แนวทางและวิธีปฏิบัติเพื่อให้บรรลุ อริยมรรค อริยผล : หลวงปู่เจือ สุภโร

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 12 มีนาคม 2010.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    คัดลอกบางส่วน จากหนังสือ แนวทางและวิธีปฏิบัติเพื่อให้บรรลุ อริยมรรค อริยผล หลวงปู่ เจือ สุภโร


    ถ้าเราดูตามตำราในพระสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว และที่ท่านแปลไว้แล้วนั้น ดูแล้วเข้าใจยาก รู้สึกว่าไม่น่าจะทำตามได้ ไม่ชวนให้ทำตาม ดูแล้วไม่อยากจะทำตาม ทั้งนี้เพราะเราไม่เข้าใจ ถ้าเราเข้าใจแล้ว ก็รู้สึกว่าเป็นของน่าทำตามทำให้เกิดความยินดีที่จะทำตาม

    คำว่าสติ ปัฏฐาน ก็แปลว่าความตั้งทั่วแห่งสติ หรือ สติตั้งทั่ว สติปัฏฐาน 4 ก็แปลว่า สติตั้งทั่วที่ 4 อย่าง คือที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม
    สติตั้งอยู่ที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรมด้วย เมื่อสติสัมปชัญญะก็ตั้งอยู่ที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรมด้วย เมื่อสติสัมปชัญญะ ตั้งอยู่ที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม นิ่งอยู่คงที่อยู่ อาตาปีก็เกิดขึ้นได้เพราะสติสัมปชัญญะตั้งนิ่งคงที่ อยู่ที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม เมื่อสติสัมปชัญญะตั้งอยู่ที่กายเมื่อใด ก็เป็นอันตั้งอยู่ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรมด้วย เพราะเวทนา จิตธรรมก็อยู่ที่กายนี้ สติสัมปชัญญะตั้งอยู่ที่กายเมื่อใดก็เป็นอันตั้งอยู่ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรมด้วยเมื่อนั้น ถ้ายังไม่หยุดไม่นิ่ง อาตาปีก็ยังไม่เกิด ชื่อว่าสติปัฏฐาน 4 ยังไม่เกิด
    ครั้งสติสัมปชัญญะตั้งอยู่ที่กายหยุดนิ่งเมื่อใด อาตาปีก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น เมื่ออาตาปีเกิดขึ้นเมื่อใดก็เป็นสติปัฏฐาน 4 เกิดขึ้นเมื่อนั้น เป็นสติปัฏฐาน 4 โพธิปักขิยธรรมเกิดขึ้น

    ถ้าอาตาปียังไม่เกิดขึ้น แม้สติจะเกิดขึ้นตั้งอยู่ที่กายแต่ยังไม่นิ่งสนิทก็ชื่อว่า สติปัฏฐานเหมือนกัน เพราะว่ามันตั้งอยู่ที่ กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม เหมือนกัน แต่ยังไม่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้อริยสัจธรรมทั้ง 4 จึงไม่ชื่อว่าเป็นสติปัฏฐานโพธิปักขิยธรรม ครั้งสติหยุดนิ่งเมื่อใด สัมปชัญญะก็หยุดนิ่ง อาตาปีก็เกิดขึ้น
    อาตาปีแปลตามพยัญชนะว่า มีความร้อน มีความเร่าร้อน หมายถึงกิเลสเร่าร้อน กิเลสที่มีอยู่ในจิตในใจต้องเหือดแห้งไป กิเลสใดที่ยังไม่เกิดก็เกิดไม่ได้ ที่เกิดขึ้นแล้วก็เหือดแห้งไป

    เมื่อกิเลสเหือดแห้งไปอย่างนี้ กุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญมากขึ้น (อาตาปีก็คือ สัมมัปทาน 4 นั่นเอง) เมื่อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญขึ้น ความยินดีความพอใจก็เกิดขึ้น นั่นคือ อธิบาท 4 เกิดขึ้นนั่นเอง อินทรีย์ 5 พละ 5 และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 ก็เกิดขึ้นพร้อม

    สติสัมปชัญญะจะหยุดนิ่งคงที่เป็นสติปัฏฐาน 4 ได้ก็เพราะสัมมาสมาธิเกิดขึ้น สัมมาสมาธิก็คือ ความรู้ของจิตหยุดนิ่งเป็นสมาธิจนนิวรณ์ 5 ดับสนิท เพราะความรู้ของจิตหยุดนิ่งคงที่เป็นสมาธิ สติสัมปชัญญะที่หยุดนิ่งนั้น จึงเป็นสติปัฏฐาน 4 เกิดขึ้น

    เพราะสติปัฏฐาน 4 ต้องประกอบด้วย สติ 1 สัมปชัญญะ 1 อาตาปี1 ทั้งสามอย่างนี้ตั้งอยู่ที่ กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม

    จึงชื่อว่าสติปัฏฐาน 4 จึงมีหลัดเกณฑ์เครื่องกำหนด 2 ประการ คือ

    1. ต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ มีอาตาปี
    2. สติ สัมปชัญญะ อาตาปี จะต้องหยุดนิ่ง ตั้งอยู่คงที่ อยู่ที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม
    จึงเป็นสติปัฏฐาน 4 ได้ ดังนี้

    ดังที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า สติปัฏฐาน 4 จะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกับสัมมาสมาธิและอาตาปี คือ สัมมัปทาน 4 เพราะเหตุนั้นเมื่อสติปัฏฐาน 4 เกิดขึ้นเมื่อใด ก็โยงเอาโพธิปักขิยธรรมอีก 5 หมวดอันมีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 เป็นที่สุด ให้เกิดขึ้นพร้อมกับสติปัฏฐาน 4 ทั้ง 5 หมวด เว้นแต่โพชฌงค์ 7 เพียงหมวดเดียว ที่แม้จะเกิดขึ้นพร้อมกับสติปัฏฐาน 4 ก็จริง แต่เมื่อวิปัสสนายังไม่เกิดก็ทำหน้าที่เป็นโพชฌงค์ยังไม่ได้ ครั้งเมื่อวิปัสสนาเกิดแล้ว จึงทำหน้าที่เป็นโพชฌงค์ได้ คือเป็นส่วนช่วยให้อริยมรรคสมังคีเกิดขึ้น เพราะเหตุนั้นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สติปัฏฐาน 4 เป็นเหตุแห่ง โพชฌงค์ 7 นั้น
    คำว่า สติปัฏฐาน 4 จึงหมายความรวมถึง โพธิปักขิยธรรม ทั้ง 6 หมวด คือสติปัฏฐาน 4 สัมมัปปทาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 อริยมรรคมีองค์ 8 รวมทั้ง 6 หมวดนี้แหละ ว่าเป็นเหตุแห่งโพชฌงค์ 7แม้พุทธพจน์ว่า สุจริต 3 เป็นเหตุแห่งสติปัฏฐาน 4 นั่นก็เหมือนกัน คือเท่ากับมีความหมายว่า สุจริต 3 เป็นเหตุแห่งโพธิปักขิยธรรม 6 หมวด มีสติปัฏฐาน 4 เป็นต้น และเหตุแห่งสุจริต 3 คือ อินทรียสังวร ดังสรุปได้ดังนี้

    อินทรียสังวร เป็นเหตุแห่ง สุจริต 3
    สุจริต 3 เป็นเหตุแห่ง สติปัฏฐาน 4
    สติปัฏฐาน 4 เป็นเหตุแห่ง โพชฌงค์ 7

    โดยที่ อินทรียสังวร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ในพระสูตรนี้ว่ามีกายคงที่ มีใจคงที่ คือ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องเย็นร้อนอ่อนแข็งเป็นต้น ใจรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็มีกายคงที่มีใจคงที่ พระองค์แสดงว่ามีกายคงที่ มีใจคงที่ นี่เป็นอินทรียสังวร

    ข้อนี้ฟังแล้วก็เป็นปัญหาอยู่ ทำอย่างไรจึงจะทำให้อินทรียสังวรเกิดขึ้นได้ การที่จะทำอย่างไรจึงจะเป็นอินทรียสังวร คือมีกายคงที่มีใจคงที่เกิดได้นั้น ไม่ต้องคิด ไม่ต้องค้น ไม่ต้องหาอะไร ตั้งใจทำกายคงที่ไว้เนืองๆแล้วจะรู้เองว่า การเจริญอินทรียสังวร คือทำอย่างไรเพราะว่า เราจะคิดค้นหาอุบายวิธีอย่างไรเราก็หาไม่ได้ แต่ถ้าเราตั้งใจทำกายคงที่ใจคงที่ เมื่อเวลาตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกรู้กลิ่น ลิ้นรู้รส กายถูกต้องโผฏฐัพพะ ใจรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ อยู่เนืองๆไม่นานเท่าไร เพียงไม่ก็วัน ก็จะรู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราชอบใจ ที่เราพอใจมากๆ หรือไม่พอใจอย่างมากๆ เมื่อเราตั้งใจทำกายคงที่ทำใจคงที่ อยู่เพียงไม่นานภายหลังเราไปพบสิ่งที่เราพอใจมากๆ หรือไม่พอใจมากๆความพอใจมากๆหรือไม่พอใจมากๆนั้น มันจะหายไป มันจะจืดจางไป เมื่อมันจืดจางไปอย่างนี้ เราจะรู้สึกสบาย เพราะความพอใจมากมันก็ทำให้จิตใจไม่สบาย หวั่นไหวไปตามความพอใจนั้น ความไม่พอใจมากๆมันก็ยิ่งเป็นทุกข์มาก ความพอใจมากก็เป็นทุกข์ ความไม่พอใจมากก็เป็นทุกข์ มันเห็นแล้วเฉยๆมันธรรมดาๆอย่างนั้น มันค่อยสบาย เมื่อเราตั้งใจทำกายคงที่ ทำใจคงที่เนืองๆ ไม่นานเท่าไร เราจะรู้สึกว่าค่อยสบายขึ้นจิตใจของเราจะไม่หงุดหงิด

    อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เบื้องต้น เราทำกายคงที่ ทำใจคงที่ไว้เท่านั้น ทำอยู่เนืองๆ ความคงที่ของกายและใจก็ค่อยเกิดขึ้นๆ มากขึ้นๆ ตามลำดับ เมื่อความคงที่ของกายและใจมีกำลังพอ สุจริต 3 ก็มีกำลังพอ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต กายจะทำอะไรก็ไม่มีโทษ วาจาจะพูดอะไรก็ไม่มีโทษ ใจจะคิดอะไรก็ไม่มีโทษ คือ ทำอะไรๆก็ไม่เบียดเบียนแก่ตนไม่เบียดเบียนแก่ผู้อื่น ไม่เป็นโทษแก่ตนและผู้อื่นด้วย ใจก็สบายเป็นสุข สติสัมปชัญญะก็ตั้งอยู่ที่กายดี ก็เป็นสติปัฏฐาน 4 แต่ไม่เป็นสติปัฏฐานโพธิปักขิยธรรม( เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ )เพราะอาตาปียังไม่เกิด และเมื่อสติปัฏฐานธรรมดาเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้

    เรามาเจริญสติปัฏฐานตามอุบายวิธีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้แล้วด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งพระองค์ทรงแสดงไว้แล้วด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งพระองค์ทรงแสดงไว้เฉพาะในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยหัวข้อใหญ่ๆถึง 21 หัวข้อมีอานาปานสติสติปัฏฐานเป็นต้น คือมีสติตั้งอยู่ที่กายทั่วกาย หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก ด้วยจิตธรรมดาๆ ไม่กดไม่เก็ก แต่มีสติรู้อยู่ที่กายทั่วกายเบาๆ ทำอยู่อย่างนี้ สมาธิเกิดขึ้นเมื่อใด สติก็จะหยุดนิ่ง สัมปชัญญะก็หยุดนิ่งด้วยอาตาปีจึงเกิดขึ้น กิเลสทั้งหลายก็จะค่อยเสื่อมไปๆ หมดไปๆ ปัญญาก็สว่างไสวมากขึ้นๆ ปัญญาสว่างไสวมากขึ้นเพียงใด ก็ย่อมรู้ย่อมเห็นตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดเป็นตน สิ่งใดไม่ใช่ตน เห็นทั้งสิ่งที่เป็นตน และสี่งที่ไม่ใช่ตนด้วย เมื่อรู้เห็นอย่างนี้แล้ว ยังไม่ปล่อยไม่วาง คงทำสติสมัปชัญญะตั้งอยู่ที่กายที่จิตรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่อย่างนั้น สมาธิจะสูงขึ้นๆ สมาธิจะสูงขึ้นเท่าไรก็ตาม เราไม่เลิกไม่ละการทำนั้น คงทำอยู่เนืองๆ สติสัมปชัญญะก็มีกำลังมากขึ้นถึงขนาด วิชชาก็เกิดขึ้น ทำให้อวิชชาดับไป
    วิชชาจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะอริยมัคคสมังคีเกิดขึ้นนั่นแหละ อริยมัคคสมังคีเกิดขึ้นเมื่อใด อวิชชาก็ดับไปเมื่อนั้น กิเลสและความความทุกข์ก็ดับไปพร้อมอวิชชาดับด้วย เราจึงไม่ต้องละอะไรๆสักอย่างเดียว บางอาจารย์สอนว่าให้ปล่อยอย่างนั้น ให้ปล่อยอย่างนี้ อย่ายึดอย่างนี้ ไม่ถูก ที่แท้ไม่ต้องไปละอะไรเลย ทุกสิ่งทุกอย่างเราไม่ต้องละ เราดูให้รู้ให้เห็นเท่านั้น การจะดูให้รู้ให้เห็นก็ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะตั้งอยู่ที่กายที่จิต ที่เรียกสติปัฏฐาน 4 อยู่เนืองๆ ไม่ละไม่วาง ปัญญาก็เกิดขึ้น รู้เห็นตามความเป็นจริง ทั้งสิ่งที่ไม่ใช่ตนและสิ่งที่เป็นตนด้วย ปัญญาความรู้นี้เป็นไปเหมาะเจาะเมื่อใด อริยมรรคทั้ง8 ก็มีกำลังเสมอกัน ที่เรียกอริยมัคคสมังคีเกิดขึ้น วิชชาหรือปัญญานั้นจึงเห็นแจ้ง เห็นชัดอริยสัจทั้ง 4 ว่าไม่ใช่ตน

    สมุทัยคือกิเลสทั้งหลายอันมีอวิชชาเป็นประธานก็ดับ ทุกข์ก็ดับไปพร้อมกับอวิชชานั้น ถ้าอริยมัคคสมังคีของพระโสดาบัน เกิดขึ้น อวิชชาตัณหา อุปาทานของปุถุชนดับไปก็เป็นพระโสดาบัน ถ้าสกิทาคามีมรรคเกิดขึ้น กิเลสของพระโสดาบันดับไปก็เป็นพระสกิทาคามี เมื่ออนาคามีมรรคเกิดขึ้น กิเลสของพระสกิทาคามีดับไปก็เป็นพระอนาคามี ครั้งอรหันตตมรรคเกิดขึ้น กิเลสทั้งปวงก็ดับ

    การที่ใครๆจะปฏิบัติให้ถึงมรรคผลเป็น พระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ จึงไม่มีความจำเป็นต้องไปละนั่นละนี่ ที่แท้การคิดว่าจะละละนี่ จะละความโลภ ละความโกรธความหลง คิดจะละอย่างนั้นมันกลับผิด เพราะเราจะละสิ่งใด เราต้องรู้เห็นตามความเป็นจริง และตามความเป็นจริงแล้ว เราไม่อาจจะละอะไรได้ทั้งนั้น มีแต่มันละเราเพราะว่าเรายึดมันไว้
    ข้อสำคัญอยู่ตรงนี้ถ้าเรารู้หลักสำคัญนี้แล้ว ตั้งใจเจริญอินทรียสังวร พร้อมเจริญสติปัฏฐาน 4 ตามวิธีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงไว้แล้ว การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุมรรคผล ถ้าทำถูกวิธีก็เป็นของนิดเดียวไม่ยากมาก ทำสติสัมปชัญญะให้ตั้งอยู่ที่กายที่จิต แล้วเจริญสติปัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเดินอยู่ก็รู้ว่าเราเดินอยู่ ยืนอยู่ก็รู้ว่ายืนอยู่ นั่งอยู่ก็รู้ว่านั่งอยู่ นอนอยู่ก็รู้ว่านอนอยู่ ตั้งกายไว้อย่างใดก็รู้อย่างนั้น พร้อมกับตั้งใจทำกายคงที่ทำใจคงที่ไว้ด้วย ทำอยู่อย่างนี้เนืองๆ เมื่อสติปัฏฐานเกิดขึ้นแล้วก็ทำอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องไปนึกเอานึกละอะไร อะไรเกิดขึ้น เราก็ดูดูดูดู ดูอยู่อย่างเดียว การดูอยู่อย่างเดียวนี่เป็น มัชฌิมาปฏิปทา คือเป็นทางให้ถึงความสิ้นทุกข์ ครั้งสิ่งที่ดีเกิดขึ้น เรายังดูอยู่เฉยๆดูอยู่อย่างนั้น สิ่งที่ดีก็เพิ่มขึ้นๆ เราก็รู้ก็เห็นสิ่งที่ดีนั้นอยู่ เมื่อรู้อยู่นานๆก็จะรู้ว่า มันไม่เที่ยง ทีแรกมันมีอยู่นิดเดียว เราดูเฉยอยู่ มันก็มากขึ้นแล้วก็ทรงอยู่ ต่อไปก็ดับ ก็รู้ว่าความดีนี้มันก็ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นก็เป็นทุกข์

    เห็นบ่อยๆเข้า โลกียปัญญาแก่ขึ้นพอสมควร วิปัสสนาก็เกิดขึ้นจนถึงอริยผลได้ ไม่ต้องไปนึกว่าอันนั้นไม่เที่ยง อันนี้ไม่เที่ยง อันนั้นเป็นทุกข์ อันนี้ไม่ใช่ตน ไม่ต้องไปนึกอย่างนั้น ดูอยู่เฉยๆแล้วเราก็เห็นความไม่เที่ยงของมัน

    การเห็นความไม่เที่ยงเรียกว่า พิจารณา เห็น อนิจจัง การที่เราไปนึกว่า ไม่เที่ยงๆ นั่นไม่ใช่พิจารณาอนิจจัง พิจารณาหมายความว่า ไปรู้ไปเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่าไม่เที่ยงอย่างนั้น ความรู้ดังกล่าวมานี้เป็นความรู้ด้วยโลกิยปัญญา ด้วยปัญญาที่เกิดจากสมถ (สมถ ก็คือ ฌานสมาบัติที่เกิดขึ้น เห็นอนิจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกัน แต่ไม่เห็นตน) เมื่อเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่เนืองๆหนักเข้าๆมันก็รู้ว่าอันนี้ไม่ใช่เรา สิ่งที่เปลี่ยนแปรไปไม่ใช่เรา เราไม่ใช่สิ่งนั้น ถ้าวิปัสสนาเกิดขึ้น มันรู้ทั้งสองอย่าง คือรู้ทั้งสิ่งที่ไม่ใช่ตนด้วย รู้ทั้งตนด้วย ไม่ละการดูคงดูอยู่อย่างนั้น ความรู้มันชัดขึ้นๆจนถึงขนาด ถึงที่สุดเรียกว่า วิชชาเกิด อวิชชาก็ดับไปจึง สำเร็จ อริยมรรค อริยผล เป็นพระอริยบุคคลตามลำดับ
    เราต้องดูไว้เฉยๆอะไรเกิดขึ้นก็ดู ดับไปก็ดู ทั้งตั้งใจทำกายคงที่ทำใจคงที่ไว้ด้วยจึงจะสำเร็จมรรคผลได้ เพราะมีกายคงที่มีใจคงที่ จึงจะสามารถดูเฉยๆอยู่ได้ กายคงที่ใจคงที่คืออินทรียสังวร อันนี้เราต้องนึกไว้เนืองๆ เราต้องนึกไว้บ่อยๆ เมื่อเรานึกไว้เมื่อใด ความทำกายคงที่ทำใจคงที่ของเราจะมีหน่อยหนึ่ง เมื่อเรานึกถึงกายคงที่ใจคงที่บ่อยๆ เราก็ทำกายคงที่ใจคงที่ได้บ่อยๆเมื่อเรานึกอยู่เนืองๆ ความมีใจคงที่มีกายคงที่ของเราก็มีมากขึ้นๆ นึกอยู่เนืองๆทำอยู่เนืองๆ กายคงที่ใจคงที่ของเราก็มากขึ้นๆหนักๆเข้ามันก็กลายเป็นพื้นฐานธรรมดาของเรา

    เพราะฉะนั้นผู้ใดคิดว่าเราจะสักการบูชาพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระธรรมและพระอริยสงฆ์ ก็ตั้งใจ นำไปประพฤติปฏิบัติอยู่เนืองๆ สิ่งที่ต้องปฏิบัติประจำตลอดเวลาก็คือ มีกายคงที่มีใจคงที่ จะอยู่ในที่ไหนก็นึกถึงกายคงที่ใจคงที่ไว้อันนี้เป็นข้อปฏิบัติในอินทรียสังวร ซึ่งจะเป็นเหตุให้สุจริต 3 และ โพธิปักขิยธรรม 7 หมวดเกิดขึ้น จนถึงวิชชาและวิมุตติเป็นผลสูงสุด ด้วยการปฏิบัติบูชา อันมีผลใหญ่มีอานิสงส์ให้สามารถบรรลุมรรคผล มีโสดาบันเป็นต้น

    ถ้าการปฏิบัติของเรายังไม่ได้สำเร็จมรรคผล มีโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผลในชาตินี้ ในปัจจุบันนี้ ใกล้ตายเราก็จะได้ถึงมรรคผลได้ ถ้าใกล้จะตายยังไม่ถึงมรรคผล ตายแล้วไปเกิดบนสวรรค์ครั้นไปเกิดบนสวรรค์แล้วก็จะสำเร็จมรรคผลได้ ถ้าไปเกิดบนสวรรค์แล้วยังไม่ได้สำเร็จมรรคผล เพราะเหตุที่เป็นธาตุเวไนย ผู้นั้นไม่อาจสำเร็จมรรคผลในปัจจุบันชาตินี้ คือไม่อาจสำเร็จมรรคผลในมนุษย์นี้ได้ แม้เกิดบนสวรรค์แล้วยังไม่ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมสารีริกธาตุ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกของพระพุทธเจ้าที่ถวายพระเพลิงแล้วกลายเป็นพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ไม่เหมือนพระอรหันต์ทั้งหลายจะกลายเป็นพระธาตุเพียง เล็บ ฟัน กระดูกเท่านั้น ครั้นอีก 7 วันจะสิ้นพระศาสนา พระบรมสารีริกธาตุทั้งปวงจะไปประชุมกันที่โคน พระศรีมหาโพธิ แล้วแสดงปาฏิหาริย์เป็นองค์พระพุทธเจ้าเปล่งรัศมี 6 ประการ แสดงธรรมอยู่ 7 วัน 7 คืน พวกมนุษย์มองไม่เห็น เทวดาและพรหมเท่านั้นได้เห็น พวกเทวดาและพรหมที่เป็นธาตุเวไนยฟังธรรมนั้นแล้วก็ได้สำเร็จมรรคผลกันทั้งสิ้น

    บัดนี้เรายังไม่ได้มรรคผล ยังไม่เป้นพระโสดาบัน เราตั้งใจทำกายคงที่ทำใจคงที่ไว้เนืองๆ ต่อไป สุจริต 3 เกิดขึ้นแล้ว และเราก็ได้ยินได้ฟังบ่อยๆเหมือนอย่างที่ฟังวันนี้ ฟังแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างเราไม่ต้องละ เมื่อวิชาเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นๆมันจะดับไปเอง เพราะฟังแล้วอย่างนี้ ภายหลังแม้เราลืมไป แต่เราตั้งใจทำกายคงที่ทำใจคงที่ไว้เนืองๆ สุจริต 3 เกิดขึ้นแล้ว จิตใจของเรามีความผ่องใสขึ้น สิ่งที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วและลืมไปนั้นก็จะผุดขึ้นมาให้เรารู้ขึ้นในใจของเราว่าเราเคยฟังมาแล้วอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งหลายเราไม่ต้องละ เมื่อเราทำวิชชาเกิดขึ้นแล้ว อวิชชาดับไป สิ่งทั้งหลายจะดับไปเอง

    สิ่งที่กล่าวมานี้ ผู้ฟังทั้งหลายไม่จำเป็นต้องเชื่อตาม แต่ว่าควรกำหนดจดจำนำไปประพฤติปฏิบัติลองดู ก็จะพิสูจน์ได้ด้วยตนเองว่าสิ่งที่กล่าวมานี้ ถูกหรือไม่ถูก เมื่อรู้เห็นด้วยตนเองว่าไม่ถูกก็จงละเสีย ถ้าเห็นว่าถูกแล้วก็ทำตามต่อไป เมื่อทำตามถูกต้องดี การบรรลุมรรคผลก็จะมีแก่ตน สมตามปรารถนา

    [​IMG]
    หลวงปู่ เจือ สุภโร ถึงแม้ท่านจะเป็นพระป่า สายหลวงปู่มั่น ก็จริงแต่ท่านมีความรู้ทางปริยัติพอสมควร ท่านจึงเขียนวิธีปฏิบัติเทียบกับปริยัติได้ และสิ่งที่คัดมาจากหนังสือที่ท่านเขียนไว้ ผมมีโอกาสได้สนทนาธรรมกับท่านบ่อยๆท่านก็เน้นเรื่อง สติมากโดย เฉพาะการทำงานต่างๆให้กำหนด สติในกายทั่วกายไว้โดย ท่านเน้นว่าต้องทำสมถกรรมฐานด้วยให้เกิดสมาธิ ในระดับที่ดับนิวรธรรม 5 ประการได้ โดยที่สมาธิที่ดี ต้องมีลักษณะ นิ่ง เบา กว้าง และ ต้องมีสติ ไม่ควรส่งจิตออกนอก จะเป็น อานาปานัสสติ พุทธานุสติ กสิน ก็ได้ เมื่อสติอยู่ที่กาย และ นิ่ง เป็นใช้ได้ในขั้นต้นแล้วค่อยๆดูทุกข์ต่อท่านว่าถ้าสมาธิดีไม่ต้องตั้งใจมันก็เพ่งจ้องดูเอง ดูจนเห็นชัดตามสภาพของมัน จากนั้นเมื่อเห็นชัดแล้ว อุปาทานจะปรากฏหน้าให้เห็น ก็เพ่งดูจ้องดู ด้วยสติที่กาย และ สมาธิต่อไม่ลดไม่ละ จะเห็น อุปาทานชัด เห็นทุกข์ ชัด เมื่อเห็นอุปาทานชัด ถึงขนาด อุปาทานจะละจากจิตไปเอง นั่นคือ ทุกข์จะดับไปด้วย

    ขออนุญาตชาวลานธรรม นำตัวอย่างบางส่วนจากหนังสือของหลวงปู่มาเพื่อเสริมความรู้ท่านทั้งหลายต่อ

    [​IMG]

    ตัวอย่างที่ 1
    เป็นชายอายุ 40 กว่าทำกรรมฐานมานาน ด้วยปรารถนาจะให้ได้โสดาบันในชาติปัจจุบันนี้ เพื่อพ้นไปจากอบายภูมิทั้ง 4 แต่ก็ไม่เห็นช่องทางว่าจะได้อย่างไร วันหนึ่งเข้ามาหาขอให้สอนกรรมฐานให้ จึงคุมให้เขานั่งทำ โดยให้นึกดูภาพท้องฟ้าตามวิธี (หนังสือหลวงปู่ จะสอนกรรมฐาน วิธีการเจริญอานาปานสติกรรมฐาน พร้อมด้วยชาคิรยะและอธิบาท คือท่านสอนให้ทำอานาปาคู่ไปกับการกำหนดภาพท้องฟ้า เบาๆมี 8 ขั้นตอน ตามหนังสือ )เขาเห็นภาพท้องฟ้าได้ทันที จึงบอกให้เขาดูให้เห็นกว้างออก พอเขาเห็นภาพท้องฟ้าออกได้เพียงหน่อยเดียว เขาก็ถามว่าพระโสดาบันละสังโยชน์ 3 คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สิลัพพตปรามาสนั้นท่านเป็นอย่างไร จึงบอกเขาว่าควรจะถามข้อปฏิบัติอันเป็นเหตุให้พระโสดาบันละสังโยชน์ 3 ได้จะเป็นประโยชน์กว่า แล้วเตือนให้เขารักษาสมาธิไว้ให้ดี คือ ให้เห็นนิมิตภาพท้องฟ้าพร้อมกับรู้ลมหายใจเข้ารู้ลมหายใจออกอยู่อย่างนั้นและตั้งใจฟังด้วย ทั้งเมื่อฟังอยู่รู้สึกว่า สิ่งใดพอจะทำในใจตามไปได้ ก็ให้ทำในใจตามไปด้วย แล้วอธิบายว่า พระโสดาบันทั้งหลาย เมื่อท่านจะได้เป็นพระโสดาบันท่านทำจิตของท่านให้ตั้งอยู่ในสมาธิ แล้วกำหนดรู้ความสุขความสบายก็ตามความอึดอัดไม่สบายก็ตาม ซึ่งปรากฏรู้อยู่เห็นอยู่ในขณะนั้น นึกทำความสบายหรือความไม่สบายนั้น ให้นิ่งอยู่ให้คงที่อยู่ ครั้นทำให้นิ่งคงที่อยู่ได้ ก็เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งนั้น ครั้นเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งนั้นก็เห็นความทุกข์และไม่ใช่ตนของสิ่งนั้นด้วย ครั้นเห็นความไม่ใช่ตน ความสงสัยจึงเกิดขึ้นว่า ก็ทุกข์นี้ไม่ใช่ตน เหตุใดเราจึงต้องทุกข์ไปกับมันด้วยเล่า เมื่อความสงสัยขึ้นเช่นนี้ ความเพ่งของใจก็เกิดขึ้น อุปาทานจึงปรากฏให้เห็น จึงรู้เห็นอุปาทานว่าไม่ใช่ตนด้วย ก็รู้ว่าเพราะอุปาทานของเรามีอยู่ ถ้าเราทำอุปาทานให้ดับ ทุกข์ก็ดับไปด้วย จึงคงกำหนดรู้เห็นอุปาทานทั้งทุกข์และอุปาทานอยู่อย่างนั้นไม่ปล่อยไม่วาง ครั้นเกิดความรู้ความเห็นว่า อุปาทานไม่ใช่ตนชัดถึงขนาด อุปาทานก็ดับวับไป ทุกข์ก็ดับไปพร้อมกับอุปาทานนั้น แม้สังโยชน์ 3 ก็ดับไปพร้อมกับอุปาทานนั้นเช่นเดียวกัน ชื่อว่าละสังโยชน์ 3 ได้เท่านี้แหละ

    ครั้นอธิบายอย่างนี้แล้ว หยุดรอดูท่าทีอยู่ครู่หนึ่งเขาลือตาขึ้นพูดว่า โอ็! ดี! ดีมากครับ ท่านอธิบายถูกต้องชัดเจนแจ่มแจ้งดีเหลือเกิน ผมพ้นจากอบายละ จึงถามเขาว่าทำไมรู้ว่าตนพ้นจากอบาย เขาตอบว่า เพราะผมทำการกำหนดรู้ตามที่ท่านว่า มันเป็นเหมือนอย่างท่านว่าทุกประการ จึงคุมให้เขาทำสมาธิต่อจนถึงเห็นลมเต็มโลก (เห็นลมเต็มโลกเป็นอุบายวิธีที่หลวงปู่สอนการทำสมาธิในขั้นสุดท้ายของวิธีหลวงปู่ คือวิธีการสอนของท่านประกอบไปด้วย อานาปา+กสินแสงสว่าง(ท้องฟ้ากลางวัน) + กสินสีขาว(ท้องฟ้า)+และสติต้องอยู่ที่กาย คือเอากรรมฐานหลายกองมารวมกันเพื่อให้เจริญ อานาปาง่ายขึ้นโดยที่เน้นว่า สติต้องอยู่ที่กาย การใช้นิมิตท้องฟ้ามาช่วยนั้น การเห็นนิมิตเป็นความรู้ของจิต ไม่ใช่จิต การใช้นิมิตท้องฟ้าช่วยทำให้การเจริญอานาปาณสติจะเจริญรวดเร็วและสติตั้งที่กายมั่นคง)

    ครั้นอีกสิบกว่าวันมาบอกว่า ทุกวันนี้ผมพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่เป็นนิจ จะว่าพิจารณาอยู่ตลอดเวลาที่ตื่นก็ว่าได้ จึงตอบเขาว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใครปฏิบัติได้ถึงระดับนี้ ก็ย่อมรู้อยู่เห็นอยู่โดยปกติ มัวพิจารณาให้วุ่นใจให้สมาธิไม่เจริญทำไม ก็ทำอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้หยุดให้นิ่งเหมือนวันก่อนซิ สมาธิกับวิปัสสนาจะเจริญได้ควบคู่กันไป เขาหลับตาลงครู่หนึ่งจึงลืมตาขึ้นพูดว่า จริงละครับ สมาธิผมชักอ่อนไปหน่อยๆ ครั้นอีก 5-6 วัน มาบอกว่า ดีละครับ ทำอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาให้หยุดให้นิ่ง เป็นเหตุให้สมาธิกับปัญญาเจริญควบคู่กันไป วิธีนี้สำเร็จประโยชน์ดี ผมทำตามอยู่ก็เจริญขึ้นอีกระดับหนึ่ง

    http://www.dharma-gateway.com/
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 12 มีนาคม 2010

แชร์หน้านี้

Loading...