เขายักษ์ แหล่งภาพสลักพระศิวะกลางป่าตาพระยา

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย MBNY, 12 พฤศจิกายน 2005.

  1. MBNY

    MBNY Administrator ทีมงาน Administrator

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กรกฎาคม 2003
    โพสต์:
    6,864
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +22,511

    <CENTER>[​IMG]

    รูปสลักพระศิวะ หรือไม่เช่นนั้นก็คงเป็นนักพรตแห่งไศวนิกาย </CENTER>
    ต้นฤดูฝน พฤษภาคม ๒๕๓๓
    ในปี ๒๕๓๓ การที่กองบรรณาธิการ วารสารเมืองโบราณ (นำโดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม) จะเดินทางเข้าไปสำรวจปราสาทหินตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชาประชาธิปไตยนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
    ขั้นตอนเริ่มต้นตั้งแต่ที่กรุงเทพฯ คือให้ทางต้นสังกัดติดต่อประสานงานล่วงหน้ากับหน่วยทหารในพื้นที่เสียก่อน เมื่อเข้าในพื้นที่ก็ต้องไปแสดงตัวกับฝ่ายกิจการพลเรือนของกองกำลังบูรพา (ค่ายทับองค์ดำ) เพื่อติดต่อเรื่องรถนำขบวนและการคุ้มกัน
    และด้วยการประสานงานของคุณปิยะพร กัญชนะ บรรณาธิการบริหาร (ขณะนั้น) ก็ทำให้ทีม เมืองโบราณ ได้รับการต้อนรับราวกับคณะวีไอพี มีกำลังทหารคอยติดตามอารักขาอย่างใกล้ชิด
    เช่นการจะเดินทางไปยังปราสาทสดกก๊อกธม ก็จะมีรถจี๊ปทหารมาดักรอรับที่ปากทางแยกไปอำเภอตาพระยา เพื่อนำทางเข้าสู่เขตอำเภอตาพระยา แล้วรถตู้ของเมืองโบราณก็ต้องแล่นตามรถทหาร ผ่านหมู่บ้านหลายแห่ง ทุ่งนา และค่ายทหาร ไปจนถึงทางแยกเข้าปราสาทสด๊กก๊อกธม
    จากนั้นต้องแวะรับหน่วยคุ้มกันเพิ่มเติมจากกองร้อยทหารพรานที่ ๑๑๐๕ ซึ่งมีฐานปฏิบัติการอยู่แถวนั้น แล้วเข้าสู่ตัวปราสาทสด๊กก๊อกธม ซึ่งยังคงปกคลุมด้วยป่า

    <CENTER>[​IMG]

    ภาพถ่ายเก่าของภาพสลักที่เขายักษ์ ราวปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ที่เคยลงตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๓ (กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๓๓๗) </CENTER>
    ก่อนหน้านี้ มีเพื่อนฝูงในกรมศิลปากรที่เคยเดินทางเข้าไปสำรวจในเขตตาพระยานำภาพถ่ายสิ่งที่ดูเหมือนรอยสลักรูปฤาษี (หรือพระศิวะ ?) บนแผ่นหินมาให้ดู และว่าชาวบ้านเรียกหินก้อนนั้นว่า "เขายักษ์"
    การค้นพบนี้นับเป็นเรี่องแปลกใหม่ที่น่าสนใจยิ่ง ดังนั้น นอกจากปราสาทเขมรตามแนวชายแดน ในการเดินทางหนนั้น จุดมุ่งหมายสำคัญอย่างหนึ่งของทีม เมืองโบราณ ก็คือการเข้าไปถ่ายภาพรูปสลักหินที่เขายักษ์ ซึ่งจากการประสานงานล่วงหน้า ก็ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาใดๆ

    หลังจากเสร็จสิ้นการถ่ายภาพปราสาทสด๊กก๊อกธมตอนบ่ายสามโมงกว่า ทหารที่นำทางมาก็พาเราเดินทางต่อจนถึงบ้านใหม่ไทยถาวร ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา มีทางลูกรังแยกเข้าไปทางซ้ายมือ
    เข้าไปได้ราว ๗ กิโลเมตร เห็นเขายักษ์อยู่ทางด้านขวา รถเล่นเลยเข้าไปจนถึงค่ายฝึกทหารที่อยู่ในหุบเขาตอนห้าโมงเย็น นายทหารที่นำเราไปเข้าไปประสานกับทหารในค่ายแห่งนั้นพักหนึ่ง แล้วกลับออกมาแจ้งว่า ไม่สามารถอนุญาตให้เราเข้าไปยังบริเวณที่มีภาพสลักได้ เพราะเป็นเวลาเย็นแล้ว อาจไม่ปลอดภัย อีกทั้งในเขตนั้นเป็นบริเวณหวงห้าม ซึ่งเราก็ไม่มีทางอื่น นอกจากยอมตามกลับออกมาโดยดี
    หากแต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้สึกแปลกใจก็คือ ในค่ายแห่งนี้เต็มไปด้วยป้ายภาษาเขมร
    ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๓ กรกฎาคม - กันยายน ๒๕๓๓ จึงมีแต่เพียงรูปของภาพสลักเขายักษ์ที่ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจากมิตรในกรมศิลปากร ลงไว้ที่หน้า ๕๘

    <CENTER>[​IMG]

    ภาพขยายส่วนใบหน้าของรูปสลัก จะสังเกตเห็นมวยผม ดวงตาที่ปิดหนวดเครา และติ่งหูที่ยานลงมาจนถึงไหล่ </CENTER>
    ปลายฤดูฝน กันยายน ๒๕๔๗
    สิบสี่ปีให้หลัง สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง พื้นที่ครึ่งหนึ่งของปราจีนบุรีที่ติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชาแยกตัวมาตั้งเป็นจังหวัดสระแก้วตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๖ สภาวะสงครามตามแนวชายแดนยุติลง สระแก้วกลายเป็นจังหวัดชายแดนที่มีการค้าคึกคัก บริเวณเขายักษ์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเขตหวงห้ามกลับกลายเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติตาพระยา ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งภาพสลักที่เขายักษ์ก็เริ่มเป็นที่รู้จักกันผ่านสื่อต่างๆ ทางกองบรรณาธิการ วารสารเมืองโบราณ จึงตั้งใจจะเดินทางเข้าไปสำรวจถ่ายภาพเขายักษ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อชำระสะสางสิ่งที่เคยติดค้างคาใจ

    เช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว เราเข้าไปติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำทางไปเขายักษ์ยังที่ทำการของอุทยานแห่งชาติตาพระยา ในตอนบ่ายแก่ๆ เนื่องจากได้ข้อมูลมาว่าภาพสลักที่นั่นหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ดังนั้นจึงควรเข้าไปถึงในช่วงเวลาที่แสงส่องเข้าทางด้านหน้า เพื่อสะดวกแก่การถ่ายภาพ
    บางคนในทีมจำได้ว่า ที่ตั้งของสำนักงานอุทยานแห่งชาติตาพระยานี้ ก็คือที่ตั้งกองบัญชาการค่ายทหารที่เราเคยมาติดต่อเมื่อสิบกว่าปีก่อนนั่นเอง

    ทางอุทยานฯ เอื้อเฟื้อรถขับกระบะเคลื่อนสี่ล้อให้หนึ่งคัน พร้อมเจ้าหน้าที่ในชุดลายพรางอีกสามนาย คนหนึ่งเป็นคนขับ อีกสองตามไปอารักขา มีปืนกลอัตโนมัติ M -16 และ HK - 11 เป็นอาวุธประจำกาย
    ทางเข้าไปเขายักษ์จะเป็นทางแยกที่อยู่ก่อนถึงตัวที่ทำการอุทยานฯ (ถ้ามาตามเส้นทาง ๓๔๘ จากสระแก้วจะไปบุรีรัมย์) ปากทางมีป้ายทางเข้า "หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติตาพระยาที่ ๔ (กลางดง)"
    ทางช่วงแรกเป็นถนนลูกรัง สภาพดี เห็นป้ายปักบอกระยะทางว่า เขายักษ์ ๖.๕ กม.
    หลังจากผ่านด่านของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ไปอีกพักหนึ่ง จะมีทางแยกขวา ปักป้ายว่า เขายักษ์ ๑ กม. ทางช่วงนี้ไม่มีถนน เป็นเพียงรอยล้อรถวิ่งคดเคี้ยวเข้าไปในป่า บางช่วงเป็นแอ่งโคลน ต้องหยุดรถเอาท่อนไม้โยนลงไปถมร่องเสียก่อน เจ้าหน้าที่อุทยานเสริมว่าเมื่อไม่นานมานี้เคยพาคณะถ่ายสารคดีเข้ามาติดหล่มตรงนี้
    ระยะทาง ๑ กิโลเมตรนั้นมาสิ้นสุดที่ลานโล่งเล็กๆ กลางป่า จากตรงนี้ ต้องเดินเท้าต่อเข้าไปอีกพักหนึ่ง จึงจะถึงเขายักษ์ อันเป็นจุดหมายปลายทางของเรา

    <CENTER>[​IMG]

    ภาพสลักพระศิวะ กลางป่าตาพระยา </CENTER>
    เมื่อเข้าไปถึง พบว่าโขดหินที่มีภาพสลัก มีความสูงประมาณ ๒ เมตร ตั้งอยู่เพียงลำพัง ทางด้านหน้าเป็นแอ่งน้ำเล็กๆ บนโขดหินสลักภาพลายเส้นเป็นรูปบุคคลนั่งในท่ามหาราชลีลาสนะ (คือชันเข่าข้างขวาขึ้น ขาซ้ายพับราบกับพื้น) มีหนวดมีเครา เกล้าผมมวย (ชฎามกุฎ) พาดสายยัชโญปวีต (สายธุรำ) เป็นแถบกว้างจากบ่าซ้ายลงมาทางเอวด้านขวา มือขวาถือวัตถุบางอย่าง (ลูกประคำ ?) มือซ้ายวางที่หัวเข่าซ้าย เท้าเปล่า ติดกับไหล่ซ้ายมีตรีศูล (สามง่าม) ตั้งวางไว้
    แม้หินที่มีภาพสลักนี้จะหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ใกล้เคียงกับข้อมูลที่ได้รับมา แต่เนื่องจากมีต้นไม้ขึ้นบังอยู่ในทิศนั้น จึงกลับกลายเป็นว่าแสงแดดส่องลงมาไม่ถึง ทั้งยังมีไลเคนขึ้นทั่วไปบนผิวหน้าหิน เป็นปัญหาสำหรับช่างภาพพอสมควร
    บริเวณที่ตั้งของโขดหินนี้เป็นพื้นราบ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ อธิบายว่า ที่เรียกว่า "เขายักษ์" นั้นอยู่ถัดไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเคยมีคนไปขุดหาของโบราณ เช่นถ้วยชามต่างๆ บนเขาด้วย รวมทั้งยังเล่าว่า เคยมีพรานเก่าในแถบนี้กล่าวถึงโขดหินสลักภาพทำนองนี้อีกสามแห่ง แต่ทางเจ้าหน้าที่เคยออกสำรวจดูก็ยังหาไม่พบ
    เรื่องเล่านี้ยังมีไปจนถึงว่าในระหว่างที่บริเวณนี้เป็นค่ายฝึกทหารเขมร เคยมีความพยายามนำเอาเฮลิคอปเตอร์มายกหินชิ้นนี้ไป แต่ก็ไม่สำเร็จ

    จากการสังเกตเบื้องต้น สันนิษฐานว่าภาพสลักนี้อาจเป็นรูปพระศิวะ โดยเหตุที่มีเพศเป็นฤาษี คือไว้ผมมวย ถือประคำ และปรากฏตรีศูลซึ่งเป็นอาวุธของพระศิวะด้วย หรือไม่เช่นนั้น ก็อาจเป็นภาพของฤาษีผู้บำเพ็ญเพียรในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกายที่นับถือพระศิวะก็เป็นได้
    ส่วนชาวบ้านแถบนี้แต่เดิมแลดูว่าภาพนี้เป็นยักษ์ จึงเรียกกันต่อๆ มาว่า "เขายักษ์"
    ส่วนในด้านรูปแบบศิลปะหรืออายุสมัย ผู้รายงานยังไม่อาจกำหนดได้แน่นอนนัก เพียงแต่ขอตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ว่า แม้การภาพสลักที่เขายักษ์นี้อาจแลดูคล้ายกับภาพฤาษีในศิลปะจามรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ หรือการแสดงภาพบุคคลชั้นสูงในท่าประทับนั่งแบบมหาราชลีลานี้ค่อนข้างเป็นที่นิยมกันในศิลปะจามรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ แต่รูปพรรณของพระศิวะที่เขายักษ์นี้ก็ค่อนข้างเป็นแบบพื้นเมือง (หรือ "แบบชาวบ้าน") มากกว่าที่จะสามารถเทียบเคียงกับศิลปะจามหรือศิลปะเขมรได้โดยตรง ดังนั้น เรื่องนี้คงต้องฝากไว้ให้นักวิชาการด้านประติมานวิทยา หรือนักประวัติศาสตร์ศิลปะให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อไปด้วย
    ประเพณีในการดัดแปลงสภาพภูมิประเทศตามธรรมชาติให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ พบว่ามีต่อเนื่องมาอย่างยาวนานในดินแดนประเทศไทย นับตั้งแต่บรรดาภาพเขียนสีตามผนังถ้ำและเพิงผาที่มีพบทั่วไปในทุกภูมิภาค มาจนในสมัยต่อๆ มา เช่นในวัฒนธรรมทวารวดีที่นับถือพระพุทธศาสนา เราก็พบการสลักภาพพระพุทธรูปตามถ้ำหลายแห่ง เช่นกลุ่มถ้ำในเทือกเขางู จังหวัดราชบุรี ภาพพระพุทธไสยาสน์ที่จังหวัดขอนแก่นและกาฬสินธุ์ หรือภาพสลักพระพุทธรูปในบริเวณพระพุทธบาทบัวบก - พระพุทธบาทบัวบาน จังหวัดอุดรธานี
    หรือตัวอย่างในสายวัฒนธรรมเขมร - ฮินดู ก็ได้แก่ภาพสลักรูปบุรุษและสตรี ที่หน้าผามออีแดง จังหวัดศรีสะเกษ รูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ในลำโดมใหญ่ ที่น้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี หรือหากจะขยายขอบเขตต่อออกไปอีก ก็เช่นภาพสลักศิวลึงค์พันองค์และเทพเจ้าฮินดูในธารน้ำที่กบาลสเปียน และพนมกุเลน ใกล้เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา
    ภาพสลักพระศิวะในปางบำเพ็ญพรตที่มีผู้ศรัทธามาแกะสลักไว้บนโขดหินลูกนี้ คงมิได้เป็นธุดงคสถานที่อยู่ลำพังโดดเดี่ยว หากแต่ต้องเชื่อมโยงกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เป็นเครือข่ายของการจาริกแสวงบุญที่สำคัญแห่งหนึ่งในย่านนี้นับแต่อดีต เช่นที่มีการกล่าวกันว่าในเขตเทือกเขาบริเวณนี้ยังมีปราสาทหินตกสำรวจอยู่อีกหลายแห่ง ซึ่งเรื่องนี้คงต้องมีการสำรวจทางโบราณคดีและภูมิศาสตร์ในบริเวณโดยรอบอย่างละเอียดต่อไป

    ขอขอบคุณ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ตาพระยา (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) รวมถึงขอถือโอกาสนี้ขอบคุณในความเอื้อเฟื้อของทหารจากกองกำลังบูรพา เมื่อครั้งปี ๒๕๓๓ ไว้อีกครั้งหนึ่ง ณ ที่นี้

    <CENTER>[​IMG]

    บรรยากาศในการบันทึกภาพเขา</CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER> </CENTER>
    ศรัณย์ ทองปาน : รายงาน
    ประเวช ตันตราภิรมย์ : ภาพ

    วารสารเมืองโบราณ​
     
  2. Attawat_Rx

    Attawat_Rx เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กันยายน 2005
    โพสต์:
    2,183
    ค่าพลัง:
    +18,403
    อืม...ครับ
     
  3. PyDE

    PyDE เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 พฤษภาคม 2005
    โพสต์:
    811
    ค่าพลัง:
    +1,318
    ไม่เคยได้ยินเลย สวยดีครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...