เคล็ดวิชาในมังกรคู่สู้สิบทิศ

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย satan, 5 พฤศจิกายน 2006.

  1. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,015
    ค่าพลัง:
    +17,915
    "สุวินัย ภรณวลัย" สกัดจุดยุทธจักรนิยาย "มังกรคู่สู้สิบทิศ"

    เมืองไทยในช่วงระยะเวลา ๒-๓ ปีที่ผ่านมานี้ กระแสวรรณกรรมแนวยุทธจักรกำลังภายในกำลังพุ่งขึ้นมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เคยซบเซามานานนับสิบปี จะเห็นได้จากการที่ในหมู่คนหนุ่มสาวได้หันมาสนใจอ่านหนังสือแนววรรณกรรมยุทธจักรกำลังภายในมากขึ้นเมื่อบริษัท "สยามอินเตอร์คอมมิกส์" ได้จัดพิมพ์วรรณกรรมแนวกำลังภายในเรื่องใหม่ออกมา ๒ เรื่อง คือ "เจาะเวลาหาจิ๋นซี" และ "มังกรคู่สู้สิบทิศ" ซึ่งเป็นผลงานของผู้ประพันธ์คนเดียวกันนาม "หวงอี้" โดยมีการพิมพ์เรื่อง "เจาะเวลาหาจิ๋นซี" ออกมาก่อนมีจำนวน ๘ เล่ม และได้รับความนิยมอย่างสูงแม้แต่ในฮ่องกงก็มีการสร้างเป็นละครโทรทัศน์และเข้ามาแพร่ภาพในเมืองไทยอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นทางสำนักพิมพ์จึงได้พิมพ์ "มังกรคู่สู้สิบทิศ" ซึ่งเป็นเรื่องยาวถึง ๒๑ เล่มออกมาและเพิ่งจะออกเล่มอวสานไปเมื่อไม่นานนี้

    ชื่อของ "หวงอี้" เป็นชื่อใหม่ในวงการนิยายกำลังภายในบ้านเรา แต่การตอบรับผลงานของเขานับว่ามาแรงกว่าวรรณกรรมกำลังภายในที่ออกมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกันมาก นี่ต้องแสดงถึงความไม่ธรรมดาของวรรณกรรมในแบบฉบับของ "หวงอี้" อย่างแน่นอน

    บ่ายอ่อนๆ ณ มุมหนึ่งของเมืองหลวง "ดร.สุวินัย ภรณวลัย" ได้อธิบายให้ "อาทิตย์" ฟังเกี่ยวกับ "สาระสำคัญ" ที่แฝงอยู่ภายในผลงานวรรณกรรมของ "หวงอี้" โดยเฉพาะในเรื่อง "มังกรคู่สู้สิบทิศ" ซึ่งนับว่ามีความโดดเด่นที่สุด และแตกต่างจากวรรณกรรมกำลังภายในเรื่องอื่นๆ ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้เลยทีเดียว...

    ๑) จุดเด่นของวรรณกรรมหวงอี้
    งานเขียนแบบวรรณกรรมของ หวงอี้ นี่ท้าทายมากเพราะคนจีนนี่เขารู้เรื่องหมดแล้ว อย่างในทีวีเขาก็มีเรื่อง "ศึกลำน้ำเลือด" ซึ่งเป็นเรื่องราวอันเดียวกัน หรือผลงานของหวงอี้เรื่อง "เจาะเวลาหาจิ๋นซี" คนจีนเขารู้กันหมดแล้วแต่เขาก็เอามาเขียนเป็นนิยายใหม่ได้ นี่เป็นจุดเด่นของวรรณกรรมแบบหวงอี้ ที่เห็นเป็นข้อแรกคือเขาทำนิยายแบบ พาราเรลฮิสตอรี่ หรือ พาราเวลเวิลด์ ซึ่งก็คือ "โลกในคู่ขนาน" คือมันมีความจริงของประวัติศาสตร์อยู่ แต่คุณเข้าไปในโลกแห่งความฝัน ความฝันของความฝันอีกทีหนึ่ง เราต้องจินตนาการว่าเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นี้ เรารู้ประวัติศาสตร์อยู่แล้ว แต่ต้องมาประลองปัญญากับหวงอี้ดูว่า เขาจะทำให้เราเชื่อได้หรือเปล่า เพราะนิยายของหวงอี้เน้นเรื่องเล่าเป็นหลัก ซึ่งต่างกับของโกวเล้ง อย่างเรื่อง "ฤทธิ์มีดสั้น" นี่เรื่องทางประวัติศาสตร์น้อย แต่โกวเล้งเขาเล่นกับอารมณ์เป็นธีมหลักๆ โดยเฉพาะ เรื่อง "ฤทธิ์มีดสั้น" ซึ่ง "ฤทธิ์มีดสั้น" นี้เขาเขียนออกมา ๑,๒๐๐ หน้า แต่คุณอาจไม่มีทางทนเพื่อจะอ่านความร้าวรันทดของ "ลี้คิมฮวง" และความร้ายกาจของ "ลิ้มเซียนยี้" ที่โกวเล้งพรรณาได้ถึงจำนวนหมื่นหน้าเหมือนอย่างเรื่อง "มังกรคู่ฯ" หวงอี้เขาเขียนในเรื่องที่คนรู้อยู่แล้วโดยเฉพาะคนจีนแล้วทำอย่างไรให้เกิดเป็นประวัติศาสตร์คู่ขนานได้ราวกับว่ามันมีตัวตนอยู่จริง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณ ๑,๓๐๐ ปีก่อน ในช่วงที่หลวงจีนตั๊กม้อเดินทางมาเผยแพร่พุทธศาสนาแบบเซนได้ไม่นาน ไม่เกินสองร้อยปี เพราะในเรื่อง "มังกรคู่สู้สิบทิศ" จะปรากฎชื่อของสังฆปรินายกรุ่นที่ ๔ คือ "เต้าซิ่น" โผล่ออกมารวมอยู่ใน ๔ หลวงจีนศักดิ์สิทธิ์ และมาประลองกับพวกพระเอก ใครที่ตามอ่านเรื่องเกี่ยวกับเซนจะตกใจว่าปรมจารย์เซนมาโผล่ในเรื่องนี้ด้วย

    เราจะเห็นว่าบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ในเรื่องมังกรคู่สู้สิบทิศนี้มีบทบาทมาก เช่น "หลี่ซื่อหมิน" "หลี่มี่" "หวังซื่อชง" ขนาดที่ว่าถ้าคุณไปอ่านเรื่อง "ดาบมังกรหยก" หรือ "มังกรหยก" ก็ดี บุคคลที่มีบทบาททางประวัติศาสตร์จริงมีบทบาทเป็นแค่ตัวประกอบเท่านั้นเอง คือผู้แต่ง "กิมย้ง" เวลาเขาเขียนเรื่องนิยายกำลังภายในอิงประวัติศาสตร์ก็ยังไม่สะใจเท่ากับหวงอี้ เพราะหวงอี้เขาเล่นกับประวัติศาสตร์โดยตรงนี่คือจุดเด่นของวรรณกรรมหวงอี้ที่ทำให้คนตามอ่านได้ถึง ๒๑ เล่ม

    อีกประการหนึ่งก็คือผมอ่านแล้วรู้สึกเหมือนกับว่าเรื่อง "มังกรคู่สู้สิบทิศ" เป็นงานวรรณกรรมทางการเมืองแบบบูรณาการ ในความหมายที่ว่าตัวหวงอี้เขาได้เสนอ "วิชั่น" ทางการเมืองมุมมองและประเด็นทางการเมืองที่ประกอบได้ด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ในขณะนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วนักรัฐศาสตร์ควรจะอ่าน มีคนพูดว่าถ้าไม่อ่าน "สามก๊ก" ก็ไม่สามารถสำเร็จงานใหญ่ได้ แต่ผมว่าถ้าไม่อ่าน "มังกรคู่สู้สิบทิศ" ก็ไม่สำเร็จงานใหญ่เช่นกันเพราะในด้านนี้เขาเหนือกว่า "กิมย้ง" อีกนะเพราะว่ากิมย้งเขามองแบบองค์รวมที่ไม่ได้เน้นปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่นตอนที่เราอ่านนิยายกำลังภายใน คนหนึ่งคนมีความร่ำรวยมาได้อย่างไรเราจะไม่รู้เลย หรืออย่าง "ฤทธิ์มีดสั้น" ตัวละครยิ่งไม่สมจริงใหญ่ เพราะ "โกวเล้ง" เป็นคนที่สร้างคาแรคเตอร์ตัวละครออกมาแล้วทำลายทิ้งมาก ในเรื่อง "ฤทธิ์มีดสั้น" ผมอ่านเฉพาะในสองบทแรกคนตายไปสามสิบคนแล้ว แทบไม่มีบทบาทเลยแต่เอ่ยชื่อออกมาเยอะไปหมด ขณะที่ "หวงอี้" เขาเป็นคนที่รักษาตัวละครดีมาก ซึ่งเห็นได้ชัดเลยว่าฝีมือเขียนในเชิงมหากาพย์ของเขาเหนือกว่าคนอื่นมากใน "มังกรคู่สู้สิบทิศ" ปัจจัยทางเศรษฐกิจก็เขียนไว้ชัดเจนมาก และมีการบอกที่มาขุมกำลังต่างๆ ที่เข้ามาช่วงชิงแผ่นดิน เพราะนี่คือวรรณกรรมเรื่องการช่วงชิงแผ่นดินในช่วงกลียุค ในเรื่องนี้เราจะเห็นว่าบางคนค้าขนแพะ บางคนค้าเกลือ ผู้ร้ายนี่ค้าผู้หญิงกับเปิดบ่อน

    อย่างที่สอง คนจะทำงานใหญ่มันต้องมีเครือข่าย พระเอก "โค่วจง" นี่ไต่เต้ามาจากนักเลงอันธพาลระดับกระจอกในเมืองหยางโจวจนขึ้นมาเป็นผู้นำที่สามารถเป็นคู่แข่ง "หลี่ซื่อหมิน" ได้นี่เพราะเขาได้สร้างเครือข่าย คือชนะมาแล้วก็เพราะน้ำใจ เพราะว่านี่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการช่วงชิงแผ่นดิน ใน "มังกรคู่ฯ" เราจะเห็นได้ว่าพระเอก "โค่วจง" ไต่เต้าขึ้นมาได้อย่างไร

    อย่างที่สามเรื่องเทคโนโลยี ในเรื่องนี้มีนวัตกรรมที่ใช้ในการสู้รบมาก ถ้าได้อ่านดูประการที่สี่เขาพูดเรื่อง "ลีดเดอร์ชิพ" ความสามารถในการเป็นผู้นำแบบ "หลี่ซื่อหมิน" หรือความสามารถในการเป็นผู้นำแบบ "โคว่จง" มีการวิพากษ์การเป็นผู้นำแบบ "หวังซื่อชง" และ "หลี่มี่" มันน่าสนใจมากและก็พูดถึงเรื่องการจัดองค์กรซึ่งก็เล่าตั้งแต่พระเอกเริ่มสร้างพรรคมังกรคู่เพื่อเตรียมการช่วงชิงแผ่นดิน จนมาถึงการสร้างกองทัพขุนพลน้อย มันสมจริงมากในแง่นี้ ถ้าเราอ่านก็จะได้ความรู้พวกนี้

    ประการต่อมานี่ ไม่ใช่ว่า "กิมย้ง" ไม่ได้เขียนวรรณกรรมทางการเมือง นิยายของเขาเรื่อง "ยิ้มเย้ยยุทธจักร" นี่ก็จัดเป็นวรรณกรรมทางการเมืองที่เยี่ยมยอดที่สะท้อนการวิจารณ์การปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนในสมัยนั้น เพราะเราบอกได้เลยว่าถ้าเราตัดฉากบู๊และเรื่องกำลังภายในที่เป็นเหมือนผงชูรสออกมันก็คือเรื่องการเมืองสมัยใหม่นั่นเอง เพียงแต่ว่าทัศนทางการเมืองของ "กิมย้ง" เป็นการเมืองแบบ "เนกกาตีฟ" ที่ผมเรียกว่า "การเมืองแบบเก่า" ซึ่งทำให้คิดว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก น่ารังเกียจไม่น่าแตะต้อง เราอ่านมาจะได้ความรู้สึกแบบนั้นแต่พออ่านการเมืองของ "หวงอี้" โดยเฉพาะเรื่อง "มังกรคู่สู้สิบทิศ" ผมอ่านแล้วยิ้ม ดูแล้วมีความหวัง รู้สึกว่ามันเป็นการเมืองแบบ "ข้ามพ้นตัวตน" ทำให้เรามองการเมืองแบบ "โพสซิตีฟ" ให้ความหวังในการสร้างชาติซึ่งเป็นประเด็นที่ชัดเจนมาก ในฉากหนึ่งของเรื่องมีผู้ถามว่า ทำไม "หลี่ซื่อหมิน" ควรได้เป็นฮ่องเต้ โดยเฉพาะตอนที่ "โค่วจง" สนับสนุน "หลี่ซื่อหมิน" และพาไปพบ "ดาบสวรรค์ซ่งเสวีย" ก็เพราะ "หลี่ซื่อหมิน" มีทัศนเปิดกว้างกับคนนอกด่าน อันนี้แสดงจุดยืนทางการเมืองชัดเจนว่า การขจัดปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยในจีนอย่างธิเบตนี่คุณต้องให้เกียรติเขา มันเป็นเรื่องล้ำยุคมาก ในขณะที่เราไปอ่านของกิมย้งในเรื่อง "แปดเทพอสูรมังกรฟ้า" มันน่าเศร้ามากเพราะพระเอกของเรื่อง "เซียวฮง" ต้องฆ่าตัวตายเพราะตนเองเป็นคนต่างชาติจริงๆ แล้ว "หลี่ซื่อหมิน" ก็เป็นลูกครึ่ง แม่เป็นชนชาติหู แต่ "โค่วจง" ได้สนับสนุนเพราะว่าเขาเหมาะสมที่สุด แต่ "ดาบสวรรค์" ติดอยู่ที่ว่าอยากให้ฮ่องเต้เป็นชาวฮั่นแท้ คืออยากให้คนจีนทางตอนใต้เข้ามาปกครอง ซึ่ง "โค่วจง" เห็นว่าถ้าทำเช่นนั้นก็ต้องรบกันอีกยาวคนที่ทุกข์ยากก็คือประชาชน วิชั่นแบบ "โค่วจง" นี้คือมันต้องทำการเมืองแบบข้ามพ้นตัวตน "โค่วจง" เป็นผู้ยอมเสียสละเพราะดูแล้ว "หลี่ซื่อหมิน" เหมาะกว่าเพราะว่าเขามีนโยบายหลังการยึดอำนาจรัฐที่ชัดเจน คือจัดระเบียบชัดเจนซึ่งตอนแรก "โค่วจง" เขายอมรับไม่ได้ เพราะเขาเป็นนักผจญภัยไม่ใช่ผู้บริหาร หรือเรียกว่ามันเป็นเรื่องท้าทาย แต่พอหมดความท้าทายเขาก็หมดความสนใจแล้ว เรื่องนี้จึงเป็นวรรณกรรมทางการเมืองแนวใหม่ที่น่าสนใจมาก

    ประการสุดท้ายนี่วรรณกรรมเรื่องนี้ได้เสนอ "ฮีโร่พันธุ์ใหม่" หรือวีรบุรุษแนวใหม่ในนิยายกำลังภายในที่ไม่มีมาก่อน ถ้าเทียบกับ "เซียวฮง" จาก "แปดเทพอสูรมังกรฟ้า" ที่มีจุดจบเป็นโศกนาฏกรรม แต่เรื่อง "มังกรคู่สู้สิบทิศ" นี้เป็นฝ่ายให้เพราะพระเอกเรื่องนี้มีสองคน คนหนึ่ง "โค่วจง" เป็นสุดยอดของโลกียะ อีกคนหนึ่งคือ "ฉีจื่อหลิง" นี่จะเป็นแบบโลกุตระ เป็นเหมือนด้านจริยะของคนเรา เพราะสองคนนี้ไม่เคยหักหลังกันเลย ถ้าอ่านนิยายกำลังภายในนี้ในที่สุดแล้วต่อให้จะปลีกวิเวกเขาก็จะทำเมื่อหลังจากเสร็จงานใหญ่ จุดจบไม่ได้จบแบบ "เตียบ่อกี้" ในเรื่อง "ดาบมังกรหยก" ที่เป็นผู้นำพรรคมารแล้วก็ถูก "จูหยวนจาง" หักหลังแล้วขึ้นมาครองราชย์เป็นฮ่องเต้ราชวงศ์หมิง แต่ "มังกรคู่สู้สิบทิศ" เขาทำได้ดีคือพอสำเร็จงานใหญ่แล้วพวกพระเอกก็ปลีกตัวออกมา แล้ว ๑๐ ปีให้หลังก็กลับมาดูว่า "หลี่ซื่อหมิน" รักษาสัจจะวาจาตามที่ให้ไว้หรือเปล่า

    ๒) สรรพวิชา หรือภูมิปัญญาตะวันออกในเรื่อง "มังกรคู่สู้สิบทิศ"
    เมื่อเปรียบเทียบกับ "ฤทธิ์มีดสั้น" ของ "โกวเล้ง" แล้วจะมีอยู่แค่ฉากเดียวเท่านั้นเองคือฉากที่ "ลี้คิมฮวง" เผชิญหน้าเป็นครั้งแรกกับ "เซี่ยงกัวกิมฮ้ง" และกำลังจะดวลกัน ปรากฎว่า "ผู้เฒ่าเทียนกี" ซึ่งถือเป็นอันดับหนึ่งออกมาเตือนสติเพราะว่า "ลี้คิมฮวง" ได้ถามว่าอาวุธของท่านล่ะอยู่ที่ไหน "เซี่ยงกัวกิมฮ้ง" ตอบว่ามือไร้ห่วงแต่ใจมีห่วง แล้ว "ผู้เฒ่าเทียนกี" ที่จะมาช่วย "ลี้คิมฮวง" ก็พูดว่าแค่มือไร้ห่วงคิดไปว่าตัวเองเก่งแค่ไหนเพราะว่าที่สูงสุดก็คือต้องไร้คน ไร้ห่วง "เซี่ยงกัวกิมฮ้ง" ก็เลยช็อกไป ในที่สุดก็ไม่ได้ดวลกัน เลยต้องไปดวลกันวันหลังคือในตอนจบของ "ฤทธิ์มีดสั้น" มีอยู่แค่นี้เอง เพราะฉะนั้น "โกวเล้ง" เขาเสนอภูมิปัญญาของเซนแบบผิวเผินนิดหน่อย เพราะไปอ้างของ "ลักโจ้ว" คือสังฆปรินายกองค์ที่หกที่ไปเขียนบทโศลกแข่งกันจนได้ตำแหน่งมา เราจะเห็นว่า "โกวเล้ง" เขาเก่งในเรื่องนิยายแบบปัจเจก แต่ความลุ่มลึกในด้านภูมิปัญญาเขาสู้ "กิมย้ง" และ "หวงอี้" ไม่ได้

    แต่ว่าเมื่อไปอ่านเรื่อง "มังกรคู่สู้สิบทิศ" นี่จะพบว่า การประลองยุทธนี่คือการประลองปรัชญา ปรัชญาในการต่อสู้มันลึกซึ้งและซับซ้อนลึกเข้าไปเรื่อยๆ อ่านแล้วสนุกมากและได้ภูมิปัญญา

    อันแรกเคล็ด "จันทร์ในบ่อ" อันนี้มาจากหลักของเซนและ "ซ็อกเจน" ของทางธิเบต อาจกล่าวได้ว่าในนิยายกำลังภายในที่ผมอ่านมา "หวงอี้" เป็นคนแรกที่เอาเรื่องเซนเข้ามาใช้อย่างจริงจัง เพราะตอนที่เขาบรรยายฉากคิวบู๊เปรียบเทียบกับของ "กิมย้ง" แล้วกิมย้งเขาไม่ค่อยใช้ปรัชญาเท่าไหร่ บางเรื่องก็คือจินตนาการล้วนๆ แต่ของ "หวงอี้" เขาจะมีหลักอยู่ อันแรกเคล็ดจันทร์ในบ่อก็ตรงกับ "ซ็อกเจน" ภาษาอังกฤษเรียกว่า "self perfection stage" หรือ "ภาวะความสมบูรณ์พร้อม" มีปรากฎอยู่ในเรื่องตลอดมา โดยเฉพาะปรากฎอยู่ในตัวละคร "ชอนแชอิม"

    ต่อมาเคล็ด "กระบี่หมากล้อม" นี่เอาเรื่องหมากล้อมมาเป็นเคล็ดวิชา เป็นของ "ชอนแชอิม"

    เคล็ด "วิชาลมปราณอมตะ" ของเต๋า ที่มาที่ไปนี่เกิดจากการที่พระเอกเขาไปเจอคัมภีร์เต๋าเล่มหนึ่ง ซึ่งในเรื่องถือเป็น "เคล็ดวิชาอมตะ" พระเอกสองคนนี้ได้มาและฝึกสำเร็จ คนที่วิเคราะห์เรื่องเต๋าเขาเรียกว่า Taoist canon จริงๆแล้วมันมีกว่า ๓,๐๐๐ ม้วน ที่มีอยู่ในปัจจุบันนะเป็นภาษาโบราณ "หวงอี้" ก็หยิบมาม้วนหนึ่งที่เป็นภาษาโบราณ ตอนนี้ก็ยังมีการแกะภาษาอ่านกันอยู่ เพราะมันมีศัพท์ทางวิชาต่างๆ มากถ้าถามว่ามันเป็นไปได้มากแค่ไหน ก็มีจุดพลังที่ออกมาจากยอดศีรษะคือจุด "ไป่ฮุ่ย" และจุดที่มีพลังออกมาจากฝ่าเท้าคือจุด "หย่งเฉวียน" ซึ่งจะมีกระแสไฟฟ้าวิ่งอ่อนๆ อันนี้มีอยู่จริง ตอนที่ได้วิชานี้ จุดที่เท้าก็ได้จากท่านอนเพราะจะฝึกได้ง่าย ส่วนจุดที่หัวก็ฝึกจากท่านั่งได้ง่าย อันนี้มีจริงแน่นอน และถ้าหากถามว่า "พลังรูปเกลียว" นี่มีอยู่ไหม ก็มีจริงเหมือนกันแต่ไม่โอเวอร์ถึงขนาดนั้น ศัพท์ทางวิชาเรียกว่า "ฉันซือจิ้ง" เป็นเคล็ดพลังรังไหมของมวยไทเก็กสายเต๋า

    เพราะฉะนั้นในเคล็ดวิชาลมปราณอมตะของเต๋ามันมีมูลความจริงอยู่บ้าง แต่ประสิทธิภาพไม่ได้เหมือนในเรื่องขนาดนั้น เพราะวิชาจริงเขาเรียกว่า "ถงจื่อกง" คือวิชาพลังกุมารเท่านั้นเอง ทำให้มีสุขภาพดี อายุยืน แต่ไม่ได้มีพลังเหนือมนุษย์ขนาดนั้น

    วิชาต่อไปคือวิชา "กระบี่ใจกระจ่าง" ของ "ซือเฟยเซวียน" จาก "เรือนฌาณเมตไตรย" อันนี้เป็นเซนชัดเจนมาก คือสายพุทธนะ และบทสนทนาที่ "ซือเฟยเซวียน" จะเตือนสติ "ฉีจื่อหลิง" ก็น่าสนใจมาก ถ้าใครสนใจเรื่องเคล็ดวิชาก็ต้องอ่านเล่ม ๙ ของภาคหนึ่งและภาคสอง (ภาคสมบูรณ์) จะสนุกที่สุดคือในสิบเล่มแรกที่รวมสรรพวิชามากก็คือเล่มเก้า พอสิบเอ็ดเล่มหลังก็เป็นเล่มเก้าเหมือนกัน

    "วิชาเปลี่ยนพระอาทิตย์" วิชานี้เป็นกุณฑาลินีโยคะของอินเดียที่ผู้แต่งเอามาใช้

    "เคล็ดวิชาตัวตนกับพรหมมัน" คิดว่าผู้แปลน่าจะแปลผิด เพราะน่าจะใช้คำว่า "อาตมัน" เขาเขียนไว้ว่า "อาตมัน" กับ "พรหมมัน" เป็นหนึ่งเดียวอันนี้เป็น "ราชาโยคะ" ของ "ปตัญชลี" และยังมีท่าที่ใช้ในการต่อสู้นี้ก็เป็นเหมือน "หธะโยคะ"

    "เคล็ดวิชาเก้าคำศักดิ์สิทธิ์" นี่คือวิชา "มนตรายาน" นั่นเองเรื่องนี้ผมเคยไว้ในหนังสือ "คัมภีร์มังกรวัชระ" ที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า "มิกเคียว" มันแปลกมาก เพราะคำศักดิ์สิทธิ์ที่ "ฉีจื่อหลิง" ได้มามันเป็นสถานการณ์ในตอนที่เขาไปพบพระพุทธรูป นิยายกำลังภายในเขาจะเอาสิ่งที่ไม่เป็นวิทยายุทธ มาเป็นวิทยายุทธหมด ก็เลยใช้ปางมือ ซึ่งภาษาทางวิชาการเราเรียกว่า "มุทรา" มีคำอยู่เก้าคำที่เอามาจากคัมภีร์ของเต๋า ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ริน เปียว โต ฉะ ไค จิน เรสุ ไซ เซ็น" มี ๙ คำ แปลได้ว่า "เมื่อทั้งหมดเผชิญหน้ากับทหารก็จัดเรียงแถวข้างหน้า" แต่ละท่าก็จะมีท่าของมัน คือ "ปางนอก" "ปางใน" ฯลฯ วิชานี้ยังตกทอดอยู่ถึงปัจจุบัน หวงอี้นี่เป็นคนแรกที่เอาเรื่องเหล่านี้มาใช้ แต่ในเรื่องนี้เคยมีหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นเอามาใช้อยู่ ในนิยายกำลังภายในถือว่าเป็นของใหม่ แต่ถ้าในการ์ตูนนั้นมีคนเอามาใช้นานแล้ว

    "วิชาท่าร่างมายา" ของ "เทพอาถรรพณ์" เมื่อวิเคราะห์แล้วก็พบว่าเขาใช้วิธีสะกดจิต พลังจิต คล้ายกับ "วิชาพรหมสี่หน้า" ของเมืองไทยคือทำให้เห็นเป็นหลายร่าง ต้องใช้พลังจิตบวกกับท่าเท้า

    "เคล็ดห้วงขณะในยามนี้" ของ "ปาฟงหัน" ที่เขาฝึกมาจากในทะเลทราย อันนี้เป็นเซน ดูลึกซึ้งมากลองไปอ่านดูได้

    "เคล็ดรับดาบ ได้ดาบ แล้วลืมดาบ" ของ "ดาบสวรรค์ซ่งเสวีย" อันนี้ไม่ทราบว่าได้รับอิทธิพลจาก "มูซาชิ" หรือเปล่าก็ไม่ทราบ เพราะบุคลิกของ "ดาบสวรรค์ซ่งเสวีย" คล้ายมากกับของโกวเล้งที่เขียนก็จะมี "บุรุษชุดขาว" ถ้าใครสนใจเรื่องนี้ก็ลองไปอ่านภาคผนวกของหนังสือ "มูซาชิ" ที่ผมเขียนจะมี "คัมภีร์อจลนาถ" คือเคล็ด "ไร้ดาบ" อันนี้มีจริงอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นของสายตระกูล "ยางิว" มีการแปลฉบับเต็มเป็นภาษาอังกฤษด้วย

    ส่วนเคล็ดของ "ผู้วิเศษกำจาย" ส่วนใหญ่จะอิงจากหลักของ "จวงจื้อ" มากกว่า "เล่าจื้อ" มีคนไทยได้แปลออกมาตั้งหลายเวอร์ชั่นลองไปหาอ่านดูได้

    แล้วที่เหลือก็จะมีวิชาของทางนอกด่าน เช่น "วิชายิงธนู" "วิชาคนกับม้าหลอมรวมเป็นหนึ่ง" "เคล็ดการพนัน" คือได้การพนันและลืมเลือนการพนัน ก็เอาจากเคล็ดวิชาดาบมาใช้ เมื่อดูบรรยากาศเราจะรู้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้ได้รวมเอาสุดยอดของฉากแอ็คชั่นในหนังที่เราเคยได้ดูมายกเว้นหนังแบบอวกาศอย่างเรื่อง "เอเลี่ยน" เท่านั้นเอง ถ้าใครชอบภาพยนตร์แอ็คชั่นแล้ว วรรณกรรมเรื่องนี้ก็ไม่น่าผิดหวัง นอกจากนี้ก็ยังมีวิชาสะกดรอย ดูท้องฟ้า ใช้เหยี่ยวสืบข่าว การทำสงคราม เรื่องของเรือ การทำห้องลับ การจัดสวน การทำอาหารเป็นต้น มีอยู่ตอนหนึ่งที่ผมชอบเป็นพิเศษคือ ตอนที่พระเอกทั้งสองคนไปที่สถานปศุสัตว์เลี้ยงม้า แล้วไปเจอยอดคน "หลู่เมี่ยวจื่อ" รวมแล้ววิชามีเยอะมากเมื่อเราจับมาแยกแยะทีละอัน อาจจะไม่ผิดหวังถ้าได้อ่านเรื่องนี้ และจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ศึกษาเรื่องเหล่านี้เข้าไปอย่างลึกซึ้งได้จริงๆ แล้วมันน่าจะมีฟุตโน้ตของมังกรคู่ฯ ด้วยซ้ำไป เพื่อว่าคนที่อ่านเรื่องนี้จะสามารถเข้าลึกทางความลึกได้

    ๓) เหล่ายอดคนในเรื่อง "มังกรคู่สู้สิบทิศ"
    คนแรก "โค่วจง" คนที่อ่านเรื่องนี้จะพบว่าหวงอี้สร้างโมเดลให้เขาเป็นวีรบุรุษ เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในระดับสุดยอดของเรื่องทางโลก เท่าที่วีรบุรุษจะสามารถกระทำได้ เขาเป็นผู้นำอุดมคติในช่วงกลียุค ถ้าเป็นสมัยนี้ก็เหมือนพี่เสกสรรค์ ประเสริฐกุล คือมันดึงดูดให้ผู้คนร่วมสู้กับเขาด้วย มีน้ำใจ

    แต่ "โค่วจง" หลังจากที่หมดภาระแล้วเป็นยังไง ต้องดูว่าคนเหล่านี้สำเร็จภารกิจในอายุวัย ๒๖ เท่านั้นนะ "หลี่ซื่อหมิน" ยึดอำนาจได้ตอนอายุ ๒๖ ซึ่งนับเวลา ๙ ปีจึงสำเร็จ "โคว่จง" ตอนแรกเพิ่งอายุ ๑๗ ตอนจบนี่ "ฉีจื่อหลิง" อายุ ๒๕ ปีเท่านั้น ชีวิตหลังจากนั้นมันคงน่าหดหู่มาก "โค่วจง" คงจะกลายเป็น "ก็อดฟาเธอร์" คือสามารถคุมสถานการณ์ได้โดยไม่ต้องทำอะไร แค่ส่งคนไปบอกเรื่องก็เงียบ ในแง่นี้ผมเสียดาย "โค่วจง" เพราะว่าเขาจะไปไม่ได้ไกลเท่ากับ "ฉีจื่อหลิง" เพราะในระดับทางจิตแล้ว "ฉีจื่อหลิง" สูงกว่า "โค่วจง" ในใจผมถ้าเป็นตอนหนุ่มๆ ผมคงจะชอบ "โค่วจง" ผมยังเคยถามลูกชายของเพื่อน เขาก็ยังตอบว่าชอบ "โค่วจง" ผมไม่แปลกใจเลย แต่ถ้าเป็นตอนนี้ผมชอบ "ฉีจื่อหลิง" มากกว่า

    แล้ว "ฉีจื่อหลิง" มีบุคลิกอย่างไร ทั้ง "โค่วจง" และ "ฉีจื่อหลิง" มีบุคลิกไม่เหมือนกัน "โค่วจง" เป็นคนร่าเริง แต่ "ฉีจื่อหลิง" เป็นคนเงียบไม่ค่อยแสดงความรู้สึกของตัวเอง และไม่ค่อยเปิดเผยความในใจ เขาเป็นคนที่มีความสำเร็จเข้าสู่กระแสโลกุตระ เป็นคนเหนือโลก แล้ว "ฉีจื่อหลิง" หลังจากนั้นเป็นอย่างไร เขาก็อยู่กับ "สือชิงเสวียน" ที่หุบเขาพนาเร้นลับ ผมคิดว่าระดับของเขาต้องไปต่อได้ไม่แพ้ "ผู้วิเศษกำจาย" เพราะสถานภาพของเขาในเรื่องก็คือเป็น "ผู้พิทักษ์ธรรม" ของสถาบันสงฆ์ ความสัมพันธ์ที่เขามีตอนแรกๆ กับ "ซือเฟยเซวียน" กับ "เรือนฌาณเมตไตรย" หรือ "สี่หลวงจีนศักดิ์สิทธิ์" ก็ดีจะทำให้เขาก้าวหน้าในทางธรรมด้วยซ้ำไป แม้เขาจะมีวิชาอมตะที่เป็นสายเต๋าแต่ความสำเร็จของเขาเป็นสายพุทธ

    "ดาบสวรรค์ซ่งเสวีย" เคล็ดสุดยอดของเขาคือ "นอกจากดาบแล้ว ไม่มีอย่างอื่นอีก" อันนี้สำคัญมากถ้าหากใครต้องการสำเร็จในวิถีของตนนะ เช่นนอกจากการเมืองไม่สนใจเรื่องอื่นอีก คือมองทุกอย่างให้เป็นการเมืองให้ได้ แล้วยังมีเคล็ดอีกอันหนึ่งคือ พอได้การเมืองแล้วลืมการเมือง หรือ นอกจากพุทธะแล้วไม่มีอย่างอื่นอีก ถ้าหากทำได้สำเร็จอรหันต์แน่นอน หรือ นอกจากดนตรีแล้วไม่มีอย่างอื่นอีก นี่คือเคล็ดของดาบสวรรค์ที่เราสามารถเอามาใช้ได้ในชีวิตความเป็นจริง

    นอกจากนี้เขายังเป็นจอมดาบที่เป็นผู้นำทางการเมืองด้วย นี่น่าสนใจมาก เพราะจอมดาบอย่าง "มูซาชิ" จะคล้ายๆ ว่าไม่มีความเข้าใจทางการเมือง แต่ดาบสวรรค์เขาเป็นนักยุทธศาสตร์ตัวยง ถ้าชีวิตของเขาไม่ได้เจอกับ "โค่วจง" ก็คงสิ้นหวังแล้วล่ะ เพราะการที่เขาได้พบ "โค่วจง" มันทำให้เขามีโอกาสได้พลิกสถานการณ์ หรือทำให้สามารถลงไปเล่นการเมืองได้ เพราะเขามาจากตระกูลขุนนางชั้นสูง คือเมื่อรวยแล้ว อีกด้านหนึ่งเป็นนักดาบ ที่เข้าถึงปรัชญาได้อย่างลึกซึ้ง เขาจึงฉลาดมาก รอบรู้ไปหมด และหันมาสนใจการเมือง แต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าตัวละครทุกตัวในเรื่องนี้สนใจเรื่องการเมือง พระสงฆ์ หรือ "ผู้วิเศษกำจาย" ก็เข้าใจเรื่องการเมือง อ่านวรรณกรรมเรื่องอื่น การเมืองเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ แต่นี่เขาเข้าใจการเมืองด้วยสถานการณ์และก็มาดูว่าใครจะมาเป็นผู้นำ พอมองแบบองค์รวมก็ดูว่าใครเหมาะสมที่สุด รายละเอียดเขาไม่คุยกันหรอก ยอดคนเขาคุยกันเป็นภาพใหญ่ๆ ทั้งนั้น แล้วมันก็มีระบบการทำงานในทีมงานของมันเองมารองรับ

    "ผู้วิเศษกำจาย" คนนี้มีบทออกมาน้อย แต่เขาเป็นแบบอย่างของนักพรตเต๋า คือเต้าหยินทั้งหลายก็จะเป็นแบบนี้ และเขาก็มีสไตล์เหมือน "จวงจื้อ" คือถ่อมตน ปล่อยวาง และอยู่กับธรรมชาติ มากกว่า "เล่าจื้อ"

    อีกคนที่ผมชอบมากคือ "ปาฟงหัน" ถึงขนาดที่อยากจะให้หวงอี้แยกไปเขียนเป็นอีกเรื่องต่างหาก เขาเป็นมือสังหารผู้ไร้ใจ และกลายเป็นวีรบุรุษเต็มตัวเพราะได้รับอิทธิพลจาก "โค่วจง" และ "ฉีจื่อหลิง" ทั้งสามคนสาบานเป็นพี่น้องกัน ในที่สุดแล้ว "ปาฟงหัน" ปลดปล่อยตัวเองได้จากความขัดแย้งเรื่องชาติพันธุ์ คือคนรักของเขาเป็นศัตรูทางชนชาติ คือเป็นชาว "ถูเจี๋ย" ซึ่งฆ่าชนเผ่าของเขา แล้วเขาก็ไปท้ารบกับ "ราชันย์บู๊" แต่ในที่สุดเขาก็ยอมไม่ท้าสู้อีกเป็นครั้งที่สาม แสดงว่าเขาปลดเปลื้องตัวเองจากวิถีบู๊ที่เป็นเหมือนชีวิตของเขา ในแง่นี้ "ปาฟงหัน" เหนือกว่า "ดาบสวรรค์ซ่งเสวีย" คือเข้าถึงมรรคาดาบและก็พ้นมรรคาดาบได้ และยังเหนือกว่า "โคว่จง" ด้วยซ้ำไปในความคิดผมนะ เราเห็นชัดเจนมากว่าตอนจบเรื่องนี้ "ปาฟงหัน" เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นคนพูดเล่น พูดตลกได้

    เรื่องนี้มีตัวละครที่ผมชอบหลายคนมาก นี่คือเสน่ห์ของหวงอี้หากเทียบกับเมื่อเราอ่าน "ฤทธิ์มีดสั้น" ก็จะชอบแค่ "อาฮุย" หรือไม่ก็ "ลี้คิมฮวง" แต่ของหวงอี้นี้ผมชอบหลายคนมาก

    อีกคนหนึ่งคือ "คุณชายมากรัก" ที่แปลว่า "มากรัก" นี่น่าจะแปลว่า "มากน้ำใจ" มากกว่าเขาเป็นผู้ที่เข้าถึงความงามพร้อมด้วยศิลปะ เป็นวิธีของศิลปินและ "ตันตระ" เขาจะมองโลกจากมุมมองของความงามโดยเฉพาะความงามของผู้หญิง เขาจะเหมือนเพลย์บอยในอีกความหมายหนึ่งแต่เป็นเพลย์บอยแบบชั้นสูง เพียงแต่บทบาทในเรื่องนี้หวงอี้ให้บทบาทเขาไม่เท่า "ปาฟงหัน" แต่จะเน้นไปในทางบุ๋นซะเยอะกว่า

    ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ "เทพอาถรรพณ์" ผมนิยามว่าเขาเป็น "อัจฉริยะผู้ป่วยใจ" เพราะคนๆ นี้เก่งที่สุด หวงอี้ให้บทบาทเขาถึงขนาดว่าสามารถล้มล้างราชวงศ์ของสุยหยางตี้ได้ คือเป็นขุนนางชั้งสูงและเตรียมการจนจะกลายเป็นฮ่องเต้องค์ต่อไปได้ถ้าหากไม่มี "โค่วจง" กับ "ฉีจื่อหลิง" มากพลิกล็อกวางหมากซ้อน โดยใช้เครือข่ายมาช่วย

    สุดท้ายคนๆ นี้เหมือน "องคุลิมาล" คือดวงตาเห็นธรรม ความป่วยของเขาเกิดจากสองสาเหตุที่บอกแก่ "ฉีจื่อหลิง" อันแรกคือเขาต้องการค้นหาความจริง แต่เขาบอกว่าศาสนาเป็นเรื่องงมงาย ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องสมัยนี้เลย เพราะเรื่องนี้กำลังทำให้คนงมงายอย่างเรื่องที่เกิดขึ้นวันที่ ๑๑ กันยา "เทพอาถรรพณ์" เขามองทุละหมด เขาก็ศึกษาพระธรรมมา ในเรื่องนี้ที่เรียกว่าเป็นฝ่าย "อธรรม" ที่จริงก็มีความหมายว่า "ไม่ติดกรอบ" อย่าไปคิดว่า "อธรรม" นี่คือชั่วร้ายเพียงแต่ว่าเขาไม่เชื่อในธาตุแท้ดีงามของมนุษย์ ผมเข้าใจว่าอย่างนั้นเพราะ "เทพอาถรรพณ์" ต่างกับฝ่ายอธรรมคนอื่นทั้งหมด อันนั้นมันเลวในแง่ของจิตใจ แต่ "เทพอาถรรพณ์" เป็นอัจฉริยะแลเห็นสันดานมนุษย์ แล้วอาจารย์ก็ปลูกฝังมาว่าเมื่อเป็นอัจฉริยะก็น่าจะลงเล่นทางการเมือง คือน่าจะได้นั่งบันลังก์ฮ่องเต้ แต่จุดที่เปลี่ยนเขาก็คือเขาไปหลงรัก "ปี้สิ้วซิน" ที่เป็นศิษย์เอกของ "เรือนฌาณเมตไตรย" แล้ว "ปี้สิ้วซิน" เป็นตัวแทนของความดีงาม สุดท้ายเหมือนกับว่าเป็นการทำร้าย "ปี้สิ้วซิน" จนตายกับมือตัวเอง เลยทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย คือมีสองบุคลิก จนเมื่อลูกสาวยอมเรียกว่าพ่อ ในแง่นี้มันก็มองได้ว่าเรื่องนี้เป็นการต่อสู้กันของพลังธรรมะกับพลังอธรรมของ "เทพอาถรรพณ์" เอง ตั้งแต่เล่ม ๙ ของภาคแรกก็จะผูกเรื่องกับ "เทพอาถรรพณ์" มาตลอด

    "ชอนแชอิม" คนนี้ผมก็ชอบเขานะ เขามีอายุร้อยกว่าปีแล้ว ที่น่าสนใจมากก็คือเขานอนกลางวันแต่ตื่นตอนกลางคืน ชอบดมกำยาน ผมก็ชอบเพราะมันให้ในด้านลึก เขาแสวงหาความสมบูรณ์พร้อมคล้ายกับเรื่อง "จันทร์ในบ่อ" ชอบในศิลปะและราตรีกาล ฐานะของเขาเหมือนกับ "ราษฎรอาวุโส" ในเกาหลี แต่ในที่สุดแล้วก็ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง เพราะจริงๆ เขาก็ไม่ไว้ใจคนจีน (จงหยวน) เพราะแดนจงหยวนเคยไปรุกรานเกาหลีหลายครั้ง แต่ตัวหลานศิษย์ก็คือ "โค่วจง" ได้อธิบายว่า "หลี่ซื่อหมิน" มีความใจกว้างต่อคนชาติอื่นด้วย "ชอนแชอิม" ถึงยอม เพราะตอนแรกเขาคิดว่าความวุ่นวายของจงหยวนก็คือสันติสุขของเกาหลี เรื่องนี้แสดงว่าความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เสียดายที่ "ชอนแชอิม" เขาโผล่ออกมาในเรื่องเล่มท้ายๆ เท่านั้น ตอนที่เขาถกกันเรื่องมองดูดาวและพูดถึงความลับของจักรวาลก็น่าสนใจ กิมย้งไม่ค่อยพูดถึงเรื่องอย่างนี้ในนิยายกำลังภายใน โกวเล้งยิ่งไม่ต้องพูดถึง

    ๔) ผู้หญิงในเรื่องมังกรคู่ฯพูดถึงเรื่องผู้หญิงในมังกรคู่ฯ คนที่ผมชอบจะมีอยู่ ๕ คน ด้วยกัน คนแรกคือ "ซือเฟยเซวียน" หรือ นางเซียนแปลง คนนี้เป็นอุดมคติ คือมันเหมือนกับว่าถ้าหากมีนางฟ้าจุติลงมาจริงๆ ก็คงเป็นแบบเค้านี่แหละ ซึ่ง "ซือเฟยเซวียน" ก็เหมือนกับแม่ชีเพราะว่าเค้าฝักใฝ่ในวิถีแห่งฟ้า แล้ว "ฉีจื่อหลิง" ก็เป็นเหมือนสิ่งสะกิดใจเล็กๆ น้อยๆ ของเค้าในวิถีนี้เท่านั้นเอง

    ฉากที่โรแมนติกที่สุดของเรื่องนี้ก็คือตอนที่ "ฉีจื่อหลิง" บอกรักกับ "ซือเฟยเซวียน" และตอนที่ "ซือเฟยเซียน" บอก "ฉีจื่อหลิง" ว่านอกจากอาจารย์ของเค้าซึ่งเป็นคุรุทางจิตวิญญาณแล้ว ก็มี "ฉีจื่อหลิง" เท่านั้นที่เป็นประสบประการณ์อันตรึงตราที่สุดในชีวิต นี่เป็นคำพูดที่ดีมาก ถ้าผู้ชายคนหนึ่งได้ฟังคำพูดนี้จากปากของผู้หญิงที่สูงส่งขนาดนี้ ก็ถือว่าไม่เสียชาติเกิดแล้ว

    แล้วบทสนทนาการถกปรัชญาในเรื่องนี้ก็น่าสนใจ เพราะตอนที่เค้ารู้ว่า "ฉีจื่อหลิง" หลงรักตน "ซือเฟยเซวียน" ก็ได้เล่านิทานจีนตอนหนึ่งเรื่อง "คนเฝ้าเตา" ซึ่งเป็นนิทานเซนมาสอน "ฉีจื่อหลิง" ซึ่งที่สุดแล้วมันก็เป็นการสู้กันทางความคิดทั้งสิ้นว่าถ้าจะเรียกว่า "การบรรลุธรรม" กับเรื่องมี " ความรัก" นี่อะไรคือจุดเปลี่ยนแปร แต่ตัวของ "ซือเฟยเซวียน" เองก็ต้องเดินทางออกนอกด่านจึงกล้าปลดเปลื้องตัวเองออกจากกรอบของธรรมะ คือกล้ามีประสบการณ์ของความรักอย่างเต็มตัว

    คนที่ชอบต่อมาคือ "วาวา" เค้าเป็นตัวร้าย คล้ายๆ ว่าเราดูได้แต่อย่าสัมผัส แต่เรื่องนี้เค้าไม่ร้ายเท่า "ลิ้มเซียนยี้" ใน "ฤทธิ์มีดสั้น" คือถ้าไม่มี "วาวา" เรื่องนี้จะจืดชืดไปเยอะเลย

    อีกตัวหนึ่งที่ผมชอบมากเลยคือกุนซือหญิง "เสิ่นลั่วเอียน" เค้าเป็นนักวางแผนจะเห็นได้จากตอนแรกๆ ที่เค้าอยู่กับ "หลี่มี่" ผมว่าเค้าฉลาดกว่า "โค่วจง" อีก ถ้ามองในแง่ของการเป็นกุนซือนะ เพราะว่าเค้ารู้ทันสามารถวางแผนดัก "โค่วจง" ได้ และก็ยังมีฉากที่เซ็กส์ซี่คือในฉากที่ "ฉีจื่อหลิง" เข้ามาหานี่ "เสิ่นลั่วเอียน" จะแต่งตัวโป๊มากเพราะผู้หญิงคนนี้เค้ารัก "ฉีจื่อหลิง" มากและก็ยังได้จูบ "ฉีจื่อหลิง" เป็นคนแรกในเรื่องนี้นะ แล้ว "ฉีจื่อหลิง" ก็ยอม ทั้งๆ ที่เค้าเป็นคนที่ไม่สนใจผู้หญิง "เสิ่นลั่วเอียน" เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องความรัก แต่ว่า "ซือเฟยเซวียน" นี่เป็นคนแรกที่ทำให้ "ฉีจื่อหลิง" รู้สึกว่าตนเองมีความรักเป็นครั้งแรกเพราะ "ฉีจื่อหลิง" เขาเหมือน "พระ" ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เขาเป็นคนไม่กระตือรือร้นกับชีวิต อันนี้ต่างกับ "โค่วจง" คือถ้าเขาไม่เจอกับ "โค่วจง" เขาก็ยังคงเป็นอันธพาลอยู่ที่เมืองหยางโจว มีข้าวกินไปวันๆ ก็พอแล้ว

    อีกคนหนึ่งคือ "สั้งสิ้วฟาง" เป็นคนเล่น "กู่เจิง" คนนี้เค้ามีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก ขอแค่ความรักแบบ "ข้ามคืน" กับ "โค่วจง" เพราะชีวิตของเค้านั้นมีอยู่ตอนหนึ่งที่เค้าได้บอกว่าต้องการที่จะเข้าถึงความจริงด้วยศิลปะดนตรี และเค้าก็เป็นคนรักสันติ ในเรื่อง "มังกรคู่ฯ" นี้ผู้หญิงจะเป็นคนรักสันติแทบทุกคน "สั้งสิ้วฟาง" รัก "โค่วจง" เพราะเค้าฝากความหวังไว้กับ "โค่วจง" มากว่า "โค่วจง" จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นและยุติการสู้รบ สงครามที่เกิดขึ้นเพื่อ "โค่วจง" เค้ายอมทุกอย่างได้ แต่ "โค่วจง" นี่ก็มีข้อเสียคือชอบรักสาวไฮโซฯ ดูคล้ายๆ เด็กมีปมด้อย เป็นคนจนแต่อยากไปรักดอกฟ้ามันก็เป็นปัญหาขึ้นมา

    อีกคนหนึ่งคือ "สือชิงเสวียน" คนนี้มีศิลปะอยู่สองอย่างคือ เป่าขลุ่ย และก็เรื่องสมุนไพร เค้าเป็นลูกสาวที่อาภัพของ "เทพอาถรรพณ์" แต่เรื่องดนตรีของเค้านี่เหมือนเป็น "อาณาจักรเซนแห่งคีตากาล" คือเสียงขลุ่ยของ "สือชิงเสวียน" ต่างกับของ "สั้งสิ้วฟาง" เพราะ "สั้งสิ้วฟาง" จะเป็นดนตรีแบบทางโลก แต่ของ "สือชิงเสวียน" นี่จะใช้ขลุ่ยแบบสปิริตชวลมิวสิก (Spiritual music) คือถ่ายทอดความในใจออกมาและก็ให้ลืมเพื่อข้ามพ้น วิชานี้เค้าได้มาจากแม่คือ "ปี้สิ้วซิน" ซึ่งเป็นศิษย์ของ "เรือนฌานเมตไตรย" ในตัวของ "ฉีจื่อหลิง" นี่ถ้าหากไม่มาเจอ "สือชิงเสวียน" ก็คงจะไม่แต่งงาน จะว่าไปแล้ว "สือชิงเสวียน" ก็เหมือนเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ "ซือเฟยเซวียน" ผมว่า "หวงอี้" แต่งได้ดีมากเพราะถ้าหากเขียนให้ "ซือเฟยเซวียน" ทิ้ง "วิถีแห่งฟ้า" และมาแต่งงานกับ "ฉีจื่อหลิง" มันก็ดูไม่สมควร

    ๕) ความรักในมังกรคู่สู้สิบทิศ
    ความรักของเรื่อง "มังกรคู่ฯ" นี่มันจะมีแกนหลักอยู่คืออันแรก ทุกคนผิดหวังหมด ถ้าไปดูจากเล่มแรกมาถึงเล่ม ๑๘ นี่เป็นเหมือนกันหมด เพราะวีรบุรุษนี่ส่วนใหญ่จะ "Lucky in Game" แต่จะ "Unlucky in Love" อีกอันหนึ่งจะเป็นแบบ "Spiritual Love" ของ "ฉีจื่อหลิง" ส่วน "โค่วจง" จะเป็นแบบ "ดอกฟ้ากับยาจก"

    "ซิ่วหนิงกงจู้" นี่เค้าเป็นรักแรกของ "โค่วจง" เค้าเป็นน้องสาวของ "หลี่ซื่อหมิน" และ "โค่วจง" ก็ผิดหวังเพราะในตอนนั้นเขายังไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ก็กลายเป็นพลังผลักดันให้ "โค่วจง" ถีบตัวขึ้นมาเพื่อแข่งกับ "หลี่ซื่อหมิน" ส่วน "ซ่งอี้จื้อ" เป็นพลังที่เหนือกว่าคือทำให้ "โคว่จง" หันกลับมาช่วย "หลี่ซื่อหมิน" แสดงให้เห็นว่าความรักยิ่งใหญ่กว่าอำนาจ

    ยังมีรักอีกอันหนึ่งคือ "รักที่เป็นหนี้รัก" ระหว่าง "โค่วจง" กับ "สั้งสิ้วฟาง" เราต้องเข้าใจว่าบุคลิกแบบ "โค่วจง" ก็ต้องมีเรื่องเช่นนี้ในบางด้าน คนที่เขารักมากที่สุดน่าจะเป็น "สั้งสิ้วฟาง" ถ้าถามผมนะ ในฉากตอนจบมีอยู่ที่กล่าวว่า "สั้งสิ้วฟาง" ได้รอ "โค่วจง" อยู่ตอนที่เวลาผ่านไป ๑๐ ปี แล้วตอนนั้น "โค่วจง" เพิ่งอายุ ๓๖ ปีเท่านั้น

    ๖) การเมืองในเชิงบูรณาการจากเรื่องมังกรคู่สู้สิบทิศ
    คำว่า "บูรณาการการเมือง" หมายความว่าการเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาของชาติโดยพิจารณาปัจจัยสำคัญทุกชนิดทั้งหมดโดยไม่ละเลยปัจจัยไหนเลย นี่คือวิธีเข้าใจการเมืองแบบบูรณาการ อย่างที่เห็นชัดเจนมากคือ "หลี่ซื่อหมิน" เขาใช้คนเก่า บางทีการ "ปฏิรูป" มันดีกว่าการ "ปฏิวัติ" เพราะการ "ปฏิวัติ" มันต้องขุดรากถอนโคนอำนาจเก่า แต่ว่า "หลี่ซื่อหมิน" เขาไม่ได้ทิ้งคนเก่าและใช้คนตามความสามารถ แต่เรื่องนี้หลักการต้องแม่นยำ และมี "วิชั่น" ที่พร้อม

    หลักการในเชิงบูรณาการนี่บังเอิญผมก็สอนในระดับปริญญาเอกในชื่อว่า "ปรัชญาบูรณาการ" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มันมีองค์ประกอบอยู่ ๕ เรื่องด้วยกัน

    อันแรกคือ จตุภาค ของการเข้าใจความจริง ซึ่งมีอยู่ ๔ ภาค ในด้านซ้ายบนกับซ้ายล่าง เขาเรียกว่าด้านใน และด้านซ้ายบนนี้เกี่ยวกับด้านในของจิต ดังนั้นทุกเรื่องของปรากฎการณ์ในโลกนี้จะมี ๔ ด้านเสมอ ด้านในของจิตถ้าเป็นเรื่องการเมืองคือจิตสำนึกของนักการเมืองอยู่ในระดับใด เพราะว่าการค้นคว้าตามหลักวิชาการที่ล่าสุดของทางตะวันตกปัจจุบันจะมีอยู่ ๙ ระดับ แล้วคนทั่วไปจะเฉลี่ยอยู่ในระดับ ๕ ถ้าเป็นผู้นำก็น่าจะอยู่ในระดับ ๖ ที่เรียกว่า Vision Logic ส่วนคนธรรมดานี่เรียกว่า Formal Logic แต่การเมืองไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับ Formal Logic ส่วนอย่างนายกฯ ทักษิณนี่จะอยู่ในระดับ Vision Logic คือสามารถที่จะคิดแบบนอกกรอบได้ และสามารถนำความคิดอันหลากหลายมาผสมกับด้านทฤษฎีได้ ดูที่กุนซือของเขาเช่นคุณพันศักดิ์ก็เป็นแบบ Vision Logic อย่างชัดเจน เพราะ Vision Logic เป็นสุดยอดของระดับภูมิปัญญาแบบโลกียชน ไม่ได้สนใจเรื่อง Make Money อย่างเดียว แต่ว่ามองในเชิงหลักการด้วย ไม่เถรตรงแบบบ้ากฎหมาย หรือตามระบบราชการ เพราะนั่นเป็นระดับแค่ Formal Logic คือระดับ ๕ แต่ระดับที่เป็นยอดคนคือ ๗-๙ อย่าง "ฉีจื่อหลิง" มันข้ามพ้นตัวตน เริ่มเข้าสู่กระแสโลกุตระแล้ว พูดง่ายๆ คือชอบปฏิบัติธรรม

    ด้านซ้ายล่าง เป็นเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม คือความเข้าใจเรื่องความเชื่อ และระบบคุณค่าของคน นักการเมืองที่ประสบความสำเร็จต้องเข้าใจเรื่องนี้ เช่น ค่านิยมคืออะไร ผู้คนที่มารวมตัวกันได้นี่มันมีระบบความเชื่อค่านิยมร่วมกัน ก็ต้องเข้าใจในประเด็นนี้โดยไม่ละเลย

    ด้านขวาบน คือการเข้าใจพฤติกรรมจากภายนอก เป็นพฤติกรรมของปัจเจกจากภายนอก แล้วขวาล่างนี่เป็นเรื่องของระบบ คนที่เข้าใจการเมืองโดยที่ไม่เข้าใจระบบเขาจะเข้าถึงความจริงได้เพียง ๑ ใน ๔ เท่านั้นเอง แต่การเข้าใจความจริงนี่เราต้องรู้ทั้งด้านใน ระดับปัจเจก ระดับรวมหมู่ ส่วนที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์นี่คือด้านขวาบนและขวาล่างที่เรียกว่า "It Language" หรือ "ภาษามัน" คือการวิเคราะห์ในเชิงภาวะวิสัย แต่การวิเคราะห์ความจริงในเชิงอัตวิสัยมันเป็นด้านซ้ายบนกับซ้ายล่าง แล้วศาสตร์แบบองค์รวมนี่จะต้องครบทั้งสี่ด้านมันจึงจะสามารถเป็นนโยบายชั้นสูงและสามารถดึงคนได้ ไม่เช่นนั้นมันจะล้มเหลว

    เราก็เอามาดูว่านโยบายที่ถกเถียงกันในแต่ละเรื่องนี่มันครอบคลุมทุกปัจจัยไหม ถ้าสนใจเฉพาะเรื่องระบบ มันก็ไม่ครบ อย่างปัญหาเรื่องการปฏิรูประบบราชการนี่ไง มันเกี่ยวกับความเชื่อค่านิยมที่ล้าหลัง จิตสำนึกของข้าราชการ และยังมีพฤติกรรมของนักการเมืองซึ่ง เราจะควบคุมอย่างไรและทำให้เกิดเป็น "ธรรมาภิบาล" ได้ในภาพรวม

    เรื่องที่ ๒ คือเรื่องของ Level หรือ ระดับการเข้าใจในการแก้ปัญหานี่ เนื่องจากว่าปัญหาเกิดจากหลายสาเหตุ ประการแรกในสังคมที่เราอยู่กันนี่มีระดับจิตของคนที่หลากหลาย ลองดูตัวอย่างจากภาพยนตร์เรื่อง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ นี่ก็จะเห็นชัดเจน มีคนเชื่อเรื่องพญานาค มีคนเชื่อแบบนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะทำให้เรื่องการแก้ปัญหามีความซับซ้อน เพราะว่ามันสื่อสารกันไม่ได้ มันเป็นคนละ "วาทกรรม" คล้ายๆ กับว่า "วาทกรรม" เกิดขึ้นมาจากการที่ระดับจิตไม่เท่ากัน ถ้ามีระดับจิตห่างกันเกินกว่าหนึ่งชั้นก็จะมีปัญหามาก อย่างเช่นความขัดแย้งเรื่อง "๑๑กันยา" ในอเมริกาเกิดขึ้นก็เพราะเหตุผลนี้ มีระดับจิตที่ห่างกันประมาณ ๒-๓ ชั้น เขาเรียกว่าระดับแถบสี คือมันจะแบ่งระดับจิตเป็นสีๆ คือ สีเบต ม่วง แดง น้ำเงิน ส้ม สีส้มนี่คือชนชั้นกลางในเมืองไทยคือจะสนใจเรื่อง Make Money และสีเขียว ก็คือพวก NGO แต่ในอเมริกานี่เขาออกสีส้มอมเขียว ส่วนอัฟกานิสถานหรือตาลีบันนี่ยังสีแดงอยู่ สีแดงหมายถึงยังอยู่กับเรื่องในปัจจุบัน เฉพาะหน้า คือต้องเอาชีวิตรอดก่อน และไม่คิดหน้าคิดหลัง ระดับที่ห่างกันอย่างนี้ถึงทำการก่อการร้ายได้ และก็แก้ปัญหาไม่ได้ มันเกิดเป็น Clash of Civilization แน่นอน ความต่างกันในเรื่องความขัดแย้งในระดับจิตนี่ต้องให้มีช่องว่างเหลือไม่เกิน ๑ ชั้น และทำอย่างไรให้นโยบายนี้มันมีความหลากหลาย คือให้มันผ่านไปได้

    แต่สังคมไทยเราเป็นแบบ ๒ สังคม คุณทักษิณก็รู้ดีในเรื่องนี้ ดังนั้นการปฏิรูปสังคมก็คือการทำอย่างไรให้ระดับชั้นทางจิตไม่แตกต่างกันมาก เพราะคนที่นำนี่ต้องระดับเป็นสีเขียว คือเป็นแบบโลกาภิวัฒน์ที่เข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย การเข้าใจอย่างนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากในแง่ของการเมือง ถ้าเอามาเชื่อมโยงกับเรื่อง "มังกรคู่ฯ" ก็คือ วิธีคิดของ "หลี่ซื่อหมิน" ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดก็คือในเรื่องนโยบายการต่างประเทศ อันอื่นผมดูแล้วก็ไม่โดดเด่นเท่าไหร่ แต่หลังจาก "หลี่ซื่อหมิน" มาแล้วก็แก้ปัญหากันไม่ได้ เพราะว่าในอดีตที่ผ่านมาพันกว่าปียังแก้ไม่ได้ ในปัจจุบันเรายังแก้ไม่ได้เลยคือเรื่องความรุนแรงระหว่างชาติพันธุ์ ผมว่าน่าจะอีกประมาณ ๒๐๐ ปี ถ้าหากเศรษฐกิจนี่ถึงขั้นทำให้คนอยู่ดีกินดีมันถึงจะแก้ได้

    ประการที่ ๓ ต้องเข้าใจเรื่อง Line คือ สภาวะทางจิต หรือระดับทางจิตวิทยา มันจะมีเส้นวิวัฒนาการทางจิตอยู่ประมาณ ๒๑ เส้นด้วยกัน ในนั้นมีเส้นหลักๆ อยู่ ๑๐ เส้น เช่นเรื่องของ Emotion, Moral , Interpersonal และ Intrapersonal คืออารมณ์ ระดับของศีลธรรม ความสามารถในการสื่อสารกับคนอื่น และความสามารถในการเข้าใจตนเอง ถ้าทั้ง ๔ อย่างนี้ขาดความสมดุลย์จะมีปัญหามาก และนักการเมืองที่เราเห็นก็คือเขามีปัญหาเรื่อง Moral มาก หรือไม่มีความสามารถในการถ่ายทอดให้คนเข้าใจเป็นต้น เราจะใช้เรื่องเหล่านี้ในการวิเคราะห์คน

    ประการที่ ๔ เรื่อง Stage คือภาวะทางจิต และอารมณ์ คือคนจะทำงานสำเร็จในยามตื่นนี่เขาตื่นตัวได้แค่ไหน หรือปลุกเร้าตัวเองได้ไหม มีไฟเต็มร้อย หรือว่าเฉื่อยชา ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์

    เรื่องที่ ๕ Type หรือเรื่อง ประเภทของคน เพราะวิธีคิดของผู้ชายและผู้หญิงไม่เหมือนกัน ผู้ชายนี่ชอบอัตโนมัติ อิสระ ส่วนผู้หญิงชอบแบบแครริ่ง คือความผูกพันธ์ เอาใจใส่ เพราะฉะนั้นนโยบายแบบองค์รวมต้องเข้าใจวิธีคิดแบบผู้ชายและผู้หญิงด้วย นี่ยังไม่ได้นับประเภทของ Kind of Knowing ที่มี ๓ ประเภท ของการเข้าใจแบบเป็นเหตุเป็นผลคือ Prerational , Rational และTransrational เพราะฉะนั้นถ้าภาษาไม่เหมือนกันจะคุยกันไม่รู้เรื่อง และที่สุดยอดก็คือแบบ Transrational เพราะลักษณะวิวัฒนาการทางจิตนี่จะถึงขั้นก้าวข้ามและหลอมรวม

    ดังนั้นถ้าคุณเข้าใจบูรณาการในมุมมอง ๕ ประการนี้คุณก็สามารถวิเคราะห์ได้เกือบทุกเรื่อง และจะเห็นได้ชัดเจนว่าปัญหาอยู่ที่ไหน

    ความเป็น "หลี่ซื่อหมิน" ของคุณทักษิณ ประการแรกเราต้องยอมรับว่าเขาสร้างปรากฎการณ์ใหม่ๆ ขึ้นในเมืองไทยหลายอย่าง เราจะวิจารณ์ว่าเค้าผูกขาดอำนาจนี่ผมไม่เห็นด้วย เพราะว่าอย่าง "หลี่ซื่อหมิน" เข้าขึ้นครองอำนาจเราต้องดูนโยบายของเขาว่ามันได้ผลไหม หรือทักษิณโนมิค ๖ เรื่องของทักษิณมันได้ผลหรือเปล่า หรือได้ผลแต่มีผลกระทบในแง่ไหน ในระยะยาวถ้าแผนนี้ดำเนินการไปได้ถึง ๘ - ๑๒ ปีแล้วจะมีผลเลวร้ายที่เกิดขึ้นตามมาหรือเปล่า ถ้าหากว่าเขาใช้ประชานิยมในระดับ Globalization นี่ผมก็ไม่เห็นด้วยนะ แต่เข้าใจว่าเขาคงใช้ในระดับรากหญ้าเพื่อแก้ปัญหาภายในประเทศเป็นต้น ผมเองค่อนข้างแฮปปี้กับเขานะ ในการเมืองรอบ ๓๐ ปีที่ผ่านมา ถ้าเราเป็นนายกฯ ก็คงทำไม่ได้มากเท่ากับเขาในเงื่อนไขขนาดนี้ เพราะสิ่งที่เขาทำนี่เราคิดกันมาก่อนแล้ว

    แต่อยากจะเตือนว่าต้องไม่ระแวงคน พออยู่กับอำนาจนานที่ตามมาก็คือความหวาดระแวง และความหลงตัวเอง วิธีที่ดีที่สุดก็คือ เขาต้องมีทีมงาน อย่างตัว "หลี่ซื่อหมิน" ก็ยังมีคนที่กล้าแย้งเขาดังนั้นคุณทักษิณก็ต้องมีคนที่กล้าแย้ง ไม่เกรงใจเขากล้าบอกว่าท่านผิด คืออยากให้คุณทักษิณใจกว้างๆ สักหน่อย อย่าไประแวง แต่ความสามารถในการสื่อสารเขาดีมาก

    (จากนิตยสารอาทิตย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 1250 วันที่ 9-15 ธ.ค. 2545)
     
  2. weirchai

    weirchai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 มีนาคม 2006
    โพสต์:
    381
    ค่าพลัง:
    +1,411
    เรื่องนี้ผมก้อดูนะ สนุกดี ที่ดูเพราะว่าตัวละครน่ารักดี โดยเฉพาะนางเอก น่ารักอ่า อยากดูอยากดู คอหนังจีนนะเนี้ยผม เรื่อง8เทพอสูรมังกรฟ้าก้อเหมาะดีนะ นางเอกนี่โครตน่ารักเลย แต่อมตะหนังจีนต้องนี่เลย มังกรหยก สุดยอด
    พอแระไปกันใหญ่แหละเรา นุกหนาน
     
  3. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,015
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ทุกเรื่องที่คุณเล่ามา ผมชอบดูทั้งนั้นเลยครับ 555
     
  4. ผู้เฒ่าเทียนซาน

    ผู้เฒ่าเทียนซาน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 ธันวาคม 2006
    โพสต์:
    117
    ค่าพลัง:
    +221
  5. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,015
    ค่าพลัง:
    +17,915
    ผมก็จะรอดูเหมือนกันครับ ^_^
     
  6. Forest_Sa

    Forest_Sa เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    722
    ค่าพลัง:
    +1,444
    น่ารัก จิงๆ ด้วยแฮะ
     
  7. Forest_Sa

    Forest_Sa เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    722
    ค่าพลัง:
    +1,444
    ดาบมังกรหยก ช่อง 3 อวสาน วันที่ 5 ม.ค. 50 อย่าพลาด
     
  8. okilu220

    okilu220 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    293
    ค่าพลัง:
    +2,090
    8เทพอสูรมังกรฟ้าจิครับ นางเอกน่ารักมากเลย ได้ข่าวว่าจะแสดงเป็นเซียวเล่งนึ้ง(มังกรหยก2)ด้วย อยากดูๆๆ แต่เอี้ยก่วยภาคนี้ไม่หล่อเท่าภาคก่อนเลยเน๊าะ ภาคก่อนจำชื่อไม่ได้เหมือนกันว่าใครแสดง แต่ตอนนั้น โครตหล่อโครตเท่ห์(แต่แขนขาด)
     
  9. FATAL_FRAME

    FATAL_FRAME เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 มีนาคม 2006
    โพสต์:
    808
    ค่าพลัง:
    +3,990
    ยอมรับว่า หวงอี้ สร้างมหากาพย์เรื่องนี้ไว้ยอดเยี่ยมมาก รวมทั้ง หารายละเอียดข้อมูลไว้สำหร้บเขียนไว้มากเหมือนกัน

    แต่ จุดอ่อน ของเรื่องนี้ ที่ผมเห็นว่า เขาใส่รายละเอียดมากไป มีเท่าไหร่ใส่ให้หมด ซึ่ง ไปใส่ใจกับ รายละเอียดปลีกย่อย แต่ไม่ใส่ใจรายละเอียดใหญ่แทน

    อย่างเช่น ตอนที่ จะเข้ายึดกองกำลัง ที่เสียนอู่ ของ หลี่ซื่อหมิง กับ โค่วจง ถ้าไปลองอ่านดูจะ งงกับตัวละคร ช่วงนี้มากๆ มากเกินไป

    ส่วนที่น่าจะใส่รายละเอียด เข้าไปมากหน่อย อย่างช่วงใก้ลจบของเรื่อง เหมือนตัดจบยังไงไม่รู้

    แล้วตอนบุกผจญภัยนอกด่าน อีก เหมือนเป็น มังกรคู่ ภาคพิสดาร เลย


    ตัวละคร ของ โค่วจง มีมิติมั่วไปหมด ขณะที่ ฉีจื่อหลิงก็ มิติน้อยเกินไป
    แต่เรื่อง สัจธรรม ปรัชญา ของมังกรคู่ นั้นยอมรับว่าใส่เติมแต่งได้ยอดเยี่ยมจริงๆ
     
  10. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,015
    ค่าพลัง:
    +17,915
    นางเอกที่น่ารักๆนะ หลิวอี้เฟยครับ /เดี๋ยวจะโพสให้ดูชมกันถึงความงามของเธอคนนี้
     

แชร์หน้านี้

Loading...