เรื่องกินเรื่องใหญ่ สัพเพ สัตตา อาหารัฏฐิติกา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 8 มกราคม 2010.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    เรื่องกินเรื่องใหญ่ สัพเพ สัตตา อาหารัฏฐิติกา

    พุทธศาสนา ทรรศนะและวิจารณ์

    ศาตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก /ราชบัณฑิต



    ครั้งหนึ่งมีผู้ตั้งปริศนาถามพระพุทธเจ้าว่า เอกัง นามะ กิง อะไรเอ่ยเป็นเอกในโลก พระองค์ตรัสตอบว่า สัพเพ สัตตา อาหารัฏฐิติกา สัตว์ทั้งหลายอยู่ได้ด้วยการกิน หรือจะแปลให้ชัดก็ว่า เรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่และเพราะเป็นเรื่องใหญ่นี่เอง พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้พระรู้จักกินหรือกินให้เป็น เพราะของอะไรที่มีคุณอนันต์ย่อมมีโทษมหันต์เช่นเดียวกัน จึงต้องรู้จักกินรู้จักใช้

    ท่านที่เคยผ่านการบวชเรียนมาแล้ว คงจำได้ว่า ขณะที่ท่านคลานก้นโด่งเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ท่ามกลางพระสงฆ์ที่นั่งหัตถบาสในวันบวชนั้น อุปัชฌาย์จะสอนท่านว่า

    ผู้ที่มาบวชในพระบวรพุทธศาสนาจะต้องถือนิสสัย คือปัจจัยสี่เลี้ยงชีพอย่างเคร่งครัด อันได้แก่

    - บิณฑิยาโลปโภชนะ บิณฑบาตเลี้ยงชีพ

    - ปังสุกูลจีวระ หาเศษผ้ามาทำจีวรนุ่งห่ม

    - รุกขมูลเสนาสนะ อยู่อาศัยตามโคนต้นไม้

    - ปูติมุตตเภสัชชะ ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า

    สรุปแล้วต้องอาศัยปัจจัยสี่คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ชีวิตจึงจะดำรงอยู่ได้

    เรื่องกินมาเป็นอันดับแรก

    ยิ่งกว่านั้น พอท่านบวชเสร็จสรรพ สมภารจะให้ท่านท่อง 7 ตำนาน เรื่องแรกที่จะต้องท่องคือปะฏิสังขาโย ปะฏิสังขาโยขาโยกอะไรนี่หาใช่อะไรอื่น คือการพิจารณาเกี่ยวกับการกินอยู่ อันได้แก่ หัดใช้สอยปัจจัยสี่ให้เป็น

    - กินให้เป็น

    - นุ่งห่มให้เป็น

    - อยู่ให้เป็น

    - ใช้ยารักษาโรคให้เป็น

    พูดง่ายๆ เป็นพระต้องกินอย่างพระว่างั้นเถอะ

    จะกินอย่างคนไม่ได้เพราะคนกินไม่เลือก

    ถ้าจะถามสอดขึ้นมาว่า กิน อย่างพระกินอย่างไร

    ก็ต้องอ้างบาลีหน่อยละ บาลีบอกว่า

    ปะฏิสังขา โยนิโส ปิณโฑปาตัง ปะฏิเสวามิ เนวะทะวายะ นะ มะทายะ นะ มัณฑะนายะ นะ วิภูสะนายะ ยาวะเทวะ อิมัสสะ กายัสสะ ฐิติยา ยาปะนายะ วิหิงสุปะระติยา พรหมะจะริยานุคคะหายะ อิติปุราณัญจะ เวทะนัง ปะฏิหังขามิ นะวัญจะ เวทะนัง นะ อุปปาเทสสามิ ยาตรา จะ เม ภวิสสะติ อะนะวัชชะตา จะ ผาสุวิหาโร จาติ

    แปลว่า "เราพิจารณาโดยรอบคอบแล้วจึงกินอาหาร มิใช่กินเพื่อเล่นเพื่อมัวเมา เพื่ออ้วนพีผ่องใส แต่กินเพื่อให้กายดำรงอยู่ เพื่อระงับความลำบาก เพื่อให้มีกำลังวังชาประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อระงับทุกขเวทนาเก่าและป้องกันเวทนาใหม่ เพื่อให้ชีวิตเป็นไปอย่างไม่มีโทษ และอยู่สบาย"

    พูดอย่างนักวิชาการก็ว่า ของทุกอย่างย่อมมีคุณค่า 2 อย่างอยู่ในตัวคือ คุณค่าแท้กับคุณค่าเทียม คุณค่าแท้เป็นเนื้อหา หรือประโยชน์แท้จริงของมัน ส่วนคุณค่าเทียมเป็นค่านิยมส่วนเกินที่เราเพิ่มเข้ามาเกี่ยวกับสิ่งนั้น อย่างเช่น รถยนต์ คุณค่าเทียมของรถก็คือ มีไว้สำหรับเป็นเครื่องประดับบารมีโอ้อวดกันถึงความร่ำรวย คนที่ใช้รถด้วยคุณค่าแท้เป็น คนขี่รถ เป็นนายวัตถุ สวนผู้ที่ใช้รถด้วยคุณค่าเทียม เป็น ถูกรถขี่ ตกเป็นทาสของวัตถุคิดเอาก็แล้วกัน ใครจะทุกข์มากทุกข์น้อยกว่ากัน

    ในเรื่องเกี่ยวกับอาหารก็เหมือนกัน คุณค่าแท้ของอาหารคือเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย คุณค่าเทียมคือความอร่อย ความหรูหราฟุ่มเฟือย ความมันส์ ความสนุกสนาน

    - คุณค่าแท้ มุ่งประโยชน์

    - คุณค่าเทียมมุ่งความอร่อยโก้เก๋

    การกินอย่างพระ จึงเป็นการกินที่มุ่งประโยชน์ที่แท้ของอาหาร มิใช่กินเพื่อความหรูหรา ฟุ่มเฟือยหรือมุ่งความอร่อยลิ้นเป็นสำคัญ ดังพระบาลีเตือนไว้ข้างต้น

    ที่พูดนี้ หมายถึงพระในอุดมคติ แน่นอนพระในอุดมคติย่อมไม่ใช่พระ "โพตุง" (พุงโต) เพราะแพทย์พิสูจน์แล้วว่าคนอ้วนคือคนกินไม่เป็น หรือไม่รู้จักกิน ฉะนั้น โบราณจึงบอกเป็นสูตรไว้ว่า "สัตว์เลี้ยง (ต้อง) พี ฤาษี (ต้อง) ผอม" จึงจะต้องตามตำรา

    สัตว์เลี้ยงผอม ฤๅษีพี

    กับอีกนารีไม่มีถัน

    คนจนแต่งกายดีนี่อีกอัน

    ทั้งสี่พรรค์ดูเป็นไม่เห็นงาม

    แต่พระบางองค์ไม่เห็นด้วย มีอย่างรึ มาเกณฑ์ให้พระผอมกินแล้วผอมแห้งแรงน้อย แสดงว่ากินไม่เป็น แล้วจะเอาเรี่ยวเอาแรงที่ไหนไปประพฤติปฏิบัติพระศาสนา

    หลวงตาหนูองค์หนึ่งละที่ไม่เห็นด้วยกับสูตรนี้เพราะแกเป็นคนกินจุ หลวงตาหนูเป็นคนเชื้อสายเขมร จะเขมรเสรี หรือไม่เสรีข่าวกรองมิได้บอกไว้ บอกแต่ว่าบวชอยู่วัดแห่งหนึ่งฝั่งธนบุรี (วัดไหนอย่ารู้เลย) เมื่อ 50 กว่าปีมาแล้ว ขณะที่พูดถึงนี้ ก็มรณภาพไปนานแล้ว ว่ากันว่าหลวงตาหนูขึ้นชื่อลือชาว่าฉันจุที่สุดอย่าง "ถนัดศอ" นี่ไม่ติดฝุ่นดอกครับ แค่ชิมล้างปากเท่านั้น ขนมจีนหมดเป็นหาบๆ ผักบุ้งหมดเป็นคันรถ (รถเจ๊กสมัยก่อน) ขนมขะต้ม อีกหม้อเบ้อเร่อนี่แกชิมพอสังเขป ถ้ากินแล้วจะขนาดไหน ลองคิดเอาเอง

    คนไทยนี่แปลกอยู่อย่างหนึ่ง ยิ่งพระองค์ไหนฉันจุวินาศสันตะโรยิ่งชอบ เวลาทำบุญเลี้ยงพระถ้าเห็นพระฉันได้มากก็ดีใจ เข้าครัวมาเหนื่อยๆ ก็หายเหนื่อย

    องค์ไหนฉันน้อย โยมกลับไม่สบายใจว่า "อาหารคงไม่ถูกปากท่าน" บางทีคิดเลยเถิดไปถึงขั้นว่า พระท่านรังเกียจอะไรไปโน่น

    ในสังคมไทยที่มีค่านิยมประหลาดๆ อย่างนี้ การกินจุ กลับเป็นลาภอันประเสริฐของหลวงตาหนูไปเสียฉิบ

    ญาติโยมมักจะนิมนต์หลวงตาหนูไปฉันทุกบ่อย ที่สนิทคุ้นเคยถึงกับพนันขันต่อกันว่าใครจะแพ้ใครจะชนะ

    "วันนี้สู้ไหม" หลวงตาสัพยอก

    "สบายมาก กลัวแต่ท่านจะโดนน็อกเสียก่อนนั่น แหละ" โยมตอบนัยว่าเตรียมอาหารไว้เยอะแยะพระฉันไม่หมดแน่

    "อาตมาถ่ายท้องมาเรียบร้อยเตรียมสู้กะโยมเต็มที่" หลวงตายิ้มเมื่อเขาประเคนอาหารเรียบร้อย (ประเคน หมายถึงยื่นอาหารให้พระนะครับไม่ใช่ "ประเคน" ท่านด้วยอย่างอื่น) หลวงตาก็ก้มหน้าก้มตาฉันเอาๆ ครับ ใครแพ้ใครชนะก็ยากจะพยากรณ์

    มีโยมคนหนึ่ง เวลาพบหลวงตาหนู มักจะพูดว่า "นิมนต์บวชให้ตลอดนะครับ อย่าได้คิดสึก" พูดเพียงครั้งสองครั้งก็ไม่สู้กระไร แต่นี่พบกันทีไรโยมก็จะย้ำคำนี้เสมอ หลวงตาหนูรู้สึกเอะใจ จึงถามขึ้นวันหนึ่ง

    "เจอกันทีไร โยมนิมนต์ให้อาตมาอยู่เรื่อยเชียว ถามจริงๆ เถอะทำไมโยมไม่อยากให้อาตมาสึก"

    "ไม่มีอะไรดอก" โยมบ่ายเบี่ยง

    "เพราะอะไรหรือ โยม" หลวงตาซัก

    "คือว่า...ง่า...กลัวท่านสึกไปแล้ว จะทำมาหากินไม่พอ...."


    ˹ѧ
     

แชร์หน้านี้

Loading...