ไหว้พระธาตุเกษแก้วจุฬามณี ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 29 มีนาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,592
    e0b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8e0b980e0b881e0b8a9e0b981e0b881e0b989e0b8a7e0b888e0b8b8e0b8ace0b8b2.jpg

    นครลำปางเป็นเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญและมีเหตุการณ์ที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยมาโดยตลอดทุกยุคทุกสมัย มีร่องรอยเมืองโบราณ วัดวาอารามและศิลปวัฒนธรรมที่ต้องจารึกเอาไว้ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งดินแดนล้านนาเสียด้วยซ้ำ

    b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8e0b980e0b881e0b8a9e0b981e0b881e0b989e0b8a7e0b888e0b8b8e0b8ace0b8b2-1.jpg

    เมืองลำปางนี้เองที่เป็นบ้านเกิดของหนานทิพช้าง วีรบุรุษต้นตระกูล เจ้าเจ็ดตน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นราชวงศ์ของเจ้าเมืองเหนือในสายสกุล ณ เชียงใหม่, ณ ลำปาง , ณ ลำพูน และเป็นบ้านเกิดของพระยาพรหม กวีเอกแห่งล้านนาผู้มีประวัติชีวิตสุดแสนจะโลดโผนกว่านิยาย รวมทั้งพระแก้วมรกต พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองไทยก็เคยประดิษฐานอยู่ในจังหวัดลำปางนานถึง 32 ปี

    ในสมัยล้านนา ราชวงศ์พระยามังราย เขลางค์นครหรือนครลำปางก็ยังเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของอาณาจักรล้านนา ในยุคนี้ตำนานพื้นเมืองจะเรียกชื่อว่า “เมืองนคร” เจ้าเมืองมียศเป็นหมื่น เมืองเชียงใหม่ทำสงครามแย่งชิงหัวเมืองเหนือกับพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา เมืองลำปางจึงกลายเป็นที่ตั้งของกองทัพทหารแห่งล้านนา พระเจ้าติโลกราชแต่งตั้งหมื่นด้งนครเป็นแม่ทัพ ซึ่งสามารถตีเมืองเชลียงไว้ได้

    นครลำปางเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรล้านนามานานจนถึง พ.ศ.2101 อาณาจักรล้านนาก็ถูกพม่าแผ่อำนาจเข้ามาปกครอง เป็นเวลากว่า 200 ปี บางครั้งก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยาบ้าง วิถีชีวิตความเป็นไปของนครลำปางและเจ้าผู้ครองนครก็คล้ายคลึงกับเจ้าเมืองล้านนาอื่น ๆ คือต้องปกครองบ้านเมืองอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 อาณาจักร คืออาณาจักรอังวะของพม่าและอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา

    b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8e0b980e0b881e0b8a9e0b981e0b881e0b989e0b8a7e0b888e0b8b8e0b8ace0b8b2-2.jpg

    จากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้ยืนยันให้เห็นว่า เมืองเขลางค์นคร หรือ นครลำปาง เป็นเมืองของคนกล้าสามารถ แม้แต่ในปัจจุบัน ในบรรดาคนเมืองด้วยกันก็ยอมรับกันว่าคนลำปางเป็นคนดุ เฉียบขาดชนิดที่เรียกว่าทำอะไรทำจริง คุณสมบัติที่ว่านี้คงจะเป็นคุณสมบัติดั้งเดิมของชาวลำปางที่เพาะบ่มฝังรากลึกมานาน ซึ่งจะเห็นได้จากมรดกทางศิลปกรรมและผลงานทางด้านวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ในบริเวณเมืองลำปาง ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม เช่น วัดพระธาตุลำปางหลวง โดยเฉพาะซุ้มประตูและบันไดทางขึ้นด้านหน้าวัดที่มีความงดงามเฉียบขาด ไม่มีที่เปรียบทั้งในแง่ความสวยงาม สุนทรียศาสตร์ ฝีมือ ชั้นเชิงช่าง จนสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าศิลปกรรมในลำปางนั้นเป็นสุดยอดของศิลปกรรมล้านนาเลยทีเดียว

    ความงดงามของศิลปกรรมพลังศรัทธาของชาวลำปางที่ปรากฏอยู่ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวงหลายร้อยปีที่ผ่านมาดูจะมีพลัง ทำให้คนที่มาถึงวัดนี้รู้สึกได้ทันทีที่มาถึงว่าจิตวิญญาณลำปางอยู่ตรงนี้ วัดพระธาตุลำปางหลวงไม่ใช่สถานที่ซึ่งเมื่อมาถึงแล้วเราจะละจากไปได้ง่าย ๆ หลายครั้งหลายหนที่ผมเดินทางเข้าออกวัดพระธาตุลำปางหลวง ทั้งในฐานะของคนผ่านทาง ในฐานะของคนทำข่าว ในฐานะของนักท่องเที่ยวและอื่น ๆ อีกประปราย สิ่งหนึ่งที่สังเกตุได้เมื่อเข้าไปในบริเวณวัดพระธาตุหลวงก็คือความเงียบสงบแต่เคร่งคลึมไว้ด้วยมนต์ขลังของกลิ่นไออารยธรรมโบราณที่ไม่มีให้สัมผัสมากนักในยุคกระแสโลกาภิวัฒน์ ภาพของระเบียงคตล้อมรอบจะแนวกำแพงด้านหนึ่งอ้อมวนมาบรรจบกันอีกด้านหนึ่ง ลานทรายรอบๆตัวพระวิหารหลวง สะท้อนภาพของช่างสมัยโบราณในการวางแผนผังของวัดนี้ได้เป็นอย่างดี

    ในเรื่องตำนานความเป็นมาและประวัติวัดพระธาตุลำปางหลวง คงจะไม่ต้องกล่าวถึงให้ละเอียด เพราะมีผู้พูดไว้หลายครั้งหลายหน ในแง่ของโบราณคดีแล้ว วัดนี้จะต้องเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่วัดพระธาตุลำปางหลวงยัง คงสภาพความเป็นศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรมชาวบ้าน มีสิ่งแวดล้อมที่ดี พระวิหาร เจดีย์ ได้รับการเอาใจใส่ดูแลให้อยู่ในสภาพที่งดงามถ้าใครที่มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดลำปางต้องแวะไปวัดพระธาตุลำปางหลวง วัดที่สวยงามที่สุดแห่งล้านนา พระเจดีย์ ,วิหารหลวงแบบเปิดโล่ง, ซุ้มประตูโขง, บันไดพญานาคทางขึ้นวัด, ซุ้มพระเจ้าล้านทอง พระประธานในพระวิหารหลวง รวมทั้งบรรดาศิลปวัตถุตกแต่งภายในวัดล้วนแล้วแต่ศิลปกรรมชิ้นเอก ที่เมื่อมารวมกันอยู่ภายในวัดแห่งนี้ทำให้ดูมีพลังและจิตวิญญาณอย่างไม่ต้องหาคำอธิบายใด ๆ มาเปรียบเปรย

    วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นปูชนีย์ที่สำคัญของจังหวัดลำปางเป็นเสมือนศูนย์รวมของชุมชนที่สำคัญแห่งหนึ่ง จนวัดพระธาตุลำปางหลวงได้ชื่อว่าเป็นวัดที่สวยงามที่สุดของล้านนา ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวงมีความงดงามอลังการของสถาปัตยกรรมล้านนา ตั้งแต่พระเจดีย์ พระวิหาร ซุ้มประตูโขง จนถึงซุ้มพระเจ้าล้านนา ซึ่งเป็นพระประธานในวิหารหลวง ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาและศิลปกรรมในล้านนาสมัยนั้นเป็นอย่างดี

    b8b0e0b898e0b8b2e0b895e0b8b8e0b980e0b881e0b8a9e0b981e0b881e0b989e0b8a7e0b888e0b8b8e0b8ace0b8b2-3.jpg

    ความเชื่อทางคติธรรม สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัดแห่งนี้นอกจากจะมีหน้าที่ใช้สอยทางพิธีกรรมในศาสนาแล้ว ยังมีความหมายสำคัญที่แฝงอยู่ก็คือ ช่างโบราณได้จำลองจักรวาลที่มีอยู่ในคัมภีร์โบราณเช่น ในไตรภูมิพระร่วงมาไว้ที่นี่ กล่าวคือ พระธาตุเจดีย์อันเป็นศูนย์กลางของวัดก็คือสัญลักษณ์ที่แทนเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางจักรวาล เพราะฉะนั้นในขณะเดียวกันองค์พระธาตุจึงเปรียบได้กับพระเจดีย์จุฬามณี ที่ประดิษฐานบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นวิมานของพระอินทร์

    ดังนั้นการได้นมัสการองค์พระธาตุลำปางหลวงจึงเปรียบได้ว่าเป็นการได้กราบไหว้บูชาพระเจดีย์จุฬามณีอันศักดิ์สิทธิ์ไปพร้อมกันด้วย ดังนั้นลานทรายภายในวัดพระธาตุลำปางหลวงจึงมีความหมายที่เปรียบได้กับมหาสมุทรสีทันดร มีคุณค่าและความหมายพิเศษกว่าเม็ดทรายข้างถนนทั่ว ๆ ไป และปัจจุบันก็เป็นเพียงแห่งเดียวในภาคเหนือที่ยังคงสภาพดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์และงดงามที่สุด แม้แต่เชียงใหม่ที่เมืองหลวงของล้านนาเองในปัจจุบันก็ยังไม่มีที่หลงเหลืออยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เท่ากับวัดพระธาตุลำปางหลวงเลย

    วิหารวัดพระธาตุลำปางหลวงตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกขององค์เจดีย์ประธาน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลักษณะของวิหารหลวงเป็นวิหารโถงเครื่องไม้แบบเปิดโล่ง ก่อสร้างด้วยไม้สักทั้งหลังยกพื้นสูงจากพิ้นดินเล็กน้อย การลดของชั้นหลังคาวิหารถือเป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมล้านนา คือลดด้านหน้า 3 ชั้น และด้านหลัง 2 ชั้น ส่วนโครงสร้างของวิหารเป็นแบบเสาและมีคานรับน้ำหนัก ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าวิหารหลวงหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยใด แต่จากข้อมูลที่ได้จากศิลาจารึกจุลศักราช 838 (พ.ศ.2019) กล่าวเพียงว่ามีการสร้างวิหาร แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นวิหารแห่งใด

    อย่างไรก็ตาม วิหารหลวงหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นก่อน พ.ศ.2044 เนื่องจากในปีนี้ได้มีการหล่อพระพุทธรูปพระเจ้าล้านทองเพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารหลวง วิหารหลวงวัดพระธาตุลำปางหลวงที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นอาคารที่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ.2466 โดยพระธรรมจินดานายก เจ้าคณะจังหวัดลำปางสมัยนั้น ในการบูรณะได้มีการพยายามจะรักษารูปแบบดั้งเดิมเอาไว้ แต่ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงบางส่วนของวิหารเช่น เปลี่ยนเสาแปดเหลี่ยมที่รับโครงสร้างหลังคาส่วนบนตอนกลางวิหารมาเป็นเสากลม สร้างเพดานและลานประดับเป็นไม้ แกะสลักประดับกระจกสีภาพ 12 ราศี ซึ่งแต่เดิมนั้นวิหารหลวงไม่มีเพดาน เป็นอาคารที่เปิดให้เห็นโครงสร้างหลังคาทั้งหมด

    หากท่านที่สนใจประวัติศาสตร์และเรื่องราวทางศิลปะเกี่ยวกับวัดพระธาตุลำปางหลวง สามารถค้นคว้าหาอ่านได้จากหนังสือบทความของท่านผู้รู้หลาย ๆ ท่าน อาทิ หนังสือของอาจารย์น. ณ ปากน้ำ ศาสตราจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ รองศาสตราจารย์อนุวิทย์ เจริญศุภกุล ฯลฯ สำหรับผู้ที่มีโอกาสไปเที่ยวที่วัดพระธาตลำปางหลวง ลองแวะเข้าไปนมัสการองค์พระธาตุเกษแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์และชมความสวยงามของภาพจิตรกรรมฝีมือช่างล้านนาภายในวิหารหลวงได้ นอกจากจะได้ทราบถึงเรื่องราวพุทธประวัติแล้ว ภาพจิตรกรรมเหล่านี้ยังเป็นภาพที่ทรงคุณค่าและเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในล้านนา

    บทความโดย
    จักรพงษ์ คำบุญเรือง

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/956757
     

แชร์หน้านี้

Loading...