เรามาทำความรู้จักกับ

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 27 ตุลาคม 2006.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,492
    พระธรรมเทศนาในพรรษาปี พ.ศ. 2535

    เรามาทำความรู้จักกับ “ความไม่สงบ” กันเถิด

    [​IMG]

    ปุถุชนคนธรรมดาที่ยังไม่ได้ฝึกอบรมจิตหรือผู้มาใหม่ที่เพิ่งเริ่มฝึกอบรม
    ย่อมจะมีจิตใจที่ไม่สงบเป็นธรรมดา
    เราไม่สงบอย่างนี้มาหลายภพหลายชาติแล้ว
    และชาตินี้ก็ไม่สงบมาตลอด แต่เราไม่รู้ตัว
    เราไม่เคยเห็นความไม่สงบ
    เราอยู่กับความไม่สงบอย่างนั้นโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
    เพราะเราไม่เคยศึกษา ไม่เคยตามดูจิตใจของตัวเอง

    พอเราเริ่มปฏิบัติเห็นความไม่สงบ เราก็ตกใจ
    คิดว่าความไม่สงบเป็นของไม่ดีที่เราต้องรีบกำจัดให้หมดไปโดยเร็ว
    ทีนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ เพราะทำอย่างไรๆ
    ความไม่สงบก็ยังมีอยู่อย่างนั้น
    ความสงบไม่เกิดขึ้นตามที่เราต้องการสักที
    ฉะนั้นเราควรมาศึกษาและทำความรู้จักความไม่สงบกันบ้าง

    กิเลสตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลง คือมูลเหตุของความไม่สงบ
    พระพุทธองค์ทรงจัดแบ่งลักษณะของความไม่สงบไว้เป็น 5 อย่าง
    รวมเรียกว่า นิวรณธรรม มี 5 ประการ ได้แก่

    1. กามฉันทะ คือ ความรักใคร่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
    2. พยาบาท คือ ความไม่พอใจ ความขัดเคือง ขุ่นแค้นทั้งหลาย
    3. ถีนมิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน ความหดหู่ เซื่องซึม เบื่อหน่าย
    4. อุทธัจจะกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
    5. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยทั้งปวง

    ฉะนั้นผู้ปฏิบัติควรทำความเข้าใจว่านิวรณธรรม หรือนิวรณ์ 5 นี้
    คือความไม่สงบในลักษณะต่างๆ กันนั้นเอง
    เป็นธรรมที่เราต้องศึกษา ต้องทำความเข้าใจ
    แม้ว่าจะเป็นธรรมฝ่ายอกุศล ผู้ปฏิบัติธรรมต้องทำความรู้จัก
    ต้องเห็นหน้าตานิวรณธรรมหรือนิวรณ์ 5
    ที่เราเรียกว่ากิเลสตัณหานี้
    ให้ชัดเจนจนปล่อยวางได้ แล้วจิตจึงจะสงบ

    ผู้ปฏิบัติใหม่ต้องเข้าใจว่า
    เราจะต้องค่อยๆ สร้างความสงบให้เกิดขึ้น
    โดยเริ่มจากการสำรวมอินทรีย์หรือ อินทรียสังวร
    คือ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เกิดยินดียินร้าย
    ให้มี โภชเนมัตตัญญุตา คือ รู้จักประมาณในการบริโภค
    และ ชาคริยานุโยค คือ ไม่เห็นแก่นอน นอนน้อย เป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ

    ครูบาอาจารย์ท่านมักจะพูด ให้เข้าใจง่ายๆ ว่า
    ให้ปฏิบัติด้วยการเป็นผู้พูดน้อย กินน้อย นอนน้อย
    พร้อมกับสร้างกำลัง คือ พละ 5
    ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ให้สมบูรณ์มากขึ้นๆ
    ปฏิบัติไปเรื่อยๆ อย่างน้อยจนกว่าจิตจะเป็นศีล คือ
    จิตสงบเป็นปกติ

    โดยทั่วๆ ไป ถ้าเราถามว่าเราปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร
    เราก็จะตั้งเป้าหมายว่า เราปฏิบัติเพื่อให้ได้ความสงบ
    แต่ผู้ปฏิบัติธรรมต้องเข้าใจว่า ความสงบก็เหมือนธรรมะทั้งปวง
    จะไม่บังเกิดขึ้นแก่เราเพียงเพราะเราอยากให้เกิด เพราะเราอยากได้

    แต่ ความสงบนั้นเป็นผลของความพากเพียรอดทนปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
    ด้วยความตั้งใจจริง และด้วยความเสียสละ และเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม
    คือเมื่อศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ก็จะได้ความสงบเบื้องต้น
    หรือ ความสงบเบื้องต้นจะปรากฏแก่เราเอง

    เมื่อเกิดสมาธิแล้ว ความสงบเบื้องกลางก็จะปรากฏแก่เรา
    เมื่อปัญญาเกิด ความสงบอย่างยิ่งก็ปรากฏ
    เป็นความสงบที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว
    แม้แต่เมื่อกระทบอารมณ์ก็สงบอยู่อย่างนั้น
    ให้สังเกตว่า ความสงบนั้นมีหลายระดับหลายลักษณะ
    แต่เราเรียกรวมๆ ว่า ความสงบทั้งนั้น
    จึงอาจให้เกิดความสับสนได้

    แต่ผู้ปฏิบัติไม่ควรกังวลใจว่า
    "เอ นี่เราได้ความสงบขั้นไหน"
    เพราะถามเท่าไรก็ไม่รู้
    เรามีหน้าที่ปฏิบัติอย่างเดียว
    เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมผลจะปรากฏเอง แล้วเราก็จะรู้เอง

    ต่อไปนี้เรามาดูว่า เราจะปฏิบัติกับความไม่สงบอย่างไร
    หรือว่าเมื่อเกิดความไม่สงบขึ้น เราจะทำอย่างไร
    ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า
    ที่เราไม่สงบนั้นก็เพราะเราไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง
    ฉะนั้นการศึกษาพระพุทธศาสนาและการปฏิบัติธรรม
    ก็คือการปฏิบัติเพื่อศึกษาตัวเอง
    เมื่อศึกษาตัวเอง เมื่อเห็นตัวเอง เราก็จะเห็นความไม่สงบ
    จะเห็นว่า ความไม่สงบเป็นธรรมชาติปกติของเรา

    เมื่อรู้เช่นนี้ ก็เริ่มยอมรับและเริ่มศึกษาความไม่สงบได้
    เมื่อความไม่สงบเกิดขึ้นอย่าท้อแท้เสียใจ
    ให้พยายามศึกษาความไม่สงบนั่นแหละ
    หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งว่า เราต้องทำความรู้จักกับความไม่สงบ
    ต้องเห็นหน้าตาของความไม่สงบให้ชัดเจน

    ความไม่สงบมีอยู่ในกมลสันดานของปุถุชนเราๆ ทั่วๆ ไปเป็นปกติ
    เราต้องมองเห็น ความไม่สงบเป็นธรรมะ เป็นกลางๆ
    ไม่ใช่ว่าดีหรือไม่ดี ไม่ต้องเสียใจที่ไม่สงบ
    ไม่ต้องยินร้าย ไม่ต้องรังเกียจความไม่สงบ
    พยายามทำใจเป็นกลางๆ
    พยายามระวังตัณหาที่ว่าเราต้องการความสงบ
    ไม่ต้องการความไม่สงบ พยายามทำความรู้สึกเฉยๆ
    ถ้าเราทำเฉยได้มากเท่าไร ความสงบก็จะเกิดได้เร็วขึ้นเท่านั้น
    พยายามเข้าใจอย่างนี้

    เมื่อความไม่สงบเกิดขึ้น ให้ยกขึ้นพิจารณาเป็นธรรมะ
    ในสติปัฏฐาน 4 คือ กาย เวทนา จิต ธรรม
    ธรรมะมีทั้งกุศลาธรรม อกุศลาธรรม และอพยากตาธรรม
    คือ ธรรมะฝ่ายดี ฝ่ายไม่ดี และธรรมะเป็นกลางๆ
    ใจที่ไม่สงบเป็นกิเลสเป็นนิวรณ์ 5 เป็นอกุศลาธรรม
    ก็ยกขึ้นพิจารณาเป็น ธรรมานุปัสสนา นี่แหละ
    โดยไม่ต้องมีวิภวตัณหา ไม่ต้องยินร้ายกับอกุศลาธรรมที่ปรากฏอยู่
    พยายามทำใจเฉยๆ พยายามเห็นตามความเป็นจริง

    ธรรมะสักแต่ว่าธรรมะ
    ความไม่สงบก็สักแต่ว่าอกุศลาธรรม
    อย่ายึดมั่นถือมั่น
    อกุศลาธรรมกำลังปรากฏก็ให้รู้
    รู้แล้วพยายามทำใจเป็นกลางๆ เฉยๆ ก็จะปล่อยวางได้
    นักปฏิบัติส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ต้องการแต่ความสงบ
    สงบจึงจะถือว่าปฏิบัติดี
    สงบก็ดี แต่บางครั้งไม่สงบก็ต้องปฏิบัติไป ไม่ต้องเสียใจ
    ไม่สงบก็เป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะถ้าเรายังเป็นปุถุชนอยู่

    แม้แต่พระอริยบุคคลขั้นต้น อกุศลาธรรมาก็ยังมี เป็นธรรมดา
    อะไรๆ ปรากฏในปัจจุบันก็ช่าง
    เราปฏิบัติธรรมเลยดีกว่า สร้างเหตุนี่แหละ
    เรื่องอาหารนี่เป็นตัวอย่าง ถ้าเราคิดว่าจะเอาแต่อาหารที่อร่อย
    ย่อมจะหงุดหงิด ยินดียินร้ายทุกวันๆ
    ถ้าเราพิจารณาอาหารเป็นยา พยายามทำใจสงบ
    รับบิณฑบาตด้วยใจเป็นปกติ ใจเป็นศีล ใจสงบ
    บางวันไม่ค่อยมีกับข้าว หรือกับข้าวที่ชอบใจไม่มี ไม่เป็นไร
    เราฉันเป็นยาพิจารณาเป็นยา

    บางครั้งมีอาหารที่ถูกปากอร่อย ก็พยายามทำใจสงบ
    รับประทานอาหารฉันอาหารด้วยใจสงบ อร่อยก็เอา ไม่อร่อยก็เอา
    ไม่ใช่จะเอาแต่อาหารอร่อยๆ อย่างเดียว
    ถ้ามีตัณหาอย่างนี้ จะมีแต่ความยินดียินร้าย
    เวลาปฏิบัตินั่งสมาธิเดินจงกรม จะไม่สงบ

    ใจก็เหมือนกัน อารมณ์ที่ไม่สงบกำลังปรากฏอยู่
    พยายามมองเห็นเป็นธรรมะ
    อย่าเข้าไปยึดเอามาเป็นปัญหาส่วนตัว
    เป็นเราเป็นของเรา เราสงบ เราไม่สงบ พิจารณาเป็นยา
    ใช้ฝึกสติ สมาธิ ปัญญา เข้าสู่สติปัฏฐาน
    โดยเฉพาะธรรมานุปัสสนา พยายามเห็นความไม่สงบ
    เข้าใจความไม่สงบตามความเป็นจริง
    คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
    ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เกิดขึ้นแล้วดับไป
    พยายามระงับตัณหา ทำใจเฉยๆ
    ทำใจเฉยได้ ความสงบก็เกิดเป็นสมาธิ

    ปกติพอเกิดความไม่สงบเราจะเกิดโทสะ อาฆาตพยาบาท
    เกิดวิภวตัณหา โกรธตัวเองที่ไม่สงบ
    เกิดความไม่พอใจในความไม่สงบของตัวเอง
    จริงๆ แล้วเราต้องทำใจยอมรับความจริง
    ต้องอดทนระวังไม่ให้เกิดวิภวตัณหา

    ..... ..... ทำใจให้เป็นกลางๆ เมตตาตัวเองให้มากๆ
    เหมือนกับพยายามเมตตาคนที่เราไม่ชอบ คนที่แกล้งเรามาตลอด
    หรือจะคิดว่าเหมือนมีผีอยู่ในบ้าน
    ควรที่เราจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลแผ่เมตตาให้เขา
    แทนที่จะโกรธเขารังเกียจเขา นี่ก็เหมือนกัน ใจเราไม่สงบ
    แทนที่เราจะโกรธ อาฆาตพยาบาทไม่พอใจ ยินร้าย
    เราควรพยายามทำความเข้าใจตัวเอง เข้าใจความไม่สงบ
    เมตตาตัวเอง อาศัยความอดทนพยายามไม่รังเกียจความไม่สงบอันนั้น

    เราก็อยู่กับนิวรณธรรมอย่างนี้มาตลอด
    เหมือนกับเราคบมิตรชั่วมาตลอดโดยเราไม่รู้ตัว
    อยู่มาวันหนึ่งเราได้พบกัลยาณมิตร
    จึงรู้ว่ามิตรที่คบมาตลอดนั้นเป็นมิตรชั่ว
    เราเองกำลังจะกลับตัวเป็นคนดี
    ทำอย่างไรจึงจะแยกกับเขาได้โดยไม่ทะเลาะกัน
    ถ้าเราไม่พอใจ โกรธ อาฆาตพยาบาท อาจทะเลาะกันก็เป็นได้
    เขาก็จะเป็นศัตรูกับเรา
    เป็นการสร้างเวรสร้างกรรม สร้างภพสร้างชาติกันต่อไป

    เพราะฉะนั้น เราต้องใช้สติปัญญา
    หาทางแยกกันอย่างสันติโดยไม่ทะเลาะกัน
    ไม่ก่อเวรก่อกรรมกันต่อไป
    เราต้องหาอุบายให้แยบคาย
    ถ้าเราพยายามเข้าใจเขาว่า
    ธรรมชาติของเขาก็เป็นอย่างนั้น เราก็เคยเป็นอย่างนั้น
    แล้วแผ่เมตตาให้เขา สงสารเขา อย่าให้เขารู้สึกว่าเรารังเกียจเขา
    หาอุบายค่อยๆ แยกห่างจากเขาอย่างสุขุมนุ่มนวล
    เขาก็จะค่อยๆ แยกจากเราไปเองในที่สุด

    ความไม่สงบก็เหมือนกัน
    เขาก็อยู่กับเราเหมือนมิตรชั่วมาหลายภพหลายชาติ
    แม้แต่ชาติปัจจุบันจนถึงวันนี้
    เราจะไล่เขาไปทันที ไม่ต้องการเขา รังเกียจเขา โกรธเขา
    ไม่ได้หรอก
    เราต้องเข้าใจเขา เมตตาเขา
    ซึ่งก็คือเข้าใจตัวเอง เมตตาตัวเอง

    แล้วพยายามปฏิบัติของเราไปเรื่อยๆ เอาสติดูความไม่สงบ
    ดูอกุศลาธรรมนั้นๆ ด้วยใจเป็นกลางๆ
    "อาตาปี สัมปชาโน สติมา"
    มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสติสัมปชัญญะ มีสติ
    จนสามารถเห็นด้วยปัญญาชอบว่า
    ..... ..... ความไม่สงบเป็น "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา"
    ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน จิตก็จะปล่อยวางและสงบเอง


    ที่มา:ประตูสู่ธรรม
    http://www.dharma-gateway.com

    รูปประกอบจากอินเตอร์เนต
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 ตุลาคม 2006

แชร์หน้านี้

Loading...