(๑๔) เมื่อเราบวช : ความเคารพ

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 1 กุมภาพันธ์ 2010.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    - ๑๒ -

    ความเคารพ

    การทำความอ่อนน้อม แสดงว่ามีความเชื่อถือ ด้วยน้ำใจหนักไปในท่าน ๑ เรียกว่า ความเคารพ บางท่านนิยมเรียกตามบาลีว่า คารวะ

    ความเคารพ นี้ พระบรมศาสดาตรัสว่าเป็นมงคล คือเป็นเหตุให้ผู้กระทำถึงความเจริญได้อย่างหนึ่ง ดังนั้น ผู้ที่ปรารถนาความเจริญหรือผู้ที่ถือความเจริญแล้ว จึงพอใจในการทำความเคารพ ทั้งแนะนำให้ผู้อื่นทำความเคารพด้วยความเคารพนี้แจกโดยอาการเป็น ๔ อย่าง
    ๑. อัญฃลีกร ประนมมือ
    ๒. วันทนะ กราบไหว้
    ๓. อภิวาท การกราบ
    ๔. ปัจจุคม การลุกรับ
    แม้กิริยาอื่นใดที่แสดงความอ่อนน้อมยำเกรงเชื่อถือให้ปรากฎเช่นการก้มศีรษะ การโค้งตัว การยืนตรงเป็นต้น ก็เรียกว่า การเคารพ ทั้งนี้แล้วแต่ความนิยมในประเทศนั้น ในเวลานั้น

    สำหรับ ๔ ประการต้นนั้น ทางพระศาสนานิยมถือเป็นหลักปฏิบัติสำหรับพุทธบริษัททั่วไป

    คนเราจะอยู่ในฐานะใด ๆก็ตาม จะอยู่ถิ่นใดก็ตามต้องมีที่เคารพ ถ้าไม่มี เป็นความลำบาก ไม่นำให้เกิดมงคลทั้งตนและทั้งหมู่ เฉพาะในการบริหารยิ่งเป็นคุณที่ต้องประสงค์มาก

    เหตุนั้น พระพุทธเจ้า ผู้เป็นยอดของมนุษย์เป็นจอมปราชญ์ผู้ที่เทวดาและพรหมบูชาแล้ว แม้ดังนั้นก็ไม่วายที่จะหาผู้ที่พระองค์จะทรงเคารพ ทั้งนี้ ก็เนื่องแต่ทรงแน่พระทัยว่า ทุกคน ทุกสมัย สมควรจะมีที่เคารพ จึงได้ทรงเลือกเฟ้นบุคคลที่ควรแก่การเคารพของพระองค์ เมื่อไม่ประสบก็ทรงระลึกถึง พระธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั่นว่า ทรงคุณสมควรที่พระองค์จะทรงเคารพ และตลอดไปทั้งมนุษย์และเทพยดาทั้งหลายด้วย

    เรื่องนี้ นำให้พระองค์ต้องทรงรำพึงถึงพุทธจริยาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ปางก่อนว่า พระพุทธเจ้าเหล่านั้นทรงทำความเคารพต่อใครก็ทรงทราบชัดได้ด้วยพระปรีชญาณว่า พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ทุก ๆ พระองค์ล้วนแต่ทรงเคารพในธรรมเหมือนกันทั้งสิ้น จึงได้ทรงทำความเคารพในพระธรรม สมด้วยคาถาที่สรรเสริญคุณข้อนี้ไว้ว่า

    เย จ อตีตา สมฺพุทฺธา
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดที่ล่วงไปแล้วด้วยดี

    เย จ พุทฺธา พหุนฺนํ โสกนาสโน
    ถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทำลาย ความโศกของคนเป็นอันมาก ให้พินาศในบัดนี้ก็ดี

    สพฺเพ สทฺธมฺมครุโน วหรึสุ วิหาติ จ
    พระพุทธเจ้าเหล่านั้นทุกพระองค์ ย่อมทรงเคารพในพระสัทธรรมอยู่เป็นปกติฯ


    พุทธจริยานี้ แสดงว่า ทุกคนควรมีการเคารพแต่จะเคารพใครที่ใดนั้น ย่อมเป็นธุระของทุกคนจะพึงศึกษาแล้วทำให้พอเหมาะสมควรกัน

    ต่อนี้จะได้อธิบายการเคารพ ๔ ประการต้นนั้น พอเป็นแนวปฏิบัติสำหรับผู้รักการศึกษาจะพึงสำเหนียกสืบไป

    อัญชลีกร แปลว่า การประนมมือ ปรากฏในสังฆคุณบทหนึ่งว่า อญฺชลิกรณีโย แปลว่า พระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่แการประนมมือ การประกบฝ่ามือทั้งสองเข้ากันให้สม่ำเสมอยกตั้งขึ้นตรงกลางระหว่างอกเรียกว่า ประนมมือฯ ท่านอธิบายความข้อนี้ไว้้ว่า ทสนขสโมธาน แปลว่า ประชุมเล็บมือ ๑๐ คือ ทำนิ้วมือให้ตรงกันหันหน้าเล็บเข้าหากัน ตามฐานะของนิ้วเล็กใหญ่ไม่ให้ลักลั่นกัน แม้บางมือบางคนจะมี ๑๑ นิ้วเกินไป ๑ นิ้ว เฉพาะนิ้วที่เกินก็ไม่ถือว่าผิด มีสิทธิเข้าประชุมได้ เพราะมีชาติมีฐานะเสมอกัน ด้วยเป็นนิ้วมือด้วยกันเ็ป็นอันประชุมชอบแล้วโดยธรรม

    หรือบางมือ บางคน จะมี ๙ นิ้ว ๘ นิ้ว หย่อนสิบสำหรับนิ้วที่ขาดประชุม ถ้าขาดมาแต่เดิม ก็ให้ถือว่ามีตัวประชุมเท่านี้ ทำการประชุมได้เป็นการประชุมชอบเพราะประชุมเต็มจำนวนก็มี ถ้าขาดภายหลังก็ให้ถือว่าป่วย ลาประชุม มิใช่เลี่ยง เป็นการประชุมชอบแล้วเช่นกัน

    อนึ่ง นิ้วมือที่ประชุมนั้น ควรเหยียดออกให้ตรง เพื่อให้เป็นระเบียบให้ประนมมืองาน แสดงว่าผู้ประนมทำด้วยความตั้งใจ พอใจจะทำด้วยความเคารพ ฉะนั้นเพื่อความงาม ท่านสอนให้ทรงพุ่มมือไว้ มิให้ตก มิให้ปลายนิ้วจรดคาง มิให้วางพุ่มมือไว้บนตัก นี้เป็นหลักของการประนมมือ

    บางคนประนมมือประสานมือ โดยใช้นิ้วสับช่องไม่ยันกัน ปลายนิ้วทั้งสองต่างกุมหลังมือกัน นี้ไม่ชอบด้วยการประนม เพราะมิได้ประชุมเล็บ กลับหันหลังเล็บให้กัน ผิดหลักไม่ควรทำ

    บางคนใช้นิ้วชี้ ๒ นิ้ว จะว่าประนมก็ไม่ใช่ จะทิ่มอะไรก็ไม่เชิง อย่างนี้ผิด เพราะเรื่องท่านประชุม ๑๐ เลํบก็ต้องให้ได้ ๑๐ เล็บเหมือนท่านเพราะทำตามท่าน ก็ต้องให้เหมือนท่าน ไม่อย่างนั้น ก็เป็นการอุตริ

    บางคนประนมมือปิดปากอย่างนี้ก็ไม่ถูก เป็นการประชุมเล็บเถื่อนเพราะไปเปิดรับฟันตั้งหลายสิบซี่เข้าประชุมเล็บด้วย ไม่งาม

    บางคนประนมมือวางไว้ที่เท้า อย่างนี้ก็ไม่เหมาะไม่สมกับที่ว่าประชุมเลํบมือ เป็นประชุมชั้นสูง ไปประชุมที่เท้า ดูเป็นชิงไปรับเล็บเท้าเข้าประชุมด้วย ทำให้เล็บเกินจำนวนสิบ เสียธรรมเนียมของการประนม จงอย่าพอใจทำเพราะไม่เป็นภาพที่จำเริญตาจำเริญใจ ทั้งไม่เป็นมงคลที่กัลยาณชนปรารถนา

    ไหนๆ เราก็ตั้งใจประนมแล้ว ก็สมควรจะประนมให้งาม ให้น่าดู น่าชม เมื่อประนมแก่ท่านองค์ใด ให้ท่านองค์นั้นรู้สึกว่าเราตั้งใจทำ มิใ่ช่ทำด้วยความภักดีต่อจริงๆ เมื่อเป็นเช่นนี้การประนมก็มีค่า ด้วยต้องตาต้องใจ ชวนให้นิยม ควรทำแท้

    ประนมมือนี้ พระสงฆ์ยินดีใช้เป็นปกติ ไม่ว่าพิธีกรรมใดๆ

    พระต้องประนมมือตลอดเวลา ทุกองค์ไม่ว่าผู้ใหญ่ผู้น้อย แม้ในการปราศรัยระหว่างสงฆ์ด้วยกัน ผู้น้อยก็นิยมประนมมือพูดกะพระเถระผู้ใหญ่ ด้วยถือเป็นการคารวะต่อผู้ใหญ่ การประนมมือจึงเป็นกิจประจำพระสงฆ์ตลอดสังฆมณฑล.

    การไหว้

    กิริยาที่ยกมือซึ่งประนมไว้ดีแล้ว ขึ้นจรดหน้าผากพร้อมกับก้มศีรษะลงน้อยๆ รับมือที่ประนมที่ยกขึ้นจรดกั้นด้วยอาการอ่อนน้อม เรียกว่า "การไหว้" การไหว้นี้ถือเป็นการเคารพสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งพระจะต้องไหว้พระด้วยกัน คือผู้น้อยไหว้ผู้ใหญ่ในคราวพบกันและคราวจากกัน คือในคราวไปหาและในคราวลากลับ เมื่อผู้น้อยไหว้ ผู้ใหญ่ก็รับไหว้ ถือเป็นขนบธรรมเนียมอันดีที่ประพฤติต่อกัน ห้ามมิให้ไหว้ผู้ที่มิได้เป็นพระเหมือนกัน

    แม้ผู้ที่เป็นพระเหมือนกัน บางคราวก็ห้าม เช่น คราวเข้าส้วมอยู่ในห้องน้ำอยู่ในเรือนไฟอยู่ที่ปริวาสอยู่ในละแวกบ้าน ด้วยเป็นที่ไม่สมควรแม้อยู่ในที่ควรแต่ในคราวท่านไม่เห็น ด้วยสาละวนงานอื่นเสีย แม้ที่นั้น ขณะนั้นก็ยังไม่สมควรไหว้ก่อน การไหว้เป็นการแสดงความเคารพต่อท่าน ดังนั้น จึงควรไหว้ในขณะที่ท่านรู้ ข้อนี้สมด้วยการแสดงความเคารพของคำขอบรรพชาแบบเก่าว่า อุกาส วนฺทามิ ภนฺเต ฯลฯ ซึ่งแปลว่า คำแรก กระผมขอโอกาส คำที่สองสามว่า กระผมไหว้ท่าน ขอรับ ตามนัยนี้คำแรกบ่งชัดว่า เตือนให้ท่านรู้ตัวก่อน แล้วจึงไหว้

    ความจริง ถึงเวลานี้ ก็ยังนิยมใช้ทั่วไป ในหมู่คนที่มีการศึกษาดีแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไร จะพูดอะไร ในเมื่อผู้ใหญ่อยู่ด้วย ควรขอโอกาสก่อนเสมอไป เป็นความดีสำหรับพระศาสนา นิยมเป็นมรรยาทของพระถือเป็นระเบียบปฏิบัติ เรียกว่า อาปุจฉา ปรับโทษผู้ไม่เอื้อเฟื้อในข้อนี้ไว้ด้วย พยายามทำให้เป็นนิสัยติดตัวเสมอไป

    สำหรับประเทศไทยเรา ไม่ว่าพระหรือคฤหัสถ์นิยมเอาการไหว้เป็นการแสดงความเคารพ ความจงรักภักดี ดังนั้น ทุกคนที่พอใจไหว้ซึ่งเรียกกันว่า คนมืออ่อน จึงได้รับความรักใคร่เอ็นดู และความกรุณาจากผู้ใหญ่ตลอดคนที่นับถือทั่วไป ตรงกับมนุษย์ที่ไหว้คนยาก ซึ่งเรียกกันว่า คนมือแข็ง มักจะถูกตำหนิว่า จองหอง หัวแข็งซึ่งถูกเหยียดหยามว่า อ่อนฝึกหรือไม่ได้รับสั่งสอน เสียหายถึงครูและผู้ปกครองด้วย

    นี่แสดงว่า การไหว้ เป็นศิริมงคล เป็นเสน่ห์เรียกร้องความเอ็นดู ความกรุณามาสนองผู้ไหว้ ดังนั้น ทุกคนควรพยายามหัดประนมมือ หัดไหว้ ไหว้ให้งาม ไหว้ให้น่าดู น่าชม ให้เป็นที่นิยมของคนรับไหว้ อย่ามักง่ายเอาแต่ได้ ต้องไหว้ด้วยความพอใจ ทั้งรักการไหว้ด้วยคนไม่เคยไหว้ ทั้งดูเหมือนขี้คร้านไหว้ด้วย น่าสงสารส่วนมากเป็นเพราะไม่ได้รับการฝึก ไม่ได้รับการอบรมมาแต่เดิม จึงดูเป็นความยากลำบากแก่เขาเหลือเกิน น่าเห็นใจคนที่ไม่มีนิสัยเป็นอย่างนั้นเอง

    ความจริง การไหว้ก็ไม่ต้องลงทุนอะไร มือทั้งสองมารดาบิดาก็ให้มาดีแล้ว และเมื่อไหว้แล้ว ก็ไม่เหน็ดเหนื่อยอะไร จะเจ็บ จะปวด มือก็เปล่า มือจะขาดจะสั้งก็เปล่าทั้งเรื่อง จะเสียหายอย่างไรๆ ก็ไม่มีเห็นมีแต่ได้ตั้งต้นแต่เมตตาปราณีดังกล่าวแล้ว

    ฉะนั้น จงพยายามพอใจไหว้ดังกล่าวมาข้างต้นนั้น คือ หัดไหว้ให้มาก ไหว้ให้ติดเป็นนิสัยดังนี้
    ๑. ไปหาท่าน ไหว้
    ๒. ลากลับ ไหว้
    ๓. ท่านมาหา เราไหว้
    ๔. ท่านลากลับ เราไหว้
    ๕. ให้ของท่าน เราไหว้
    ๖. รับของท่านให้ เราไหว้
    ๗. รับโอวาทท่าน เราไหว้
    ๘. ขอโอกาสท่าน ก็ไหว้
    ๙. ขอความกรุณาท่าน ก็ไหว้
    ๑๐.แม้พบท่านโดยบังเอิญ ก็ไหว้
    ๑๑. แม้ท่านจะเป็นศพเป็นกระดูกแล้วเราก็ไหว้ ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่สมควรเราจะไหว้เป็นไหว้ไม่ต้องรีรอสำหรับผู้ควรไหว้ ท่านวางหลักไว้ให้แล้ว จะได้แสดงไว้ในข้อต่อไป
    การไหว้นั้นไม่จำกัดอิริยาบถ จะอยู่ในอิริยาบถใดก็ควรทั้งนั้น คือจะเดิน ยืน นั่ง หรือนอนก็ไม่ห้าม ทั้งนี้ สุดแต่กาลเทศะจะอำนวยให้ ด้วยถ้าจำกัดอิริยาบถแล้ว หากบังเอิญอิริยาบถนั้นทำไม่ได้ เพราะเหตุใดเหตุหนึ่งก็จะลำบากขึ้น เมื่อการไหว้ไม่จำกัดอิริยาบถ สุดแต่โอกาสแล้วการประนมมือก็เป็นไปตาม เพราะจะไหว้ ต้องประนมมือก่อน เมื่อไหว้ได้ก็ประนมมือได้ ไม่เป็นโทษอย่างไรทั้งสิ้น

    ในข้อนี้ ขอย้ำอีกว่า จงใส่ใจในการไหว้ จงไหว้ให้มากให้มีนิสัยรักไหว้เถิด จงอย่าเป็นคนไหว้ยากเลย ไม่ดีแน่


    ต่อ การกราบ


     
  2. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    การกราบ

    การกราบเป็นกิริยาเคารพอย่างสูง นิยมเรียกว่า อภิวาท ตามศัพท์เดิมบ้าง เช่นคำว่า ถวายอภิวาท แต่ไม่ใช่ทั่วไปฯ การกราบนี้ควรจะศึกษาให้รู้ดี เพราะกราบพระอย่างหนึ่ง กราบคฤหัสถ์อย่างหนึ่ง จงใส่ใจสักหน่อย อยากเอากราบพระไปกราบคฤหัสถ์อย่างหนึ่ง จงใส่ใจสักหน่อยอย่าเอากราบพระไปกราบคฤหัสถ์ เขาจะค่อนเอาว่า "แก่วัด" คือกราบคฤหัสถ์ เขากราบกันทีเดียว แต่กราบพระต้องกราบ ๓ ที ทั้งกราบคฤหัสถ์ เขานิยมพับเพียบกราบ ส่วนกราบพระต้องคุกเข่าอย่างเทพนมกราบ ถึงการคุกเข่ากราบพระ ก็นิยใช้ในหมู่ภิกษุสามเณร และคฤหัสถ์เฉพาะที่เป็นชา สำหรับหญิงใช้พับเพียบกราบเหมือนกันต่างแต่กราบพระนั้น กราบตรงๆ ไม่เอียงตัว เหมือนกราบคฤหัสถ์ ต้องสำเหนียกให้แน่ใจก่อน อย่ามักง่าย คิดเอาแต่ได้ว่าไม่ยาก ที่ถูกนั้นควรได้รับการฝึก แต่ถ้าเป็นผู้รักระเบียบนี้แล้ว จะคอยสังเกตผู้อื่น จำเอาเป็นแบบฝึกตนได้ก็เป็นความดีน่าอนุโมทนา

    การกราบที่ชอบด้วยลักษณะนี้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ ท่านเรียกว่า "เบญจางคประดิษฐ์" คือเข่าทั้งสองอยู่ที่พื้น ๑ ฝ่ามือทั้งสองราบอยู่ที่พื้น ๑ หน้าผากจรดลงที่พื้น ๑ รวมเป็นองค์ ๕ เพราะเหตุนี้ จะกราบพระจึงต้องหาผ้ากราบ คือผ้าปูพื้นก่อน เพราะกลัวละอองฝุ่น จะเปรอะหน้าผาก ด้วยจะต้องเอาหน้าผากจรดพื้นสำหรับพระมีผ้ากราบประจำไตรบวชอยู่แล้ว ส่วนคฤหัสถ์กำหนดใช้ผ้าสไบเฉียงปลดลงปูสำหรับทางราชการ ตามระเบียบให้ใช้ผ้าขาวสี่เหลี่ยม ขนาดผ้าเช็ดหน้า ปูรองดังเราจะเห็นในสถานที่ประกอบพิธีต่างๆ ทั่วไป ถ้าในที่นั้นจะต้องให้ประธานกราบ เจ้าหน้าที่จะต้องจัดที่กราบไว้ให้เรียบร้อยเพื่อให้ผู้เป็นประธานกราบให้ได้องค์ ๕

    บางคนกราบไม่งามหรือมักง่าย เวลากราบเอาฝ่ามือทั้งสองชิดกันรองรับหน้าผากไว้ อย่างนี้ไม่ถูก ที่ถูกนั้นฝ่ามือทั้งสองจะต้องแยกห่างกันประมาณ ๘ นิ้ว ให้โอกาสแก่หน้าผากจรดลงพื้น ขอผู้กราบจงสำเหนียกให้ดีอย่าให้ทำให้เสียธรรมเนียม ของเล็กๆ น้อยๆ เท่านี้ เป็นจุดให้เขาดูแคลนว่า ไม่เป็นผู้ใฝ่ใจในระเบียบ เป็นคนง่ายไม่พิถีพิถัน แม้ระเบียบอย่างอื่นก็คงจะทำนองนี้

    การกราบนี้ ใช้แต่ในอิริยาบถนั่งเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นการคารวะที่ใช้ไม่มากเหมือนการให้ หากแต่เป็นการคารวะที่อยู่ในความนิยมซึ่งพุทธศาสนิกชนจะพึงศึกษา

    ปัจจุคม

    การลุกขึ้นยืนรับเป็นการแสดงคารวะอันหนึ่งเรียกว่า "ปัจจุคม" ตามรูปศัพท์เดิม แต่จะพูดกันน้อย เห็นแต่ในภาษาหนังสือ พูดสั้นๆ คือ การลุกรับ เป็นบทบาทที่แสดงความเคารพ ความจงรักภักดีมาก

    แต่การลุกรับนี้ ต้องให้อยู่ในระเบียบที่นิยม มิใช่ลุกรับส่งๆ ไป ถ้าเราอยู่ในหมู่ ก่อนอื่นจะต้องพิจารณาดูว่า ท่านผู้ใหญ่ที่เราจะลุกรับนั้น สมควรจะลุกรับหรือไม่ด้วยการลุกรับนั้น ไม่ใช่ทำเพียงเราคนเดียว ต้องทำทั้งหมู่ที่รวมกันอยู่ในที่นั้น ฉะนั้น ผู้ที่เราจะลุกรับนั้นจึงต้องเป็นผู้ใหญ่กว่าคนทั้งหมู่ โดยมากนิยมลุกรับให้เฉพาะผู้ที่เป็นประธานในที่ประชุมนั้น

    อีกประการหนึ่ง สถานที่ซึ่งจะลุกรับนั้น จะต้องเป็นสถานที่สมควรจะลุกรับ เช่น
    ก. ที่ประชุม และที่ประชุมนั้นจะต้องใช้เก้าอี้เมื่อผู้น้อยนั่งอยู่ที่เก้าอี้ ผู้ใหญ่เดินเข้ามา จึงพร้อมกันลุกรับ

    ข. ที่สนามหญ้า ผู้น้อยนั่งอยู่ หรือลานเจดีย์ ลานโบสถ์ ผู้ใหญ่เดินเข้ามา จึงพร้อมกันลุกรับ
    ถ้าที่ประชุมนั้น จัดปูลาดอาสนะให้นั่งประชุมที่พื้น เมื่อผู้น้อยนั่งอยู่พร้อมแล้ว ผู้ใหญ่เข้ามา ก็ไม่ต้องลุกรับ คอยอยู่ในอาการสงบ ต่อเมื่อผู้ใหญ่นั่งเรียบร้อยแล้ว จึงพร้อมกันลุกขึ้นกราบท่าน

    อนึ่ง การลุกรับนั้น จะต้องเป็นไปโดยคารวะให้ผู้ใหญ่เห็นว่า ผู้ทำทำด้วยความเคารพจริงๆ และในขณะที่ยืนรับอยู่ ก็จะต้องพร้อมด้วยลักษณะดังนี้
    ก. ยืนตัวตรง ผินหน้ามองไปทางท่านเท่านั้น

    ข. มือทั้งสองข้าง จะต้องรวมเข้ามาหากันคือจะประสานหรือจะใช้มือขวา จับมือซ้ายไว้ก็ควร

    ค. เมื่อท่านผ่านเข้ามาใกล้พอสมควรจึงถวายนมัสการ (นมัสการ หมายถึงการน้อมไหว้ การเคารพ) ท่าน ๑ ครั้ง

    ฆ. เมื่อท่านนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงนั่งลงดังเดิมได้ หรือไม่ที่ซึ่งท่านไม่นั่ง คือเพียงแต่จะผ่านไปเมื่อท่านผ่่านไปแล้วจึงนั่งได้

    ง. ทุกครั้งที่ท่านผู้ใหญ่ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมลุกขึ้นยืนเพื่อให้โอวาทก็ดี เพื่อทำกิจพิธีใดๆ ในที่ประชุมนั้นก็ดี ทุกคนที่ประชุมอยู่ จะต้องลุกยืนด้วย และยืนอยู่จนกว่าท่านจะนั่ง จึงนั่งได้

    จ. เมื่อท่านผู้ใหญ่ลุกขึ้นลาไป ผู้น้อยทั้งหมดจะต้องลุกขึ้นคารวะท่านอีก เมื่อท่านไปแล้ว จึงจะนั่งหรือหลีกไปตามอัธยาศัยได้

    ในยุคก่อนๆ การลุกรับจะมีน้อย เพราะด้วยสถานที่ไม่อำนวย มาบัดนี้มีการลุกรับทั่วๆ ไป เพราะอยู่ในสมัยนิยม ดังนั้น การลุกรับจึงเป็นคารวะที่จำต้องใส่ใจเพื่อสำเหนียกไว้ใช้ให้ชอบด้วยกาลสมัย

    ในสมัยพุทธกาล พระสาวกก็นิยมลุกรับพระบรมศาสดาเป็นปกติ มีเรื่องแสดงสาวกจริยาอยู่หลายเรื่อง เช่นคราวหนึ่ง ขณะที่พระภิืกษุกำลังนั่งสนทนากันอยู่ที่ลานพระวิหาร ขณะที่สนทนากันนั้น เหลือบดูเห็นพระนนทเถระผู้เป็นพุทธอนุชาซึ่งมีลักษณะงามละม้ายคล้ายพระพุทธเจ้าเป็นแต่ต่ำกว่าสักหน่อยกำลังเดินเข้ามาแต่ไกล พระทั้งหมดสำคัญผิดคิดว่าพระพุทธเจ้า จึงพากันลุกรับ ครั้งพระนนทเถระเข้ามาใกล้ ก็รู้สึกว่า ตนเข้าใจผิดไปจึงได้นั่งลงตามเดิม

    ความเคารพที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ควรทำแก่คนที่เจริญกว่า ไม่ควรทำแก่คนที่เลวกว่า บางคนแม้แต่จะให้ทานก็ยังไม่เคารพคนขอทาน ยาจก วณิพก ไม่เป็นการสมควรเลย ที่เป็นเช่นนั้น คงจะเนื่องมาแต่ได้รับคำสอนมาว่า จงให้ทานโดยเคารพ แท้จริงคำนี้มิได้หมายความว่า แม้จะให้ทานเช่นนั้น ก็สมควรจะให้ด้วยอาการเรียบร้อย อย่าโยนให้ ทิ้งให้ซึ่งเป็นการไม่ดี ไม่งาม เป็นการเคารพทานของตน รักษามารยาทของการให้ไว้ ไม่ใช่เคารพคนขอทาน

    คนที่เจริญกว่าเรานั้น ท่านเรียกว่า "วุฑฒบุคคล" แบ่งเป็น ๓ จำพวก คือ
    ๑. ชาติวุฑฒะ คนที่เจริญโดยชาติเป็นใหญ่โดยกำเนิดโดยตระกูล เช่นคนในราชตระกูล ได้รับยกย่องว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นพระญาติของพระเจ้าแผ่นดิน นี้เป็นชาติวุฑฒะ ผู้เจริญโดยชาติ โดยพงศ์พันธุ์

    ๒. วยวุฑฒะ คนเจริญโดยวัย ผู้ใหญ่โดยอายุกาลในทางพระเรียกว่ารัตตัญญู ผู้รู้ราตรีนาน ผ่านเหตุการณ์มามาก ย่อมรู้อะไรเป็นเยี่ยงอย่างได้ เช่น พี่ ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นต้น แม้คนอื่นใดอีกก็ตามที่เจริญด้วยอายุก็ควรเคารพอ่อนน้อมให้

    ๓. คุณวุฑฒะ คนที่เจริญด้วยคุณ ผู้มากด้วยความรู้ หนักในความปฏิบัติ มั่นอยู่ในวัตรอันดี มีคุณธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นผู้รู้ผิดชอบทั้งยินดีแนะนำผู้อื่นให้รู้ให้ประพฤติตามด้วย คนเช่นนี้ แม้จะมีอายุน้อยก็ได้ชื่อว่า คุณวุฑฒบุคคล ควรเคารพยำเกรง
    พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรรเสริญคนที่เคารพ ต่อวุฑฒบุคคล ๓ จำพวกนี้ไว้ว่า เป็นผู้เจริญด้วยเกียรติยศชื่อเสียงดังพระคาถาที่ตรัสไว้ว่า

    เย วุโฺฒมปจายนฺติ นรา ธมฺมสฺส โกวิทา
    ทิฏฺเฐ ธฺเม จปาสํสา สมฺปราโย จ สุคติ


    ความว่า นรชนเหล่าใด เป็นผู้ฉลาดในธรรม ย่อมเคารพอ่อนน้อมต่อวุฑฒบุคคล นรชนเหล่านั้นย่อมประสบผลคือสรรเสสริญในภพนี้ และสุึคติในภพหน้า

    ประการหนึ่ง พระบรมศาสดายังตรัสว่า การอ่อนน้อมต่อวุฑฒบุคคล เป็นคุณเครื่องเจริญผลที่ตนปรารถนาไว้หลายประการ ขออ้างพระพุทธบรรหารที่ทรงออกพระโอษฐ์ไว้ว่า

    อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน
    จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ



    แปลว่าธรรม ๔ ประการคือ อายุ วัณณะ สุขะ พละ (กำลัง) ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้อ่อนน้อมต่อวุฑฒบุคคล มีปกติกราบไหว้เป็นนิตย์

    ความทั้ง ๒ ข้อนี้ ท่านพรรณนาไว้ในติตติรชาดก และเรื่องสิริวัฒนะกุมาร ในอรรถกถาธรรมบท ผู้ประสงค์รู้ความพิสดารจงดูในที่นี้นเถิด

    การประนมมือ การไหว้ การกราบ และการลุกรับ ๔ อย่างนี้เป็นอาการแสดงความเคารพส่วนใหญ่ พระบรมศาสดาตรัสว่าเป็นมงคล ด้วยเป็นเหตุให้ได้รับความเมตตาปรานี เป็นทางให้เข้าถึงความเจริญทั้งในโลกนี้และโลกหน้า




     
  3. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    คติธรรม

    ถ้าจะอ่อน อ่อนให้เป็น ดังเส้นไหม
    เอาไว้ใช้ ผูกเสือโคร่ง เพื่อโยงเฆี่ยน
    ถ้าจะแข็ง ก็ให้แกร่ง ดังวิเชียร
    เอาไว้เจียร ตัดกระจก ได้ดังใจ


    "ของเ่ก่า"
     

แชร์หน้านี้

Loading...