เย ธัมมา เหตุปัพภะวา เตสังเหตุง ตะถาคะโต เตสัญจะ โย นิโรโธจะ เอวัง วาที มะหาสะมะโณ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย kengkenny, 23 กรกฎาคม 2009.

  1. kengkenny

    kengkenny เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    2,878
    ค่าพลัง:
    +2,500
    ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงตรัสเหตุแห่งธรรมนั้นและการดับแห่งธรรมนั้น


    ธรรมย่อของอธาตุ


    พระธรรมเทศนาโดย
    พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)
    [​IMG]

    โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 11693 โดยคุณ : ผู้สังเกต [13 ส.ค. 47]
    1. มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นของมีชีวิตที่อยู่ในโลกนี้ เจ้ากำหนดรู้ความเป็นไปของตนเองกันว่าเป็นเช่นไร เนื้ออยู่บนเขียง รอแต่จะให้มีดสับเพื่อความป่นปี้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์สัตว์ก็ขึ้นเขียง รอความเจ็บป่วย ทุกข์โศก แก่ชรา แตกดับ ตายไป สับตนเองอยู่ตลอดเวลาอย่างนั้นเหมือนกัน ผู้ฉลาดควรพาตนออกไปจากเขียงนั้นเสีย
    2. ในโลกนี้ย่อมไม่มีผู้ใดอยู่ได้นานนัก ตามความนึกคิดของเขาทั้งหลาย เพราะสังขารย่อมเดินไปตามทางของมันอยู่ นานเข้าก็แก่ แล้วก็ตายหายไปจากโลก ต้องเป็นอยู่อย่างนี้แน่นอนและตลอดไป ฉะนั้นไม่ควรหลงใหลกับสิ่งต่างๆในโลกให้มากนัก ควรมองโลกนี้เสียให้ชัดให้แจ้ง ให้จริง พาจิตใจและอารมณ์ให้ออกห่างจากโลกนี้เสีย
    3. กาลเวลาอันยาวนานนั้นมีอยู่ในโลก แต่จะมีประโยชน์อะไรกับเราทั้งหลายที่เกิดมา เพราะเราตั้งอยู่ไม่นานเลย
    4. ผู้ที่ห่วงใยชีวิตอย่างที่สุด ผู้นั้นก็ชื่อว่าห่วงใยทุกข์อยู่อย่างที่สุดเช่นกัน
    5. จะเอาของจริงแท้แน่นอนได้ที่ไหนในสังขาร มีไหมเล่า หาดูเอาสิ ถ้ามีก็ให้เอา หากไม่มี ควรหยุดการสนใจเสีย
    6. คนย่อมติดโลก อยู่ด้วยความพอใจในสิ่งต่างๆ เหมือนกับต้นไม้ที่ติดแผ่นดินอยู่ด้วยราก
    7. ผู้ใดยังรักตนพอใจในตนอยู่ ผู้นั้นย่อมรักได้ในผู้อื่นอีก หากผู้ใดไม่รักไม่เอาในตนเองเสียแล้ว เรื่องจะรักจะเอาผู้อื่นอีกเป็นไม่มี
    8. การทำตนให้พ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง นั่นแหละเป็นการกระทำที่ประเสริฐกว่าการกระทำต่างๆทั้งหลาย
    9. เกิดเป็นคนจะงามและมีความสุขที่สุดนั้น งามที่เมื่อเกิดมาแล้วในโลก และได้ทำสิ่งต่างๆอันจะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นในภายหน้า ในโลกนี้อันมากไปด้วยความทุกข์นั้นแหละ คือ ความสุข บริสุทธิ์ที่ไร้มลทิน มิใช่ว่าเมื่อเกิดมามีสังขารแล้ว จะจ้องแต่หาความสุขในการเสพกามคุณในสังขารร่างกายของฝ่ายตรงข้าม แล้วไปคิดว่านั้นแหละคือความสุขที่จะขาดเสียมิได้เมื่อเกิดมา การคิดอย่างนั้นมันเป็นเรื่องของคนไม่มีปัญญา ตกเป็นทาสของตัณหา ชอบเกลือกกลั้วกับของเหม็นของเน่า แล้วจะเอาความสุขบริสุทธิ์ที่แท้จริงจากไหนกับสิ่งเหล่านั้น
    10. ใครเล่าจะห้ามความตายได้ ใครเล่าจะทำตัวเองให้ดีกว่าเก่า ใครเล่าจะทำสิ่งที่ยังไม่รู้ให้รู้ขึ้นมา
    11. การศึกษาที่สูงที่สุด คือ การศึกษาตัวเอง
    12. คนโง่ย่อมหวังอยู่แต่ในสิ่งต่างๆที่มันเป็นไปไม่ได้ ส่วนคนที่ฉลาดแล้ว เขาจะไม่เป็นเช่นนั้นเลย
    13. สิ่งใดที่เรายังไม่รู้ คนฉลาดควรเชื่อผู้อื่นบ้าง แต่หากรู้หมดจดถูกต้องจริงแล้ว ไม่ต้องเชื่อตามใครก็ได้
    14. ความจริงความถูกต้องทั้งหลาย ที่ผู้รู้ตั้งไว้สั่งสอน จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยสำหรับผู้ทำตนฉลาดไปกว่าท่าน
    15. ผู้ที่ไม่ยอมรับความดีของผู้อื่นที่มีอยู่ ก็เหมือนกับเขากำลังทำลายความเจริญของเขาเองอยู่เช่นกัน
    16. อันจิตที่ยังไม่ได้หัด มักจะไปกับความหลงมากกว่าความจริง
    17. หากอารมณ์ไม่อาลัยสังขารเกิดขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็แจ้งสว่างและง่ายไปหมด
    18. พวกมีโน่นมีนี่ เขาเรียกว่าพวกตายยาก พวกไม่มีโน่นมีนี่ เขาเรียกว่าพวกเงียบเป็น
    19. คนกินมากเขาเรียกว่า คนชอบขี้ คนที่อยากเกิดบ่อยๆเขาเรียกว่า คนชอบผี
    20. อะไรๆก็หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง แต่คนนั้นหนึ่งบวกหนึ่งเป็นไปหลายกว่านั้น
    21. จงนำตัวออกจากสิ่งต่างๆที่ไม่ถูกต้องด้วยปัญญา
    22. ผู้มีปัญญาย่อมทำตนให้ดีได้
    23. เมื่อมีจงให้ หากอยากได้จงทำก่อน
    24. ทุกสิ่งในโลกนี้มีธรรมอยู่อย่างเด่นชัด แต่เรามองไม่เห็นเองต่างหาก
    25. หากคิดว่าจะหยุดเสียแล้ว ก็ไม่ควรที่จะเดินต่อไปเลย
    26. เมื่อคิดว่าจะไม่สร้างบ้านเรือนแล้ว ก็ควรหยุดการสะสมซึ่งไม้เสีย
    27. ไฟย่อมร้อนในผู้อยู่ชิด ผู้อยู่ห่างต่างทิศ ไฟจะมีพิษเข้าได้อย่างไร
    28. คนกลัวหนาม ย่อมไม่เข้าป่าหนาม และหนามก็ปักเขาไม่ได้เป็นธรรมดา คนไม่กลัวหนามย่อมเข้าป่าหนาม และหนามก็ต้องปักเขาเป็นธรรมดา
    29. การจากสิ่งที่ตนรักเป็นเรื่องจริงของสัตว์ทั้งปวง
    30. เมื่อเกิดก็เกิดมาเพื่อตาย ทำไมจึงอยากเกิด ความเกิดขึ้นคือความทุกข์ ความอยากคือสิ่งทำให้ทุกข์
    31. เมื่อความอยากสิ่งต่างๆในโลกมีได้ อันความไม่อยากในสิ่งนั้นๆในโลกก็มีได้เช่นกัน
    32. คนจริงย่อมไม่ยุ่งเกี่ยวกับของเล่น คนชอบเล่นย่อมไม่รู้จักความจริง
    33. ผู้สำรวมแล้ว ย่อมรู้จักความวุ่นวายของผู้อื่น
    34. สิ่งใดในโลกนี้ที่ว่าอัศจรรย์ ก็อัศจรรย์เถิด แต่คนที่เกิดมาในโลกแล้ว ไม่มีกิเลสเลยนั้นแหละอัศจรรย์นัก
    35. ของใดที่ไม่เที่ยงตรง เป็นไปต่างๆไม่ได้ดังใจเรา ของนั้นๆล้วนเป็นของหลอกนะ ควรพาใจและอารมณ์ออกจากสิ่งนั้นๆเสีย
    36. การบวชเป็นสิ่งที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้ หากว่าบวชแล้วแต่ไม่ยอมปฏิบัติให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์ อันเป็นของที่ทำได้ ผู้นั้นก็เปรียบเหมือนนักแสดงการละเล่นต่างๆอยู่เท่านั้น
    37. ความสุขของสังขารไม่เคยขาดความทุกข์
    38. จิตแจ้งแล้วก็หาย ปัญญาแจ้งแล้วจึงสบาย
    39. คนที่ชื่อว่า ผู้รู้ ย่อมทำตนให้พ้นทุกข์ได้ ส่วนคนที่ว่ารู้โน่นรู้นี่ รู้อะไรๆมากมาย แต่ยังปรุงแต่งเหตุให้ตนเองทุกข์อยู่ ที่ว่ารู้ๆ รู้อะไร
    40. ต้นตาลย่อมไม่ยุ่งยากเหมือนกอไผ่ฉันใด คนที่มีกิเลสตัณหาความปรุงแต่งน้อย ก็ไม่ยุ่งยากเหมือนคนทำตัวเป็นเศรษฐี ฉันนั้น
    41. การที่เราจะจับช้างใส่รูปูนั้นเป็นของยาก และก็เป็นไปไม่ได้ด้วย อันนี้ฉันใด การที่จะสอนคนที่มีกิเลสตัณหา ความปรุงแต่งอันมากมายให้เห็นนิพพานนั้นก็ยากยิ่งดุจเดียวกัน
    42. ทุกคนย่อมมีเหตุผลของตนเอง แต่เหตุผลจะไปในรูปไหนทางใด นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
    43. มนุษย์และสัตว์ในโลกนี้อยู่แล้วกับคนใบ้ ตัวเขาเองนั้นเป็นคนบ้า โลกเขาไม่เคยศึกษาเราเลย เรานั่นแหละเป็นผู้ศึกษาฝ่ายเดียว
    44. ผู้รู้ไม่มีในโลก ผู้ที่มีในโลก เป็นแต่ผู้อื่นต่างหาก
    45. ที่ว่ารู้ๆกันนั้นมีสองอย่าง คือ รู้จักความหลงและรู้จักนิพพาน
    46. ในโลกนี้มนุษย์จะสร้างอะไรทำอะไรต่างๆขึ้นมาก็ได้ ตามปัญญาความคิดเห็นเป็นไปของเขา แต่การรับผิดชอบต่อสิ่งต่างๆที่สร้างขึ้นนั้นมีน้อยนัก หรือว่าแทบไม่มีเลย เพราะสิ่งที่มนุษย์สร้างและปรุงแต่งอยู่ เขาไม่รู้ว่าอันสภาพความเป็นจริงนั้นควรเป็นอย่างไร
    47. ที่ว่าหลง หลงนั้นก็มาจากรู้นั่นเอง ที่ว่ารู้ รู้นั้นก็มาจากหลงไปแล้วนั่นเอง อะไรๆก็เอาเป็นอะไรไม่ได้ หากจะบอกว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเลย ก็ยังไม่รู้จักกันอีก
    48. การรู้เห็นของคนทั้งหลาย ในไข่ไก่ไข่เป็ด ถ้าจะเห็น ก็เห็นว่าเปลือกไข่ หุ้มล้อมและปิดบังไข่ขาวอยู่ ไข่ขาวก็ปิดล้อมและบังไข่แดงอยู่ แต่จะเห็นไปอีกว่า ไข่แดงนั้นก็ยังบังตัวเองอยู่อีกนั้น จะเห็นได้ไม่ง่ายเลย
    49. การดูจิตของตนเอง ย่อมเห็นไปหลายอย่างตามภูมิจิตของตน ผู้นั้นจะมีความสงสัยบ้างว่า จิตที่มั่นคงและดีกว่าจิตทั้งหลาย จะเป็นจิตเช่นไร ก็ความไม่มีทุกข์เลยตลอดเวลามีอยู่ที่ใด ที่นั้นแหละเป็นที่ยิ่งกว่าที่ยิ่งทั้งหลาย
    50. เรื่องจิตนั้น หากจะเรียกว่าจิตดีต้องให้สุขทุกข์หายไปก่อน
    51. การจะทิ้งสังขารนั้นง่าย เพราะรู้อยู่เมื่อแตกดับ แล้วก็จะหายไป แต่การจะทิ้งจิตนั้นทิ้งยากนัก หากไม่รู้จักว่า มันมีอยู่เพราะเหตุใด มันจะไม่มีเพราะเราทำแบบไหน หากไม่รู้และทำตามนี้แล้วจะทิ้งจิตได้เป็นไม่มี
    52. หากคนไม่เดินจะเอารอยเท้ามาจากไหน หากคนไม่สร้างสัญญาขึ้น จะมีสิ่งต่างๆได้อย่างไร
    53. พระพุทธองค์นั้น ท่านรู้อย่างหนึ่ง และสอนเราอีกอย่างหนึ่ง ท่านรู้สุญญตา คือความว่างเปล่า แต่สอนเราว่า มีโน่นมีนี่ เพราะอะไร เพราะเราถนัดกันแต่ความมีนั่นเอง
    54. ผู้รู้แจ้งเห็นจริงถึงที่สุดแล้ว ย่อมเห็นรู้และเข้าใจว่าโลกนี้สงบยิ่งนัก แต่ผู้ไม่รู้จริงหรือจะพูดไปตามโลกก็จะพูดว่า โลกนี้ยุ่งยากมากมาย
    55. พระองค์ผู้รู้จึงบอกเราว่าธรรมจริงต้องรู้ด้วยตนเอง แต่ให้รู้อยู่ในหลักเหตุผล และเป็นสิ่งที่เป็นได้ อย่าได้ทะเลาะกันเรื่องธรรมเลย เพราะไม่มีที่สิ้นสุด
    56. ผู้รู้หมดจดแล้วย่อมเป็นอยู่ในสิ่งต่างๆ เพียงการพิจารณาเท่านั้น
    57. ความกึ่ง ไม่มีเลยในโลก เช่น ความดีก็ไม่กึ่งกับความไม่ดี ความหยาบก็ไม่กึ่งกับความละเอียด ความมีก็ไม่กึ่งกับความไม่มี
    58. มนุษย์ย่อมคิดว่าโลกนี้เป็นของเขา ส่วนสัตว์ทั้งหลาย เขาก็ว่าโลกนี้เป็นของเขาเหมือนกัน เพราะอะไรจึงเป็นอย่างนั้น เพราะว่ามีแต่พวกบ้าอยู่ด้วยกันนั่นเอง
    59. พระนิพพานคือหมดอาลัย หมดหลง หมดทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมี และทำตนให้หายไป
    60. ผู้ที่คิดว่าตนปฏิบัติธรรมถึงที่สุดแล้ว คือ พ้นทุกข์ และมีความคิดอยู่ว่า สติก็ดี ปัญญา สมาธิ จิต และวิญญาณ นี้แหละเป็นองค์ของนิพพาน ต้องมีอยู่ในนั้น จะขาดเสียมิได้ ถ้าคิดอย่างนั้นเขายังไม่รู้จักนิพพานเลย
    61. ใครเล่าไปตั้งวัน เดือน ปี เกิด ให้ลม ฟ้า อากาศ เขาเป็นอยู่กันอย่างไร เขาเคยพูดกับท่านบ้างไหม และท่านไปรู้จักเข้าได้อย่างไร
    62. ที่จริงโลกนี้ ไม่ใช่ที่ศึกษา ไม่ใช่ของศึกษา เพราะศึกษาอย่างไร ทำอย่างไร โลกก็เป็นไปตามโลกนั่นเอง ควรแยกใจเสียว่า โลกนั่นเองเป็นอย่างนั้นๆ นอกจากโลกแล้วก็ไม่มีอะไร
    63. การกล่าวธรรมนั้นไม่ว่ากล่าวไปมากมายสักเท่าใด ก็จะกล่าวแต่ในกลางๆของธรรมเท่านั้น ไม่มีอะไรที่จะกล่าวต้นธรรมและคำสุดท้ายของธรรมได้
    64. โลกุตรธรรมนั้นไม่มีเลยในพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกก็เป็นพระไตรปิฎกนั่นเอง แต่หากไม่รู้จักพระไตรปิฎก ก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องเหมือนกัน โลกุตรธรรมนั้นไม่มีเลยในธรรมที่จะให้คนศึกษา เพราะหากเป็นโลกุตระแล้วจะศึกษาอะไรกันอีก เมื่อยังต้องศึกษาอยู่ เป็นแต่โลกียธรรมทั้งหมด
    65. พระนิพพานนั้นแท้จริงแล้วมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น คือ สุญญตา หากจะพูดว่าเป็นสองว่ามีบ้างไม่มีบ้าง ก็เพียงเป็นแต่พอจะพูดได้เท่านั้น แต่จะให้น้ำหนักไปว่า นิพพานมีอะไรอยู่นั้นไม่มีเลย
    66. หากไม่มีอะไรแล้ว จะมีอะไร หากไม่มีทุกข์ ทุกข์ที่ไหนจะมี หากไม่มีอะไรแล้ว อะไรที่ไหนจะมีอีก
    67. สิ่งใดที่รู้ได้ พูดได้ เข้าใจได้ อยู่ทุกสิ่งล้วนแต่สมมุติ ทุกข์ สุข บาป บุญ สวรรค์ นิพพาน ก็เป็นไปตามที่สมมุติรู้ สมมุติเข้าใจก็คนว่ามันมี มันจึงมี ถ้าหากว่าไม่มี มันจะมีมาจากไหน พูดได้ทำได้ เรียกว่า กายสมมุติ คิดได้รู้ได้ เรียกว่า ใจสมมุติ แต่นิพพานนั้นก็พ้นได้จริง ตามความเป็นไปของจิตสัตว์ ส่วน ทุกข์ สุข บาป บุญ ก็มีอยู่จริง ตามอุปาทานสมมุติของสมมุติสัตว์
    68. หากท่านจะว่าความสมมุติไม่มีถึงขนาดนั้น ท่านควรเข้าใจและรู้เห็นความจริงในโลกนี้ให้ถูกต้องเสีย ลมหรือฟ้า หรือโลกนี้ พระอาทิตย์ เดือน ดาว ภูเขา แมกไม้ สิ่งเหล่านี้หรือ บอกกับท่านว่า มนุษย์ทั้งหลาย ท่านจงตั้งชื่ออย่างนี้ให้เรานะ เขาบอกท่านอย่างนี้บ้างไหม ในตัวเรานี้มีเนื้อ มีกระดูก มีเลือด มีลมนี้ เขาก็บอกให้ท่านตั้งให้เขาหรือ ถ้าท่านจะตอบให้ถูกก็ต้องเงียบ คือไม่มีอะไร เขาเหล่านั้นล้วนไม่มีท่าน แล้วท่านจะมีด้วยอะไร
    69. การจะกล่าวธรรมใดๆก็ตาม หากจะให้พ้นไปจากสมมุตินั้นไม่มีเลย หากยังพูดได้ ทำได้ รู้ได้ คิดได้ เข้าใจได้อยู่ ล้วนแต่เป็นสมมุติทั้งนั้น เหมือนขว้างสิ่งต่างๆขึ้นบนฟ้าแล้ว ตกลงมาหาโลกอีก จะให้พ้นไปจากนั้นไม่มีเลย สมมุติต่างๆก็เหมือนกัน
    70. ความตั้งอยู่ ตั้งขึ้น มีขึ้น ของสิ่งต่างๆทั้งหมด ย่อมเป็นไปด้วยเหตุสองอย่าง
    1. มีของที่ตั้งอยู่
    2. มีสิ่งรองรับให้ตั้งอยู่ได้
    71. เดินมากก็มีรอยมาก เดินน้อยก็มีรอยน้อย หากไม่เดินเลยก็ไม่มีรอยเลย คบคนมากก็มีเพื่อนมาก คบคนน้อยก็มีเพื่อนน้อย ไม่คบคนเลยก็ไม่มีเพื่อนเลย ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ก็เหมือนกัน เราว่ากันว่าต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างโน้น ปรุงไปมากมาย หลายอย่าง มันจึงมีอะไรๆ ขึ้นมาได้ หากเราไม่เกี่ยวพันกับสิ่งต่างๆทั้งหมด แล้วจะมีอะไรได้ที่ไหน
    72. หากโลกนี้ไม่มีเสียแล้ว เมื่อฝนตกลงมาจะถูกโลกไปไม่ได้ หากผู้ใดเข้ามาทำตัวให้ว่างเปล่าหายไปได้จริงๆแล้ว ทุกข์ต่างๆจะถูกเข้าได้อย่างไร เหมือนกับฝนตกมาถูกโลกไม่ได้ก็ฉันนั้น
    73. บาตรรั่วเพราะสนิมกัดกร่อนฉันใด คนปล่อยกิเลสตัณหาตั้งบ้านเรือนอยู่ในใจได้ ก็ต้องทุกข์อยู่เช่นนั้นเหมือนกัน
    74. จงรู้จักความว่างความเบา ความไม่ขัดข้องในทุกสิ่ง ให้รู้จักความเฉยๆอยู่ของจิต หาสุขและทุกข์ไม่มีในนั้น แม้ความเฉยๆนั้น ก็ให้เลือนไปเสีย
    75. การปฏิบัตินั้น หากเราถามจิตว่า มีอะไรบ้างที่ยังเกี่ยวพันท่านอยู่ หากเขาบอกว่ามีอยู่บ้าง แม้ที่เขาบอกนั้นเพียงเล็กน้อย นั้นชื่อว่าการงานยังมีอยู่ หากถามเขาเมื่อไหร่ ยามใด เขาไม่มีสิ่งตอบเราเลย เหมือนกับถามคนใบ้นั้น จงรู้เถิดการงานต่างๆหมดสิ้นแล้ว
    76. หากทำโลกนี้ให้หาย ความตายก็ไม่มี หากมีความพอใจ อยู่ที่ไหนก็เป็นสุข
    77. คนไม่รู้จักธรรม อยู่ด้วยกันคุยกัน สนทนากันเป็นการเพิ่มความบ้าให้มากขึ้น
    78. ผู้รู้ธรรมแม้ไม่เกี่ยวข้องกับใครเลย ความสว่างย่อมเต็มเปี่ยมในตัวเขาเอง
    79. ไม่ควรประมาทสิ่งต่างๆที่เรายังไม่รู้จัก
    80. ท่านทั้งหลาย หากทุกสิ่งในโลกนี้ แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่อาจมาเป็นนายของท่านได้ ฉันใด ท่านก็จะเป็นนายของสิ่งต่างๆเหล่านั้นเช่นกัน
    81. ผู้ปฏิบัติธรรมที่อยากพ้นทุกข์ ต้องให้เน่าเสียก่อนจึงดี
    82. ว่าไม่มีก็มีอยู่ ว่ามีก็หาไม่เห็น ว่ามีก็ไม่ถูก ว่าไม่มีก็ไม่ถูก
    83. หากคนรู้ว่าใต้ดินนั้นมีทองคำฝังอยู่ตรงไหน เขาจะต้องขุดเอาทองคำนั้นขึ้นมาทันที หากคนทั้งหลายรู้ว่านิพพานเป็นอย่างไรจริงๆแล้ว เขาจะไม่ทำตัวกันอยู่อย่างเก่าเลย
    84. คนจะพ้นทุกข์ต้องรู้จักหมดจด แผลต่างๆเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมมีแผลเป็น หากได้ทำแผลเป็นให้ไม่มีได้ ผู้นั้นจะพ้นทุกข์
    85. หากคนจะหาผลมะม่วง จากต้นมะม่วงในเวลาไม่ใช่ฤดูมีผล เขาจะไม่เห็นไม่ได้มะม่วง หากจะหาความจริงจังให้ได้เห็น ให้มีขึ้นในคน ก็จะมีจะเห็นเป็นไม่ได้ เหมือนกับหามะม่วงแล้ว ไม่ได้มะม่วง หาความจริงจังจากคน ก็จะไม่มีไม่ได้เลยเช่นกัน
    86. หากจิตท่านยังไม่ตรึงแท้ ย่อมอ่อนไหวไปตามลมแรง
    87. อริยสัจจ์สี่ คือ ก่อไฟดับไฟๆ ก่อขึ้นได้จริงและก็ร้อนได้จริง ดับก็ดับได้จริง และก็เย็นได้จริง ฉันใดความทุกข์ย่อมมีได้จริงกับสัตว์โลกทั้งหลาย แล้วก็ไม่มีได้จริงๆอีกด้วยเช่นกัน
    88. จุดมุ่งหมายของธรรมอันเป็นที่สุด คือ จะแยกน้ำออกจากบ่อ แยกน้ำออกจากโอ่ง แยกต้นไม้ออกจากแผ่นดิน และทำของที่มีให้ไม่มี
    89. เสน่ห์ของหญิง ย่อมซึมเข้าไปอยู่ในใจของชาย เสน่ห์ของชายก็ย่อมซึมเข้าไปอยู่ในใจของหญิง เหมือนกับน้ำที่ซึมอยู่ในไม้สดฉะนั้น
    90. การจะเอาอะไรมาเปรียบนิพพานนั้น ไม่มีสิ่งใดเหมือนและให้เข้าใจชัดได้เลย แม้แต่สุญญตาที่ว่าหมดจดแล้ว ก็ยังหยาบนัก สำหรับพระนิพพาน
    91. ความเป็นไปต่างๆของโลกคือความหลง กับการพ้นจากความหลงแล้ว คือรู้จักพระนิพพาน นั้นเป็นของที่ต่างกันมากนัก หากจะเปรียบก็เหมือนกับกลางวันและกลางคืนทีเดียว หากว่าผู้รู้จักนิพพานแล้ว จะมีทุกข์ได้อีก ก็เป็นว่ากลางวันและกลางคืน เป็นอันเดียวกัน หากกลางวันและกลางคืนไม่เป็นอันเดียวกันแล้ว ผู้ที่รู้จักนิพพาน จะมีทุกข์ได้ด้วยอย่างไร
    92. การกล่าวธรรม ต้องกล่าวไปตามชั้นนั้นๆของธรรม หยาบบ้างละเอียดบ้าง จะกล่าวเหมือนกันไปหมดไม่ได้ เหมือนกับเราเดินไปที่สูง เราก็ว่าที่สูง เดินไปที่ต่ำเราก็ว่าที่ต่ำ เดินไปที่รกเราก็ว่าที่รก เดินไปที่เตียนเราก็ว่าที่เตียน หากเดินไปที่รกเราไปว่าที่เตียน มันไม่ถูกนะ
    93. หากเราเข้าถึงสิ่งเราไม่เข้าใจ อันความตายเป็นอันวิ่งหนีไปแล้ว
    94. ที่ว่ารู้ๆกันนั้นจะรู้อะไรๆก็ชั่ง แท้จริงเป็นแต่ความหลงทั้งหมด สิ่งที่ว่ารู้นั้น ก็เหมือนสิ่งที่ยืมเขามาพูด หากจะหาดูจริงก็ไม่รู้อีกว่าใครเป็นผู้ยืม ใครเป็นผู้พูด ก็แต่ที่พูดอยู่ทั้งหมดนี้ ก็เป็นแต่เพียงความบ้าอย่างเดียวตลอดถึงคำสุดท้าย
    95. เห็นอนิจจัง ได้โสดา เห็นทุกขังอ่อนๆ ได้สกิทาคา เห็นทุกขังชัดได้อนาคา เห็นอนัตตาได้อรหันต์ คือหมดอนิจจัง ทุกขัง
    96. หากใครหาเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา บ้างเป็นส่วนๆ ความมัวเมาในโลกนี้ จะจางไปมากทีเดียว
    97. การอยู่โดยสงบไม่มีทุกข์ใดๆ คือการถึงแล้วแห่งที่สุดของการปฏิบัติ
    98. หากทำความเข้าใจในธรรมได้ถูกต้องแล้ว ก็เท่ากับว่าจบหลักสูตรแล้วของการเกิดขึ้นในโลก
    99. จิตรกรผู้ชำนาญ ย่อมเขียนภาพต่างๆ ได้อย่างวิจิตรพิสดารมากมาย จิตของสัตว์โลกทั้งปวง ก็เหมือนแก้วสารพัดนึก ย่อมกำหนดสิ่งต่างๆขึ้นเป็นสัญญาได้สารพัดสิ้น แล้วเข้าอาศัยเป็นไปกับสิ่งต่างๆที่ตนสร้างขึ้น
    100. หากใครรู้ว่า สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นมีขึ้น อันอยู่ในจิตของเขานั้น เกิดขึ้นมีขึ้นได้ด้วยอย่างไร เขาจะรู้จักจิตที่ว่างเปล่าอันหมดจดที่ถูกต้องได้อย่างแน่นอน
    101. สมองบังคับกาย จิตบังคับสมอง นิพพานบังคับจิต นิพพานคืออะไร คือการหมดไปของตัวมันเอง สิ่งใดที่อยู่เหนือกาย ทำกายให้เป็นไป สิ่งนั้นเรียกว่าสมอง สิ่งใดอยู่เหนือสมอง ทำสมองให้เป็นไป สิ่งนั้นเรียกว่าจิต การเป็นไปของจิต อันเข้าถึงความหมด หยุดแล้ว เพราะเหตุนั้น การขาดจากการเป็นตัวของมัน คือ จิต จึงได้มีขึ้น
    102. หากไม่มีต้นไม้ จะมีอะไรไหว ยามลมพัด
    103. หากสอนคนให้ไปสวรรค์ได้หมื่นคนแสนคน ก็สู้สอนคนๆเดียวให้รู้จักนิพพานไม่ได้
    104. สุขแท้จริงจะเกิดได้ หากเราทำความทุกข์ให้หมดไป
    105. คนเราในโลกนี้จะพูดแต่เรื่องตัวเองนั่นแหละมากที่สุด ผู้ที่พูดเรื่องผู้อื่นมีน้อย
    106. สุขทุกข์นั้นแหละเป็นพ่อแม่ เป็นที่เกิดของบาปบุญต่างๆทั้งหลาย
    107. เกิดมาแล้วควรทำความดี เอาไว้เป็นตัวอย่างในโลกนี้บ้าง แม้แต่ไส้เดือน ยังมีคนชมว่าเขาช่วยทำให้ดินดี
    108. ปลาหนองเดียวกันไม่ว่าปลาเล็กปลาใหญ่ ปลาอะไรก็ชั่ง เมื่อน้ำแห้งย่อมตายหมดเสมอกัน เวลายังอยู่ด้วยกัน อย่าขัดข้องกันนักเลย จงทำตัวให้พอเหมาะพอสม และอยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุข สงบเถิด
    109. กลางวันย่อมทำตัวเองให้เป็นกลางวัน คือมีความแจ้ง กลางคืนย่อมทำตัวเองให้เป็นกลางคืน คือมีความมืด คนมีกิเลสอยู่ก็เหมือนกัน ย่อมทำตัวไปในสิ่งต่างๆ ด้วยความมืดมัวตามฐานะของตนที่ตั้งอยู่
    110. ผู้ใดรู้ความไม่ใช่ตน ยังไม่ชัดจริงๆ จนหายสงสัยในสิ่งต่างๆที่มีอยู่แล้ว ผู้นั้นจะรู้ความพ้นทุกข์อันแท้จริงไปได้อย่างแน่นอน
    111. คนฉลาดย่อมไม่ทำตนเองให้ตกไปอยู่ในทุกข์ทั้งปวง
    112. จงรู้จักความว่างเปล่าให้ชำนาญชัดเจนจนหายสงสัยในสิ่งต่างๆที่มีอยู่
    113. อันโลกนี้มองให้มีมันก็มี มองให้ว่างมันก็ว่าง
    114. คำของผู้รู้ที่กล่าวไว้กับการเข้าใจของคนที่ศึกษาภายหลัง จะไปกันละทางเสียเป็นส่วนมาก ผู้ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดเดียวกัน จึงเป็นไปหลายแบบ
    115. การยิ้มผู้เดียวที่ถูกต้อง ย่อมเป็นอาการของผู้รู้ที่หมดสิ่งปิดบังแล้ว
    116. ความมีไม่มีจะมาจากไหน เพราะไม่มีอะไรเลยที่รู้จักตัวเอง
    117. การงานในโลกนี้มีมาก แต่งานคือการหาความพ้นทุกข์ เป็นงานที่ควรพิจารณาอย่างยิ่ง
    118. อันธาตุสี่นั้น หากจะดูกันอย่างธรรมดา ก็จะมีสี่อย่าง คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ หากจะดูกันให้ชัดถูกต้องกันเข้าไปก็จะมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
    119. ไข่ย่อมเกิดก่อนไก่ แต่ไม่ใช่ไข่ที่ออกมาจากไก่นะ ไก่ทำไข่มาได้อย่างไร ไข่ก็ทำตัวเองมาได้อย่างนั้นเหมือนกัน
    120. ธาตุเกิดย่อมมีอยู่เต็มไปหมดในโลก ทั้งบนบกในน้ำ ทั้งในที่มืดที่แจ้ง ทั้งที่หยาบละเอียดเหมือนกับผลไม้ที่ดกอยู่เต็มต้นนั่นแหละ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 กรกฎาคม 2009
  2. kengkenny

    kengkenny เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    2,878
    ค่าพลัง:
    +2,500
    ขอความเจริญจงมีแด่ท่านทั้งหลายครับ พอใจอยากอ่านก็อ่านเอาครับ เพราะหลวงปู่ท่านกล่าวโดยรวมครับ ตรงไหนตรงกับจริตเรา เราก็หาทางแก้ไขมันครับ จะได้ไม่ต้องมาคิดมากวุ่นวายอยู่ และก็ได้ปฏิบัติธรรมตามกำลังตามฐานะครับ
     
  3. kengkenny

    kengkenny เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    2,878
    ค่าพลัง:
    +2,500
    อย่ายึดมั่นถือมั่นกันอีกเลยนะ มันไม่ดีหรอก มีแต่ทุกข์ ไม่ได้อะไรเลย ถ้ามีไว้มันก็หนัก หนักที่ใจของตนเองนั้นแหละ ผมไม่เคยโกรธใครหรอกครับ เวลาผมทำผิดผมก็ไม่อายมันครับเพราะว่าเมื่อผิดแล้วรู้ก็แก้ไขดีกว่าปล่อยไปเรื่อยๆ แต่ถ้ายังไม่รู้ก็ค่อยๆพิจารณากันไปครับ อนุโมทนาบุญแก่ทุกๆท่านที่เห็นธรรมของพระตถาคตเจ้าอย่างแท้จริง
     
  4. kengkenny

    kengkenny เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    2,878
    ค่าพลัง:
    +2,500
    นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสส นตฺถิ ปัญญา อฌายโต
    (ฌานไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน)
     
  5. kengkenny

    kengkenny เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    2,878
    ค่าพลัง:
    +2,500
    ท่านภานุเดชครับ เก็บรายละเอียดคำสอนของหลวงปู่ไว้สอนผู้อื่นด้วยนะครับ เป็นสัมมาทิฐิแน่นอน ไม่แปรผันครับ
    อนุโมทนาครับ
     
  6. kengkenny

    kengkenny เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    2,878
    ค่าพลัง:
    +2,500
    เมื่อบุคคลทั้งหลายยังไม่สิ้นกรรมเพราะยังไม่ละการสร้างเหตุนั้นลงแล้ว ผลต่างๆก็จักต้องเกิดขึ้นตามตนไปตลอดทุกเวลา ทุกภพชาติ นานนับอสงไขยไม่ได้เลย แต่ละกรรมที่ต่างกันในแต่ละวาระต่างก็จักรอการแสดงผลแห่งสิ่งต่างๆนั้นออกมา ตามเงื่อนไขและมูลเหตุปัจจัยเมื่อพร้อมบริบูรณ์ ดังนั้นผู้ไม่มีกรรมใหม่คือผู้ที่ข้ามพ้นภัยแห่งวัฏสงสารนั้นได้แล้วคือหยุดเหตุนั้น แต่เหตุแห่งกรรมเก่าทั้งหลายก็ยังคงไม่สิ้นสุด เราท่านทั้งหลายจึงควรเว้นเสียซึ่งความประมาท อันได้แก่การ ให้ทาน รักษาศีล และภาวนา เพื่อสร้างเหตุที่ดีงามทั้งหลาย โดยเฉพาะทาน ที่เป็นอภัยทานนั้น เป็นเรื่องที่ควรมีแก่จิตใจของบุคคลทุกคน หากทำได้ในสรรพสัตว์ทั้งหลายก็ควรมี เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้ถึงพร้อม และความบริสุทธิ์สะอาดของจิตใจ ซึ่งเราผู้เป็นมนุษย์ทั้งหลายจะต้องใช้เป็นเครื่องฝึกตนจนกว่าจะไม่มีเหตุต้องถือครองต่อไป
    ธรรมะจากใจของข้าพเจ้า
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 10 กันยายน 2009
  7. kengkenny

    kengkenny เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    2,878
    ค่าพลัง:
    +2,500
    ผลแห่งกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหลายนั้นล้วนมีเหตุเป็นตัวก่อทั้งสิ้น

    หลายคนโดยเฉพาะคนที่หลงตัวหลงตนมักมองไม่เห็นว่า กรรมใดที่ตนก่อไว้ กรรมใดเป็นกรรมในปัจจุบันชาติ และกรรมใดเป็นกรรมในอดีตชาติ แต่หลายคนก็ทราบเพราะด้วยศรัทธายิ่งในคำสอนของพระศาสดา ก็ทราบได้ว่า คนใดหว่านพืชเช่นใดก็ย่อมได้รับผลของพืชเช่นนั้น นั่นคือ เมื่อปลูกข้าวย่อมได้ข้าวเป็นแน่แท้ เว้นแต่ว่าหากบุคคลผู้มีโมหะทั้งหลายไม่รู้จักต้นข้าว สำคัญผิดคิดว่าต้นหญ้าเป็นต้นข้าว ก็ย่อมมองไม่เห็นว่า เหตุแห่งผลนั้นเป็นเช่นไร ดังนั้น เราท่านทั้งหลายจงอย่าได้สำคัญตนผิด มีสติ อยู่โดยไม่ประมาท อกุศลกรรมใหม่ก็จะไม่เกิด อีกทั้งกุศลกรรมที่เกิดจากการสำรวม กาย วาจา ใจ นั้นจะคอยสกัดผลแห่งกรรมเก่าที่เกิดขึ้นได้ เพราะผู้ขาดสติย่อมไม่จดและจำในสิ่งที่เคยกระทำเป็นธรรมดา จำเป็นอย่างยิ่งที่ทำสิ่งใดจะต้องมีสติคิดพิจารณา ก่อนทำสิ่งใดต่อไป พิจารณาถึงประโยชน์ที่ตนและผู้อื่นจะได้รับ อย่าเห็นแก่เฉพาะตน ดังนี้แล้วเชื่อว่ายังไงก็สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นกุศลกรรมโดยชอบ เรื่องสตินี่สำคัญมากดังนี้แหละ
    อนุโมทนาครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...