อุปปาตสันติกับอาจารย์พงษ์ศักดิ์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย Catt Bewer, 3 ธันวาคม 2006.

  1. Catt Bewer

    Catt Bewer เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    3,768
    ค่าพลัง:
    +16,673
    เมื่อวันที่ 14-20 ตุลาคม 2549 ที่ผ่านมา คณะเราอันมีเจ้าคุณพระธรรมปริยัติเวที เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์เป็นประธาน ได้นำพระประธานไปถวายที่ประเทศศรีลังกา และถวายผ้ากฐินที่ศูนย์วัฒนธรรมพระปฐมเจดีย์-ศรีลังกาด้วย

    แนวคิดที่สร้างพระประธานไปที่ศรีลังกา เกิดขึ้นจากท่านเจ้าคุณพระธรรมปริยัติเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม เปรียญ 9 ประโยค) ได้ดำริสร้างศูนย์วัฒนธรรมพระปฐมเจดีย์-ศรีลังกา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และต่อไปก็จะมีสถานภาพเป็นวัด เป็นศูนย์กลางเผยแผ่พระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทย

    พระภิกษุชาวศรีลังกาชื่อสิวลี ซึ่งศึกษาปริญญาโทอยู่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สมัยผมยังสอนอยู่ที่นั่น จบการศึกษาแล้วได้ไปอยู่เป็นศิษย์ท่านเจ้าคุณ ได้ปรารภว่า วัดที่ศรีลังกาต้องการพระพุทธรูปแบบไทยมาก เพราะที่ศรีลังกามีแต่พระหล่อด้วยปูน ไม่มีที่หล่อด้วยโลหะปิดทองงามอร่ามดุจที่เมืองไทย ท่านเจ้าคุณก็ให้ทำบัญชีมาว่าวัดไหนบ้าง

    ปรากฏว่าบัญชียาวเหยียดเลย ท่านก็ชักชวนญาติโยมช่วยกัน กลายเป็นมีสองโปรเจ็คต์คือ สร้างพระพุทธรูป กับสร้างศูนย์วัฒนธรรม ทำไปด้วยกัน ด้านศูนย์วัฒนธรรมก็เจรจาขอซื้อที่ดินในราคาที่เรียกว่าถูกเป็นพิเศษ สร้างเป็นศูนย์ขึ้นมา มี "ศาลาอเนกประสงค์" สำหรับเป็นที่ประชุม บำเพ็ญกิจพระศาสนา มีกุฏิที่อยู่อาศัยของพระ สร้างกันมาเรื่อยจนบัดนี้เกือบจะสมบูรณ์ ช่างก็ขนไปจากเมืองไทยนี่แหละ จะได้คุมได้สั่งการได้ว่าจะเอาแบบไหนๆ

    ทางด้านสร้างพระพุทธรูปก็มีญาติโยมร่วมกันสร้าง เริ่มจากคณะแรก พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร และคณะอันมี คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ และคุณมาลี วรินทราคม คุณสุภี วงษ์ศิริ คุณสมศรี แสวงผล และใครต่อใครอีกหลายคน ร่วมกัน สร้างและนำไปถวายครั้งแรก จำนวน 22 องค์ ครั้งที่สอง 26 องค์ ครั้งที่สาม 109 องค์ จากนั้นก็สร้างเพิ่มเติมเรื่อย ถึงคราวนี้ก็สร้างไปแล้ว 309 องค์

    ผมนั้นนอกจากร่วมสร้างพระประจำตระกูล (เรียกอย่างนั้น เพราะแต่ละท่านก็จารึกชื่อและตระกูลไว้หลังพระประธาน) สององค์แล้ว ยังมีบุญวาสนาได้เป็นคนคิดนามพระพุทธรูปให้ไพเราะถูกอกถูกใจเจ้าภาพด้วย

    นำพระประธานไปครั้งล่าสุด ทีแรกก็คิดว่าจะมีคนไปไม่เกินยี่สิบ เพราะหลายท่านเพิ่งกลับมาจากการไปไหว้พระธาตุเขี้ยวแก้วเมื่อไม่นานมานี้ แต่พอเอาเข้าจริง แจ้งความจำนงมามากจนเกินจำนวนที่เราจะรับ อาจารย์พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร หรืออาจารย์ป๋อง ซึ่งแจ้งความจำนงไว้ก่อนแล้ว แต่ถึงวันไปเกือบไม่ได้ไป ติดต่อไม่ได้ ทั้งที่ทำงานอยู่ติดๆ กัน ทราบว่าอยู่ที่ญี่ปุ่น หรือไต้หวันอะไรสักแห่ง

    ไปลังกาก็นอนห้องเดียวกัน คุยกันสารพัดเรื่อง ตั้งแต่การบ้านการเมือง การพระศาสนา แต่ก่อนก็รู้เพียงว่าอาจารย์เชี่ยวชาญในด้านสื่อมวลชน ต่อสู้เพื่อความถูกต้องมาตลอด เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงก่อร่างสร้างมติชนร่วมกับคุณขรรค์ชัย บุนปาน มาตั้งแต่ต้น ระยะหลังพอได้สัมผัสใกล้ชิด จึงรู้ว่าอาจารย์มีพื้นฐานทางศาสนาจริยธรรมมั่นคงยิ่ง ด้วยเป็นศิษย์ก้นกุฏิเจ้าคุณเช้า วัดโพธาราม ปากน้ำโพ นครสวรรค์ อาจารย์เป็นลูกผู้ดีมีอันจะกิน สืบสกุลมาจาก "พระยาเสือ" คนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยคนหนึ่ง ตระกูล "พยัฆวิเชียร" มาจากพระยาเสือนี่เอง แต่เนื่องจาก "แม่นายประเทือง" มารดาท่านนับถือเจ้าคุณเช้ามาก จึงนำลูกชายมาฝากฝังให้บวชเณรศึกษาธรรมระหว่างโรงเรียนปิดเทอม บวชครั้งแรกก็ติดใจ มาบวชถึงสองครั้ง ได้รับการฝึกฝนอบรมในทางธรรมจากท่านเจ้าคุณเป็นอย่างดี พื้นฐานทางจริยธรรมที่เจ้าคุณเช้าได้ปลูกฝังไว้นี่เอง ได้เบ่งบานในใจของผู้ชายคนนี้ต่อมา น้อยคนจะรู้ว่า เขาได้ทำงานเพื่อความเจริญของพระพุทธศาสนาแบบปิดทองหลังพระมาตลอด

    ระหว่างทางเดินไปไหว้พระเจดีย์ "สุวรรณมาลิก" (สุวรรณมาลี) พวกเราคนหนึ่งชี้ไปที่ซากปรักหักพังเหลือแต่เสาหลายต้น ถามว่า "นั่นอะไร" ใครคนหนึ่งบอกว่า "นั่นคือซากแห่งโลหปราสาท" ต้นตำรับแห่งโลหปราสาทที่เมืองไทย

    ผมก็เพิ่งรู้จากอาจารย์พงษ์ศักดิ์ว่า โลหปราสาทที่เมืองไทยนั้น แต่ก่อนทรุดโทรม ถูกโรงหนังเฉลิมไทยบัง ไม่ปรากฏสวยงามดังที่เห็นในปัจจุบัน ท่านเป็นคนหนึ่งที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงผลักดันให้ย้ายโรงหนังออก และหาทุน หาเจ้าภาพมาซ่อมแซมจนได้โลหปราสาทดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

    "ใครมองเสาเหล่านั้นไม่เห็นภาพ ก็ขอให้นึกถึงโลหปราสาทที่บ้านเรายังไงก็ยังงั้นนั้นแหละ" อาจารย์สรุป

    ผมยังนึกถึงเหตุการณ์เมื่อมีการต่อต้าน ห้ามรื้อโรงหนังเฉลิมไทยได้ พอท่านรื้อจริงๆ ปฏิสังขรณ์โลหปราสาทดังที่เห็นในปัจจุบัน สวย เด่น สง่า เป็นอย่างยิ่ง ท่านผู้คัดค้านเหล่านั้น ถ้ารู้ว่ารื้อแล้ว ทัศนียภาพมันจะงามปานนี้ คงตบปากตัวเองหลายฉาด!

    อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมรู้ตัวตนอาจารย์พงษ์ศักดิ์ยิ่งขึ้น ก็คือ วันหนึ่งอาจารย์ยื่นต้นฉบับหนังสือ "อุปปาตสันติ" ฉบับที่ชำระโดยเจ้าคุณพระเทพเมธาจารย์ (สมณศักดิ์สุดท้ายคือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์) วัดโพธาราม นครสวรรค์ ให้ผม บอกว่า "หลวงพี่ช่วยแปลเป็นไทยให้หน่อย" ผมไม่นึกว่า อาจารย์พงษ์ศักดิ์ ภาพภายนอกเป็นนักสื่อสารมวลชนดูท่าทางห่างวัดห่างวา ทำไมจึงสนใจหนังสือเช่นนี้ แต่ก็ยินดีแปลให้ เมื่อแปลเสร็จท่านก็นำไปพิมพ์เผยแพร่ และล่าสุดได้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิง ของ "แม่นาย" ประเทือง พยัฆวิเชียร มารดาของท่าน

    พอได้อ่านความในใจในคำนำหนังสือเล่มนี้ จึงรู้ว่า อาจารย์พงษ์ศักดิ์มิใช่ "คนนอกวัด" แต่เป็นคน "ในวัด" เป็นศิษย์ก้นกุฏิที่เจ้าคุณเช้าท่านปั้นมา แม้ความรู้ทางธรรมจะไม่ได้นักธรรมเปรียญ เพราะไม่ได้บวชเรียนนานๆ แต่ "ภูมิธรรม" ที่ได้รับฝึกฝนอบรมมาจาก "หลวงลุง" ของท่านนั้นยากจะหาคนเปรียบได้

    ความกตัญญูกตเวที ความซื่อสัตย์สุจริตเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ตน ความยุติธรรม ความเสียสละ เป็นคุณธรรมที่ "หลวงลุง" ท่านปลูกฝังให้ศิษย์ก้นกุฏิคนนี้ยึดมั่นมาตลอด

    หนังสืออุปปาตสันติ เล่มที่อาจารย์มอบให้ผมแปลนี้ เป็นคัมภีร์บาลี แต่งโดยพระสีลวังสมหาเถระ ชาวลานนา ระหว่าง พ.ศ.1893 ถึง พ.ศ.2310 ต่อมาได้มีผู้นำไปพม่า เข้าไปทางเมืองอังวะ และแพร่หลายไปทั่วประเทศพม่า ชาวพม่านิยมสวดกันแพร่หลาย

    เนื้อหาของหนังสือ กล่าวถึงบุคคล 13 ประเภทคือ (1) อดีตพุทธะ 28 องค์ (2) พระพุทธเจ้าในอนาคต (3) พระปัจเจกพุทธะ (4) โลกุตตรธรรมและปริยัติธรรม (5) พระสังฆรัตนะ (6) พระเถระชั้นผู้ใหญ่ 180 รูป (7) พระเถรี พระสงฆ์หญิงชั้นผู้ใหญ่ 13 องค์ (8) พญานาค (9) เปรตบางพวก (10) อสูร (11) เทวดา (12) พรหม (13) บุคคลประเภทรวม เช่น เทวดา ยักษ์ ปีศาจที่ทำสิ่งใดๆ อย่างโลดโผนและวิชชาธรหรือพิทยาธร

    คัมภีร์อุปปาตสันติ มีข้อความขอความช่วยเหลือ ขอให้พระรัตนตรัย และบุคคลพร้อมสิ่งที่ทรงอิทธิพล 13 ประเภทดังกล่าว ช่วยสร้างมหาสันติ ช่วยสร้างโสตถิ (สวัสดี) ช่วยสร้างอาโรคยะ (ความไม่มีโรค) ขอให้ช่วยเป็นตู้นิรภัยคุ้มครอง และกำจัดเหตุร้ายอันตราย หรือสิ่งกระทบกระเทือนต่างๆ อย่าให้เกิดมีในตน ในครอบครัว ในหมู่คณะ หรือวงงานของตน และในวงงานของคนอื่นทั่วไป

    การสวดและฟังอุปปาตสันติ มีคุณประโยชน์ดังนี้

    ก.ผู้สวดหรือผู้ฟัง ย่อมชนะเหตุร้ายทั้งปวง และจะมีวุฒิภาวะคือความเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ

    ข.ผู้สวดและผู้ฟังย่อมได้สิ่งที่ต้องการ คือผู้ประสงค์ความปลอดภัย ย่อมได้ความปลอดภัย คนอยากสุขสบายย่อมได้ความสุข คนอยากมีอายุยืนย่อมได้อายุยืน คนอยากมีลูกย่อมได้ลูกตามประสงค์

    ค.ผู้สวดและผู้ฟังอุปปาตสันติ ย่อมไม่มีโรคลมเป็นต้นมาเบียดเบียน ไม่มีอากาลมรณะ (คือความตายยังไม่ถึงเวลา) หรือลางร้ายต่างๆ ย่อมมลายหายไป

    ง.ผู้สวดและฟังอุปปาตสันติ เมื่อเข้าสนามรบ ย่อมชนะข้าศึกทั้งปวง และแคล้วคลาดจากอาวุธทั้งปวง

    เดชของอุปปาตสันติมีดังนี้

    (1) อุปปาตะ หรือเหตุร้ายสิ่งกระทบกระเทือน อันเกิดจากแผ่นดินไหว เป็นต้น ย่อมพินาศไป

    (2) อุปปาตะ คือเหตุร้ายหรือสิ่งกระทบกระเทือน อันเกิดจากไฟที่กำลังคุโชนตกจากอากาศ หรือเกิดจากดาวตก ย่อมพินาศไป

    (3) อุปปาตะ คือเหตุร้ายหรือสิ่งกระทบกระเทือน อันเกิดจากสุริยุปราคา หรือจันทรุปราคา เป็นต้น ย่อมพินาศไป

    วันที่กลับจากศรีลังกา ได้ข่าวว่าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีการสวดอุปปาตสันติ เพื่อขจัดเหตุร้ายอันตราย และสร้างความสงบสันติแก่บ้านเมือง อาจารย์พงษ์ศักดิ์กล่าวว่า ลงจากเครื่องบินแล้วรีบไปฟังสวดก็คงทัน พลางชวนผมให้ไปด้วยกัน

    ผมไม่ได้ไปฟัง และไม่รู้ว่าอาจารย์ไปหรือเปล่า ถ้าไป อานิสงส์ของการฟังสวดอุปปาตสันติ คงคุ้มครองให้ปลอดจากภัยพิบัติ โดยเฉพาะภัยจากคนที่ต่อต้านไม่ยอมรับ ไม่เข้าใจเจตนาอันบริสุทธิ์ ที่จะฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ไม่ให้ตกภายใต้การครอบงำ หรือผลประโยชน์ของนายทุนที่หยิบยื่นให้ดังที่ผ่านมา


    http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01bud02031249&day=2006/12/03
     

แชร์หน้านี้

Loading...