เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 26 สิงหาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,129
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,506
    ค่าพลัง:
    +26,342
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,129
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,506
    ค่าพลัง:
    +26,342
    วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพต้องนำผู้ป่วย คือนางสาวไพรินทร์ สุวิชชาญพันธุ์ ที่เรียกตามลูกว่า "หม่าม้า" ไปรับการรักษาจากท่านอาจารย์บ๊ะ (พระอาจารย์ศิริชัย ชยธมฺโม) ที่วัดโพธิ์ลังกา เมื่อไปถึงแล้วก็ได้ทิ้ง "หม่าม้า" เอาไว้ โดยบอกว่า "ขอฝากผู้ป่วยเอาไว้ก่อน ส่วนผู้ป่วยหนักกว่าจะไปทำการตรวจประเมินหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ที่วัดสามหมื่น ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี..!"

    แต่ปรากฏว่าเมื่อเดินทางไปถึง เขาไม่ได้จัดการตรวจประเมินไว้ที่วัดสามหมื่น หากแต่จัดการตรวจประเมินไว้ที่อุทยานบ้านแป้ง ซึ่งเป็นธรรมอุทยาน โดยเฉพาะในส่วนของศาลาตรวจประเมินนั้นคือ ศาลาแก้วกลางกายซึ่งติดมีเครื่องปรับอากาศทั้งหลัง..!

    กระผม/อาตมภาพก็ได้แต่นึกว่า คนเราบางคนช่างสร้างบุญเอาไว้ดีเหลือเกิน เนื่องเพราะว่าพอ
    "หม่าม้า" รักษาเสร็จแล้วก็จะมีผู้นำมาส่ง ตอนแรกยังคิดว่าต้องนั่งทนร้อนจนกว่าประเมินเสร็จ แต่ปรากฏว่าเจอศาลาปรับอากาศทั้งหลัง ตรงนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่า ในเรื่องของบุญกุศลนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในการนำทางชีวิตของพวกเรา บุคคลที่สร้างบุญกุศลเอาไว้จนกระทั่งบุญกุศลหนุนนำนั้นเป็นเช่นนี้เอง

    ญาติโยมบางท่านอาจจะคิดว่ากระผม/อาตมภาพเพ้อเจ้อ แต่เมื่อปีที่แล้วซึ่งได้ทำการตรวจประเมินเพื่อยกหมู่บ้านศีล ๕ ต้นแบบ ๒๒ จังหวัด เนื่องจากว่าขาดจังหวัดชลบุรีไป ๑ จังหวัด เหตุเพราะว่าต้องไปรับโล่ผู้มีอุปการคุณต่อมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงทำให้ขาดไป ๑ จังหวัด ทั้ง ๒๒ จังหวัดนั้น
    "หม่าม้า" ไปร่วมงานตรวจประเมินอยู่จังหวัดเดียว และจังหวัดนั้นก็มีศาลาปฏิบัติธรรมติดเครื่องปรับอากาศทั้งหลังเช่นกัน อีก ๒๑ จังหวัดร้อนแทบตาย..! ในเมื่อเป็นเช่นนี้ จะไม่เชื่อในเรื่องของบุญของกุศลก็ไม่ได้

    จึงขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และญาติโยมทั้งหลายเป็นการย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ในเรื่องของการสร้างบุญสร้างกุศลนั้น เรามีหน้าที่ทำ เรามีหน้าที่สร้าง ส่วนผลบุญจะตอบสนองหรือไม่ เราไม่มีหน้าที่ไปกังวลสนใจ
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,129
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,506
    ค่าพลัง:
    +26,342
    มีหลายท่านที่เรียกร้องว่า "ทำบุญแล้วทำไมบุญไม่ช่วยเลย ?" กระผม/อาตมภาพอยากจะถามกลับไปว่า "แน่ใจแล้วหรือว่าทำบุญพอแล้ว ?" ถ้าหากว่าวงจรชีวิตของเราเหมือนกับแก้วน้ำใบหนึ่ง ท่านทำบุญไปเพิ่งมีน้ำเปียกก้นแก้วเพียงเล็กน้อย แล้วจะนำน้ำไปใช้งาน ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่บุคคลที่สร้างบุญอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องกันมาชาติแล้วชาติเล่า เปรียบเสมือนกับบุคคลที่มีน้ำเต็มแก้ว สามารถที่จะใช้งานได้ทุกเวลา ต่อให้ต้องการหรือไม่ต้องการ บุญนั้นก็ย่อมส่งผลแก่ท่านเอง

    สมดังที่หลวงปู่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (ญาโณทยมหาเถร) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร หลวงปู่อดีตสมเด็จพระสังฆราชได้กล่าวเอาไว้ว่า "ตราบใดที่เรายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ การสร้างบุญยังเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เหตุเพราะว่าบุญนั้นส่งผลแก่ในด้านดีแก่เราโดยด้านเดียวเท่านั้น"

    เรื่องของ "หม่าม้า" จึงเป็นเรื่องที่พวกเราทั้งหลายต้องยึดถือไว้เป็นแบบอย่างว่า
    บุคคลที่ทำบุญจนกระทั่งบุญล้นแล้ว ไม่ว่าจะไปที่ไหน เรื่องของเจ้าที่เจ้าทางหรือเทวดาอารักษ์ก็ต้องอำนวยอวยชัยให้ ไม่ต้องเสียเวลาไปบนบานศาลกล่าว ไม่ต้องเสียเวลาไปร้องขอใด ๆ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นเอง

    การตรวจประเมินยกบ้านสามหมื่นขึ้นเป็นหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ต้นแบบนั้น บ้านสามหมื่นหรือว่าวัดสามหมื่น ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่าวัดกลางธนรินทร์นั้น เป็นวัดของชุมชนชาวลาวเวียงจันทน์ ซึ่งโดนกวาดต้อนมาสมัยในหลวงรัชกาลที่ ๓ มาตั้งรกรากสืบเชื้อสายกันอยู่ ณ ที่นี้ บรรดาคุณย่าคุณยายยังพูดสำเนียงลาวเวียงจันทน์อยู่เลย เมื่อขอให้พูด ทุกคนก็สามารถที่จะพูดได้อย่างคล่องแคล่ว ยังไม่ลืมภาษาถิ่นของตนเอง

    วัดกลางธนรินทร์นั้นเกิดจากพระยากลางธนรินทร์ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองกลางในสมัยนั้น คำว่า "เมืองกลาง" ก็คือสถานที่ซึ่งทางพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ยกให้เป็นที่ตั้งชุมชนชาวลาวเวียงจันทน์หมู่นี้ แล้วก็ตั้งหัวหน้าชุมชนเป็นพระยากลางธนรินทร์ หรือที่ทุกคนเรียกกันสั้น ๆ ว่า "ท่านเจ้าคุณเมืองกลาง" เมื่อสืบสายมาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังสามารถที่จะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตนอยู่ได้เป็นอย่างดี
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,129
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,506
    ค่าพลัง:
    +26,342
    แล้วด้วยเหตุที่ว่าบ้านสามหมื่นเป็นชุมชนการเกษตร มีการหาอยู่หากินกับธรรมชาติ ในเรื่องของเนื้อสัตว์ก็อาศัยปลาในแม่น้ำ ในเรื่องของข้าวปลาอาหารก็ปลูกกินเอง ผักต่าง ๆ ก็หาเอาตามธรรมชาติ จึงเป็นชุมชนที่แทบจะปราศจากคนท้องที่อื่นเข้ามาสอดแทรก เพราะว่าไม่ใช่ชุมชนอุตสาหกรรมที่จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน จึงทำให้สามารถรักษาขนบธรรมเนียบประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามเอาไว้ได้

    โดยเฉพาะงานตักบาตรดอกไม้ ซึ่งท่านทั้งหลายก็คงจะเคยชินกับงานตักบาตรดอกไม้ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งบริเวณนั้นก็มีพี่น้องชาวลาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน แต่ว่าพี่น้องชาวลาวเวียง หรือที่เรียกกันว่าไทยเวียงในปัจจุบันนี้ของบ้านสามหมื่น ก็ยังสามารถรักษาวัฒนธรรมการตักบาตรดอกไม้เอาไว้ได้อย่างงดงาม โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายและการฟ้อนรำ ยังเป็นวัฒนธรรมที่สามารถแปลงเป็นมูลค่าได้ดีเป็นอย่างยิ่ง

    เมื่อถึงเวลาทำการตรวจประเมินตามขั้นตอนแล้ว กระผม/อาตมภาพก็ให้คำแนะนำแก่ทางวัฒนธรรมจังหวัดสิงห์บุรีว่า สามารถที่จะส่งเสริมให้สถานที่นี้เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ชุมชน และวัฒนธรรมการตักบาตรดอกไม้ ก็สามารถที่จะนำมาเป็นจุดขายในแหล่งประวัติศาสตร์ชุมชนแห่งนี้ได้ โดยเฉพาะวัดกลางธนรินทร์ หรือว่าวัดบ้านสามหมื่นนี้ ยังไม่ได้รับการยกขึ้นเป็นสำนักงานปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด จึงขอให้ท่านผู้อำนวยการพระพุทธศาสนาจังหวัดสิงห์บุรี ได้ช่วยอนุเคราะห์ในการจัดตั้งขึ้นเป็นสำนักงานปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดด้วย

    เมื่อเสร็จจากการตรวจประเมิน และได้ส่งคะแนนให้กับทางเลขานุการแล้ว ทางด้านท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี คือ นายปรีชา ดิลกพรเมธี ก็ได้นำข้าราชการทุกส่วนทำการปฏิญาณตนว่า จะใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและการรักษาศีล ๕ เป็นเครื่องดำเนินชีวิต คณะสงฆ์ทั้งหลายจึงได้อนุโมทนา
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,129
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,506
    ค่าพลัง:
    +26,342
    เมื่อถ่ายรูปหมู่ร่วมกันแล้วก็มีการนัดแนะว่า พรุ่งนี้จะไปตรวจประเมินที่จังหวัดชัยนาท เราจะต้องไปพักที่ไหน ? ไปฉันอาหารกันที่ไหน ? มะรืนนี้ไปตรวจประเมินที่จังหวัดอุทัยธานี จะต้องไปพักในที่ใดบ้าง ? เหล่านี้เป็นต้น แล้วก็แยกย้ายกันฝ่ารถติดกลับสู่ที่พักของตน

    การตรวจประเมินโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ของจังหวัดสิงห์บุรีนี้ กระผม/อาตมภาพได้พบกับเพื่อนร่วมรุ่นพระอุปัชฌาย์ ๒ รูป ก็คือพระครูศรีพรหมาภิวัฒน์ (ประเวช โชติวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดปราสาท เจ้าคณะอำเภอพรหมบุรี เจ้าของสถานที่ และพระครูกิตติสารวิสิฐ (วิรัตน์ กิตฺติสาโร) เจ้าคณะตำบลบางมัญ เขต ๑ เจ้าอาวาสวัดตึกราชา

    เมื่อทักทายกันแล้วยังเรียนบอกกับท่านว่า เพื่อนฝูงของเราไม่ว่าจะเป็นพระครูสุเมธานุวัตร (ประเมษฐ์ ฐานิสฺสโร) เจ้าอาวาสวัดตลาดใหม่
    เจ้าคณะตำบลหลักแก้ว จังหวัดอ่างทองก็ดี พระมหาจินตวัฒน์ จารุวฑฺฒโน ป.ธ.๘, ดร. เจ้าอาวาสวัดม่วงชุม เจ้าคณะตำบลไม้ดัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรีก็ดี ตลอดจนกระทั่งพระครูสิทธิวัฒนคุณ (พรพรหม ฐิตคุโณ) ที่ปรึกษาเจ้าคณะเขตตลิ่งชัน เจ้าอาวาสวัดกระจังก็ดี พากันเจ็บไข้ได้ป่วยไปตาม ๆ กัน ใครอยู่ใกล้ที่ไหนก็ไปเยี่ยมเยือนให้กำลังใจเพื่อนฝูงบ้าง

    ท่านพระครูกิตติสารวิสิฐยังบอกว่า "จำเพื่อนฝูงได้หมดแบบนี้ แถมยังรู้ความเคลื่อนไหวขนาดนี้ ก็สมควรแล้วที่รับหน้าที่ประธานรุ่นมาถึง ๓ วาระ คาดว่าครั้งต่อไปก็คงต้องรับหน้าที่อีกตามเคย"

    กระผม/อาตมภาพก็ได้แต่กลืนน้ำลายว่า เมื่อไรเพื่อนฝูงจะมีความรับผิดชอบกันเสียที เมื่อโยนหน้าที่มาให้ ถึงเวลาเลือกตั้งใหม่ก็บอกว่า "รูปเดิมสมควรเป็นต่อ ท่านทำหน้าที่ได้ดีแล้ว" กระผม/อาตมภาพก็ต้องกัดฟันทำหน้าที่ต่อไป คาดว่าอาจจะหมดลมหายใจคาตำแหน่งไปเลยก็เป็นได้..!

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันจันทร์ที่ ๒๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...