(๑๖) พุทธตำนาน:พระเจ้าเลียบโลก

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 8 มีนาคม 2011.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    คติธรรมคำสอน

    สิ่งที่ควรทำบำเพ็ญก็คือ การให้ทาน การรักษาศีล การเจริญเมตตาภาวนา ตามกำลังความสามารถของเราที่จะพึงได้แค่ไหนนั้นแล ท่านเรียกว่าการบำเพ็ญความดีเพื่อเข้าสู่สถานที่ดี คติที่เหมาะสมมีสวรรค์เป็นสำคัญจนกระทั่งถึงนิพพานเป็นวาระสุดท้าย นี่คือ การสร้างความดี
    ผู้ที่มีฐานแห่งบุญที่สร้างไว้นั้นไม่มากพอ แม้จะมีความเพียรเพียงใดก็ตาม ก็ต้องเกิดมาเพื่อสะสมบุญบารมีต่อในภพชาติต่อไปจนกว่าจะเพียงพอที่จะสามารถก้าวขึ้นไปจนถึงจุดที่สมดุลกับการประพฤติ ปฏิบัติธรรมจนถึงจุดหนึ่งที่ไม่ต้องสร้าง ไม่ต้องสะสม ไม่ต้องยึดติดในบุญกุศลอีกแล้ว วันนั้นค่อยสลัดสละ ปล่อยวางเสียในทุกสิ่งทุกอย่าง ปล่อยจนว่าง เพื่อพาจิตอันอิสระไปสู่แดนที่สูงสุด แดนที่มีเจดีย์ใหญ่ แดนที่เป็นชุมชนอริยะ แดนอันเกษมสูงสุด นั่นคือ แดนพระนิพพาน

    ผู้มีธรรม ย่อมไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว อีกทั้งยังไม่เพ้อฝันสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ดำรงอยู่ด้วยปัจจุบันธรรม ผิวพรรณจึงผ่องใส
    การให้ทุกอย่างคือ การได้ทุกอย่าง การหวงแหนทุกอย่างคือการสูญเสียทุกอย่าง ของที่เก็บเอาไว้ยังไม่เป็นของเรา ของที่ให้ออกไปจึงเป็นของเราแท้จริง คนชั้นต่ำดีใจที่ได้เอาเปรียบ คนชั้นสูงเบิกบานเมื่อได้เสียเปรียบ ความรักแท้ไม่บังเกิดจากการยึดครอง ความเห็นแก่ตัวไม่สร้างความยั่งยืนให้มิตรภาพจิตที่โหยหิวกระหายจะทำลายความผูกพันทางใจของมนุษย์ คนชอบเอาเปรียบไม่สามารถนั่งบนหัวใจคน ผู้ที่ยอมแพ้เพื่อให้คนอื่นสบายใจ เสียเปรียบเพื่อให้คนอื่นเป็นสุข ผู้นั้นนั่นคือมหาบุรุษ มหาบุรุษ แม้มิได้นั่งบนกองเงินกองทองแต่มหาบุรุษย่อมนั่งอยู่ในหัวใจคน

    การให้ เป็นกุศโลบายในการฝึกคนที่ฝึกได้ยาก การให้ยังสิ่งที่ตนประสงค์ทั้งปวงให้สำเร็จ ผู้ให้จิตใจก็เบิกบานด้วยกิจคือการให้นั้น ฝ่ายผู้รับก็น้อมลงมาพบกับผู้ให้ด้วยปิยวาจา การให้... แค่เพียงคิดจะทำให้ใจก็ยังเป็นสุข ครั้นได้ให้แล้ว จิตใจก็แช่มชื่นเบิกบาน เมื่อวันเวลาผ่านไป หวนกลับไปรำลึกถึงดวงหน้าอันเปี่ยมสุขของผู้รับ ความปีติสุขก็ย้อนกลับมาทำให้หัวใจอิ่มเอม
    การกระทำทุกอย่างย่อมมีผล เกิดขึ้นในสันดานเสมอ เพราะทุกครั้งที่เราพูดดี ทำดี คิดดี ความดีย่อมเกิดขึ้นในสันดาน ทุกครั้งที่เราพูดชั่ว ทำชั่ว คิดชั่ว ความชั่วก็เกิดขึ้นในสันดาน ความคิดความชั่วที่เกิดขึ้นในสันดานเป็นของยั่งยืนเป็นของสืบต่อได้ถึงชาติหน้า และชาติต่อๆ ไปอีก ดังที่ได้กล่าวมา ฉะนั้นขอให้พิจารณาดูว่า ทุกครั้งที่เรามีการให้ มีอะไรเกิดขึ้นในสันดานของเราบ้าง

    จงเชื่อว่า เมื่อท่านทำดีแล้ว ถูกต้องแล้ว มันก็ดีแล้วและถูกต้องแล้ว คนอื่นจะรู้ความจริงหรือไม่ เขาจะยอมรับและสรรเสริญท่านหรือไม่ นั่นไม่ใช่เรื่องของท่าน แต่เรื่องของท่านคือ ท่านต้องทำดีให้ดีที่สุดและทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกต้องที่สุด โดยไม่หวังผลตอบแทน เมื่อนั้นท่านก็จะเป็นมนุษย์ผู้มีความประเสริฐอยู่ในตัวท่านเอง
    การทำบุญใดๆ ถ้าลุกขึ้นมาทำเอง โดยไม่ต้องมีใครชวน แต่ไม่ใช่ชวนยาก ท่านว่าบุญแรง แม้แต่การชวนตัวเอง คือนึกอยากทำบุญปั๊ปก็ทำเลย บุญแรง

    ตราบใดที่เธอโคจรไปเพื่อสนทนาธรรมและยังพบแต่ผู้มีปัญญาต่ำกว่าตน ขอให้โคจรต่อไป ตราบใดที่โคจรไปพบกับผู้มีปัญญาเสมอตนหรือสูงกว่าตนจึงพึงหยุดสนทนา แล้วเธอจะเจริญงอกงามในพุทธธรรม
    การศึกษาธรรมด้วยการอ่านการฟัง สิ่งที่ได้ก็คือ สัญญา (ความจำได้) การศึกษาธรรมด้วยการลงมือปฏิบัติ สิ่งที่เป็นผลของการปฏิบัติคือภูมิธรรม

    สิ่งทั้งหลายในโลกล้วนแต่เป็นสิ่งสมุติ ที่เราสมมุติขึ้นมาเองทั้งสิ้น สมมุติแล้วก็หลงสมมุติของตัวเอง เลยไม่มีใครว่าง มันเป็นทิฏฐิ ความเห็นไม่ตรง มันเป็นมานะ ความถือตัว ความยึดมั่นถือมั่น อันความยึดมั่นถือมั่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะจบลงได้ มันจบลงไม่ได้สักที เป็นเรื่องวัฏฏสงสาร เวียนว่าย ตายเกิด ที่ไหลไปไม่ขาด ไม่มีทางสิ้นสุด จิตและกายนี้ มันเป็นของไม่แน่นอนรวมแล้วเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อะไรๆ มันก็ไม่เที่ยง มันเที่ยงก็เพราะมันเป็นของมันอย่างนั้น เห็นเท่านี้ก็เห็นแก่นของธรรมะคือสัจจธรรม
    อวิชชาตัณหา เป็นพ่อแม่ของกิเลสทั้งหลาย บรรกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลายจะเกิดขึ้นและตั้งอยู่ในใจของบุคคลได้ ก็เพราะมันมีอวิชชา ตัณหาดับอวิชชา ตัณหาสองอย่างนี้ได้แล้ว บรรดากิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลายย่อมดับตามๆ กันหมด การที่จะดับอวิชชา ตัณหาได้ ต้องอาสัยปัญญาจึงจะดับได้ ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยสมาธิเป็นกำลัง สมาธิจะมีได้ต้องอาศัยศีลเป็นกำลัง...

    เธอทั้งหลายอย่าได้พอใจในความรักเลยเมื่อหัวใจยึดถือไว้ด้วยความรัก หัวใจนั้นจะสร้างความหวังขึ้นอย่างเจิดจ้า แต่ทุกครั้งที่เราหวัง ความผิดหวังก็จะรอเราอยู่ด้วยแล้วก็เป็นพิษแก่จิตใจทำให้ทุรนทุราย ดิ้นรนไม่รู้จักจบจักสิ้น ความสุขที่เกิดจากความรักนั้นเหมือนความสบายของคนป่วยที่ได้กินของแสลง
    ความยึดติด ความผูกพันก็เกิดเนื่องจากตนและของของตนทั้งนั้น เมื่อเราทำลายตนได้แล้วของของตนก็หมดสภาพไป ความยึดติดจะมีมาจากที่ไหน การทำลายอัตตาก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า อัตตาตัวจริงที่แน่นอนไม่มีถึงจะมีธาตุ ๔ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อาศัยกันอยู่ ก็เป็นเพียงก้อนธาตุที่ใจ อาศัยอยู่ชั่วขณะเท่านั้น ไม่นานก้อนธาตุก็ต้องแตกสลายไปตามอายุขัยของมันเอง นั่นคือ อนัตตา ไม่มีอะไรเป็นสัตว์เป็นบุคคล ไม่เป็นตัวเป็นตนแต่อย่างใด ผู้ที่จะหนีจากโลกนี้ไป ต้องทำใจให้ปฏิเสธในอัตตาทั้งหมด เพราะการยึดติดตนั้นเป็นสะพานเชื่อมโยงต่อกันกับภพชาติ...

    การต่อสู้กามกิเลสเป็นสงครามอันยิ่งใหญ่ กามกิเลสนี้ร้ายนัก มันมาทุกทิศทาง ความพอใจก็คือกิเลส ความไม่พอใจก็คือกามกิเลส กามกิเลสนี้อุปมาเหมือนแม่น้ำ ธารน้ำน้อยใหญ่ไม่มีประมาณ ไหลลงสูทะเล ไม่มีที่เต็มฉันใดก็ดี กามตัณหาที่ไม่พอดี ภวตัณหา วิภวตัณหาเป็นแหล่งก่อทุกข์ ก่อความเดือดร้อนไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งหมดอยู่ที่ใจ สุขก็อยู่ที่ใจ ทุกข์ก็อยู่ที่ใจ ใจนี่แหละคือต้นเหตุ ทำความพอใจให้อยู่ที่ใจนี่
    กามตัณหา เปรียบเหมือนแม่น้ำไหลไปสู่ทะเล ไม่รู้จักเต็มสักทีอันนี้ฉันใด ความอยากของตัณหามันไม่พอ ต้องทำความพอจึงจะดี เราจะต้องทำใจให้ผ่องใส ตั้งอยู่ในศีล ตั้งอยู่ในทาน ตั้งอยู่ในธรรม ตั้งอยู่ในสมาธิก้ดี ทุกอย่างเราทำความพอดี ความพอใจก้นำออกเสีย ความไม่พอใจก็นำออกเสีย เวลานี้เราจะพักจิต ทำกายของเรา ทำใจของเราให้รู้แจ้งในกายในใจของเรานี้ รู้ความเป็นมา วางให้หมด วางอารมณ์ วางอดีตอนาคตทั้งปวงที่ใจนี่แหละ

    เราทั้งหลายต่างเกิดมาด้วยวาสนา มีบุญพอเป็นมนุษย์ได้อย่างเต็มภูมิดังที่ทราบอยู่แก่ใจ อย่าลืมตัวลืมวาสนา โดยลืมสร้างคุณงามความดีเสริมต่อภพชาติของเราที่เคยเป็นมนุษย์ จะเปลี่ยนแปลงและกลับกลายหายไปเป็นชาติที่ต่ำทราม พระพุทธองค์จึงสอนไม่ให้ดูถูกเหยียดหยามกัน เมื่อเห็นเขาตกทุกข์หรือกำลังจน จนน่าทุเรศ เราอาจมีเวลาเป็นเช่นนั้นหรือยิ่งกว่านั้นก็ได้ เมื่อถึงวาระเข้าจริงๆ ไม่มีใครมีอำนาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะกรรมดีกรรมชั่วเรามีทางสร้างได้เช่นเดียวกับผู้อื่น ผู้สงสัยกรรมหรือไม่เชื่อกรรมว่ามีผล คือลืมตน จนกลายเป้นผู้มืดบอดอย่างช่วยไม่ได้
    เจ้าจงใคร่ครวญอย่างนี้ จงคิดว่าเราเป็นผู้ไม่มีอะไรเลย ทรัพย์สินก็ไม่มี ญาติ เพื่อน ลูก หลาน เหลนไม่มี แม้ร่างกายเราก็ไม่มี เพราะทุกอย่างที่กล่าวมามีสภาพพังหมด เราจะทำกิจที่ต้องทำตามหน้าที่ เมื่อสสิ้นภาระคือร่างกายพังแล้ว เราจะไปพระนิพพาน เมื่อความป่วยไข้ปรากฏ จงดีใจว่าวาระที่เราจะมีโอกาสเข้าสู่นิพพานมาถึงแล้ว เราสิ้นทุกข์แล้ว คิดไว้อย่างนี้ทุกวัน จิตจะชิน จะเห็นเหตุผล เมื่อจะตาย อารมณ์จะสบายดีแล้วก็จะเข้านิพพานได้ทันที

    ความทุกข์เมื่อโผล่ขึ้นมาก็หาวิธีด้วยการเอาความสุขทางโลกมาบดบัง ไม่แก้ที่ทุกข์อันแท้จริงนั้น ใช้ความสุขมาบดบัง และเมื่อพลังแห่งความสุขหมดสิ้นไป ความทุกข์ก็จะมีพลังและเขามาแทน มีกำลังมากกว่าเดิมอีกหลายเท่านักนี่เอง ที่คนเราทั้งหลายยังจมอยู่ในกองทุกข็นั้นไม่รู้จักจบสิ้น และความทุกข์นี่เองที่จะพาแต่ละคนไปสู่จุดหมายที่เรียกว่า "ทุคติภูมิ"
    ความทุกข์ที่สะสมอยู่นี้ หากไม่กำจัดให้หมดสิ้นและยังใช้ความสุขมาบดบัอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ ความทุกข์นี้ก็จะเพิ่มพูนและพอกพูนมากขึ้นจนยากที่จะหาความสุขใดๆ ก็ตามมาบดบัง

    วิธีชุบชีวิตยามมีทุกข์ คนเราเกิดมาชาติหนึ่ง ถ้ารู้จักแต่ทำมาหากินเลี้ยงร่างกายอย่างเดียวไม่รู้จักแสวงหาธรรมะมาหล่อเลี้ยงจิตใจให้สุขสงบเย็นด้วยแล้ว การเกิดมานั้นก็จะเป็นการเกิดมาเพื่อทนทุกข์ทรมาณติดคุกติดตาางในทางวิญญาณชนิดหนึ่งไปจนตาย ทุกๆ ชาติทีเดียว เพราะถ้าไม่รู้จักทำจิตใจให้สงบตามธรรมบ้างแล้ว แม้คนรวยที่อยู่ตึกก็มีความสุขสู้คนจนที่อยู่กระท่อมซอมซ่อไม่ได้
    พระพุทธองค์เคยตรัสไว้ว่า "ความสุขไม่เที่ยง ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง" มนุษย์ผู้มีปัญญาจึงต้องแสวงหาสัจธรรมที่สูงกว่าเพื่อให้ตนนั้นได้รู้จักว่า "สุข" คืออะไร? "ทุกข์" คืออะไร? แล้วจะอยู่กับมันด้วยความมีปัญญาได้อย่างไร? และจะกำจัดทุกข์แท้จริงนั้นได้อย่างไร? และเมื่อผู้มีปัญญาได้ศึกษาค้นคว้าและประพฤติ เพื่อที่จะเข้าถึงการดับทุกข์ให้หมดสิ้น แม้ทุกข์นั้นจะสะสมมานานเท่าไรก็จะสามารถดับสลายไปได้ด้วยปัญญาของตน เป็นปัญญาที่พระพุทธองค์ได้แนะนำสั่งสอนไว้นั้นคือ "การใช้ปัญญาเพื่อพิจารณาให้เห็นทุกข์ และให้เห็นว่าทุกข์นั้นดับสิ้นได้ เนื่องจากว่า...ทุกข์ไม่เที่ยง.. แต่ต้องมองเห็นมันให้ถ่องแท้ก่อน

    สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ตัณหา คือความทะบานอยากดิ้นรน ถ้ามีความอยากมาก ทุกข์ก็มาก อยากน้อย ทุกข์ก็น้อย หมดความอยาก ทุกข์หมดไปด้วย ความดับตัณหา คือ ตัณหาดับหมดไปจากใจ ใจว่างไม่มีตัณหาเรียกว่านิโรธ แปลว่าความดับทุกข์ หรือธรรมเป็นเครื่องดับทุกข์ อุบายหนทางวิธีที่จะทำทุกข์ให้ดับ ท่านเรียกว่ามรรค หรือมรรคมีองค์แปด มรรคมีองค์แปดสงเคราะห์ลงในไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อปัญญาเป็นเครื่องรู้แจ้งทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เกิดขึ้นในจิตใจแล้วความทุกข์ความทรมานย่อมหมดสิ้นไป ใจจะเข้าถึงธรรมที่ไม่ตาย เรียกว่า นิพพาน
    ถ้าหากภูมิจิตของผู้ปฏิบัติจะมองเห็นแต่เพียงกายทั้งหมดนี้เป็นแต่เพียงธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ รู้แต่เพียงว่าธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ และภูมิจิตของท่านอยู่แค่นั้น ก็มีความรู้เพียงแค่ชั้นสมถกรรมฐาน ถ้าภูมิจิตของผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติความรู้ไปสู่พระไตรลักษณ์ ถ้าหากมีอนิจจสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าไม่เที่ยง ทุกขสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นทุกข์ (เพราะตั้งอยู่ไม่ได้) อนัตตสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ภูมิจิตของผู้ปฏิบัตินั้นก็ก้าวเข้าสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา


    การปฏิบัติ ให้มุ่งปฏิบัติเพื่อสำรวม เพื่อความละ เพื่อความคลายกำหนัดยินดี เพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อเห็นสวรรค์วิมาน หรือแม้พระนิพพานก็ไม่ต้องตั้งเป้าหมายเพื่อจะเห็นทั้งนั้น ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่ต้องอยากเห้นเพราะนิพพานันของของว่าง ไม่มีตัวตน หาที่ตั้งไม่มี หาที่เปรียบไม่ได้ ปฏิบัติไปจึงจะรู้เอง

    การบรรลุ มรรคผล นิพพานมิได้มีไว้ เพื่อบอกให้ผู้อื่นทราบ และแม้ที่จะรู้เอง ก็ไม่จำเป็นต้องรู้ว่า บรรลุขั้นไหนเท่าไร เพียงแต่รู้ว่า ทุกข์กำลังดับไปๆ จนกว่า จะหมดสิ้นก็พอแล้ว เหมือนรองเท้าสึก ก็รู้ว่าสึก (จนกว่าจะใช้ไม่ได้) ก็พอแล้วไม่ต้องรู้ว่า มันสึกกี่มิลในวันหนึ่งๆ


    สตินี้ ทำให้มันมีกำลังดีแล้วจิตมันจึงจะล่วง เพราะสติคุ้มครองจิต ตัวสติก็คือจิตนั่นแหละ แต่ว่าลุ่มลึกกว่า สตินั่นอบรมจิต ครั้นอบรมจนขันจิตรู้เท่าตามความเป็นจริงแล้ว มันจึงหายความหลง พบความสว่าง ความหลงนั้นก็คือไม่มีสติ ครั้งมีสติคุ้มครองหัดไปจนแน่วแน่แล้ว ให้มันแม่นยำ ให้มันสำเหนียกแล้ว มันจะรู้แจ้งทุกสิ่งทุกอย่าง สติแก่กล้าจิตย่อมทนไม่ได้ เมื่อทนไม่ได้ก็สงบลง ครั้นสงบลงแล้วมันก็รู้ เดี๋ยวนี้มันไม่มีปัญญา มันก็ส่ายไปมาเพราะมันไปหลายทาง จิตไปหลายทางเพราะเป็นอาการของมัน
    สติเป็นแก่นของธรรม แก่นของธรรมแท้อยู่ทีสติให้พากัน หัดทำให้ดีครั้นมีสติก่กล้าดีแล้ว ทำก็ไม่พลาด คิดก็ไม่พลาด กุศลธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลอยู่กับสติแล้ว สติเป็นใหญ่ สติมีกำลังดีแล้ว จิตมันรวม เพราะสติคุ้มครองจิต

    จงฝึกให้จิตสงบสูงสุด ฝึกให้จิตสะอาด ปราศจากอกุศลให้ถึงที่สุด! ฝึกให้จิตสว่าง มีปัญญาสู่การบรรลุธรรมให้ถึงที่สุด! ฝึกให้จิตผ่องแผ้ว นี่คือหนทางที่ถูกต้องของการฝึก! ทำต่อให้ถึงที่ คือเป้าหมายที่ต้องไปคือ เป้าหมายใหญ่ที่พระพุทธองค์บอกไว้.. ทางเดียวที่จะต้องไป คือ มุ่งไปสู่กระแสพระนิพพานไม่เช่นนั้นแล้ว! จะต้องถูกอวิชชา!... ครอบงำจิตให้เกิดวิบากหนัก! ทำสิ่งใด? .. ก็ไม่สำเร็จ!... เหมือนการเริ่มต้นฝึกจิตใหม่อยู่ร่ำไป!
    พุทธองค์จึงตรัสไว้ว่าเส้นทางเดินของปัญญาโดยแท้สู่ความดับทุกข์นั้นเริ่มต้นที่ดวงจิตที่สะอาดเป็นฐานสู่ความสงบและเป็นฐานสู่ความสว่าง นั่นเป็นหลักทั่วไปที่เป็นไปโดยธรรมชาติใช้เหตุและผล เหตุคือสะอาด ผลคือสงบ เหตุคือสงบ ผลคือสว่าง เหตุคือสว่าง ผลคือดับทุกข์ เมื่อดับทุกข์แล้วก็ไม่ต้องมีเหตุให้ต้องดับอีกก็จะถึงที่สุดแห่งการเดินทางแห่งการอยู่บนกระแสแห่งธรรมนี้

    เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้วไม่ต้องถามถึงนิพพาน เรารู้ประจักษ์ภายในจิตใจพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วพระองค์ไม่เคยถามหานิพพาน พระสงฆ์สาวกอรหันต์ท่่านตรัสรู้ธรรมแล้วไม่ต้องถามหานิพพานเพราะจิตนั้นเป็นนิพพานแล้ว


    จบบริบูรณ์



     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 24 เมษายน 2011
  2. Juan Kenny

    Juan Kenny สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กันยายน 2011
    โพสต์:
    3
    ค่าพลัง:
    +0
    ขออนุโมทนาบุญที่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชน...ผมขออนุญาตินำไปเผยแพร่ต่อให้กัลยาณมิตรต่อไปครับ...
     

แชร์หน้านี้

Loading...