เรื่องของความเกิด-ดับ ....หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 28 กันยายน 2006.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    เรื่องของความเกิด-ดับ
    แสดงธรรมโดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
    วัดหินหมากเป้ง
    ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


    ต้นตอที่ทำให้เกิดทุกข์และดับทุกข์

    ในโลกนี้นอกจากรูปกับนาม คือกายกับใจแล้วจะมีอะไรอีก สุขและทุกข์ก็ดี นอกจากทุกข์กายและทุกข์ ใจแล้วจะมีอะไรและที่ไหนอีกเมื่อของทั้งสองอย่างนั้นเกิดขึ้นแล้วหากไม่ตั้งอยู่บนกายและบนใจนี้แล้วก็ไม่ ทราบว่ามันจะตั้งอยู่ได้อย่างไรและที่ไหน จิตก็เหมือนกันถ้าบุคคลจะทำการใด ๆ เพื่อให้พ้นไปจากทุกข์ ถ้าไม่ทำให้พ้นไปจากกายจากใจนี้แล้วก็จะเพื่อประโยชน์อันใด แต่ทุกข์ก็มีอิทธิพลเหนือคำสอนของครูบา อาจารย์และใครๆ ทั้งหมด ทุกข์นั้นแหละเป็นเครื่องหล่อหลอมคนให้เป็นคน ให้มีความขยันหมั่นเพียรให้พึ่ง ตนเองได้ ให้เป็นครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอนคนอื่นอย่างดีที่สุด ทุกข์เป็นมัคคุเทศก์นำทางให้คนตั้งตัวได้ทุกข์ เป็นเครื่องดึงดูดให้คนสร้างความดีความงามมีทำทานรักษาศีลเป็นต้น

    ทุกข์เป็นเครื่องวัดความสุขเสมือนปรอทเป็นเครื่องวัดอุณหภูมิ ผู้มีความสุขมากสุขน้อยต้องเอาทุกข์เข้าไปวัดเทียบ ผู้เกลียดทุกข์ไม่ชอบทุกข์ก็คือผู้ที่ไม่มีปรอท ผู้ชอบทุกข์รักทุกข์ก็คือผู้มีปรอทแต่ไม่ได้ทำการวัด ผู้เจริญฌานและนิวรณ์ห้าได้ก็ต้องใช้ปรอทนี้เป็นเครื่องวัด กายกับใจนี้เป็นพื้นฐานของโลก (คือทุกข์) ผู้มีปัญญาทั้งหลายหยิบยกเอาทุกข์อันนี้ขึ้นมาพิจารณา จนทราบเรื่องของทุกข์พร้อมด้วยมูลเหตุให้เกิดทุกข์แล้วปล่อยวาง ทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้นได้ด้วยอุบายปัญญาอันชอบ จนบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ก็ล้วนแล้วแต่มาตั้งต้นดำเนินไปจากกายกับใจ (คือทุกข์) นี้ทั้งนั้น

    จะเห็นกายกับใจแบ่งภาคกันได้
    ต่อเมื่อจิตเข้าถึงฌาน-สมาธิ แล้ว

    จิตเป็นของหาตัวตนมิได้ ต่อเมื่อประสมโรงกันเข้ากับกายแล้ว จึงจะแสดงอาการออกมาให้ปรากฏแก่ สายตาของของคนอื่นได้ จิตเป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง ซึ่งใครๆ ชี้ไม่ออกบอกไม่ถูก แต่ตัวของมันรู้ตัวมันเอง ถ้ามันส่งส่ายออกมาตามประสาทต่างๆ เช่นส่งออกมาตามจักษุประสาท เป็นต้น เรียกว่าจิต ถ้ามันไปรับเอาแสงสะท้อนของรูปที่มากระทบจักษุประสาทนั้น เรียกว่าวิญญาณ ถ้ามันไปยึดเอา รูปนั้นเข้ามาไว้ เรียกว่าอารมณ์ ถ้าเกิดพอใจ ดีใจ เสียใจ อะไรขึ้นมา เรียกว่าเวทนา ถ้าเกิดความอยากให้ มันเป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดไป หรือไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นอีก เรียกว่าตัณหา ชื่อของจิตนี้มีมากเรียกตาม อาการลักษณะของมันที่มันแสดงออกมา ที่สมมุติเรียกชื่อมานี้ เป็นแต่เพียงเล็กน้อยตามความเข้าใจของผู้เขียนเท่านั้น

    ท่านผู้รู้ทั้งหลายอาจเรียกได้มากและสมมุติได้มากกว่านี้ หรืออาจเรียกชื่อผิดแผกออกไป จากนี้ก็ได้ ที่แสดงมานี้พอให้เข้าใจถึงเรื่องที่ว่า จิต-วิญญาณ-อารมณ์-เวทนา ยังก่อนยังไม่จัดเข้าเป็น กิเลสพอเข้าเขตตัณหาแล้วนั้นแล จิตตอนนั้นจึงจะมืดมนเศร้าหมอง ที่เรียกว่า กิเลส ตัณหา ก็ต้องเกิดตาม สายรูปธรรม มีรูป-เสียง เป็นต้น ฉะนั้นเพียงแต่ลำพัง จิต-วิญญาณ-อารมณ์- เวทนา จึงยังไม่เกิดกิเลส พอถึง ขั้นตัณหาจึงเกิดกิเลส ที่ท่านแสดงถึงเรื่องกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดก็จัดตามสายนี้เอง
    เรื่องทั้งหมดที่อธิบายมานี้ ถ้าหากจิตยังไม่เข้าถึง ฌานสมาธิ ระงับอารมณ์ภายนอกให้ขาดออกจากจิตเสียก่อนแล้ว ถึงแม้ ชื่อและนามของกิเลสเราจะจำได้แม่นยำสักปานใดก็ตาม จะไม่มีวันรู้หน้าตาตัวจริงของกิเลสเลย เพราะกิเลส เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งเหมือนกัน เมื่อจิตที่อบรมดีแล้วแบ่งภาคออกมาจากรูปธรรมได้ นั่นแลจิตจึงจะสามารถรู้ตัวกิเลสได้ถูกต้อง กิเลสของจิตเมื่อผู้มาเข้าใจโดยนัยนี้แล้ว สามารถชำระให้สะอาดบริสุทธิ์ได้ ส่วนกายเป็นรูปธาตุ จะชำระอย่างไรๆ ภายในใจก็ยังสกปรกอยู่เช่นเดิม ดีหน่อยเมื่อชำระใจให้สะอาดดีแล้ว อาการกิริยาของกายมันจะเรียบร้อยขึ้น
    กายกับใจเมื่อประสมโรงกันเข้าแล้วย่อมสามารถกระทำกรรมใดๆได้ทุกอย่างไม่เลือก แล้วแต่จิตจะ บัญชา แต่ผลกรรมหรือผลงานที่เรียกว่าวิบาก ที่ทั้งสองร่วมกันกระทำนั้น เมื่อยังอยู่ร่วมกันก็ร่วมกันรับร่วมกันเสวยต่อไป เมื่อรูปแตกกายดับเขาหนีไปตั้งทัพอยู่เฉพาะเขา คือเป็นดิน น้ำ ไฟ ลม ตามสภาพของมันแล้ว คราวนี้จิตเป็นผู้รับเคราะห์กรรมแต่คนเดียว เหมือนลูกไม้มีทุเรียนเป็นต้น เมื่อแก่สุกงอมแล้วหลุดหล่นลงจากต้นโดยมิได้บอกกล่าวลาต้นเลย ได้เมล็ดได้เนื้อสุกหอมหวานแล้วก็ไป เมื่อเมล็ดยังไม่ลีบไม่เน่าเขาไปสร้างต้นสร้างผลงอกงามขึ้นอีก จิตก็เช่นนั้นเหมือนกัน เมื่อกายแตกดับไม่รับรู้อะไรแล้ว จิตเป็นผู้รับภาระผล กรรมแต่ผู้เดียว ผลกรรมนี่แหละที่จะนำจิตให้ไปก่อเกิดในภพนั้นๆ ต่อไป

    สมดังพุทธภาษิตว่า กัมมัสสกา จิตสร้างกรรมอันใดไว้ กัมมทายาทา จิตผู้สร้างกรรมนั้นแล จักได้รับผลของกรรมนั้นต่อไป กัมมโยนิ กรรมเป็นผู้ให้กำเนิด กัมมพันธุ กรรมเป็นต้นตระกูลของความเกิด กัมมปฏิสรณา กรรมเป็นที่พึ่งของจิต หรือจิตอาศัยกรรมเป็นที่ดำเนินก็ว่า


    มนุษย์คนเราก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งในจำพวกของสัตว์ทั้งหลาย ที่มีอยู่ในโลกนี้ พร้อมกันนั้นสัตว์ทุกๆประเภทต่างก็เกลียดทุกข์ ดิ้นรนเพื่อแสวงหาความสุขตามปรารถนาของตนๆ แต่ความสุขที่เขาเหล่านั้นต้องการอาจไม่เหมือนกัน เพราะความแตกต่างในฐานะชั้นภูมิของเขาเหล่านั้นไม่เหมือนกัน ความหวังและความปรารถนาที่ว่านั่นแล มันเป็นเครื่องดึงดูดให้เขาเหล่านั้นรักโลกนี้อันเต็มไปแล้วด้วยกองทุกข์ ให้เขาลืมเสียจากทุกข์เหล่านั้นเป็นพักๆ ไป แล้วเขาก็เห็นว่าโลกนี้เป็นสุข ความเสมอภาคของสัตว์เหล่านั้น นอกจากจะมีความแก่ ความเจ็บ ความตายแล้ว ยังมีทุกข์มีสุขประจำ มีการหลับการนอน การร้องไห้ และหัวเราะเพื่อแก้กลุ้ม ก็มีแก่สัตว์ทั่วไป ข้อสำคัญคือการสืบพันธุ์เพื่อเป็นมรดกตกทอดมาให้แก่คนอื่นสัตว์อื่น เพื่อสร้างทุกข์ของโลกนี้ให้เจริญสืบไป หรืออาจเพื่อเป็นรังเรือนทุกข์ในอนาคตแก่ตนเองอีกด้วยก็ได้สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้วล้วนแล้วแต่เล็งผิดเป้าหมายของตนทั้งนั้น โดยเฉพาะคนเราแล้วพลาดมากเป็นพิเศษ คือมีความต้องการไม่แน่นอน ปรารถนาสิ่งใดเมื่อได้สิ่งนั้นมาตามปรารถนาแล้ว แทนที่จะอิ่มจะพอแก่ความต้องการแล้ว แต่ก็ยังไม่พออีก สิ่งที่ได้มากลับเป็นของที่ไม่จุใจไปอีกแล้ว มันหิวไม่อิ่มอยู่ตลอดกาลอย่างนี้ ฉะนั้นคนเราจึงยุ่งและทุกข์มากกว่าสัตว์เหล่าอื่นเป็นไหนๆ ถึงแม้จะมีข้อกฏกติกาและระเบียบบังคับอย่างเฉียบขาด แต่ก็ยากที่จะเอาให้อยู่ได้ พร้อมกันนั้นสิ่งที่ผู้ประมาทแล้วไม่ค่อยคำนึงถึงเลย คือความแก่และความตายค่อยด้อมๆ ตามหลังมาอย่างเงียบๆ หากมันได้โอกาสเมื่อไรแล้ว มันจะตะครุบฟัดเหวี่ยงเอาอย่างไม่มีปรานีเลยทีเดียว มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฉลาดเฉียบแหลมกว่าเพื่อนมาก แต่เป็นที่น่าเสียดาย แทนที่จะนำเอาความฉลาดเฉียบแหลมนั้น มาใช้สร้างความสุขความเจริญให้แก่ตนและคนอื่น กลับมาสร้างความทุกข์เดือดร้อนให้แก่ตนและคนอื่นสัตว์อื่นไปเสียฉิบ สู้ความแหลมของหนามทุเรียนไม่ได้ ซึ่งมันมีไว้เพื่อป้องกันตัวเท่านั้น แต่ใครอย่าไปแตะต้องมันนะ แล้วก็อย่าไปใกล้ต้นมันเวลามันหล่น

    คนเราเป็นสัตว์ร้ายกว่าเขาทั้งหมด เกิดมาเพื่อทำลายโลกแท้ เริ่มต้นแต่สืบพันธุ์มนุษย์มาเพื่อให้มาตาย เมื่อเกิดมามากๆ ตามไม่ทันก็คิดทำลายล้างผลาญกัน เมื่อใช้อาวุธที่มีประจำตัวของแต่ละบุคคลทำลายกันไม่ทันกับความต้องการ ก็คิดสร้างอาวุธที่ร้ายแรงประหารกันตามทีละเป็นร้อยๆพันๆ ใครว่ามนุษย์เกิดมาสร้างโลกให้เจริญนั้นไม่จริง ความจริงแล้วจะสร้างความเจริญให้เฉพาะแก่ตัวเองและหมู่คณะในวงแคบๆ ของตนเอง หรือเฉพาะสถานที่ที่ตนต้องการเท่านั้น แต่มันไปทำลายบุคคลอื่นและสถานที่อื่นให้เดือดร้อนราบเรียบไปหมด สมัยนี้ผู้ที่เกิดมาหาความสุขเพื่อตนและหมู่คณะของตนพอแล้ว คิดอิจฉาริษยาคนอื่นไม่ยักให้เขามาเกิดอีกด้วย คนผู้เห็นแก่ตัวมองพุทธศาสนาในแง่ร้ายว่า สอนให้คนอยู่กับที่ไม่ก้าวหน้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ให้กำเนิดศาสนา พระองค์ทรงพิจารณาเห็นความเสื่อมโทรมของโลกโดยพระปัญญาอันชัดแจ้งแล้ว จึงทรงสละความสุขของพระองค์ทุกๆวิถีทางเพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลก ทรงอาศัยพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ แล้วทรงตั้งพระหฤทัยอนุเคราะห์ แนะนำพร่ำสอนเวไนยสัตว์ ให้ปฏิบัติเป็นผู้เสียสละตามพระบาทยุคล

    ผู้ไม่หลงผิด ปฏิบัติติดตามคำสอนของพระองค์แล้ว ย่อมได้รับความสุขความเจริญทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น ได้ชื่อว่าพระองค์เกิดมาเพื่อทำโลกนี้ให้เจริญด้วยสติ อันเป็นที่ปรารถนาของเหล่าประชาสัตว์โดยแท้จริง
     

แชร์หน้านี้

Loading...