ให้พิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เทศนาโดย ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย KK1234, 15 ธันวาคม 2009.

  1. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    ให้พิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย

    ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร
    เทศน์อบรมพระ ฆราวาส
    เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๑

    ---------------------------------

    พูดธรรมะก็ไม่มีอะไรอื่น เพราะกิเลสก็ตัวเก่า เหมือนกันกับเรารับประทานอาหาร รับประทานก็ทวารเก่า ถ่ายก็ทวารเก่า แต่ก็จำเป็นต้องรับประทาน เพราะมีชีวิตมีอยู่ เรื่องธรรมะก็ทำนองเดียวกัน ไม่ใช่พูดธรรมะจะหาที่ไหนมาพูด ธรรมะที่มีอยู่กับพวกเราท่าน มาพูดสู่กันฟังเพื่อฟอกจิตอบรมใจ

    โดยส่วนใหญ่พวกเราไม่ค่อยได้พิจารณาธรรมะ ส่งกระแสจิตคิดปรุงไปแต่เรื่องนอก ๆ พอพูดธรรมะจึงไม่ค่อยเข้าใจกัน เพราะไม่เคยพิจารณามาก่อน เหมือนคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ พอเอาหนังสือมาให้อ่านมันก็อ่านไม่ออก ทั้งที่ตัวหนังสือมันมีอยู่

    แต่คนที่รู้คนที่ศึกษามาพอเห็นจับเข้าก็อ่านได้ เรื่องธรรมะก็ทำนองเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่มีอยู่กับกายกับจิต แต่ไม่ได้คิดว่ามันเป็นธรรมะที่จะนำมาชำระกายใจของตัว ก็เลยหาธรรมะไม่มี เป็นคนอดคนจน จนสติ จนปัญญา จนธรรมะที่จะสอนตัว

    ธรรมะที่พระพุทธเจ้าให้เพ่งพินิจพิจารณาทุกวันทุกเวลา ในอภิณหสูตร ท่านพูดถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ นี่เป็นธรรมะที่ทุกคนควรคิด พินิจพิจารณาชำระใจ ถ้าเราไม่พิจารณาว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดา

    เมื่อแก่มาก็เสียอกเสียใจเดือดร้อนวุ่นวาย หาอุบายวิธีต่าง ๆที่จะปรับปรุงร่างกายของตัวไม่ให้แก่แต่ถึงจะแก้ไขขนาดไหน หาอะไรมารักษา เรื่องความแก่เป็นธรรมะ เป็นสัจจธรรม มันก็แก้ไขไม่ได้ ถึงได้ก็นิด ๆ หน่อย ๆ ความแก่มันมีอยู่อย่างนั้น ตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่เรายังไม่เกิดมา

    พวกที่ท่านเกิดมาก่อนท่านก็มีความแก่เหมือนกันกับเรา เราตายไป คนที่เกิดมาใหม่เมื่อเกิดมาแล้วก็จะต้องแก่ต่อไป เหมือนกันกับปัจจุบัน นี่คือเรื่องความแก่ ที่เราควรพินิจพิจารณา ควรศึกษาหาความรู้เอาไว้ จะไม่ได้เสียใจอย่างนั้นอย่างนี้

    แก่มันแก่ไปที่ไหนล่ะ แก่ไปหาความเจ็บ ความตาย แก่ไปหาเตาไฟ มันไม่ได้แก่ไปที่อื่น เมื่อพิจารณาความแก่ประจำจิตอยู่สม่ำเสมอไป ใจมันก็ไม่ค่อยกำเริบเสิบสานไปในทางผิด เพราะเห็นว่าความแก่นี้ไม่มีหยูกยาที่ไหนจะรักษาให้หาย เกิดมาจะต้องมีความแก่เป็นธรรมดาทุกถ้วนหน้า

    เขาอย่างไร เราอย่างนั้น เราอย่างไร เขาอย่างนั้น ไม่ว่าปัจจุบันหรืออดีต ความเป็นอยู่อย่างนี้มันมีเป็นปกติของผู้เกิด เมื่อเกิดแล้วจะต้องมีแก่ แก่ไม่เป็นที่ปรารถนาของคนทั่วไป แต่แก่เบื้องต้นแก่ปิดปังอำพรางตา เป็นที่ชอบที่ปราถนาของสัตว์ เช่นเด็กแก่ขึ้นมาทุกวันทุกเวลา จนเป็นหนุ่มเป็นสาว รู้สึกว่าชอบอกพอใจ

    นี่ก็ความแก่เหมือนกัน แต่เรียกว่าแก่ปิดปัง แก่ปกปิด เขาไม่ได้คิดว่าเขาแก่ เขาเจริญเติบโตจึงชอบ จึงพอใจ พอมันมาถึงที่ มันจะแก่ไปข้างหน้าเรื่อย ๆ ไป เมื่อมันถึงหนุ่มถึงสาวเต็มที่แล้ว มันก็แก่ไปในทางที่ไม่ชอบใจ เป็นแก่เปิดเผย เช่นผมที่เคยดกดำเป็นเงางามก็หงอกก็ขาวเข้า

    ตาที่เคยสว่างผ่องใสก็มืดก็บังเข้า หูก็หนวกก็ตึงเข้า เนื้อหนังก็เหี่ยวแห้งย่นยู่เข้า นี่คือ ความแก่เปิดเผย คนทั่วไปเขาเห็น เขาก็รู้จักว่าเป็นคนแก่ เรียกคนแก่ เรียกพ่อ เรียกแม่ เรียกตา เรียกยายไป

    นี่คือความแก่ที่เปิดเผย ที่มนุษย์ทั่วไปไม่ชอบ ไม่ยินดีในความแก่ประเภทนี้ แต่ก็หนีไม่พ้นถ้าเราไม่ตายไปก่อนตอนที่เรายังเป็นหนุ่มเป็นสาว เราจะต้องประสบพบเห็นความแก่ประเภทนี้ด้วยกันถ้วนหน้า

    เมื่อเราพิจารณาความแก่อย่างนี้ พิจารณามาถึงตัวของเรา หรือพิจารณาถึงรูปที่เราไปใคร่คิดติดข้อง ว่ามันสวยมันงาม พิจารณาเรื่องความแก่อยู่บ่อย ๆ รูปที่เราไปยึดว่ามันสวยสด งดงาม น่าดูน่าชมอย่างนั้นอย่างนี้ เราเกิดราคะตัณหา

    ถ้าเราพิจารณาเรื่องความแก่ พ่อแม่ของเขา ปู่ย่าตาทวดของเขา แต่ก่อนก็เหมือนกันกับคนคนนี้ เมื่ออายุยังไม่มากยังไม่แก่จัด มันก็ยังน่าดูน่าชม ไม่อย่างนั้นเขาก็ไม่มีการแต่งงานกัน ไม่มีใครที่จะปราถนา แต่คนนี้นานปีไปมันก็จะเป็นอย่างเดียวกันกับพ่อแม่หรือปู่ย่าตาทวดของเขา

    รูปอันนี้จึงไม่ควรที่จะยึด จะถือว่าเป็นของจีรังยั่งยืน เพราะปกติมันบ่งบอกอยู่แล้ว พ่อแม่เป็นเครื่องผ่านมาก่อน ว่าพ่อแม่แก่อย่างไร ลูกที่เกิดมาตามหลังก็จะเป็นไปทำนองเดียวกัน

    นี่การพิจารณาแก้ไข จิตใจที่ปรุงคิดติดข้องในรูป ว่ามันสวย มันงาม ไปยึดในรูปว่ามันมั่นคงถาวรจีรังยั่งยืนต่าง ๆ เพื่อจะแก้ใจของตัวให้หายจากความติดข้องมัวเมาในรูปนั้น ๆ

    ความเจ็บ ทุกคนที่เกิดมาก็จะต้องประสบพบเห็นด้วยกันทุกถ้วนหน้า เว้นแต่จะหนักหรือเบากว่ากันเท่านั้น เคยประสบพบมาเรื่องความเจ็บ คนที่พูดคุยก็เคยโดนมานับไม่ได้เหมือนกัน เจ็บหนัก ๆ จนจวนจะตายก็เคยพบเคยเห็น

    แล้วคนอื่น ๆ ที่นั่งประชุมกันอยู่นี้ก็คงจะโดนกันมาเหมือนกันจะหนักเบาแค่ไหนก็แล้วแต่ ที่เคยโดนมา ต้องโดนมาไม่ว่าใครทั้งนั้นความเจ็บนี้

    เราจะมีสมบัติพัสถาน ข้าวของเงินทองพวกพ้องเพื่อนฝูงมากขนาดไหน ก็เฉพาะตัวของเรา ไม่มีใครที่จะช่วยความเจ็บในตัวของเราแบ่งเบาไปได้ เป็นหน้าที่ของตัวจะต้องอดต้องทน ต้องสู้ เป็นของเฉพาะจริง ๆ จัง ๆ ข้าวของเงินทองจะมากมายก่ายกองขนาดไหน จะจ้างให้เขาเอาความเจ็บออกไปจากตัวของตัว เอาไปไม่ได้

    พรรคพวกเพื่อนฝูงบริษัทบริวารมีขนาดไหนก็เหมือนกัน เมื่อเจ็บแล้วความสุขความสบายมันม่มี ถ้าผู้ไม่มีธรรม ไม่มีความสุข ความสบายเอาเลย บ้านจะใหญ่โต รโหฐาน ที่นั่งที่นอนจะอ่อนนุ่มสะดวกสบายขนาดไหน มันก็ไม่สบายให้ เพราะโรคภัยความเจ็บปวดมันเบียดเบียน

    ความเจ็บปวดมันเป็นของมีประจำธาตุขันธ์ทุกท่านทุกคน ไม่ว่านักบวชหรือฆราวาส มันมีความเจ็บเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไปที่ไหนไม่ได้ เกิดมามีชีวิตจะต้องมีความเจ็บให้เบียดเบียนเป็นธรรมดา นี่เรื่องความเจ็บ กิเลสตัณหา ความชอบคิดติดข้องในสิ่งต่าง ๆ

    เมื่อเจ็บหนักมา รูปที่เรารัก เราชอบใจ เราใคร่คิด มันไม่มีอะไรที่จะทำใจให้เพลิดเพลินให้มัวเมาไปได้ เจ็บหนักเท่าไรก็เป็นหน้าที่ของเราจะต้องต่อสู้ เราจะไปยินดีเพลิดเพลินว่าอย่าไปยึดไปถือเรื่องความเจ็บ รูปนั้นมันสวยมันงาม น่าจูบน่ากอด ไปคิดไปปรุงแบบนั้นมันเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกข์ทางใจ ความเจ็บมันบังคับ มันจึงไม่มีความสุข ความสบายอะไรให้

    เรื่องความเจ็บ ความไข้ ทุกคนเคยประสบพบมาแล้วก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าสมัยใด ใครจะมีธรรมหรือไม่มีธรรมก็ตาม ใครจะมีสมบัติข้าวของเงินทองหรือจะอดอยากยากจนก็ตาม ความเจ็บนี้มีประจำสัตว์ทั่วโลก ให้เราหมั่นพินิจพิจารณาศึกษา

    เมื่อเวลาความเจ็บไข้เกิดขึ้นมาจะไม่ตื่นเต้น ไม่ตื่นเต้นอย่างไร เพราะความเจ็บนี้เราได้คิดเอาไว้ ได้พิจารณาเอาไว้ ไม่มีทางไหนที่จะหลีกเลี่ยงไปได้ เราก็สัตวโลกคนหนึ่ง เราจะต้องเจ็บไข้ได้ทุกข์เหมือนกันกับเขา ให้พิจารณามีธรรมะในจิตในใจเอาไว้

    เมื่อเจ็บหนักเข้า รักษาด้วยหยูกยาไม่หาย มันก็ต้องตาย ถึงรักษาหายวันนี้ วันหน้า เดือนหน้า ปีหน้า มันก็มีขึ้นมาอีก เรื่องความเจ็บ ผลที่สุดก็ไปสู่ความตาย ความตายนี้ไม่ว่าสัตว์ประเภทไหนเกิดมาแล้วจะต้องตายไปด้วยกัน ไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงความตายไปได้

    เกิดมาต้องตาย ไม่มียาขนานไหน ไม่มีพาหนะชนิดใดที่บรรทุกคนหนีจากความตายไปได้ ยาก็รักษาไม่หาย ถ้ารักษาหายคนก็ไม่ตายกัน มีอายุเป็นพัน เป็นหมื่นเป็นแสน คนที่มีเงินที่จะซื้อยามารักษาให้หายจากตายมันมี แต่มันไม่มียาขายให้ ไม่มียารักษาให้หาย จะเป็นแพทย์เป็นหมอดีเด่นขนาดไหน มันก็ไปสู่จุดหมายปลายทางอันเดียวกันคือความตาย

    ความตายจึงเป็นภัยอันตรายใหญ่หลวงสำหรับสัตว์โลก ไม่อยากตายทุกรายไป หายากที่สุดคนที่อยากตาย กินยาตาย ผูกคอตาย หายาก คนที่ไม่อยากตายมากที่สุด ถึงเขาตายไปแล้ว ไปฝังไปเผาในป่าช้า หรือเตาเผาต่าง ๆ

    ถ้าเราปลุกเสกเขาขึ้นมาได้ ถามคุณอยากตายหรือ หรือคุณไม่อยากตาย ไปถามเขา เขาอาจจะตอบเป็นคำเดียวกัน ว่าไม่อยากตาย แต่มันเหลือวิสัย ทนไม่ได้ ถึงกาลถึงเวลาก็ต้องตายไป นี่เป็นเรื่องความตาย

    คนที่ไม่มีอรรถมีธรรมในจิตในใจ ไม่มีใครปราถนาเรื่องความตาย เพราะถือว่าเป็นอันตรายสำคัญ เป็นภัยสำคัญ ไม่มีใครชอบใจเรื่องความตาย แต่ผู้ที่มีอรรถมีธรรม ศึกษาธรรม พิจารณาธรรม ปฏิบัติธรรม รู้เห็นเด่นชัดในจิตในใจ ไม่ว่าแก่ ว่าเจ็บ ว่าตาย

    ท่านเห็นเป็นธรรมดาไม่ถือว่าสิ่งเหล่านั้น เป็นศัตรูเป็นอันตราย ของที่มีมาประจำแต่ไหนแต่ไรเรายังไม่เกิดมันก็มีอยู่อย่างนี้ เราเกิดมาแล้วหรือตายไปแล้วมันก็มีอยู่อย่างนี้ มันไม่หนีไปไหนไม่มีใครที่จะมีอำนาจวาสนาจะห้ามกั้นไม่ให้มันเป็นไปอย่าง นั้นได้

    มันจะต้องเป็นไปตามธรรมชาติตามธรรมดาของมัน ท่านทราบชัดในสิ่งเหล่านั้นและปฏิบัติจิตใจของตัว ละชั่วบำเพ็ญดีจนถึงที่ เข้าใจตามเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้หน้าที่ของมันเป็นอย่างไรมันเป็นไปตามหน้าที่ของมัน ไม่ใช่มันมาให้ทุกข์ให้โทษอะไรแก่เรา เราหลงใหล เรายึดถือต่างหาก จึงเกิดทุกข์เกิดโทษในจิตในใจ

    แล้วเมื่อเราแก่ เราเจ็บ เราตายไปอย่างนี้ มีอะไรเสียหายสำหรับเรา

    เราต้องการอะไร เมื่ออยู่ไปหมื่นปีแสนปีเราต้องการอะไรอีก ทราบในจิตในใจ ถ้าหากประพฤติธรรม ปฏิบัติใจให้เป็นอรรถเป็นธรรมแล้ว มีคุณค่าเสมอกัน มีชีวิตอยู่หรือตายไปไม่มีอะไรที่จะเสียหาย

    กายที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ ก็ทราบดีว่าธาตุทั้งสี่มันไม่ได้ตายไปไหน มีแต่สมมุติต่างหากที่ตายไป เขาว่าตายไป แต่ดินมันก็เป็นธาตุดินตามเดิมของมัน น้ำ ลม ไฟ ก็เหมือนกัน มันไม่ได้ตาย ไม่ได้ฉิบหายไปที่ไหน จิตผู้รู้ สิ่งเหล่านี้มันฉิบหายอีกไหม

    ท่านทราบภายในเรื่องของท่าน ท่านจึงไม่มีความกังวลวุ่นวาย ไม่มีกิเลสตัณหามารบกวน เพราะใจของท่านทราบดีทุกสิ่งทุกอย่าง

    อยู่ไปอะไรที่จะได้ขึ้นอีก เพราะจิตได้ละสิ่งที่ควรละมาจนตลอดเวลา จนหมดจด จนไม่มีอะไรที่จะละอีก สิ่งที่บำเพ็ญได้บำเพ็ญมาเต็มหน้าที่ ไม่มีอะไรจะบำเพ็ญให้ดีขึ้นไปอีก ปัจจุบันเป็นอย่างไร บริสุทธิ์ผ่องใสไม่มีอะไรที่จะมาเกี่ยวข้อง อยู่ไปแสนปีก็ไม่มีอะไรที่จะดีขึ้น ตายไปวันนี้ก็ไม่มีอะไรที่จะเสียดาย

    เมื่อมันเป็นอย่างนั้น จึงไม่มีการเสียดาย เพราะชีวิต อันนี้เกิดมาก็เพื่อจะสะสมคุณงามความดี เพื่อจะทำหน้าที่ของตัวให้บริสุทธิ์ เมื่อบริสุทธิ์แล้วจึงไม่มีความหมายอะไรในการเกิดแก่เจ็บตายของท่าน ท่านจึงอยู่เป็นสุข ท่านจึงอยู่สบาย เพราะท่านเห็นประจักษ์ในจิตในใจ สิ่งที่มันสลายไปนั้นก็เป็นหน้าที่ของมัน

    สิ่งที่เหลืออยู่เราก็ทราบ เหลือจะมีอะไร ถ้าหากเรามีความต้องการว่า ถ้าหากชีวิตยังมีอยู่ต่อไปจะได้สะสมคุณงามความดีตามหน้าที่ของเรา สิ่งใดที่เราต้องการอยากจะทำก็จะได้ทำต่อไป เพราะเรายังไม่ถึงจุดหมายปลายทางเราก็อยากจะใช้ชีวิตยืนยงคงอยู่ เพราะจะได้สร้างคุณงามความดีทวีคูณขึ้น

    เมื่อท่านปฏิบัติความดีถึงที่ ท่านจึงไม่มีปัญหาเหมือนพวกเราธรรมดา นี่คือเรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ท่านให้พิจารณาประจำทุกวัน ทุกเวลา

    ตายแล้วเป็นอย่างไร นี่ก็เป็นปัญหาของใจที่พวกท่านควรใคร่คิดติดตาม เพื่อแก้ความสงสัย หลงใหล มัวเมาของตัว ตายไปแล้วพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั่วไป บุตรธิดาภรรยาสามี ข้าวของเงินทอง บ้านช่องทุกอย่าง เราจะต้องจากไป จากของรักของชอบใจส่วนนี้ไป

    เขาจะตามไปส่งได้ก็ถึงป่าช้า ถ้าเตาเผา เขาไม่ไปกับเรา พรรคพวกเพื่อนฝูงที่รักกันขนาดไหน เมื่อเราตายไปเขาจะตายไปด้วยในขณะเราตายนั้น เขาไม่ยอมตาย เราจะต้องพลัดพรากจากเขาไป ลูกหลาน ข้าวของ สามีภรรยา บ้านช่องก็เป็นของคนอื่นไป

    เขาไปมีภรรยาใหม่ สามีใหม่ เราก็ไม่มีอำนาจวาสนาที่จะมาฟ้องร้องกับเขา ไม่ให้เขาเอาสามีใหม่ภรรยาใหม่ ข้าวของที่เราหามาได้ เขาอยากจะจ่ายไปแบบไหนก็เป็นเรื่องของเขาอีก เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปฟ้องร้องเอาข้าวของของเราไปได้ แต่เราก็หลงใหล เพราะไม่ได้คิดว่าจะจากสิ่งเหล่านี้ไป

    ใจเลยข้องเลยติด เลยยึดเลยถืออย่างนั้นอย่างนี้ วุ่นวี่วุ่นวาย โรคของกายกำเริบ โรคของใจคือกิเลสตัณหาก็มั่วสุมเข้าไป ใจก็เลยมืดบอด ไม่มีทางที่จะสว่างไสว ไม่มีทางที่จะสุขจะสงบได้

    นี่คือใจที่ไม่คิดใคร่ในอรรถในธรรม เข้าใจว่าอันนั้นของกู อันนี้ของกู ยึดเอาไว้ ถือเอาไว้ ไม่ได้ใคร่คิดติดตามธรรมะที่พระพุทธเจ้ารู้ พระพุทธเจ้าสอน เราหลงใหลใฝ่ฝันกันอย่างนั้น จึงเป็นทุกข์เกิดขึ้นในจิตในใจ ถ้าทราบดี เราก็มีสิทธิ์ เมื่อมีชีวิตอยู่ เราจะใช้สอยอะไร เราก็ใช้สอยได้

    เราก็มีสิทธิ์ที่จะแสวงหามาบำรุงรักษาตัวของเรา ไม่ใช่ว่าทราบแล้วไม่ทำอะไรงอมืองอเท้า ไม่เป็นอย่างนั้น ทราบแล้วก็ขยันหมั่นเพียรหา แต่ไม่ให้ของเหล่านั้นมาทับถมจิตใจจนหลงใหลใฝ่ฝัน ติดข้อง นี่หมายถึงผู้ที่มีอรรถมีธรรมในจิตในใจที่เป็นฝ่ายฆราวาส

    ฝ่ายบรรพชิตท่านก็รักษาบริขารของท่านที่เขาถวายมา ได้มา ไม่ใช่ว่าทราบดีแล้วจะเผาทิ้งโยนทิ้ง ไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็ใช้สอยมันไป เมื่อชีวิตหาไม่ก็ไปตามเรื่อง

    ถ้าหากเราพินิจพิจารณาธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างที่ว่าอยู่บ่อย ๆ ความหลงใหลติดข้องของใจก็ค่อยจะเบาไป บางไป สบายไป เพราะทราบหน้าที่ของมันเป็นอย่างนั้น เมื่อถึงคราวถึงสมัยมันเป็นไปจริงจัง เราก็ไม่ลุ่มหลง เพราะของอันนี้มันเป็นของอนิจจัง อยู่แต่ไหนแต่ไรมา เราไม่จากมัน มันก็จากเรา

    ไม่ใช่ว่าคนเกิดมาแสวงหาทุกสิ่งทุกอย่าง ได้มาแล้วจะมีกรรมสิทธิ์อยู่เสมอไป มีกรรมสิทธิ์เมื่อมีลมหายใจเป็นอยู่เท่านั้น เมื่อหมดลมหายใจแล้วเขาจะเอาไปเผาไฟทิ้ง ร่างกายยิ่งเป็นสิ่งที่หวงแหนก็ยังยอมให้เขาเผา เพราะเราไม่มีสิทธิ์ที่จะขู่จะด่าไปว่าไปกล่าวกับเขา หมดสิทธิ์ร่างกายของเราให้เขาเผาเขาฝังได้

    สมบัติภายนอกก็ทำนองเดียวกัน เราไม่มีสิทธิที่จะไปยืดไปถือ ไปห้ามไปหวงเอาไว้ ให้ทราบในจิตในใจ ตามความเป็นจริงจิตใจจะเย็นจะสุขจะสบาย เมื่อมันเกิดวิบัติภัยอันตรายขึ้นมา เรื่องเหล่านี้เราเคยได้ทราบล่วงหน้า

    หน้าที่ของมันเป็นอย่างไรเห็นประจักษ์ในใจอยู่แล้ว มันเลยไม่เป็นทุกข์เป็นโทษให้ มันเลยสุขใจ นี่หมายถึงการพิจารณาเรื่องธรรมะ แก้ไขใจของตัว

    แล้วสิ่งที่เป็นของของตนนั้น ใน อภิณหสูตร ที่ท่านพูดเอาไว้ มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นธรรมดา จะพลัดพรากจากของรัก ของเจริญใจทุกสิ่งทุกอย่างไป ต่อไปก็มีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม

    เรื่องของกรรมที่เราทำด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก้ดี นี่ท่านถือว่าเป็นของของตน นักปราชญ์ราชบัณฑิตท่านพูดถึงกรรมที่เราทำไป จะเป็นกรรมชั่วก็ตาม กรรมดีก็ตาม เป็นของของตนมีกรรมเป็นผู้ให้ผล ละเว้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะปล่อยปละละเลยไม่ได้

    กรรมที่เราสร้างเอาไว้ ทำเอาไว้ ไม่ต้องการปราถนา กรรมนั้นก็จะให้ผลแก่ตนตลอดเวลา กรรมมันก็มีกรรมดีกรรมชั่วอยู่ในโลก เราทำด้วยความจงใจ ด้วยเจตนาก็ดี ทำด้วยความประมาทเลินเล่อเผลอสติก็ดี กรรมทั้งหมดทุกอย่างมันเป็นของของตัว

    กรรมชั่วที่เราไม่ปราถนา แต่เราทำ ถึงไม่ปราถนา กรรมชั่วก็จะตามให้ผล กรรมดีที่เราปรารถนาอยากได้ แต่เราไม่ได้ลงมือทำ กรรมดีก็ไม่ให้ผลแก่ตัวของเรา

    ฉะนั้น กรรมที่มีคือ กรรมดี กรรมชั่ว เราต้องพินิจพิจารณาศึกษาก่อนจะทำลงไป จะพูดออกไป จะคิดอะไร ให้ศึกษาว่าสิ่งที่เราทำเราพูด เราคิดนี้ มันมีผลดีหรือผลชั่วอย่างไร ถ้าเป็นทางชั่ว ทางต่ำ ทางเสีย ถึงเราจะอยากจะทำสิ่งนั้นก็ห้ามกลั้นเอาไว้

    เพราะเราทำไปกรรมส่วนนี้จะตามให้ผลแก่ตนของตน ให้ประจักษ์ในจิตในใจ ให้ทราบในจิตในใจของตนอย่างนั้น จิตใจเห็นประจักษ์ว่าหนีจากกรรมไปไม่ได้ ทำไปไม่ว่าฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว กรรมจะติดตามตัวไปเหมือนเงา จะขึ้นเขาลงน้ำ เงาจะต้องตามไปตลอด

    เรื่องกรรมที่เราทำก็ทำนองเดียวกัน จะอยู่ในที่ลับที่แจ้งก็ตาม แต่เราทำลงไปแล้ว กรรมนั้นจะติดตามเราไปเหมือนหมาไล่เนื้อ ทันเมื่อไรมันก็จะกัดเมื่อนั้น เราจึงควรละกรรมชั่ว ไม่ควรทำควรพูดควรคิดในสิ่งที่ผิดที่ชั่ว เพราะทำไปแล้วมันจะให้ผล ตนไม่ปราถนาก็ตาม แต่มันก็ให้ผลแก่ตนของตน

    ไม่มีคนอื่นเขาจะมาแย่งชิงเอาไปได้ ทำลงไปแบบไหน กรรมนั้นจะติดในใจของเราเรื่อยไป ถึงจะทำหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ทำท่าหลงลืมก็ตาม แต่กรรมนั้นมันไม่ลืม มันจะผลิดอกออกผลให้ในวันใดวันหนึ่ง นี่บางคนเกิดมาไม่เคยทำสักทีความชั่วช้าลามก ทำไมเราจึงได้รับทุกข์รับโทษอย่างนี้

    มีเขามาฆ่ามาตี มาเบียดมาเบียนไม่เคยลักขโมยของเขา กรรมเก่าแต่ก่อนที่เราทำ เรามองไม่เห็น ถ้าเรามีกรรมเก่ามาสนับสนุนให้ มันจะไม่เป็นไปอย่างนั้น ถ้ากรรมดีรักษา เราจะไม่โดนเขาตีเขาปล้นเขาจี้อย่างนั้น

    นี่เราเคยทำเขามาเราจึงโดนแบบนั้น ถึงเราไม่ปราถนามันก็ได้รับผล คนอื่นที่เขามีกรรมดีสร้างเอาไว้ ไปด้วยกันก็ไม่โดนเหมือนกันกับเรา มันผิดกัน เพราะกรรมดีรักษาเขา เราจึงควรเชื่อกรรม

    เชื่อกรรมจนถึงใจ ก็จะมี หิริ โอตตัปปะ คือ กลัวบาป ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด จะทำจะพูดจะคิดไปในทางชั่วทางเสีย ภาษาพระ ภาษาวัดเรียกว่า บาป กลัวในจิตในใจ เกรงบาป กลัวบาป ละอายบาป ไม่อยากจะทำ เพราะทำไปแล้วมันจะให้ผลแก่ตนของตน

    เลิกละความชั่ว ประกอบกรรมดีให้มีขึ้นในตัว เมื่อเราพิจารณาอยู่อย่างนี้ เรื่องของกรรมถึงใจแล้ว เราจะเลือกคัดจัดหาทำกรรมดีให้เกิดมีแก่กาย วาจา ใจของตัว ถ้าเราไม่พินิจพิจาราอย่างนี้ เราก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยง อยากจะทำอะไรก็ทำไปตามอำเภอใจ ไม่ทราบว่าดีชั่วอย่างไร จะให้ผลเป็นสุขเป็นทุกข์ไม่ได้คำนึงคำนวณ ขอแต่ให้มันชอบ มันอยากทำ ทำไป มันเป็นไปทำนองนั้น

    ท่านจึงสอนให้เชื่อเรื่องของกรรม ว่าเรามีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล สุข ทุกข์ จะเกิดขึ้นก็อาศัยผลของกรรม ไม่ใช่ว่าคนทุกคนไม่ปราถนาดี ปราถนาดีกับทุกคน แต่ทำไมถึงยากจนอดอยาก ลำบากรำคาญ โรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเขา

    เราอยากเป็นโรคภัยไข้เจ็บไหม เราอยากอดอยากจนไหม ไม่มีใคร ไปถามเขา เขาจะต้องตอบว่า อยากจะมั่งมีศรีสุข อยากจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งนั้น แต่เหตุใดเล่าเขาจึงเป็นอย่างนั้น มันก็เพราะกรรมเก่าที่เขาสะสมเอาไว้ให้ผล ถึงเป็นพระอรหันต์ อรหันต์ สิ้นอาสวะกิเลสภายใน

    กรรมเก่าที่ท่านสร้างเอาไว้ให้ผล ก็ยังโดนทุกข์โดนโทษ อย่างพระโมคคัลลานะมีโจรปล้นฆ่าตีจนแหลกจนตาย ภาษาของเรา หรือพระพาหิยะก็เป็นพระอรหันต์ เที่ยวไปแสวงหาบริขารมาบวชก็ถูกวัวขวิดตาย นั่น ตายโหงตายห่า ยังมีเป็นธรรมดา เพราะกรรมเก่าที่สร้างมาให้ผล

    กรรมจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้ายังมีกายอยู่ นอกจากกรรมนั้นจะไล่มาไม่ทัน เราสร้างเอาไว้ เราตายไปก่อนเสีย ก็เลยเป็นอโหสิกรรม เพราะใจบริสุทธิ์แล้ว กรรมจะติดตามไปให้ผลไปอีกไม่ได้ ภพชาติที่เราก่อเกิดไม่มี นี่คือจิตที่บริสุทธิ์

    เมื่อเรายังไม่บริสุทธิ์อย่างนั้น ยังมีกิเลส ตัณหา มานะ ทิฏฐิในใจ จะต้องท่องเที่ยว เวียนว่ายตายเกิด เราจะต้องพินิจพิจารณา ละกรรมชั่ว สร้างกรรมดีให้มีในจิตในใจของตัว เพราะกรรมดีนั้นให้ผล ในปัจจุบันก็ให้ผล ตนของตนมีความสุข ทำไปแล้วคิดว่าผู้รู้ทั่วไปเขาจะไม่ตำหนิ ไม่นินทา

    เราทำลงไปด้วยความรอบคอบ ด้วยสติ ด้วยปัญญา ไม่ใช่เราทำลงไปด้วยความโง่เง่าเต่าตุ่นของเรา เราได้พิจารณาแล้ว เราจึงทำลงไป ไม่ว่าทำอะไร พูดอะไรเราจึงไม่ตำหนิตัวของเราว่า ทำไมไปทำอย่างนั้น พูดไปแบบนั้นโดยขาดสติปัญญา ขาดการยับยั้ง ชั่งตวง การพินิจพิจารณา

    เราไม่ตำหนิตัวของเรา เพราะทำด้วยความรอบคอบของเรา ตัวของเราก็ไม่มีที่ตำหนิตัวของเรา คนอื่นเขาก็ไม่มีที่ตำหนิ เว้นแต่คนพาลเต็มที่ มันไม่ทราบอะไรดีชั่ว เหมือนกับหมา ไม่ว่าพระ ว่าเณร ว่าโจร ว่ามาร มันก็เห่าเรื่อยไป ไอ้ปากแบบั้น เราจะถือเป็นคตินิมิตไม่ได้ มันไม่พอใจอะไร มันก็เห่าเรื่อยไป ว่าเรื่อยไป

    แต่ความดีของเราที่สร้างมา กระทำมา เราทำมาในทางดี ตัวของเราก็ทราบว่า เราสร้างความดี คนอื่นที่เขามีจิตใจสูงเขาก็สรรเสริญในความดีที่เราสร้างมา ถึงเขาไม่สรรเสริญ ความดีมีอยู่ในใจ เขาจะว่าอะไรเราก็ไม่เจ็บแสบ เพราะความดีมันมีอยู่ ถ้าหากรอบคอบทางสติปัญญา

    เหมือนกันกับเขาว่าเราทุกข์ยากอดอยากอย่างนั้น อย่างนี้ ไม่มีอะไร แต่เราก็ทราบดีว่าบ้านช่องเรามี ข้าวของของเรามี เงินทองเรามี คนที่เขามาว่า เขาไม่รู้ เขาไม่เข้าใจ ว่าเรามีอะไร เขาก็ว่าไปตามเรื่องของเขา เราจะเป็นไปตามลมปากของเขา มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าหากเรามีสติปัญญาพอที่จะยับยั้งจิตนึกคิดไม่โกรธกับเขาได้

    นี่การพิจารณาเรื่องของกรรม คือกรรมเป็นของของตน กรรมเป็นผู้ให้ผล ให้ผลแก่เรามาทุกคน คนที่มีความสุขความสบาย มีหน้าตาสวยสดงดงาม ก็เพราะกรรมดีที่เขาสร้างเอาไว้ มีหน้าตาเป็นยักษ์เป็นมารไม่สวยสดงดงามอะไร ใครเห็นก็ไม่ปราถนา ก็เพราะเขาสร้างกรรมชั่วเอาไว้

    อดอยากยากจนก็เพราะเขาสร้างกรรมชั่วเอาไว้ เขาร่ำรวยก็เพราะเขาสร้างกรรมดีเอาไว้ ถึงมนุษย์เกิดมาจะไม่เหมือนเทวบุตรเทวดา ไม่ได้กินของทิพย์ ปราถนาอะไรไม่ไหลมา ไม่ต้องแสวงหาเพราะเป็นเทวดา อาศัยบุญกรรมที่ทำแต่เก่าก่อนส่งผลให้ก็ตาม เกิดมาเป็นมนุษย์ คนทุกคนก็ปราถนาอยากจะมีข้าวของเงินทอง

    อยากจะมีความสุขมีความเจริญด้วยกัน แต่อำนาจบุญกรรมของมนุษย์กับเทวดานั้นไม่เหมือนกัน ถึงเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วกรรมดีของเขาก็ส่งผลให้ คือร่างกายของเขาไม่ค่อยมีโรค มีภัยไข้เจ็บเบียดเบียน เรื่องด้านใจของเขาก็มีสติปัญญา สามารถที่จะทำการงาน แสวงหาข้าวของเงินทองได้ง่ายดาย สะดวกสบาย

    คนที่กรรมชั่วให้ผลล่ะ เกิดมาไร้ทรัพย์อับปัญญา ทรัพย์ไม่มี ปัญญาที่จะคิดจะอ่านก็ไม่มี เกียจคร้านจะทำอะไรก็ทำไม่เป็นทั้งนั้น ก็อดอยากยากจนจนกระทั่งวันตาย นี่คือกรรมชั่ว ตามให้ผลแก่ตัวเขา เราจึงควรเว้นกรรมชั่วให้ห่างไกล อย่าไปคิด ไปทำ ไปพูดในทางชั่วทางเสีย

    ถ้าหากเรารักษาตัวของตัวเราได้อย่างนั้น เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร ไปเกิดในสถานที่ใดก็มีความสุขในภพในชาตินั้น ๆ ตามสมควรที่กรรมจะให้ผล เรามีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด ไม่ใช่ว่าเราอยากเกิดที่ไหนก็เกิดได้สะดวกสบาย

    กรรมเท่านั้นจะแบ่งปันให้ไปเกิด เกิดในสถานที่ดี คติที่ชอบ ก็เพราะกรรมดีของเขา ส่งผลไปให้จึงไปเกิดได้ ไปเกิดในที่ชั่วไม่สะดวกสบายก็ทำนองเดียวกัน ฉะนั้น กรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรนำมาพินิจพิจารณาแนะสอนใจของเรา ไม่อย่างนั้นก็จะไม่เห็นเรื่องการทำ การพูด การคิดเป็นของสำคัญไม่เชื่อเรื่องของกรรม ทำไปแล้วไม่เห็นผลอะไรเกิดขึ้นให้

    โดยส่วนใหญ่ คนที่ไม่คิดถึงเรื่องของกรรมนี้ ไม่เชื่อเรื่องของกรรม ไม่เชื่อว่าตายแล้วจะได้เกิดอีก ตายแล้วสูญไป หรือเคยเกิดเป็นอย่างไรก็จะเกิดเป็นอย่างนั้น มันมีมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้ายังมีอยู่ ปัญหาอันนี้มันมีประจำสัตว์เป็นบางประเภท บางตัว หรือคนก็เป็นบางขณะที่มันเกิดขึ้น

    ความสงสัยลังเลของใจมันเกิดขึ้นแบบนั้น ถ้าเราคิดว่าตายไปแล้วสูญ ทำดีก็ไม่มีผลอะไร ทำชั่วก็ไม่มีผลอะไร ถ้าคนเชื่อมั่นลงไปอย่างนั้น ท่านเรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ คือ ปฏิเสธเรื่องทั่วไป ถ้าหากมันเป็นไปในใจอย่างนั้น โลกอันนี้จะไม่มีความสุขความเจริญ มันอยากทำอะไรก็ทำไป

    เพราะตายแล้วสูญ ก็ไม่มีการเกิด ถ้ามันคิดอย่างนั้น มันก็ฆ่าก็ฟันก็ทำไปทุกสิ่งทุกอย่างได้ไม่ละอายใครไม่กลัวเรื่องกรรม กลัวแต่กฏหมายเจ้านายจะจับกุมเท่านั้น ลับตามันทำไปได้ หรือเจ้านายจับกุม หรือเขาฆ่าตาย มันก็คิดว่า โลกหน้าไม่มี ตายแล้วสูญไป มันคิดอย่างนั้น

    มันจึงกล้าทำทุกสิ่งทุกอย่างเรื่อยไป หรือเชื่อมั่นว่า ตายเป็นอะไรก็ไปเกิดเป็นอันนั้น มันก็กล้าทำอีกเหมือนกัน ชั่วเสียขนาดไหนมันไม่เกรงใจ เพราะมันเชื่อมั่นในจิตในใจอย่างนั้น มันไม่เป็นไปตามความเชื่อของตัว

    ถ้ามันเป็นไปตามความเชื่อของตัว มันก็ไม่มีใครที่จะได้รับทุกข์โทษลำบากยากเย็น จะทำชั่วผลชั่วไม่ให้ผล ทำดีผลดีไม่ให้ผล อยากทำอะไรทำเรื่อยไป โลกแตก อยู่ในวัดในวา จะฆ่าจะแกงกันเมื่อไร จะทำอะไรก็ทำไป อยู่ในโลกก็ทำนองเดียวกัน ไม่เคารพเชื่อมั่นในอรรถในธรรม

    ถ้าทิฏฐิแรงกล้าลงไป แบบนั้น พระพุทธเจ้าท่านว่า เป็น มิจฉาทิฐิ เป็นโทษหนัก สำหรับคนที่เห็นแบบนั้น ไม่มีวันคืนที่จะสว่างไสว ที่จะประสบความสุขของใจ มีแต่ความมืดบอดเรื่อยไป พระพุทธเจ้าจะมาแนะสอนหมื่นองค์แสนองค์มันก็ไม่เข้าไปถึงจิตถึงใจของมัน ถ้าจิตใจมืดหนาขนาดนั้นแล้วพระพุทธเจ้าท่านตัดสะพาน ไม่แนะสอน

    นี่ใจของเราท่านเป็นอย่างไรก็พิจารณาเพื่อชำระใจของตัว ความจริงหนีความจริงไปไม่ได้ เรื่องจิตใจของพวกเราเอง ปัญหาของพวกเราเอง มันสั้น มันไม่มีญาณพอที่จะทราบชัดว่าอันนั้นเป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นอย่างนี้ จึงได้อาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้าผู้รู้แนะสอน ให้พิจารณาชำระกายชำระใจของตัว

    ถึงเราไม่เชื่อว่าไฟมันร้อน ใครเขาห้ามว่ามันร้อนนะ ไม่เชื่อไปจับเข้ามันก็ร้อน เป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น น้ำแข็ง มันเย็นนะ ไม่เชื่อ ไปจับเข้ามันก็เย็น เพราะธรรมชาติมันเย็น มันเย็นอยู่ เราไม่สมมุติว่ามันเย็น มันก็เย็น คนที่ไม่รู้ หรือคนรู้ มันก็ทำนองเดียวกัน ชั่ว ดี ก็ทำนองเดียวกัน

    คนทำไปจะไม่เชื่อหรือจะเชื่อก็ตาม ดีก็ยังเป็นดีอยู่ตลอดเวลา ชั่วยังเป็นชั่วอยู่ตลอดเวลา ไม่เป็นไปตามความไม่เชื่อหรือเชื่อของคน ของจริงเป็นของจริงอยู่อย่างนั้น นี่คือการพิจารณาเพื่อแก้ไขจิตใจของตัว เชื่อว่าพระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ ท่านมีพยานเด่นชัด แนะสอนสัตว์เพื่อทางดี สิ่งที่ชั่วที่เสียท่านตรัสห้ามไม่ให้ทำ ไม่ให้พูด ไม่ให้คิด

    ถ้าเราไม่เชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ถือว่าเราดีวิเศษ เราก็ไม่มีทางที่จะละชั่วบำเพ็ญดีได้ อยากจะทำอะไรก็ทำไปตามอำเภอใจ เชื่อว่าคนตายแล้วถ้าหากมันมาเกิดใหม่ มันก็มาพูดให้เราฟังว่า ชาติก่อนมันเกิดอยู่นั้น อยู่นี้ มันมีสมบัติข้าวของอย่างนั้นอย่างนี้

    คนเฒ่าจะต้องเกิดมาเป็นคนเฒ่า เด็กตายจะเกิดมาเป็นเด็ก นี่ใครตายที่ไหนก็ไม่เห็น ใครมาเล่าให้ฟัง แต่ก่อนคนนั้นเป็นคนนี้ ตายไปแล้วได้รับทุกข์โทษในนรก อย่างนั้นอย่างนี้ ได้ไปเสวยความดีในสวรรค์อย่างนั้นอย่างนี้ เพราะไม่มีคนเล่าให้ฟังเราจึงไม่เชื่อ มันอาจคิดปรุงไปแบบนั้น คนที่ไม่เชื่อมั่นในเรื่องของกรรม

    แต่คนเรา สัญญาอนิจจัง มันจำไม่ได้ทุกสิ่งทุกอย่างไปหรอก ทั้ง ๆ ที่เราทำอยู่ รู้อยู่ เห็นอยู่ แต่มันก็ลืม เรามานั่งอยู่นี้ หายใจอยู่ตลอดเวลา เราหายใจกี่ครั้ง ถามเท่านั้นมันก็ติด ทั้ง ๆ ที่เราหายใจอยู่

    วันนี้ได้พูดอะไรบ้าง ได้ไปที่ไหน คิดอะไร วานนี้ วานซืนนี้ เราได้พูดกับใคร ได้รับประทานอะไร เดือนก่อนนี้ วันที่เท่านั้นเท่านี้ มันก็หลง ทั้ง ๆ ที่เรายังไม่ตายนะ มันก็หลงอยู่อย่างนั้น ลืมอยู่อย่างนั้น เพราะสัญญาอนิจจัง

    นี่ชาติทั้งชาติ ที่ตายไป มาเกิดใหม่ จะให้มันเล่าอะไรให้ฟังได้ เพราะมันนานแสนนานผ่านมา มันจึงจำไม่ได้ แต่ความเวียนว่ายตายเกิด มันเวียนว่ายตายเกิด ผู้ที่มีญาณภายใน ผู้ที่มีใจผ่องใสท่านทราบ ภพชาติที่เคยเกิดเคยตายของท่าน เคยเกิดที่ไหน เคยตายอย่างไรด้วยโรคภัยอะไร ท่านทราบ

    ท่านจึงมาอนให้เรา ว่าการที่เกิดดีเกิดชั่วนั้น เป็นไปเพราะกรรมของตัวที่สร้างเอาไว้ ไม่ใช่เรื่องของใจปราถนาแล้วไปเกิดในสถานที่ดี คติที่งามได้ ถ้าหากไม่มีกรรมสนับสนุนแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ ท่านสอนท่านแนะให้พวกเราได้สดับรับฟัง ไม่ได้ใคร่คิดพิจารณาอย่างนั้น

    ฉะนั้น พวกเราท่านที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นผู้มีโชคลาภอันใหญ่หลวง สัตว์อื่นที่มันไม่มีอำนาจวาสนา เกิดมาไม่เคยได้ให้ทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา เข้าวัดเข้าวา ไหว้พระสวดมนต์เลยก็มี ไม่ว่าตั้งแต่สัตว์มนุษย์บางจำพวกมันก็มี

    พวกที่เป็นมิจฉาทิฐิ ไม่เลื่อมใสใจศรัทธาในทางพระพุทธศาสนา แล้วพวกเหล่านั้นเขาจะเป็นอย่างไร ก็กรรมที่เขาสร้างเอาไว้แบบไหน เขาก็จะต้องเป็นไปแบบนั้น

    นี่พวกเราท่านนับว่าโชคดี เกิดมาเป็นสัมมาทิฐิ บิดามารดาเคยแนะสอนในทางดี พระเจ้าพระสงฆ์มีก็แนะสอนให้เรายังเลื่อมใส กระทำบำเพ็ญตาม ทานเราก็เคยให้ ศีลเราก็เคยรักษา ภาวนาเราก็เคยกระทำบำเพ็ญ

    เมื่อเราทำตามโอวาท คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สะสมคุณงามความดีอยู่อย่างนี้ ยังจะไม่ได้ไปเกิดในสถานที่ดี คติที่งามแล้ว เขาเหล่านั้นที่ไม่ได้สร้างสมอบรมทาน ศีล ภาวนาอะไร เขาจะไปอย่างไร มันก็ยิ่งจะไปกันใหญ่ มืดบอดกันใหญ่

    แต่ที่คิดแบบนี้ ที่สอนแบบนี้ ก็เพราะเรื่องจะปรับปรุงใจของเรา เพราะจิตใจนั้น ในคราวที่ควรพยุงขึ้นมา เชิดชูขึ้นมา ก็ต้องพยุงขึ้นมา เชิดชูขึ้นมา เมื่อมันลืมเนื้อลืมตัว เราจะข่มขี่มัน ก็ข่มขี่รักษาจิตของตัว ด้วยสติปัญญา

    ดูบางกาลบางเวลา มันตำหนิตัวว่าชั่วว่าเสียอย่างนั้นอย่างนี้ เข้าวัดเข้าวา จำศีล ภาวนา ให้ทาน ก็ไม่มีอะไรดีวิเศษให้ ไม่เห็นอะไรจะเป็นความอัศจรรย์ในใจ มันอาจจะคิดไป บางทีทานเราก็ได้ให้ ศีลเราก็เคยรักษา ภาวนาก็เคยกระทำบำเพ็ญ

    เราดีเราเด่นแล้ว มันก็อาจคิดไป บางกาลบางสมัย มันอาจคิดไปอย่างนั้น ถ้ามันคิดไปว่าตัวดีตัวเด่น กิเลสตัณหาในจิตในใจมันตกไปหรือยัง คนที่ดีวิเศษยิ่งกว่าเราไม่มีหรือ หรือมีแต่เราคนเดียวเท่านั้น ดีวิเศษกว่าเขาในโลก ข่มขู่ให้รู้ตัว ไม่ให้ประมาท ให้กระทำบำเพ็ญคุณงามความดีเรื่อยไป จนให้ใจของตัวบริสุทธิ์

    ถ้าเราตำหนิตัวว่าเราชั่ว เราเสียอย่างนั้น ก็พยุงขึ้นมาเหมือนกันกับเขาทำถนน ที่ไหนต่ำเขาก็พูนขึ้นถมให้มันสูง ทีไหนมันสูงเขาก็ขุดลงให้มันต่ำพอรถเรือไปได้ ไม่อย่างนั้น มันก็ไม่สม่ำเสมอ ไปยาก มายาก เรื่องจิตใจของเราถึงเวลา ข่มขี่ก็ข่มขี่ เวลาพยุงมันก็พยุงมัน

    นี่คืออุบายที่พวกเราท่านจะนำมาสอนใจของตัว เมื่อมันต่ำก็พยุงมันขึ้นมา เมื่อมันสูงก็ข่มขี่มันลงไป เพื่อจะให้ใจมันสม่ำเสมอ

    เมื่อเราทุกท่านทุกคนพิจารณา เกิด แก่ เจ็บ ตาย และกรรมเป็นของของตนสม่ำเสมอไป ใจที่เคยติดข้องคิดปรุงต่าง ๆ จะไม่เลยขอบเขต ใจคนนั้นจะสุขจะสบาย ใจคนนั้นจะไม่วุ่นวายกังวล เพราะพิจารณาตามอรรถ ตามธรรมที่พระพุทธเจ้าแนะนำสั่งสอน

    ธรรมะเป็นเครื่องซักฟอกใจ ชำระใจให้ใสสะอาด ให้สุข ให้สงบ คนไม่มีธรรมะ ไม่ได้พิจารณาเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีแต่เพลิดเพลิน วุ่นวายไปตามกิเลสตัณหา คนนั้นไม่มีวันเวลาที่จะสงบสุขได้ มีแต่จะวุ่นวายอยู่เรื่อยไป

    ฉะนั้น พวกเราท่านทุกคนที่มาฝึกฝนอบรมภาวนา ชำระใจตัวเราในวันหนึ่ง ๆ คืนหนึ่ง ๆ ก็หมั่นพินิจพิจารณาชำระดูภายในอยู่สม่ำเสมอไป ว่ามันคิดอยู่ปัจจุบัน มันเป็นเรื่องที่นำความดี หรือความชั่วมาให้ มีสติรู้สึกการนึกคิดของตัว มีปัญญาแนะสอนตัว

    เมื่อคนใดหมั่นสอบสืบพินิจพิจารณารักษาใจของตัวอย่างนั้น สิ่งที่ชั่วหมั่นชำระสะสางออกไป สิ่งที่ดีกอบโกยกระทำบำเพ็ญเอาไว้ คนนั้นก็จะมีความสุขกายสุขใจ การอธิบายธรรมะเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติเพียงแค่นี้ เอวัง ฯ

    -----------------------------------------------------------

    คัดลอกจาก: ประวัติย่อ และพระธรรมเทศนาของ
    ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร
    วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล
    อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
    หน้า ๑๖๖ - ๑๘๘
    007325 - ���Ԩ�óҤ����Դ �� �� ��� - ��ҹ����Ҩ�����ԧ��ͧ �������
    -------------------------------------------------------------
    นำมาจาก

     
  2. อ_เอกวัฒน์

    อ_เอกวัฒน์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    279
    ค่าพลัง:
    +270
    ขออนุโมทนา ในธรรม แสงสว่างแห่งธรรมย่อมส่องสว่างไปมิมีประมาณ ขอแสงธรรมนั้นจงมีแด่ทุกท่านเทอญ
     

แชร์หน้านี้

Loading...