เทศน์ ๑๒ นักษัตร เจ้าพระคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย สยามนุภาพ, 21 มีนาคม 2015.

  1. สยามนุภาพ

    สยามนุภาพ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    27
    ค่าพลัง:
    +33
    เทศน์ ๑๒ นักษัตร




    เจ้าพระคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)


    หนังสือ

    เทศน์ ๑๒ นักษัตร


    คำนำ


    หนังสือ ๑๒ นักษัตรเล่มนี้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ได้ทรงพบในหนังสือเก่า เป็นที่พอพระทัย จึงได้คัดมาเป็นต้นฉบับ ขอให้พระราชกวีเป็นผู้ตรวจ เพื่อพิมพ์ขึ้นให้แพร่หลาย และทรงเห็นว่าหน้ากระดาษยังน้อย ขอให้ข้าพเจ้าแต่งเพิ่มเติมขึ้นอีก ในข้อที่จะเป็นประโยชน์ พอเป็นคติแก่ผู้อ่านผู้ฟัง ข้าพเจ้าเห็นว่า ๑๒ นักษัตรและอริยสัจ ที่เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์แสดงไว้นี้ เป็นของดีควรฟัง เป็นคติดีอยู่แล้ว จึงได้อธิบายโดยอัตโนมัติ ให้ลงสู่สมัยใหม่ของพวกเราอีกวาระหนึ่ง เป็นการเพิ่มพูนสวนานุตริยกุศล ถ้าผู้ฟังฟังด้วยศรัทธาไม่อาศัยความประมาท อาจจักได้ที่พึ่งคือถึงพระไตรสรณคมน์โดยแท้ การพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้น ก็โดยทรงเห็นประโยชน์แก่พวกพุทธบริษัท เป็นสาธารณประโยชน์แท้ เพราะเหตุนั้น ขออุทิศส่วนกุศลสาธารณประโยชน์นี้ ถวายเป็นส่วนราชพลี เทวตาพลี ปุพพเปตพลี ญาติพลี ด้วยอำนาจปัตติทานมัยกุศลนี้ จงเป็นผลสำเร็จแก่ท่านผู้อนุโมทนาทุกประการเทอญ.



    เทศน์ ๑๒ นักษัตร


    (ตรวจและเพิ่มเติม เมื่อเป็นพระราชกวี พ.ศ. ๒๔๕๖ จากต้นฉบับของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม.)





    หนังสือ เทศน์ ๑๒ นักษัตร

    ในส่วนเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต)



    ท่านพระยาผู้หนึ่งเคยนิมนต์พระมาแสดงธรรมเทศนาให้ฟังอยู่เนืองๆ ที่บ้านของท่าน วันหนึ่ง ท่านคิดอยากจะฟังเทศน์จตุราริยสัจ จึงใช้บ่าวคนหนึ่งว่า เจ้าจงไปนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่วัดมาเทศน์อริยสัจสักกัณฑ์หนึ่งในค่ำวันนี้ ท่านหาได้เขียนฎีกาบอกชื่ออริยสัจให้บ่าวไปไม่ บ่าวก็รับคำสั่งไปนิมนต์เจ้าประคุณไปแสดงธรรมที่บ้านค่ำวันนี้ เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงถามว่า ท่านจะให้เทศน์เรื่องอะไร บ่าวลืมชื่ออริยสัจเสียจำไม่ได้ นึกคะเนได้แต่ว่า สิบสองนักษัตร จึงกราบเรียนว่า สิบสองนักษัตรขอรับผม แล้วก็กราบลามา

    ฝ่ายเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็คิดว่า เห็นท่านพระยาจะให้เทศน์อริยสัจแต่บ่าวลืมชื่อไป จึงมาบอกว่าสิบสองนักษัตรดังนี้ พอถึงเวลาค่ำท่านก็มีลูกศิษย์ติดตามเข้าไปแสดงธรรมเทศนาที่บ้านท่านพระยาผู้นั้น มีพวกอุบาสกอุบาสิกามาคอยฟังอยู่ด้วยกันมาก


    เจ้าประคุณสมเด็จจึงขึ้นธรรมาสน์ ให้ศีลบอกพุทธศักราช และตั้งนโม ๓ หน จบแล้ว จึงว่าชนนีบทสิบสองนักษัตรว่า มุสิโก อุสโภ พฺยคฺโฆ สโส นาโค สปฺโป อสฺโส เอฬโก มกฺกโฏ กุกฺกุโฏ สุนกฺโข สุกโร

    แล้วแปลเป็นภาษาไทยว่า

    มุสิโก หนู

    อุสโภ วัวผู้

    พฺยคฺโฆ เสือ

    สโส กระต่าย

    นาโค งูใหญ่

    สปฺโป งูเล็ก

    อสฺโส ม้า

    เอฬโก แพะ

    มกฺกโฏ ลิง

    กุกฺกุโฏ ไก่

    สุนกฺโข สุนัข

    สุกโร สุกร


    ฝ่ายท่านพระยาเจ้าของกัณฑ์กับพวกสัปบุรุษทายกก็มีความสงสัยว่า ทำไมเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงมาเทศน์สิบสองนักษัตรดังนี้เล่า และสงสัยว่าบ่าวจะไปนิมนต์ท่านเรียกชื่ออริยสัจผิดไปดอกกระมัง ท่านพระยาจึงเรียกบ่าวคนนั้นเข้ามาถามว่า เจ้าไปนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จเทศน์เรื่องอะไร บ่าวก็กราบเรียนว่า นิมนต์เทศน์เรื่องสิบสองนักษัตรขอรับผม ท่านพระยาจึงว่านั่นเป็นไรเล่า เจ้าลืมชื่ออริยสัจไปเสียแล้ว ไปคว้าเอาสิบสองนักษัตรเข้า ท่านจึงมาเทศน์ตามเจ้านิมนต์นั่นซี

    ฝ่ายเจ้าคุณสมเด็จฯ ก็เป็นผู้ฉลาดเทศนา ท่านจึงอธิบายรำพันหน้าธรรมาสน์ว่า อาตมภาพก็นึกอยู่แล้วว่า ผู้ไปนิมนต์จะลืมชื่ออริยสัจเสีย ไปบอกว่าท่านให้นิมนต์เทศน์สิบสองนักษัตร อาตมภาพก็เห็นว่าสิบสองนักษัตรนี้ คือเป็นต้นทางของอริยสัจแท้ทีเดียว ยากที่บุคคลจะได้ฟังธรรมเทศนาเรื่องสิบสองนักษัตรสักครั้งสักหน เทศน์ที่ไหน ๆ ก็มีแต่เทศน์อริยสัจทั้งนั้น ไม่มีใครจะเทศน์สิบสองนักษัตรสู่กันฟังเลย ครั้งนี้เป็นบุญลาภของมหาบพิตรเป็นมหัศจรรย์ เทพยเจ้าผู้รักษาพระพุทธศาสนาจึงได้ดลบันดาลให้ผู้รับใช้เคลิบเคลิ้มไป ให้บอกว่าสิบสองนักษัตรดังนี้ อาตมภาพก็มาเทศน์ตามผู้นิมนต์ เพื่อจะให้สาธุชนและมหาบพิตรเจ้าของกัณฑ์ได้ฟังธรรมเทศนาเรื่องสิบสองนักษัตร อันเป็นต้นทางของอริยสัจทั้ง ๔ จะได้เป็นธรรมสวนานิสงส์อันล้ำเลิศ ซึ่งจะได้ให้ก่อเกิดปัจจเวกขณญาณในอริยสัจทั้งสี่

    แท้ที่จริงธรรมเนียมนับ ปี เดือน วัน คืนนี้ นักปราชญผู้รู้โหราศาสตร์แต่ครั้งโบราณ ต้นปฐมกาลในชมพูทวีป บัญญัติตั้งแต่งขึ้นไว้ คือกำหนดหมายเอาชื่อดวงดาราในอากาศเวหา มาตั้งเป็นชื่อ ปี เดือน วัน ดังนี้ คือ :-


    ๑) หมายเอาชื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ รวม ๗ ดวง มาตั้งเป็นชื่อวันทั้ง ๗ วัน และให้นับเวียนไปเวียนมาทุกเดือนทุกปี


    ๒) หมายเอาชื่อดวงดาวรูปสัตว์ และดาวรูปสิ่งอื่น ๆ มาตั้งเป็นชื่อเดือน ทั้งสิบสองเดือนมีดังนี้ คือ :-

    ๑. เดือนเมษายน ดาวรูปเนื้อ

    ๒. เดือนพฤษภาคม ดาวรูปวัวผู้

    ๓. เดือนมิถุนายน ดาวรูปคนคู่หนึ่ง

    ๔. เดือนกรกฎาคม ดาวรูปปูป่าหรือปูทะเล

    ๕. เดือนสิงหาคม ดาวรูปราชสีห์

    ๖. เดือนกันยายน ดาวรูปนางสาวที่น่ารักใคร่

    ๗. เดือนตุลาคม ดาวรูปคันชั่ง

    ๘. เดือนพฤศจิกายน ดาวรูปแมลงป่อง

    ๙. เดือนธันวาคม ดาวรูปธนู

    ๑๐. เดือนมกราคม ดาวรูปมังกร

    ๑๑. เดือนกุมภาพันธ์ ดาวรูปหม้อ

    ๑๒. เดือนมีนาคม ดาวรูปปลา

    รวมเป็นดาว ๑๒ ดวง หมายเป็นชื่อ ๑๒ เดือน และหมายเอาดาวรูปสัตว์ ๑๒ เดือน หมายเป็นชื่อปีทั้ง ๑๒ ปี


    ๓) ที่ประจำอยู่ในท้องฟ้าอากาศดังนี้ คือ :-

    ๑. ปีชวด ดาวรูปหนู

    ๒. ปีฉลู ดาวรูปวัวผู้

    ๓. ปีขาล ดาวรูปเสือ

    ๔. ปีเถาะ ดาวรูปกระต่าย

    ๕. ปีมะโรง ดาวรูปงูใหญ่ หรือดาวนาค

    ๖. ปีมะเส็ง ดาวรูปงูเล็ก หรืองูตามธรรมดา

    ๗. ปีมะเมีย ดาวรูปม้า

    ๘. ปีมะแม ดาวรูปแพะ

    ๙. ปีวอก ดาวรูปลิง

    ๑๐. ปีระกา ดาวรูปไก่

    ๑๑. ปีจอ ดาวรูปสุนัข

    ๑๒. ปีกุน ดาวรูปสุกร


    รวมเป็นชื่อดาวรูปสัตว์ ๑๒ ดวง ตั้งเป็นชื่อปี ๑๒ ปี ใช้เป็นธรรมเนียมเยี่ยงอย่างนับ ปี เดือน วัน คืน นี้ เป็นวิธีกำหนดนับอายุกาลแห่งสรรพสิ่งสรรพสัตว์ในโลกทั่วไป ที่นับของใหญ่ ๆ ก็คือนับอายุโลกธาตุ นับเป็นอันตรกัลป์มหากัลป์ ภัทรกัลป์เป็นต้น และนับอายุชนเป็นรอบ ๆ คือ ๑๒ ปี เรียกว่ารอบหนึ่ง และ ๑๒ รอบ เป็น ๑๔๔ ปี แต่มนุษย์เราเกิดมาในกลียุคครั้งนี้ กำหนดอายุขัยเพียง ๑๐๐ ปี และในทุกวันนี้อายุมนุษย์ก็ลดถอยลงมากกว่า ๑๐๐ ปีก็มีมาก ที่มีอายุกว่า ๑๐๐ ปีขึ้นไปถึง ๑๕๐ ปี หรือ ๒๐๐ ปี ก็มีบ้าง ในบางประเทศตามจดหมายเหตุของประเทศต่าง ๆ ได้กล่าวมา แต่มีเป็นพิเศษแห่งละ ๑ คน ๒ คน หรือ ๓ คน ๔ คนเท่านั้น หาเสมอทั่วกันไปไม่ แต่ที่อายุต่ำกว่า ๑๐๐ ปีลงมานั้น มีทั่วกันไปทุก ๆ ประเทศ จึงเป็นที่สังเกตได้ว่า คำเรียกว่ากลียุคนี้เป็นภาษาพราหมณ์ ชาวชมพูทวีปแปลว่า ความชั่วร้าย คือว่าสัตว์เกิดมาในภายหลัง อันเป็นครั้งคราวชั่วร้ายนี้ ย่อมทำบาปอกุศลมาก จนถึงอายุสัตว์ลดน้อยถอยลงมาก ด้วยสัตว์ที่เกิดในต้นโลกต้นกัลป์นั้น เห็นจะมากไปด้วยเมตตากรุณาแก่กันและกัน ชักชวนกันทำบุญกุศลมาก อายุจึงยืนหลายหมื่นหลายพันปี และยังจะต่อลงไปข้างปลายโลก บางทีสัตว์จะทำบาปอกุศลยิ่งกว่านี้ อายุสัตว์บางทีก็จะเริ่มน้อยถอยลงไป จนถึง ๑๐ ปี เป็นขัย และสัตว์มีอายุเพียง ๕ ปี จะแต่งงานเป็นสามีภรรยาต่อกัน ก็อาจจะเป็นไปได้ และในสมัยเช่นนั้น อาจเกิดมิคสัญญีขาดเมตตาต่อกันและกัน อย่างประหนึ่งว่านายพรานสำคัญในเนื้อ จะฆ่าฟันกันตายลงเกลื่อนกลาดดังมัจฉาชาติต้องยาพิษทั่วไปในโลก แต่สัตว์ที่เหลือตายนั้น จะกลับบ่ายหน้าเข้าหาบุญก่อสร้างทางกุศล ฝูงคนในครั้งนั้นจะกลับมีอายุยืนยิ่ง ๆ ขึ้นไปจนอายุตลอดอสงไขย ซึ่งแปลว่านับไม่ได้นับไม่ถ้วน ภายหลังสัตว์ทั้งปวงก็กลับตั้งอยู่ในความประมาท ก่อสร้างบาปอกุศลครุ่น ๆ ไปอีกเล่า อายุสัตว์ก็กลับลดน้อยถอยลงมาอีก ตามธรรมดาของโลกเป็นไปดังนี้


    สมเด็จพระพุทธเจ้าของเรา ผู้เป็นพระสัพพัญญู ตรัสรู้แจ้งในธรรมทั้งปวง พระองค์จึงทรงแสดงธรรมที่จริง ๔ ประการ ไว้ให้สัตว์ทั้งปวงรู้แจ้ง คือ

    ๑) ความทุกข์มีจริง

    ๒) สิ่งให้เกิดทุกข์มีจริง

    ๓) ธรรมเป็นที่ดับทุกข์มีจริง

    ๔) ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์มีจริง

    นี่แหละเรียกว่าอริยสัจ ๔ คือเป็นความจริง ๔ ประการ ซึ่งเพิ่มอริยะเข้าอีกคำหนึ่งนั้นคืออริยะแปลว่าพระผู้รู้อย่างหนึ่ง พระผู้ไกลจากกิเลสอย่างหนึ่ง รวมอริยสัจจะสองคำเป็นนามเดียวกัน เรียกว่าอริยสัจ และเติมจตุรสังขยานามเข้าอีกคำหนึ่งและแปลงตัว ะ เป็นตัว า เพื่อจะให้เรียกเพราะสละสลวยแก่ลิ้นว่า จตุราริยสัจ แปลว่า ความจริงของพระอริยเจ้า ๔ อย่าง

    ซึ่งท่านอ้างว่าความจริง ๔ อย่างนี้ เป็นของพระอริยะนั้น อธิบายว่า ต่อเป็นพระอริยเจ้าจึงจะเห็นจริง คือพระอริยเจ้าเห็นว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งสัตว์เวียนว่ายทนรับความลำบากอยู่ในวัฏสงสารนั้น ให้เกิดความทุกข์จริง

    ตัณหา คือความอยาก ความดิ้นรน ของสัตว์นั้น ให้เกิดความทุกข์จริง

    พระอมตมหานิพพาน ไม่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นที่ดับทุกข์จริงและสุขจริง

    พระอริยะมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมเห็นจริงแจ้งประจักษ์ในธรรม ๔ อย่างดังนี้ และสั่งสอนสัตว์ให้รู้ความจริง เพื่อจะให้ละทุกข์เข้าหาความสุขที่จริง

    แต่ฝ่ายปุถุชนนั้นเห็นจริงบ้างเล็กน้อย แต่เห็นความจริงแจ้งประจักษ์เหมือนอย่างพระอริยเจ้าทั้งปวง พวกปุถุชนเคยเห็นกลับไปว่า เกิดแล้วตาย ๆ แล้วเกิดก็ดี ไม่เป็นทุกข์อะไรนัก บ้างก็ว่าเจ็บ ก็เจ็บ สนุกก็สนุก ทุกข์ก็ทุกข์ สุขก็สุข จะกลัวทุกข์ทำไม

    บ้างก็ว่าถ้าตายแล้วเกิดใหม่ ให้เกิดที่ดี ๆ เป็นท้าวพระยามหาเศรษฐีมั่งมีทรัพย์สมบัติมากแล้ว ก็หากลัวทุกข์อะไรไม่ ขอแต่อย่าให้ยากจนเท่านั้น

    บ้างก็ว่าถ้าตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ ได้เสวยทิพยสมบัติ มีนางฟ้านับพันแวดล้อมเป็นบริวาร เป็นสุขสำราญชื่นอกชื่นใจดังนั้นแล้ว ถึงจะตายบ่อย ๆ เกิดบ่อย ๆ ก็ไม่กลัวทุกข์กลัวร้อนอะไร

    บ้างก็ว่าถ้าไปอมตมหานิพพาน ไปนอนเป็นสุขอยู่นมนานแต่ผู้เดียวไม่มีคู่เคียงเรียงหมอนจะนอนด้วยแล้ว เขาก็ไม่อยากจะไป เขาเห็นว่าอยู่เพียงเมืองมนุษย์กับเมืองสวรรค์เท่านั้นดีกว่า เขาหาอยากไปหาสุขในนิพพานไม่ พวกปุถุชนที่เป็นโลกิยชนย่อมเห็นไปดังนี้

    นี่แหละการฟังเทศน์อริยสัจ จะให้รู้ความจริง แลเห็นธรรมที่ดับทุกข์เป็นสุขจริงของพระอริยเจ้าทั้ง ๔ อย่างนั้น ก็ควรฟังเทศน์เรื่องสิบสองนักษัตรเสียก่อน จะได้เห็นว่า วัน คืน เดือน ปี ซึ่งเป็นอายุของเราย่อมล่วงไปทุกวันทุกเวลา ประเดี๋ยวก็เกิด ประเดี๋ยวก็แก่ ประเดี๋ยวก็เจ็บ ประเดี๋ยวก็ตาย เราเวียนวนทนทุกข์อยู่ด้วยความลำบาก ๔ อย่างนี้แหละไม่รู้สิ้นรู้สุด เมื่อเราสลดใจเบื่อหน่ายต่อความเกิดแก่เจ็บตายในโลกแล้ว เราก็ควรจะรีบเร่งก่อสร้างบุญกุศล จนถึงจะได้มีบารมีแก่กล้า จะได้ความสุขในสวรรค์ และสุขในอมตมหานิพพานในภายหน้า ซึ่งไม่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสุขเที่ยงแท้ถาวรส่วนเดียว ไม่มีทุกข์มาเจือปนเลย

    และเรื่อง ๑๒ นักษัตร คือดาวชื่อเดือน ๑๒ ดาว และดาวชื่อปี ๑๒ ปี และดาวชื่อวันทั้ง ๗ วันนี้ เป็นที่นับอายุของเราไม่ให้เราประมาท และให้คิดพิจารณาเห็นความจริงในอริยสัจทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอนเราไว้ ให้รู้ตามนั้นทีเดียว

    สาธุชนทั้งหลายผู้มาได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตร กับอริยสัจ ๔ ด้วยในเวลานี้ ไม่ควรจะโทมนัสเสียใจต่อผู้ไปนิมนต์ ควรจะชื่นชมโสมนัสต่อผู้รับใช้ไปนิมนต์อาตมภาพมาเทศน์ด้วย ถ้าไม่ได้อาศัยผู้นิมนต์เป็นต้นเป็นเหตุดังนี้แล้ว ที่ไหนจะได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรด้วย ควรจะโมทนาสาธุการอวยพรแก่ผู้ไปนิมนต์จงมาก

    เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้


    .....................



    ฝ่ายท่านพระยาเจ้าของกัณฑ์ กับสัปบุรุษทายกทั้งปวง ได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตร กับอริยสัจทั้ง ๔ ของเจ้าประคุณสมเด็จแล้ว ก็ต่างชื่นชมยินดีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส บ้างยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ไม่ใคร่จะวายยิ้มเลยแทบทุกคน ท่านพระยาเจ้าของกัณฑ์จึงว่า ข้าขอบใจเจ้าคนไปนิมนต์ ขอให้เจ้าได้บุญมาก ๆ ด้วยกันเถิด

    เจ้าประคุณผู้เทศน์ ๑๒ นักษัตรกับอริยสัจกัณฑ์นี้ คือเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งล่วงลับไปแล้วนาน.



    (ในส่วนเจ้าพระคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์)



    ..........เมื่อได้อ่านเรื่องเทศนาของเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) จบลงแล้ว ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใส ต่อวาทะถ้อยคำของท่านอย่างประหนึ่งว่าได้นั่งฟังอยู่ด้วยในเวลานั้น คิดขอบใจท่านผู้อุตสาหะเรียบเรียงพิมพ์ขึ้นไว้ให้พวกเราได้ฟังเทศน์ เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ซึ่งล่วงลับไปแล้วนาน ประมาณกาลแต่ท่านแสดง ๑๒ นักษัตรกัณฑ์นี้มาถึงบัดนี้อยู่ในระหว่าง ๖๐ ปี นับว่าคนละสมัยกับพวกเรา แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไพเราะจับใจ เพราะเป็นโวหาราธิบาย เกิดจากปรีชาญาณของท่านแท้ ทำให้พวกเรารู้สึกได้ว่านักปราชญ์ชั้นเก่า ๆ ท่านเฉียบแหลมว่องไวมาก กลับร้ายให้เป็นดี บำรุงสามัคคีให้ปรากฏในที่นั่งอันเดียวได้ น่าเลื่อมใสจริง ๆ

    แต่เมื่อฟังแล้วตรองตามดูก็ยังสด ๆ ชื่น ๆ น่าจะเป็นของท่านยุคเดียวคราวเดียวกับพวกเรา สมด้วยพุทธภาษิตว่า สตญฺจ ธมฺโม น ชรํ อุเปติ ธรรมของสัปบุรุษย่อมไม่เข้าถึงซึ่งความชรา วาทะถ้อยคำของท่านเป็นของจริง จึงเป็นธรรมอันไม่ตาย สมด้วยพุทธบรรยายว่า สจฺจํ เว อมตา วาจา คำจริงแลเป็นวาจาอันไม่ตาย ครั้นตรองตามสายกระแสที่ท่านแนะว่า ๑๒ นักษัตร เป็นต้นทางแห่งอริยสัจก็ได้ความเข้าใจ จึงเรียบเรียงความเข้าใจตามกระแสความของท่านไว้อีกแผนกหนึ่ง เพื่อคนภายหลัง จะได้รู้ว่าความรู้ความฉลาดของนักปราชญ์ ย่อมยิ่งและหย่อนตามยุคตามคราวฉะนี้


    ..........คือเข้าใจความว่าคนโบราณในชมพูทวีป ได้จัดประสมดวงดาวในท้องอากาศ สมมุติให้เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ตามระหว่างดวงดาวที่แลเห็นอยู่ใกล้กัน พอประสมให้เห็นชัดด้วยกันว่าเป็นรูปสัตว์ประเภทนั้น ๆ แล้วจึงตั้งชื่อวันเดือนปีตาม คงคิดตั้งชื่อวันก่อน เพราะเป็นของต้องใช้อยู่เสมอ จึงหมายสิ่งที่ใหญ่ยิ่งในท้องอากาศ คือดวงอาทิตย์ว่าวันอาทิตย์ และหมายดวงจันทร์ที่ ๒ ลงมาวันจันทร์ และหมายดวงดาวที่แลเห็นใหญ่และเล็กลงไปตามลำดับให้ชื่อว่า ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ ให้ชื่อวันตาม ว่าวันอังคาร พุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ วันเสาร์

    ส่วนเดือนนั้นคงจะหมายเอาดวงจันทร์เป็นหลัก กำหนดแต่ดวงจันทร์เกิดใหม่ ตามนิยม ทวีขึ้นจนเต็มดวงได้ ๑๕ วัน เป็นศุกลปักษ์ กำหนดแต่ดวงจันทร์ลับลงไป ตามลำดับได้ ๑๔ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง หมดดวงเป็นกาฬปักษ์ นิยมกันว่าเดือนดับหรือเดือนลับ ดูเหมือนจะนิยมกันว่าเดือนเกิดใหม่ แล้วเดินขึ้นสู่ความเจริญเต็มที่คือข้างขึ้น แล้วเดินเข้าสู่ความเสื่อมคือข้างแรม ถึงวันสิ้นเดือนเท่ากับตายครั้งหนึ่ง บางทีเขาจะนิยมพระจันทร์เดินรอบหนึ่งคือข้างแรม ให้ชื่อว่าเดินหนึ่ง ถ้าจะนับแต่ว่าเดินหนึ่งเท่านั้นก็ไม่พอใช้ เพราะฤดูทั้ง ๓ บังคับอยู่ ๑๒ เดินจึงเป็นรอบหนึ่ง อาศัย ๑๒ เดินเป็นรอบนั้น บุรพบุรุษของพวกเราจึงหมายอะไรอันหนึ่ง ซึ่งนิยมกันสมัยนั้นมาตั้งเป็นเกณฑ์ ให้ชื่อว่าเดินอ้าย เดินยี่ เดิน ๓ เดิน ๔ ถึงเดิน ๑๒ เป็นรอบหนึ่ง

    ถ้าจะโยงเข้าหาดวงดาวตามมคธ ภาคว่า มิคสิระ ปุสสะ เป็นต้น ความก็ไม่ลงกัน จึงเห็นได้ว่าสมมุติเดือนเป็นกาลภายหลัง แยกชาติแยกภาษามาแล้วจึงได้ตั้งขึ้น ประเทศสยามก็อย่างหนึ่ง คือ อ้าย ยี่ ๓,๔, เป็นต้น ชาวมคธก็อย่างหนึ่ง คือ มิคสิระ ปุสสะ เป็นต้น พวกกำหนดดวงอาทิตย์เป็นเดือนก็อย่างหนึ่ง คือเดือนเมษายน พฤษภาคม เป็นต้น หมายดวงดาวก็ไม่ลงกัน ตั้งต้นปี กลางปี สิ้นปี ก็ไม่ลงกัน

    ส่วนปีนั้นก็คงหมายฤดูทั้ง ๓ ประชุมเดือนได้ ๑๒ ให้ชื่อกันว่าปีหนึ่ง ถ้าจะนับแต่ว่าปีหนึ่ง ๆ ร่ำไป ก็ไม่เพียงพอแก่ความต้องการจะใช้ จึงได้ให้ชื่อปีตามชื่อแห่งดวงดาวที่ตั้งชื่อไว้แล้วนั้น ให้เป็นปีชวด ปีฉลู เป็นต้นไปให้ได้ ๑๒ ปี เป็นรอบเหมือนกันกับเดือน แต่คงจะตั้งภายหลังเดือน เพราะต่างภาษาก็แตกต่างกันมาก ดังชาวสยามว่าชวดว่าฉลู ความก็ไม่ลงกันกับภาคมคธที่ว่า มุสิโก อุสโภ ชาวสยามฝ่ายเหนือยังมีพิเศษแตกต่างออกไปว่า ปีไจ้ ปีเป้า เป็นต้น บางทีชาติอื่น ๆ ก็คงจะไม่ลงกัน แต่คงหมายฤดูร้อน ๔ เดือน ฤดูฝน ๔ เดือน ฤดูหนาว ๔ เดือนเหมือนกัน รวมเป็นปีหนึ่ง นี้ว่าโดยประเทศที่ฤดูทั้ง ๓ ปรากฏ ส่วนประเทศที่มีฤดูหนาวมาก หรือฤดูร้อนมาก เขาจะนิยมกันอย่างไรเราก็รู้ไม่ตลอด เพราะเป็นแต่การอนุมานเท่านั้น

    .........ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ แสดงว่าการกำหนดนับวันคืนเดือนปี ย่อมเป็นต้นทางแห่งพระจตุราริยสัจ เมื่อฟังแล้วตรองตามดูที่แยบคาย ดังกำหนดวันและคืนเป็นต้น คือหมายสว่างด้วยแสงอาทิตย์ว่าวัน, มืดเพราะดวงอาทิตย์ลับไปว่าคืน รวมสว่างกับมืดคือวันกับคืน เป็นหนึ่ง ชื่อว่าวันอาทิตย์ และวันจันทร์ ต่อไปถึงวันเสาร์ และตั้งต้นไปใหม่ไม่มีที่สิ้นสุด

    ส่วนเดือนก็หมายดวงจันทร์กำหนดศุกลปักษ์กาฬปักษ์คือดวงจันทร์เกิดขึ้นแล้วและดับไปครั้งหนึ่ง ให้ชื่อว่าเดือนหนึ่ง เมื่อต้องการจะให้เดือนมากขึ้น จึงหาดวงดาวหรืออะไรอันหนึ่งมาเป็นนิมิตให้ชื่อเดือนไปตามนิมิตให้ครบ ๑๒ เดือน ถ้าจะให้มากกว่า ๑๒ เดือนก็ไม่ได้ เพราะฤดูบังคับตัวอยู่ คือท้องฟ้าอากาศโลกธาตุกลับคืนสู่อาการเดิม จึงต้องมีแต่ ๑๒ เดือนเท่านั้นก็เพียงพอ

    ส่วนปีนั้นกำหนด ๑๒ เดือน ตามส่วนฤดูทั้ง ๓ เป็นรอบ ให้ชื่อว่าปีหนึ่ง เมื่อต้องการจะให้ปีมากขึ้น จึงหาดวงดาวที่นิยมเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ มาตั้งเป็นนิมิตให้ชื่อปีไปตาม ให้ได้ ๑๒ ปีตามส่วนของเดือนเท่านั้น

    ..........ความจริงการบัญญัติปีให้ได้ ๑๒ ปีเช่นนี้ ก็ไม่มีอะไรเป็นเกณฑ์ จะให้น้อยหรือให้มากก็ควร เพราะไม่มีเครื่องขีดคั่น การที่ไม่รู้เท่าสมมุติยุดมั่นเป็นตัวอุปาทาน ว่าวันอาทิตย์จริง วันจันทร์จริง ฯ เดือนอ้ายจริง เดือนยี่จริง ฯ ปีชวดจริง ปีฉลูจริง ฯ นี้เอง เข้าใจว่ามันหมุนเวียนเปลี่ยนผลัดไปมา เป็นตัววัฏฏะ เป็นชาติสมุทัย ก่อให้เกิดทุกข์

    ถ้าเราจะค้นคว้าเอาความจริง จะว่าดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์นั้นหรือเป็นวันอาทิตย์ วันจันทร์ หรือดินฟ้าอากาศเป็นวันอาทิตย์ วันจันทร์ หรือตัวของเราเป็นวันอาทิตย์วันจันทร์ ฯ ดวงจันทร์นั้นหรือเป็นเดือน หรือดินฟ้าอากาศเป็นเดือน หรือตัวของเราเป็นเดือน ฯ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาวนั้นหรือเป็นปี ฯ หรือดินฟ้าอากาศเป็นปี หรือตัวของเราเป็นปี ฯ แท้จริงก็ไม่มีอะไรเป็นวันคืนเดือนปี เป็นแต่อาศัยดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดินฟ้าอากาศ และตัวของเราประสมกันเข้าเป็นชาติสังขาร หมายเอาดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวที่ตนสมมุติขึ้นไว้เป็นที่นิมิตให้ชื่อไปตามว่าวันอาทิตย์ วันจันทร์ เดือนอ้าย เดือนยี่ ปีชวด ปีฉลูไปเท่านั้น

    เช่นเดียวกันกับบุรพบุรุษของพวกเรา แต่ยังไม่เคยนุ่งผ้า พากันสมมุติปลากระเบนขึ้นไว้ก่อน ยังไม่เคยใช้เหล็กตาปู พากันสมมุติตัวปูตาปูขึ้นไว้ก่อน ครั้นถึงสมัยนุ่งผ้า เห็นชายผ้าห้อยแหลมลงไปคล้ายกับชายปลากระเบน ก็เลยถือเอาเป็นนิมิต ให้ชื่อว่าชายกระเบน ครั้นถึงสมัยใช้เหล็กตาปู แลเห็นเส้นเหล็กโปน ๆ คล้ายกับตาปู ก็เลยถือเอาเป็นนิมิต ให้ชื่อว่าเหล็กตาปูเท่านั้น ความเป็นจริง ดวงอาทิตย์เดือนดาว ดินฟ้าอากาศ และตัวของเรา แต่ละสิ่งจะเป็นวันคืนเดือนปีสักนิดหนึ่งก็ไม่มี สิ่งไรเคยเป็นอยู่อย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้น

    พวกมนุษย์เราเคยแก่ เจ็บ ตาย มาอย่างไร ก็เกิด แก่ เจ็บ ตายไปอย่างนั้น ความเป็นจริงคำที่ว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็เป็นแต่สมมุติให้รู้อาการเท่านั้น ถ้าจะว่าตามปรกติหรือสภาวะหรือตามธรรมดาแล้ว ก็เป็นตัวธรรมฐีติ ธรรมนิยาม ธรรมดาหากเป็นอยู่อย่างนั้นเอง

    การซึ่งรู้ตามอาการของวันคืนเดือนปี หรือเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่เป็นอยู่อย่างไรก็เป็นอย่างนั้น คือรู้จริงตามสมมุติ กำหนดตามสมมุติ เป็นอาการแห่งทุกข์ การซึ่งรู้ตามอาการที่หมุน ๆ เวียน ๆ กลับไปกลับมาแห่งวันคืนเดือนปีหรือเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้น ชื่อว่าเห็นตามลักษณะอาการของสังขาร เป็นกรรมกิเลสเป็นชาติสมุทัย

    ..........การซึ่งรู้ธรรมฐีติ ธรรมนิยาม ธรรมดารู้เท่าสังขาร คือรู้เท่าสมมุติ ทั้งรู้ทั้งเห็นว่าวันคืนเดือนปีไม่มี เกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ไม่มี โดยปรมัตถ์ การที่สมมุติดับไปนั้นเป็นลักษณะอาการของนิโรธญาณ จักษุที่รู้ที่เห็นอาการของทุกข์ และอาการของสมุทัย และอาการของนิโรธนั้นเองเป็นมรรค คือ เป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เพราะสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เป็นผู้ส่องผู้บังคับ ให้วจีกรรมเป็นสัมมาวาจา ให้กายกรรมเป็นสัมมากัมมันโต ให้โวธานธรรมเป็นสัมมาอาชีโว ให้วิริยธรรมเป็นสัมมาวายาโม ให้สติธรรมเป็นสัมมาสติ ให้สมาธิธรรมเป็นสัมมาสมาธิ

    ผู้มีญาณจักษุรู้เห็น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทั้ง ๔ สัจจะนี้ ว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติในสรีราวยวะ ยาววา หนาคืบ กว้างกำมานี้เอง ชื่อว่า ธัมมัญญู ผู้รู้ธรรม

    ที่รู้อาการของทุกข์มีชาติชราเป็นต้น รู้อาการของสมุทัย มีอวิชชาสังขาร เป็นต้น รู้อาการของนิโรธ มีรู้เท่าสมมุติ รู้เท่าสังขาร เป็นต้น รู้อาการของมรรค มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เป็นต้น ชื่อว่า อัตถัญญู ผู้รู้อาการของธรรม

    ผู้รู้เนื้อความของธรรม ที่มีปัญญารู้เห็นว่าสรีราวยวะนี้เองเป็นธรรมหรือเป็นตนโดยบัญญัติ และรู้อาการของธรรม แตกต่างโดยประเภทตั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นอัตถะ คือรู้เนื้อความของธรรม ได้แก่รู้อาการของตนนั้นเอง ชื่อว่า อัตตัญญู ผู้รู้ตน

    เมื่อรู้ว่าธรรมและอัตถะเป็นตน ตนเป็นตัวธรรมและเป็นอัตถะเช่นนั้นแล้ว ความประพฤติเป็นไปของผู้นั้นย่อมเป็น มัตตัญญู กาลัญญู ปริสัญญู ปุคคลัญญู รู้มาตรา รู้กาล รู้บริษัท รู้บุคคลอยู่เอง

    ผู้ที่บริบูรณ์ด้วยคุณสมบัติเห็นปานนั้น นักปราชญ์ท่านให้ชื่อว่า สัปปุริโส บุรุษผู้มีตนอันสงบ ผู้ที่มีสัปปุริสธรรมในตน ท่านให้ชื่อว่าสัปบุรุษ ผู้ที่มีอริยธรรมในตน ท่านให้ชื่อว่าอริยะ ผู้ที่มีสัปปุริสธรรมและอริยธรรมในตน ท่านนิยมว่าเป็นผู้ถึงพระไตรสรณคมน์ เป็นเขมสรณคมน์ ผู้ถึงไตรสรณคมน์ได้ชื่อว่าอัตตทีปา ธัมมทีปา มีตัวเป็นเกาะเป็นฝั่ง มีธรรมเป็นเกาะเป็นฝั่ง ชื่อว่าอัตตสรณา ธัมมสรณา มีตัวเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่พึ่ง

    เมื่อทำตัวเป็นเกาะเป็นฝั่ง เป็นที่พึ่งอาศัยแก่ตนได้ ก็เป็นผู้ไม่เสียทีที่พบพระพุทธศาสนา ได้เนื้อความที่ว่า ๑๒ นักษัตร เป็นต้นทางแห่งพระอริยสัจ ดังบรรยายมานี้



    ..........ส่วนท่านแสดงถึงยุคถึงขัย ที่ว่าหมู่สัตว์ที่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทมีอายุยืนขึ้นไปตามลำดับ จนถึงอสงไขยปี หมู่สัตว์ที่ตั้งอยู่ในความประมาทมีอายุน้อยถอยลงไปจนถึง ๑๐ ปี เป็นเขต ในระหว่างอายุ ๕ ปี เป็นเขตแต่งงานบ่าวสาวดังนี้ ควรถือเอาเนื้อความซึ่งเป็นปัจจุบัน ตัดอดีตอนาคตออกเสีย ตรองดูให้ดี

    ถ้าหมู่สัตว์ที่ไม่ประมาท ตั้งใจรักษาวจีกรรมให้เป็นสัมมาวาจาอยู่ทุกเมื่อ ตั้งใจรักษากายกรรมให้เป็นสัมมากัมมันโต และสัมมาอาชีโวอยู่ทุกเมื่อ คือมีความอุตสาหะประกอบการงานที่ไม่มีโทษ คือการทำสวนทำนา การค้าการขาย การวาดการเขียน การปักการเย็บ ไม่ว่าการใดๆ ที่ปราศจากโทษ คือไม่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นให้ได้ความเดือดร้อน เพราะกายกรรมของตน ได้โภคทรัพย์มาบำรุงร่างกายเป็นสัมมาอาชีโว ชื่อว่าเป็นพวกไม่ประมาท

    เมื่อตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเช่นนั้น อายุที่ควรจะอยู่ไปได้ ตามเขตตามกาลเพียงใด ก็จะอยู่ไปได้เพียงนั้น และจะเป็นเหตุเป็นปัจจัย อุดหนุนความเจริญบริบูรณ์และความสุขสำราญแก่บุตรและหลาน สืบตระกูลวงศ์ให้ภิญโญยิ่งขึ้นไปไม่มีที่สิ้นสุด ความไม่ประมาทอาจเป็นทางแห่งความเจริญได้ โดยความเป็นจริงอย่างนี้

    ..........ส่วนความประมาทนั้นอาจจักเห็นได้ว่า เป็นทางให้เป็นผู้มีอายุน้อยอายุสั้นจริง ความประมาทนั้นคือความไม่เอาใจใส่ในกิจการงาน ซึ่งเป็นหน้าที่ของตน คือปล่อยใจให้ไหลไปตามอารมณ์ต่าง ๆ เป็นคนทำอะไรไม่จริง ชื่อว่าปมาโท ประมาท อธิบายว่า พ่อนาประมาทในการทำนาก็อดข้าว ชาวสวนประมาทในการสวน คือไม่หมั่นดายหญ้ารดน้ำพรวนดินตามกิจ สวนของตนก็ไม่ได้ผล ชาวค้าขายถ้าไม่เอาใจใส่ในการค้าขาย คือไม่หมั่นตรวจตราของซื้อของขายต้นทุนและกำไร ก็จักขาดทุนสูญทรัพย์ ผู้เป็นข้าราชการถ้าประมาทต่อการงานหน้าที่ของตน ก็อาจจักทำการงานให้เสื่อมเสียลงไปได้

    เมื่อเป็นคนประมาทต่อกิจอันใด อายุในกิจอันนั้นก็สั้นก็น้อย บางทีจะไม่ยืนอยู่ในหน้าที่อันนั้นถึง ๑๐ ปีก็เป็นได้ ถ้าประมาทต่อชีวิตคือไม่เอาใจใส่บริหาร ไม่รู้ประมาณในปัจจัยเครื่องบำรุงชีวิตคืออาหาร วัตถุที่จะพึงกลืนกินทั้งสิ้น เป็นส่วนกวฬิงการาหาร ถ้าไม่รู้ประมาณก็เป็นเหตุทอนอายุให้สั้นให้น้อยลงได้

    อารมณ์ ๖ มีรูป เป็นต้น ซึ่งเป็นวัตถุเครื่องสัมผัสให้เกิดอารมณ์ต่าง ๆ ดังเครื่องใช้สอยมีผ้านุ่งห่ม และที่อยู่ที่อาศัย หรือฤดูเย็นร้อนเป็นต้น เมื่อมีสัมผัสตามหน้าที่ของตน เป็นส่วนผัสสาหาร ถ้าไม่รู้ประมาณก็เป็นเหตุทอนอายุให้สั้นให้น้อยลงได้

    ความคิดอ่านตรึกตรองเจตสิกธรรมเครื่องต่อใจ เป็นส่วนมโนสัญเจตนาหาร ถ้าไม่รู้ประมาณก็เป็นเหตุทอนอายุให้สั้นให้น้อยลงได้

    วิญญาณทั้ง ๖ มีจักขุวิญญาณเป็นต้น คือที่รู้ไปตามเจตสิกธรรมนั้น ๆ เป็นอาหารสำหรับร่างกายจิตใจส่วนหนึ่ง เป็นส่วนวิญญาณาหาร ถ้าไม่รู้ประมาณก็เป็นเหตุทอนอายุให้สั้นให้น้อยลงได้

    เมื่อไม่รู้ประมาณในอาการ ซึ่งเป็นปัจจัยแก่ชีวิตโดยปริยายใดปริยายหนึ่ง ก็ชื่อว่าเป็นคนประมาทต่อชีวิต อาจที่จะเป็นคนมีอายุสั้นอายุน้อยได้ โดยไม่ต้องสงสัย บางทีกำหนดไว้ว่า ๕ ปีแต่งงาน ให้มีสามีภรรยาก็จะไม่สำเร็จเพราะโทษแห่งความประมาท บันดาลให้เป็นอันตรายแก่ชีวิตเสีย ขึ้นชื่อว่าความประมาทแล้ว เป็นอันหาทางดีได้ด้วยยาก

    เมื่อเข้าใจว่าความประมาทมีโทษโดยส่วนเดียว ความไม่ประมาทมีคุณโดยส่วนเดียว แล้วตั้งใจรักษาธรรมอันเดียว คือความไม่ประมาทเท่านั้นก็อาจจักประสบความสุข ซึ่งเป็นส่วนโลกียะและโลกุตระ ตามความประสงค์ทุกประการ







    ..........จักอธิบายคำที่ว่าไม่ประมาทอันเดียว อาจให้สำเร็จสุขประโยชน์ส่วนโลกียะและโลกุตระได้ และอาจให้เจริญอายุจนถึงอสงไขยได้นั้น พอให้เข้าใจอีกวาระหนึ่ง ส่วนโลกียะนั้น ถ้าไม่ประมาทต่อวัตถุอันใด วัตถุอันนั้นก็จักให้คุณตามปรารถนา เหมือนอย่างธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม บุรพบุรุษของพวกเราสั่งสอนว่าอย่าประมาท ให้เคารพยำเกรง ส่วนธาตุดินให้ชื่อว่าพระธรณี เชิญให้ท่านเป็นที่บ้าน ที่สวน ที่ไร่ ที่นา เชิญให้เป็นหม้อ เป็นไห ให้เป็นโอ่ง อ่าง กระเบื้อง อิฐ ปูน ให้เป็นตึกร้านเรือนโรงสำเร็จได้ทุกประการ เพราะความไม่ประมาท

    ..........ส่วนธาตุน้ำนั้นให้ชื่อว่าพระคงคา เชิญมาดื่มมาอาบ เชิญรดต้นไม้ของปลูก ต้มหุง เชิญให้รักษาผักรักษาปลา และล้างขัดถ่ายเทสำเร็จตามประสงค์ได้ทุกประการ

    ..........ส่วนธาตุลมนั้น ให้ชื่อว่าพระพาย เมื่อมีความเคารพแล้วเชิญให้พัดโลกแก้ร้อนให้เย็น เชิญให้พัดไฟในเตาและอั้งโล่ เชิญสูบเป่าในเตาตีเหล็กตีทอง เชิญให้พัดผลักไสใบเรือแล่นตามคลองตามแม่น้ำตามทะเลสำเร็จตามความปรารถนาทุกประการ

    ..........ส่วนธาตุไฟนั้นท่านให้ชื่อว่าพระเพลิง เมื่อตั้งอยู่ในความเคารพไม่ประมาทยิ่งสำเร็จกิจมาก เป็นต้นว่าเชิญให้ต้มให้หุงให้เผาอิฐเผาปูน ให้เผาหม้อเผาไห ให้ย่างเนื้อย่างปลา เชิญส่องที่มืดให้สว่าง สำเร็จได้ทุกพันช่องพรรณนาไม่มีที่สิ้นสุด แต่ต้องอาศัยความไม่ประมาทอย่างเดียว ถ้าประมาทต้องฉิบหาย พึ่งท่านไม่ได้ทีเดียว ที่พรรณนามานี้โดยปรกติธรรมดา หากอาศัยกันมาอย่างนั้น

    ครั้นความไม่ประมาทในหมู่มนุษย์เจริญหนักขึ้น มนุษย์ที่เป็นนักปราชญ์เจริญขึ้น ๆ ต่างคนต่างก็คิดเห็นคุณพระธาตุทั้ง ๔ ต่างคนต่างก็ตั้งอยู่ในความเคารพเชื้อเชิญให้ท่านพร้อมใจกันเป็นพาหนะ ดังเรือไฟ เรือยนต์ รถไฟ รถยนต์เป็นต้น เมื่อบ้านเมืองไม่มีบ่าวไม่มีทาสใช้แล้ว ต้องเชิญท่านมารับการงานแทน คือเชิญให้ท่านสูบน้ำมาไว้อาบไว้กินจนถึงบนบ้านบนเรือน ให้ท่านช่วยวิดน้ำเข้านาเข้าสวน เชิญให้ท่านตำข้าวซ้อมข้าวสีข้าวให้เลื่อยให้จัก เชิญให้ท่านเฝ้าถนนหนทางเฝ้าบ้านเฝ้าเรือน ให้ตีพิมพ์ ที่สุดลงไปจนรีดผ้านุ่งผ้าห่ม

    และเชิญให้ท่านเป็นทูตส่งข่าวไปทางไกลดังโทรเลขโทรศัพท์ เชิญให้ท่านช่วยได้ไม่มีที่สุด เป็นอสงไขยคือนับไม่ถ้วน และยังซ้ำมีความเจริญขึ้นโดยลำดับ แต่ก่อนเมื่อจะส่งข่าวไปทางไกลต้องสร้างสะพานให้เดิน คือสายโทรเลข ภายหลังนักปราชญ์ไม่ประมาทหนักขึ้น สร้างแต่ที่อยู่และปรุงอาหารให้เป็นที่พอใจแล้วเชิญเสด็จโดยทางอากาศ คือโทรเลขไม่มีสายก็สำเร็จได้

    ..........ฝ่ายผู้ที่ใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์ต่าง ๆ นั้น แต่เบื้องต้นก็ใช้แต่เพียงฟืนและถ่านเท่านั้น ครั้นต่อมาใช้น้ำมันที่กลั่นออกจากวัตถุต่าง ๆ ให้เป็นอาหาร การก็สำเร็จมาโดยลำดับ ครั้นความไม่ประมาทของนักปราชญ์เจริญขึ้น ลงความเห็นว่าการที่หาฟืนหาถ่านหาน้ำมันมาให้เป็นอาหารนั้นเป็นการลำบาก ต้องเปลืองเงินเปลืองแรงมาก ต้องตักตวงถ่ายเท ขนเข้าขนออกทั้งอันตรายก็มาก เห็นว่าไม่จำเป็นจะให้เปลืองมาก

    สิ่งทั้งปวงย่อมสำเร็จด้วยปรีชาญาณทั้งสิ้น จึงคิดตั้งหม้อมีกระจกแก้วหนาปิดอยู่เบื้องบนล่อดักเอาแสงอาทิตย์ เกิดเพลิงขึ้นแผลงฤทธิ์หมุนเครื่องจักรเครื่องกล สูบน้ำเข้านาเข้าสวน สีข้าวเลื่อยไม้ก็สำเร็จได้ ถ้าจะหุงจะต้มตามธรรมดาเล็กน้อย ก็ตั้งหม้อรับแสงอาทิตย์ให้เล็งลงพอควรแก่ความต้องการ การที่คิดนั้นก็สำเร็จทุกอย่าง ดังพวกที่สร้างอาวุธ เบื้องต้นก็ใช้ปืนชุดและคาบศิลา ภายหลังดีขึ้นเป็นชั้น ๆ ลงท้ายไม่ต้องใช้ปืนก็ได้ ใช้ลูกระเบิดแทน ถือติดตัวไปได้มาก ๆ ลูกประมาณเท่าผลหมาก ก็อาจทำลายฝาผนังและกำแพงตึกรามใหญ่โตให้ทลายลงไปได้

    การคิดนั้นก็สำเร็จด้วยไม่ประมาท การที่คิดสำเร็จได้ใหญ่โตถึงเพียงนี้ ก็คงอาศัยฉันทะที่มีในตนเป็นเหตุภายใน อาศัยวัตถุเล็กน้อยซึ่งมากระทบเป็นเหตุภายนอก ดังพวกทำปืนก็คงคิดจากกระบอกไม้ พวกไฟฟ้าก็คงคิดจากแว่นฉายไฟจากแสงอาทิตย์ พวกเรือเหาะก็คงคิดจากนกบินเป็นเหตุ เมื่อเหตุภายในและภายนอกสัมปยุตเป็นอัญญมัญญปัจจัยมีกำลังกล้าขึ้น ก็ให้วิชานั้น ๆ สำเร็จตามประสงค์

    ..........การที่พรรณนามาโดยยืดยาวเช่นนี้ มีประสงค์จะให้รู้จักคุณแห่งความไม่ประมาท อาจยังโลกให้เจริญได้โดยเป็นอสงไขยอจินไตย ใช้ธาตุทั้ง ๔ สำเร็จเป็นกายสิทธิ์ได้






    ..........เหตุใดธาตุทั้ง ๔ จึงให้ชื่อว่าพระนั่นพระนี่ ชะรอยจะถือเอาเนื้อความว่าเป็นของประเสริฐคือเป็นธรรม เพราะเป็นของกลางอย่างหนึ่ง เพราะเป็นของทรงไว้ซึ่งสัตว์อย่างหนึ่ง เพราะเป็นของให้ความปรารถนาของผู้ไม่ประมาท สำเร็จได้ทุกประการอย่างหนึ่ง เพราะเป็นของมีฤทธาศักดานุภาพไม่มีที่สิ้นสุดอย่างหนึ่ง จึงชื่อว่าพระ

    เมื่อรู้จักพระรู้จักเจ้าเช่นนั้น ก็อาจจักหาที่พึ่งในทางรูปาวจร อรูปาวจร และโลกุตระได้ วิถีทางแห่งรูปาวจร อรูปาวจร และโลกุตระนั้น ก็ต้องอาศัยความไม่ประมาทในตัวของตนเองเท่านั้น ผู้ที่เห็นแต่ผลคือวิชาที่เขาทำสำเร็จแล้ว ดังเห็นว่าคนโน้นเขาดีมีวิชาอย่างนี้ ๆ คนชาตินั้นดีทำของใช้ได้ดี ๆ อย่างนี้ ๆ คนภาษานั้นดีมีสติปัญญาวิชาความรู้ และพรักพร้อมเป็นสามัคคีอย่างนี้ ๆ ที่หลงชมแต่ผลของวิชาอย่างนี้ เป็นลักษณะแห่งความประมาท

    อาการที่ไม่ประมาทนั้น คือเมื่อเห็นผลต้องเห็นเหตุด้วย คือเห็นว่าวิชาเหล่านั้น เกิดแต่เหตุคือตน หรือคนเช่นเดียวกันกับเราด้วย วิชาสารพัดซึ่งมีอยู่ในโลกฉายออกไปจากตนมีตนเป็นเหตุทั้งสิ้น เหมือนอย่างธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ วิญญาณ ต้องเข้าใจว่าเป็นของบริบูรณ์ในตัวของเราทุกประการ แม้วิชาทั้งหลายที่บรรยายมาแล้วนั้น ย่อมเกิดจากตนคือคนผู้คิด จะได้เกิดจากสิ่งอื่นหามิได้

    ส่วนคนผู้คิดนั้นก็มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ วิญญาณ เหมือนกันกับเรา ถึงผีสางเทวดาอินทร์พรหมก็คงมีธาตุ ๖ เหมือนกัน แม้ถึงพระขีณาสพเจ้า ผู้ลุโลกุตรธรรม นับด้วยแสนแห่งโกฏิเป็นอันมากซึ่งปรากฏในพระคัมภีร์แสดงพระพุทธศาสนานั้น ๆ ก็ไม่อื่นไปจากธาตุ ๖ เหมือนกัน แต่เหตุใดท่านจึงลุล่วงไปได้ ก็เพราะความไม่ประมาทตน เห็นว่าวิชาในโลกซึ่งเห็นปรากฏกันอยู่ทั้งสิ้นนั้น เป็นของมีในตน วิชาในทางธรรมคือศีล สมาธิ ปัญญา วิชชา วิมุตติ ซึ่งเป็นองค์อริยมรรค อริยผล จะไปมีอยู่ในที่ไหน ก็คงมีอยู่ในตนทั้งสิ้น

    เมื่อเห็นว่ามนุษยชาติคืออัตภาพที่ตนได้นี้ เป็นตัววิชาเป็นชาติกายสิทธิ์ ถ้าไม่ประมาทตัว ไม่ดูถูกดูหมิ่นตัว ตั้งเจตนากรรมทำกิจที่ตนต้องประสงค์นั้น ๆ ก็จักสำเร็จได้ด้วยความไม่ประมาททุกประการ

    และพึงเข้าใจว่าศีล สมาธิ ปัญญา เป็นสวากขาโต ภควตา ธัมโม คือเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว และให้เห็นชัดด้วยตนว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นของมีที่ตน คือที่บัญญัติว่า กาย วาจา ใจ นี่เอง

    เมื่อเห็นว่ากาย วาจา ใจ เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ก็ชื่อว่าเห็นธรรมที่ตน ความรู้ความเห็นนั่นแหละ เป็นลักษณะอาการแห่งพระพุทธคุณ

    ตัวสภาวะที่รับรู้รับเห็นนั้นแหละ เป็นลักษณะอาการแห่งพระธรรมคุณ

    ความเพียรที่ให้เกิดความรู้ความฉลาดนั้นแหละ เป็นลักษณะอาการแห่งพระสังฆคุณ คือสุปฏิปันโน

    รัตนะทั้ง ๓ ย่อมถึงแก่ตนด้วยอาการอย่างนี้ หรือจะว่าตนถึงพระรัตนตรัยก็ได้ เมื่อเห็นตนถึงพระธรรมอาจยังประโยชน์ที่ตนประสงค์ให้สำเร็จเช่นนั้น จะต้องยินดีในการเซ่นสรวงวิงวอนเชื้อเชิญให้อะไรต่ออะไรมาช่วยด้วยเหตุอะไร เชิญให้พระปัญญา พระวิริยะ พระขันตี พระสัจจะที่มีอยู่แล้วในตนนั่นแหละ ให้มาช่วยให้มาเป็นที่พึ่ง จึงจะสมกับด้วยพระพุทธภาษิตบรมพุทโธวาทว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ตนเองเป็นที่พึ่งแก่ตนดังนี้

    ผู้เชื่อตนว่าเป็นที่พึ่งแก่ตนได้จริงเช่นนั้น สีลัพพตปรามาสย่อมตั้งอยู่ไม่ได้เองแล.








    จบส่วนบทธรรม "เทศน์ ๑๒ นักษัตร"
     

แชร์หน้านี้

Loading...