรงตนอยู่อย่างปกติ โดยพยายามข่มเวทนาเสียแล้วเจริญวิปัสสนา อรรถกถาท่านว่า การละอาสวะที่พึงละได้ด้วยการอดกลั้นนี้ เรียกว่า ขันติสังวร หากขาดขันติสังวรแแล้ว อาสวะที่จะเกิดขึ้นหรือเจริญมากขึ้น ได้แก่กามาสวะจะมีแก่ผู้ปรารถนาความสุขจากการหลบหลีกทุกข์เวทนานั้น ภวาสวะทย่อมมีแก่ผู้ี่ปรารถนาเพื่ออุบัติในภพที่ไม่มีความทุกข์เหล่านี้ ทิฏฐาสวะย่อมมี แก่ผู้ที่มีตัวตนเป็นผู้รู้ทุกขเวทนานั้น อวิชชาสวะย่อมมีโดยเกิดร่วมกับอาสวะทั้งหลาย
    ๕. อาสวะที่ละได้เพราะการเว้น
    ได้แก่การหลีกเลี่ยงสัตว์ที่อาจทำอันตรายแก่ตน สถานที่ที่มีภัย หรืออาจเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรม หลีกเลี่ยงบุคคลที่อาจชักจูงให้ทำผิด หรือเป็นอันตรายต่อการประพฤติธรรม เสื่อมเสียชื่อเสียงฯ เป็นต้น การละอาสวะเพราะการเว้นนี้ ท่านเรียกว่า สีลสังวร

    ๖. อาสวะที่ละได้เพราะการบรรเทา
    เมื่ออกุศลวิตก (ความคิดในสิ่งที่ไม่ดี วิตก = คิด) เช่นกามวิตกเกิดขึ้น ก็ให้พิจารณาเห็นโทษของวิตกเหล่านั้นอย่างแยบคาย เป็นต้นว่า วิตกนี้เป็นอกุศลเพราะเหตุนี้ วิตกนี้เป็นโทษเพราะเหตุนี้ และวิตกนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตนเอง ดังนี้แล้ว ยับยั้งไว้มิให้วิตกเหล่านั้นเกิดขึ้น หรือเจริญต่อไป ยกจิตขึ้นให้พ้นจากวิตกนั้น

    ถามว่า ถ้ายับยั้งวิตกนั้นไว้ไม่ได้จะทำอย่างไร?
    ตอบว่า ย่อมละคือทิ้งวิตกนั้นเสีย

    ถามว่า จะละวิตกเหมือนการเอาตะกร้าตักหยากไปทิ้งหรือ?
    ตอบว่า ไม่ใช่เช่นนั้น หมายถึงการบรรเทา หรือถอน คือนำวิตกนั้นออกไป โดยที่แท้แล้ว ทำวิตกนั้นให้ย่อยยับไป ไม่เหลือค้างอยู่ภายในจิตอีก

    ถามว่า จะทำวิตกนั้นให้เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร?
    ตอบว่า ย่อมทำวิตกนั้นให้ถึงความไม่มี โดยทำให้ถึงความไม่มีทีละน้อยๆ เช่นข่มวิตกนั้น ไว้ด้วยวิกขัมภนปหาน (สมาธิ)

    ในวิตกสัณฐานสูตร (ม.มู ข้อ๒๕๗) พระบรมศาสดาทรงสอนว่า ผู้ที่ฝึกจิต เช่นทำสมาธิ ควรรู้จักวิธีกำจัดความคิดฟุ้งซ่านที่เป็นอกุศลซึ่งอาจเกิดขึ้นขณะกำลังฝึกจิตอยู่นั้น โดยสอนวิธีปฏิบัติไว้ ๕ วิธี คือ (อ่านรายละเอียดในภาคคำอธิบายการละความคิดที่เป็นอกุศลในบทที่ ๑๐ เชิงอรรถข้อ ๒/๒)

    ๑. เมื่อมีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ก็น้อมจิตให้ไปใส่ใจในเรื่องอื่นที่ตรงข้ามกับความคิดนั้น

    ๒. เมื่อได้ปฏิบัติตามข้อ ๑. แล้ว ความคิดฝ่ายอกุศลก็ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ก็ควรหันกลับไปพิจารณาโทษของความคิดฝ่ายอกุศลเหล่านั้น ว่าความคิดเหล่านั้นล้วนเป็นอกุศลแม้อย่างนี้ (หาเหตุผลมาประกอบว่า เหตุใดจึงว่าเป็นอกุศล ล้วนแต่เป็นโทษแม้อย่างนี้หาเหตุผลมาประกอบ) ล้วนแต่มีทุกข์เป็นวิบากแม้อย่างนี้ ดังนี้ ก็ย่อมละความคิดฟุ้งซ่านนั้นได้

    ๓. เมื่อปฏิบัติตามข้อ ๑. และข้อ ๒. แล้ว ความคิดฟุ้งซ่านนั้นก็ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆก็ให้ใช้วิธีหยุดนึกถึง หยุดใส่ใจในความคิดฟุ้งซ่านนั้น ก็ย่อมละความคิดฟุ้งซ่านนั้นได้

    ๔. เมื่อเธอปฏิบัติตามวิธีที่กล่าวแล้วทั้งหมด ความคิดอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นก็ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ เธอก็ควรพิจารณาถึงเหตุที่เกิดและเหตุที่ประมวลมาให้เกิดความคิดอันเป็นบาปอกุศลนั้นๆ เมื่อทำดังนี้ ก็ย่อมละความคิดฟุ้งซ่านนั้นได้

    ๕. เมื่อปฏิบัติตามวิธีที่กล่าวทั้งหมดไม่ได้ผล ความคิดฟุ้งซ่านอันเป็นอกุศลก็ยังคงเกิดอยู่เรื่อยไป ก็จงใช้วิธีกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตด้วยจิตเมื่อทำดังนั้น ก็ย่อมละความคิดอันเป็นอกุศลได้สำเร็จ

    โดยปกติ ท่านจะจำแนกวิตกออกเป็น ๓ ชนิด คือ กามวิตก (คิดในเรื่องกามคุณห้า) พยาบาทวิตก (คิดในเรื่องการโกรธ อาฆาต) วิหิงสาวิตก (คิดในเรื่องการเบียดเบียนบุคคลหรือสัตว์)

    คำว่ามหาวิตก ๙ ท่านหมายเรื่องวิตก ๓ อย่างที่กล่าวแล้ว และอีก ๖ อย่างได้แก่คิดเรื่องญาติ คิดเรื่องชนบท (ถิ่น ประเทศ) คิดเรื่องเทวดา ความคิดอันประกอบด้วยความเอ็นดูผู้อื่น คิดเรื่องลาภสักการะ เกียรติยศ และการคิดในเรื่องอื่นๆ

    การสังวรแบบนี้ เรียกว่า วิริยสังวรซึ่งประกอบด้วยการพิจารณาถึงโทษในความคิดนั้นๆ ด้วย (ญาณสังวร)

    ๗. อาสวะที่ละได้เพราะการอบรม
    ได้แก่การเจริญโพชฌงค์เจ็ด อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสลัดออก

    ต่อไปนี้ จะอธิบายถึงความหมายของคำต่างๆ ข้างต้นก่อน แล้วจึงจะยกตัวอย่างวิธีใช้ในภายหลัง

    โพชฌงค์เจ็ด ท่านหมายถึงกลุ่มองค์ธรรมที่นำไปใช้เพื่อการตรัสรู้ องค์ธรรมเหล่านี้มีเจ็ดองค์ และแต่ละองค์ก็ประกอบเข้าด้วยกันเป็นธรรมสามัคคีเช่นเดียวกับองค์ฌานและองค์มรรค (อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์แปด)

    ต่อไปนี้ จะอธิบายความหมายขององค์ประกอบต่างๆ ในสัมโพชฌงค์เจ็ด

    สติ จะอธิบายความหมายของคำว่าสติล้วนๆ (ไม่ใช่สติสัมโพชฌงค์) ที่ชื่อว่า สติ เพราะความหมายว่า เป็นเครื่องระลึก สติมีการปรากฏเป็นลักษณะ มีการเสนอแนะเป็นกิจ เมื่อสติเกิดขึ้นย่อมเสนอแนะธรรมที่เป็นกุศล อกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เลว ประณีต ดำขาว และมีส่วนเป็นปฏิปักษ์กัน ที่กล่าวว่า สติปัฏฐานมีสี่เหล่านี้ เพราะท่านหมายถึงสติมีการเสนอแนะเป็นกิจ ก็ลักษณะของสติดังนี้เป็นการกล่าวไว้ด้วยอำนาจกิจ อีกอย่างหนึ่ง สติมีการไม่หลงเป็นกิจ มีภาวะมุ่งหน้าต่ออารมณ์เป็นเครื่องปรากฏ องค์แห่งธรรมเครื่องตรัสรู้ คือสติ ชื่อสติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจัย มีการเลือกเฟ้น ค้นคว้าเป็นลักษณะ มีการให้ความสว่างเป็นกิจ มีการค้นหาลักษณะที่แท้จริง ตลอดจนปัจจัยและปัจยุบันธรรมของธรรมที่สติเสนอมีการไม่หลงงมงายเป็นเครื่องปรากฏ วิริยะ ที่ชื่อว่าวิรยะเพราะความเป็นสภาวะที่แกล้วกล้า และเพราะให้ธรรมดำเนินไปโดยถูกวิธี มีการประคับประคองจิตเป็นลักษณะ มีการอุปถัมภ์จิตเป็นกิจ มีความไม่ท้อแท้แห่งจิตเป็นเครื่องปรากฏ ปีติ มีชื่อว่า ปีติ เพราะอรรถว่าเอิบอิ่ม ปีตินั้น มีการแผ่ไปเป็นลักษณะ หรือมีความยินดีเป็นลักษณะ มีการเอิบอิ่มของกายและจิตเป็นกิจ มีการฟูขึ้นแห่งกายและจิตเป็นเครื่องปรากฏ ปัสสัทธิ ที่ชื่อว่าปัสสัทธิ เพราะสงบความกระวนกระวายทางกายและจิตเป็นกิจ มีความเยือกเย็นอันเกิดจากความไม่ดิ้นรนแห่งกายและจิตเป็นเครื่องปรากฏ สมาธิที่ชื่อว่าสมาธิเพราะตั้งมั่น สมาธินั้นมีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ หรือมีการไม่แส่ไปในอารมณ์เป็นลักษณะ มีการประมวลมาซึ่งจิตและเจตสิกเป็นกิจ มีความตั้งมั่นแห่งจิตเป็นเครื่องปรากฏ อุเบกขา ที่ชื่อว่าอุเบกขาเพราะวางเฉย อุเบกขานั้นมีการพิจารณาเป็นลักษณะ หรือมีการเป็นไปโดยสม่ำเสมอเป็นลักษณะ มีการหักห้ามความหย่อนและยิ่งแห่งจิตเป็นกิจ หรือมีการตัดขาดการตกไปเป็นฝักฝ่ายเป็นกิจ มีการวางตนเป็นกลางเป็นเครื่องปรากฏ โพชฌงค์ หมายถึงองค์แห่งการตรัสรู้หรือองค์แห่งธรรมเครื่องตรัสรู้ ธรรมสามัคคีเหล่านี้คือ สติ ธัมวิจัย วิริยะ ปีติ ปัสสัทธ สมาธิและ อุเบกขา เป็นปฏิปักษ์ต่ออุปัทวมากมาย มีความหดหู่ ความฟุ้งซ๋าน ความหยุด ความประมวลมา กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค ความยึดมั่นว่าขาดสูญและเที่ยงแท้ (อุจเฉททิฏฐิ สัสตทิฏฐิ) ซึ่งบังเกิดขึ้นในขณะแห่งมรรคทั้งฝ่ายโลกียและโลกุตตร ที่เป็นเหตุตรัสรู้แห่งพระอริยสาวกท่านเรียกว่าโพธิ

    บทว่า พุชฌติ มีความว่า ย่่อมตื่นจากความหลับด้วยอำนาจกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ อธิบายว่า ย่อมแทงตลอดอริยสัจทั้งสี่ หรือทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานนั่นเอง ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า เจริญโพชฌงค์เจ็ดแล้ว ย่อมตรัสรู้เฉพาะซึ่งปัญญาเครื่องตรัสรู้อันยอดเยี่ยม ที่ชื่อว่า โพชฌงค์ เพราะเป็นองค์เครื่องปัญญาเครื่องตรัสรู้ กล่าวคือธรรมสามัคคี นั่นเอง เปรียบเหมือนองค์ฌานและองค์มรรคเปป็นต้น ฉะนั้น ก็อริยสาวกใด ย่อมตรัสรู้ด้วยธรรมสามัคคีนี้มีประการดังกล่าวแล้ว เพราะทำตามอธิบายดังว่ามานี้ อริยสาวกนั้นท่านจึงเรียกว่า โพธิ (ผู้ตรัสรู้) ที่ชื่อว่า โพชเงค์แม้เพราะเป็นองค์ประกอบของพระอริยสาวกผู้ตรัสรู้นั้น ประดุจองค์ประกอบแห่งเสนาและองค์ประกอบแห่งรถ ฉะนั้น ด้วยเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า อีกอย่างหนึ่งที่ชื่อว่า โพชฌงค์เพราะเป็นองค์ประกอบของผู้ตรัสรู้

    พึงทราบคำอธิบายในคำว่า กัมโต (โดยลำดับ) ดังต่อไปนี้

    สติสัมโพชฌงค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ก่อน เพราะสติสัมโพชฌงค์นั้นเป็นอุปการะแก่โพชฌงค์ที่เหลือทั้งหมด เพราะพระบาลีว่า ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตกล่าวสตินั้นแลว่าเป็นประโยชน์แก่ธรรมทั้งปวง เพราะพระบาลีว่า ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตกล่าวสตินั้นแลว่าเป็นประโยชน์แก่ธรรมทั้งปวง ดังนี เบื้องหน้าแต่นั้น ประโยชน์ในการกล่าวโพชฌงค์ที่เหลือไว้ก่อนไว้หลังได้กล่าวไว้แล้วในสุตตะนั้นเอง โดยนัยเป็นต้นว่า เธอมีสติอยู่อย่างนั้น เลือกเฟ้นธรรมด้วยปัญญาดังนี้ ในที่นี้พึงทราบวินิจฉัยโดยลำดับดังกล่าวมานี้

    พึงทราบวินิจในบทที่ว่า อนุนาธกโต ดังต่อไปนี้

    ถามว่า เพราะเหตุไร พระผุ้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสโพชฌงค์ไว้เพียงเจ็ด ไม่ขาดไม่เกิน?

    ตอบว่า เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อความหดหู่ แลแะความฟุ้งซ่าน และเพราะประโยชน์แก่โพชฌงค์ทุกข้อ

    อธิบายว่า ในอธิการแห่งโพชฌงค์ โพชฌงค์สามข้อเป็นปฏิปักษ์ต่อความหดหู่เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใดแล จิตเป็นธรรมชาติหดหู่ ในสมัยนั้นเป็นเวลาเหมาะที่จะเจริญธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ เหมาะที่จะเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ เหมาะที่จะเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ดังนี้ โพชฌงค์สามข้อเป็นปฏิปักษ์ต่อความฟุ้งซ่าน เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ก็ในสมัยใด จิตเป็นธรรมชาติฟุ้งซ่าน ในสมัยนั้นเป็นเวลาเหมาะที่จะเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นเวลาเหมาะที่จะเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นเวลาเหมาะที่จะเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ดังนี้

    ก็ในบรรดาสัมโพชฌงค์เหล่านี้ สติสัมโพชฌงค์ เป็นเอกให้สำเร็จประโยชน์แก่โพชฌงค์ทุกข้อ เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลายก็เรากล่าวสติแลว่าเป็นประโยชน์แก่โพชฌงค์ทุกข้อ ดังนี้ คำว่า สัพพัตถัง มีความหมายว่า จำต้องปรารถนาในโพชฌงค์ทุกข้อ

    บทว่า ภาเวติ วิเวกนิสสิตัง เจริญสัมโพชฌงค์ อาศัยวิเวก (ภิกษุทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสลัดออก)

    คำว่า ภาเวติ ความว่า ย่อมให้เจริญ คือย่อมให้เกิดขึ้น คือให้บังเกิดขึ้นเฉพาะในจิตสันดานของตนบ่อยๆ อาศัยวิเวก ความสงัดชื่อว่าวิเวก วิเวกนั้นมี ๕ อย่างคือ ตทังควิเวก (สงัดจากธรรมนั้นโดยการเจริญธรมอันเป็นฝ่ายตรงข้าม ) วิกขัมภนวิเวก (สงัดจากนิวรณืด้วยการข่มไว้ด้วยฌาน) สมุทเฉทวิเวก (สงัดจากกิเลสด้วยการตัดขาดโดยมรรคป ปฏิปัสสัทธิวิเวก (สงัดจากกิเลสด้วยผลสมาบัติ) และนิสรณวิเวก (สงัดจากกิเลสด้วยนิพพาน)

    ในวิเวกทั้ง ๕ อย่างนี้ พึงทราบความดังนี้ว่า เจริญสติสัมโพชฌงค์ อาศัยตทังควิเวกอาศัยสมุจเฉทวิเวก อาศัยนิสสรณวิเวก จริงอย่างนั้น พระโยคาวจรผู้ตามประกอบการเจริญโพชฌงค์นั้ ในขณะแห่งวิปัสสนา (ที่มีกำลัง) ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ซึ่งอาศัยตทังควิเวกโดยกิจ อันอาศัยนิสรณาวิเวกโดยอัธยาศัย แต่ในกาลแห่งมรรคย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยสมุจเฉทวิเวกโดยกิจ และอาศัยนิสสรวิเวกโดยอารมณ์

    อาจารย์บางพวกกล่าวว่าอาศัยวิเวกถึง ๔ อย่างเพราะไม่ยกโพชฌงค์ขึ้นมาเฉพาะขณะแห่งวิปัสสนาที่มีกำลังและในขณะแห่งมรรคและผลอย่างเดียวเท่านั้น แต่ท่านรวมถึงกสิณเาน อานาปานสติกัมมัฏฐาน และในพรหมวิหารฌานซึ่งเป็นบาทของวิปัสสนาก็ยกขึ้นมาด้วย โดยกล่าวว่า พระโยครวจรเจริญสติสัมโพชฌงค์ที่อาศัยวิขัมมภนวิเวกโดยกิจอย่างเดียว ในขณะที่เป็นไปแห่งฌานเหล่านั้น และท่านกล่าวว่าในขณะแห่งวิปัสสนา พระโยคาวจรย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์แม้อันอาศัยนิสสรณวิเวกโดยอัทธยาศัย ดังนี้ฉันใด พระโยคาวจรย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์แม้นอันอาศัยปฏิปัสสัทธิวิเวกก็ฉันนั้น ในสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิราคะ เป็นต้นก็นัยนี้ ความจริงธรรมมีวิราคะเป็นต้นก็มีวิเวกเป็นอรรถทั้งนั้น

    ก็ในธรรมทั้งหลายมีวิราคะเป็นต้นนี้ ดวสสัคคะอย่างเดียวที่แบ่งออกเป็น ๒ อย่างคือ การปล่องวางโดยการสละ (บริจาคโวสัคคะ) และการปล่องวางโดยการแล่นไป (ปักขนทนโวสัคคะ) บรรดาการปล่อยวาง ๒ อย่างนั้น การละกิเลสด้วยสามารถทังคปหาน ในขณะแห่งวิปัสสนาและสมุึจเฉทปหานในขณะแห่งมรรค ชื่อว่า ปล่อยวางโดยการสละ ส่วนการแล่นไปสู่พระนิพพานโดยการน้อมไปสู่พระนิพพานนั้น ในขณะแห่งวิปัสสนาชื่อว่า การสละโดยการแล่นไป แต่ในขณะแห่งมรรค การแล่นไปสู่พระนิพพานจะมีได้ด้วยสามารถแห่งการทำใ้หเป็นอารมณ์

    คำว่า โวสัคคะปริณามิง มีคำอธิบายว่า กำลังน้อมไป และน้อมไปแล้ว คือจะงอมและงอมแล้วเพื่อการปล่อยวาง โดยอธิบายว่า ภิกษุผู้ประกอบเนื่องๆ ซึ่งการเจริญโพชฌงค์ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์นั้น โดยที่สติสัมโพชฌงค์จะงอมและงอมแล้ว เพื่อการปล่อยวางโดยการสละกิเลส และเพื่อการปล่อยวางโดยการแล่นไปสู่พระนิพพาน ฉะนั้นแล ในโพชฌงค์ที่เหลือก็นัยนี้ แต่่ว่าในที่นี้ นิพพานนั้นเองท่านกล่าวว่าวิเวก เพราะงัดจากจากสังขตธรรมทั้งปวง ท่านกล่าวว่า วิราคะ เพราะภาวะแห่งสังขตธรรมทั้งหมดคลายกำหนัดแล้ว และท่านกล่าวว่า นิโรธ เพราะภาวะคือความดับแห่งสังขตธรรมทั้งหลาย ก็มรรคนั้นแล มีปกติน้อมไปเพื่อการสละ ฉะนั้นพระโยควจรย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวกเพราะกระทำวิเวกให้เป็นอารมณ์แล้วเป็นไป พระโยคาวจรย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยนิโรธ ก็อย่างนั้น พระโยคาวจรย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันงอมแล้ว คืองอมรอบโดยภาวะคือการสละ และโดยภาวะคือการแล่นไปสู่พระนิพพานโดยออกจากกิเลสได้เด็ดขาด เพราะเกิดขึ้นในขณะแห่งอริยมรรคนั้นแล พึงเห็นเนื้อความดังกล่าวมานี้ แม้ในโพชฌงค์ที่เหลือก็นัยนี้
     

แชร์หน้านี้

Loading...