ไหว้พระ 2 วัด ชมพุทธศิลป์ชาวไทใหญ่ ที่แม่สะเรียง

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 30 ธันวาคม 2007.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,209
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,711
    ไหว้พระ 2 วัด ชมพุทธศิลป์ชาวไทใหญ่ ที่แม่สะเรียง

    คอลัมน์ บันทึกเดินทาง

    โดย เชตวัน เตือประโคน



    <TABLE cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=left border=0><TBODY><TR bgColor=#f8b8cb><TD>[​IMG]
    เจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญสีทองสะดุดตาในวัดอุทธยารมณ์

    อุโบสถ วัดศรีบุญเรือง

    </TD></TR></TBODY></TABLE>การเดินทางครั้งนั้นยังติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผม

    รถประจำทางสาย กรุงเทพฯ-แม่สะเรียง เลาะตามเทือกเขาท่ามกลางความมืด ฝ่าโค้งนับร้อยที่ทอดตัวคดเคี้ยวเหมือนงูเลื้อย จากซ้าย โยกไปขวา จากขวา หักพวงมาลัยกลับมาซ้าย ผู้โดยสารบนรถแทบล้มหัวคะมำไปตามๆ กัน ต้องนั่งเกร็งขา เกร็งแขน ประคองข้าวของที่อาจกระฉอกออกจากชั้นวางด้านบน

    ก็มีบ้าง บางคนที่ อ้วก!!!

    ออกจากกรุงเทพฯ เวลาประมาณหนึ่งทุ่มตรง มาถึงท่ารถในตัว อ.แม่สะเรียง ตอนแสงแรกของวันมาเยือนพอดี

    ในช่วงฤดูหนาว หมอกขาวอ้อยอิ่งอยู่เหนือแนวเทือกเขา แสงเช้าตัดหมอกมองดูสวยงาม ยิ่งยามที่นกหลากชนิดประสานเสียงเพลงกัน บรรยากาศที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อย่างนี้ ก็ไม่ต่างอะไรจากสวรรค์ชั้นวิมาน (แม้สถานที่อย่างหลัง ผมจะไม่เคยไปก็เถอะ-แต่ก็อยากจะเปรียบเทียบถึง)

    การเดินทางครั้งนี้ ผมต้องไปทำธุระที่บ้านสบเมย

    นั่นหมายความว่า หลังจากลงรถที่ตัว อ.แม่สะเรียง แล้ว จะต้องต่อสองแถวขนาดเล็กไปอีกระยะทางหนึ่ง จากนั้นก็ต่อเรือที่ท่าเรือบ้านแม่สามแลบอีกครั้ง ก่อนจะถึงจุดหมายปลายทาง

    "ตอนที่นั่งอยู่บนรถสองแถวนั่นเอง ที่ผมเหลือบไปเห็นวัดแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ข้างทาง"

    ด้วยสถาปัตยกรรมที่ไม่คุ้นตา ประกอบกับเจดีย์สีทองที่สะท้อนแสงยามเช้า งดงาม เมลืองมลัง ทำให้ผมมีความคิดขึ้นมาว่า หลังจากเสร็จธุระที่บ้านสบเมย และต้องมาขึ้นรถกลับกรุงเทพฯที่ตัวอำเภออยู่แล้ว ดังนั้น จึงจะถือโอกาสนี้ เข้าไปไหว้พระ และเยี่ยมชมบริเวณวัดแห่งนี้สักหน่อย

    "แต่...ผิดถนัด!!!"

    ไม่ได้หมายความว่า ผมไม่ได้ทำอย่างที่คิด "แต่...ผิดถนัด" ในที่นี้หมายถึง วัดที่ผมมองว่ามีเพียงแห่งเดียวนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะหลังจากที่ได้เข้าไปเดินสำรวจ พบว่า ในพื้นที่ไม่กี่สิบไร่ตรงนี้มีวัดถึงสองแห่ง คือ "วัดอุทธยารมณ์" กับ "วัดศรีบุญเรือง" ซึ่งทั้งสองห่างกันเพียงรั้วกำแพงซีเมนต์คั่น <TABLE cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=right border=0><TBODY><TR bgColor=#f8b8cb><TD>[​IMG]
    1. พระพุทธรูป วัดอุทธยารมณ์

    2. พระ-เณร ช่วยกันขัดถูทำความสะอาดองค์เจดีย์

    3. ป้ายที่มีข้อเขียนสะกิดใจ

    4. ประตูที่เชื่อมกันระหว่างวัดอุทธยารมณ์ กับ วัดศรีบุญเรือง

    </TD></TR></TBODY></TABLE>

    ความสงสัย วาบเข้ามาในหัวทันที "ทำไมวัดสองแห่งนี้ถึงอยู่ติดกันจัง?" ("ติดกันจัง" ในที่นี้ไม่ได้มาจากญี่ปุ่น-ฮา)

    ผ่านเข้าทางประตูวัดอุทธยารมณ์ ฝั่ง ถนนแม่สะเรียง เจดีย์สีทองที่ตั้งตระหง่านตรงหน้าดึงดูดตาเป็นอย่างยิ่ง เอาปลายเล็บนิ้วก้อยซ้ายของผมเป็นประกันเลยว่า หากสัญจรผ่านไป-ผ่านมาโดยใช้ถนนเส้นนี้ ย่อมต้องสะดุดตากับเจดีย์ที่ว่า (คนตาบอดอาจเป็นข้อยกเว้น)

    ลั่นชัตเตอร์หลายครั้ง กว่าจะได้ภาพถ่ายของเจดีย์ในมุมที่ถูกใจ นั่นเป็นเพราะ ตอนที่ผมเดินเข้ามาในวัด พระ-เณรต่างขมีขมัน ช่วยกันเช็ดถูทำความสะอาดองค์เจดีย์อย่างขันแข็ง และในทันทีที่ผมปรากฎตัว สายตาของผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาทุกคู่ ต่างจับจ้องมองมาเป็นตาเดียว

    "หรือคนอย่างเราจะไม่เหมาะกับวัด?" จิตสำนึกฝ่ายร้ายบอก และราวกับพยายามกระตุกแขน ลากตัวผมให้ออกจากเขตอาราม

    "ไปไหว้พระเถอะ" จิตสำนึกฝ่ายดีต่อต้าน ให้เหตุผลว่า ไหนๆ ก็มาต่างถิ่นทั้งที ควรจะเปิดหูเปิดตา ไหว้พระเพื่อความเป็นสิริมงคล

    "รู้ตัวอีกที ก็พบว่า ตัวเองมาหยุดยืนอยู่บนวิหารทรงไตหลังใหญ่ ที่มีพระพุทธรูปสีขาวตั้งอยู่เสียแล้ว"

    อย่างสุภาพ อย่างนอบน้อม เฉกเช่นชาวพุทธทั่วไป ผมก้มลงกราบพระพุทธรูปตรงหน้า ใจคิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และคุณความดีของพระพุทธองค์ ผู้ทรงละทิ้งความสุขออกผนวช ค้นหาสัจธรรม หาทางดับทุกข์ให้กับมวลมนุษย์

    "มีข้อความที่ปรากฏอยู่ที่ตัวอาคารบอกว่า "วัดอุทธยารมณ์" เดิมชื่อวัด "จองสูง" สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2381 โดยคณะสงฆ์ไทใหญ่ ปกครองนิกายไทใหญ่ ต่อมาวัดได้โดนไฟไหม้ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2431 บรรดาชาวบ้านจึงได้รวบรวมปัจจัย สร้างวัดขึ้นใหม่ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2439"

    จุดเด่นของ วัดอุทธยารมณ์ คือ พระเจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญสามองค์ องค์แรก คือ พระเจดีย์องค์ตะวันตก สร้างขึ้นในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 องค์ที่สอง คือ พระเจดีย์องค์กลาง ไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด เดิมทีเป็นพระเจดีย์เก่าแก่แค่ครึ่งองค์ และมีผอบทองรูปเต่าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ข้างใน ภายหลังได้ทำการบูรณะใหม่จนสำเร็จในปี พ.ศ.2499 <TABLE cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=left border=0><TBODY><TR bgColor=#f8b8cb><TD>[​IMG]
    5. สีสันสดใสของพระพุทธรูป และภาพเขียนพุทธประวัติ ในวัดอุทธยารมณ์

    6. วิหารทรงไต วัดอุทธยารมณ์

    7. ต้นสาละลังกา ในวัดศรีบุญเรือง

    </TD></TR></TBODY></TABLE>

    "ส่วนองค์สุดท้ายคือ พระเจดีย์องค์ตะวันออก เดิมเป็นวิหารแบบไทใหญ่ หลังคาซ้อนชั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ก่ออิฐ 9 องค์ ต่อมาเกิดไฟไหม้วิหารหมด เหลือเพียงพระพุทธรูปตากแดดตากฝนอยู่ จึงได้ก่อสร้างพระเจดีย์ครอบพระพุทธรูปทั้ง 9 องค์ไว้ "

    ในวันเพ็ญเดือน 3 ของทุกปี ทางวัดอุทธยารมณ์ จะมีจัดนมัสการพระเจดีย์ทั้งสามองค์

    ไหว้พระเสร็จ ผมก็ลงมาเดินชมรอบๆ บริเวณวัด พลันสายตาไปสะดุดอยู่กับวิหารทรงไตของวัดอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งโผล่ยอดแหลม พ้นยอดกำแพงที่คั่นแบ่ง

    นั่นเองที่ทำให้ผมทราบว่า ยังมีวัดอีกแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ติดกันเพียงก้าวขาข้ามเขตแดน

    จะว่าไป สถาปัตยกรรมในวัดศรีบุญเรืองนั้น ก็ไม่ต่างจากสถาปัตยกรรมของวัดอุทธยารมณ์เท่าไหร่ คือ เป็นวิหารทรงไต ศิลปกรรมของชาวไทยใหญ่นั่นเอง ต่างกันแต่เพียงว่า ในวัดศรีบุญเรือง ไม่มีเจดีย์สีทองที่สะท้อนแสงสะดุดตา

    แต่!!! มีข้อคิดสะกิดใจ...

    หลังจากที่ไหว้พระที่วัดศรีบุญเรืองเสร็จเรียบร้อย ผมก็ลงมาเดินเล่น ดูโน่น ดูนี่ ตามประสาคนอยากรู้อยากเห็น ถ่ายรูปมุมโน้นบ้าง มุมนี้บ้าง แต่ที่ต้องมาลั่นชัตเตอร์เก็บภาพไว้เป็นจำนวนมาก เห็นจะเป็น ข้อความที่ปรากฏอยู่ทั่วบริเวณวัด ซึ่งเป็นข้อคิดชวนสะกิดใจ

    เป็นต้นว่า...

    "การให้อภัย เป็นคุณสมบัติของผู้เข้มแข็ง"

    "พูดความจริงครึ่งเดียว ก็คือโกหกทั้งหมด"

    "การกระทำย่อมดังกว่าคำพูด"

    หรือที่เป็นบทกลอน...

    "คนจะดีมิใช่ดีด้วยที่ทรัพย์

    มิใช่นับ โคตรเหง้าเผ่าพงศา

    คนนี้ดี ดีด้วยการ งานนานา

    อีกวิชา ศีลธรรม นำให้ดี"

    ข้อเขียนต่างๆ นี้ มีให้เห็นทั่วบริเวณวัดศรีบุญเรือง ติดอยู่ตรงข้างทาง ติดอยู่บนต้นไม้ หรือตามจุดต่างๆ ที่พบเห็นได้ง่าย ผมเดินอ่านอย่างเพลิดเพลิน พร้อมทั้งถ่ายรูปข้อความเหล่านั้นไว้มากมาย เพื่อเตรียมกลับมาจดจารลงสมุด

    "วัดศรีบุญเรือง" เดิมชื่อ "วัดจองหมากแกง" เพราะมีต้นมะขามใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกของกุฏิสงฆ์

    "ในภาษาไทใหญ่ เรียกมะขามว่า หมากแกง"

    วัดแห่งนี้สร้างโดย "ตุ๊เจ้าศรีวิชัย" ในปี พ.ศ.2450 ต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น วัดศรีบุญเรือง แม้จะเป็นวัดที่มีอาณาบริเวณไม่กว้างมากนัก แต่ก็โดดเด่นด้วยความอลังการของวิหารขนาดใหญ่ ลวดลายวิจิตร เป็นศิลปะไทใหญ่หลังคาซ้อนชั้น ประดับสังกะสีฉลุลาย และมีรายละเอียดอย่างมาก

    เมื่อเป็นที่พอใจ ได้ไหว้พระ ได้ข้อคิดติดตัว ก็เห็นทีจะต้องเดินทางกลับ เวลาเร่งเร้าเข้ามาทุกขณะ นาฬิกาข้อมือที่ผมสวมอยู่ คล้ายจะเดินเร็วเสียเหลือเกิน ตั๋วโดยสารในกระเป๋ากางเกง ราวกับจะสะกิดเตือนอยู่ตลอด

    แต่แล้ว ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน เกรงว่าจะทันรถหรือไม่ทัน ผมก็ยังพาตัวเองไปหยุดยืนอยู่ใต้ต้น

    "สาละลังกา" อันเป็นต้นไม้ที่ พระพุทธเจ้า ทรงประสูติภายใต้ร่มไม้นี้ ตามพุทธประวัติบอกว่าเป็นเวลาสาย ใกล้เที่ยง

    น้อยนัก ที่เราจะได้เห็น ต้นสาละลังกา งอกงามในเมืองไทย (แน่นอน ก็ชื่อบอกอยู่แล้วนี่ว่าน่าจะมากมายที่ลังกา)

    ยืนมองดอกสาละสีชมพูครู่หนึ่ง มีความคิดอยากเด็ดติดไม้ติดมือกลับบ้านสักดอก แต่ก็ละอายและเกรงต่อบาป (ตามหลัก หิริ-โอตตัปปะ) เลยได้แต่เก็บมาเป็นภาพถ่ายแทน

    ถ่ายรูปเสร็จ ขาของผมเข้าเกียร์ห้าวิ่งหน้าตั้ง รีบตรงไปยังท่ารถให้เร็วที่สุด กระเป๋าสะพายหลังที่หนักอึ้ง กล้อง เลนส์ ขาตั้งกล้องห้อยพะรุงพะรังอยู่สองข้าง ทำให้วิ่งได้ไม่เร็วเท่าไรนัก

    ผมวิ่ง วิ่ง วิ่ง...และวิ่ง

    วิ่งจนลืมถามพระหรือคนที่รู้ไปเลยว่า "ทำไมวัดอุทธยารมณ์ กับ วัดศรีบุญเรือง ใน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อยู่ติดกันจัง?"

    "ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่ทราบคำตอบ"

    --------------
    ที่มา:มติชน
    http://www.matichon.co.th/matichon/...g=01tra01301250&day=2007-12-30&sectionid=0139
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...