(๑๙) วิมุตติมรรค:ทางแห่งความหลุดพ้น(ภาคปัญญา)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 22 กุมภาพันธ์ 2010.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    [๓๘] อุปมาว่าด้วยเสียงกลอง เมืองคนธรรพ์ และฟ้าแลบ

    บัดนี้โยคีย่อมพิจารณาเห็นดังแสดงไว้ในคาถาต่อไปนี้
    อันว่านามรูปเป็นของคู่กัน
    ทั้งคู่ต่างอาศัยกันและกัน
    เมื่ออย่างหนึ่งแตกทำลายไป
    ก็แตกทำลายทั้งคู่ ตามกันไป
    สภาวะธรรมทั้งห้า ที่รู้รูป รู้กลิ่นและรู้อื่นๆ
    (สภาวธรรมทั้ห้าคือวิญญาณห้า)
    ไม่ได้เกิดจากตา ไม่ได้เกิดจากรูป
    แต่ก็ไม่ได้ต่างหากจากสองสิ่งนั้น
    เป็นสภาวะที่มีเหตุและปัจจัยให้เกิดขึ้น
    เช่นเสียงเกิดขึ้นเมื่อตีกลอง
    สภาวะธรรมทั้งห้า ที่รูปรูป รู้กลิ่นและรู้อื่นๆ
    ไม่ได้เกิดจากหู ไม่ได้เกิดจากเสียง
    แต่ก็ไม่ได้ต่างหากจากสองสิ่งนั้น
    เป็นสภาวะที่มีเหตุและปัจจัยให้เกิดขึ้น
    เช่นเสียงเกิดขึ้นเมื่อตีกลอง
    สภาวะธรรมทั้งห้า ที่รู้รูป รู้กลิ่นและรู้อื่นๆ
    ไม่ได้เกิดจากจมูก ไม่ได้เกิดจากกลิ่น
    แต่ก็ไม่ได้ต่างหากจากสองสิ่งนั้น
    สภาวะธรรมทั้งห้า ที่รู้รูป รู้กลิ่นและรู้อื่นๆ
    ไม่ได้เกิดจากลิ้น ไม่ได้เกิดจากรส
    แต่ก็ไม่่ได้ต่างหากจากสองสิ่งนั้น
    สภาวะธรรมทั้งห้า ที่รู้รูป รู้กลิ่นและรู้อื่นๆ
    ไม่ได้เกิดจากกาย ไม่ได้เกิดจากโผฏฐัพพะ
    แต่ก็ไม่ได้ต่างหากจากสองสิ่งนั้น
    ธรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากวัตถุรูป
    และไม่ได้เกิดจากธรรมายตนะ
    เป็นสภาวะที่มีเหตุและปัจจัยให้เกิดขึ้น
    เช่นเสียงเกิดขึ้น เมื่อตีกลอง
    กิจของธรรมเหล่านี้ ปราศจากความแข็งแรง
    เหตุเก่าก่อนก็อ่อนกำลัง
    ที่มาใหม่ก็อ่อนแอ
    สิ่งที่ผูกพันกัน ก็ไม่แน่นหนา
    ภาวะที่เกิดร่วมกันก็อ่อนกำลัง
    ไม่มีพลังในการรวมกันเสียเลย
    และสิ่งที่หมุนไปก็ไม่มีเรี่ยวแรง
    และหมุนกันไปอย่างไม่มีแรง
    ไม่มีแก่นและไม่อาจทำให้เกิดขึ้นได้
    ปราศจากแก่นสารเหมือนเมืองคนธรรพ์
    ไม่มีใครทำให้เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเอง
    ไม่มีความแข็งแรงเหลืออยู่
    และเพราะอาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น
    เมื่อเกิดแล้วก็เสื่อมโทรมไป
    กายเรานี้ อ่อนแอจริงหนอ
    ตนเองก็ต่ำต้อยและไม่ได้เกิดขึ้นเอง
    ไม่เป็นต้นเหตุหรือไม่เป็นอารมณ์ด้วยตนเอง
    ไม่มีแก่สารเลยและไม่พ้นไปจากการถูกปรุงแต่ง
    แท้จริงแล้ว มันมาจากสภาวะที่สลับซับซ้อนหลายอย่าง
    ชีวิตนี้สั้นจริงหนอ เพราะมันอ่อนแอเหลือเกิน
    มันไม่มีที่ใหม่และไม่ได้มาจากไหน
    ไม่ได้เกิดในที่ใด ใกล้หรือไกล
    จิตไม่ใช่บุคคล ชีวะหรือตัวตน
    ทุกขณะที่คิดมันจะอยู่กับสิ่งที่เป็นสุข หรือสิ่งที่เป็นทุกข์
    มันแล่นข้ามภูเขา ทะเล ถิ่นต่างๆ
    เรามองเห็นแปดหมื่นกัปป์ ชั่วพริบตาเดียว
    อยู่เพียงขณะเดียว แล้วไม่กลับมาอีก
    ไม่มีจิตสองขณะติดเป็นอันเดียวกัน
    ทั้งอดีต อนาคต หายไปในตัวมัน
    เหลืออยู่ก็เพียงขันธ์
    ซึ่งก็ดับไปดับไป ไม่มีที่สิ้นสุด
    และที่จะมาในอนาคต ก็จะดับไปเช่นกัน
    ไม่มีนิมิตต่างๆ ปรากฏขึ้นที่นี่
    ไม่มีการมาจากสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น
    ในความหมายอันสูงสุด ไม่มีผู้ไป ไม่มีผู้มา
    และในอนาคต ไม่มีกลุ่มก้อนอยู่ มีแต่การสืบต่อกันไป
    โลกไม่เคยผสมกับธรรม
    บุคคลเห็นอนาคตไม่กลุ่มก้อนอยู่ มีแต่การสืบต่อกันไป
    โลกไม่เคยผสมกับธรรม
    บุคคลเห็นอนาคตและเหตุเดิมไม่ได้
    ธรรมทั้งหลายสร้างขึ้นมาไม่ได้เหมือนที่ว่าง
    เกิดขึ้นเช่นฟ้าแลบและดับไปอย่างรวดเร็ว
    [๓๙] เมื่อเห็นการดับไปโดยไม่ขาดสาย โยคีก็น้อมจิตเข้ามาสู่สมาธิ
    อุปมาดังการสีไฟ เมื่อไม้สองอันถูกสีจนเกิดไฟได้ ฉันใด ขณะแห่งการตรัสรู้เกิดขึ้นได้ ฉันนั้น (เมื่อเห็นแจ้งแล้ว ก็น้อมจิตเพื่อสมาธิ หากอินทรีย์แก่กล้าไต่สวนกันแล้ว สมาธินั้นก็จะเป็นมรรคสมาธิ (ผู้แปล)
    [๔๐] (วิปัสสนูปกิเลส)

    โอภาส (แสงสว่าง) ญาณ (ความรู้) ปีติ ปัสสัทธิ (ความสงบ) สุข อธิโมกข์ (ศรัทธา) ปัคคาหะ (ความเพียร การประคองจิต) อุปัฏฐานะ (สติ) อุเบกขา และนิกันติ (ความยินดี) เหล่านี้ เกิดขึ้นเมื่อใด ถ้าโยคีไม่ฉลาดจะทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน และเกิดมานะในสภาวะอันนี้

    [๔๑] (ถาม) จะละความฟุ้งซ่านได้อย่างไร?
    (ตอบ) โยคีนั้นจะต้องเร้าปีติในธรรม (รู้ว่านั่นเป็นวิปัสสนูปกิเลส ผู้ที่ปฏิบัติมาถูกทางของวิปัสสนาวิถีแล้ว จึงอาจเกิดอุปกิเลสเหล่านี้ได้ แต่อุปกิเลสเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในธรรม เธอก็ละความยินดีในอุปกิเลสนั้นเสีย แล้วเข้าสู่วิปัสสนาวิถีต่อไป) ปีติในธรรมนั้นจะช่วยให้จิตของเธอสงบ แล้วเธอก็ภาวนาต่อไป เธอสงบจิต และทำให้จิตคล้อยไปตามธรรมที่กำลังเจริญวิปัสสนานั้น เธอละความคิดว่าเที่ยง (มรรค ผล นิพพาน) (ความคิดว่า เที่ยงจะเกิดในวิปัสสนูปกิเลส) ได้ ด้วยวิธีกำหนดจิตให้เป็นสมาธิในภังคญาณ เมื่อพ้นจากนิจสัญญาได้แล้วก็เป็นอันว่าเธอชำนาญในวิธีแก้ความฟุ้งซ่าน *
    ---------------------
    *
    วิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอนจบ ฉบับมหามกุฏ หน้า ๑๑๐ อธิบายเรื่องวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ สรุปได้ดังนี้

    วิปัสสนูปกิเลสทั้งหลายจะไม่เกิดขึ้นแก่พระอริยสาวกผู้ถึงปฏิเวธแล้ว และไม่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ปฏิบัติผิด เกียจคร้าน ทอดทิ้งธุระในกรรมฐาน แต่ย่อมเกิดแก่กุลบุตรผู้ปฏิบัติชอบ ประกอบการภาวนาที่ถูกต้อง เป็นอารัทธวิปัสสก (ผู้เริ่มต้นเห็นแจ้ง) เท่านั้น

    อุปกิเสล ๑๐ นั้น คือ
    ๑. โอภาสปรากฎแสงสว่างขึ้น อาจสว่างอยู่เฉพาะที่นั่งอยู่เท่านั้น หรืออาจกว่างออกไปมากไปไกลได้มากๆ ก็ได้ และทำให้เห็นภาพปรากฏชัดเจนในบริเวณที่แสงสว่างนั้น แผ่ไปถึง เมื่อโอภาสเกิดขึ้นแล้ว พระโยคาวจรตื่นคิดไปว่า "ก่อนแต่นี้ โอภาสเห็นปานนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นแก่เราเลย เราเป็นผู้บรรลุมรรค บรรลุผลแล้วเป็นแน่" ดังนี้แล้ว ถือเอาสิ่งที่ไม่ใช่มรรคว่าเป็นมรรคไป และถือเอาสิ่งที่ไม่ใช่ผลว่าเป็นผล เมื่อเธอถือเอาผิดเช่นนี้ วิปัสสนาวิถีก็เป็นอันชะงักไป เธอก็ปล่อยมูลกรรมฐานของตนเสีย นั่งชมโอภาสอยู่นั่นเอง
    วิปัสสนูปกิเลส ที่เป็นโอภาสนี้ย่อมเกิดขึ้นแก่สมถวิปัสสนาลาภีบุคคล (คือผู้ที่ได้ทั้งสมาถะและวิปัสสนา) เพราะความไม่ปรากฏขึ้นแห่งกิเลสทั้งหลายที่สมาบัติข่มไว้จึงยังจิตให้เกิดขึ้น ว่าเราเป็นพระอรหันต์

    พระธรรมเสนาบดีได้กล่าวไว้ว่า ปุจแาว่า ใจอันถือเอาผิดด้วยธรรมอุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่านคือตื่นอุปกิเลสว่าเป็นธรรม) เป็นอย่างไร? วิสัชนาว่า เมื่อภิกษุมนสิการโดยความไม่เที่ยงอยู่ โอภาสเกิดขึ้น เธอนึกหน่วงเอาโอภาสว่า "โอภาสเป็นธรรม" ความฟุ้งซ่านไปเพราะโอภาสนั้น เป็นอุทธัจจะ เธอเป็นผู้มีใจถือเอาผิดด้วยอุทธัจจะนั้นย่อมไม่รู้ความปรากฏ โดยความไม่เที่ยงตามความเป็นจริง ย่อมไม่รู้ความปรากฏโดยความเป็นทุกข์... ย่อมไม่รู้ความปรากฏความเป็นอนัตตาตามความเป็นจริง
    ๒. ญาณ (คำว่า ญาณในที่นี้ วิสุทธิมรรคฎีกาท่านอธิบายว่า หมายถึงการพินิจและการพิจารณา คือ การพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปโดยนับเป็นต้นว่า รูปเกิดขึ้นอย่างนี้บ้าง รูปเสื่อมไปอย่างนี้บ้าง) ญาณอันคมกล้าเฉียบแหลมยิ่ง ย่อมเกิดขึ้นแก่พระโยคี ผู้ได้อุทยัพพยญาณผู้พิจารณารูปธรรมและอรูปธรรมทั้งหลายอยู่
    ๓. ปีติ ปีติทั้งห้า คือ ขุททกาปีติ ขณิกาปีติ โอกกันติกาปีติ อุพเพงคาปีติ และผรณาปีติ ย่อมเกิดขึ้นแก่พระโยคีนั้นทั่วสรีระ
    ๔. ปัสสัทธิ ได้แก่ วิปัสสนูปัสสัทธิ ในสมัยนั้น ความกระวนกระวายแห่งกายและจิตย่อมไม่มีแก่พระโยคีนั้น ความหนักแห่งกายและจิตก็ไม่มี ความกระด้าง... ความไม่ควรแก่การงาน... ความไข้... ความโกงแห่งกาย และจิตก็ไม่มี กายและจิตของพระโยคีีนั้นย่อมรำงับ (ปัสสัทธิ) เบา(ลหุตา) อ่อน (มุทุตา) ควรแก่การงาน (กัมมัญญตา) ความคล่องแคล่ว (ปาคุญญตา) ตรง (อุชุกตา) โดยแท้ทีเดียว (ธรรมทั้งหกนี้เรียกยุคลธรรม มหาฎีกาท่านว่าจะเกิดร่วมกันเสมอ)
    เมื่อกายและจิตอันปัสสัทธิ เป็นต้นอนุเคราะห์แล้ว สมัยนั้นเธอย่อมได้เสวยความยินดีอันไม่ใช่ของมนุษย์สามัญ (อมานุสี) ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้เป็นคาถาดังนี้
    ความยินดีชนิดอมานุสีย่อมมีแก่ภิกษุ
    ผู้เข้าไปสู่สุญญคาร มีจิตสงบ เห็นแจ้ง
    ธรรมโดยขอบอยู่ ภิกษุพิจารณาเห็น
    ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งขันธ์
    ทั้งหลายทางไรๆ (ทางรูปหรือทางนาม) ก็ตาม
    เธอย่อมได้ปีติปราโมทย์ ปีติปราโมทย์เช่นนั้น
    เป็นน้ำอมฤตของท่านผู้รู้ทั้งหลาย


    ๕.สุข เป็นความสุขประณีตยิ่งที่แผ่ไปทั่วร่างกาย ย่อมเกิดขึ้นแก่พระโยคีผู้เห็นแจ้งการเกิดขึ้นและการเสื่อมไปของสังขารทั้งหลาย

    ๖. อธิโมกข์ ได้แก่ศรัทธาที่สัมปยุตกับวิปัสสนา เป็นศรัทธาที่มีกำลังยังจิตและเจตสิกให้ผ่องใสอย่าล้ำเลิศ

    ๗. ปัคคาหะ ได้แก่วิริยะ หรือความเพียร เป็นความเพียรที่ได้ประคองไว้เป็นอย่างดีไม่หย่อนนัก ไม่ตึงนัก

    ๘. อุปัฏฐาน คือสติ สติที่สัมปยุตกับวิปัสสนา ที่เข้าไปตั้งอยู่อย่างดี ตั้งอยู่อย่างมั่นคง เป็นหลักไม่หวั่นไหวเช่นกับภูเขาหลใวง เมื่อเธอนึกหน่วงกำหนดในใจพิจารณาดูฐานะใดๆ ฐานะนั้นๆ ก็แล่นเข้าไปปรากฏแก่เธอด้วยสติ ดุปรโลกปรากฏแก่ท่านผู้มีทิพยจักษุ ฉะนั้น

    ๙. อุเบกขา หมายเอาวิปัสสนูเบกขา (อุเบกขาในวิปัสสนา) และอาวัชชนูเบกขา (อุเบกขาในอาวัชชนจิต) ด้วยว่าในสมัยนั้น ทั้งวิปัสสนูเบกขาอันเป็นความเป็นกลาง (คือวางเฉย) ในสังขารทั้งปวงอย่างมีกำลังก็เกิดขึ้น ทั้งอาวัชชนูเบกขาในทวาร (การวางเฉยต่ออารมณ์ที่มากระทบทวาร) ก็เกิดขึ้นแก่พระโยคีนั้น อันอุเบกขานั้น เมื่อพระโยคีอาวัชชนาการ (นึกหน่วง) ถึงฐานะนั้นๆ ย่อมนำไปอย่างกล้าแข็ง

    ๑๐. นิกันติ ได้แก่ความยินดีในวิปัสสนานั้น เป็นความยินดีพอใจอย่างสุขุมมีอาการสงบ ทำความยินดีในวิปัสสนาที่ประดับไปด้วยอุปกิเลสทั้งหลาย มีโอภาสเป็นต้น เมื่อเกิดกับพระโยคีนั้น ทำให้เธอไม่อาจแม้แต่จะกำหนดจับได้ว่านั่นเป็นกิเลส (นิกันตินี้จะเกิดร่วมไปกับอุปกิเลสอื่นๆ ทำให้ยากที่จะรู้ได้ว่า วิปัสสนูปกิเลสได้เกิดขึ้นแล้วแก่เธอ)
    ก็เมื่ออุปกิเลสเหล่านี้เกิดขึ้น พระโยคาวจรก็คิดตื่นไปว่า ก่อนแต่นี้ แสงสว่าง... ญาณ... ฯลฯ นิกันติเป็นปานนี้ไม่เคยเกิดขึ้นแก่เราเลยหนา เราเป็นผู้เป็นผู้บรรลุมรรค เป็นผู้บรรลุผลแล้วเป็นแน่ ดังนี้แล้ว ก็ถือเอาสิ่งที่ไม่ใช่มรรคเลยว่าเป็นมรรคไป ถือเอาสิ่งที่ไม่ใช่ผลเลย ว่าเป็นผลไป เมื่อเธอถือเอาเช่นนี้ วิปัสสนาวิถีก็เป็นอันชะงักไป เธอปล่อยมูลกรรมฐานของตนเสีย นั่งชมวิปัสสนูปกิเลสอยู่นั่นแล

    ฝ่ายพระโยคาวจรผู้ฉลาด เป็นบัณฑิตคงแก่เรียน ถึงพร้อมด้วยความรู้ เมื่ออุปกิเลสเช่นโอภาส เป็นต้นเกิดขึ้น ย่อมกำหนดพิจารณาด้วยปัญญาอย่างนี้ว่า โอภาสเกิดขึ้นแก่เราแล้วนะ ก็แต่ว่าโอภาสนั้นไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัย เกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา ดังนี้บ้าง หรือมิฉะนั้นควรพิจารณาอย่างนี้ " ถ้าว่าโอภาสพึงเป็นอัตตาไซร็ จะถือว่ามันเป็นอัตตาก็ควรละ แต่นี่มันเป็นอนัตตาแท้ แต่มาถือเอาว่ามันเป็นอัตตา เพราะเหตุนั้นโอภาสจึงเป็นอนัตตา โดยความหมายว่าไม่เป็นไปในอำนาจ (ของใครๆ ) มันเป็นสิ่งไม่เที่ยง... โดยความหมายว่ามีแล้วก็ไม่มี เป็นทุกข์... โดยความหมายว่า ถูกความเกิดและความเสื่อมบีบคั้น

    พระโยคาวจรนั้น ครั้นพิจารณาอย่างนี้แล้วย่อมเข้าใจโอภาสได้ว่า นั้นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา เมื่อเข้าใจได้อย่างนี้อยู่ ก็ไม่หวั่นไหว ไม่สะดุ้งสะเทือนในเพราะอุปกิเลส มีโอภาส เป็นต้น

    พระโบราณจารย์กล่าวเป็นคาถาไว้ว่า
    ปัญญาของพระโยคาวจรผู้ใดเชี่ยวชาญ
    (คือรู้ทั่ว) ฐานะที่ตั้งของอุปกิเลส ๑๐ นี้
    พระโยคาวจรผู้นั้น ย่อมเป็นผู้ฉลาดในธัม-
    มุทธัจจะ (ความตื่นอุปกิเลสว่าเป็นธรรม)
    และย่อมไม่ถึงซึ่งความฟุ้งซ่านไป

    นิจสัญญา ปรากฏในรูปความฟุ้งซ๋านเพราะคิดว่าได้พบสิ่งที่เที่ยงแท้ คือนิพพานแล้ว
    ----------------------
    [๔๒] (ถาม) จะละมานะได้อย่างไร?
    (ตอบ) ในครั้งแรก การเกิดขึ้นแห่งโอภาสจากการปฏิบัติธรรม เธอจึงคิดว่า เธอได้บรรลุโลกุตรธรรมแล้ว เธอคิดว่าเธอได้บรรลุในสิ่งที่เธอไม่เคยบรรลุ และหยุดการปฏิบัติต่อไป มานะเกิดขึ้นอย่างนี้ โยคีผู้ฉลาดรู้ว่ากิเลสได้รบกวนสมาธิ (การภาวนา) แล้วเธอรู้ว่ายังเป็นโลกียธรรมเพราะยังมีสังขารเป็นอารมณ์ แต่โลกุตตรภาวะมีนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อรู้เช่นนั้น เธอจึกกำจัดความฟุ้งซ่านและมานะได้ด้วยความรู้นี้ และเฝ้าดูเฉพาะการดับไปต่อไป เธอปฏิบัติได้ดีและปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำอีก

    ข้อควรสังเกตในวิสุทธิมรรค วิปัสสนูปกิเลสมักจะเกิดกับท่านที่ได้อุทยัพพยญานแก่กล้วแล้ว แต่ในวิมุตติมรรคนี้ ท่านกล่าวหลังภังคญาณ ซึ่งเมื่อค้นคว้าจากบาลีและอรรถกถาแล้ว ก็เห็นได้ว่าไม่ใช่ความคลาดเคลื่อนในหนังสือเล่มใด ในปฏิสัมภิทามรรคก็ไม่ได้กล่าวไว้ในลำดับของวิปัสสนาวิถี เรื่องวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ นี้ มีกล่าวอยู่ในปฏิสัมภิทามรรคยุคนัทธวรรค ตอนยุคนัทธกถา ข้อ ๕๔๒-๕๔๓ ท่านก็ว่าวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นภายหลังจากการมนสิการโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตา วิปัสสนูปกิเลสอาจจะไม่เกิดเลย หรือเกิดขึ้นได้แม้ในพระอริยบุคคล ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ คืออาจเกิดขึ้นในมรรคใดมรรคหนึ่ง เช่นอนาคารมีก่อนจะได้อรหัตมรรค เป้นต้น (ปฏิสัมภิทามรรค ข้อ ๕๓๔ ท่านพระอานนท์กล่าวว่า "ดูก่อนอาวุโส ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง พยากรณ์อรหัตตในสำนักเราด้วยสรรคสี่ทั้งหมด หรือด้วยมรรคใดมรรคหนึ่ง" ซึ่งหมายความว่า อาจจะผ่านมรรคที่ต้องถอนวิปัสสนูปกิเลสก่อนก็ได้

    การเรียงลำดับวิสุทธิเจ็ด ท่านก็กล่าวแต่เพียงว่า มัคคามัคคญาทัสสนวิสุทธิมีภายหลังกังขาวิตรณวิสุทธิ เมื่อผ่านมัคคามัคคญาทัสสนวิสุทธิไปแล้ว จึงจะเข้าสู่วิปัสสนาวิถีที่ถูกต้อง โดยต้องเริ่มต้นตั้งแต่อุทยัพยญาณใหม่

    อีกประการหนึ่ง วิปัสสนูปกิเลส มักจะเกิดแก่ผู้ที่มีอินทรีย์อย่างใดอย่างหนึ่งกล้าแข็งแต่ยังบกพร่องอยู่บ้างในปัญญินทรีย์ เมื่อได้รับการชี้แนะที่ถูกทางก็จะบรรลุมรรคผลได้ดังกล่าวไว้ในยุคนัทธกถาที่อ้างแล้ว

    (ภังคญาณจบ)

    (ผูกที่ ๑๑ จบแล้ว)
     

แชร์หน้านี้

Loading...