(๒๑) มรดกธรรมพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 26 สิงหาคม 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๒๙
    บรรยายวันจันทร์ที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๖
    เรื่อง


    มหาสติปัฏฐาน
    (ข้อว่า โทมนสฺสํ)

    วันนี้ จะได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ข้อที่ว่า "โทมนสฺสํ" สืบต่อไป

    ถ. คำว่า โสมนัส นั้น โดยองค์ธรรมได้แก่อะไร?
    ต. ได้แก่ โทสเจตสิก

    ถ. โทสเจตสิกนั้นมีลักษณะ รส เป็นต้นอย่างไร?
    ต. มีลักษณะดุร้ายเหมือนกับงูจงอางถูกตี มีหน้าที่กระสับกระส่ายกระวนกระวาย พลุกพล่านเหมือนยาพิษที่ใส่ลงไปในน้ำ เผานิสัยของคนที่ดีๆ ให้เสียไป มีผลปรากฎคือ การประทุษร้ายผู้อื่น สัตว์อื่น

    ถ. โทสะเกิดมาจากเหตุกี่ประการ อะไรบ้าง?
    ต. เกิดมาจากเหตุ ๒ ประการ คือ เหตุอดีต ๑ เหตุปัจจุบัน๑
    เหตุอดีตนั้น เช่น เคยมีโทสะเป็นนิสัยติดมาแต่ภพก่อน ชาติก่อนเป็นต้น

    เหตุปัจจุบันนั้น เช่น เป็นคนตื้น มีความคิดไม่แยบคาย ไม่ละเอียด ไม่ลึกซึ้ง มีการศึกษาและการปฏิบัติน้อย ได้ประสบแต่อารมณ์ที่ไม่ดี และได้ตั้งจิตไว้ผิด คือตั้งจิตไว้ในความอาฆาตวัตถุทั้ง ๑๐ มีความอาฆาตว่า ผู้นี้ได้ทำความเสื่อมให้แก่เรามาแล้ว ดังนี้เป็นต้น และตั้งจิตไว้ในอกุศลกรรมบท ๑๐ ประการ
    ถ. การตั้งจิตไว้ผิดให้โทษอย่างไรบ้าง ยกหลักฐานประกอบอธิบาย?
    ต. ให้โทษมากทีเดียวคือ
    ๑. ทำตนให้ประพฤติทางกาย ทางวาจา และทางใจ
    ๒. ทำตนให้เลวลงไปจนถึงอบายภูมิ ๔ ดังบาลีว่า จิตฺเตน ปริกสฺสติ สัตว์โลกอันจิตเป็นผู้ดึงลงไป หมายความว่า บุคคลในโลกนี้จะไปสู่อบายภูมิทั้ง ๔ ก็เพราะจิตที่ตั้งไว้ผิดเป็นผู้นำไป เป็นผู้คร่าไป เป็นผู้ทำให้ดิ่งอบายภูมิ ดังตัวอย่างต่อไปนี้คือ
    เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่โกศลชนบท มีนายโคบาลก์คนหนึ่ง ชื่อว่า นันทะ ในกรุงสาวัตถี เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีสมบัติมาก เลี้ยงโคของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี รักษาขุมทรัพย์ของตนอยู่ พบพระศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนาเกิดศรัทธา มีความเชื่อความเลื่อมใสมาก ทูลอาราธนาให้พระศาสดาเสด็จไปสู่ที่อยู่ของตน วันหนึ่ง พระองค์พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เสด็จจาริกไป ทรงแวะจากหนทางประทับนั่งที่โคนต้นไม้ใกล้ที่อยู่ของเขา

    นายนันทะ ไปสู่สำนักของพระศาสดา ถวายบังคม กระทำการต้อนรับปฏิสันถาร ได้ถวายปัญจโครสทานอันประณีต แก่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประธาน สิ้นกาลประมาณ ๗ วัน พอพระพุทธองค์ทรงกระทำอนุโมทนาเสร็จแล้วตรัสอนุบุพพิกถา ๕ คือ ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และเนกขัมมะ นายนันทะได้ฟังแล้ว เจริญวิปัสสนากรรมฐานจนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน รับบาตรของพระศาสนดาตามส่งเสด็จไปไกล เมื่อพระศาสดารับสั่งให้กลับด้วยพระดำรัสว่า "ติฏฺฐ อุปาสก" อุบาสกจงหยุดเถิด ถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้วก็กราบลงกลับ ลำดับนั้นนายพรานคนหนึ่งได้แทงเขาตาย

    พวกภิกษุที่มาข้างหลัง เห็นแล้วจึงไปกราบทูลพระศาสดาว่า "นนฺโท ภนฺเต โคปาลโก" ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นายโคบาลก์ชื่อนันทะ ถวายทาน ตามส่งพระองค์ผู้เจริญ ถูกนายพรานฆ่าตายเสียแล้ว ก็เพราะเหตุที่พระองค์เสด็จมาที่นี้ ถ้าพระองค์จักมิได้เสด็จมาไซร้ ความตายจักไม่ได้มีแก่เขาเลย

    พระศาสดาตรัสว่า "ภิกฺขเว มยิ อาคเตปิ ตสฺส จตสฺโส ทิสา จตสฺโส อนฺทิสา คจฺฉนฺตสฺสาปิ มรณโต มจฺจนปาโย นาม นตฺถิ, ยํ หิ เนว โจรา น เวริโน กโรนฺติ, ตํ อิเมสํ สตฺตานํ อนุโตปวตฺตํ มิจฺฉาปณิหิตํ จิตฺตเมว กโรติ"
    ท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ถ้าเราจะมาก็ตาม มิได้มาก็ตามชื่อว่าอุบายที่จะให้พ้นจากความตายของนายนันทะนั้น ผู้หนีไปสู่ทิศใหญ่ ๔ ทิศ ทิศน้อย ๔ ทิศ เป็นอันไม่มีเลย เพราะว่าจิตเท่านั้น ที่บุคคลตั้งไว้ผิดแล้ว ซึ่งเป็นไปในภายในของสัตว์เหล่านี้ ย่อมทำความพินาศฉิบหายให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ที่พวกโจรหรือพวกคนจองเวรจะทำให้ไม่ได้เลย"
    ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอีก ๑ กัณฑ์ ด้วยพระคาถาว่า
    ทิโส ทิสํ ยนฺตํ กยํรา เวรี วา ปน เวรินํ
    มิจฺฉาปณิหิตํ จิตฺตํ ปาปิโย นํ ตโต กเร.
    จิตที่ตั้งไว้ผิดแล้ว พึงทำบุคคลนั้นให้เลวยิ่งกว่าความพินาศฉิบหาย ที่โจรเห็นโจร หรือคนจองเวรเห็นคนจองเวร ทำให้แก่กันนั้นเสียอีก
    หมายความว่า โจรผู้ชอบประทุษร้ายต่อมิตรผู้หนึ่ง เมื่อผิดในบุตร ภรรยา นา ไร่ วัว ควาย เป็นต้นของโจรผู้หนึ่ง เมื่อเห็นโจรนั้น หรือเมื่อได้โอกาส ย่อมทำความพินาศฉิบหายให้แก่กัน เช่น เบียดเบียนบุตรบ้าง ภรรยาบ้าง ทำลายทรัพย์สมบัติต่างๆ ที่นา สวน วัว ควาย เป็นต้น ให้พินาศไปบ้าง ฆ่ากันตายบ้าง เพราะความที่ตนเป็นคนโหดร้าย เป็นคนทารุณ ทั้งนี้ก็เพราะตั้งจิตไว้ผิดนั่นเอง เป็นต้นเหตุ คือตั้งจิตไว้ในอกุศลกรรมบถ ๑๐ จิตที่ตั้งไว้ผิดนั่นแหละทำให้เขาเป็นคนเลวเห็นบาปนี้ แม้คนจองเวรกัน เมื่อทำความพินาศให้แก่กันก็ทำแก่กันโดยแบบเดียวกันนี้

    โจรก็ดี คนจองเวรกันก็ดี พึงยังทุกข์ให้เกิดแก่กันและกัน หรือพึงฆ่ากันตายก็เพียงแต่ในอัตตภาพนี้เท่านั้น ส่วนจิตที่ตนตั้งไว้ผิด คือตั้งไว้ในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ย่อมยังบุคคลให้ถึงความพินาศฉิบหายในปัจจุบัน ซัดไป ดึงไป นำไป คร่าไป ในอบายภูิมิ ๔ ตั้งหลายร้อยหลายพันอัตตภาพบ้าง

    ที่บรรยายมานี้ก็พอชี้ให้เห็นอย่างเด่นชัดแล้วว่า จิตที่ตั้งไว้ผิดให้โทษแก่บุคคลมากมายเหลือล้น จนไม่สามารถจะนับจะประมาณได้

    ถ. โทสมูลจิต แปลและหมายความว่าอย่างไร มีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. แปลว่า จิตที่ประกอบด้วยโทสะเป็นมูล หมายความว่า จิตที่มีโทสะเป็นเค้า เป็นมูล เป็นรากแก้ว เป็นเหตุ มี ๒ คือ
    ๑. โทมนสฺสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
    จิตที่เกิดพร้อมด้วยความเสียใจ ประกอบด้วยความโกรธ ไม่มีสังขารกระตุ้นเตือน


    ๒. โทมนสฺสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
    จิตที่เกิดพร้อมด้วยความเสียใจ ประกอบด้วยความโกรธ มีสังขารกระตุ้นเตือน

    ถ. คนเราจะทำดี พูดี เพราะอะไรเป็นเหตุ?
    ต. เพราะใจดีเป็นเหตุ ถ้าใจดีแล้ว จะทำก็ทำดี จะพูดก็พูดดี จะคิดก็คิดดี

    ถ. ใจจะดีเพราะอะไรมาแต่ง?
    ต. เพราะเจตสิกมาแต่ง คือ โสภณเจตสิก มีอยู่ ๒๕ ดวง ถ้าเจตสิกเหล่านี้ เข้าไปแต่งใจของบุคคลใดแล้ว บุคคลนั้นจะทำ จะพูด จะคิด อะไรก็มีแต่ทำดี พูดดี คิดดี ทั้งนั้น

    ถ. คนเราจะทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว เพราะอะไรเป็นเหตุ?
    ต. เพราะใจชั่วเป็นเหตุ

    ถ. ใจจะชั่วเพราะอะไรมาแต่ง?
    ต. เพราะเจตสิกฝ่ายบาปมาแต่ง คืออกุศลเจตสิกมีอยู่ ๑๔ ดวง ถ้าอกุศลเจตสิกเหล่านี้เข้าไปแต่งใจของบุคคลใดแล้ว บุคคลนั้นจะทำ จะพูด จะคิด ก็มีแต่ทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว

    ถ. ทุกท่านก็พากันทราบดีอยู่แล้วว่า โทสะคือความโกรธเป็นของไม่ดี แต่ทำไมจึงละไม่ได้?
    ต. เพราะไม่พยายามละ ยังรักโทสะอยู่ ยังอยากเลี้ยงไว้อยู่ ยังหาอาหารให้เขากินอยู่

    ถ. จะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรจึงจะละโทสะได้?
    ต. การละโทสะนั้น แบ่งเป็น ๓ ขั้น คือ ขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง

    ๑. ขั้นต่ำ ละด้วยตฑังคปหาน คือละด้วยองค์นั้นๆ เช่น
    ๑. ละด้วยอุบายของโบราณ เช่นเอาเขาวัว เขาความมาทำเป็นรูปชั่งไว้ ตามบ้านเรือนของเรา เวลากระทบอารมณ์ต่างๆ เกิดความโกรธขึ้นมา ท่านให้ใช้สติบริกรรมว่า "ชั่งเขาๆ ๆ" จนกว่าโทสะจะหายไป

    ๒. ให้เอาไม้เล็กๆ มาทำเป็นรูปชั่ง แล้วหาหัวมันเล็กๆ มาใส่ไว้เวลาเกิดความโกรธขึ้นมา ให้มีสติบริกรรมว่า "ชั่งมันๆ ๆ" จนกว่าความโกรธจะหายไป

    ๓. ถ้าความโกรธเกิดขึ้น ให้รีบไปส่องดูหน้าที่กระจกประมาณ ๕ นาที

    ๔. ถ้าความโกรธเกิดขึ้น ให้หาผู้ชุบน้ำถูบ้านเรือนทันที เรียกว่าเปลี่ยนอารมณ์ ให้จิตไปจับอารมณ์อื่นอย่าให้อยู่ในอารมณ์ที่ทำให้เกิดความโกรธ

    ๕. เวลาดื่มเครื่องด่มให้เก็บฝาปิดขวดเครื่องดื่มใส่กระป๋องไว้ ถ้าความโกรธเกิดขึ้นมาเวลาใด ให้รีบไปหากระป๋องฝาปิดขวดนั้นมาแล้วเปิดออกนับดูให้ถึง ๑๐-๒๐-๓๐-๔๐ จนกว่าความโกรธจะหาย

    ๖. ให้ใส่ใจโดยอุบายอันแยบคาย เช่น เวลาคนอื่นเขาด่าเรา ว่าเรา เขาเอาปากของเขามาว่าเรา ด่าเรา มายั่วยุให้เราโกรธ ถ้าเราโกรธตอบก็หมายความว่าเราเลวกว่าเขา เพราะเราน้อมใจไปรับเอาความชั่วมาจากเขา เอามาใส่ตัวเรา เป็นการเข้าใจผิด เป็นการกระทำผิดแท้ๆ อุปมาเหมือนกันกับเราไปรับเอาก้อนเหล็กแดง หรือมูตรเน่าอันแสนเหม็นจากมือคนอื่นมาใส่มือเรา มาใส่จมูกเรา พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า

    "ตสฺเสว เตน ปาปิโย โย กุทฺธํ ปฏิกุชฺฌติ"

    ผู้ใดโกรธตอบคนที่โกรธแล้ว ผู้นั้นเลวยิ่งกว่าคนโกรธก่อน เวลาเราไหว้พระสวดมนต์ เราเอาปากของเราว่า เราเป็นผู้ได้บุญเต็ม ๑๐๑% คนอื่นจะไม่ได้บุญกับเราเลยในเมื่อเขาไม่ได้มาไหว้ด้วย เรารับประทานอาหาร เราก็อิ่มท้องเรา คนอื่นจะมาอิ่มแทนเราไม่ได้เป็นอันขาด ข้อนี้ฉันใด คนที่ด่าเรา คนที่ว่าเรา ก็คือคนที่ด่าตัวเอง ว่าตัวเองวันยังค่ำ และต้องเป็นผู้ได้รับบาปเองฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเขาเป็นคนทำกรรมชั่วเอง ข้อสำคัญเราอย่าไปรับชั่วจากเขามาสู่ตัวเราก็เป็นพอแล้ว อย่างนี้เรียกว่ามีโยนิโสมนสิการ เป็นเหตุให้ข่มความโกรธไว้ได้ไม่มากก็น้อย

    ๖. พยายามเรียนเรื่องเมตตา วิธีแผ่เมตตา และอานิสงส์ของเมตตาให้ดี

    ๗. หมั่นเจริญเมตตากรรมฐานเป็นเรือนใจไว้เสมอๆ อุปมาเหมือนกันกับคนหัดว่ายน้ำไว้ก่อนเรือจม ถ้าเรืออัปปางจมน้ำลงไปแล้วจึงจะมาหัดว่ายน้ำ เป็นอันว่าต้องตายแน่ ในเรื่องการแก้ความโกรธนี้ก็เหมือนกัน เราต้องหมั่นฝึกฝนอบรมตนไว้ก่อน ถ้ามิฉะนั้นสติก่อนกำลัง เวลาเกิดเหตุ เกิดเรื่องราวอะไรขึ้นมา ไม่สามารถจะหักห้ามใจได้ เมื่อทำผิดลงไปโดยไม่รอบคอบแล้ว จะเสียใจภายหลัง

    ๘. ต้องพิจารณาถึงกรรมของเรา กรรมของผู้อื่น สัตว์อื่นเข้าประกอบ

    ๙. หมั่นคบหาสมาคมแต่กัลยาณมิตร คือท่านผู้ประกอบด้วย สัทธา สีล สุตะ จาคะ สติ สมาธิ ปัญญา

    ๑๐. สนทนากันแต่เรื่องธรรมเป็นที่สบายใจ เช่น สติปัฏฐาน เป็นต้น

    ๑๑. ให้โกรธคนละทีอย่าโกรธพร้อมกันในเมื่อจำเป็น ถ้าโกรธพร้อมกันแล้วไม่ดีเลย เดือดร้อนแน่ๆ ฉะนันโบราณจึงสอนว่า ให้โกรธคนละที
    ๒. ขั้นกลาง ละด้วยวิกขัมภนปหาน คือ ด้วยองค์ของฌาน หมายความว่าต้องเจริญสมถกรรมฐานจนได้บรรลุปฐมฌานเป็นต้น จึงจะละความโกรธได้ แต่ละได้เพียงข่มไว้เหมือนเอาหินทับหญ้าเท่านั้น ยังละไม่ได้โดยเด็ดขาด ยังกลับกำเริบได้อยู่ เมื่อผู้นั้นไม่อยู่ในฌาน หรือเลิกบำเพ็ญสมถกรรมฐานแล้ว อาจจะประพฤติชั่วได้อยู่ เพราะรากของความชั่วยังมีอยู่ เช่น ลัทธิวิหาริกของท่าพระมหากัสสปเถระ ได้เจริญสมถกรรมฐานจนได้ฌานแล้ว ครั้นสึกไป ใจชั่วยังเกิดได้ ต้องเป็นโจรถูกจับเพ็ชรฌาตก็นำไปสู่ตะแลงแกงเพื่อจะฆ่า ต่อมาได้เจริญสมถะแล้วเจริญวิปัสสนาต่อจนได้สำเร็จมรรค ผล นิพพาน จึงละความโกรธได้เด็ดขาด

    ๓. ขั้นสูง ได้แก่ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อผู้ใดได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ผู้นั้นจะละความโกรธได้ตามส่วนแห่งปัญญา เช่น

    วิปัสสนาปัญญาของพระโสดาบันก็จะละโลภะได้ ๔ โมหะได้ ๑ ส่วนคือ ความโกรธนั้น ยังละไม่ได้เด็ดขาด แต่จะเบาบางลงไปอีกมาก จะปรากฎราวกะหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว

    วิปัสสนาปัญญาของพระสกิทาคามี ก็ทำนองเดียวกัน แต่กลับทำโลภะ โทสะ โมหะ ที่เหลืออยู่ให้เบาบางลงไปมาก แต่ยังไม่เด็ดขาด

    วิปัสสนาปัญญาของพระอนาคามี ละโทสะได้เด็ดขาด

    วิปัสสนาปัญญาของพระอรหันต์ ละโลภะ โทสะ โมหะ ได้หมดสิ้นไม่มีเหลือเลย

    สรุปความว่า วิธีที่จะละโทสะได้นั้น แบ่งเป็น ๓ ขั้น คือ ขั้นต่ำ ละด้วยตฑังคปหาน ขั้นกลางละด้วยวิกขัมภนปหาน ขั้นสูงละด้วยสมุจเฉทปหาน

    ถ. ในพระบาลีท่านแสดงไว้ว่า ถ้าผู้ใดเจริญวิปัสสนาพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ มีความเพียร มีสติ มีสติ มีสัมปชัญญะ ผู้นั้นจะละอภิชฌา คือ โลภะ กับโทมนัส คือ ความโกรธได้ ไม่เห็นตรัสว่าละโมหะได้เลย เมื่อจะว่าถึงกิเลสใหญ่ๆ แล้วมีอยู่ ๓ คือ โลภะ โทสะ โมหะ แต่ในที่นี้ทำไมท่านจึงไม่แสดงโมหะไว้?
    ต. ท่านแสดงไว้อยู่ แต่ผู้ดูอาจดูไม่เป็น คือยังขาดตาใน ได้แก่ปัญญาจักษุอยู่ โบราณท่านสอนไว้ว่า "เรียนให้รู้ ดูให้จำ ทำให้จริง" เมื่อเราดูตามพระบาลี ในพระไตรปิฎกแล้ว พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า

    "อาตาปี สมฺปชาดน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชชฺฌาโทมนสฺสํ"

    แปลว่า ผู้เจริญวิปัสสนา ต้องมีความเพียร ๑ มีสัมปชัญญะ ๑ มีสติ ๑ จึงจะละอภิชฌา คือความโลภ โทมนัส คือความโกรธ ในโลก คืออัตตภาพนี้ได้"

    ในที่นี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า สติมา แปลว่า มีสติไว้แล้ว เมื่อตรัสสติไว้ในที่ใด ชื่อว่าตรัสโมหะไว้ในที่นั้น เพราะสติเป็นคู่ปรับกันกับโมหะ อุปมาเหมือนกันกับแสงสว่าง กับความมืด เมื่อมีแสงสว่างในที่ใด ในที่นั้นไม่มีมืด มืดมีในที่ใด ที่นั้นไม่สว่าง ข้อนี้ฉันใด สติกับโมหะก็ฉันนั้น เมื่อตรัสสติไว้ในที่ใด ก็ได้ชื่อว่าตรัสโมหะไว้ในที่นั้นเล้ว เช่นเดียวกัน ฉะนั้น

    วันนี้ได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐานข้อว่า "โทมนสฺสํ" ในส่วนอุทเทศ มาก็นับว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้เพียงเท่านี้



    thx1


    พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)
    คำบรรยาย : วิปัสสนากรรมฐาน เล่ม ๘
    หน้า ๑๘๑-๑๘๘



     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 กันยายน 2009

แชร์หน้านี้

Loading...