เรื่องความตาย โดยหลวงตาพวง สุขินทริโย วัดศรีธรรมมาราม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย แดนโลกธาตุ, 7 กันยายน 2006.

  1. แดนโลกธาตุ

    แดนโลกธาตุ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กันยายน 2006
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    7
    ค่าพลัง:
    +23,977
    ความตาย
    หลวงตาพวง สุขินทริโย
    วัดป่าใหม่นิคมพัฒนาราม (ก.ม. 17) ต. กระจาย อ. ป่าติ้ว จ. ยโสธร
    คัดลอกจาก http://www.geocities.com/sukhintariyo/
    [​IMG]
    นโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธ ธัสสะ
    (3 จบ)
    สัพเพสัตตา มรัญติจะ มะริงสุจะ มะริสสะเร ตะเถวาหัง มริสสามิ นัตถิเม เอตถะ สังสะโย
    ในภาษิตที่ได้ยกขึ้นกล่าวในเบื้องต้นว่า สัพเพ สัตตา มรัญติจะ มะริงสุจะ มะริสสะเร ตะเถวาหัง มริสสามิ นัตถิเม เอตถะ สังสะโย มีเนื้อใจความของภาษิตนี้ ก็แปลว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่มีในโลกนี้จะมีความตายนี้มาครอบงำ และความตายนี้ไม่มีจุดหมายปลายทาง ไม่มีสิ่งที่จะต้านทานความตายนี้ได้ ที่ตายมาแล้วก็ดี ที่ตายอยู่ในบัดนี้ก็ดี ที่จะตายในวันข้างหน้าก็ดี นัตถิเม เอตถะ สังสโย ความสงสัยในเรื่องความตายนั้น ย่อมไม่มีแก่พวกเราท่านทั้งหลายแล้ว แสดงว่า ความตายนี้มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่มีแผ่นดินนี้มาก็สัตว์ เมื่อมีสัตว์เกิดมาในแผ่นดินนี้ก็มีมา เรื่อย ๆ
    เหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมเป็นสัจธรรมไว้ว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิดก็คือความตั้งขึ้นแก่ คือ ความแปรปรวน เจ็บนี่คือความทุกขเวทนา ซึ่งเกิดขึ้นจากแก่ เมื่อเจ็บหนักเข้าก็ทนไม่ไหว ก็ปลงคือว่า ตาย อันนี้ เกิด แก่ เจ็บ ตายนี้เป็นสัจธรรม ไม่มีใครที่จะหลีกเลี่ยงไปได้ เหตุดังนั้น ความตายนี้ ถึงแม้จะมีแก่ตนและบุคคลอื่นก็ตาม ให้พวกเราทั้งหลายนั้นปลง ปลงให้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
    ปลงให้เป็นอนิจจังนั้น คือความไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงเราจะเห็นได้ในสังขารที่ไม่มีใครครอง อย่างต้นไม้ บ้านเรือน เมื่อเราสร้างขึ้นใหม่ ๆ มันก็สวยงาม นาน ๆ เข้า ความแปรปรวนอันนั้น ก็ชำรุดทรุดพังหรือไปตามกาลเวลา ผลที่สุดก็สลักหักพังลงมา อันนี้เรียกว่า ไม่เที่ยง ต้นไม้ก็เหมือนกัน ต้นไม้ทีแรกมันก็เจริญขึ้น เจริญขึ้น เมื่อใหญ่โตเต็มที่แล้วก็สลักหักพังลงมาหรือตาย เป็นสิ่งแสดงให้เราเห็นเรียกว่า อนิจจัง คือความไม่เที่ยง
    ถ้ามาดูใกล้ ๆ ตัวของเรา แต่ก่อนเราเป็นเด็ก เปลี่ยนจากเด็กมาเป็นหนุ่ม เป็นสาว เปลี่ยนจากหนุ่มสาวมาเป็นกลางคน จากกลางคนนั้นก็มาเป็นคนเฒ่า คนแก่ คนชรา ดูหน้าตาเนื้อหนังมังสังตลอดถึงเกศา อยู่บนศีรษะก็คนดกดำ ก็หงอกโพลน เนื้อหนังมังสังก็เหี่ยวแห้ง แก้มก็ตอบ ฟันหลุด อันนี้แสดงถึงอนิจจัง ความไม่เที่ยง มันแก่ ความแก่นี้เรียกว่า ความไม่เที่ยง เมื่อเราพิจารณาความแก่แล้วเราก็ปลงสังขารของตัวเองว่า เราเกิดมาตกอยู่ในสามัญลักษณะที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันหมด ไม่ว่าใคร ๆ จะต้องแก่อย่างนี้ ไม่ล่วงพันความแก่ไปได้ พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้
    ทีนี้ถ้าเราพิจารณาความแก่แล้วจะพิจารณาความเจ็บต่อไป เมื่อแก่แล้วมันจะต้องเจ็บ โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ แก่งอม บางทีก็โอดโอย สังขารเคยไปไหนมาไหนคล่องแคล่ว อย่างแข้งขาแต่ก่อนไม่รู้สึกเจ็บปวด แต่เมื่อแก่มาแล้วก็บ่นว่าเจ็บแข้งเจ็บขา เจ็บหลัง เจ็บเอว เจ็บหู เจ็บตา เจ็บที่นั่น เจ็บที่นี่ บ่นหาหยูกหายามาเยียวยาไว้ นี่ความเจ็บมันห้ำหั่นมันบีบคั้นสังขาร ร่างกายของเราเข้าทุก ๆวัน อันนี้เรียกว่าความทุกข์ เมื่อไม่เที่ยงแล้วเป็นทุกข์ บางทีก็ไม่อยากข้าว ไม่อยากน้ำ บางคนกินข้าวแล้วก็บอกบ่นว่าไม่ได้กิน บางคนก็บอกว่าหิว บางคนก็ไม่อยากเสียเลยนี้ เพราะสังขารร่างกายของเรานั้น มันแปรปรวนธาตุขันธ์ ไม่เหมือนแต่เป็นหนุ่มเป็นสาว ขณะที่เป็นหนุ่มเป็นสาว ร่างกายของเรามันเจริญ เหมือนต้นไม้ ต้นหนุ่ม ๆ หรือว่าเกิดขึ้นใหม่ ๆ นั้น เอาปุ๋ยเอาน้ำรดมันยิ่งงามขึ้น แต่เมื่อแก่เฒ่าชราแล้ว จะเอาปุ๋ยเอาน้ำ ไปใส่สักเท่าไหร่ก็ตาม มันก็ไม่งอก ไม่งาม คือมันไม่ดูดปุ๋ย ไม่กินปุ๋ย มันพอแล้ว นี่สังขารร่างกายของพวกเราก็เหมือนกัน มันพอถ้าแก่มาเต็มที่แล้ว มันพอ มันกินอิ่มแล้ว
    นี่มันก็เป็นทุกข์เมื่อเจ็บเข้าหนัก ๆ ก็ปลง คือ ปลงเป็นอนัตตา คือร่างกายของเรานี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า เรายืมมาใช้ชั่วคราว เดี๋ยวเขาก็มาทวงเอากลับคืน ตาของเราแต่ก่อนนั้น เคยมองเห็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ไกล ๆ สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ สิ่งที่ละเอียดก็มองเห็น แต่เมื่อแก่ชรามาแล้ว ตาฝ้าฟาง มองไม่เห็นอ่านหนังสือไม่ได้ คือ มันทวงเอากลับคืนไป เนื้อหนังมังสังก็ทวงเอาคืนไป กำลังวังชาก็ทวงเอาคืนกลับไป
    ผลที่สุดก็ต้องทวงมอบให้มันทั้งร่างกายนี้ คือ ตาย นี่ความตายเป็นอนัตตาคือ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนของเรา เราบอกไม่ฟัง ไม่ให้มันเกิดมันก็เกิด ไม่ให้มันแก่มันก็แก่ ไม่ให้มันเจ็บมันก็เจ็บ ไม่ให้มันตายมันก็ตาย ท่านเรียกว่าอนัตตา คือ ของไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เราบอกไม่ฟังไม่อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของบุคคลผู้ใด
    อันนี้แสดงถึงสามัญลักษณะที่มีแก่สังขาร หรือแก่สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมา คนเราเกิดมานั้นนอกจากสังขารหรือร่างกายแล้ว มีอีกอย่างหนึ่ง คือจิตใจของเรานั้นยังมีห่วง ยังมีบ่วงยังมีห่วงอยู่ 3 ห่วง
    ห่วง 3 ห่วงนั้นคืออะไร ?
    ห่วงบุตร ห่วงภรรยา สามี ห่วงทรัพย์ ห่วงสมบัติ โบราณอีสานของเราจึงพูดกันว่า "ความฮักลูกคือฝ้ายผูกคอ ความฮักผัว ฮักเมีย คือปอผูกศอก ความฮักข้าวของเงินทองคือปลอกสุบตีน" อันนี้เป็นคำภาษาอีสานความรู้ลูกเหมือนเฮือกผูกคอ จะไปไหนมาไหนก็เหมือนว่าเชือกผูกคอมันแขวนคออยู่อย่างนั้น มันคิด ห่วงลูก พ่อ แม่คิดถึงลูก ห่วงลูก เหมือนด้ายผูกคอไว้ ไปไหนก็ต้องกลับมา เห็นไหม วัว ควาย พอเชือกผูกคอมันไว้ผู้ใส่หลักเอาไว้ มันจะไปสุดเชือกแล้วก็กลับมาจนเวียนอยู่ในบริเวณนั้นแหละ อันนี้แหละเชือกผูกคอ ปอผูกศอกนี้ก็คือ คู่หัวผัวเมีย
    บางคนนั้น จิตใจยังไม่มีศรัทธา จิตใจไม่ตรงกัน บางคนผัวนั้นมีศรัทธา อยากจะบริจาคทาน แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งไม่พร้อมก็บริจาคไม่ได้ คือฝ่ายสามีไม่พร้อมก็บริจาคไม่ได้ หรือฝ่ายภรรยาไม่พร้อมก็บริจาคไม่ได้ อันนี้แหละท่านจึงว่าความผูกพันระหว่างคู่ผัวเมียนั้น มันมีความห่วงความหวงซึ่งกันและกัน จะไปไหนมาไหนก็ห่วง ห่วงผัว ห่วงเมียนี้ ความห่วงนี้ เราตัดไม่ได้ ถ้ายังเป็นปุถุชนคนมืดมนอนธการอยู่ ก็ยังตัดไม่ได้ ตัดคู่ผัวตัวเมียนั้นยาก อันนี้ท่านจึงเรียกว่า "เชือกผูกคอ ปอผูกศอก" คือผูกรัดศอกเอาไว้ มัดศอกเอาไว้
    ความห่วงที่ 3 นั้นก็คือ ความห่วงทรัพย์ ห่วงสมบัติ ห่วงทรัพย์ ห่วงสมบัตินั้น ที่ทุกวันนี้ที่เราแสวงหาทรัพย์สมบัตินั้น ก็เพื่อปากเพื่อท้อง เพื่อครอบเพื่อครัว เพื่อลูกหลาน หรือเพื่ออนาคต จึงต้องแสวงหาทรัพย์ แสวงหาสมบัติ ครั้นมีทรัพย์มีสมบัติแล้วเราไปไหนมาไหนก็ห่วงมัน มันห่วงไม่อยากจากทรัพย์สมบัติไป จะเห็นได้อย่างผู้ที่มาบวชเป็นพระเป็นเณร เสียสละเวลามาบวช ลามาบวชทำงานราชการ ลาบวชเพียง 7 วัน 15 วัน แล้วก็ห่วงงาน ห่วงเงิน ห่วงการ ห่วงงาน ห่วงเงิน เงินก็คือทรัพย์ บวชก็ไม่ได้นาน เพราะห่วงอันนี้มันเป็นธรรมดาของจิตใจปุถุชนของเรายังสะสมทรัพย์ สะสมสมบัติ ยังแสวงหาทรัพย์สมบัติ ก็ยังห่วงทรัพย์สมบัติ เมื่อมีทรัพย์สมบัติแล้วก็ต้องห่วง
    ความห่วงอันนี้จึงเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายข้องอยู่ในวัฏสงสาร คือ เวียนว่ายตายเกิด จะต้องทนทุกขเวทนา หรือว่าต้องแสวงหาอยู่อย่างนี้ ต้องติดอยู่กับโลกอย่างนี้ ถ้าจิตใจของเราไม่ตัดห่วงทั้ง 3 นี้ไปได้ ก็เรียกว่า วัฏฏวน คือ วนไป วนมา วนเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่อย่างนี้ อันนี้จะยกตัวอย่างคือ ยกนิทานเรื่องหนึ่งมาชี้แจงแสดงให้ญาติโยมฟังว่า ความห่วงลูก ห่วงผัวนั้นมีมากน้อยแค่ไหน
    มีเศรษฐีคนหนึ่งอยู่ในเมืองสาวัตถี เศรษฐีคนนั้นมีลูกชายคนหนึ่ง และก็มีลูกสาวคนหนึ่ง ลูกสาวนั้นแกก็ห่วงมากเป็นพิเศษ ไม่ต้องการอยากจะให้ลำบากตรากตรำ เพราะคิดว่าทรัพย์สมบัติก็มีมากแล้ว จึงได้เป็นเศรษฐีถึงแม้ทรัพย์สมบัติมาก แต่ก็ไม่ห่วงเหมือนลูก ลูกสาวนี้เศรษฐีห่วงมากกลัวว่าเขาจะมาหลอก มาลวง มาต้ม มาตุ๋น มาฉุดลูกสาวไป ก็ให้ลูกสาวนั้นอยู่แต่ในคฤหาสน์ อยู่ในปราสาท ไม่ให้ไปไหนมาไหน เพื่อนบ้านร้านตลาดเขาไปเที่ยวเตร่เร่ร่อน หรือไปชมอันนั้น ชมอันนี้ แต่ว่าเศรษฐีคนนี้ห่วงลูกสาวมากไม่ให้ออกจากบ้าน ไม่ให้ไปเที่ยวเตร่เร่ร่อนเหมือนคนอื่น
    ครั้นต่อมาในบ้านเศรษฐีนั้นมีชายคนหนึ่ง เป็นชายหนุ่ม รูปหล่อ รูปสวยแต่ว่าเขาเป็นคนฐานะต่ำหรือวรรณะต่ำมาคอยรับใช้อยู่ในบ้านของเศรษฐี เศรษฐีก็ไว้เนื้อเชื่อใจในหนุ่มคนนั้น ก็ใช้เข้านอกออกใน วันหนึ่งเศรษฐีผู้เป็นพ่อเป็นแม่ไม่อยู่ ลูกสาวเห็นชายหนุ่มนั้นก็เกิดความสมัครรักใคร่ ก็มาพูดคุยกันตามภาษาของหนุ่มสาว เกิดความสมัครรักใคร่กัน ผลที่สุดลูกสาวของเศรษฐีก็ชวนอ้ายหนุ่มให้ออกจากบ้านของเศรษฐีนั้นไป คือยอมเป็นคู่หัวผัวเมียกัน โดยที่พ่อแม่ไม่ทราบ ครั้นชวนกันตกลงแล้วก็ออกจากบ้านนั้นไปสู่บ้านของชายหนุ่ม โดยที่ลักลอบไป ไม่ให้พ่อแม่เห็น หรือพ่อแม่ไม่ทราบ
    ครั้นติดตามกันไปแล้ว ก็ไปถึงบ้านชายหนุ่ม ครั้นไปถึงบ้านชายหนุ่มนั้น ชายหนุ่มนั้นเป็นคนทุกข์ คนจนมีฐานะต่ำ หาเช้ากินค่ำ หารับใช้ ใช้แรงงานเรียกว่าขายแรงงาน ไปหาทำงานรับจ้างได้ทรัพย์สมบัติมาก็เอามาซื้อข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงผู้เป็นภรรยา ส่วนเศรษฐีผู้เป็นพ่อ เป็นแม่ ท่านกลับมาถึงบ้านก็ไม่เห็นลูกสาว ไม่ทราบว่าจะติดตามไปหาที่ไหน สอบถามบ้านใกล้เรือนเคียงก็ไม่รู้ไม่ทราบ มีแต่ความเศร้าโศกโศกาอาดูร คิดถึงลูกสุดแสนทุกข์ระทมเข้าครอบงำเศรษฐีผู้เป็นพ่อเป็นแม่ ถึงอย่างไรก็ตาม ความรักของคนเรานั้นไม่มีพรมแดน ไม่มีชั้นวรรณะ ความรักมันข้ามน้ำ ข้ามทะเล ข้ามฟ้า ข้ามอากาศ ข้ามชาติ ข้ามภพ อันนี้ความรักจะทุกข์ยากลำบากอะไรก็ตาม ถ้าความรักครอบงำแล้วก็ทำให้มืดมนอนธการไม่ทราบว่าจะตกทุกข์ลำบากอย่างไรก็ตาม ก็พอใจจะอยู่กับชายหนุ่มที่เป็นคนจัณฑาลนั้น
    ครั้นอยู่ต่อมาก็ตั้งครรภ์ได้ 9 เดือน ก็อ้อนวอนผู้เป็นสามีให้กลับมาสู่บ้านของพ่อแม่ ส่วนสามีนั้นก็คิดว่าถ้าเราไปสู่บ้านพ่อบ้านแม่ของนาง พ่อแม่ของนางนั้นก็จะลงโทษ หรือจะทำร้ายเรา ก็ไม่กล้า ไม่กล้าที่จะพาไป จึงผลัดวันนั้น วันนี้ นางก็ท้องแก่ขึ้นทุก ๆ วัน วันหนึ่งผู้เป็นสามีไปทำงานรับจ้าง ภรรยาก็คิดว่าวันนี้เป็นโอกาสดี เราต้องหนีกลับไปคลอดลูกที่บ้านพ่อบ้านแม่ของตนเอง ก็สั่งเสียกับบ้านใกล้เคียงว่า ถ้าหากสามีของฉันกลับมาก็ขอให้บอกสามีของฉันด้วยว่า ฉันกลับไปคลอดลูกที่บ้านของพ่อแม่
    ครั้นแล้วก็เดินทางออกจากหมู่บ้านนั้นไป ไปถึงระหว่างกลางทาง ด้วยกำลังที่ครรภ์แก่ผลที่สุดก็อดกลั้นไม่ได้ ก็คลอดลูก ส่วนผู้เป็นสามีนั้นกลับจากทำงานก็ถามหาภรรยา ได้ข่าวจากบ้านใกล้เคียงก็บอกว่า เขากลับไปคลอดลูกที่บ้าน ก็วิ่งตามไป ไปทันกลางทางพอดีนางก็คลอดลูกเป็นชาย คลอดลูกเสร็จแล้วผู้เป็นสามีก็บอกว่า เราก็คลอดลูกแล้วจะไปคลอดลูกที่บ้านพ่อแม่นั้นก็หมดภาระไปแล้ว ไม่สมควรที่จะเดินทางต่อไป ผลที่สุดสามีอ้อนวอนให้กลับมา อยู่ต่อมาหลายปี สัก 2-3 ปีมา ก็ตั้งครรภ์ขึ้นอีก
    ครั้นตั้งครรภ์ขึ้นอีกนางก็อ้อนวอนผู้เป็นสามีให้กลับไปคลอดลูกที่บ้านพ่อแม่ ผู้เป็นสามีนี้ก็ผัดวันประกันพรุ่ง คือผลัดวันนั้น วันนี้เหมือนเดิม เพราะถ้ากลับไปก็กลัวพ่อแม่จะดุด่า ว่ากล่าวหรือลงโทษตน พ่อแม่อาจขับไล่ไสส่ง เพราะตนเป็นคนฐานะต่ำ ครั้นแล้วครรภ์ของนางก็แก่เข้าทุกวัน ๆ ผู้เป็นสามีนั้นก็ทนการอ้อนวอนไม่ได้ ผลที่สุดก็ต้องพาภรรยาเดินทางกลับไปสู่กรุงสาวัตถี บ้านของเศรษฐี
    ครั้นเดินทางไปถึงระหว่างทางก็เกิดพายุ ลมฝนตกลงมาอย่างแรง ทั้งสองผัวเมียและลูกคนหนึ่งนี้ ก็หาที่หลบ ก็ไปหลบฝนอยู่ในกลางป่า หาที่หลบฝนอาศัยต้นไม้ใหญ่ เป็นที่กำลังหลบฝนคือรอโอกาสจะให้ฝนมันสร่าง ฝนมันหายตกเสียก่อนถึงจะเดินทางต่อไป ฝนก็ตกไม่หยุด ตกอย่างหนักเป็นชั่วโมงสองชั่วโมง ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะลดละจนน้ำไหลนองน้ำไหลลงตามห้วย ตามคลอง ครั้นแล้วก็เวลาตะวันตกอัสดงคต ค่ำลงมาทุกที ๆ ในขณะนั้นลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ในอุทรของนางก็ป่วนปั่นขึ้นโดยกะทันหัน จึงคลอดบุตรคนที่ 2 ออกมาเป็นชาย
    เมื่อภรรยาคลอดบุตรออกมาเรียบร้อยแล้ว ผู้เป็นสามีก็หาทางช่วยเหลือเพื่อจะให้ภรรยาและลูก ๆ ได้รับความอบอุ่น เนื่องจากสายฝนตกลงมาทำให้หนาวเหน็บ จึงบอกภรรยาว่าตนจะเข้าไปหาไม้แห้ง มาก่อไฟ ครั้นว่าแล้วก็เดินเข้าไปในป่าหาไม้แห้ง ก็พอดีไปพบไม้แห้งอยู่ในจอมปลวกแห่งหนึ่งก็เลยฉุดลากไม้แห้งซึ่งอยู่ในจอมปลวกแห่งนั้นมีงูเห่าอสรพิษออกมาฉกกัดขา ด้วยพิษของอสรพิษก็เลยล้มลงสิ้นใจตายอยู่ข้างจอมปลวก ฝ่ายภรรยาและลูกรอคอยทั้งลูกผู้ใหญ่ก็ร้องไห้เพราะความหนาวเหน็บ รอเท่าไหร่ ๆ ไม่เห็นสามีกลับมา นางก็ร้องไห้รำพันบ่นเพ้อละเมอไปต่าง ๆ นานา นางก็อดทนแสนทุกข์ทรมาน จึงหมอบเอาโครงกาย บดบังเอาลูกทั้ง 2 กอดสวมไว้กลางอก จนตลอดคืน
    จนรุ่งสว่างผิวเนื้อของนางซูบซีดเพราะเสียเลือดและอดนอนทั้งคืน กลังทั้งภัยอื่น ๆ เป็นต้นว่า สัตว์สาลาสิงห์เพราะอยู่กลางดงกลางป่า พอสว่างนางก็อุ้มลูกคนเล็กจูงลูกคนโตติดตามหาสามี เข้าสู่ป่าตามทางที่สามีไปหาฟืน ก็ไปพบล้มตายอยู่ที่จอมปลวก นางก็ร้องไห้ระทมตรมใจ แต่นางก็ไม่มีปัญญาที่จะนำศพสามีของตนไปได้ จึงปล่อยให้ล้มตายอยู่ที่นั่น เพราะนางขาดที่พึ่งจึงรำลึกนึกถึงพ่อแม่ของตนที่เมืองสาวัตถี แล้วก็อุ้มลูกคนเล็ก จูงลูกคนโตออกจากป่า ทั้งร้องไห้เดินมาตามทางบ่ายหน้ามาสู่บ้านของพ่อแม่
    พอมาถึงแม่น้ำอจิระวะดี จึงมองเห็นเมืองสาวัตถีอยู่อีกฟากฝั่งแม่น้ำข้างหนึ่ง เนื่องจากฝนตกหนักในคืนที่ผ่านมาน้ำไหลหลากมาจากทางเหนือ จึงทำให้แม่น้ำอจิระวะดีมีน้ำมาก แต่พอที่จะเดินข้ามไปได้ แต่น้ำก็ไหลเชี่ยวถ้านางนำลูกทั้ง 2 คนไปพร้อมกันก็ไม่มีกำลังพอนางจึงบอกคนโตให้ยืนรออยู่ฝั่งนี้ก่อน แม่จะนำน้องไปไว้ฝั่งโน้นก่อนแล้งจึงจะกลับมารับลูกอีกครั้ง แล้วนางก็นำลูกน้อยที่คลอดใหม่ลุยน้ำข้ามไปฝั่งโน้น หักเอาใบไม้มาปูรองเอาผ้าปูทับใบไม้ เอาลูกน้อยแดง ๆ นอนไว้ที่ผ้าปูไว้เสร็จแล้ว นางก็กลับมาเอาลูกคนโต
    พอมาถึงระหว่างกลางแม่น้ำ มีเหยี่ยวยักษ์ตัวหนึ่ง บินมาในท้องฟ้ามองลงมาเห็นเด็กแดง ๆ เข้าใจว่าเป็นก้อนเนื้อ บินลงมาโฉบเฉี่ยวเอาเด็กแดง ๆนั้น บินขึ้นไปบนอากาศ นางมองเห็นเหยี่ยวโฉบเฉี่ยวเอาลูกของนางไป นางก็ร้องทั้งตบมือไล่เหยี่ยว ฝ่ายลูกคนโตที่รออยู่อีกฝั่งหนึ่งเข้าใจว่าแม่ร้องเรียกก็วิ่งลงไปสู่น้ำ น้ำไหลเชี่ยวก็พัดเอาลูกคนโตไป ไหลไปตามกระแสน้ำ จึงติดตามไม่ทัน
    ผลที่สุดนางก็ขึ้นจากน้ำไปสู่ฝั่งร้องไห้เกลือกกลิ้ง รำพันไปต่าง ๆ ว่า มีผัวผัวก็ตาย มีลูกลูกก็ตาย เราจะไปพึ่งใครที่ไหนหนอ จึงคิดเห็นแต่พ่อแม่และพี่เท่านั้น จึงได้เดินทางต่อไป
    ในขณะที่เดินทางก็มีชายคนหนึ่งเดินสวนทางมา เห็นหญิงนั้นร้องไห้ก็ถามว่าเธอร้องไห้เพราะเหตุไร นางจึงเล่าเรื่องของตนให้ชายคนนั้นฟัง เขารู้เรื่องตลอดแล้ว นางก็ถามชายนั้นต่อไปว่า ฉันเกิดอยู่เมืองสาวัตถีเป็นลูกของเศรษฐี ท่านเศรษฐีและแม่ยังสบายดีหรือ บุรุษนั้นก็เล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า เมื่อวานนี้มีพายุฝนตกกระหน่ำลงมาอย่างแรง พายุพัดเอาคฤหาสน์ของเศรษฐีพังทับเศรษฐีทั้งภรรยาและลูกชายตายหมด ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังขุดค้นหาศพอยู่
    พอนางได้ทราบเรื่องนี้นางก็เป็นลมล้มลง กลิ้งเกลือกไปมาจนเสื้อผ้าหลุดลุ่ย ไม่มีสติ พอนางลุกขึ้นได้ก็เดินซัดเซไปไม่มีจุดหมายปลายทาง เพราะความเศร้าโศกเสียใจอย่างสุดซึ้ง ไม่มีอะไรที่จะต้านทานไว้ได้ ในวันนั้น พระบรมศาสดาทรงประทับที่วัดเชตวันมหาวิหาร กำลังแสดงธรรมเทศนาแก่พุทธบริษัทจำนวนมาก นางก็เดินเข้าไปภายในวัด โดยไม่มีเสื้อผ้า พุทธบริษัทได้มองเห็นหญิงบ้าเข้าไปสู่สถานที่ไม่บังควรจึงได้ให้คนไปห้ามไม่ให้เข้าไปใกล้บริเวณนั้น แต่พระบรมศาสดาจารย์ได้พิจารณาแล้วว่า นางนี้มีอุปนิสัยสามารถที่จะได้บรรลุธรรมาภิสมัย จึงอนุญาตให้นำผ้าไปให้นางนุ่งห่มปิดกายด้วยดี แล้วนำเข้าไปนั่งฟังพุทธองค์ทรงนำธรรมมาชี้แจงแสดงแก่นางเล่าเรื่องอดีตชาติว่า นางนี้ประสบเหตุการณ์อย่างนี้มาไม่รู้ว่ากี่ภพชาติมาแล้ว น้ำตาของนางไหลนองมากกว่าน้ำในแม่น้ำอจิระวะดี
    พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่พุทธบริษัทและนาง โดยยกความรักความเศร้าโศกของคนและสัตว์ โดยยกเป็นบาลีว่า ปิยาโต ชายะเตโสโก ปิยะโต ชายะเตภยัง ดังนี้ ซึ่งมีใจความว่าความรักมีที่ไหน ความเศร้าโศกโศกาอาดูรมีที่นั่น ความรักความผูกพันมากเท่าไร ความทุกข์ความระทมขมขื่นก็มีมากเท่านั้น นางได้ฟังธรรมเทศนาพิจารณาตามทำใจปลงลงสู่วิปัสสนาญาณ จึงได้บรรลุธรรมภิสมัย
    สำเร็จพระโสดาปฏิผลเป็นอริยบุคคลในพระพุทธสาสนา ครั้นต่อมา พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาโปรดเมตตาให้อุปสมบทเป็นนางภิกษุณี มีนามตามพระบัญญัติว่า นางปาฏาจราเถรีภิกษุณี นางได้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานไม่ช้านานเท่าไรก็ได้บรรลุพระอรหันตผล
    ในการที่อาตมาภาพนำอดีตนิทานมาชี้แจงแสดงเป็นอุทาหรณ์สอนใจแก่พุทธบริษัท ในเรื่องความห่วง ความหวง เป็นบ่วงถ่วงจิตใจให้ชอกช้ำทรมานทรกรรมสัตว์อย่างมาก
     

แชร์หน้านี้

Loading...