ไตรสิกขา สว่าง สะอาด สงบ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย tett, 27 มีนาคม 2012.

  1. tett

    tett Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    5
    ค่าพลัง:
    +54
    ไตรสิกขา แปลว่า "ข้อที่พึงศึกษาอย่างยิ่ง 3 ประการ" ได้แก่
    1. อธิสีลสิกขา ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางประพฤติ (ทางกาย วาจา) อย่างสูง
    2. อธิจิตตสิกขา ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัดอบรมจิตเพื่อให้เกิดสมาธิอย่างสูง
    3. อธิปัญญาสิกขา ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัดอบรมปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูง (รู้แจ้งไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
    เรียกง่าย ๆ ว่า
    สีล (morality)
    สมาธิ (concentration) และ
    ปัญญา (wisdom)
    คำว่า ไตรสิกขา แยกออกเป็น ไตร + สิกขา = ไตรสิกขา คำว่า ไตร หรือตรี (ภาษาอังกฤษ = Three) เป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า 3 ตรงกับภาษากรีกว่า Tri ตรงกับภาษาลาตินว่า Tres ตรงกับภาษามคธหรือบาลีว่า ติ หรือ เต ซึ่งก็แปลว่า 3 เช่นกัน
    คำว่า สิกขา เป็นภาษามคธหรือภาษาบาลี แปลว่า "ข้อที่พึงหรือข้อที่ต้องศึกษาและปฏิบัติ" ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า ศิกฺษา ภาษาไทยนำมาใช้เป็นศึกษา
    ไตรสิกขามาในพระไตรปิฎก 2 เล่ม คือ เล่มที่ 11 และที่ 20 (เป็นพระสุตตันตปิฎก ทั้ง 2 เล่ม)
    ไตรสิกขาเรียกง่าย ๆ เรียกได้ว่า สีล สมาธิ และปัญญา นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาบางท่านประยุกต์ว่า (2 ส.,1 ป.)
    สีล ได้แก่ สะอาด (clean)
    สมาธิ ได้แก่ สงบ (calm)
    ปัญญา ได้แก่ สว่าง (clear)
    แต่บางท่านก็ประยุกต์ว่า สะอาด สว่าง สงบ
    สะอาด คือ สะอาด กาย วาจา (สะอาดกาย ได้แก่ เว้นกายทุจริต 3 สะอาดวาจา ได้แก่ เว้นจากวจีทุจริต 4) อาบน้ำในแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ไม่รู้กี่สายต่อกี่สาย ก็ไม่สะอาดเท่ากับอาบน้ำในแม่น้ำคือศีล
    สงบ คือการเจริญสมาธิ เจริญจิตภาวนา (เจริญสมถะวิปัสสนา) ทำจิตให้สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว (เอกัคคตาจิต) เพราะจิตมีธรรมชาติดิ้นรนกวัดแกว่ง เที่ยวไปดวงเดียวไปได้ไกล มีกายเป็นถ้ำอาศัย
    สว่าง คือ เกิดความรู้ (วิชชา) พ้นจากกิเลสคือ อวิชชา (ความไม่รู้) พ้นจากราคะ/โลภะ โทสะและโมหะ ดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญ ไม่มีเมฆหมอกมาปกคลุมปิดบัง มีจิตบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ปราศจากความหมองมัว
    ไตรสิกขา ประยุกต์เข้าพระพุทธโอวาท 3 (ในพระโอวาทปาฏิโมกข์ที่ถือเป็นหัวใจแห่งคำสอนทางพระพุทธศาสนาก็ได้) มรรคมีองค์ 8 ย่อลงเป็นไตรสิกขาก็ได้ ดังมีรายละเอียดจะกล่าวต่อไป
    ไตรสิกขานั้น ท่านยังประยุกต์หรือปรับเข้ากับพระพุทธโอวาท 31 (หัวใจพระพุทธศาสนา) ในพระโอวาทปาฏิโมกข์ (คำสอนสำคัญ) ได้อีก คือ
    สีล ปรับเข้าได้กับ สพฺพปาปสฺส อกรณํ คือไม่ทำบาปทั้งหลายทั้งปวง
    สมาธิ ปรับเข้าได้กับ กุสลสฺสูปสมฺปทา คือทำแต่กุศล
    ปัญญา ปรับเข้าได้กับ สจิตฺตปริโยทปนํ คือทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส
    อัฏฐังคิกมรรค คือ มรรคมีองค์ 8 (เรียกเต็ม ๆ ว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค) ซึ่งแปลว่า ทางมีองค์ 8 ที่รู้จักกันในชื่อว่าทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา/the Middle Way) นั้น เมื่อย่นย่อลง ก็ได้เท่ากับไตรสิกขาหรือสิกขา 3 ได้แก่ สีล สมาธิ และปัญญา เป็นแต่ในทางสายกลาง จัดเอาปัญญาขึ้นก่อนเท่านั้น
    1. เห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) คือเห็นอริยสัจจ์ 4 หรือเห็นไตรลักษณ์ หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท (12)
    2. ดำริชอบ (สัมมาสังกับปะ ได้แก่ เนกขัมมะสังกัปปะ อพยาปาทสังกัปปะ และอวิหิงสาสังกัปปะ) ทั้งข้อ 1 และ 2 จัดเป็น ปัญญา
    3. เจรจาชอบ (สัมมาวาจา ได้แก่ วจีสุจริต 4)
    4. กระทำชอบ (สัมมากัมมันตะ ได้แก่ สุจริต 3)
    5. เลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ)
    ในข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 รวม 3 ข้อ จัดเป็นศีล
    6. พยายามชอบ (สัมมาวายามะ ได้แก่ ปธาน หรือ สัมมัปปธาน คือ ความเพียรชอบ 4)
    7. ระลึกชอบ (สัมมาสติ ได้แก่ สติปัฏฐาน 4)
    8. ตั้งจิตมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ ได้แก่ ฌาน คือ การเพ่ง 4)
    ในข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 8 รวม 3 ข้อ จัดเป็นสมาธิ
    อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ท่านได้ประพันธ์เป็นบทกวีเกี่ยวกับไตรสิกขาเอาไว้ (พบเมื่อท่านถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว ในห้องหนังสือที่บ้านท่าน ได้คัดลอกจากลายมือของท่านเมื่อ 3 ก.ค. 43) ดังนี้
    สะอาด สงบ สว่าง
    สมาธิแน่วแน่แต่แนวผิด
    คือไปติดนิมิตร์ที่นึกหมาย
    เหมือนสกดใจตนจนงมงาย
    ให้เห็นภาพหลากหลายอันลวงตา
    เพราะเริ่มต้นก็ตั้งความประสงค์
    ให้พบภาพตรงตามที่ปรารถนา
    เมื่อปรากฎนิมิตร์อันติดตา
    ดังวาดไว้ล่วงหน้าก็ยินดี นึกว่านี่สูงสุดพุทธศาสน์
    แท้ก็คือภาพวาดในใจที่
    คิดเอาไว้ล่วงหน้าว่าจะมี
    ภาพอย่างนั้นอย่างนี้ตามคำใคร
    ปฏิบัติวิธีที่ถูกต้อง
    มิใช่จ้องหานิมิตร์วิจิตรใส
    หากมุ่งลดฟุ้งซ่านรำคาญใจ
    ลดความใคร่ความแค้นแน่นอุรา
    ลดพะวงหลงไหลคลายความโง่
    ลดหิวโซเรี่ยไรไม่เลือกหน้า
    สร้างสงบแก่เหล่าชาวประชา
    แนะให้ปลูกปัญญาไม่งมงาย
    ดูแต่พระพุทธองค์เมื่อทรงแผ่
    พระสัทธรรมงามแท้ให้แพร่หลาย
    ไม่กระหายเงินทองของนอกกาย
    สอนเข้าหาจุดหมายสงบเย็น
    ให้ละบาปบำเพ็ญกุศลผอง
    ชำระใจให้ผ่อง เพื่อคลายเข็ญ
    ทั้งทางโลกทางธรรมไม่ลำเค็ญ
    เหมือนจันทร์เพ็ญผ่องฟ้านภาลัย
    ขอเชิญชวนแผ่เจตน์เมตตาจิต
    ใครพลาดผิด ขอให้ฟื้นกลับคืนได้
    ปลูก "สะอาด" เพื่อพบ "สงบ" ใจ
    และ "สว่าง" ห่างไกลกลีเทอญ.
    (คงตัวสะกดการันต์ไว้ตามต้นฉบับลายมือของท่าน)
    หมายเหตุ โปรดทราบว่าเอกสารฉบับนี้เป็นเพียงเอกสารนำอภิปรายเท่านั้น ขอท่าน สาธุชนได้โปรดอภิปรายตามสบายใจของท่านและตามแนวคิดของท่านเถิด
    ตัวเลขที่มาในพระไตรปิฎกภาษาบาลีเช่น 11/228/231 หมายความว่า พระไตรปิฎก เล่มที่ 11 ข้อที่ 228 หน้า 231 <hr>
     

แชร์หน้านี้

Loading...