โทษของศีลวิบัติ

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 10 กันยายน 2009.

แท็ก: แก้ไข
  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า


    โทษ ๕ ประการของศีลวิบัติ

    [๗๙] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะอุบาสกทั้งหลาย ชาวบ้านปาฏลิคามว่า คหบดีทั้งหลาย โทษของศีลวิบัติของบุคคลทุศีล มี ๕ ประการ. ๕ ประการคืออะไรบ้าง? คือ

    ๑. คหบดีทั้งหลาย บุคคลทุศีล ผู้ปราศจากศีล ในโลกนี้ย่อมประสบความเสื่อมโภคะเป็นอันมาก เพราะมีความประมาทเป็นเหตุนี่เป็นโทษข้อที่ ๑ ของศีลวิบัติของบุคคลทุศีล.

    ๒. คหบดีทั้งหลาย และยัีงมีข้ออื่นอีก กิตติศัพท์อันชั่วของบุคคลทุศีล ผู้ปราศจากศีล ย่อมอื้อฉาวไป นี้เป็นโทษข้อที่ ๒ ของศีลวิบัติ ของบุคคลทุศีล.

    ๓. คหบดีทั้งหลาย และยังมีข้ออื่นอีก บุคคลทุศีล ผู้ปราศจากศีล เข้าสู่บริษัทใดๆ คือ ขัตติยบริษัทก็ดี พราหมณ์บริษัทก็ดี คหบดีบริษัทก็ดี สมณบริษัทก็ดี เป็นผู้ไม่องอาจ ขวยเขินเข้าไป นี้เป็นโทษข้อที่ ๓ ของศีลวิบัติของบุคคลทุศีล.

    ๔. คหบดีทั้งหลาย และยังมีข้ออื่นอีก บุคคลทุศีล ผู้ปราศจากศีล ย่อมเป็นคนหลงทำกาละ (ตาย) นี้เป็นโทษข้อ ๔ ของศีลวิบัติ ของบุคคลผู้ทุศีล.

    ๕. คหบดีทั้งหลาย และยังมีข้ออื่นอีก บุคคลทุศีล ผู้ปราศจากศีล ครั้นร่างกายแตกภายหลังมรณะ จะเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก นี้เป็นโทษข้อที่ ๕ ของศีลวิบัติของบุคคลทุศีล.

    คหบดีทั้งหลาย เหล่านี้แลคือโทษ ๕ ประการของบุคคลผู้ทุศีลผู้ปราศจากศีล.

    อานิสงส์ ๕ ประการของศีลสัมปทา

    [๘๐] คหบดีทั้งหลาย อานิสงส์ของความถึงพร้อมด้วยศีลของผู้มีศีลมี ๕ ประการ ๕ ประการคืออะไรบ้าง? คือ

    ๑. คหบดีทั้งหลายอานิสงส์ของความถึงพร้อมด้วยศีลของผู้มีศีล มี ๕ ประการ. ณ ประการมีอะไรบ้าง?

    ๑. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ในโลกนี้ได้ประสบโภคะกองใหญ่ เพราะมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑ ของความถึงพร้อมด้วยศีลของบุคคลผู้มีศีล.

    ๒. คหบดีทั้งหลาย และยังมีข้ออื่นอีก กิตติศัพท์อันดีงามของบุคคลผู้มีศีล ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมกระฉ่อนไป นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๒ ของความถึงพร้อมด้วยศีลของบุคคลผู้มีศีล

    ๓. คหบดีทั้งหลาย และยังมีข้ออื่นอีก บุคคลผู้มีศีล ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เข้าสู่บริษัทใดๆ คือ ขัตตยบริษัทก็ดี พราหมณ์บริษัทก็ดี คหบดีบริษัทก็ดี สมณบริษัทก็ดี ย่อมเป็นผู้องอาจไม่ขวยเขินเข้าไป นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๓ ของความถึงพร้อมด้วยศีลของบุคคลผู้มีศีล.

    ๔. คหบดีทั้งหลาย และยังมีข้ออื่นอีก บุคคลผู้มีศีล ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเป็นผู้ไม่หลงทำกาละ (ตาย) นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๔ ของความถึงพร้อมด้วยศีลของบุคคลผู้มีศีล

    ๕. คหบดีทั้งหลายและยังมีข้ออื่นอีก บุคคลผู้มีศีล ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ครั้นร่างกายแต่ภายหลังมรณะย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๕ ของความถึงพร้อมด้วยศีลของบุคคลผู้มีศีล.

    คหบดีทั้งหลาย เหล่านี้แลคืออานิสงส์ ๕ ประการของความถึงพร้อมด้วยศีลของบุคคลผู้มีศีล

    [๘๑] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังอุบาสกทั้งหลาย ชาวบ้านปาฏลิคามให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา จนราตรีผ่านไปมากแล้ว ทรงส่งเขากลับด้วยพระดำรัสว่า คหบดีทั้งหลาย ราตรีผ่านไปมากแล้วแล บัดนี้ ท่านทั้งหลายจงพิจารณาเห็นเป็นกาลสมควรเถิด. อุบาสกทั้งหลายชาวบ้านปาฏลิคามกราบทูลรับแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณแล้ว พากันกลับไป ครั้งนั้นแลเมื่ออุบาสกทั้งหลายชาวบ้านปาฏลิคามกลับไปแล้ว ไม่นาน พระผู้ีมีพระภาคเจ้าก็เสด็จเข้ายังห้องว่างที่ประทับ.


    อรรถกถาแปล
    ว่าด้วยโทษของการทุศีล


    คำว่า เรือนรับรองในบ้านปาฏลิคาม (ปาฏลิคาเม อาวสถาคารํ) ได้แก่ เรือนพักสำหรับคนจรมา. เขาว่าในปาฏลิคาม สหายของพระราชาสองพระองค์มากันเป็นนิจ พาครอบครัวจากบ้านมาพักเดือนหนึ่งบ้าง ครึ่งเดือนบ้าง มนุษย์เหล่านั้นถูกรบกวนเสมอจึงคิดว่า ในเวลาที่คนเหล่านั้นมา เขาจักมีที่อยู่ จึงสร้างศาลาใหญ่กลางพระนคร สร้างที่เก็บสิ่งของไว้ส่วนหนึ่ง สร้างที่อยู่อาศัยไว้ส่วนหนึ่งของศาลนั้น คนเหล่านั้นได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแล้ว ก็มองเห็นประโยชน์อย่างนี้ว่า แม้พวกเราก็พึงไปนำเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามา พระองค์เสด็จมาถึงสถานที่อยู่ของพวกเราด้วยพระองค์เองแล้ว วันนี้พวกเราจักอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ตรัสมงคลในที่พัก เพราะฉะนั้น จึงกล่าวกันอย่างนี้. คำว่า ไม่ยังอาคารรับรอง (เยนาวสถาคารํ) ความว่า ได้ยินว่าเขาเหล่านั้นไม่รู้พระทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย มีพระอัธยาศัยชอบป่า ยินดีในป่า จะทรงประสงค์หรือไม่ประสงค์ประทับอยู่ในบ้าน จึงไม่จัดแจงเรือนพัก คิดกันว่า บัดนี้พวกเรารู้พระทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าก่อนแล้ว จึงจะไปจัดแจง ดังนี้ จึงพากันไปยังเรือนพัก. คำว่า สพฺพสนฺถริตํ ได้แก่ ปูลาดไว้ทุกสิ่งทุกอย่าง.

    คำ่ว่า บุคคลทุศีล (ทุสฺสีโล) ได้แก่ผู้ไม่มีศีล. คำว่า ปราศจากศีล (สีลวิปนฺโน) ได้แก่มีศีลวิบัติ มีสังวรสสาย. คำว่า เพราะมีความประมาทเป็นเหตุ (ปมาทาธิกรณํ) ได้แก่ เพราะมีความประมาทเป็นเหตุ ก็พระสูตรนี้ใช้สำหรับคฤหัสถ์ แม้บรรพชิตก็ใช้ได้ จริงอยู่ คฤหัสถ์เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นศึกษาศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นกสิกรรม วณิชกรรม พลั้งเผลอไปด้วยการทำปาณาติบาตเป็นต้น ก็ไม่สามารถจะทำศิลปะนั้นๆ ให้สำเร็จตามกาลได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น รากฐานของเขาก็พินาศ และเมื่อเวลาคับแค้น ทำปาณาติบาตในเวลาไม่ถูกสั่งและทำอทินนาทาน ย่อมเสื่อมจากโภคะอย่างใหญ่ตามบทลงโทษ. ฝ่ายบรรพชิตทุศีลย่อมถึงความเสื่อมจากศีล จากพุทธวจนะ จากฌาน และจากอริยทรัพย์ ๗ เพราะความประมาทเป็นเหตุ. สำหรับคฤหัสถ์นั้นเกียรติศัพท์อันชั่วย่อมอื้อฉาวไปในท่ามกลางบริษัท ว่าคนโน้นเกิดในตระกูลโน้น ทุศีล มีบาป ธรรม สละทั้งโลกนี้โลกหน้า ไม่ถวายทานแม้เพียงสลากภัต. หรือสำหรับบรรพชิต เกียรติศัพท์อันชั่วก็ฟุ้งไปอย่างนี้ว่า ภิกษุชื่อโน้น ไม่สามารถรักษาศีลได้ ไม่สามารถจะเรียนพระพุทธพจน์ได้ เลี้ยงชีพด้วยอเนสนกรรม มีเวชชากรรมเป็นต้น ประกอบด้วยอคารวะ

    คำว่า เป็นผู้ไม่องอาจ (อวิสารโท) ความว่า สาหรับคฤหัสถ์มีความกลัวว่า คนบางพวกจักรู้เรื่องกรรมของเรา ดังนั้นก็จักข่มเราหรือจักแจ้งต่อราชสกุลในที่ประชุมคนจำนวนมากแน่แท้ จึงเข้าไปอย่างประหม่าคอตก หน้าคว่ำ นั่งเอาหัวแม่มือไถพื้น ถึงเป็นคนกล้าก็ไม่อาจพูดจาได้. ฝ่ายบรรพชิตมีความกลัวว่าภิกษุเป็นอันมากประชุมกัน บางรูปจักรู้กรรมของเราแน่ ดังนั้น จักห้ามอุโบสถบ้าง ปวารณาบ้างแก่เรา จักให้เราเคลื่อนจากเพศสมณะจึงระแวงเข้า (ประชุม) ถึงเป็นคนกล้าก็ไม่อาจพูด. ส่วนภิกษุบางรูป แม้ทุศีลก็เที่ยวไปประดุจผู้ไม่ทุศีล แม้ภิกษุนั้น ก็ย่อมเป็นผู้เก้อเขินโดยอัธยาศัยทีเดียว. ข้อว่า เป็นคนหลงกระทำกาละ (สมฺมุโฬฺห กาลํ กโรติ) ความว่า ก็เมื่อภิกษุผู้มีศีลนอนบนเตียงนอนตาย สถานที่ที่จะไปเกิดจากการยึดถึอกรรมคือทุศีลย่อมมาปรากฎ ภิกษุทุศีลนั้นลืมตาก็เห็นโลกนี้ หลับตาก็เห็นปรโลก อบาย ๕ ก็ปรากฎแก่ภิกษุทุศีลนั้น ภิกษุทุศีลนั้นก็เป็นประหนึ่งถูกหอก ๑๐๐ เล่มแทงที่ศีรษะ เธอจะร้องว่า ห้ามที ห้ามที มรณะไป ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สมฺมุโฬฺห กาลํ กโรติ หลงตาย ดังนี้ บทที่ ๕ ก็ง่ายเหมือนกัน เรื่องอานิสงส์ก็พึงทราบโดยปริยายตรงกันข้ามกับที่กล่าวไว้แล้ว.

    คำว่า ด้วยธรรมีกถาจนราตรีผ่านไปมากแล้ว (พหุเทว รัตฺตึ ธมฺมิยา กาถาย) ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้อิ่มเอิบแล้ว ให้เห็นแจ้งแล้ว ให้สมาทานแล้ว ให้อาจหาญแล้ว ให้เข้าถึงความสิ้นและความเสื่อมแล้ว ตลอดราตรีเป็นอันมาก แล้วทรงส่งไปด้วยธรรมิกถา ที่พ้นจากบาลีอย่างอื่น และด้วยกถาอนุโมทนาการถวายเรือนพัก ประหนึ่งทรงพาข้ามอากาศคงคา ประหนึ่งทรงคั้นผึ้งรวงใหญ่ขนาดโยชน์หนึ่งแล้วให้มหาชนดื่มน้ำผึ้งฉะนั้น. คำว่า ผ่านไปแล้ว (อภิกฺกนฺตา) ได้แก่ล่วงไปแล้ว สิ้นไปแล้ว. คำว่า สุญญาคาร (สุญญาคารํ) หมายความว่า ขึ้นชื่อว่าเรือนว่างที่แยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากไม่มี แต่ในที่นั้นนั่นเอง เหล่าชาวบ้านปาฏลิคามล้อมไว้ด้วยกำแพงคือม่านไว้ข้างหนึ่ง แล้วจัดเตียงไว้ด้วยประสงค์ว่า พระศาสดาจักทรงพักผ่อนในที่นี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสำเร็จสีหไสยาบนเตียงนั้น ด้วยมีพระพุทธประสงค์ว่า เรือนพักนี้ตถาคตใช้สอยแล้ว ด้วยอิริยาบถแม้ทั้ง ๔ กุศลนั้นจักมีผลมากแก่ชาวปาฏลิคามเหล่านั้น ดังนี้. ท่านหมายเอาเรือนพักนั้น จึงกล่าวว่า เสด็จเข้าห้องว่างที่ประทับ.


    พระไตรปิำฎกและอรรถกถาแปล
    สุตตันตปิฎก
    สุมังคลวิลาสินี
    อรรถกถาทีฆนิกาย มหาวรรค
    เรื่อง โทษ ๕ ประการของศีลวิบัติ
    หน้า ๒๔๔-๒๔๖
    หน้า ๓๔๘-๓๖๐
    ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

     

แชร์หน้านี้

Loading...