(๒๐) มรดกธรรมพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 16 สิงหาคม 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๒๘

    บรรยายวันจันทร์ที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๐๖
    เรื่อง


    มหาสติปัฏฐาน

    (ข้อว่า อภิชฺฌาโทมนสฺสํ)

    วันนี้ จะได้บรรยายเรื่อง มหาสติปัฏฐาน ข้อที่ว่า"อภิชฺฌาโทมนสฺสํ" ต่อไป

    ถ. คำว่า "อภิชฺฌาโทมนสฺสํ" แปลและหมายความว่าอย่างไร?
    ต. คำว่า "อภิชฺฌาโทมนสฺสํ" แยกเป็น ๒ ศัพท์ คืออภิชฺฌา + โทมนสฺส
    อภิชฺฌา แปลว่า เพ่งเฉพาะ หมายความ เพ่งเล็ง คือเพ่งเล็ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    โทมนสฺส แปลว่า เสียใจ ใจไม่ดี คือใจโกรธ ใจพยาบาท นั่นเอง
    ถ. อภิชฺฌา โดยองค์ธรรมได้แก่อะไร มีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง?
    ต. ได้แก่ โลภเจตสิก ซึ่งจำแนกเป็นกามตัณหา ภวตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา มีลักษณะดังนี้ คือ
    ๑. อารมฺมณคหณลกฺขโณ โลภะนั้นมีความยึดมั่นอารมณ์เป็นลักษณะ หมายความว่า ยึดมั่นอารมณ์ ๖ คือยึดมั่นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์

    ๒. อภิสงฺครโส มีความติดข้องอยู่ในอารมณ์เป็นหน้าที่ หมายความว่าหน้าที่ของโลภะนั้นให้สรรพสัตว์หลงติดอยู่ในอารมณ์ทั้ง ๖

    ๓. อปริจฺจาคปจฺจุปฏฺฐาโน มีการไม่ยอมสละ ไม่ยอมละ เป็นผลปรากฎ หมายความว่า ไม่ยอมปล่อยวางอารมณ์ทั้ง ๖ มีรูปเป็นต้นดังกล่าวมาแล้วนั้น

    ๔. สํโยชนียธมเมสุ อสฺสาททสฺสนปทฏฺฐาโน โลภะนั้น มีความเห็นผิดด้วยอำนาจความยินดีในสังโยชนิยธรรมเป็นเหตุใกล้ชิด

    สังโยชนียธรรม แปลว่า ธรรมที่เป็นอารมณ์ของสังโยชน์ ได้แก่โลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ แจกเป็นขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ ได้ดังนี้ คือ
    ๑. แจกเป็นขันธ์ ๕ คือรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

    ๒. แจกเป็นอายตนะ ๑๒ คือ จักขายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ มนายตะ รูปายตนะ สัททายตนะ คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะ ธัมมายตะ

    ๓. แจกเป็นธาตุ ๑๘ คือ
    จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ
    โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ
    ฆานธาตุ คันธธาตุ คันธวิญญาณธาตุ
    ชิวหาธาตุ รสาธาติ ชิวหาวิญญาณธาตุ
    กายธาตุ โผฏฐัพพะ กายวิญญาณธาตุ
    มโนธาตุ ธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ
    ๔. แจกเป็นสัจจะ ๒ คือ ทุกขสัจจะ และสมุทัยสัจ
    โลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ (เว้นโลภะ) รูป ๒๘ เป็นทุกขสัจ
    โลภเจตสิก เป็นสมุทัยสัจ

    ถ. คำว่า สังโยชน์ แปลและหมายความว่าอย่างไร มีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. แปลว่า กิเลสเป็นเครื่องผูกใจสรรพสัตว์ไว้ในภพ ๓ หมายความว่า สัตว์ทั้งหลายพากันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ เพราะมีเครื่องผูกไว้ อุปมาดุจเชื่อกผูกขานก ถึงแม้ว่านกตัวนั้นจะบินไปไหนก็ตาม บุคคลผู้ถือเชือกนกไว้ในมือสามารถจะดึงลงมาได้ตามความปรารถนาฉันใด กิเลสทั้งหลายก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้นผู้ใดไม่ต้องการให้ถูกกิเลสผูก ไม่ต้องการให้ถูกกิเลสจองจำต้องตัดสังโยชน์ทิ้งเสีย

    สังโยชน์นั้นมีอยู่ ๑๐ อย่างคือ
    ๑. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัว ตน เรา เขา เช่น ในการนั่ง ว่าเรานั่ง ในการนอนว่าเรานอน เป็นต้น

    ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บุญ บาป นรก สวรรค์ มรรค ผล นิพพาน

    ๓. สีลัพพตปรามาส ได้แก่ ความยึดถือในการปฏิบัติที่ผิด ความเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเข้าใจมิได้ บริสุทธิได้ด้วยศีลหรือพรต อย่างนั้นอย่างนี้จริงๆ แม้การกระทำที่หวังความสุขในโลกหน้า แต่ไม่ได้กระทำตามทางแห่งมรรค ๘ ซึ่งสามารถจะให้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ ก็จัดเป็นสีลัพพตปรามาสทั้งสิ้น

    ๔. กามราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกามและวัตถุ ได้แก่ ความพอใจ ในกามคุณ ๕ ความติดอยู่ในกามคุณ มีอยู่ ๒ อย่าง คือ
    ๑. อปาคมนียะ ได้แก่กามราคะที่นำไปสู่อบายภูมิ เช่น เมื่อกามอารมณ์ทั้ง ๕ มากระทบทวารทั้ง ๕ แล้วมีความยินดีพอใจเป็นอย่างมาก คือเกินขอบเขตแห่งศีลธรรม จนถึงสามารถล่วงอกุศลกรรมบถได้ ตัวอย่าง เช่น ความพอใจในรูปที่มากกระทบสามารถให้กระทำกรรมอันเป็นกาเมสุมิจฉาจารได้ เป็นต้น

    ๒. อนาปายคมนียะ ได้แก่ กามราคะที่ไม่นำไปสู่อบายภูมิ แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ
    ก. อย่างหยาบ ได้แก่ ความพอใจกาม อารมณ์ทั้ง ๕ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น แต่ความพอใจนั้นถึงหากจะมีอยู่ก็ไม่รุนแรง เป็นความพอใจที่ปรากฎอยู่ แต่ในใจเพียงเล็กน้อย

    ข. อย่างละเอียด ได้แก่กามอารมณ์ทั้ง ๕ เมื่อมากระทบทวารทั้ง ๕ แล้วไม่อาจให้เกิดความยินดีติดอยู่ในอารมณ์นั้นๆ ได้ เช่น รูปารมณ์ที่มากระทบทางตา แม้จะมีความสวยงามสักเพียงไรก็ตาม ไม่สามารถจะทำให้เกิดความกำหนัดยินดีติดอยู่ในอารมณ์นั้นๆ ได้
    พระโสดาบัน ละกามราคะที่จะนำไปสู่อบายได้โดยเด็ดขาด
    พระสกิทาคามี ละกามราคะที่ไม่นำไปอบายอย่างหยาบได้
    พระอนาคามี ละกามราคะที่ไม่นำไปอบายอย่างละเอียดได้
    ๕. ปฏิฆะ ได้แก่ความไม่พอใจในอารมณ์ทั้งหลายที่มากระทบ โดยองค์ธรรม ก็ได้แก่ โทสเจตสิกนั่นเอง แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ นำไปสู่อบาย ๑ ไม่นำไปสู่อบาย ๑

    ๖. รูปราคะ ได้แก่ ความพอใจยินดีในรูปภพ รูปฌาน คือมีความพอใจในการเจริญสมถกรรมฐาน ด้วยมีความมุ่งหมายว่า เมื่อตนละจากโลกนี้ไปแล้ว จะได้ไปปฏิสนธิในรูปภพ ความยินดีพอใจดังกล่าวมานี้ ย่อมประกอบด้วยโลภะ จึงชื่อว่า รูปราคะ

    หากจะมีคำถามสอดแทรกเข้ามาว่า คำสอนในพระพุทธศาสนานั้น สอนให้พุทธบริษัทพากันปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา คำว่า สมาธิ ก็ได้แก่การปฏิบัติสมถกรรมฐานนั่นเอง เพราะเหตุใด จึงกล่าวว่า การปฏิบัติสมถกรรมฐาน เป็นรูปราคะและเป็นสังโยชน์ประการหนึ่ง
    ตอบว่า การปฏิบัติสมถกรรมฐานเป็นการบำเพ็ญสมาธิก็จริง แต่โดยเฉพาะอานิสงส์ของสมถกรรมฐาน ย่อมให้ผลปฏิสนธิในพรหมภูมิ อันเป็นการติดอยู่ในภพ เมื่อยังติดอยู่ในภพ ก็ย่อมตกอยู่ในอำนาจของสังโยชน์ การที่พระพุทธศาสนาสอนให้ปฏิบัติสมาธินั้น ก็เพื่อจะให้สมาธิเป็นบาทของปัญญา หมายความว่าเมื่อปฏิบัติสมถกรรมฐานแล้ว ก็ต้องปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อไป ผู้ใดปฏิบัติสมถกรรมฐานแล้ว ติดอยู่แค่นั้น ไม่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อไปอีก ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าติดอยู่ในสังโยชน์ ไม่ถึงความพ้นทุกข์ได้

    ๗. อรูปราคะ ได้แก่ ความยินดีพอใจในอรูปภพ อรูปฌาณ

    ๘. มานะ ได้แก่ ความถอตัว เห็นว่าตัวสำคัญยิ่งกว่าผู้อื่น ย่อมเห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา เป็นเขา มานะนั้น ตามที่ปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๙๔ จำแนกแจกออกเป็นหลายอย่าง ดังนี้ คือ
    มานะ ๑ คือความฟูขึ้นของจิต ได้แก่ ความถือตัว

    มานะ ๒ คิอการยกตัว ๑ การข่มผู้อื่น ๑

    มานะ ๓ คือถือว่าตัวประเสริฐกว่าเขา ๑ ตัวเสมอเขา ๑ ตัวเลวกว่าเขา ๑

    มานะ ๔ คือ ลาเภน มานํ ชเนติ ยังมานะให้เกิดขึ้น เพราะลาภ เพราะยศ เพราะความสรรเสริญ เพราะสุข

    มานะ ๖ คือ จกฺขุสมฺปทาย มานํ ชเนติ ยังมานะให้เกิดขึ้นเพราะความถึงพร้อมแห่งจักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ มานะ

    มานะ ๗ คือ
    ๑. มาโน ถือตัว

    ๒. อติมาโน ดูหมิ่นท่าน

    ๓. มานาติมาโน ได้แก่มานะที่เกิดขึ้นว่า "เมื่อก่อนคนนี้เสมอเรา เดี๋ยวนี้ประเสริฐกว่าเรา ส่วนคนนี้เลวกว่าเรา"

    ๔. โอมาโน ได้แก่ มานะต่ำ เช่นมานะว่าตนเป็นคนต่ำ เป็นคนเลว

    ๕. อธิมาโน ได้แก่มานะยิ่ง เช่น คนไม่ถึงสัจจะ ๔ แต่เข้าใจว่าตนถึงกตนไม่ได้กระทำกิจที่ควรทำด้วยมรรค ๔ แต่เข้าใจว่าตนได้ทำแล้ว ตนไม่ได้บรรลุสัจจธรรม ๔ แต่เข้าใจว่าตนได้บรรลุแล้ว ตนไม่ได้ทำให้แจ้งอรหันต์ แต่เข้าใจว่าตนได้ทำให้แจ้งแล้ว เป็นตัวอย่าง

    ๖. อสฺมิมาโน ได้แก่ มานะที่เกิดขึ้นในขันธ์ ๕

    ๗. มิจฺฉามาโน มานะผิด ได้แก่ มานะที่เกิดขึ้นพร้อมกับการงานอันลามก เช่นพรานปลา พรานเนื้อ ศิลปะอันลามก เช่นฉลาดในการสร้างเครื่องมือ ทำบาป มีแห อวน บ่วง แหลน หลาว ฟ้าทับเหว เป็นต้น วิชชาอันลามก เช่นวิชาที่เบียดเบียนผู้อื่น ฆ่าผู้อื่น เป็นต้น สุตะ อันลามก เช่น ภารตยุทธ์ การรบของพระเจ้าภารตะ และสีตาหรณะ การแย่งนางสีดา เป็นต้น ปฏิภาณอันลามก เช่น คำทุพภาษิต เป็นต้น ศีลอันลามก เช่น รักษาศีลอย่างแพะ อย่างโค เป็นต้น และได้แก่มานะที่เกิดขึ้นพร้อมกับทิฏฐิอันลามก คือ ทิฏฐิ ๖๒

    มานะ ๘ ได้แก่ มานะที่เกิดขึ้นเพราะโลกธรรม ๘ คือเกิดขึ้นเพราะลาภ ๑ เสื่อมลาภ ๑ เพราะยศ ๑ เสื่อมยศ ๑ เพราะสรรเสริญ ๑ นินทา ๑ เพราะสุข ๑ ทุกข์ ๑

    มานะ ๙ คือ
    ๑. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา
    ๒. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา
    ๓. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา
    ๔. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา
    ๕. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา
    ๖. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา
    ๗. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา
    ๘. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา
    ๙. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา

    มานะ ๑๒ คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังมานะให้เกิดขึ้นเพราะชาติ โคตร ตระกูล รูปสวย ทรัพย์ อัธยาศัย การงาน ศิลปะ วิชา สุตะ ปฏิภาณ และเพราะวัตถุอื่นๆ อีก
    ๙. อุทธัจจะ ได้แก่ ความฟุ้งซ่าน ไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์อันเดียวได้ มีความไม่สงบเป็นลักษณะ อุปมาดุจน้ำไหล น้ำกระเพื่อมเพราะถูกลมพัด ฉะนั้น อุทธัจจะเกิดขึ้นเพราะการใส่ใจอารมณ์โดยอุบายอันไม่แยบคาย

    ๑๐. อวิชชา แปลว่า ความไม่รู้ มีอยู่ ๖ นัย คือ
    นัยที่ ๑ คือ อญฺญาณทสฺสนอวิชฺชา ความไม่รู้โดยทั่วๆ ไป

    นัยที่ ๒ คือ อปฏิปตฺติอวิชฺชา ไม่รู้ข้อปฏิบัติที่ถูกต้องและไม่ปฏิบัติในข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง
    มิจฉาปฏิปตฺติอวิชฺชา ปฏิบัติอยู่แต่ปฏิบัติผิด ๑

    นัยที่ ๓ คือ ไม่รู้เวทนา ๓ คือไม่รู้โสมนัสสเวทนา ไม่รู้โทมนัสสเวทนา และไม่รู้อุเปกขาเวทนา

    นัยที่ ๔ คือ ไม่รู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

    นัยที่ ๕ คือ ไม่รู้คติทั้ง ๕ ได้แก่มนุสสคติ เทวคติ นิริยคติ เปตคติ ดิรัจฉานคติ

    นัยที่ ๖ คือ ไม่รู้ทวาร ๖ และไม่รู้อารมณ์ ๖

    ถ. โลภมูลจิต นั้นทั้งหมดมีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. มีอยู่ ๘ คือ
    ๑. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏิจิคตสมฺปตฺติ อสงฺขาริกํ เวลาทำบาปมีความดีใจเห็นว่าไม่เป็นบาป ทำบาปเอง

    ๒. เวลาทำบาป มีความดีใจ เห็นว่าไม่เป็นบาป มีผู้ชักชวนจึงทำบาป

    ๓. เวลาทำบาป มีใจเฉยๆ เห็นว่าไม่เป็นบาป ทำบาปเอง

    ๔. เวลาทำบาป มีใจเฉยๆ เห็นว่าไม่เป็นบาป มีผู้ชักชวนจึงทำบาป

    ๕.โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ เวลาทำบาปมีความดีใจ เห็นว่าเป็นบาปอยู่ ทำบาปเอง

    ๖. เวลาทำบาป มีความดีใจ เห็นว่าเป็นบาปอยู่ มีผู้ชักชวนจึงทำบาป

    ๗. เวลาทำบาป มีใจเฉยๆ เห็นว่าเป็นบาปอยู่ ทำบาปเอง

    ๘. เวลาทำบาป มีใจเฉยๆ เห็นว่าเป็นบาปอยู่ มีผู้ชักชวนจึงทำบาป
    ถ. จะปฏิบัติอย่างไร จึงจะละอภิชฌา คือโลภะได้?
    ต. ต้องปฏิบัติตามสติปัฏฐานทั้ง ๔ จึงจะละโลภะได้

    ถ. ปฏิบัติถึงขั้นไหนจึงจะละได้?
    ต. ปฏิบัติขั้นต้น คือผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๑ ละโลภะได้ ๔ ข้อข้างต้น ปฏิบัติผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๔ จึงจะละโลภะได้หมดสิ้นไม่มีเหลือ


    วันนี้ ได้บรรยายมหาสติปัฏฐาน ข้อว่า อภิชฺฌาโทมนสฺสํ มาก็ยังไม่จบดี แต่เห็นสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้

    ;aa40

    พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

    คำบรรยาย : วิปัสสนากรรมฐาน เล่ม ๘
    หน้า ๑๗๓-๑๘๐

     

แชร์หน้านี้

Loading...