เรื่องเด่น เมื่อวัดบันดาลใจ ใครๆ ก็อยากเข้า

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 30 พฤศจิกายน 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    b8b1e0b894e0b89ae0b8b1e0b899e0b894e0b8b2e0b8a5e0b983e0b888-e0b983e0b884e0b8a3e0b986-e0b881e0b987.jpg

    วัดในประเทศไทยเรามีประมาณ 4 หมื่นวัด แต่สังเกตหรือไม่ว่า ทุกวันนี้คนไม่ค่อยเข้าวัดกัน หรือเข้าวัดน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย แบบว่านานๆ เข้าที จนหลายวัดดูสภาพเหมือนวัดร้างเข้าไปทุกวันๆ แล้วการที่คนเข้าวัดนั้น ส่วนใหญ่ถ้าไม่ไปงานบวชก็งานศพ หรือไปในเวลามีเทศกาลสำคัญๆ เช่น วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันสำคัญเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีไทยที่วัดจัดงานขึ้นมา เป็นต้น

    ทำไมคนไม่ค่อยเข้าวัด?

    บางคนอาจบอกว่า ก็วัดไม่มีอะไรให้ทำนี่ เช่น กิจกรรมปฏิบัติธรรมที่ทุกวัดควรต้องมี แต่มีเฉพาะบางวัดและมีจำนวนน้อยมากที่จัดกิจกรรมนี้เป็นหลัก ซึ่งประชาชนไปวัดตอนไหนก็สามารถเข้าไปปฏิบัติได้ ทำให้หลายคนไม่เข้าวัดแต่เลือกไปสถานปฏิบัติธรรมต่างๆ ของเอกชน หรือมูลนิธิต่างๆ แทน เพราะคิดว่าเอื้อต่อการปฏิบัติธรรมของตัวเอง

    บางคนอาจมองว่า พื้นที่วัดกลายเป็นลานจอดรถไปแล้ว ทั้งไม่สะอาด ไม่มีต้นไม้ ไม่มีพื้นที่สีเขียว เข้าไปก็ร้อน สู้ไปห้างดีกว่าเย็นสบาย บางวัดสิ่งปลูกสร้างก็ใช้วัสดุไม่เข้ากับความเป็นวัด ซ้ำไปทำลายคุณค่าและสร้างทัศนะอุจาดให้วัด บางวัดก็เป็นพุทธพาณิชย์จนแทบหาคุณค่าของวัดที่แท้จริง คือ เป็นที่พึ่งและพัฒนาจิตใจประชาชนไม่มี เห็นมีแต่ส่วนใหญ่ทำหน้าที่ทางสังคม เช่น เป็นที่เผาศพสวดศพแค่นั้น แต่หน้าที่ที่เป็นแก่นแท้ของวัดแทบไม่มีให้เห็น

    วัดบันดาลใจ

    ประมาณ 3 ปีมานี้ได้เกิดโครงการหนึ่งชื่อ “วัดบันดาลใจ” ขึ้นมา แล้วโครงการที่ว่านี้ก็กำลังช่วยพลิกฟื้นความเป็นวัดที่แท้จริงกลับมา ด้วยการออกแบบวัดใหม่ ให้เป็นรมณียสถานด้วยการปรับพื้นที่กายภาพของวัดให้เอื้อต่อการเรียนรู้และพักผ่อนหย่อนใจ และสร้างกิจกรรมในวัดให้เอื้อต่อการพัฒนาสติปัญญาและจิตใจของประชาชน

    โครงการวัดบันดาลใจเกิดจากมุมมองและความคิดริเริ่มของ “ธีรพล นิยม” ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) และผู้ก่อตั้งสถาบันอาศรมศิลป์ ที่มองเห็นความเปลี่ยนไปของวัดที่เมื่อก่อนวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวบ้านเวลามีงานบุญ งานหลวง งานราษฎร์ วัดคือที่พบปะหารือ ส่วนเจ้าอาวาสและพระสงฆ์ในวัดก็เป็นขวัญกำลังใจและชี้นำทางสติปัญญา แต่ปัจจุบันบทบาทของวัดเริ่มถดถอยลงมาก บางวัดแทบไม่มีเลย ทำให้คนไม่ค่อยเข้าวัด ที่น่าห่วงหลายวัดกลายเป็นพุทธพาณิชย์ไป

    “ความที่ผมเป็นสถาปนิก ทำยังไงจะพลิกฟื้นความเป็นวัดที่แท้จริงกลับคืนมา ก็เชื่อว่าการปรับพื้นที่กายภาพของวัดให้เอื้อต่อการเรียนรู้และพักผ่อนหย่อนใจด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และสร้างกิจกรรมต่างๆ ในวัดให้เอื้อต่อการพัฒนาสติปัญญาและจิตวิญญาณ ซึ่งในด้านกายภาพต้องอาศัยสถาปนิกมาช่วยในการออกแบบวัด ผมจึงชักชวนสถาปนิก วิศวกร สมาคมสถาปนิกสยามฯ สมาคมภูมิสถาปนิกฯ วิศวกรรมสถาน และบริษัทสถาปนิกต่างๆ มาเป็นอาสาสมัครเครือข่ายช่วยกันออกแบบให้กับวัดต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ขณะที่ในด้านจิตวิญญาณก็เชิญมูลนิธิหอจดหมายเหตุท่านพุทธทาสฯ ที่เก่งในเรื่องกิจกรรมเข้ามาช่วยในการจัดกิจกรรมต่างๆ ในวัด และได้ กสทช.มาช่วยในด้านไอที ซึ่งโครงการนี้ได้ทุนสนับสนุนโครงการจาก สสส.”

    b1e0b894e0b89ae0b8b1e0b899e0b894e0b8b2e0b8a5e0b983e0b888-e0b983e0b884e0b8a3e0b986-e0b881e0b987-1.jpg

    9 วัดนำร่อง

    หลักในการทำงานของโครงการคือ เริ่มต้นด้วยการทำวัดนำร่องที่มีความพร้อมที่ต้องการให้ไปออกจริงๆ 9 วัดในปีแรก ประกอบด้วย วัดพระธาตุพนม จ.นครพนม วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ วัดนางชี กรุงเทพฯ ฝั่งธน วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จ.นนทบุรี วัดภูเขาทอง จ.พระนครศรีอยุธยา วัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ วัดศรีทวี จ.นครศรีธรรมราช วัดป่าโนนกุดหล่ม จ.ศรีสะเกษ และวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา แต่ไม่น่าเชื่อว่าปีแรกจะมีวัดสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก

    “ย้อนไปเมื่อ 3 ปีที่แล้วอันเป็นปีแรกของโครงการ เราต้องการแค่ 9 วัดนำร่องเท่านั้น แต่พอจัดสัมมนาแนะนำโครงการครั้งแรกเพื่อที่จะให้เกิดการเรียนรู้กันในระหว่างอาสาสมัคร สถาปนิก ผู้ทำกิจกรรมและวัดต่างๆ ปรากฏมีวัดเข้าร่วมสัมมนา 200 วัดรวมวัดในต่างประเทศด้วย และมี 100 กว่าวัดที่ต้องการให้เราออกแบบให้ แต่รับทั้งหมดไม่ไหวจึงเลือกมา 31 วัด เนื่องจากมีสถาปนิกประมาณ 40 คนก็แบ่งกันไปออกแบบแต่ละวัด ทำควบคู่ไปกับวัดนำร่องของโครงการ 9 วัด รวม 40 วัด”

    ธีรพล กล่าวว่า สามปีที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครที่เป็นสถาปนิก ภูมิสถาปนิก วิศวกร นักออกแบบมืออาชีพ และคนจัดกิจกรรมมาช่วยพัฒนาวัด และจากการทำงานอย่างต่อเนื่องนี้โครงการได้รวบรวมความรู้มาจัดตั้งเป็น Knowledge Center เพื่อให้คำแนะนำกับวัดอื่นๆ ที่สนใจพัฒนาตามแนวทางวัดบันดาลใจสามารถเริ่มได้ด้วยตัวเอง และหวังว่าองค์กรสงฆ์จะเห็นคุณค่าและประโยชน์ของโครงการ และสนับสนุนให้วัดต่างๆ มีทิศทางการพัฒนาที่เกื้อกูลชีวิตของผู้คน

    “ผมอยากให้ผู้คนลองจินตนาการดูว่า วัดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอยู่ 1,300 แห่ง ถ้าแต่ละวัดมีพื้นที่สัก 5 ไร่ หากปรับเปลี่ยนพื้นที่เหล่านั้นให้ร่มรื่น เราจะได้ปอดของกรุงเทพฯ ถึง 6,500 ไร่ เหมือนมีสวนลุมพินีเพิ่มมา 20 แห่ง ส่วนการเป็นที่พึ่งทางสติปัญญาและจิตใจนั้นก็คงขึ้นกับคุณภาพของพระสงฆ์ในแต่ละวัดซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อยเป็นค่อยไปตามเหตุปัจจัย” ผู้ริเริ่มโครงการชวนคิด

    วัดสุทธิวราราม โฉมใหม่ได้ใจทุกคน

    หากใครไปวัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ (1 ใน 9 วัดนำร่องโครงการวัดบันดาลใจ) ในเวลานี้จะเห็นความเปลี่ยนแปลงมากมายในทางที่สร้างสรรค์เป็นที่จรรโลงจิต วัดมีความร่มรื่น น่าเข้าไปอย่างยิ่ง แต่ถ้าให้นึกย้อนภาพวัดสุทธิฯ ที่ผ่านมา คนจะมองเลยว่าไม่มีอะไรนอกจากงานศพ สวดศพทุกวัน และไม่ค่อยมีกิจกรรมอะไรที่ประชาชนเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ลานวัดก็เป็นลานจอดรถ ไม่มีพื้นที่สีเขียว มีแต่ลานปูน กำแพงโบสถ์ก็กินพื้นที่วัดจากวัดที่แคบอยู่แล้วยิ่งแคบหนักเข้าไปอีก

    ทว่า พอได้เจ้าอาวาสที่มีวิสัยทัศน์และมองการณ์ไกลอย่าง พระสุธีรัตนบัณฑิต (สุทิตย์ อาภากโร) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันและยังเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) วัดสุทธิฯ จึงเปลี่ยนไปและมีความโดดเด่นในหลายๆ ด้าน ทั้งในด้านกายภาพ เนื่องจากมีการปรับพื้นที่วัดให้มีพื้นที่สีเขียว และในด้านกิจกรรมก็มีกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ให้นักเรียน ชุมชน และประชาชนทั่วไปเข้ามาร่วมได้ตลอด

    พระสุธีรัตนบัณฑิต กล่าวว่า วัดในเมืองส่วนใหญ่ก็จะเห็นสภาพอันหนาแน่นของตึก อาคาร ร้านค้า ลานจอดรถ วัดสุทธิวรารามก็เช่นกันในช่วงแรกมีพื้นที่สาธารณะน้อย ทางวัดจึงคิดว่าน่าจะสร้างวัดให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของสังคมขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยโบสถ์ ศาลาการเปรียญที่มีอยู่มาปรับผังภูมิทัศน์ขึ้นใหม่ โดยหลักคิดในการพัฒนาวัดเพื่อสร้างพื้นที่ทางกายภาพให้สะอาดร่มรื่น สวยงาม เป็นสถานที่สัปปายะเหมาะกับการเรียนรู้ และการเข้ามาพัฒนาจิตใจของประชาชนทุกเพศทุกวัย

    กิรินทร์ ตั้งเลิศปัญญา ภูมิสถาปนิกอาสาวัดสุทธิวราราม จากบริษัท ฉมา โซเอ็น เล่าถึงการออกแบบว่า จากการที่พูดคุยกับเจ้าอาวาส ท่านต้องการพัฒนาพื้นที่วัดให้เป็นสวนกลางเมืองและพื้นที่การเรียนรู้ เนื่องจากเห็นว่าผู้คนในละแวกถนนเจริญกรุงไม่มีพื้นที่สาธารณะ ถ้าได้เข้ามาใช้ในวัดที่ร่มรื่นก็เป็นเรื่องดี แต่การที่จะทำอย่างนั้นได้ต้องปรับพื้นที่รอบอุโบสถ

    “โบสถ์วัดสุทธิฯ จะอยู่ตั้งตรงกลางวัด มีพื้นที่โล่งทั้งซ้ายและขวา แต่เมื่อก่อนจะมีศาลาสวดศพ และกุฏิ 1 หลังขวางพื้นที่ท่านก็ให้รื้อออก แล้วทุบกำแพงแก้ว (กำแพงรอบโบสถ์) ออกเพื่อให้ออกแบบพื้นที่สวนโดยรอบอุโบสถได้ ในการออกแบบเราได้เสนอท่านเป็น 3 เฟส เพราะความตั้งใจของท่านต้องการเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียวทั้งหมด แต่เนื่องจากพื้นที่วัดปัจจุบันเป็นที่จอดรถทั้งหมด ถ้าจะเปลี่ยนทันทีไม่มีพื้นที่จอดรถเลยคนคงจะไม่เห็นด้วย ก็เลยออกแบบเป็นที่สีเขียวและเป็นที่จอดรถด้วย

    ท่านบอกอีกว่าเฟสต่อไปจะทำพื้นที่อีกฝั่งของวัดเป็นพื้นที่สวน และในอนาคตถ้าสามารถทำพื้นที่วัดฝั่งตรงข้ามเป็นโรงพยาบาลสงฆ์ได้ก็จะทำพื้นที่ในวัดทั้งหมดเป็นพื้นที่สีเขียว ขณะเดียวกันก็จะเอาที่จอดรถย้ายไปอยู่อีกฝั่งด้วย ดังนั้นจึงพยายามเสนอท่านเป็น 3 เฟสโดยไม่ให้กระเทือนคนในชุมชน และให้ชุมชนค่อยๆ เรียนรู้กับการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้วัดก็ได้สวนสีเขียว”

    b1e0b894e0b89ae0b8b1e0b899e0b894e0b8b2e0b8a5e0b983e0b888-e0b983e0b884e0b8a3e0b986-e0b881e0b987-2.jpg

    ศูนย์การเรียนรู้ในวัด

    นอกจากสร้างสวนสีเขียวในวัดแล้ว ยังได้ทำศูนย์เรียนรู้พระพุทธศาสนาและการพัฒนาสังคม เพื่อให้นักเรียน ประชาชนทั่วไป หน่วยงาน องค์กรต่างๆ รวมทั้งชุมชนได้เข้ามาใช้ร่วมกันอีกด้วย ในการนี้ก็ได้อาสาสมัครด้านกิจกรรมของโครงการมาร่วมด้วยช่วยกันในเรื่องของการออกแบบกิจกรรม เช่น กิจกรรมดูหนังตามหาแก่นธรรม เป็นต้น

    พระมหาพร้อมพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้พระพุทธศาสนาและการพัฒนาสังคม วัดสุทธิวรารามเล่าว่า อย่างกิจกรรมตักบาตรคนเมืองที่จัดทุกวันเสาร์แรกของเดือนนั้น ในเย็นวันศุกร์จิตอาสาที่เป็นนักเรียนจะมาช่วยเตรียมของ วันรุ่งขึ้นก็ชวนผู้ปกครองมาตักบาตร เสร็จงานนั่งกินข้าวร่วมกัน เป็นภาพที่น่ารัก จากคนเข้าร่วมหลักสิบปัจจุบันหลักร้อย ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง ผู้สูงอายุรอบๆ วัด คนมาก็หลากหลาย บางคนรู้ข่าวจากโซเชียลมีเดีย วัดไม่ได้มองคำว่าชุมชนต้องเป็นคนรอบๆ วัดเท่านั้น และหลังจากเปิดให้บริการ แต่ละวันมีเด็กๆ จำนวนหนึ่งมาใช้ศูนย์การเรียนรู้ ทำการบ้าน อ่านหนังสือ รอพ่อแม่มารับ

    “บางครั้งเกิดบทสนทนากับพระอาจารย์ สงสัยอะไรก็ไม่ได้ตอบด้วยธรรมะจ๋า ตั้งแต่เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันรับตำแหน่ง ท่านพูดชัดว่าจะขับเคลื่อนวัดไปในทิศทาง 3 ด้าน คือ เน้นกายภาพให้มีความสะอาดร่มรื่น พัฒนาวัดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของคนและชุมชน และพัฒนาด้านจิตปัญญา ตอนนี้เราทำด้านกายภาพแล้ว ทำศูนย์การเรียนรู้แล้ว

    ต่อไปด้านจิตตปัญญาเรากำลังทำอยู่ โดยเจ้าอาวาสท่านให้ความสำคัญกับงานศิลปะและต้องการให้งานพุทธศิลป์เป็นเครื่องสื่อสารธรรมะให้กับประชาชน จะเห็นว่า ในโบสถ์ทั้งชั้น 1 ชั้น 2 ท่านได้ให้ศิลปินชื่อดังมาวาดภาพปริศนาธรรมต่างๆ เพื่อให้คนได้มาศึกษาเรียนรู้ อย่าลืมว่า ภาพหนึ่งภาพอธิบายได้ร้อยพันความหมาย” พระมหาพร้อมพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

    ถ้าทุกวัดโดยเจ้าอาวาสมีวิสัยทัศน์ พร้อมที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเชื่อเหลือเกินว่าบทบาทและบรรยากาศของวัดจริงๆ จะกลับมา พระได้ทำหน้าที่ของตัวเอง ชาวบ้านก็จะเข้าวัดด้วยความศรัทธา มิใช่สักแต่เข้าไป เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.posttoday.com/life/life/528051
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 30 พฤศจิกายน 2017

แชร์หน้านี้

Loading...