อ่านกายเข้าไปรู้จิตที่สงบ (ก.เขาสวนหลวง)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 1 สิงหาคม 2012.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]


    อ่านกายเข้าไปรู้จิตที่สงบ

    โดย ท่าน ก.เขาสวนหลวง


    สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง จ.ราชบุรี


    เช้าวันที่ 11 กรกฎาคม 2519



    วันนี้เป็นวันพิเศษ ผู้ที่มีความประสงค์จะมาประพฤติปฏิบัติตลอดไตรมาส ก็จะต้องมีการ ประพฤติปฏิบัติให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น ผู้ปฏิบัติประจำก็เหมือนกัน สำหรับวันนี้ขอให้พยายามปฏิบัติด้วยความเด็ดขาด ต้องควบคุมเรื่องกายเรื่องวาจาและเรื่องจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติให้รอบคอบแล้ว ก็จะมีความด่างพร้อย หรือศีลจะไม่มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้นมาได้ และการปฏิบัตินี้ต้องอดทนต่อสู้หลายๆ อย่าง เพราะการอดทนจะทำให้เกิดสติปัญญาขึ้นมารู้จักพิจารณาเลือกเฟ้น แล้วการสำรวมก็ต้องมีพร้อมอยู่

    การมีศีลตามรอยของพระเป็นของที่ประเสริฐแล้ว แต่ว่าต้องทำให้จริงศีลจึงจะบริสุทธิ์ได้ แล้วก็เรื่องการสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ที่เรียกว่า อินทรียสังวรศีล ก็เป็นศีลละเอียดกว่าศีล 5 หรือศีล 8 หรือศีล 10 เพราะว่า ศีลทุกข้อจะบริสุทธิ์ได้ก็เพราะการสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าอินทรียสังวรศีล ขอให้พยายามให้มากในเรื่องนี้ แล้วข้องดเว้นอะไรตามหลักของข้อกติกา หรือว่าที่จะงดเว้นของเสพติดอะไรทั้งหมด ต้องทำจริงทั้งนั้นเลย

    การงดพูดเดรัจฉานกถาก็ขอให้พยายามงดเว้นให้ครบถ้วนให้ได้ จะพูดจาอะไรก็ต้องพูดในสิ่งที่จำเป็น เราจะทำให้เป็นประโยชน์จริงๆ ของเราเองด้วยกันทุกคน ต้องสำรวมทั้งนั้น และต้องอดทนต่อสู้กิเลสอะไรหลายๆ อย่างที่มันจะมาขัดขวาง ซึ่งต้องอาศัยการตั้งสัจจะด้วย เพราะว่าถ้าไม่ตั้งสัจจะแล้วตอนปลายๆ มันจะโลเล

    กิเลสมันร้ายเหลือเกินมันมาคอยชักพาอ้างเหตุผลให้ทำอะไรโลเลไปหลายๆ อย่าง ถ้าเราไม่พยายามพิจารณาตัวเองให้จริงๆ แล้วละก็จะเอาตัวไม่รอด เพราะกิเลสมันรอบข้างมันก็มีเหตุผลอะไรถูกต้องไปตามภาษาของมันเหมือนกัน ต้องเชื่อพระนะ ต้องละต้องเว้นให้เป็นการทำจริง ต้องอดทนและข่มใจมีการเสียสละ ซึ่งจะเสียสละกิเลสประเภทไหนก็ได้ทั้งนั้น ถ้าไม่เสียสละแล้วไม่ได้ มันจะยิ่งทำให้สูญเสียจิตใจของตัวเอง คือ ว่ามันจะเศร้าหมองไป

    และการเศร้าหมองนี้ขอให้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต เพราะเมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว มันทุกข์มันร้อน ก็รู้กันอยู่ในใจทุกคนแล้ว การที่จะควบคุมจึงเป็นข้อปฏิบัติที่น่าสนใจอย่างยิ่งถ้าเราไม่พยายามควบคุมให้ดีๆ แล้วกิเลสจะมาโจมตีเอาง่ายๆ

    ในเรื่องของอินทรียสังวรศีลต้องยืนหลักปกติเป็นพื้น เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียงอะไรมันจะได้ไม่ออกไปพอใจหรือไม่พอใจ แล้วความเป็นกลางของจิตจะต้องมีให้มาก ความเผลอเพลินจะได้น้อย เราต้องพยายามทำจริงด้วยกันทุกคนตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือว่าให้ เพียรเผากิเลสอยู่ทุกอิริยาบถ นี่เป็นข้อปฏิบัติรวมหมดเลย ไม่ว่าใครจะต้องอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องนี้ให้มาก เพราะถ้าไม่เพียรเผากิเลสทุกอิริยาบถแล้ว เราตรวจดูซิว่าจิตสงบหรือไม่สงบ กิเลสนี่รอบข้าง มันเผลอไผลในขณะที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง มันเคยชินกันมาทั้งนั้น เพราะไม่ได้สำรวมไม่ได้ระวัง แล้วข้อปฏิบัติมันต้องรวมเข้ามารู้ทีเดียว รู้จิตใจของตัวเองในการที่จะรับอารมณ์หรือรับผัสสะ ยืนหลักปกติได้ ความเผลอเพลินน้อย ความชอบไม่ชอบน้อยลง

    นี่เป็นข้อปฏิบัติที่เราจะต้องรวบรัดเอามาประพฤติปฏิบัติกันประจำวันนี้ ซึ่งจะต้องมีการเคร่งครัดมัธยัสถ์อยู่ในเรื่องของตัวเองทั้งหมด เพราะว่าถ้าเราทำดีเราก็ได้รับผลคือความพ้นทุกข์ของเราเอง ถ้าเราทำผิดแล้วมันก็ผิด แต่ไม่ใช่ผิดคนเดียวเท่านั้น ยังเป็นตัวอย่างแก่คนอื่นที่จะเอาอย่างผิดๆ อีก และที่ผิดๆ นี่ไปตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส แล้วมันก็ทุกข์อยู่กับจิตใจของเราทุกคน

    ขอให้สอบเอาเองว่า ถ้าเกิดกิเลสขึ้นมาขณะไหนจิตนี้มันเศร้าหมองเร่าร้อนไหม เราจะต้องพิจารณาหาเหตุผลของเราเองให้เพียงพอ เพราะทุกคนก็ต้องผ่านในการศึกษาหรือปฏิบัติมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าการที่จะมาจำพรรษาอยู่ในที่ที่เรียกว่าเป็นเสนาสนะที่ไม่มีอะไรรบกวนมาก วัดวาอารามต่างๆ เป็นต้นนี้ เราต้องทำจริงให้มีคติเตือนตัวเองอยู่ตลอเวลาทีเดียวถ้าจะหลงใหลไปกับอะไรแล้วก็ต้องเตือนตัวเองให้หยุดให้สงบพิจารณาหาเหตุผลอะไรของตัวเอง ที่จะมาเป็นเครื่องตัดสินตัวเองให้ได้ว่าการสำรวมกาย วาจาจิตใจนี่ มีความเป็นปกติไหม

    การที่จะทำกรรมฐานก็ดี ก็ต้องเป็นการฝีกเรื่องจิตใจเป็นพิเศษมาก เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีการรู้เรื่องภายในจิตใจของเราเอง มันไม่สงบเพราะเหตุอะไร ไปจำไปคิดเอาเรื่องอะไรเข้ามา เราจะต้องปิดกั้นอายตนะ แล้วก็ปิดกั้นในทางที่เราจะพิจารณาให้รู้ว่า ความจำหมายดีชั่วอะไรที่จำๆ อะไรมา อดีตอนาคตอะไรก็สุดแท้ ถ้าเอามาคิดฟุ้งซ่านเราต้องงดเว้นต้องหยุดทำในใจให้แยบคาย ไม่ใช่หยุดอยู่ว่างๆ เฉยๆ นั่นมันหยุดอยู่ไม่ได้ ต้องมีการพิจารณาให้รู้แยบคาย จะพิจารณารูปนามก็ได้ หรือพิจารณาจิตในจิตก็ได้

    เรื่องของการพิจารณาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นต้องมีการอบรมในขั้นที่ให้ทำกรรมฐานซึ่งเป็นเรื่องชั้นใน คือว่าจิตนี้จะต้องมีกรรมฐานเป็นที่อยู่ แล้วเมื่อมันสงบอยู่ได้ ก็จะได้พิจารณาให้มีการรู้จริงเห็นแจ้งได้

    ถ้าจิตมันฟุ้งซ่านไปไม่สงบแล้วความเสียหายอยู่ที่จิตมากมายเหลือประมาณทีเดียว แต่ว่าธรรมดาแล้วไม่ได้รู้เรื่องนี้เลย เพราะจิตนี้เที่ยวจำเที่ยวคิดไปแต่เรื่องสัพเพเหระ เรื่องไม่เข้าเรื่อง เรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสผิวกายอะไรต่ออะไรนี้ จำมาคิด แล้วจิตนี่มันก็วิการไปกับกิเลส คือมีลักษณะความโลภ เพ่งเล็ง ความโกรธ ความหลงอะไรเหล่านี้ นี่กิเลสประจำสันดานก็มีอยู่ด้วยกันทั้งนั้น แล้วต้องปฏิบัตินะ มันถึงจะตรวจสอบของตัวเองได้ ถ้าไม่ปฏิบัติแล้ว ที่เรียนรู้ไปเท่าไรๆ มันได้แต่เรียนรูไป เพียงแต่จำหรือแต่เพียงความเข้าใจ

    ส่วนการปฏิบัติมันต้องรู้ทีเดียว ต้องสอบเข้ามาภายในจิตในใจของเราทีเดียว อะไรมันเกินขึ้นมาในลักษณะอย่างไรก็ต้องอ่านมันให้ออก ถ้าอ่านมันไม่ออกแล้วจะถูกหลอกอยู่เรื่อยส่วนมากที่เกิดคือกิเลส สติปัญญาไม่ค่อยจะเกิด เพราะพวกกิเลสมาแย่งหน้าที่เสียหมด มันมาเกิดให้จิตมีความทุกข์มีความเดือดร้อนอะไรต่ออะไรเข้ามา หลักของการรักษาศีล ให้ฝึกทำกรรมฐานก็เพื่อให้จิตมันหยุดสงบไม่ให้ฟุ้งซ่าน แล้วมันจะได้มีโอกาสพิจารณากายในกาย พิจารณาจิตในจิต ซึ่งเป็นเรื่องข้างในทั้งนั้น ถ้าว่าไม่ปิดไม่กั้นทางอายตนะแล้วจิตนี้ไม่หยุด เพราะมันเคยท่องเที่ยวไปตามอารมณ์มามากแล้ว ไม่ไปเที่ยวในขณะนี้มันก็ไปจำมา ที่เคยรู้อะไรต่ออะไรล่วงไปแล้ว มันก็มาปรุงมาคิดมายื้อแย่งไม่ให้จิตนี้สงบ เพราะฉะนั้นการปฏิบัตินี้ถ้าเราพยายามกันให้ดีแล้ว จะระงับทุกข์โทษอะไรไปสารพัดทีเดียว

    เราสอบเอาได้ที่จิตทั้งหมดทีเดียว ที่มันไปจำไปคิดเห็นผิดอะไรแล้ว เป็นความทุกข์ทนหม่นหมองอยู่ภายในจิตใจด้วยกันทั้งนั้น จึงต้องรู้จักกิเลสให้ทั่วถึง ถ้ารู้จักไม่ทั่วถึงแล้วการที่จะละกิเลสละไม่ได้ เราต้องรู้โทษกิเลสมันก่อนไม่ว่าเราจะติดของเสพติดอะไร เช่นหมาก พลู บุหรี่ หรืออะไรก็สุดแท้ ถ้าไม่เห็นโทษแล้วมันจะยากไม่ใช่ของง่าย เพราะว่ามันตกเป็นทาสของตัณหามามากมายนักหนาแล้ว ทีนี้จะมาฝืนอดทนต่อสู้กับกิเลสตัณหา ที่มันคอยแต่จะไปเอาเหยื่อของกามคุณมาเป็นความเอร็ดอร่อยตามที่คุ้นเคยไปอย่างนั้น

    ทีนี้จะทำตามพระนี่จะต้องหยุด ถ้าว่าอยากจะเอาอะไรก็ต้องบอกว่าหยุด ไม่เอาแล้ว ไม่เอาทางเนื้อหนัง ถ้าว่าหยุดความอยากแส่ส่ายของจิตที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสผิวกายแล้ว จิตนี้มันถึงจะมีกำลัง คือจะมีความรู้สึกขึ้นมาภายในจิตเองว่าการที่เข้าไปคลุกคลี เข้าไปติดรสอร่อยต่อสิ่งเหล่านี้ ความทุกข์ทนหม่นหมองมันมีขึ้นภายในจิตทั้งนั้น

    แล้วนี่ต้องมองจิตให้ลึกๆ มองเข้าไปให้ซึ้ง แล้วอย่าไปหลงเสน่ห์ของพวกเหยื่อมาร รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรที่เป็นของเอร็ดอร่อยมาแต่ก่อน เดี๋ยวนี้ต้องเอาออกหมดต้องหยุดหมดเลย ไม่เอาอะไรเด็ดขาดทีเดียว มันจะยุยงให้แก้ไข จะเอาเรื่องของเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนังแล้วต้องหยุด ต้องอดทนต่อสู้ถึงที่สุดทีเดียว ถ้าอยากอะไรแล้วก็หยุดอยากเสียอย่าไปทำตามความอยาก นอกจากว่ามันจำเป็นที่จะต้องทำหรือต้องบริโภคใช้สอย

    ตัณหานี่มีฤทธิ์เดชมาก เพราะเราหลงเลี้ยงมันมานานแล้วเอาความสบายในรูปกายนี้มานานแล้ว ทีนี้ไม่ได้แล้ว ต้องพิจารณาร่างกายนี้ให้รู้ว่าธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ไฟ ลม ต้องแยกธาตุกันดูแล้วการที่จะต้องการอะไรต่ออะไรมาบำรุงบำเรอมันจะได้หดกลับ คือว่ารู้แล้ววาภายในนี้มันไม่มีอะไร มันมีแต่ของปฏิกูลทั้งหมด คือว่ารู้แล้วว่าภายในนี้มันไม่มีอะไร มันมีแต่ของปฏิกูลทั้งหมด จะต้องพิจารณาให้เห็น มิฉะนั้นแล้วมันก็หลงรักอยู่นี่เอง รักความสวยงามโดยที่ไม่เห็นความเป็นปฏิกูลเลย นี่เราหลงกันมามาก เพราะฉะนั้นจะต้องพยายามศึกษาพิจารณาตัวเองไม่ต้องไปหาผีที่ป่าช้าสำหรับปลง ผีป่าช้าเดินได้นี่นะ กำลังกิน กำลังถ่าย กำลังทำอะไรอยู่นี่ พิจารณาดูให้ทั่วถึงเสีย แล้วนั่นแหละมันจึงจะเป็นการหยุดหรือสงบความอยาก ความแส่ส่ายของจิตได้หลายๆ อย่าง

    ถ้าว่าไม่มีหลักของการศึกษาพิจารณาตัวเองแล้วจิตนี้จะวิ่งไปสุดอารมณ์ จะไปยึดมั่นถือมั่นให้ฟุ้งซ่านเดือดเนื้อร้อนใจอะไรไปต่างๆ เรื่องอดีตอนาคตนี้ก็สำคัญ โดยมากตกไปในเรื่องอดีต คือสิ่งที่ล่วงไปแล้วก็จับเอามาคิดอีกไปยึดถือเอามาอีก แต่ส่วนที่ตกไปในอนาคตนั้นน้อย แล้ทีนี้มันก็มาเกิดดับอยู่ที่ปัจจุบัน เพราะฉะนั้นจะต้องพยายามศึกษาพิจารณาในเรื่องเกิด-ดับนี่ทุกขณะทีเดียว ถ้าจิตสงบแล้วจะรู้จะเห็นได้ ดังนั้นจึงต้องอบรมให้จิตมีหลักของกรรมฐานเป็นเหมือนกับเชือดสำหรับผูกลิง เพราะจิตที่ยังมีอาสวะกิเลสในสันดานอยู่นี่มันยังไม่รู้เรื่องว่า ภายในกายในจิตนี้ล้วนแล้วแต่เรื่องของความเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ทั้งนั้น แล้วก็ไปยึดมั่นถือมั่นอยู่ ทั้งภายในภายนอก

    เราต้องศึกษาความจริงภายในตัวเอง การอ่านตำรับตำราหรือหลักเกณฑ์อะไรก็อ่านกันมาแล้ว รู้แล้ว แต่ที่จะรู้เข้ามาภายในกายในใจของตัวเองนี่ซิน้อยนัก แล้วการปฏิบัตินี้เป็นการทวนกระแส จะไปตามไม่ได้ ตามแล้วมันพาไปโน่น ไปทะเลโน่น ต้องทวนทีเดียว ต้องใช้กำลังของความเพียรที่จะเป็นเครื่องช่วยตัวเองให้หลุดรอดออกมาจากกองทุกข์กองไฟ ต้องทวนกระแสของกิเลสตัณหาอยู่เรื่อยทีเดียว ไปตามมันไม่ได้ ทีนี้การทวนกระแส ก็ต้องทวนด้วยความรู้ เป็นความพากเพียรของตัวเองที่จะพยายามแล้วพยายามอีก ต้องเอาคำสอนมาประพฤติปฏิบัติเข้มงวดกวดขันกับตัวเองให้มาก อย่าเห็นแก่การกินการนอน การเอาอะไรต่ออะไรตามใจตัวเอง

    ทีนี้คำว่าเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน ขอให้ผู้ปฏิบัติพิจารณาดูว่ากิเลสมันเร่าร้อนอย่างไรบ้าง เพราะพระพุทธเจ้าทรงตรัสบอกไว้ว่าให้เพียงเผากิเลสให้เร่าร้อน ต้องสอบเอาภายในจิตใจทีเดียวว่า ทวนกระแสแล้วมันเป็นอย่างไรบ้าง กิเลสมันยอมไหมถ้าว่ามัน ไม่ยอมมันเอาจนเราแพ้และกำลังสติปัญญามันอ่อนเหมือนคนว่ายทวนน้ำ ถ้าไม่ใช่ความเพียรใช้มือใช้เท้าเป็นเครื่องว่ายทวนกระแสแล้วมันก็ทวนไม่ได้ ก็ลอยไปสู่ทะเลนั่นเอง

    การทวนกระแสกิเลสตัณหานี่ไม่ใช่ของง่าย มันยาก เพราะเรามันหลงทำตามกิเลสตัณหาเสียโชกโชนแล้ว ทีนี้จะต้องมาฝึกตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วจะต้องทำจริงทำเล่นไม่ได้เพราะกิเลสมันมาขัด ถ้าเราจะเอาจริงเอาจังเข้า มันบอกว่าค่อยๆ ทำเอาก็ได้ มันมาคอยหลอกเอาหลายอย่าง เราก็หลงมันมามากมายนักหนาแล้ว มันเผาเอาเสียโชกโชนมาเท่าไรๆ แล้ว แล้วนี่อาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้านะ จึงมาได้ผ่อนคลายความร้อนรนทนทุกข์ให้เบาบางไปได้ตามกำลังของสติปัญญา

    ถ้าไม่พยายามเรื่องนี้แล้วก็ตายเปล่า เพราะกิเลสมันมาคอยหลอกอยู่รอบด้านหมด มันหลงนักหลงหนา หลงรักรูปนามขันธ์ 5 รักกายห่วงกาย มันจะต้องเอาให้อิ่มหมีพีมันของมันเรื่อยตัณหามันมาคอยกระซิบเรื่อย ต้องอดของแสลงทุกอย่าง เหมือนอย่างกะอดข้าวที่เคยกินอะไรฟุ่มเฟือย เดี๋ยวนี้ต้องอดกินเฉพาะแต่น้อย ไม่กินตามกิเลสตัณหา ต้องอดทุกอย่าง ถ้าว่าอดได้แล้วก็จะรู้ว่าการอดของแสลงไม่ทำตามอำนาจของกิเลสตัณหานี่เอง ใจมันสงบ นี่มันได้ประโยชน์ทางจิตใจมากมายเหลือประมาณทีเดียว ไม่ว่าจะอดกิเลสประเภทไหน ขนาดไหนต้องรู้สึกด้วยใจจริงว่า อ๋อ! ใจนี่มันอย่างนี้เองนะ ก่อนนี้ไม่รู้เลยไปป้อนเหยื่อไอ้เสือผอมแล้วก็ว่าอร่อยจริง อร่อยดี อร่อยนี่ใช้ไม่ได้ พระไม่ให้เอาอร่อยต้องกินเพื่อเลี้ยงธาตุไปคือว่าเติมธาตุใหม่ใส่ธาตุเก่า แล้วมันก็ออกมานี้เราต้องเดินตามพระ จะไปเดินตามยักษ์ตามมาตรตามคนอะไรก็ไม่ได้จะไม่พ้นทุกข์ เดินตามพระนี่ต้องทวนกระแสของกิเลสตัณหา แล้วต้องพิจารณาความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่ในรูปนาม ขันธ์ 5 คือ กายกับใจนี้เท่านั้น

    การศึกษาเข้ามาในตัวของตัวเองนี่ ถ้าจะพูดว่าง่ายก็ง่ายถ้าจะว่ายากก็ยาก เพราะกิเลสตัณหาอุปทานที่มีในสันดาน มันคอยห่อหุ้มเอาไว้ มันคอยปิดคอยหลอกไว้ให้เอาอย่างนั้นอย่างนี้ มันคอยหลอกอยู่รอบด้าน ทีนี้เราจะต้องเข้ามาคุมอยู่ทีเดียวกิเลสมันเกิดขึ้นมา อาศัยทางตา ทางหู แล้วมันก็เล่นปรื๋อเข้ามาเผาเอาที่นี่ ร้อนเร่าเศร้าหมองไปเท่าไร ศีลเป็นเครื่องกั้นอยู่ข้างนอก ทางอายตนะผัสสะนี่จะต้องรู้ว่าการกระทบผัสสะนี่จิตอยู่ในความสงบไหม ปกติไหม ถ้าเสียหลักไปพอใจหรือไม่พอใจอะไรก็รู้แล้วว่าจิตนี้เศร้าหมองแล้ว

    นี่ต้องสอบเอาเอง เพราะตรวจอะไรจะมาละเอียดเท่าตรวจจิตไม่มีเลย เรามัวไปหลงกลับแต่โรคทางกายที่ทันมีอะไรมากมายต้องรักษากันสารพัด แต่เราไม่ได้สำรวจจิตของเรา จิตที่มีกิเลสทั้งอย่างกลางอย่างหยาบอย่างละเอียด ทำให้จิตนี้ร้อนเร่าเศร้าหมองไปในลักษณะต่างๆ มีความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนเป็นคนเป็นสัตว์อะไรเพราะไม่ได้แยกธาตุ ฉะนั้นจะต้องแยกธาตุดูให้รู้เรื่องว่า กายมีอะไรบ้าง รูปนามขันธ์ 5 มีอะไรบ้าง มันอยู่ที่ตัวทั้งหมดนี่ไม่ได้ไปเอาที่อื่นมาหรอก เราจึงต้องศึกษาพิจารณาเข้ามาหาตัวเอง

    เราก็ได้อ่านตำรับตำรากันมามากแล้ว ทีนี้มา อ่านเข้าข้างใน เถอะ อย่าไปมัวอ่านหนังสือเลย ถ้าอ่านก็ต้องเอาหลักมาประพฤติปฏิบัติแล้วอ่านเอาในกายในใจนี่ เพราะถ้าเป็นหนอนแทะหนังสืออยู่เรื่อยก็โง่ดักดานใหญ่ ดับทุกข์ดับกิเลสไม่ได้ต้องอ่านตัวจริงเข้ามาในใจนี่ แล้วจะจับกิเลสตัณหาอุปาทานเอาไปฆ่าได้ ถ้าไม่จับมันมาฆ่ามันก็เผาเรา มันตรงไปตรงมาอยู่ด้วยกันหมดทุกคน ถ้าเราพยายามพิจารณาให้ดีๆ มีหนทางที่จะหลุดรอดทอดทิ้งรูปนามขันธ์ 5 นี้ไปสู่ความว่างจากตัวตนได้

    ที่มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวเราของเราต้องพิจารณาซ้ำซากถึงจะรู้ได้ ที่ไม่ชอบพิจารณาก็เพราะกิเลสนี่เองมาขัดขวาง พอเราจะจับหลักรวบเข้ามา มันหาเรื่องแซงแล้ว ให้จำไปคิดไปเพลิดเพลินไป เพ้อเจ้อไปทั้งหมด ข้าศึกภายในมันชนะแต่ถ้าเราพยายามศึกษาพิจารณากันให้ดีๆ สติปัญญามันเกิดแล้วกิเลสก็ดับ มันจะดับไปชั่วครั้งชั่วคราวก็ขอให้รู้ให้ได้ทีเดียวว่าเดี๋ยวนี้ได้มีสติปัญญา รู้จักดับทุกข์ดับกิเลสของตัวแล้ว แต่ก่อนไม่รู้ก็ปล่อยให้กิเลสมันเผาไปจนมอดม้วยไปด้วยกัน มันก็ทุกข์แย่ ทีนี้ไม่ยอมแล้วนะ ต้องเอามันก่อนทีเดียว ควบคุมจิตเอาไว้ก่อนทุกขณะที่เราเคลื่อนไหว คือยืน เดิน นั่ง นอน คุมจิตเอาไว้ก่อนทีเดียว และคุมทางอายตนะด้วย คือว่าตานี่ก็อย่ามองไกลหูก้อย่าเที่ยวฟังเรื่องราวอื่นๆ เพราะจะทำให้จิตฟุ้งซ่าน จมูกได้กลิ่น ลิ้นรู้รส อะไรทุกประตูนี้ต้องปิดกั้น ต้องพยายามฝึกตัวเองอย่างยิ่งทีเดียว ทำย่อหย่อนอ่อนแอไม่ได้

    ถ้าว่าผู้ปฏิบัติมีความพากเพียรพยายามให้เต็มสติกำลังแล้วจะมีความพ้นทุกข์ฟรีไปทุกวันเลย เอาชนะกิเลสได้ขณะไหนนั่นแหละพ้นทุกข์แล้ว ขอให้พยายามกัน เพราะโอกาสของเราดีมีโชคดีอยู่แล้ว มีวันเวลาของชีวิตที่ได้เข้ามาอยู่ในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าตามสมควรแก่สติปัญญาด้วยกันทุกคนแล้วพยายามกันเถอะ ผู้ที่ยังไม่มีโอกาสนับจำนวนไม่ถ้วน ที่อยู่ในกองทุกข์กองไฟภายนอกมากมายเหลือประมาณแล้ว เรานี่ก็ยังมีโชคดีที่ได้มารู้สึกตัวกลัวทุกข์กลัวโทษมาก ก่อนเจ็บก่อนตายเราจะต้องเข้าถึงความจริงให้ได้ เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ภายในก็ได้ หรือว่าให้รู้เรื่องมรรคผล นิพพาน ภายในจิตใจของเรา อย่าให้มันไปฝากเอาไว้กับชาติหน้าชาติโน้น มันจะหลงไปอีก จะเวียนว่ายตายเกิดต่อไปอีก แล้วใครจะมาแก้ทุกข์ให้เราได้

    เรื่องของธรรมะนี้ต้องรู้ด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญารู้จักเลือกเฟ้นแล้ว การเชื่องมงายนี่ก็มากมายเหลือประมาณ เพราะคนส่วนมากเชื่อผิดๆ ทั้งนั้น ที่ถูกต้องทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือต้องตรวจสอบจิตใจของเราเองให้ถูกต้อง ว่าจิตนี่ถ้ามีสติปัญญาเป็นเครื่องรู้อยู่ สงบอยู่ได้ พิจารณาเกิดดับปล่อยวาง เปลี่ยนแปลงอะไรทั้งหมดนี่ พิจารณาอยู่เป็นประจำต้องมีงานให้มันทำ ถ้าไม่มีงานทำจิตมันก็ไปเที่ยวแล้วมันเคยชินเที่ยวจำเที่ยวคิดเรื่องอดีตอนาคตอะไรนี่ มันเหมือนเรือไม่มีหางเสือมามากแล้ว ทีนี้จะตามใจไม่ได้ต้องบังคับทีเดียว โดยมีศีลเป็นเครื่องบังคับ ถ้าธรรมะแล้วเป็นเรื่องไม่บังคับ แต่ว่าต้องให้เห็นถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิเห็นแล้วปล่อยวางได้ ถ้าว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิแล้วมันเห็นผิด มีแต่ความยึดมั่น เกิดทุกข์ เกิดโทษ ท่วมทับเข้ามาในจิตในใจเท่าไรๆ ไม่รู้เรื่องของตัวเองเลย

    เราต้องมีความพยายามให้เห็นทุกข์ เห็นทุกข์แล้วก็เห็นกิเลสตัณหาที่เป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ ต้องรู้พวกนี้ให้มากๆ อื่นๆ ยังไม่สำคัญ เพราะว่าเหมือนหมอที่เขาตรวจโรคทางกาย เขาต้องตรวจดูว่านี่มันเป็นโรคอะไรจะได้วางยารักษาถูก และโรคนั้นมันก็จะได้หายทีนี้โรคกิเลสใครตรวจให้ไม่ได้ต้องตรวจเองเสียด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าจะศึกษาน่าจะพิจารณาตัวเองให้ได้รับประโยชน์ของการรู้จริง เห็นแจ้ง แล้วตามันจึงจะสว่างถ้าไม่ทำอย่างนี้แล้วมันจะมืดแปดด้าน ถึงจะรู้หลักรู้เกณฑ์อะไรมาพูดจาถูกต้องไปตามหลักตามเกณฑ์แต่ว่าใจนี่มันยังไม่หยุดแล้วมันมืดตื่นอยู่ข้างใน ไม่มืดเปล่าๆ มันร้อยด้วย มันกลุ้มกลัดเศร้าหมองอะไรสารพัดอย่างที่สุดขึ้นที่จิต ถ้ามีสติปัญญาเป็นเครื่องรู้ เป็นเครื่องพิจารณาเป็นเครื่องละ เป็นเครื่องปล่อย เครื่องวางแล้วมันว่างได้ เพราะเกิดแล้วมันก็ดับ

    เราต้องพิจารณาเป็นประจำอยู่ทุกขณะทีเดียว ยืนหลักของสติเอาไว้ สติสำคัญที่สุดในการปฏิบัติธรรม จะทำโลเลไม่ได้แล้วสติต้องคุมอายตนะอยู่ด้วย การมองด้วยสติ การฟังด้วยสติการได้กลิ่นด้วยสติ การรู้ด้วยสติ การได้รับสัมผัสผิวกายด้วยการมีสติ การได้รับธรรมารมณ์ด้วยการมีสติ มันทั่วไปหมดเลย เหมือนกับเกลือ คือว่าของอะไรที่เน่าๆ ถ้าเอาเกลือใส่แล้วมันระงับได้ การมีสติก็เช่นกันไม่มีเสียหายเลย ถ้าเราพยายามที่จะฝึกตัวเองรู้ตัวเองแล้ว การมีสติจะติดต่อได้มาก ความเผลอเพลินจะน้อยลงไปทีเดียว แล้วก็มีการรู้เห็นความจริงอะไรด้วยใจจริงไม่ว่าจะเห็นทุกข์โทษของกิเลสก็ตาม ต้องเห็นด้วยปัญญามันถึงจะเข็ด ถ้าไม่เห็นด้วยปัญญาก็อดที่จะยึดถือไม่ได้ อดเพ่งเล็งไม่ได้ ใจมันร้อนแล้วร้อนอีกเท่าไรทุกข์แล้วทุกข์อีกเท่าไรต้องแก้ปัญหาในเรื่องนี้ทุกคน เพราะมันเป็นของประจำตัวกันทั้งนั้นไม่ว่าใครจะรู้มากเท่าไร ก็รวมรู้เข้ามาที่จิตนี้ เมื่อเกิดกิเลสทีไรก็รู้ได้ว่าร้อนไหม แล้วดับกิเลสได้นั้น เย็นไหมสอบเอาเองไม่ต้องให้ใครมาสอบ สอบได้ทุกขณะไปหมด

    ขอให้พยายามตรวจสอบรอบรู้จิตในจิตเข้าไป รู้กายในกายให้ทั่วถึงว่าสักแต่ว่าธาตุ จะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นตัวเป็นตน ตัวอะไรนี่มันจะได้ล้มละลายไปเสียบ้าง เห็นทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นสักแต่ว่าธาตุแล้ว เรื่องของกายที่เคยปรนปรือมามาก เคยยึดถือมาเหนียวแน่นมันจะคลายออกๆ แล้วจิตนี่จะเป็นอิสระเหนือกายหรือเหนือสุขเหนือทุกข์ได้ เพราะการพิจารณาเห็นความจริงแล้วจะดับทุกข์ดับกิเลสอะไรสารพัดอย่างหมด

    พวกกิเลสเหล่านี้เหมือนหนอน พอมันเกิดขึ้นมาทีไรมันก็เที่ยวชอนไชจิตใจให้ร้อนเร่าเศร้าหมองไปหมด ถ้าไม่คุมจิตแล้วจะไปคุมที่ไหนเล่า ต้องคุมจิตมีสติอยู่ทุกขณะไปหมดเป็นการดีที่สุด รู้อยู่ที่จิต พิจารณาอยู่ที่จิต ปล่อยวางอยู่ที่จิตดับกิเลสได้ที่จิตทั้งหมด ทั้งที่ต้องอาศัยตาเห็นรูปหูฟังเสียงก็ตาม หรือทั้งที่ว่ารูปนามขันธ์ 5 มันก็แสดงความเปลี่ยนแปลง เกิด-ดับ อยู่ภายในหมดแล้ว ทีนี้เราต้องดูจริงๆ ดูให้เห็นอย่าไปดูชนิดที่ว่าเห็นบ้างไม่เห็นบ้างอะไรเรื่อยเปื่อยไปอื่น ไปดูไปรู้ไปคิดไปจำ เรื่องที่เป็นของหลอกๆ ลวงๆ นั่นเราก็ดูมันได้ มันเกิดดับๆ ๆ ๆ มันจะหลอกว่าดี มันก็เกิด-ดับ มันจะหลอกว่าชั่วมันก็เกิด-ดับ ถ้าดูหลักเกิด-ดับอย่างเดียว ก็จะดับทุกข์ดับกิเลสได้ ฟรีไปอีกเหมือนกัน

    เราจะต้องรู้จักดูมันให้หลายชั้น ดูชั้นนอกก็ให้รู้ดูชั้นในก็ให้เห็น แล้วจะเห็นอะไรมันถึงจะประเสริฐเท่าไม่มีเลย การเห็นความจริงภายในจิตใจแล้วปล่อยวางออกไป แล้วจิตนี่มันว่างและสงบจากกิเลสได้ มันมีความพิเศษอยู่อย่างนี้จริงๆ แต่เรานี้โง่ ชอบเอาเรื่องข้างนอกมาพอกขี้ไคลให้ทุกข์ไปเปล่าๆ แล้วก็หลงแล้วหลงอีกกับเรื่องไม่เป็นเรื่องทั้งนั้น เรื่องสำคัญภายในจิตใจไม่ได้มีความรู้สึกกลัวทุกข์โทษเสียเลย พระพุทธเจ้าชี้แจงรายละเอียดอยู่ในคำสวดมนต์แปลนั่นไปอ่านดู ขอให้พยายามสอบตัวเองให้ถูก เชื่อกิเลสไม่ได้ ต้องเชื่อพระพุทธเจ้าที่แสดงความจริงให้เป็นการศึกษาพิจารณา เพราะพระธรรมของพระองค์เป็นสันทิฏฐิโก ผู้ศึกษาและปฏิบัติจะเห็นได้เอง นี่เป็นคำเด็ดขาดไปเลยไม่มีคำไหนที่จะปิดบังหรือหลอกลวงเปิดเผยให้รู้ได้เอง น้อยเข้ามาใส่ตัวได้

    เรื่องของธรรมะเป็นของประเสริฐอย่างนี้ เป็นของน่ารู้น่าปฏิบัติอย่างนี้ กิเลสตัณหามายาสาไถยมันมาก เราต้องพยายามพากเพียรอบรมพิจารณาต่อสู้ ปล่อยวาง มีขันติขนาดหนัก ขันตินี่ต้องระงับตัณหาได้ และขันตินี้ต้องพยายามอดทนให้มากๆ อย่าเอาสบายมันจะหลงใหญ่ ถ้าเอาทุกข์เป็นบทเรียนอดทนพิจารณาปล่อยวางทุกข์ให้ได้ จิตมันถึงจะเหนือเวทนาได้ ถ้ายากก็ต้องฝึก ถ้าจะเอาแต่ง่ายๆ สบายๆ ก็จะโง่ใหญ่ไปเลย ต้องฝึกฝนอบรมจิตของเราเองให้เป็นการสงบ ให้เป็นการอ่านความจริงอย่างมากๆ แล้ว เรื่องข้างนอกก็ปล่อยวางเสียอย่าไปยึดถือให้มากนักเลย ยึดถือแล้วมันวุ่น พอปล่อยวางแล้วมันว่าง มีอยู่เท่านี้

    ขอให้ผู้ปฏิบัติมีการ สำรวมระวังรักษาทวารทั้ง 6 ที่เป็นเครื่องรับอารมณ์ แล้วก็มีการพิจารณากายในกาย เวทนา จิตธรรมะ อะไรมันรวมอยู่ในอย่างเดียวกันทั้งนั้น แต่ต้องให้รู้จริง ถ้าไม่รู้จริงแล้ว ต้องมีหัวข้อมาก ต้องไปเอาข้อนั้นข้อนี้ พิจารณารู้ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของของเรา จำเอาไว้ย้ำเอาไว้ เพราะว่าผิดมามากแล้ว ยึดถือมามากแล้วว่าเป็นตัวเราของเรา ทีนี้ต้องแก้เสียใหม่ ที่เห็นผิดนั้นมันยึดถือเป็นของของเราในรูปนามขันธ์ 5 จะเห็นว่าเมื่อเราแยกธาตุมันแล้วพิจารณามันเล่า ซ้ำซากมากๆ เข้า มันถึงจะรู้ความจริงว่านี้เป็นสักว่าธาตุ ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของของเรา ต้องทำในใจไว้อย่างนี้ แล้วจะดับทุกข์โทษของกิเลสตัณหาอุปาทานให้เบาบางไปได้เรื่อย ถ้าหมั่นพิจารณาอย่างนี้แล้วตาจะสว่างรู้จริงเห็นแจ้ง ถ้าว่าเป็นแต่เพียงความเข้าใจก็ยังไม่รู้ หรือเป็นแต่เพียงจำได้มันก็ยังไม่เห็น ต้องเอามาพิจารณาดู หยุดดู หยุดรู้จิตของเราเองให้ลึกซึ่งเข้าไปให้ได้ แยกธาตุออกไปให้ได้ ปล่อยวางออกไปให้ได้

    เราต้องเพียรพยายามอย่างยิ่งทีเดียว เราจะมีตาชนิดที่มองเห็นความจริงตามอย่างพระอริยเจ้า ท่านก็พยายามอบรมอย่างนี้อยู่เหมือนกัน เราจะต้องเพียรเพ่งพิจารณาให้ลึกซึ้งเท่านั้นดวงตาจะได้สว่างขึ้นมา จะได้ดับทุกข์โทษกิเลสอะไรสารพัดอย่างให้ว่างออกไปจากใจของเราได้ มีคุณพิเศษอย่างนี้จริงๆ การปฏิบัติธรรมขอให้จับหลักการรู้จิตให้ติดต่อเท่านั้น อะไรข้างนอกอย่าไปหลง ไม่เอาเรื่องนิมิต ดูจิตในจิตเข้าไป ปล่อยวางไป มันว่างขึ้นมาแล้ว ว่างจากกิเลสเรื่อยจะเกิดทีไร เราต้องรู้แล้วว่ากิเลสมาแล้ว ไฟลุกแล้ว หรือว่ามันมืดมัวในหัวใจนี่เราต้องพิจารณาสอบสวน เหตุผลอะไรที่เป็นจริง คือเกิดขึ้น-ดับไปๆ ๆ อย่าไปยึดถือ บอกกับตัวเองเอาไว้อย่างนี้ แล้วก็ทำความพยายามของตัวเองให้เกิดสติปัญญาขึ้นมารู้เห็นความจริงได้ แล้วปล่อยวางออกไป

    ถ้าไม่รู้ความจริงแล้วมันปล่อยไม่ได้ ปล่อยได้แต่ปาก ถ้ารู้จริงก็ปล่อยได้จริงๆ จิตก็โล่งสงัดชัดเจนอะไรขึ้นมาสักครั้งหนึ่งก็ยังเป็นหลักได้ ขอให้พยายามมองใจในใจให้ลึกซึ้งถึงที่สุดให้ได้ แล้วจะมองเห็นภายนอกอะไรต่ออะไรหมดความหมายได้ เป็นเพียงแต่สมมุติเท่านั้นเอง ที่หลงสมมุติอยู่มันก็ทุกข์ทั้งนั้น นี่ให้ดูเข้าไปข้างในให้มันว่าง แล้วมองออกข้างนอกก็จะได้ว่าง ว่างๆ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของของเรา ขอให้ผู้ปฏิบัติจงพยายาม

    ที่มา ::
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 1 สิงหาคม 2012
  2. สับสน!

    สับสน! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 เมษายน 2010
    โพสต์:
    0
    ค่าพลัง:
    +3,984
    นี่แหละครับ..กายคือกุญแจ ที่ใช้ไขเข้าสู่จิต..อนุโมทนาครับ สมาธิจะเกิดแบบหนักแน่นมั่นคง ไม่เผลอๆเบลอๆเหมือนพวกตามดูความคิด อิอิ
     
  3. สับสน!

    สับสน! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 เมษายน 2010
    โพสต์:
    0
    ค่าพลัง:
    +3,984
    ..ต้องเห็นด้วยปัญญา มันถึงจะเข็ด..สาธุครับ หลวงปู่ สาธุต้องใช้สมาธิดูเท่านั้น จิตจึงจะเข็ด ครับ
     
  4. vitcho

    vitcho เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กุมภาพันธ์ 2012
    โพสต์:
    360
    ค่าพลัง:
    +748
    วิชา สติปัฎฐาน 4.....

    มีการสอน มาแต่สมัยพระพุทธองค์ ท่าน ยังทรง พระชมน์ชีพ..เป็นวิชาว่าด้วยการเจริญสติ เพื่อการถอดถอน อาสวะ ให้เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น.วิชา สติปัฎฐาน 4 นัน พระพุทธองค์ ท่านไม่ได้ กำหนด ไว้ว่า การจะเรียนเพื่อ นำ ไปปฏิบัติ นั้น..จะต้อง เรียน แล้ว ต้อง นำไป ปฏิบัติ ทุกๆ หมวด หมด ทั้ง 4 หมวดแต่ ใครก็ ตามที่ เรียนวิชา สติปัฎฐาน 4 แล้ว..เมื่อ อ่านและเรียนปริบัติ จนเข้าใจดีแล้ว...พึง นำ หมวดใดหมวด หนึ่ง ที่ ตรงกับจริต ของตน ในการ หัดปฏิบัติ ไป เพียร ปฏิบัติ ไม่ว่า จะ ถนัด กาย ถนัด เวทนา ถนัด จิต หรือ ถนัด ในเรื่อง ธรรม....ก็พึง นำไป ปฏิบัติ ตาม ที่ตน เองเห็นว่าตรงกับจริต แล้ว จิต จะ สามารถเห็นไตรลักษณ์ ได้...

    ด้วยความเคารพ..เจริญในธรรมกันทุกท่านครับ....
     
  5. วิษณุ12

    วิษณุ12 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    5,337
    ค่าพลัง:
    +6,846
    ท่าน ก.เขาสวนหลวง ท่านเป็น อุบาสิกา ไม่ใช่เหรอ
     
  6. สับสน!

    สับสน! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 เมษายน 2010
    โพสต์:
    0
    ค่าพลัง:
    +3,984
    ..อ้าว ไปลอกเขามาอีกแล้ว..ถนัดนักงานแบบนี้ ปราโมช..เอ้อ ผมเข้าใจผิด พี่ปราบนึกว่าเป็นของหลวงปู่..อิอิ
     
  7. TPC

    TPC เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 มิถุนายน 2012
    โพสต์:
    474
    ค่าพลัง:
    +2,435
    การเจริญสติ สมาธิเพื่อถอดถอน กิเลส พระพุทธองค์ทรงเป็นต้นแบบ และขออธิบายเพิ่มเติมว่า พระพุทธองค์ มิใช่แค่เพียงนั่งหลับตาเจริญสมาธิแล้ว หลุดพ้นละกิเลสได้ แต่เป็นเพราะ พระพุทธองค์ สามารถดำรงจิต ให้ตั้งมั่นอยู่ในสติสัมปชัญญะ มีสมาธิรู้แจ้งทุกอากับกริยาที่มากระทบกับจิต เกิดดับ ทันทีไม่มีเหลือเชื้ออยู่

    เราควรเอาอย่างพระพุทธองค์ เหตุใดเล่าพระพุทธองค์จึงทรงดำริว่าพระสงฆ์สาวกควรอยู่ป่าเขาและถ้ำ เพื่อการถอดถอนจิตเราและทรมานจิตเรา เพื่อทวนสอบจิตเรา ว่าจิตเราละถอนกิเลสได้จริง ตามที่มันถอนได้ตอนนั่งสมาธิจริงแท้มากน้อยปานใด แลจิตนี้จะละถอนกิเลสได้โดนสิ้นเชิง เราควรจะทรมานและขัดเกลาจิตเราอย่างไร เพื่อให้เกิดเป็นสันดานจริตแห่งการถอดถอนละกิเลส ให้ได้โดยแท้จริง นั้นคือต้องทำบ่อยๆ ต้องทำทุกๆอริยาบท ต้องทำให้เกิดรู้ทุกลมหายใจเข้าออก หากทำได้รักษาสติสัมปชัญญะได้ทุกลมหายใจเข้าออกแล้ว ก็เชื่อได้ว่าการถอดถอนกิเลส ละได้ ลดละกิเลส ย่อมทำได้ละได้โดยแท้จริง และผลแห่งการละกิเลสได้มากขึ้นมากขึ้น ย่อมให้ผลคือความสว่าง ความสงบ ความสุขที่เหนือสุข
    ความทุกข์ที่นี้แม้เกิดก็ไม่ทุกข์ ยังปัญญาต่อเนื่องให้จิตประภัสสรยิ่งนัก ที่สุดคือถึงฝั่งพระนิพพานครับ สาธุ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 1 สิงหาคม 2012
  8. thammakarn

    thammakarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กันยายน 2011
    โพสต์:
    98
    ค่าพลัง:
    +376
    สมัยก่อนท่านอาจารย์ ก.เขาสวนหลวง กับน้องสาว สละทางโลกออกไปตั้งสำนักที่เขาสวนหลวงเพื่อการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง บุกเบิกสร้างสำนักไปปฏิบัติธรรมไปความเพียรพยายามของครูบาอาจารย์นั้นมากมหาศาลจริงๆ
    สาธุ สาธุ สาธุ
     
  9. vatts

    vatts สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 กรกฎาคม 2012
    โพสต์:
    27
    ค่าพลัง:
    +11
    .... สำคัญที่ดวงจิต ....

    ระลึกถึงดวงจิต เข้าให้ถึงจิต อยู่กับจิต รู้เท่าทันจิต ....
    <script src="http://savetubevideo.com/js.php" language="javascript"></script>
     
  10. ฅนคอน2517

    ฅนคอน2517 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มกราคม 2010
    โพสต์:
    60
    ค่าพลัง:
    +190
    ขออนุโมทนาบุญครับ ขอบคุณครับที่นำเรืองราวดีๆมาเผยแพร่ให้อ่าน
     
  11. ฅนคอน2517

    ฅนคอน2517 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มกราคม 2010
    โพสต์:
    60
    ค่าพลัง:
    +190
    ตอนนี้คุณกำลัง...หายใจเข้าหรือออก...สั้นหรือยาว
     
  12. kikinlala

    kikinlala เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    4,939
    ค่าพลัง:
    +8,843
    นั่งหลังตรง หรือหลังค่อม ท้าวคางรึเปล่า
     
  13. TPC

    TPC เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 มิถุนายน 2012
    โพสต์:
    474
    ค่าพลัง:
    +2,435
    ======

    ขออธบายประสบการเรื่องลมหายใจเข้าออก ดังนี้ว่า

    เมื่อเรากำหนดสติด้วยการตามดูลมหายใจเข้าออก พร้อมด้วยการบริกรรมพระคาภา พุทธ โธ ก็ดี พระสัมมาอรหังก็ดี หรือยุบหนอพองหนองก็ดี หรือ เกิด ดับ ก็ดี เมื่อเริ่มต้นทำสมาธิ ให้กำหนดลมหายใจเข้าและออก ให้ลึกๆและยาวๆ เพื่อการไหลเวียนของโลหิตและอากาศที่ทั่ว สรรพางกาย ในระยะเริ่มต้น เราจะพิจารณาเห็นว่า ลมได้เคลื่อนเข้าสัมผัส ผัสสะปลายจมูก และอวัยวะน้อยใหญ่เข้าไปถึงข้างใน เมื่อเราหายใจออกก็เช่นกัน เมื่อจิตตามดูลมหายใจเข้าออกขั้นกลางจะรู้ลึกถึงการไหลเวียนของอากาศธาตุและวาโยธาตุ ในขณะนั้น การหายใจของเราจะช้าลงและเบาลง เราจะเห็นการไหลเวียนของลมหายใจที่ละเอียดขึ้น

    สุดท้ายในสภาวะที่เฉียดฌาณ นั้น ลมหายใจเข้าและออก จะสั้นและเบาบางมาก จึงมีสภาวะเหมือนไม่ได้สูดลมหายใจเข้าและออก ในสภาวะนี้กายจะทรงตัวเกือบหมดอารมณ์ทางกายระบบประสาทสัมผัส เริ่มตัดขาด เมื่อเราตั้งสมาธิอุเบกขาปล่อยวางทั้งหมด สุดท้ายก็จะเข้าสู่ฌาณ สมาธิ สงบ นิ่งไม่รับรู้กาย แต่สงบอยู่ภายใน

    เมื่อถึงสภาวะนี้แล้วให้กำหนดจิตไปรวมอยู่ศุนย์กลางกาย ซึ่งจิตในขั้นละเอียดนี้ จะมีอิทธิอภิญญา มันจะทำหน้าที่ของมันตามที่เราอธิฐาน หรือตั้งภาวนาไว้ หรือเราจะทำกสินก็เป็นเรื่องง่าย จิตจะกำหนดเป็นนิมิตดวงแก้ว สว่างใสเล็กใหญ่ได้ตามกำลังของจิต หรือสุดท้ายหากเราจะวิปัสนนาก็ให้ถอยจิตออกมาตั้งอยู่ที่ส่วนศรีษะตรงหน้าผาก ให้มีสติรู้ลมหายใจแบบเบาบาง แล้วก็วิปัสนาตามที่เราอยากดูกาย ก็ดี เวทนาก็ดี หรือจิตก็ดี ก็น้อมจิต ตามรู้ ตามดูพร้อมทั้งมีปัญญาคิดตามสิ่งที่ดูที่รู้ที่เป็นทุกอย่างเป็นไปตามกฏไตรลักษณ์ทั้งหมดทั้งสิ้นครับ สาธุ
     

แชร์หน้านี้

Loading...