เพิ่มครูพระสอนศีลธรรม แก้วิกฤตศีลธรรม?

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 4 กุมภาพันธ์ 2007.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    มีข่าวเล็กๆ ว่าเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้เพิ่มครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนอีก 10,000 รูป รวมกับที่มีอยู่เดิมเป็น 20,000 รูป และมีแนวคิดว่าจะขยายโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์จากเดิมที่มีอยู่ 1,000 แห่ง เป็น 7,000 แห่งทั่วประเทศ

    ชาวพุทธได้ทราบข่าวนี้คงจะอนุโมทนาสาธุเพราะนับวันอาการป่วยทางศีลธรรมของสังคมยิ่งวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ

    พูดอย่างกว้างๆ ปัญหาต่างๆ ทางสังคม เช่น เด็กติดเกม ติดเว็บลามก ยาเสพติด อบายมุข นักศึกษาขายตัว บอกเลิกแฟนแล้วถูกฆ่า ดาราภาพหลุด เตียงหัก นิสัยขี้เกียจ ขี้โกง ขี้โอ้อวด ขี้อิจฉา การตกเป็นทาสวัตถุนิยม บริโภคนิยม ไปจนถึงคอร์รัปชั่นแบบโคตรโกง และโกงทั้งโคตร รวมถึงวัฒนธรรมยึดมั่นถือมั่นว่าอำนาจนิยมจะแก้ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยได้ ซึ่งทำให้ประเทศชาติวิกฤตอยู่ในขณะนี้ ล้วนแต่โยงไปถึงปัญหาวิกฤตศีลธรรมในแง่ใดแง่หนึ่งได้ทั้งสิ้น

    เพราะศีลธรรมในพุทธศาสนามีความหมายครอบคลุมชีวิตทุกมิติ ถ้าดูจากหลักอริยสัจ 4 จะพบว่า 3 ข้อแรกเป็นเรื่องของ "สัจธรรม" หรือ ความจริง คือ ทุกข์ และสมุทัย ซึ่งเป็นเรื่องของความจริงเกี่ยวกับปัญหาและสาเหตุให้เกิดปัญหาต่างๆ ในชีวิต นิโรธ เป็นเรื่องของความจริงเกี่ยวกับสภาวะความพ้นทุกข์ที่เป็นผลของการปฏิบัติตามมรรค

    ส่วนมรรคเป็นเรื่องของ "ศีลธรรม" คือเป็นเรื่องของการฝึกฝนปฏิบัติพัฒนา (ภาวนากิจ) เพื่อให้เข้าใจทุกข์หรือปัญหาต่างๆ ของชีวิตและสังคม (ปริญญากิจ) เพื่อแก้ไขหรือขจัดสาเหตุของทุกข์หรือปัญหาต่างๆ ในชีวิตและสังคม (ปหานกิจ) และเพื่อบรรลุถึงการแก้ปัญหาได้เสร็จสิ้น ความพ้นทุกข์ หรือความสุขที่แท้จริง (สัจฉิกิริยากิจ)

    มรรคหรือศีลธรรมที่ว่านี้คือวิถีชีวิตแบบพุทธ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่มุ่งฝึกฝนพัฒนาใน 3 ด้านหลักๆ คือ

    1.ฝึกฝนพัฒนาทางด้านปัญญา (อธิปัญญาสิกขา)

    คือการเรียนรู้เพื่อให้เกิดโลกทรรศน์ชีวิทัศน์ที่ถูกต้อง เช่น การมองโลกและชีวิตอย่างเข้าใจความเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้งเป็นทุกข์ความไม่มีตัวตน ความที่ชีวิตเราและสรรพสิ่งต่างดำรงอยู่อย่างอิงอาศัยกันและกัน เข้าใจความทุกข์ สาเหตุของทุกข์ และยึดความพ้นทุกข์เป็นเป้าหมายของชีวิต เป็นต้น

    2.ฝึกฝนพัฒนาด้านศีล (อธิสีลสิกขา)

    คือการเรียนรู้ที่จะไม่ใช้วาจา ใช้ร่างกายในทางเบียดเบียนทำร้ายคนอื่นๆ หรือสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายทางสังคม ให้รู้จักใช้วาจา และกายสร้างความสัมพันธ์หรือสื่อสารกับผู้อื่นและสังคมในทางที่ดีมีประโยชน์ รู้หน้าที่ มีความรับผิดชอบ ตลอดถึงประกอบสัมมาอาชีวะเพื่อสร้างสุขแก่ตนเองและความเจริญก้าวหน้าด้านต่างๆ แก่สังคมส่วนรวม

    3.ฝึกฝนพัฒนาทางด้านจิต (อธิจิตสิกขา) คือการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตใจให้มีสติ สงบผ่องใส เบิกบาน หนักแน่น มีความเพียรพยายาม มีคุณธรรมต่างๆ ให้เข้มแข็งสูงส่งขึ้นเรื่อยๆ

    ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงพระสอนศีลธรรม ก็คงต้องหมายถึงศีลธรรมที่เป็นวิถีชีวิตแบบพุทธ ซึ่งโดยสาระก็คือว่า จะต้องพัฒนาปัญญาในโลกที่บ่าล้นด้วยข้อมูลข่าวสาร ความคิด และคุณค่าที่หลากหลายซับซ้อน จะต้องพัฒนาศีลซึ่งเป็นแนวทางสันติในโลกที่เต็มไปด้วยความรุนแรงความขัดแย้งที่สลับซับซ้อน

    และต้องพัฒนาสติหรือความมั่นคงทางจิตใจท่ามกลางสภาวะที่เราต่างถูกกรอกหูหรอกตาทุกๆ นาทีในโลกที่ท่วมท้นด้วยสิ่งยั่วยุมอมเมากิเลสตัณหาดาษดื่นไปทั่ว

    การเพิ่มครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ จะทำให้เยาวชนปัจจุบันเกิดการเรียนรู้ เข้าใจ เห็นคุณค่า สามารถยึดหลักศีลธรรมแบบพุทธเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมกับยุคสมัยได้มากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องที่ยากมาก

    เพราะการที่คนเราจะมีศีลธรรมหรือไม่นั้นไม่ได้อยู่ที่การมีความรู้ ความเข้าใจหรือเห็นคุณค่าของหลักศีลธรรมอย่างเดียว (จึงมีข่าวพระทำไม่ดีบ่อยๆ) ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกมาก เช่น สิ่งแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม การศึกษา สื่อ และอื่นๆ

    โดยเฉพาะวัฒนธรรมต้องยอมรับว่าปัจจุบันต่างจากอดีตมากแล้ว ในอดีตยุคที่วัดกับวังเป็นศูนย์กลางทางปัญญา วัฒนธรรมพุทธค่อนข้างเข้มแข็งมาก คนจะทำอะไรจะยึดเป้าหมายทางศาสนาเป็นหลัก

    เช่น สมัยรัชกาลที่ 1 ในการออกกฎหมายหรือการแนะนำให้ข้าราชการทำหน้าที่อย่างสุจริต จะทรงปรารภทำนองว่า การทำหน้าที่อย่างสุจริตยุติธรรมเพื่อความผาสุกของประชาชนนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการบำเพ็ญบารมีที่อาจเป็นเหตุปัจจัยให้ลุถึงเป้าหมายของชีวิตคือนิพพาน ไม่ในชาตินี้ก็ในชาติต่อๆ ไป วิถีชีวิตชาวบ้านเมื่อทำบุญหรือทำความดีอะไรก็ตาม ก็จะอธิบายขอให้บุญหรือความดีนั้นเป็นเหตุปัจจัยให้ถึงนิพพาน

    งานศิลปกรรม ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม จิตรกรรม วรรณกรรม ดนตรีนาฏศิลป์ ล้วนมีอุดมการณ์หรือเป้าหมายทางศาสนาแฝงอยู่ทั้งสิ้น

    ภารกิจการขัดเกลาทางศีลธรรม จึงไม่ใช่บทบาทของวัดหรือพระเท่านั้น หากแต่เเป็นกระบวนการทางสังคมนับแต่ครอบครัวจนถึงสถาบันการปกครอง

    ปัจจุบันเป้าหมายชีวิตของผู้คนอาจไม่เกี่ยวกับเป้าหมายทางศาสนา แม้จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับศาสนาก็เกี่ยวข้องด้วยเป้าหมายอื่น เช่น ไปขอหวยจากพระ ให้พระเคาะหัว เหยียบโฉนดที่ดิน ทำบุญหรือมีวัตถุมงคลเพื่อให้ร่ำให้รวย ฯลฯ และวัดเองก็ให้บริการทางศาสนาเพื่อตอบสนองเป้าหมายอื่นอย่างเป็นล่ำเป็นสันกว่าการสอนพุทธธรรมเสียอีก

    จะว่าไปแล้วคนสมัยนี้นิยมใช้ศาสนาเพื่อเป้าหมายอื่นอย่างง่ายๆ กันมากขึ้น เช่น คุณทักษิณ ชินวัตร ก็ท่องสุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติเพื่อสร้างเครดิตทางศีลธรรมให้ตนเองบ่อยๆ เร็วๆ นี้ก็มีข่าวว่านักการเมืองกลุ่มหนึ่งตั้งพรรคใหม่ชื่อพรรค "มัชฌิมา" (ใช้คำพุทธ) แต่ทั้งแนวคิดและการกระทำของพวกเขาไม่มีอะไรสอดคล้องกับหลักคิดหรือเป้าหมายของพุทธศาสนาเลยแม้แต่น้อย

    กล่าวโดยสรุป การเพิ่มครูพระสอนศีลธรรมอาจเพิ่มความรู้เกี่ยวกับศีลธรรมแก่เยาวชนได้บ้าง แต่จะถึงขนาดนำความรู้หรือใช้ศีลธรรมแบบพุทธมาเป็นวิถีชีวิตอย่างเหมาะสมกับยุคสมัยได้มากน้อยเพียงใดนั้น

    อาจเป็นเรื่องที่สังคมทุกภาคส่วนต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำคนละไม้คนละมือ เพื่อเยียวยาอาการป่วยทางศีลธรรมของสังคมไม่ให้ทรุดหนักไปกว่านี้!


    ตรวจสอบครูพระสอนศีลธรรมในร.ร.
    นายวัชรนนท์ มั่นใจ วัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวกรณีการร้องเรียนว่ามีครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน บางรูปไม่เข้าสอน แต่ได้รับเงินตอบแทนจากกรมการศาสนานั้น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งดูแลการเบิกจ่ายค่าตอบแทนครูพระในจังหวัด ได้แจ้งขอความร่วมมือสถานศึกษา ทำการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงว่า ครูพระ ที่ได้รับการแต่งตั้งได้มาสอนเป็นประจำหรือไม่มาสอน แต่ได้รับค่าตอบแทน ในขณะเดียวกันได้แจ้งให้ครูพระสอนศีลธรรมทั้ง 166 รูป ได้รายงานข้อเท็จจริงให้ทราบเช่นเดียวกัน หากครูพระที่ไม่เข้าสอนแต่ได้รับเงินค่าตอบแทนตามที่เป็นข่าว ถือว่าเป็นการเบิกจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดสุรินทร์ จากการตรวจสอบการรายงานการสอนของครูพระและทางสถานศึกษาในจังหวัดสุรินทร์ พบว่า ครูพระทุกรูป ได้เข้าทำการสอนในสถานศึกษาเป็นประจำตามปกติจริง จึงยืนยันได้ว่า ไม่มีการกระทำตามที่มีการร้องเรียนทางสื่อมวลชนแต่อย่างใด
     

แชร์หน้านี้

Loading...