เมตตาธรรมที่สืบทอดจากหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ไปสู่ศิษย์

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 27 มีนาคม 2008.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เมตตาธรรมที่สืบทอดจากครูบาอาจารย์ไปสู่ศิษย์
    [​IMG]
    หลวงปู่สอนพระเณรเสมอ ให้แสวงหาที่สงัดวิเวก เร่งทำความเพียรภาวนาอย่างหนัก อย่าประมาท การทำความเพียร ให้ปฏิบัติจนเป็นความเคยชิน ไม่ให้เลือกกาลเวลาหรือสถานที่
    ความจริงแทบจะไม่ต้องพูดด้วยวาจาเลย เพราะองค์ท่านก็เป็นแบบฉบับอันยิ่งยอดของของผู้แสวงหาทางที่อันสงัดวิเวกอย่างแท้จริงอยู่แล้ว เขาสูง... ป่าลึก... ถ้ำอันสงัดลับลี้ที่แทบจะไม่มีเท้ามนุษย์เคยเยี่ยมกรายไปถึง ล้วนเป็นที่ซึ่งท่านเคยดั้นด้นธุดงค์ผ่านไปแล้วอย่างโชกโชน ท่านสรรเสริญอยู่เสมอว่า การทำความเพียรภาวนา จะได้รับความก้าวหน้าทางจิตอย่างดูดดื่มลึกซึ้ง ในสถานที่อันสงัดวิเวก เพื่อความก้าวหน้าทางภาวนา จึงควรที่จะแสวงหาป่าเขาอันสงบสงัดลึกล้ำเป็นที่บำเพ็ญเพียร แต่ท่านก็เตือนบรรดาศิษย์เสมอว่า อย่าให้สิ่งนี้มาเป็นกังวลจนเสียประโยชน์ของเจ้าของ ด้วยมัวแต่ตรึกนึกแสวงหาแต่สถานที่ใหม่เรื่อยไป เมื่อหาสถานที่อันเป็นสัปปายะแก่จิตได้แล้ว ก็ควรพอใจพำนักบำเพ็ญภาวนาต่อไป จนกว่าจิตจะรู้สึก “จืดจาง” หรือ “เคยชิน” ไป
    จิตผู้ภาวนาควรจะ “ตื่น” ระวังภัย ระวังสติ เมื่อใดเกิดอาการชินชาหรือที่เรียกว่า “ติด” ที่อยู่ ก็ต้องแสวงหาที่ใหม่ต่อไป
    อาการ ติด ที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงให้บรรดาภิกษุควรระวังมี ๔ ประการ คือ
    “ติดอาหาร” “ติดอากาศ” “ติดตระกูล” และ “ติดที่อยู่”
    ติดอาหาร หมายถึง การติดในรสอาหาร ว่าประณีต อร่อย... เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม
    ติดอากาศ หมายถึง การติด อากาศร้อน หนาว โปร่ง สบาย ไม่ชื้น ไม่แฉะ
    ติดตระกูล หมายถึง การติด พึงใจที่จะอยู่ใกล้ชิดญาติโยมผู้อุปัฏฐากให้มีแต่ความสะดวกสบาย
    ติดที่อยู่ หมายถึง การติดถิ่น ติดสถานที่ ถือเป็นที่อยู่ประจำ จนกลายถือเป็นเจ้าเข้าเจ้าของไป
    พระธุดงค์จะต้องสามารถ ละ ได้ ไม่มีการ ติด เหมือนพญาหงส์ที่บินจากสระมุจลินท์ไปโดยปราศจากการโศกสลดห่วงหาอาลัยฉะนั้น
    หลวงปู่เตือนลูกศิษย์ของท่านเสมอว่า ...แต่จะอย่างไรก็ดี จะอยู่ที่ใดก็ตาม บัณฑิตย่อมรู้จักใช้สถานที่และเวลาให้เป็นประโยชน์ต่อการภาวนาทุกจังหวะและทุกโอกาส ไม่เฉพาะแต่เวลาที่นั่งภาวนาหรือเดินจงกรม แม้แต่ระหว่างบิณฑบาต ระหว่างฉัน ระหว่างทำกิจวัตรประจำวัน ไปห้องน้ำ ล้างหน้า ระหว่างเดินทาง ไม่เลือกสถานที่ว่าจะต้องอยู่ในกลางป่า ในถ้ำ ในคูหา บนยอดเขา ระหว่างโคจรบิณฑบาตไปในหมู่บ้าน... ก็ควรจะต้องตั้งสติ มองดูจิตของตนตลอดเวลา ไม่เลือกกาล เลือกสถานที่ ไม่เลือกหนาว เลือกร้อน เลือกฝนตก เลือกแดดออก เลือกสบาย หรือเลือกป่วยไข้ ...ต้องเป็นผู้มีสติอยู่ทุกกาล ทุกสถานที่ และทุกอิริยาบถ....
    สติกำกับจิต สติต้องอยู่ตลอด ไม่ว่าจิตจะอยู่ในขั้นใด ขั้นเริ่มฝึกหัด ขั้นจิตเป็นสมาธิ ขั้นเริ่มฝึกหัดทางปัญญา ...จะเจริญสมถะหรือวิปัสสนาขั้นใดก็ตาม ต้องอาศัยสติกำกับดูแลอยู่ตลอด หากขาดสติ สมาธิและปัญญาก็จักไม่เจริญไปได้
    ท่านให้พระเณรมุ่งตรงต่อ สติปัฏฐาน ๔ และ อริยสัจ ๔ ทางนี้เป็น “มรรค” เอโก มัคโค ทางเอกทางเดียวมุ่งตรงไปสู่ “ผล” คือการดับทุกข์หรือนิพพาน พระพุทธเจ้าทรงรับรองมาตลอด
    ท่านอธิบายว่า เรื่อง สติ เรื่อง มหาสติปัฏฐาน ๔ เรื่อง ไตรลักษณ์ และ อริยสัจ ๔ ที่ท่านเน้นให้พระเณรปฏิบัตินี้ ท่านก็กล่าวตามแนวที่ท่านปฏิบัติ โดยได้รับโอวาทสั่งสอนมาจากพ่อแม่ครูอาจารย์ของท่าน ... กล่าวคือ ตามที่พระอาจารย์มั่นได้สั่งสอนท่านมานั้นเอง ว่าเป็นหัวใจของการปฏิบัตินำไปสู่การหลุดพ้น
    ถ้ามั่นใจในมรรคผลนิพพาน ปฏิบัติไปอย่างเต็มสติ เต็มปัญญา เต็มความสามารถ ไม่ย่อท้อ รอรี สงสัยนี่ สงสัยโน่น...ก็จะหายสงสัยในธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง หมดการตรึกนึกถึงอดีต อนาคต สามารถปล่อยวางทุกข์กังวลทั้งปวง วางภพ วางชาติได้
    ท่านก็ปฏิบัติไปตามคำที่ครูบาอาจารย์พาท่านดำเนินมา และท่านก็นำธรรมคำสั่งสอนนั้นมาถ่ายทอดให้หมู่ศิษย์อีกทอดหนึ่ง
    การทำจริง ย่อมได้รับผลจริงอย่างไม่ต้องสงสัย สำคัญแต่ว่า ทุกคนจะยอม “ทำจริง” หรือไม่เท่านั้น พระพุทธเจ้าสลบไปกี่ครั้ง ? ท่านพระอาจารย์มั่นก็สลบไปกี่ครั้ง ? ประวัติครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ที่ภาวนาสละตาย ซวนซบสลบไปแต่ละองค์...องค์ละกี่ครั้ง...? ผู้ที่มารู้จัก มากราบไหว้ในภายหลังก็เห็นแต่ตอนที่ท่าน “ผ่าน” แดนตายกันมาแล้ว
    จะมีกี่คนที่เข้าใจถึงคำที่ท่านกล่าวสั้น ๆ กันว่า ต้องทำความพากความเพียรอย่างเต็มที่ อย่างอุกฤษฎ์...?
    ไม่ใช่ทำแบบย๊อก ๆ แย็ก ๆ ...แล้วก็ฝันถึงสวรรค์ นิพพานเอา
    ฝันก็ได้แค่ ฝัน ได้แค่ เงา คว้าได้แต่ เงา ที่จะเป็นสมบัติของตนอย่างเต็มภาคภูมินั้นอย่าได้ฝันไป
    ตามสำนวนของหลวงปู่...ท่านสอนศิษย์ผู้ใกล้ชิดว่า ธรรมอยู่ริมตาย ฟากป่าหมากเยา* น้อยเดียว กว่าจะพ้นทุกข์ กระดูกเพียงปลายไผ่
    * ต้นหมากเยา : ต้นสบู่ดำ
    ท่านอธิบายว่า นิพพานไม่ได้สูญ ไม่ได้อยู่ตามที่โลกคาดคะเนหรือเดากัน ทำจริงจะได้เห็นของจริง รู้จริง และจะเห็นนิพพานเอง เห็นพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เห็นครูบาอาจารย์ที่ท่านบริสุทธิ์เอง และหายสงสัยด้วยประการทั้งปวง
    ท่านเล่าให้ศิษย์ผู้ใกล้ชิดและมุ่งมั่นต่อการหลุดพ้นฟังว่า นี้แหละเป็นคำสอนจากท่านพระอาจารย์มั่น และความจริงเป็นธรรมที่ท่านพระอาจารย์มั่นเมตตามาแสดงโปรดท่านทางนิมิตภาวนา
    ท่านเล่าว่า ท่านพระอาจารย์มั่นมากด้วยความเมตตาต่อศิษย์ โดยเฉพาะสำหรับหลวงปู่แล้ว เวลาท่านติดขัดในการภาวนา ท่านพระอาจารย์จะเมตตามาแสดงธรรมสอนท่านทางสมาธิภาวนาเสมอ ไม่เลือกสถานที่ว่า จะเป็นเวลาที่ท่านอยู่ในถ้ำ หรืออยู่กลางป่า หรืออยู่บนเขา และไม่เลือกว่าจะเป็นเมืองใด ประเทศใด ...ไทยหรือลาว หรือพม่า
    บางทีท่านพระอาจารย์มั่นก็จะเหาะลอยมาทางอากาศ แต่บางทีก็จะเดินมาอย่างธรรมดา หรือปรากฏร่างขึ้นในทันที เมื่อท่านเมตตาสั่งสอนจบลง หลวงปู่ก็จะก้มกราบด้วยความเคารพอย่างสูงสุด และเต็มตื้นด้วยความรู้สึกถึงพระคุณของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่มีอย่างล้นฟ้าล้นดิน ไม่เคยทอดทิ้งศิษย์ ดูแลห่วงใยคอยสอดส่องให้ความรู้แก่ศิษย์ตลอดเวลา
    ...แม้แต่เมื่อท่านนิพพานไปแล้ว ท่านก็ยังคงเป็น “พ่อ” เป็น “แม่” เป็น “ครูบาอาจารย์ “ ที่สูงด้วยเมตตาต่อศิษย์อย่างไม่เสื่อมคลาย
    ท่านเล่าว่า ท่านพระอาจารย์มั่นมาเยี่ยมและเมตตาสั่งสอนท่านเสมอ และขณะเมื่อผู้เขียนบันทึกมาถึงตอนนี้ ได้ขอโอกาสกราบเรียนถามถึง แม้ในเวลาปรัตยุบันนี้ (ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เมื่อเรียนถามครั้งสุดท้าย) ...หลวงปู่ก็รับว่า ท่านพระอาจารย์มั่นยังมาเยี่ยมอยู่เช่นเดิม
    บันทึกมาถึงแค่นี้ ผู้เขียนก็ให้นึกถึงเรื่องที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ถึง พุทธกิจ ๕ ประการขององค์สมเด็จพระบรมครู ซึ่งคนสมัยนี้ส่วนใหญ่อ่านแล้วก็ไม่ยอมเชื่อ
    พุทธกิจ ๕ ประการ ที่ทรงบำเพ็ญให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกนั้น มีกล่าวไว้ว่า
    กิจข้อแรก..... ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ เวลาเช้าเสด็จออกบิณฑบาต เพื่อเป็นการโปรดสัตว์โลกผู้ต้องการบุญ
    กิจข้อสอง.... สายณฺเห ธมฺมเทสนํ ในเวลาเย็น ทรงแสดงธรรมแก่ประชาชนผู้สนใจในการฟังธรรม ซึ่งมีตั้งแต่ท้าวพระยามหากษัตริย์ลงมาจนถึงคนเข็ญใจ
    กิจข้อสาม .... ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ ในเวลาค่ำ ทรงประทานโอวาทให้กรรมฐานแก่พระภิกษุสงฆ์ รวมทั้งทรงแก้ไขข้อติดขัดในการภาวนาให้ด้วย
    กิจข้อสี่.... อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ ในเวลาเที่ยงคืน ทรงแสดงธรรมและตอบปัญหาแก่เทวดาทั้งหลาย
    กิจข้อห้า.... ปจฺจุสฺเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเล็งพระญาณที่ใครจะมาข้องตาข่ายพระญาณของพระองค์ ที่อาจจะรู้ธรรมซึ่งพระองค์ทรงแสดง แล้วได้รับผลตามควรแก่อุปนิสัยบารมีของคนเหล่านั้น โดยเฉพาะผู้มีนิสัยที่จะบรรลุธรรมโดยรวดเร็ว แต่ชีวิตจะต้องตายเสียก่อน ก็จะเสด็จออกไปโปรดคนนั้นก่อนเพื่อน
    การเสด็จไปโปรดสัตว์โลกตามพุทธกิจข้อต่าง ๆ นี้ ปกติจะเสด็จไปด้วยพระองค์เอง แต่บางโอกาสก็อาจจะเสด็จโดยพุทธนิมิตในภาวนาก็ได้ ตามพระธรรมปทัฏฐกถา กล่าวไว้หลายต่อหลายครั้งว่า พระสาวกของพระองค์กำลังพิจารณาธรรมอยู่ เกิดขัดข้องในการพิจารณาธรรมอันเป็นช่วงสำคัญด้วยประการใดก็ตาม สมเด็จพระบรมศาสดาระหว่างประทับอยู่ในพระคันธกุฎี จะทรงเปล่งพระโอภาสไปปรากฏพระองค์อยู่ต่อหน้าพระสาวกองค์นั้น ๆ ทรงมีพระพุทธการุณย์ ทรงตรัสแนะ...ทรงเฉลยธรรม... และเมื่อพระสาวกองค์นั้น ๆ พิจารณาตามไป ก็สามารถบรรลุมรรคผลอรหัตผลได้โดยไม่ยาก
    ทรงแสดงธรรมและตอบปัญหาเทวดาทั้งหลาย... !?!
    เปล่งพระโอภาส ไปปรากฏพระองค์ ... !?!
    โลกสมัยใหม่จะไม่ยอมเชื่อกันเป็นอันขาด ว่าเป็นไปได้... ! กล่าวหากันว่าเป็นการเขียนตกแต่งต่อเติมเสริมต่อ โดยพระอรรถกถาจารย์ในภายหลัง ! เป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์เราจะทำอย่างนั้นได้... ! โกหกกันชัด ๆ ... !
    โลกสมัยปรมาณูก้าวหน้ากันไปเท่าไรแล้ว คนไทยยังงมงายกันอีก
    ไม่แต่คนไทยธรรมดาจะคัดค้าน มีพระภิกษุสงฆ์บางรูปก็ยังช่วยเขียนค้านพระไตรปิฎกนั้น...รับไม่ได้ ควรจะตัดออกสัก ๔๐ – ๖๐ %
    ตัดทิ้งเสีย ฝรั่งเขาจะได้ยอมรับได้... !
    โถ..ท่านก็เรียนแต่ปริยัติ ไม่ยอมปฏิบัติ ท่านจะทราบได้อย่างไร ว่าพระไตรปิฎกนั้นกล่าวถึงแต่ ของจริง ของแท้ มิได้มี ของปลอม มาเจือปนเลย
    ไม่ปฏิบัติด้วยตัวเองแล้ว จะเห็นของจริงได้เช่นไร !
    เรื่องเช่นนี้ ท่านผู้อยู่ในวงปฏิบัติธรรม เป็นจำนวนมากที่เคยผ่านมาแล้วด้วยตนเอง หรืออย่างน้อยก็ได้ประสบพบเห็นเรื่องของครูบาอาจารย์เป็นที่ประจักษ์ตาตนเองมาแล้ว !!
    ไม่มีอะไรที่จะกล่าวได้ว่า มากเกินไป...หรือเป็นไปไม่ได้ สำหรับพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ส่วนอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ของพระองค์ท่าน...ของพระสาวกผู้ทรงญาณลาภี...ผู้ประพฤติตามรอยพระบาทพระบรมครู ก็ย่อมเป็นไปในแนวเดียวกัน
    ที่มา http://ecurriculum.mv.ac.th/dhamma/...nk/monk_biography/lp-chob/lp-chob-hist-23.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...