"เรื่องนรกกับสวรรค์" ธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 4 สิงหาคม 2012.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    [​IMG]

    ทีนี้ จะพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์เรานี้ คือได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ เรื่อง นรก เรื่อง สวรรค์.

    เรื่องอะไรเหล่านี้ เราก็ เคยได้ยิน ได้ฟังว่า : ที่ เลวหรือต่ำหรืออบาย มี นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ; นี่เป็นส่วนเลวหรือส่วนต่ำหรือส่วนผิด. แล้ว สูงขึ้นมาก็คือมนุษย์, สูงขึ้นไปอีกก็คือสวรรค์, สูงขึ้นไปอีกก็คือพรหมโลก. ถ้าจะมี สูงขึ้นไปกว่านั้นอีก ก็กลาย เป็นนิพพาน ไปเลย เป็นภาวะแห่งนิพพานไปเลย.
    ที่เราได้ยินคำว่า อบาย : นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นี้ ที่เรามีความรู้กันอยู่เดี๋ยวนี้ในสมองนี้ ว่าตายแล้วจึงจะไปตก แล้วมันอยู่ใต้ดิน แล้วมีลึกลับหลายชั้น ที่เรียกว่า นรก มีอาการอย่างนั้นอย่างนี้ ถูกลวง ถูกเผา ถูกลวกน้ำร้อน ถูกแช่น้ำกรด ถูกทิ่มแทง อะไรอย่างนี้, เดรัจฉาน ก็คือสัตว์ที่อยู่ตามทุ่งนาตามป่าตามดง, เปรต ก็ไม่ใครเห็นตัว ปากเท่ารูเข็ม ท้องเท่าภูเขา รูปร่างก็ประหลาด ๆ, อสุรกาย ก็เป็นผีชนิดหนึ่ง, ซึ่งทั้งหมดนั้นมันเป็นความหมายตามปุคคลาธิษฐาน ไม่ใช่ความหมายตามที่พุทธศาสนาต้องการ.
    มนุษย์ก็มีความหมายไปอย่างหนึ่งอีก, สวรรค์ก็อีกอย่างหนึ่ง, พรหมโลกก็อีกอย่างหนึ่งอีก. ขอให้สังเกตดูไปตามลำดับ : ถ้าเรา เอามนุษย์เป็นหลักตรงกลาง ; ข้างล่าง ลงไปเป็น อบาย, ข้างบน เป็น สวรรค์ อย่างนี้. มนุษย์มันมีความหมายเฉพาะคำนี้อย่างหนึ่ง คือว่า อยู่ในระดับที่ยังไม่พูดว่าเลวหรือดี สุขหรือทุกข์ ผิดหรือถูก แต่มีความหมายอยู่อย่างหนึ่งว่า เป็นผู้ที่กำลังกระทำอะไรอยู่อย่างเหน็ดเหนื่อย แล้วแต่ว่าทำดีหรือทำชั่ว. ฉะนั้น มนุษย์จึงมีความหมายว่าผู้เหน็ดเหนื่อย หรือความเหน็ดเหนื่อย. ทีนี้ถ้าว่า ความเหน็ดเหนื่อยนั้นมันผิด มันก็เป็นบาป มันก็เป็นฝ่ายอบาย นรก, ถ้าเป็นดี มันก็เป็นฝ่ายสวรรค์ ; เลยนั้นไปอีก คือเหนือผิด เหนือถูก เหนือดี เหนือชั่ว จึงจะเป็นนิพพาน.
    คำว่า อบายนั้นมี ๔ ได้แก่ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย. อย่าเข้าใจเหมือนที่เด็ก ๆ เล็ก ๆ เห็นภาพตามฝาผนังแล้วเข้าใจ.
    นรก นั้นมันหมายถึง ความร้อนใจ คือมนุษย์กำลังร้อนใจเป็นทุกข์เหมือนไฟเผาอยู่ในใจ เรียกว่าเมื่อนั้นตกนรก จะด้วยเหตุอะไรก็ตาม เพราะทำผิดเอง แล้วตกนรกก็ตาม หรือว่ามันบินมาตก ยกมาใส่อะไรก็ตาม ถ้ามันเป็นความร้อนใจ เหมือนไฟเผาอยู่ข้างในแล้วก็เรียกว่า ผู้น้ำกำลังตกนรก ที่นี่และเดี๋ยวนี้ก็ได้. ถ้าโง่อย่างไม่น่าโง่ ไม่ควรโง่ อย่างนี้ก็ เป็นสัตว์เดรัจฉาน ที่นี่และเดี๋ยวนี้ก็ได้.
    ถ้ามันหิว ทะเยอทะยาน เหมือนอย่างหิวอยากจะถูกลอตเตอรี่ หรือว่าต้องการอยากจะสอบอะไร จะให้ได้อย่างอกอย่างใจ ฝันมาก นี้ก็เรียกว่าหิวทางจิต ก็เรียกว่า เป็นเปรต คือมีความหิวที่เผาอยู่ในใจ.
    ถ้าเมื่อใด มีความขลาด ขึ้นมา อย่างไม่ควรจะขลาดเลย ไม่มีเหตุผลที่จะขลาดอย่างนี้ เมื่อนั้นก็เป็นอสุรกาย เป็นผีอสุรกาย ที่นี่เดี๋ยวนี้ก็ได้.
    ขอให้ฟังให้ดี ๆ ว่า นี่คือ ความหมายที่แท้จริงและถูกต้อง จะเป็นนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ที่นี่หรือต่อตายแล้วก็ตาม ; ความหมายมันเปลี่ยนไม่ได้ มันเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้. มันสำเร็จอยู่ที่ "ความหมาย" จริงอยู่ที่ "ความหมาย" สำคัญอยู่ที่ "ความหมาย". พอมีความร้อนใจก็เป็นสัตว์นรก พอมีความโง่ก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน พอมีความหิวก็เป็นเปรต หิวนี่คือหิวทางวิญญาณ ทางจิตใจ ไม่ใช่หิวข้าว แล้วก็กลัวอย่างไม่มีเหตุผลก็เป็นอสุรกาย.
    นี่คือ ความสับสนของภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ มันเป็นอย่างนี้ มันมีความหมายที่สับสนอย่างนี้. ถ้าเป็นมนุษย์ก็เป็นผู้เหน็ดเหนื่อย เป็นผู้ทำการงาน ; แล้วแต่ว่าการงานนั้น มันจะนำไปสู่นรกหรือจะนำไปสู่สวรรค์. ถ้าสวรรค์ก็คือความพอใจตัวเอง นับถือตัวเอง ยินดี มีความสุข มีเหตุปัจจัยให้ได้สิ่งที่ตัวต้องการ ; โดยเฉพาะที่เป็นทั่ว ๆ ไปก็คือกามคุณ, ความได้พอใจในเรื่องกามารมณ์ เรียกว่าสวรรค์.
    คำว่า สวรรค์ นี่ บางทีมันก็มีความกำกวม เช่น : สวรรค์ชั้นรูปาวจร สวรรค์ชั้นกามาวจร สวรรค์ชั้นพรหมโลก. เดี๋ยวนี้เราแยกสวรรค์มาเพียงชั้นกามาวจร คือได้รับผลของการกระทำในทางที่ดีที่ถูกต้อง เป็นความพอใจในตัวเองอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นที่พอใจอยู่ ก็เรียกว่าสวรรค์. ถ้าสวรรค์ชั้นธรรมดา ก็เรียกว่ากามาวจร มีเรื่องกามารมณ์เป็นหลักใหญ่.
    ถ้าเป็นพรหมโลก ก็เลยกามารมณ์ขึ้นไป ; เห็นกามารมณ์เป็นที่น่าขยะแขยง แล้วก็ไปเอาความสงบ มีตัวกู - ของกูที่สงบเย็นอย่างชนิดใดชนิดหนึ่ง เกิดจากรูปธรรม วัตถุบ้าง เกิดจากนามธรรมความคิดนึก ความรู้สึกบ้าง เช่นว่ามีของเล่นที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ ก็พอจะเรียกได้ว่า เป็นเรื่องของพรหมโลก.
    ถ้าเป็นเรื่องของนามธรรม เช่น เกียรติยศ พอใจในบุญ - กุศล ฯลฯ อะไร ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ ก็เรียกว่า เป็นพรหมโลกชั้นสูงขึ้นไปอีก บางคนเขาเรียกว่า รูปพรหม อรูปพรหม. แต่อย่าไปนับว่า มันอยู่บนสวรรค์ข้างบนหัวเราขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป ข้างบน เป็นสวรรค์กามาวจร ๖ ชั้น แล้วพรหมโลกอีก ๑๖ ชั้น เป็น ๒๒ ชั้น. นี่ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว มันก็ยิ่งน่าหัวสำหรับสมัยนี้ เพราะเรารู้กันอยู่ดีว่า บน ล่าง นี้ มันไม่มี.
    โลกนี้มันเป็นลูกกลม มันมีจุดดึงดูดอยู่ที่ศูนย์กลางของมัน มันดึงเข้ามารอบตัว มันไม่มีบนไม่มีล่าง ล่างก็คือจุดศูนย์กลางของโลก บนนั่นก็คือรัศมีที่พุ่งออกไปจากจุดศูนย์กลาง ; มันไม่มีบน ไม่มีล่าง แล้วจะต้องพูดเรื่องบนเรื่องล่างนี้ มันก็เลยกลายเป็นเด็ก ๆ ไป ; หรือไม่รู้อะไรไป. พูดว่าสวรรค์เป็นชั้น ๆ ขึ้นไป มันก็ไม่มีบน ไม่มีล่าง มันก็เข้าใจไม่ได้ ; แต่ในสมัยที่เขาพูดกันอย่างโน้น เขาเชื่อกันอย่างโน้นก็มีประโยชน์. แต่เดี๋ยวนี้ถึงสมัยนี้แล้ว พูดกันอย่างนั้น มันไม่มีประโยชน์ คือไม่มีใครยอมฟัง หรือยอมเชื่อ แล้วมันก็ไม่จริงด้วย ; มันต้องเอาเรื่องจริงคือสวรรค์ที่อยู่ในใจในอก นรกที่อยู่ในใจ นี้จริงกว่า.
    เมื่อใด มีความพอใจตนเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้ แล้วก็เป็นเหตุให้อาศัยความดีนั้นแสวงหาสิ่งที่ต้องการดีตามที่สามัญสัตว์ต้องการนั้น ก็เรียกว่าสวรรค์ชั้นกามาวจร แบ่งเป็น ๖ ชั้น ; แต่ว่า ๖ ชั้นนั้น ก็ไม่ค่อยมีอะไรต่างกันนัก เป็นเรื่องกามารมณ์ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าประณีตกว่า ประณีตกว่า ประณีตกว่า ไปจนกระทั่งถึงกับว่ามีคนคอยสนองให้ด้วย ไม่ต้องลงมือหยิบเอง ไม่ต้องบริโภคเองอย่างนี้ก็ยังมี. เมื่อใดมันมีความพอใจ ได้ตามความพอใจ เป็นผลของการประพฤติกระทำที่ถูกต้อง ไม่มีความร้อนใจ ไม่มีอะไรแล้ว ก็เรียกว่าเป็นสวรรค์ได้. นี่ถ้ามันบริสุทธิ์จนไม่เกี่ยวกับกามารมณ์แล้ว ก็เรียกว่าสวรรค์ชั้นพรหม เป็นพรหมโลกไปได้.
    คนบางคนไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ แต่มีความสุขอยู่ได้กับเรื่องทางอื่น เช่นเรื่องแม้แต่ของเล่นที่ทำให้พอใจ เขาก็สบายใจอยู่ตลอดวันตลอดคืน, หรือพวกที่เชื่อในบุญในกุศล ในเกียรติยศ ก็พอใจสบายใจอยู่ได้ตลอดวัน ตลอดคืน ไม่ต้องลำบากด้วยเรื่องกามารมณ์. มันมีความหมายอย่างนี้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ได้ทั้งนั้น, ทั้งสวรรค์อย่างกามาวจรก็ดี สวรรค์อย่างพรหมโลกก็ดี. นี่คือความสับสนของความหมายของภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ ศึกษากันอยู่ ปฏิบัติกันอยู่ ; ฉะนั้น เราก็มีหน้าที่ที่จะต้องเลือกเอาว่า ความหมายอย่างไหน หรือระบบไหน จะช่วยให้เรามีประโยชน์ละก็ถือเอาระบบนั้น.
    ถ้า เรื่องต่อตายแล้ว คือหลังจากตายแล้วเข้าโลงไปแล้ว ยังรู้ไม่ได้ ก็ทิ้งไว้ก่อน ; แต่ที่นี่อย่าตกนรก อย่าตกอบาย ตายแล้วไม่ตกแน่. ถ้าที่นี่ยึดเอาสวรรค์ให้ได้ ตายแล้วก็ต้องได้สวรรค์แน่ ; เพราะมันเป็นการกระทำเหมือนกัน. ถ้ากระทำชนิดที่ได้สวรรค์ที่แท้จริงที่นี่ได้แล้ว ตายแล้วก็ต้องได้. ถ้าว่ามันมี ถ้าว่าชาติหน้ามีจริง มันก็ต้องได้แน่นอน ; เพราะได้สอนไว้อย่างเดียวกัน.
    ที่มันจริงกว่าเป็นปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า ก็คือว่า ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ; ฉะนั้นอย่าตกอบายที่นี่และเดี๋ยวนี้ อย่าเป็นนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ที่นี่และเดี๋ยวนี้, แล้วก็มีสวรรค์อย่างกามาวจร หรืออย่างพรหมโลกก็ตามที่นี่และเดี๋ยวนี้, หรือว่าจะสลับกันบ้างก็ได้. บางเวลาเราก็เปลี่ยนแปลงเป็นสวรรค์อย่างโน้นบ้าง อย่างนี้บ้างก็ยังได้ ; แต่ อย่าต้องไปตกนรกดีกว่า หรือว่าถ้าตกนรก ก็รีบขึ้นมาเสียเร็ว ๆ . ให้รู้จักหลาบ รู้จักจำ ในการที่จะไม่ทำสิ่งที่ทำให้เกิดความร้อนใจอย่างนั้นอีก.
    นี่เรียกว่าให้เข้าใจความหมายของคำว่า นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย มนุษย์ สวรรค์ พรหมโลกอะไรให้ดี อย่างที่มีประโยชน์ อย่างที่พุทธบริษัทต้องการ. สำหรับบุคคลผู้มีปัญญาในสมัยนี้ ในยุคที่เรียกว่ายุคอวกาศ ยุคปรมาณู อะไรอย่างนี้.
     
  2. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    ทีนี้ ถ้าเลยสวรรค์ เลยพรหมโลกไป ก็เป็นเรื่องนิพพาน คำว่านิพพานนี่เป็นคำที่ทำความลำบากยุ่งยากมากที่สุด แล้วก็ทำความเสียหายอย่างมากที่สุดด้วย, เพราะเอาคำนี้ ไปพูดเล่นกันอย่างไร้ความหมาย ไร้สาระไปเสียก็มี, แล้วที่ยึดมั่นถือมั่นก็หลับหูหลับตา ปรารถนาทั้ง ๆ ไม่รู้ว่าอะไรก็มี, เข้าใจว่าเป็นบ้านเป็นเมือง เต็มไปด้วยกามารมณ์ได้อย่างอกอย่างใจก็มี.

    นิพพาน นั้น หมายความ ตามตัวหนังสือว่าเย็น. ให้จำไว้เป็นหลักทุกคน เพื่อป้องกันความยุ่งยากต่าง ๆ ให้จำไว้ว่า คำว่านิพพานนี้ แปลว่า เย็น เป็นภาษาพูด มีพูดอยู่แล้วก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ; เด็ก ๆ ก็พูด คำว่านิพพานนี้ หมายถึงเย็น, ที่เดี๋ยวนี้เราพูดว่าเย็นนั่นแหละ ภาษาบาลีในอินเดียครั้งก่อนโน้น เขาใช้คำว่า นิพพาน.

    คำว่าเย็นนี้ มันแบ่งไปได้ตามประเภท เช่นประเภทไฟ ซึ่งเป็นเรื่องวัตถุ. วัตถุเย็น เช่นข้าวร้อนปล่อยให้เย็น จึงจะกินได้ อย่างนี้เป็นต้น พอข้าวเย็นกินได้ เด็ก ๆก็ร้องตะโกนบอกกันว่า "ข้าวนิพพานแล้ว มากินได้" ; นี่เป็นภาษาที่พูดอยู่จริง ; เป็นเรื่องของวัตถุ ที่ร้อนลุกโชนอยู่ แล้วเย็นลง ก็เรียกว่านิพพานทั้งนั้นเลย.

    ถ้าว่าเป็นของสัตว์เดรัจฉาน คำว่านิพพานนี้เขาก็ใช้กับสัตว์เดรัจฉาน ที่เย็นสนิทคือถ้าฝึกดีแล้ว ไม่มีอันตรายอีกต่อไป เรียกว่า "สัตว์ตัวนี้นิพพานแล้ว" ; นี้ก็เป็นคำพูดอยู่ในสมัยนั้นในยุคนั้น.

    เขยิบขึ้นมาถึงคน เป็นเรื่องของคน. ยุคแรก ๆ คำว่าเย็นนี้ หมายถึงเย็นเพราะดับความกระหาย ความใคร่ได้ชั่วขณะ ; มีอยู่ยุคหนึ่ง สมัยหนึ่ง ที่ถือเอาความสมบูรณ์ทางกามารมณ์ว่าเป็นนิพพาน และดูเหมือนยังเหลือมาจนถึงครั้นพุทธกาลด้วย. คนพวกที่นิยมถือว่ากามารมณ์เต็มเปี่ยมนิพพานนี้ ยังมีมาจนถึงครั้นพุทธกาล.

    คนอีกจำพวกหนึ่งว่า อย่างนั้นไม่ใช่เย็น มันเป็นเรื่องร้อนชนิดหนึ่ง ; ไม่ยอมรับ. พวกนี้ถือ เอาความที่จิตหยุดสงบเพราะอำนาจของสมาธิ เป็นฌาน เป็นสมาธิ เป็นสมาบัติ จิตสงบอยู่ไม่เกี่ยวข้องกับอะไร ; ถือว่าอย่างนี้เป็นนิพพาน นับว่าดีกว่าขึ้นมา ; แล้วก็มีคนถือมาก ถือมาจนกระทั่งถึงยุคพุทธกาล. พระพุทธเจ้าออกบวชไปเที่ยวศึกษา ก็ได้รับคำสั่งสอนข้อนี้ว่า หยุดความรู้สึกของจิตเสียได้ ถึงขนาดที่จะเรียกว่าตายก็ไม่ใช่, ไม่ตาย มีชีวิตก็ไม่ใช่ ที่เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ, อาจารย์คนสุดท้ายของพระพุทธเจ้าชื่อ อุทกรามบุตร นั่น ได้สอนเพียงเท่านี้.

    พระพุทธเจ้า ว่าไม่ใช่ ยังไม่เย็น จึงไปค้นหาตามแบบของท่าน ; จึงไป พบความหมดกิเลส หมดความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู - ของกู ไม่เกิดโลภ โกรธ หลง อีกต่อไป. นี่แหละว่าเย็น ว่านี่คือนิพพาน แล้วก็ไม่เคยมีใครค้านของท่านได้ จนมาถึงพวกเรา.

    คำว่า นิพพาน คำเดียว มีความหมายมากอย่างนี้, สำหรับวัตถุก็อย่างหนึ่ง, สำหรับเดรัจฉานก็อย่างหนึ่ง, สำหรับมนุษย์ก็มีถึงสามระดับ ; เรารู้อย่างนี้แล้ว เราก็รู้ ความหมายที่ค่อนข้างจะปลอดภัย โดยพยายามทำให้มันเย็นไว้ก็แล้วกัน ให้ตัวเองเย็นกายเย็นใจไว้ก็แล้วกัน. พอกิเลสเกิดขึ้นก็ร้อนเกิด ; ฉะนั้น ระวังอย่าให้มันเกิด ให้มันเย็นอยู่เสมอ ให้เป็นนิพพานชั่วคราว นิพพานชั่วขณะอยู่เสมอ อย่างนี้ก็ยังดี.

    นี่สำหรับคำว่า นิพพาน หมายถึงหยุด หรือ เย็น หรือ เป็นอิสระ ; เปรียบเทียบกันดูเถิด : ถ้าเป็นมนุษย์ก็หมายความว่าเหน็ดเหนื่อยอยู่ เหงื่อไหลไคลย้อยอยู่ ถ้าเป็นอบาย เป็นนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นี้ก็ไม่ไหว. ถ้าเป็นเทวดาในชั้นกามาวจร ก็มัวเมาอยู่ด้วยกามารมณ์. ถ้าเป็นพรหมอยู่ในพรหมโลก ก็มัวเมาอยู่ด้วยความสุขอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์. รวมความแล้วก็เรียกว่า ต้องมัวเมาหรือเป็นอย่างที่เรียกว่า ต้องถูกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ. ส่วน นิพพาน เป็นเรื่องกระเด็นออกไปไม่ถูกกระทำ ไม่ถูกสิ่งหนึ่งสิ่งใดกระทำแก่จิตใจ ไม่มีอะไรมารัดรึงแก่จิตใจ เรียกว่านิพพาน ที่เป็นความหมายที่รัดกุมตรงตามความหมายในพุทธศาสนา.

    ถ้ารู้อะไร ไม่ตรงกับที่รู้ ๆ กันอยู่นี้ ; ก็ขอให้เข้าใจว่า นั้นแหละคือความสับสน ที่ต้องการจะชี้อย่างยิ่ง ; ให้เห็นความสับสนความมุ่งหมายของภาษาที่เราใช้พูดจากันอยู่ กับที่มันมีอยู่จริงของธรรมชาติ นี้เรียกว่ามนุษย์ไม่ได้รู้จักสิ่งเหล่านี้อย่างถูกต้อง จนกระทั่งว่า ไม่รู้ว่า เกิดมาทำไม ? อย่างนี้เป็นต้น.

    คัดลอกมาจาก http://www.buddhadasa.in.th/html/life-work/dhammakot/37-dhammabutra/10.html
     
  3. proart gallery

    proart gallery สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    5
    ค่าพลัง:
    +1
    ขอขอบคุณครับกับบทความดีๆเเบบนี้
     

แชร์หน้านี้

Loading...