โดยมาก

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย รสมน, 3 ธันวาคม 2009.

  1. รสมน

    รสมน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    1,451
    ค่าพลัง:
    +2,047
    โดยมากความต้องการผล ทำให้หาวิธีผสม เพราะบางทีพอไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
    ก็ลองใช้อย่างโน้นกับอย่างนี้รวมกัน เผื่อจะมีสัมปชัญญะบริบูรณ์ขึ้น
    และสติจะได้ไม่หลงลืมและจดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใดได้นาน

    แต่นี่เป็นลักษณะของความต้องการหรือเปล่า ?
    ท่านที่ต้องการให้จิตจดจ่อที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ
    แต่ทางตาก็ระลึกไม่ได้ ระลึกไม่ถูก
    ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ปรกติธรรมดาก็ระลึกไม่ถูก
    เมื่อต้องการให้จิตจดจ่ออยู่ที่หนึ่งที่ใด ก็เลยพยายามผสมรวมกันหลายๆ ทาง
    ซึ่งก็เป็นเพราะความต้องการ จึงไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา

    ผู้มีปรกติเจริญสติปัฏฐานนั้น อบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แล้วละ แต่เมื่อยังไม่รู้ก็ไม่ละ
    การพยามยามจะทำให้จิตจดจ่อนั้น ละความต้องการหรือเปล่า
    และก็ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แล้วละด้วย

    อย่าบิดเบือนทำอย่างอื่นหรือผสมการปฏิบัติอื่นๆ เข้ามาอีก
    เพราะจะไม่ทำให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมขณะนี้
    ที่กำลังปรากฏตามปรกติตามความเป็นจริง

    ได้ยินเป็นปรกติ คิดนึก เป็นสุขเป็นทุกข์ตามปรกตินั้น ล้วนเป็นธรรมทั้งหมด
    ตราบใดที่สติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ ก็ไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    เพราะถึงพยายามทำอย่างอื่นผสมวิธีต่างๆ มากสักเท่าไร
    ปัญญาก็ไม่ได้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปรกติตามความเป็นจริง
    ฉะนั้น จะมีประโยชน์อะไรที่จะไปผสมวิธีต่างๆ ขึ้น
    ในเมื่อไม่ใช่ปัญญาที่ศึกษาพิจารณารู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมตามปรกติ
    ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ขอทราบว่า ขณะที่กำลังผสมวิธีปฏิบัติต่างๆ นั้น
    มีประโยชน์อะไรบ้าง เกิดความรู้อะไรขึ้นบ้าง

    โดยมากคนจะติดคำ เช่น เห็นกายในกาย ก็เลยงง ว่าเห็นอะไร กาย
    อะไร อย่างไร แต่ถ้ารู้ว่า ทุกคนมีตา หู จมูก ลิ้น กาย และกายที่จะรู้นั้น รู้
    เมื่อไร ก็จะทราบว่า ที่กายทั้งตัว ตั้งแต่ศรีษะตลอดถึงเท้า มีลักษณะแข็ง
    ซึ่งเมื่อกระทบสัมผัสตรงไหน ก็จะปรากฎเฉพาะตรงนั้น เพราะมีกายปสาทะ
    แต่ถ้าไม่มีกายปสาทรูป ก็ไม่สามารถรู้ลักษณะอ่อนหรือแข็งได้เลย
    เพราะฉะนั้น ถ้าแยกสภาพธรรมที่ปรากฏออกเป็น 6 รูป คือ โลกของ
    พระอริยเจ้า ซึ่งมีตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ ก าย ๑ ใจ ๑ จะเข้าใจได้
    ถูกต้องว่า รูปตั้งแต่ศรีษะตลอดถึงเท้านั้น ปรากฏเฉพาะหน้าตรงที่กระทบ
    สัมผัสเท่านั้นเกิดขึ้น กระทบปรากฏแล้วก็ดับไป นี่จึงจะเป็นเห็นกายใน
    กาย โดยไม่ต้องติดศัพท์ว่า กาย คำแรก หมายความว่าอะไร กาย คำหลัง
    หมายความถึงอะไร แต่ให้เข้าใจจริงๆ ว่า ชั่วขณะที่เห็นต่างกับขณะที่ได้ยิน
    ต่างกับขณะที่จิตลิ้มรส ต่างกับที่จิตกำลังกระทบแข็ง ซึ่งขณะนี้ทุกคนก็
    กำลังกระทบแข็ง เมื่อยังมีอัตตสัญญา ก็ยังมีตัวเราทั้งหมด มีนิ้วมือที่
    กำลังกระทบสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่แข็ง แต่เมื่อรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่ตัวเรา และสติ
    ระลึกตรงแข็งที่ปรากฏ เพราะมีกายปสาทรูป ขณะนั้นรู้ได้ว่ารูปแข็งต้อง
    เกิด ถ้ารูปแข็งไม่เกิดขึ้น ก็ไม่มีรูปแข็งปรากฏ และรูปแข็งที่เกิดขึ้น
    ปรากฏแล้วดับไป ฉะนั้น จึงไม่ใช่ตัวตน

    การรู้แจ้งแทงตลอดธรรมเป็นอย่างไร
    ขณะนี้ สภาพธรรมกำลังปรากฏ ก่อนที่จะรู้แจ้งแทงตลอดต้องรู้
    ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน ซึ่งต้องอาศัย
    การฟัง การศึกษา การพิจารณา จึงจะรู้ว่าสภาพธรรมมี 2 อย่าง คือ
    นามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ และ รูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เช่น เห็น
    เป็นสภาพรู้ สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สภาพรู้ เมื่อปัญญาประจักษ์แจ้ง
    ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร
    แล้ว ภายหลังปัญญาจึงประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม และ รู้แจ้ง
    แทงตลอดอริยสัจจธรรมได้
    เราใช้ภาษาคำพูดเพื่อเป็นสื่อให้เข้าใจความหมาย บางครั้งคำพูด
    หมายถึงสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งสามารถจะรู้ได้โดยตรง บางครั้งคำพูดก็แสดงถึง
    ความคิดนึก เราจะต้องศึกษา ให้รู้ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง
    แสดงพระสัทธรรมว่าอย่างไร ไม่เช่นนั้นเราก็ยังคงเป็นผู้ที่ไม่รู้ความจริงของ
    สิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวเราและรอบๆ ตัวเรา เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ย่อมไม่สามารถ
    กำจัดความผิด และความเลวร้ายต่างๆ ให้หมดสิ้นไปได้ และ เราจะไม่เป็น
    อิสระจากการถูกจองจำไว้ด้วยโลกธรรม ๘
    สภาพจิตขณะต่างๆ นั้นมีจริงๆ ไม่ใช่เพียงคิดว่ามี จิตเป็นสภาพ
    ธรรมซึ่งรู้ได้ว่ามีจริงๆ ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ เราสามารถที่จะรู้ลักษณะของจิตที่
    ดี และจิตที่ไม่ดีขณะที่จิตนั้นปรากฏ
    โลภะและโทสะ เกิดจากการเห็นทางตา ได้ยินทางหู และทางทวาร
    ต่างๆ ก่อนที่โลภะ และ โทสะ จะเกิดจากการเห็นได้นั้น จะต้องมีขณะที่
    เพียงแต่เห็นเท่านั้น ขณะนี้มีเห็นไหม เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่รู้ได้
    การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัส และ
    ความคิดนึกเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เพียงแต่คิดว่ามีเท่านั้น มีจิตขณะ
    ต่างๆ ซึ่งจะรู้ได้เมื่อปรากฏ
    พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดง ลักษณะสภาพธรรมที่มี
    จริงซึ่งสามารถรู้ได้ สภาพธรรมที่มีจริงนั้นต่างกับสมมติบัญญัติและมโนภาพ
    การเห็นเป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา การเห็นแตกต่างจากความคิด
    นึกเรื่องที่เห็น แตกต่างจากโลภะ การเห็นเป็นเพียงแต่เห็น การได้ยินเป็น
    สภาพธรรมที่รู้เสียงซึ่งปรากฏให้รู้ได้ทางหู การได้ยินแตกต่างจากความคิด
    นึกว่า เราได้ยินอะไร เช่น ได้ยินเสียงใคร หรือ เสียงสุนัขเห่า เสียงเป็น
    สภาพธรรมที่มีจริงซึ่งสามารถรู้ได้ทางหู แต่เสียงไม่รู้อะไร เสียงต่างจาก
    การได้ยิน การรู้รส รสซึ่งสามารถปรากฏให้รู้ได้ รสไม่รู้อะไร รสต่างจาก
    การรู้รส
    คนตาบอดไม่รู้ถึงสีสันวรรณะ แต่คนตาบอดสามารถสัมผัสอ่อน แข็งได้
    อย่างนี้ ถือว่ารู้สภาวะธรรมที่ปรากฏ ถูกต้องหรือไม่

    ทุกคนกระทบสัมผัสสิ่งที่แข็ง ถามใคร ๆ ก็บอกว่า แข็ง ถามเด็ก
    เด็กบอกว่าแข็ง แต่นั่นไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้น จะต้องเข้าใจอรรถของ
    สภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ ใช้คำว่า “ปัญญา”
    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจคำว่า “ปัญญาเจตสิก” ไม่ใช่ปัญญาทาง
    โลก ซึ่งเราสามารถจะศึกษาวิชาการทางโลก ซึ่งไม่ได้รู้ตัวจริงของธรรม
    เลย เป็นแต่เพียงความทรงจำ เรื่องราวของธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวด
    เร็ว แล้วก็ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นวิชาการสาขาใด ๆ ทั้งสิ้น
    เช่น วิชาการแพทย์ ก็จะมีการทรงจำในรูปร่าง สัณฐานของรูปธรรม สีสัน
    วรรณะที่ต่างกัน บัญญัติว่าเป็น หัวใจ ตับ ปอด ม้าม เป็นต้น แต่ลักษณะ
    แท้ ๆ สิ่งนั้นปรากฏเมื่อไร ถ้ามีจักขุปสาท สีสันวรรณะเท่านั้นปรากฏ ถ้า
    กระทบสัมผัส เย็น หรือ ร้อน อ่อน หรือ แข็ง ตึง หรือ ไหว เท่านั้นปรากฏ
    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมจริง ๆ ปรากฏ เมื่อจิตเกิดขึ้น รู้สิ่งนั้น ทีละ
    อย่าง ๆ รวดเร็ว เพราะว่า จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ จะเกิดในคนหนึ่งซ้อน
    กัน ๑๐ ขณะ หรือ ๑๐ ประเภท หลาย ๆ ดวงนั้นไม่ได้ แต่ว่าคนหนึ่ง ๆ จะ
    มีธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางตา ทางหู
    ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้แต่ทางใจซึ่งคิดนึก ก็ต้องคิดทีละคำ
    เพราะฉะนั้น จิตของแต่ละคนก็จะมีทีละหนึ่งขณะ ซึ่งจิตเป็นสภาพ
    ที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เท่านั้นเอง
    จิตไม่จำ จิตไม่สุข จิตไม่ทุกข์ ความสุข ความทุกข์ต่าง ๆ ที่เกิดจากการ
    เห็น การได้ยิน เป็นลักษณะของเจตสิก ซึ่งโดยศัพท์หมายถึง สภาพธรรม
    ที่เกิดกับจิต รู้อารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้ อย่างเดียวกับจิต คือ จิตรู้
    อารมณ์อะไร เจตสิกก็รู้อารมณ์นั้น ส่วนเรื่องราวทางโลกที่บอกว่า คนนั้นมี
    ปัญญา ก็เป็นแต่เพียงทรงจำเรื่องราวโดยไม่รู้สภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น วิชาการทางโลก ซึ่งมีผู้ที่มีความสามารถต่าง ๆ ขณะ
    นั้นไม่ใช่ปัญญาเจตสิก ถ้าเป็นปัญญาเจตสิก คือ รู้ความจริงของสภาพ
    ธรรมที่มีจริง ๆ อย่างถูกต้องตามลำดับขั้น จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิหรือปัญญา
    เจตสิก
    ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรมหรือผู้ที่ไม่จบป. ๖
    ก็ไม่มีสิทธิที่จะเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้อง จริงหรือ

    มีผู้สงสัยเหมือนกันว่า วิสาขามิคารมารดา ซึ่งท่านเป็นพระโสดาบัน
    ท่านอนาถบิณฑิกะ หมอชีวกโกมารภัต ท่านเหล่านี้ รู้แจ้งอริยสัจจธรรม
    ท่านรู้เรื่องจิต ๘๙ ดวง หรือเปล่า
    นี่เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ท่านไม่ได้รู้ชื่อ แต่ปัญญา
    สามารถที่จะรู้ ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ
    ภาษาไทยใช้คำว่า จิต ทุกคนเหมือนกับเข้าใจว่ามีจิต แต่ถ้าถามว่า
    ขณะนี้จิตอยู่ที่ไหน ตอบได้ไหม เมื่อมีแล้วอยู่ที่ไหน ก็ตอบไม่ได้ ถ้า
    ไม่ได้ศึกษา แต่ถ้าศึกษาแล้ว จะเห็นความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น มีความเข้า
    ใจสิ่งที่ได้ฟัง แม้ไม่มาก แต่สามารถที่จะเข้าใจได้มาก เพราะฉะนั้น
    จึงมีผู้ที่ฟังน้อย แต่เข้าใจมาก และเมื่อมีความเข้าใจมากในสิ่งที่ได้ฟังแม้
    เล็กน้อย เวลาที่ได้ฟังมากขึ้น ความเข้าใจก็ยิ่งมากขึ้นด้วย
    เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจว่า การฟังนี้เป็นปัจจัยให้มี
    การพิจารณาสิ่งที่เข้าใจ ถ้าพิจารณาโดยความถูกต้อง ก็เข้าใจสิ่งนั้น นั่น
    คือ ปัญญาที่เข้าใจ ไม่ใช่เรา ความเข้าใจเกิดขึ้นในขณะที่ฟังเข้าใจแล้ว
    ก็ดับไป แล้วก็ขณะอื่นปัญญาจะเกิด หรือไม่เกิด หรือว่าจะเป็นปัญญา
    ระดับไหน เพราะว่าปัญญาก็มีหลายระดับ ก็ต้องขึ้นกับเหตุปัจจัย แต่
    ไม่ใช่หมายความว่า พระพุทธศาสนาจะต้องจำกัดสำหรับผู้ที่เรียนเรื่องจิต
    ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ โดยละเอียด แต่ว่าขณะเพียงฟัง ใครก็ตามที่
    ไม่รู้ถึงจิต ๘๙ แต่ขณะนี้สามารถจะเข้าใจสภาพของจิตว่า เป็นธาตุชนิด
    หนึ่ง มีจริง ๆ เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่รูปธรรม เป็นใหญ่ เป็นประธานในการจะรู้
    สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ คือ กำลังเห็นทางตา นี่เป็นลักษณะของธาตุ
    ชนิดหนึ่ง ซึ่งเห็นอย่างเดียว จะทำอย่างอื่นไม่ได้เลย ถ้าเกิดอีก เห็นอีก
    ก็คือ ธาตุนี้แหละ ธาตุที่เห็นก็เห็น ธาตุที่ได้ยินก็ได้ยิน ธาตุที่คิดนึกก็
    ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน แต่คิดนึก
    เพราะฉะนั้น ในพระไตรปิฎก นอกจากจะใช้คำว่า ธรรม ยังใช้คำ
    ว่า ธาตุทั้งหมด เช่น โลภธาตุ โทสธาตุ โมหธาตุ ทุกอย่างหมด ใช้คำว่า
    ธาตุก็ได้ ธรรมก็ได้
    ถ้าฟังเข้าใจอย่างนี้ แล้วเวลาที่ฟังต่อ ๆ ไป ก็สามารถที่จะเข้าใจ
    อรรถ คือสภาพธรรมที่เป็นจิตประเภทต่าง ๆ เพราะว่าถ้าพูดถึงโลภะ ไม่จำ
    เป็นที่จะต้องเป็นจำนวนก็ได้ แต่ถ้าเข้าใจว่า โลภะ คือ สภาพที่ติดข้อง
    บางครั้ง ก็มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย บางครั้ง ก็ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วม
    ด้วย เพราะว่า บางครั้งที่มีความเห็นผิด ความเห็นผิดนั้นต้องเกิดกับจิตที่
    เกิดร่วมกับโลภะ จึงติดข้องในความเห็นผิดนั้น ๆ
    นี่เป็นเรื่องที่จะเข้าใจสภาพธรรมไปเรื่อย ๆ ทีละเล็ก ทีละน้อย และ
    สามารถที่จะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมได้ โดยที่ว่า ไม่ต้องเป็น
    เรื่องของชื่อ
    เอาบุญมาฝากได้เจริญวิปัสสนา ถวายสังฆทาน ให้ธรรมะเป็นทาน ที่ผ่านมาได้นำพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุที่เจดีย์ และร่วมบรรจุ
    หัวใจพระนอนด้วย และได้อนุโมทนากับเด็กในโรงเรียน
    ประมาณ 1000 คนที่สวดมนต์ตอนเช้า และได้อนุโมทนากับนิสินนักเรียนนักศึกษาที่ได้มาร่วมถวายสังฆทานจำนวนหลายร้อยท่าน
    และเมื่อวานนี้ได้ฟังธรรมก่อนนอน และวันนี้ได้สวดมนต์
    และถวายข้าวพระพุทธรูป สักการะพระบรมสารีริกธาตุ
    และกำหนดอิริยาบทย่อย และตั้งใจที่จะสวดมนต์ นั่งสมาธิ
    เดินจงกรม กำหนดอิริยาบทย่อย ขอให้อนุโมทนาบุญด้วย
     

แชร์หน้านี้

Loading...