ไม่มีอะไรยั่งยืนสืบไป นอกจากความดีความชั่วเท่านั้น

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 12 มีนาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    IMG_8400.jpeg

    กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว แต่คราวนี้ฤดูร้อนตามพระวินัยของเราก็คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ จะตกอยู่ราว ๆ วันที่ ๒๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ ก็แปลว่า เรายังมีอุโบสถที่จะต้องลงในส่วนของฤดูหนาว ทั้ง ๆ ที่อากาศร้อนแทบตาย..!

    จะว่าไปแล้วเรื่องของฤดูกาล บางประเทศก็กำหนดเอาไว้ถี่มาก อย่างของประเทศจีน กำหนดเอาไว้ ๒๔ ช่วงด้วยกัน ถ้าหากว่าเป็นทางตะวันตก พวกยุโรป อเมริกา เขาก็จะมี ๔ ฤดู ก็คือฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว แล้วก็ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนบ้านเราถือตามแบบวัฒนธรรมอินเดีย ก็มีฤดูกาลหลักแค่ ๓ ฤดูกาล คือฤดูร้อน ฤดูฝน แล้วก็ฤดูหนาว แต่บางคนเขาก็บอกว่ามีแต่ฤดูร้อนกับร้อนฉิบหาย..!

    ที่มากล่าวถึงตรงนี้กันก็เพราะว่า พวกเราส่วนหนึ่ง จะใช้คำว่า "ส่วนหนึ่ง" ก็น่าจะไม่ถูกต้อง ก็คือส่วนใหญ่ไปฝืนธรรมชาติกัน อย่างเช่นว่าพอร้อน เราก็เข้าไปในห้องปรับอากาศ หรือว่าเปิดพัดลม หนาวมาก ๆ ก็ยังมีเครื่องทำความอุ่น ในเมื่อเป็นเช่นนั้น สภาพร่างกายของเราจึงไม่ได้ปรับตัวตามสภาพอากาศ ถึงเวลาเจอสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเร็วเข้า บางทีร่างกายก็รับไม่ไหว

    คราวนี้สภาพร่างกายกับสภาพจิตใจก็เหมือนกัน ก็คือส่วนใหญ่แล้วเราไปฝืนธรรมชาติ เอาแค่เรื่องกินอย่างเดียวก็แย่แล้ว ถ้าพวกเรารู้จักสังเกต จะเห็นว่าบรรดาสัตว์ต่าง ๆ เขาอยู่กันตามธรรมชาติ กินแค่มื้อเดียว มื้อหน้าจะมีกินหรือเปล่า เขาไม่ได้ใส่ใจ สัตว์ก็เลยจะมีทุกข์น้อยกว่าเรา ก็คือทุกข์น้อยตรงที่ไม่ต้องแสวงหามา เพื่อสะสมเอาไว้สำหรับโอกาสต่อไป

    แม้ว่าจะมีสัตว์บางชนิด อย่างเช่นกระรอก ที่สะสมอาหารไว้สำหรับฤดูหนาว แล้วก็มักจะโดนคนขโมยไปกิน..! แต่ก็ต้องนับว่าเป็นส่วนน้อย เพราะว่าส่วนใหญ่เขาอยู่กับธรรมชาติ

    คราวนี้มาเกี่ยวเนื่องอะไรกับพวกเรา ? ก็เพราะว่าความจริงแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเราเกี่ยวกับเรื่องของธรรมชาติ เราจะเห็นว่าสรรพสิ่งในธรรมชาตินั้น หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้ มีแต่ความทุกข์ และท้ายที่สุด ยึดถือมั่นหมายไม่ได้ จะต้องเสื่อมสลายตายพังจากกันไป แม้กระทั่งตัวตน ก็ไม่สามารถยึดเป็นตัวเราของเราได้

    แล้วมนุษย์เราทำอย่างไร ? ก็ฝืนธรรมชาติ ที่ไม่เที่ยง ก็พยายามจะเที่ยงให้ได้ ผมหงอกก็ย้อม ฟันหลุดฟันหัก ก็ใส่ฟันปลอม เนื้อหนังเหี่ยวย่น ก็ไปดึงหน้า ไปร้อยไหม ไปฉีดโบท็อกซ์ ไอ้ที่หนักกว่านั้นก็คือไป "ทุบ" หน้าใหม่..!

    เราจะเห็นว่าการฝืนธรรมชาตินั้นมีแต่ความทุกข์ โดยเฉพาะการเพียรพยายามรักษาเอาไว้ ทั้ง ๆ ที่เป็นของไม่เที่ยง ก็จะยิ่งทุกข์หนักมาก อย่างเช่นว่าบางคนเคยได้ตำแหน่งนางงาม จนอายุ ๗๐ กว่าแล้ว ก็ยังสวยพริ้งอยู่เหมือนเดิม แต่พวกเราไม่ได้เห็นตอนที่เขาไปหาหมอ ไปพึ่งมีดหมอ เพื่อที่จะให้ดูสวยดูงามเหมือนเดิม

    การที่เราฝืนธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องที่เหนื่อยและทุกข์มาก เอาแค่ว่าถ้าเราอยู่ในห้องปรับอากาศจนเคยชิน เราก็ต้องหาค่าไฟมาให้พอกับเครื่องปรับอากาศด้วย แต่ถ้าหากว่าเราไม่เคยอยู่ ก็ไม่ต้องเดือดร้อนอะไร เพราะว่าตามธรรมชาติแล้ว ร่มไม้ชายคาก็มี ใต้ต้นไม้ยิ่งเป็นส่วนที่ดี เพราะว่าเวลากลางวันที่ร้อน ต้นไม้ก็คลายออกซิเจนออกมาให้ร่างกายของเราได้รับประโยชน์

    คราวนี้ธรรมชาติของสภาพจิต ก็คือมีการไหลลงที่ต่ำเป็นปกติ สภาพจิตจึงเป็นสิ่งเดียวที่เราต้องฝืนธรรมชาติ ก็คือพยายามประคับประคองอย่าให้ตกต่ำ และต้องพยายามทำให้เจริญขึ้นมา พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้อริยสัจ ๔ จึงได้ตรัสถึงญาณ ๓ ขึ้นมา ก็คือ สัจจญาณ รู้แจ้งตามความเป็นจริง กิจจญาณ รู้ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะไปถึงจุดหมายปลายทาง กตญาณ รู้ว่าตอนนี้เราไปถึงจุดหมายปลายทางแล้ว เป็นต้น

    วันนี้ที่พูดของยากให้พวกเราปวดหัว ก็เพราะว่าเห็นบางคนชอบฝืนธรรมชาติ แก่แล้วก็ไม่ยอมปล่อยตัวให้แก่สมวัย ถ้าปล่อยตัวให้แก่สมวัย ก็ไม่เสียสตางค์อะไร พอไปฝืนความแก่เข้า ก็เลยกลายเป็นรายจ่ายมหาศาล..! เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติธรรมต้องตระหนักเอาไว้ สำหรับคนทั่ว ๆ ไป ปล่อยเขาเถอะ..!

    ผู้ปฏิบัติธรรมของเราจำเป็นอย่างยิ่งที่ ทุกอิริยาบถจะต้องเห็นว่าสรรพสิ่งมีความไม่เที่ยงเป็นปกติ มองไปเห็นคนก็ นี่เด็กเล็ก นี่เด็กโต นี่หนุ่มสาว นี่วัยกลางคน นี่คนแก่ เห็นความทุกข์เป็นปกติ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ก็อยู่บนกองทุกข์ทั้งสิ้น และท้ายที่สุดไม่มีอะไรเป็นตัวตนเราเขา ทุกคนก็ตายก็พังหมด ตัวเราก็เป็นเช่นนั้น คนอื่นก็เป็นเช่นนั้น สัตว์อื่นก็เป็นเช่นนั้น

    แต่เรื่องพวกนี้เราจะสามารถเห็นเป็นปกติได้ สติ สมาธิ และปัญญาต้องถึงพร้อม อย่างที่หลวงปู่มั่น ท่านใช้คำว่า "มัคคสมังคี" ก็คือ รวมพร้อมด้วยหนทางทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ซึ่งขยายออกก็คือหนทาง ๘ สาย ได้แก่ มรรค ๘ นั่นเอง

    คราวนี้การที่เราจะเข้าถึงมัคคสมังคี เพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริงแล้วยอมรับ ไม่ฝืนธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ตามธรรมชาติ เพราะว่าก้าวพ้นไปจากจุดนั้นไปแล้ว

    อันดับแรกเลย เราก็ต้องยอมทนลำบาก รักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์

    อันดับที่สอง ก็คือสร้างสมาธิให้เกิด เพื่อที่จะมีกำลังในการหักห้ามตนเองไม่ให้ไหลลงที่ต่ำ ก็คือไม่ละเมิดศีล ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ที่มีแต่จะพาให้เราตกต่ำ

    เพียรพยายามที่จะรักษา กาย วาจา ใจ ของตน ให้อยู่ในกรอบที่ดีงาม เพื่อที่จะนำจิตของตนให้สูงขึ้น

    และท้ายที่สุด มองเห็นความเป็นจริงของร่างกายตัวเราก็ดี ร่างกายคนอื่นก็ดี ร่างกายสัตว์อื่นก็ดี ตลอดจนวัตถุธาตุทั้งหลายว่า ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา จำต้องละจากสิ่งทั้งปวงไป

    ก็แปลว่า ต่อให้เราฝืนธรรมชาติขนาดไหน ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ต่อให้เก็บสะสมไว้มากมายขนาดไหน ท้ายสุดก็ต้องทิ้งไป อย่างราชาที่ดิน มีที่ดินเป็นพันเป็นหมื่นไร่ แต่ก็มีที่ฝากสังขารแค่กว้างศอก ยาววาเท่านั้น บรรดา "มิลเลี่ยนแนร์" มหาเศรษฐีทั้งหลาย สะสมเงินไว้เป็นหมื่นล้านแสนล้าน ท้ายที่สุดก็เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ นอกจากความดีความชั่วเท่านั้น

    ดังนั้น..การที่เราฝืนธรรมชาติ เพราะว่าไม่ยอมรับ หรือว่าปัญญาไม่ถึง จึงเป็นเรื่องที่เพิ่มทุกข์ให้กับตัวเราโดยใช่เหตุ เลิกฝืนธรรมชาติ ความทุกข์ก็น้อยลง ละความต้องการมากเท่าไร ความทุกข์ก็น้อยลงเท่านั้น

    จึงเป็นเรื่องที่ฝากให้ท่านทั้งหลายเอาไว้พินิจพิจารณา เพราะว่าฤดูกาลเปลี่ยนแปลงแล้ว เราจะคล้อยตามธรรมชาติอย่างไร โดยที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้น้อยที่สุด หรือว่าเราจะฝืนธรรมชาติให้ตนเองต้องลำบาก ที่จะหาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มาเพื่อบำรุงบำเรอตนเอง ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะพิจารณาเอา แต่ถ้าตราบใดที่เราไม่เห็นทุกข์ แล้วเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด เราก็ยังยึดมั่นถือมั่น โอกาสที่จะหลุดพ้นย่อมไม่มี
    ...................................
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...