เรื่องเด่น เที่ยววัดตามรอยพระราชาเสด็จเลียบพระนคร

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 13 พฤษภาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,592
    พระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 4-6 พ.ค.2562 ทำให้คนไทยได้รับความรู้เกี่ยวกับโบราณราชประเพณีของประเทศไทย ประชาชนที่เฝ้ารอรับเสด็จและรับชมการถ่ายทอดสดได้เกิดภาพจำถึงความยิ่งใหญ่และประณีตของพระราชพิธี ตลอดจนความสวยงามตระการตาของพระบรมมหาราชวัง สถานที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

    ณ วันที่ 5 พ.ค.2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค โดยประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง ไปประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก และเสด็จสักการะพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชบูรพการี

    เริ่มจากพระบรมมหาราชวัง ไปยังวัด 3 แห่ง คือ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร

    เชื่อว่านอกจากความสวยงามของริ้วขบวนที่ติดตาตรึงใจแล้ว สถานที่ต่างๆที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ได้กระตุ้นความรู้สึกของคนไทย ให้อยากไปเห็นสถานที่จริงด้วยตาของตัวเอง

    รายงานพิเศษในครั้งนี้ “ทีมเศรษฐกิจ” จึงได้หาข้อมูลของสถานที่สำคัญ 4 แห่ง มาให้ท่านผู้อ่านได้ใช้เป็นข้อมูลในการท่องเที่ยวเพื่อตามรอยเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน

    พระบรมมหาราชวัง


    ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คนไทยได้เห็นส่วนต่างๆของพระบรมมหาราชวัง ประกอบด้วย พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย หอพระธาตุมณเฑียร พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ปราสาทพระเทพบิดร พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

    พระบรมมหาราชวัง สร้างขึ้นพร้อมสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ในปี 2325 เป็นที่ประทับ ของพระมหากษัตริย์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

    e0b8a7e0b8b1e0b894e0b895e0b8b2e0b8a1e0b8a3e0b8ade0b8a2e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8b2.jpg
    b8a7e0b8b1e0b894e0b895e0b8b2e0b8a1e0b8a3e0b8ade0b8a2e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8b2-1.jpg
    b8a7e0b8b1e0b894e0b895e0b8b2e0b8a1e0b8a3e0b8ade0b8a2e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8b2-2.jpg
    วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

    เมื่อแรกสร้างประกอบด้วย 3 ส่วน คือ พระมหาปราสาท พระราชมณเฑียรสถาน และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีเนื้อที่ 132 ไร่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 มีการก่อสร้างเพิ่มเติม สถาปัตยกรรมมีลักษณะผสมผสานทางตะวันตกมากขึ้น

    พระบรมมหาราชวัง แบ่งพื้นที่ออกเป็น บริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีพระอุโบสถ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) พระระเบียงรอบวัด บนผนังเขียนเรื่องรามเกียรติ์ หอมณเฑียรธรรมตั้งอยู่กลางสระน้ำด้านเหนือของพระอุโบสถ พระเจดีย์ทอง 2 องค์ ตั้งอยู่หน้ามณเฑียรธรรม หอระฆังตั้งอยู่ด้านขวาของพระอุโบสถ

    บริเวณเขตพระราชฐาน แบ่งออกเป็น พระราชฐานชั้นหน้า เป็นที่ตั้งของหน่วยราชการต่างๆ เช่น สำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ ราชบัณฑิตยสถาน

    ขณะที่พระราชฐานชั้นกลาง เป็นที่ตั้งของปราสาทราชมณเฑียร ใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ส่วนเขตพระราชฐานชั้นใน เป็นที่ตั้งของพระตำหนัก ตำหนักเรือน ของพระมเหสี พระราชเทวี พระชายา พระราชธิดา เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม ข้าราชบริพารและ ข้าราชการฝ่ายใน

    การเข้าชมพระบรมมหาราชวัง เปิดทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติคนละ 500 บาท สามารถจอดรถได้บริเวณราชนาวีสโมสร ติดกับ ท่าช้าง เปิดให้บริการตั้งแต่ 06.00-22.00 น. จอดฟรี 15 นาทีแรก เกินจากนั้น 2 ชั่วโมงแรก 30 บาท และชั่วโมงต่อไป ชั่วโมงละ 20 บาท

    วัดบวรนิเวศวิหาร


    เส้นทางเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค จากพระบรมมหาราชวัง จนถึงวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร มีระยะทาง 1.84 กม. ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศและถนนพระสุเมรุ

    วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน พระอุโบสถเป็นอาคารแบบตรีมุข หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบ ตรงกลางมีตรามหามงกุฎ บริเวณรอบวัดมีตุ๊กตาจีนให้เห็นตลอดทางเดิน

    พระอารามแห่งนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ เป็นวัดที่มีพระประธาน 2 องค์ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณ ได้แก่ พระพุทธชินสีห์ ประดิษฐ์อยู่เบื้องหน้า และพระสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต หรือหลวงพ่อเพชร) พระประธานองค์ใหญ่ ประดิษฐ์ไว้เบื้องหลัง

    ใต้ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) พระองค์ทรงเคยผนวช ณ วัดนี้เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศสยามมกุฎราชกุมาร

    b8a7e0b8b1e0b894e0b895e0b8b2e0b8a1e0b8a3e0b8ade0b8a2e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8b2-3.jpg
    b8a7e0b8b1e0b894e0b895e0b8b2e0b8a1e0b8a3e0b8ade0b8a2e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8b2-4.jpg
    b8a7e0b8b1e0b894e0b895e0b8b2e0b8a1e0b8a3e0b8ade0b8a2e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8b2-5.jpg
    วัดบวรนิเวศวิหาร

    ขณะที่บริเวณมุขทางด้านตะวันตกของวิหารเก๋ง ประดิษฐานพระพุทธชินสีห์จำลอง เป็นที่ประดิษฐานพระสรีรางคารของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

    ณ วัดแห่งนี้ เป็นที่ทรวงผนวกและประทับของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหา ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

    การเดินทางไปวัดบวรนิเวศวิหาร ในวันอาทิตย์จอดรถได้สองข้างทางริมถนนหน้าวัด หรือจอดในโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ค่าจอดรถ 20 บาททั้งวัน หากเป็นวันธรรมดา ไปที่อาคารจอดรถ ของกรุงเทพมหานคร ตลาดบางลำภู ชั่วโมงแรกคิด 15 บาท ชั่วโมงต่อไปคิดชั่วโมงละ 20 บาท

    วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม


    จากวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร มาถึงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร บนเส้นทาง เสด็จพระราชดำเนิน มีระยะทาง 3 กม.

    วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างเป็นวัดประจำรัชกาลพระองค์ โดยเลียนแบบ 2 วัด คือ วัดราชประดิษฐ์มหาสีมาราม ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4 และวัดพระปฐมเจดีย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง

    ปัจจุบันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20

    วัดแห่งนี้ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก แบ่งเป็น เขตพุทธวาส สังฆวาส และสุสานหลวง มีสิ่งก่อสร้าง เช่น พลับพลาเปลื้องเครื่อง เป็นศาลาโถง หน้าบันจำหลักลายตราราชวัลลภ พระเจดีย์ทรงระฆัง พระอุโบสถลวดลายบนบานประตูหน้าต่างประดับมุก ทุกบานผูกลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 5 ดวง อกเลาของบานประตูมุก ผูกเป็นอักษรพระปรมาภิไธย จปร เพดานภายในเป็นซุ้มโค้งแหลมแบบโกธิก และวิหาร มีรูปแบบ เดียวกับพระอุโบสถ แต่บานประตูหน้าต่างเป็นไม้จำหลักลวดลายดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์

    b8a7e0b8b1e0b894e0b895e0b8b2e0b8a1e0b8a3e0b8ade0b8a2e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8b2-6.jpg
    b8a7e0b8b1e0b894e0b895e0b8b2e0b8a1e0b8a3e0b8ade0b8a2e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8b2-7.jpg
    b8a7e0b8b1e0b894e0b895e0b8b2e0b8a1e0b8a3e0b8ade0b8a2e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8b2-8.jpg
    วัดราชบพธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

    ภายในพระอุโบสถ มีพระพุทธอังคีรส เป็นพระประธาน ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนจากประเทศอิตาลี หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อต้นรัชกาลที่ 5 กะไหล่ทองคำเนื้อแปดหนัก 180 บาท เป็นทองที่รัชกาลที่ 5 ทรงใช้เมื่อยังทรงพระเยาว์

    ที่ฐานบัลลังก์กะไหล่ทองเนื้อหกหนัก 48 บาท ภายในบรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และพระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)

    วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ตั้งอยู่บนถนนเฟื่องนคร ติดกระทรวงมหาดไทย พระอุโบสถเปิดเป็นเวลา วันธรรมดาจะเปิดช่วงพระทำวัดเช้า-เย็น คือ 09.00-09.30 น. และ 17.30-18.00 น. มีลานจอดรถของวัดหรือจอดรถได้บริเวณถนนข้างๆวัด

    วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม


    วัดสุดท้ายบนเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร ห่างจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 650 เมตร

    คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในนามวัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอกและเป็นวัดประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ที่ใต้พระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้

    วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ เป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง ทั้งประวัติศาสตร์ วรรณกรรมและการแพทย์ไทยแผนโบราณ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) มีการปรับปรุงมาตรฐานจนเป็นที่เชื่อถือและยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

    b8a7e0b8b1e0b894e0b895e0b8b2e0b8a1e0b8a3e0b8ade0b8a2e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8b2-9.jpg
    8a7e0b8b1e0b894e0b895e0b8b2e0b8a1e0b8a3e0b8ade0b8a2e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8b2-10.jpg
    8a7e0b8b1e0b894e0b895e0b8b2e0b8a1e0b8a3e0b8ade0b8a2e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8b2-11.jpg
    วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

    เป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย ประมาณ 99 องค์ ที่สำคัญคือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ได้แก่ พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4

    ประติมากรรมที่โดดเด่นของวัดโพธิ์ คือ ยักษ์วัดโพธิ์ อยู่ตรงซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป มีสีกายเป็นสีแดงและสีเขียว ลักษณะคล้ายยักษ์ในวรรณคดีรามเกียรติ์ คนเรียกกันติดปากว่า “ยักษ์วัดโพธิ์”และมีตำนานว่าเป็นเพื่อนรักกับ “ยักษ์วัดแจ้ง” แห่งวัดอรุณราชวราราม ที่อยู่อีกฟากฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

    วัดโพธิ์ อยู่บนถนนสนามไชย เดินทางมาได้ทั้งทางบกและทางเรือ รถยนต์ส่วนตัวจอดได้ที่ถนนเชตุพน เสียค่าบริการชั่วโมงละ 20 บาท เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.30 น. สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจะต้องซื้อบัตรเข้าชมคนละ 100 บาท

    คนไทยได้เห็นความยิ่งใหญ่ของขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคไปแล้ว ขณะที่ในปลาย เดือน ต.ค.นี้จะได้ชื่นชมพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระพิธีถวายผ้าพระกฐิน พ.ศ.2562 ณ วัดอรุณราชวราราม ซึ่งเป็นอีกวัดหนึ่งที่สำคัญของพระนคร.



    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.thairath.co.th/news/local/1565976
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 13 พฤษภาคม 2019

แชร์หน้านี้

Loading...