เหตุแห่งความเจริญ (2)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย สังขารไม่เที่ยง, 14 มกราคม 2008.

  1. สังขารไม่เที่ยง

    สังขารไม่เที่ยง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    5,943
    ค่าพลัง:
    +24,697
    เหตุแห่งความเจริญ (2)

    ธรรมะใต้ธรรมาสน์

    ไต้ ตามทาง



    ข้อที่ 22-26 คือ ความเคารพ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความสันโดษ ความกตัญญู และการฟังธรรมตามกาล

    ความเคารพ คือ ความตระหนักในความสำคัญของสิ่งนั้น ไม่ดูเบาในสิ่งนั้น มิใช่แค่การแสดงกิริยาอาการกราบๆ ไหว้ๆ โดยที่ใจไม่ตระหนักถึงความสำคัญ

    สิ่งที่เราพึงให้ความสำคัญคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การศึกษา ความไม่ประมาท และการปฏิสันถารต้อนรับแขก

    ห้าข้อแรกพอจะ get ว่าท่านหมายถึงอะไร แต่การต้อนรับแขก เราต้องให้ความเคารพหรือตระหนักในความสำคัญ มีนัยดังฤๅ ถ้าจะแปลแบบธรรมดาๆ แขกที่มาเยี่ยมเรานั้นเป็นผู้นำลาภ นำสิริมงคลมาให้ ควรต้อนรับขับสู้ พูดจาด้วยดี บริการให้เขาประทับใจ

    เพียงแค่นี้ดูเหมือนจะตื้นไป เพราะการปฏิสันถาร พระพุทธเจ้าท่านว่านำไปสู่การบรรลุมรรคผลได้ด้วย จึงสอนมิให้พระเพิกเฉยเป็นอันขาด นั่นคงหมายถึงสิ่งที่เข้ามาหาเราผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งเป็นอิฏฐารมณ์ (ดี) และอนิฏฐารมณ์ (ไม่ดี) เราจะต้องมีสติรู้เท่าทัน ไม่ปล่อยให้หลงปลื้มไปตามสิ่งที่น่าปรารถนา หรือขัดเคืองในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ทำได้อย่างนี้เรียกว่าฉลาดในการต้อนรับ หรือรู้จักปฏิสันถาร ต้องตีความลึกขนาดนี้ถึงจะสามารถบรรลุธรรมได้ เพราะวิธีคิดอย่างนี้คือวิธีวิปัสสนาทีเดียวนะจะบอกให่ เอ๊ย...ให้ ต่อไปความอ่อนน้อม พระพุทธเจ้าท่านว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ 10 คนที่อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เจริญด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ ชาติวุฒิ เป็นนิตย์ ท่านว่าเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ

    น่าสังเกต พรประการแรกคืออายุยืน บางท่านสงสัยว่าอ่อนน้อมถ่อมตนทำให้อายุยืนได้อย่างไร อ้าว...อย่างน้อยก็ทำให้เขาเมตตา รักใคร่ ไม่หมั่นไส้กระทืบตาย ผลไม้ดกย่อมโน้มกิ่งลงมาฉันใด สัตบุรุษคนดีย่อมอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่หยาบกระด้าง ยิ่งตำแหน่งสูงยิ่งอ่อนน้อมอ่อนโยน ความอ่อนน้อมเป็นคุณสมบัติของผู้นำ เป็นเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น

    สันโดษ คนมักเข้าใจผิดว่าคือการปล่อยตามเรื่องตามราวไม่สร้างสรรค์ ไม่เอาไหน ความจริงสันโดษคือ "ความภาคภูมิใจในผลสำเร็จที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยความสามารถ ด้วยความพากเพียรพยายามของตนในทางที่สุจริตยุติธรรม"

    ฟังดูดีๆ จะเห็นว่า คนสันโดษคือคนขยันหา ขยันสร้างสรรค์ (ยถาลาภ) ทุ่มเทกำลังกาย กำลังสติปัญญาเต็มที่ (ยถาพล) ในทางสุจริตถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม (ยถาสารุปป) เมื่อได้ผลสำเร็จขึ้นมาแล้ว ก็ภาคภูมิใจในผลสำเร็จนั้น

    ความกตัญญูพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็น "ภูมิ" (พื้น) ของคนดีเวลาเขาสร้างตึกรามสูงๆ ก่อนอื่นต้องตอกเสาเข็ม วางรากฐานให้มั่นคงแข็งแรง ยิ่งจะสร้างสูงแค่ไหน ฐานตึกต้องให้มั่นคงแข็งแรงเท่านั้น คนก็เช่นกัน จะดูว่าใครจะไปไกลแค่ไหนก็ดูกันที่ "พื้น" หรือรากฐานเบื้องต้นของชีวิตนี่แหละครับ ถ้าพื้นไม่ดี ถึงจะเก่งกาจสามารถปานขงเบ้งก็ไปไม่รอด

    เขาว่าคนเนรคุณคน "ทำกินไม่ขึ้น" บางชาติเช่นชาวจีนเขาจะเน้นย้ำเรื่องความกตัญญูเป็นนิตย์ หนังสือชื่อ "ยี่จับสี่เห่า" (ยี่สิบกตัญญู) จะถูกนำมาสอนลูกสอนหลานเสมอ

    มีนิทานชาดกเรื่องหนึ่ง เล่าถึงเด็กหนุ่มตระกูลพราหมณ์เรียนมนต์เสกมะม่วงจากครูวรรณะศูทร อาจารย์บอกว่ามนต์เสกมะม่วงนี้จะเป็นเครื่องยังชีพอย่างดี ถ้าใครถามว่าเธอเรียนมนต์จากใคร ให้ตอบตามจริง หาไม่มนต์อาจเสื่อมได้

    เขาใช้มนต์เสกมะม่วงนั้นเลี้ยงชีพอย่างสบาย ได้ทั้งชื่อเสียงทั้งทรัพย์สิน เกียรติคุณของเขาได้ยินถึงพระกรรณของพระราชาพระองค์ทรงเรียกเขาไปเฝ้า แต่งตั้งให้เขาเฝ้าสวนมะม่วง เวลาต้องการเสวยมะม่วง พระราชาจะรับสั่งให้เขาเสกถวาย เขาจะไปยืนใกล้ต้นมะม่วงร่ายมนต์ พักเดียวก็ได้มะม่วงสุกหอมหวานเป็นที่อัศจรรย์

    วันหนึ่งพระราชาตรัสถามว่าเขาได้เรียนวิชานี้มาจากไหน ครั้นจะตอบว่าเรียนมาจากคนจัณฑาลก็รู้สึกละอาย จึงกราบทูลว่าเรียนมาจากอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เท่านั้นแหละมนต์ก็อันตรธานไปทันที วันต่อมาพระราชาให้เขาเสกมะม่วงให้เสวย เขาก็เสกไม่ได้ พระราชาทรงทราบความจริงจึงสั่งให้เฆี่ยนและเนรเทศออกจากพระนครพร้อมรับสั่งว่า "คนเนรคุณเลี้ยงไม่ได้"

    การฟังธรรมตามกาลอันสมควร หมายถึงฟังสิ่งที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินชีวิต คงไม่หมายความแคบเพียงฟังพระธรรมเทศนาของพระ หากรวมถึงฟังจากแหล่งความรู้อื่นๆ ด้วย และการฟังก็ขยายออกไปถึงการอ่าน การศึกษาผ่านสื่อต่างๆ ด้วย

    คนที่เรียนมาก ศึกษามาก เรียกว่าเป็น "พหูสูต" และการฟังสิ่งที่ดีงาม อ่านเรื่องที่ดีงาม จิตใจจะสะอาดขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น สงบขึ้น

    หัดเป็นคนฟังแต่สิ่งที่ดีงาม อ่านแต่สิ่งที่ดีงาม ฟังแล้วอ่านแล้ว โลภ โกรธ หลงลดลง เมตตากรุณาและปัญญาเพิ่มขึ้น ทำบ่อยๆ แล้วจะรู้สึกว่าเราดีขึ้น พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีลูกมีหลานก็ฝึกให้เอาอย่าง ตอนแรกๆ เขาไม่อยากทำตาม จะเอาอามิสสินจ้างเข้าล่อก็ต้องทำ ดังอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นตัวอย่างที่ได้แสดงรายละเอียดแล้วในเรื่อง "หนึ่งในวิธีเลี้ยงลูก (บังเกิดเกล้า)"

    การชักจูงให้คนเป็นคนดีมีหลายวิธี บางครั้งต้องจ้างให้ลูกทำดีก็เห็นจะต้องยอม ดีกว่าซื้อรถแข่งราคาแพงๆ ให้ลูกหลานนำมาซิ่งรบกวนชาวบ้าน จนรัฐมนตรีต้องปวดหัวหาที่ให้ซิ่งกันสนุกมือ แต่ไม่ทันไรไอเดียอันบรรเจิดของท่านก็ถูกเบรกโดยท่านนายกรัฐมนตรี ปวดหัวหนักกว่าเดิมอีก

    หน้า 29

    http://matichon.co.th/khaosod/view_...ionid=TURNd053PT0=&day=TWpBd09DMHdNUzB4TkE9PQ==
     

แชร์หน้านี้

Loading...