แห่จองพารา พลังศรัทธาชาวไต

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 12 ตุลาคม 2009.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    แม่ฮ่องสอน มีมากกว่าทิวทัศน์อันสวยงามของภูเขา สายหมอก และทุ่งบัวตองดอยแม่อูคอ เมืองบนเขาแห่งนี้ขึ้นชื่อว่า เป็นดินแดนที่งดงามด้วยวัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ที่ผูกพันกับวิถีเกษตรกรรมและความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางชมวัฒนธรรมงานบุญต่างๆ ของชาวบ้านที่มีตลอดทั้งปี
    สำหรับในช่วงวันออกพรรษา ที่นี่มีงานประเพณีออกพรรษา หรืองาน "ปอยเหลินสิบเอ็ด" ที่ชาวไตเรียก ตามความเชื่อที่ว่าในวันนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จกลับลงมาสู่โลกมนุษย์จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเสด็จไปเทศนาโปรดพระมารดา และก่อนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 หรือวันออกพรรษา ชาวไตจะสร้าง "จองพารา" หรือปราสาท โดยนำไม้ไผ่มาขึ้นเป็นโครงรูปปราสาท บุด้วยกระดาษสา 5 สี เจาะเป็นช่องลวดลายสวยงาม เตรียมไว้รับเสด็จพระพุทธองค์จากสรวงสวรรค์ ซึ่งเราจะนำท่านผู้อ่านไปตื่นตาตื่นใจกับสีสันของวิถีวัฒนธรรมที่แตกต่างนับตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป
    เส้นทางการเรียนรู้วัฒนธรรมไตของเราเริ่มต้นที่บ้านเมืองปอน ต.เมืองปอน อ.ขุนยวม แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นหมู่บ้านคนไตที่ยังคงเอกลักษณ์ มีวิถีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย สืบสานประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์อย่างจองพารา ณ วัดเมืองปอน ครูกัลยา ไชยรัตน์ ครูสอนหนังสือที่โรงเรียนชุมชนบ้านเมืองปอน และประธานกลุ่มโฮมสเตย์บ้านเมืองปอน เล่าถึงประเพณีจองพาราที่ผูกพันกับวิถีวัฒนธรรมของชาวไตอย่างแยกไม่ออกด้วยรอยยิ้ม
    " "จอง" แปลว่า ปราสาท "พารา" แปลว่า พระพุทธเจ้า ชาวไตจะสร้างจองพารา เพื่อตั้งบูชาในตอนหัวค่ำของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 และทำพิธีอัญเชิญรับเสด็จตอนเช้ามืดของวันออกพรรษา ชาวบ้านจะนำข้าวสวย ขนม ผลไม้ ใส่ในก๊อกซอมต่อ (กระทงใบตอง) วางไว้ในจองพารา จุดธูปเทียนบูชาอัญเชิญพระพุทธองค์เสด็จมาประทับเพื่อเป็นสิริมงคล ตั้งบูชาไปจนครบ 7 วัน ชาวไตเชื่อว่าครอบครัวจะร่มเย็นเป็นสุข ได้บุญ ปีต่อไปก็จะทำขึ้นใหม่"
    เพียงออกจากวัดมาเดินเล่นเที่ยวชมหมู่บ้านชาวไต ที่สภาพบ้านเรือนเป็นบ้านเรือนแบบไทยใหญ่ดั้งเดิม จะเห็นภาพชาวไตพากันทำนั่งร้านตั้งบูชาจองพารารับเสด็จพระพุทธองค์ทุกบ้านเรือน เด็กๆ ช่วยกันแขวนเครื่องห้อยจำพวกผลไม้ ขนม ที่หาตามท้องถิ่นได้ง่าย ราคาไม่แพง ส่วนตัวจองพารานั้นชาวบ้านนิยมว่าจ้างสล่าท้องถิ่นที่มีฝีมือทำให้ การสัญจรไปคราวนี้เราได้ไปดูการทำจองพาราที่มีความสวยงามวิจิตรของ ตาแหลงคำ คงมณี ขณะนี้อายุ 76 ปี ภายในบ้านมีจองพาราขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง ซึ่งตาแหลงคำกำลังขะมักเขม้นทำจองพารา ตกแต่งส่วนฐานปราสาทและส่วนยอดด้วยกระดาษสีฉลุเป็นลวดลายเครือเถาของไต ลายดอกไม้แบบดั้งเดิม รวมถึงลวดลายพม่าด้วยความชำนาญ โชคยังดีของชาวไตบ้านเมืองปอน ที่ตาแหลงคำได้ถ่ายทอดกระบวนยุทธ์การทำจองพาราไว้ให้เด็กนักเรียนในชุมชนไม่น้อย
    ใครไปที่โรงเรียนชุมชนบ้านเมืองปอน จะได้เห็นนักเรียนเรียนวิชาฉลุลายจองพารา วิชาก๊อกซอมต่อ หรือการประดิษฐ์กระทง ซึ่งงานใบตองอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของชาวไต ไม่เฉพาะในงานบุญเท่านั้น อย่างก๊อกซอมต่อตี๋นจ้างใช้บูชาพระพุทธเจ้า ถ้าห้ากลีบใช้ใส่อาหารบูชาเทพ ส่วนก๊อกซอมต่อเขี้ยวหมาใช้บูชาเจ้าที่ รวมทั้งจะได้ยินเสียงขับขานบทเพลงไต เสียงดนตรีบรรเลงเพลงพื้นบ้านไปทั่ว เพราะที่นี่มีหลักสูตรท้องถิ่นหรือศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมไตของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแม่ฮ่องสอน
    นักเรียนได้เรียนวิชาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นจากคุณครูและผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนอย่างน่าชื่นใจ มีการรื้อฟื้นภาษาไตให้เด็ก สมกับเป็นดินแดนของคนไตที่ร่ำรวยทางวัฒนธรรม ที่บ้านเมืองปอนยังมีการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ที่ชาวบ้านและชุมชนเป็นผู้กำหนดทิศทางเอง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมาพักผ่อนและเพลิดเพลินกับการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนหลายรูปแบบด้วย เที่ยวชมวัดในสไตล์ไทยใหญ่ สัมผัสวิถีชีวิตที่อยู่กับท้องทุ่ง ลองใช้ชีวิตแบบชาวบ้านดูบ้างก็สนุกแล้ว ที่นี่มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาพักมาไม่ขาดสาย
    เช้าวันรุ่งขึ้นเราอำลาจากเมืองปอนสัญจรเข้าไปสู่ตัวอำเภอแม่ฮ่องสอน เพื่อไปชมการประดิษฐ์จองพาราที่บ้านทุ่งกองมู ช่างหลายคนกำลังรังสรรค์จองพารางานศิลปกรรมของชาวไตเพื่อไปร่วมขบวนแห่งานประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด แค่สีสัน ลวดลายที่ฉลุแต่ละจองพาราก็วิจิตรตระการตาชวนให้หลงใหล นี่ยังไม่พูดถึงจองพาราที่มีขนาดใหญ่ ชาวไตที่นี่ก็ให้ความสำคัญกับการทำจองพารามากเช่นกัน แต่จะทำใหญ่และสูงกว่าตามท้องถิ่น ด้วยมีการส่งเสริมการท่องเที่ยว มีงานแห่จองพารา มีการประกวดประชันกัน จนกลายเป็นประเพณีอันยิ่งใหญ่ของแม่ฮ่องสอน ที่นอกจากสะท้อนความศรัทธาแรงกล้าของชาวไตแล้ว ยังทำรายได้ให้อย่างมหาศาล
    ใกล้ค่ำคืนวันออกพรรษา เราไปเฝ้ารอชมขบวนแห่จองพาราที่กำลังจะเริ่มขึ้น โดยมีนักเรียน นักศึกษา รำกิ่งกะล่า หรือรำนกยูง นำขบวนกันอย่างรื่นเริง แสดงความยินดีที่พระพุทธองค์เสด็จลงมา ตามด้วยขบวนแห่จองพาราจากบ้าน วัด และหน่วยงานต่างๆ ที่ส่งเข้าร่วมงาน แสงประทีปและแสงไฟเรืองรองจากปราสาทพระที่จุดถวายเป็นพุทธบูชาเลื่อนไหลไปเป็นสาย ท้องถนนในเมืองสว่างไสวตระการตา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากภูมิปัญญาและศรัทธาของชาวไต ดูงดงามยิ่งนัก นับเป็นเทศกาลแห่งสีสันวันออกพรรษาที่หาดูได้ที่เดียวในเมืองไทย
    เช้าตรู่วันออกพรรษา เราร่วมตักบาตรเทโวกับชาวบ้านนับพัน ที่สวมใส่ชุดพื้นเมืองยืนเรียงรายตามขั้นบันไดสองข้างทางที่คดเคี้ยว ทำบุญตักบาตรถวายแด่พระภิกษุสงฆ์สามเณรกว่า 100 รูป ที่เดินลงตามขั้นบันได จากวัดพระธาตุดอยกองมูมายังวัดม่วยต่อที่เชิงเขาในยามเช้า มาเห็นกับตา ประจักษ์ด้วยใจ รับรู้ถึงความผูกพันระหว่างศาสนากับวัฒนธรรมชุมชน สอดคล้องกับความเชื่อที่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมายังโลกมนุษย์ ช่างเป็นภาพที่สวยงาม ไม่มีการเสริมแต่งแต่อย่างใด
    ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ เรายังมีเวลาไปเยี่ยมชมวัดต่างๆ ในตัวเมือง ซึ่งคุ้มค่าแก่การเยี่ยมชม เพราะเป็นงานสถาปัตยกรรมไทยใหญ่ที่มีความประณีต งดงามน่าชมเหลือเกิน อย่างวัดถ้ำก่อ, วัดพระนอน, วัดม่วยต่อ, วัดหัวเวียง, วัดจองกาง, วัดจองคำ ฯลฯ ไม่แปลกใจถ้าใครมาแม่ฮ่องสอนได้สัมผัสเสน่ห์วัฒนธรรมไตแล้วจะหลงใหล และพร้อมจะเป็นคนเชิญชวนให้ใครๆ มาร่วมรับรู้ถึงภูมิปัญญาล้ำค่า และศรัทธาสูงส่งในเมืองเล็กๆ ในอ้อมกอดของขุนเขาแห่งนี้.

    แห่จองพารา พลังศรัทธาชาวไต | ไทยโพสต์
     
  2. ขันติธรรม

    ขันติธรรม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 มกราคม 2009
    โพสต์:
    545
    ค่าพลัง:
    +373
    แห่จองพารา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2552 ที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
    [​IMG]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 02100903.jpg
      02100903.jpg
      ขนาดไฟล์:
      102.3 KB
      เปิดดู:
      398
    • 02100901.jpg
      02100901.jpg
      ขนาดไฟล์:
      81 KB
      เปิดดู:
      131
    • 02100902.jpg
      02100902.jpg
      ขนาดไฟล์:
      132.1 KB
      เปิดดู:
      123

แชร์หน้านี้

Loading...