เลข ๕ กับ...วัดตึกคชหิรัญ

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย paang, 18 พฤศจิกายน 2005.

  1. paang

    paang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2005
    โพสต์:
    9,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +34,328
    [​IMG]

    ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน้อย ที่สายน้ำไหลเอื่อยๆ มีวัดหนึ่งเคยตกกฐินประจำปี แต่ด้วยบุญบันดาล หรือ อย่างไรไม่รู้ วัดนั้นกลับต้องรับกฐินพระราชทาน อันยิ่งใหญ่ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ปัจจุบันวัดนี้ ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และทำทานให้อาหารปลาที่หน้าวัด ปลานับหมื่น ขึ้นมารับส่วนบุญ เติบโตและเจริญพันธุ์ เป็นอาหารของมนุษย์อย่างยั่งยืน
    ประวัติการสร้างวัดแห่งนี้ เมื่อปี ๒๔๑๕ หลวงอภัยเภตรา (นายช้าง) นายอำเภอเสนาใหญ่ (ผักไห่) จ.พระนครศรีอยุธยา และนางอภัยเภตรา (อำแดงเงิน) ได้สร้างบ้านแบบเก๋งจีนขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย บริเวณ ปากคลองบ้านอ้อ ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน้อย โดยมี วัดชีตาเห็น (วัดชีโพน) ฝั่งตะวันตกอยู่ตรง กันข้าม ชาวบ้านเรียกบ้านท่านว่า บ้านตึก ท่านมีบุตรธิดา ๑๒ คน แต่เมื่อท่านอายุมากขึ้น และเจ็บป่วยมากขึ้น ท่านตัดสินใจ ยกบ้านตึกถวายให้เป็นวัด เนื้อที่ ๕ ไร่เศษ ปี ๒๔๓๗ และอีก ๕ วันถัดมาท่านได้มรณกรรม ด้วยวัยเพียง ๖๓ ปี

    ไม่มีใครทราบเหตุผลแน่ชัดว่า เพราะเหตุใดท่านไม่ยกบ้านตึกให้บุตรธิดา บ้านตึกหลังนี้ใหญ่มาก เป็นบ้าน เก๋งจีน ๕-๖ หลัง บ้างก็ว่า เพราะว่าท่านคิดว่า นางสุด คชหิรัญ ธิดาคนสุดท้องจะรักษาบ้านไว้ไม่ได้ แต่จะ อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนิกชนลุ่มแม่น้ำน้อย ก็เรียกวัดนี้ว่า วัดตึก ในเวลาต่อมา

    บ้านของท่านนายอำเภอช้าง สร้างด้วยช่างไม้ฝีมือประณีต ได้สัดส่วน สวยงาม และนั่งนอนก็เย็นสบาย ด้วยเพราะว่าอยู่ใกล้น้ำ ภูมิสถาปัตย์ถูกหลักอากาศพลศาสตร์ แข็งแรง ทนทาน (ไม้สักทั้งหลัง) ระเบียง และศาลาริมน้ำ เป็นที่นั่งเล่นยามว่างได้เป็นอย่างดีเยี่ยม

    วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๕๑ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เสด็จประภาสต้นจากบางปลาม้า สุพรรณบุรี มาตามคลอง จระเข้ใหญ่ ผ่านลาดชะโด มาจอดเรือที่หน้าบ้าน หลวงวารีโยธารักษ์ ประจวบกับขณะนั้นมีงานแข่งเรือ และร้องรำทำเพลงกัน เป็นครึกครื้นมาก พระองค์ท่านได้เสด็จฯ ไปซื้อของตามเรือนแพ ที่ขายสินค้าอุปโภค และบริโภค เป็นที่พอพระราชหฤทัย

    [​IMG]

    ครั้นวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๑ พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงทราบว่า มีวัดตกกฐินในปีนั้น นั่นคือวัดตึก ซึ่งโดย ธรรมเนียมปฏิบัติ วัดในพุทธศาสนาทุกวัด ในแต่ละปี จะต้องมีการทอดกฐินประจำปี วัดใดไม่มีพุทธศาสนิกชน จองทอดกฐิน บรรดาศรัทธาวัดนั้น ก็จะรู้สึกเดือดร้อนใจ ครั้นเมื่อมีผู้จองกฐิน บรรดาศรัทธาวัดรู้สึกปลาบปลื้ม และตื่นเต้น ที่ได้มีผู้ใจบุญ ทอดกฐินให้ในปีนั้น

    เมื่อเสด็จฯ ไปทอดกฐินวัดตึก เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๔๕๑ พระองค์ได้ทรงถามว่า ใครเป็นผู้สร้างวัดนี้ เมื่อทรง ทราบว่านายอำเภอช้าง และอำแดงเงินเป็นผู้ถวายบ้านตึก ของตนเองให้เป็นวัดก่อนสิ้นบุญ พระองค์ทรง โสมนัส และอนุโมทนาเป็นที่ยิ่ง จึงได้ทรงโปรดพระราชทานชื่อวัดตึก เสียใหม่ว่า วัดตึกคชหิรัญ (คช คือ ช้าง หิรัญ คือ เงิน) นับเป็นสิริมงคล แก่ชาวผักไห่เป็นที่ยิ่ง และนับแต่นั้นมา คนทั่วไปก็เรียกวัดนี้ ด้วยชื่อที่ได้ พระราชทานให้

    ในครั้งนั้น พระพุทธเจ้าหลวง นอกจากได้พระราชทานชื่อวัด เป็นเกียรติยานุสรณ์ แก่นายอำเภอช้าง อำแดง เงินแล้ว พระองค์ยังได้พระราชทาน สัญญาบัตรพัดยศถวายแด่ พระครูวินัย (อ่ำ) เจ้าอาวาส รูปที่ ๑ ของวัดตึก เป็น "พระครูสุทธาจารวัตร" ปัจจุบันนี้มีเจ้าอาวาส รูปที่ ๓ คือ พระครูพิพัฒน์วรวิทย์ ได้ดำเนินกิจกรรมพระสงฆ์ ด้วยดีเสมอมา โดยเฉพาะสำนักเรียนปริยัติธรรม นำทางธรรมสู่ทางโลก (วัดนี้มีอายุ ๑๑๑ ปี)

    ในอดีต แม่น้ำน้อยมีปลากุ้งชุกชุมมาก ฤดูปลาออก (น้ำลด ปลาในท้องนาท้องน้ำลำห้วยตื้น จะออกมายัง แม่น้ำใหญ่ที่ลึกกว่า) จึงเป็นที่หมายปอง ของนักล่าหาปลา ขบวนเรือแห เรือสวิง ยอยักษ์ ทำงานกันคลาคล่ำ ไปทั้งท้องน้ำ มือตกปลาตกกุ้งลอยเรือกันเกร่อ ได้ปลามาแล้วบ้าง ก็ชำแหละรมควันกาบมะพร้าว เก็บเป็น ปลาย่าง บ้างก็หมักเกลือเป็นน้ำปลาสร้อย ปลาส้ม ปลาร้าปี๊บ สองฝั่งแม่น้ำน้อย จึงมีเครื่องมือจับปลามากมาย เป็นวิถีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ควรอนุรักษ์ให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพื่อนๆ ไปเที่ยวบ้านชวนลงเรือไปทอดแห สนุกได้ปลาสดกินอร่อย

    [​IMG]

    นอกจากนี้แล้ว ยังมีเรือที่สัญจรขนาดใหญ่สุดก็ เรือเขียวเรือแดง เป็นเรือโดยสาร ๒ ชั้น ขนถ่ายทั้งคน และ สินค้าขึ้นล่อง กรุงเทพฯ เรือไอสำหรับสัญจรระยะสั้นๆ ในชุมชน บางทีก็ลากจูงเรือเอี้ยมจุ๊น บรรทุกข้าวสาร เรือหางยาวเสียงดังมาก ว่ากันว่า ชาตรี ศรีชล นักแต่งเพลงและนักร้องชื่อดังในอดีต ได้แรงบันดาลใจ ในการ แต่งเพลง สาวผักไห่ เพราะได้นั่งเรือ แต่เดี๋ยวนี้ไป อ.ผักไห่ ต้องไปทางบกเท่านั้น โดยไปได้หลายทาง

    บริเวณหน้าวัดตึกคชหิรัญ มีแพลอยอยู่ ๒ หลัง ถ้าโชคดีก็จะได้นั่งกินก๋วยเตี๋ยวเรือต้มยำ สูตรโบราณ ของชาวผักไห่ขนานแท้ เรือแม่ค้าที่พายขายห่อหมก ปลาสด และปลาแห้ง ยังทำและขายด้วยวิธีการเดิมๆ นอกจากนี้ยังได้ ทำบุญ คือซื้ออาหารปลาถุงละ ๑๐ บาท เลี้ยงปลานับหมื่นตัวได้อย่างเพลิดเพลิน เด็กๆ ที่ไปกับครอบครัวจะชอบมาก สายลมเย็นกลางน้ำชวนหลงใหลในวันที่ไม่รีบร้อน
    วัดตึกคชหิรัญ วัดที่มีเลข ๕ สัมพันธ์กันสามครั้ง ได้แก่เนื้อที่ ๕ ไร่ อีก ๕ วันนายอำเภอช้างมรณกรรม และ พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๕ ทรงรับกฐินตก ได้บุญใหม่ ห้า ห้า ห้า แปลกมาก สอบถามเส้นทางไป วัดตึกคชหิรัญ ได้ที่โทร.๐-๓๔๓๙-๑๒๔๕

    ที่มา http://www.komchadluek.net
     

แชร์หน้านี้

Loading...