อินทรีย์ 22 โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย CLUB CHAY, 15 พฤษภาคม 2010.

  1. CLUB CHAY

    CLUB CHAY เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    507
    ค่าพลัง:
    +1,412
    [​IMG]

    นมตถรตนตตยสส ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอความผาสุกความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย


    วันนี้ก็จะบรรยายเกี่ยวกับเรื่องวิปัสสนาภูมิที่ 4 คือ เรื่องอินทรีย์ 22 ความเป็นจริงโดยเนื้อแท้แล้วก็อย่างเดียวกันนั่นแหละ ที่พระพุทธเจ้ามาแสดงเป็นขันธ์ 5 บ้าง นำมาแสดงโดยความเป็น อายตนะ 12 บ้าง นำมาแสดงโดยความเป็น ธาตุ 18 บ้าง ดังที่อาตมาได้แสดงบรรยายไปแล้วนั้น แล้วก็นำมาแสดงโดยความเป็นอินทรีย์ 22 บ้าง เผื่อว่าบุคคลบางท่านฟังเรื่องอินทรีย์ 22 แล้วก็มีความเข้าใจในเรื่องนี้ น้อมมาปฏิบัติเจริญกรรมฐานในเรื่องอินทรีย์นี้เข้าใจได้ดี เหมาะสมกับจริตของตนเองก็เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟัง แต่บางท่านจะฟังแล้วก็ไม่ซาบซึ้งในเรื่องของอินทรีย์ อันนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกกับอัธยาสัยของตนเอง พระพุทธเจ้าจึงนำแสดงไว้หลายๆ นัย

    อินทรีย์มีทั้งหมด 22 ด้วยกัน คำว่า อินทรีย์ นี้แปลว่า เป็นผู้ปกครองหรือเป็นใหญ่ คือ มีความสามารถทำให้ธรรมที่เกิดร่วมกันกับตนนั้นเป็นไปตามอำนาจของตน เรียกว่าเป็นผู้ปกครอง

    อินทรีย์ที่ 1 จักขุนทรีย์ ได้แก่ ประสาทตา ประสาทตาก็คือสภาพที่รับสีเป็นความใส ในการรับสี ในขบวนการเห็นแล้วประสาทตานี้ก็เป็นใหญ่ เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการเห็น คือ เช่นว่าหากว่าประสาทตาไม่ดี การเห็นก็เห็นไม่ดี ไม่ชัดเห็นไม่ไกล ถ้าประสาทตาดีมีกำลังดี ก็เห็นได้ไกลเห็นได้ชัดเจน จะเห็นว่าในขบวนการของการเห็นแล้ว ประสาทตาเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครอง เรียกว่า จักขุนทรีย์ จัดเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ทำสติกำหนดรู้ประสาทตา คือ ธรรมชาติที่เป็นความใสในการรับสีต่างๆ

    อินทรีย์ที่ 2 โสตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการได้ยินเสียง องค์ธรรมก็คือโสตปสาท คือเป็นความใสที่อยู่ในรูหู เป็นความใสในการรับเสียงต่างๆ ในกระบวนการได้ยินเสียงแล้ว ประสาทหูก็เป็นใหญ่ ถ้าหากว่าประสาทหูไม่ดีมีกำลังอ่อน การได้ยินก็ไม่ชัดเจนหรืออาจจะไม่ได้ยิน ถ้ามีกำลังดีก็ได้ยินชัดเจน ฉะนั้นประสาทหูนี่ก็เป็นใหญ่ในการได้ยินเสียง เรียกว่า โสตินทรีย์ ความเป็นใหญ่ในการได้ยินเสียง ก็เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เพราะว่าประสาทหูเป็นรูปธรรม

    อินทรีย์ที่ 3 ฆานินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครอง ปกครองในการรู้กลิ่น องค์ธรรมก็คือฆานปสาท ได้แก่ประสาทจมูก เป็นความใสที่อยู่ในโพรงจมูกมีหน้าที่ในการรับกลิ่นจัดเป็นรูปธรรม ซึ่งในขบวนการรู้กลิ่นแล้ว ประสาทจมูกก็เป็นใหญ่ ถ้าหากว่าประสาทจมูกไม่ดี การรับกลิ่นก็ไม่ดี ถ้าประสาทจมูกดีการรับกลิ่นก็ดี และก็โดยเฉพาะในเรื่อง การรับกลิ่นแล้ว เราจะไปเอาอวัยวะส่วนอื่นมารับกลิ่นไม่ได้เลย เช่นเกิดจมูกไม่ดี เอาหูรับกลิ่น เอาตารับกลิ่นไม่ได้ รับได้เพียง จมูกเท่านั้น ก็เป็นใหญ่ในการรับกลิ่น จัดเป็นรูปธรรม

    อินทรีย์ที่ 4 ชิวหินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรู้รส องค์ธรรมก็คือประสาทลิ้น ก็เป็นความใสที่อยู่บริเวณลิ้น ในการรับรสต่างๆ ในกระบวนการรับรสแล้ว ไม่มีใครจะเป็นใหญ่เท่ากับประสาทลิ้น เราจะเอาจมูกมารับรสไม่ได้ เอาตามารับรสไม่ได้ และถ้าประสาทลิ้นไม่ดี การรับรู้รสก็ไม่ดี ถ้าประสาทลิ้นดีการรับรู้รสก็ชัดเจน ประสาทลิ้นก็เป็นรูปธรรม เป็นของจริงชนิดหนึ่ง ก็เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา

    อินทรีย์ 5 กายินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการสัมผัส ในการรู้สึกในการรับโผฏฐัพพารมณ์ องค์ธรรมก็คือกายปสาท เป็นความใสที่อยู่ทั่วร่างกายเว้นไว้แต่ปลายผมปลายเล็บหรือว่าในหนังหนาๆ ไม่มีกายปสาท ในกระบวนการรับรู้สึกโผฏฐัพพารมณ์ ความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง นี้ กายปสาทก็เป็นใหญ่ เราจะเอาตา หู จมูก มารับเย็น ร้อน อ่อน แข็งหย่อนตึงไม่ได้ บริเวณจมูกมันก็มีกายปสาทเหมือนกัน มันจึงรับรู้สึกเย็นหรือร้อนได้ อย่างเช่นเวลากำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หายใจเข้าจะรู้สึกเย็น หายใจออกจะรู้สึกอุ่นๆ ที่รู้สึกเย็นร้อนไม่ใช่ตัวประสาทจมูกไปรับความเย็นร้อน แต่เป็นกายปสาท เพราะว่าที่จมูกมันก็มีประสาทกายอยู่ แต่ตัวฆานประสาทจริงๆ มันรับได้เฉพาะกลิ่นเท่านั้น กายปสาทเป็นใหญ่ในกระบวนการรับโผฏฐัพพารมณ์ จัดเป็นรูปธรรม เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาเช่นเดียวกัน

    อินทรีย์ที่ 6 มนินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรับอารมณ์ องค์ธรรมคือจิตทั้งหมด จิตทั้งหมดมี 89 หรือ 121 ดวง จัดเป็นมนินทรีย์เป็นใหญ่ในการรับอารมณ์ เป็นการรู้อารมณ์ อันนี้ก็เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ ธรรมชาติที่รับอารมณ์คือรู้อารมณ์อยู่เสมอนั่นแหละคือจิต รู้อารมณ์ทางตาก็คือสภาพเห็น รู้อารมณ์ทางหูก็คือสภาพได้ยิน รู้อารมณ์ทางจมูกก็คือสภาพรู้กลิ่น รู้อารมณ์ทางลิ้นก็คือสภาพการรู้รส รู้อารมณ์ทางกายก็คือสภาพรู้สึกเย็น รู้สึกร้อน รู้สึกอ่อน รู้สึกแข็ง รู้สึกหย่อน รู้สึกตึง รู้อารมณ์ทางใจก็คือสภาพคิดนึกไป นี่ก็คือมนินทรีย์ เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ ก็เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นนามธรรม มนินทรีย์เป็นนามธรรมทั้งหมด ญาติโยมก็ทำสติกำหนดรู้ มนินทรีย์ ความเป็นใหญ่ทางการรู้อารมณ์ เวลาเห็นก็กำหนดสภาพเห็น เวลาได้ยินก็กำหนดสภาพได้ยิน เวลารู้กลิ่นก็กำหนดสภาพรู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัสทางกายก็กำหนดรู้ คิดนึกทางใจคิดนึกไปถึงเรื่องราวต่างๆ ก็กำหนดรู้ที่ความคิดนึก นี่ก็เป็นใหญ่ในการรูอารมณ์รับอารมณ์

    อินทรีย์ที่ 7 อิตถินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในความเป็นหญิง องค์ธรรมก็คืออิตถีภาวรูป รูปที่แสดงอาการของความเป็นหญิง ก็มีอยู่ทั่วร่างกาย ในเซลทุกส่วนของร่างกายหญิง ทำให้บุคคลนั้นก็มีกิริยาอาการไปทางผู้หญิง อิตถินทรีย์จัดเป็นรูปธรรม ก็เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เป็นผู้หญิงก็กำหนดในภาวะของกิริยาอาการของความเป็นผู้หญิง

    อินทรีย์ที่ 8 ปุริสินทรีย์ ความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในความเป็นชาย องค์ธรรมก็คือปุริสินทรีย์ ก็เป็นภาวรูป ในกระบวนการของความเป็นชายแล้ว ปุริสินทรีย์ก็เป็นใหญ่ ทำให้มีกิริยาอาการของความเป็นผู้ชาย ผู้หญิงกับผู้ชายกิริยาอาการมันแตกต่างกันไป ผู้หญิงก็อ่อนน้อม อ่อนโยน ละมุนละไม ผู้ชายกิริยาอาการก็เข้มแข็ง นี่เพราะว่าความเป็นใหญ่ของภาวรูปทั้ง 2 ปุริสภาวรูป รูปของความเป็นชาย ก็เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ผู้ชายก็กำหนดปุริสภาวรูป ความเป็นใหญ่ของความเป็นชาย

    อินทรีย์ที่ 9 ชีวิตินทรีย์ ธรรมชาติเป็นผู้ปกครองในการรักษารูปและนาม องค์ธรรมคือ ชีวิตรูปและชีวิตินทรีย์เจตสิก อันนี้เป็นใหญ่ในการรักษา คือรูปที่เกิดขึ้นมาไม่ว่ารูปตา รูปหู รูปจมูก รูปลิ้น รูปประสาทกาย เป็นต้น ที่เกิดขึ้นมานี้เขาจะต้องมีชีวิตรูปทำหน้าที่รักษา เพราะว่ามันเกิดแล้วมันก็ต้องมีความตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ในช่วงที่มันยังตั้งอยู่นั่นแหละ ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็เพราะมีชีวิตรูปรักษาไว้ ส่วนทางนามธรรมก็เหมือนกัน จิต เจตสิกที่เกิดขึ้นแล้วยังไม่ดับลงก็มีชีวิตินทรีย์ เจตสิกรักษาอยู่ อุปปาทักขณะ คือขณะเกิด ฐีติขณะ คือขณะที่ตั้งอยู่ แล้วจึงมี ภังคักขณะ ขณะดับไปแล้ว ในระหว่างที่ฐีติขณะคือขณะที่ตั้งอยู่ แม้จะเป็นช่วงระยะที่สั้นที่สุดนิดเดียว แต่ก็อาศัย ชีวิตินทรีย์รักษาไว้ ชีวิตินทรีย์จึงเป็นใหญ่ในการรักษา ชีวิตินทรีย์เป็นทั้งรูปทั้งนาม คือ ถ้าชีวิตินทรีย์ ที่เป็นรูปธรรม ถ้าเป็นชีวิตินทรีย์เจตสิกก็เป็นนามธรรม

    อินทรีย์ที่ 10 สุขินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการเสวยความสุขกาย องค์ธรรมก็คือเวทนาเจตสิกที่ใน สุขสหคตกายวิญญาณจิต คือจิตที่เกิดขึ้นทางกายที่เป็นสุขเวทนา คือความสบายกาย เช่น ญาติโยมนั่งอยู่มีลมพัดมา อากาศมันเย็นสบายตอนเช้า สุขเวทนาเกิดขึ้นที่กาย นั่งอยู่สบายกาย สุขเวทนาก็เป็นใหญ่ในการเสวยอารมณ์ของการสุขกาย จัดเป็นนามธรรม เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ทำสติกำหนดรู้ เวลาสบายกายก็กำหนดรู้สบายกาย เป็นสุขินทรีย์

    อินทรีย์ที่ 11 ทุกขินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการเสวย ความทุกข์กาย อันนี้ทุกข์กาย องค์ธรรมก็คือเวทนาเจตสิกที่ในทุกขสหคตกายวิญญาณจิตคือจิตที่เกิดขึ้นทางกาย เวลามีอะไรมาทิ่มแทง มันรู้สึกเจ็บรู้สึกปวด มันไม่สบายกาย หรือว่านั่งนานๆ มันปวด มันเมื่อย มันเจ็บ มันชา มันไม่สบายกาย ความไม่สบายกายก็คือทุกขินทรีย์เขาเป็นใหญ่อยู่คือทุกขเวทนาเจตสิก คือเวทนาเจตสิกที่เสวยอารมณ์ของความทุกข์กาย จัดเป็นนามธรรม ก็เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เจริญวิปัสสนาก็กำหนดรู้ เวลาไม่สบายกายเกิดขึ้น ทำสติกำหนดรู้ความไม่สบายกาย มันไม่สบายกายส่วนใดส่วนหนึ่ง แม้แต่เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำสติกำหนดรู้ถึงทุกขเวทนาไม่สบายกาย เหล่านั้น โดยไม่ไปยึดมั่นถือมั่น อย่าไปทำลายให้หาย ไม่หาย กำหนดรู้ลักษณะของทุกขเวทนา เป็นอารมณ์ไป นี่เรียกว่าทุกขินทรีย์ ความเป็นใหญ่ในการเสวยความทุกข์กาย ก็เป็นของจริงที่มีอยู่

    อินทรีย์ที่ 12 โสมนัสสินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการเสวยความสุขใจ องค์ธรรมก็คือเวทนาเจตสิกอีกเหมือนกันที่ในโสมนัสสหคตจิต 62 เวลาสุขใจก็คือมันดีใจ ดีใจที่เป็นอกุศลก็มี ดีใจที่เป็นกุศลก็มี ดีใจที่เป็นอกุศลก็คือดีใจที่เป็นโลภะความโลภ ที่เวลาได้ลาภได้สักการะได้สรรเสริญเยินยออะไรต่างๆ ดีอกดีใจ นั่นแหละสุขใจเกิดขึ้นมา ความสุขใจหรือโสมนัสใจที่ได้ลาภสักการะ สรรเสริญเยินยอ หรือประสบเรื่องราวที่ตลกขบขันแล้วก็หัวเราะ ชอบอกชอบใจ นั่นแหละโสมนัสสินทรีย์เกิดขึ้น เป็นความสุขใจที่เกิดร่วมกับโลภะ ก็เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา กำหนดรู้เวลาดีใจ บางทีก็เป็นสุขเวทนาที่เกิดพร้อมด้วยมหากุศลจิต ดีใจที่เป็นบุญก็มี เห็นญาติโยมใส่บาตร เห็นพระสงฆ์มาปลื้มปิติใจสุขใจขึ้นมาก็กำหนดรู้ความสุข หรือได้ฟังธรรมรู้สึกเกิดปิติใจก็กำหนดรู้นี่สุขใจ เวลาได้ไปทำบุญทำทานมีความผ่องใสจิตใจสุขใจ ขึ้นมา นี่เป็นโสมนัสสินทรีย์ ความเป็นใหญ่ในความสุขใจ ก็เป็นนามธรรม ก็กำหนดรู้

    อินทรีย์ที่ 13 โทมนัสสินทรีย์ ความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในความทุกข์ใจหรือว่า โทมนัสใจ องค์ธรรมก็คือเวทนาเจตสิกเหมือนกันที่ในโทสมูลจิต 2 ดวง เวลาเกิดความเสียใจอะไรขึ้นมาจะมีความโทมนัสใจ แม้แต่ความน้อยใจก็เป็นเรื่องของโทสมูลจิต คนอื่นทำอะไร ไม่ถูกใจขึ้นมาก็ไม่พอใจน้อยใจเสียใจ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ ประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็เกิดความโทมนัสใจ ลูกหลานญาติพี่น้องพูดอะไรไม่ดีไม่ถูกใจไม่สบายใจ นี่คือความเป็นใหญ่ของ โทมนัสสินทรีย์ เป็นใหญ่ในความทุกข์ใจ จัดเป็นนามธรรม ให้ทำสติกำหนดรู้เวลาเกิดความโทมนัสใจขึ้น

    อินทรีย์ที่ 14 อุเปกขินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการเสวยอารมณ์ เป็นกลางๆ คือไม่สุขไม่ทุกข์ องค์ธรรมคือเวทนาเจตสิกที่ในอุเบกขาสหคตจิต 55 นี่ก็เป็นทั้ง อกุศลและกุศลได้ ความเฉยๆ นี่แหละมีทั้งโลภะ มีทั้งโมหะ มีทั้งที่เป็นกุศลก็มี โลภะที่เกิดพร้อมด้วยความเฉย ๆ อย่างเช่นโยมไปเห็นเงินทองมากมายในธนาคาร เห็นสิ่งของที่เขาตั้ง ไว้ในห้างสรรพสินค้าเป็นวิทยุ วิดีโอ ทีวี อะไรต่างๆ ของมีค่าเพชรนิลจินดา รู้สึกอยากได้มั้ย อยากได้ แต่ว่ารู้ว่ามันไม่ได้ จิตมันก็จะเฉยๆ อยากได้เฉยๆ นั่นก็เป็นโลภะเกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ หรือว่าเวลาโยมนั่งกรรมฐาน มันปวดมันเมื่อยมันจะอยากนอนก็ได้ อยากจะหาอิริยาบถที่สบาย ความอยากชนิดนั้นจะเกิดพรอ้มด้วยความเฉยๆ เพราะมันมีทุกข์อยู่ หรือโยมนั่งเหม่อๆ ลอยๆ นั่งกรรมฐาน ใจมันเฉยๆ แต่ว่ามันเหม่อลอย ไม่ได้สติรู้ตัวทั่วพร้อมอะไร ใจมันลอย มันคิดเพลิน ตาลอยไป นั่นก็เป็นโมหะ โมหะที่เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ก็เป็นอกุศลได้ ต้องมีสติคอยรู้ คอยดูความเฉยๆ เหล่านี้ ส่วนความเฉยๆ ที่เป็นกุศล บางครั้งโยมทำบุญตักบาตรใจเฉยๆ เหล่านี้ ส่วนความเฉยๆ ที่เป็นกุศล บางครั้งโยมทำบุญตักบาตรใจเฉยๆ ก็มี เพราะบางทีกำลังยุ่งงานอยู่ ทำบุญไปก็รู้สึกเฉยๆ หรือโยมนั่งกรรมฐานกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก หยุดเข้าไปสู่ความเฉยๆ จิตมันเฉยนั่นก็เป็นอุเปกขินทรีย์ กำหนดรู้ความเฉยๆ เหล่านั้น ซึ่งเป็นนามธรรม

    อินทรีย์ที่ 15 สัทธินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นผู้ปกครองเป็นใหญ่ในความเชื่อต่อสิ่งที่ควรเชื่อ องค์ธรรมก็คือศรัทธาเจตสิกที่ในโสภณจิต 91 โยมฟังธรรมะเกิดศรัทธาเกิดความเชื่อ เกิดความเลื่อมใส ลักษณะของจิตที่ศรัทธาเป็นอย่างไร นั่นแหละก็เป็นสัทธินทรีย์ มันมีความรู้สึก อย่างไรล่ะศรัทธา กำหนดรู้ลงไป เกิดศรัทธาก็กำหนดรู้ ศรัทธาเป็นนามธรรม เป็นของจริง

    อินทรีย์ที่ 16 วิริยินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในความเพียรขึ้นมา ในจิตในใจ เพียรตั้งสติ ก็กำหนดรู้ ความเพียรเป็นนามธรรม

    อินทรีย์ที่ 17 สตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการระลึกชอบ องค์ธรรมก็คือสติเจตสิกที่ในโสภณจิต 91 สติความระ ลึกได้ก็เป็นอารมณ์ของสติโยม ปฏิบัติธรรมนี่เจริญสติอยู่ บางครั้งก็สติกำหนดรู้ว่ามีสติดีนะขณะนี้สติกำหนดรู้รูปนาม สติก็เป็นอารมณ์ของสติ สตินี้ก็เป็นนามธรรม

    อินทรีย์ที่ 18 สมาธินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการตั้งมั่นใน อารมณ์เดียว องค์ธรรมก็คือเอกัคคตาเจตสิกที่ในจิต 72 ดวง คือตัวสมาธินั่นเอง เอกัคคตาเจตสิก ทำให้ตั้งมั่นในอารมณ์ บางครั้งจิตโยมนี่ตั้งมั่นกำหนดลมหายใจ หายใจออก กำหนดที่กายที่ใจ จิตมีความมั่นคง มีความตั้งมั่น ก็เป็นลักษณะของธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นนามธรรม ทำสติกำหนดรู้ พูดง่ายๆ คือมีสมาธิก็กำหนดรู้สมาธิ รู้ว่าจิตมีสมาธิ สมาธินทรีย์ความเป็นใหญ่ในเรื่องของสมาธิ ก็ทำสติกำหนดรู้เท่าทัน

    อินทรีย์ที่ 19 ปัญญินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรู้ตามความเป็นจริง องค์ธรรมก็คือปัญญาเจตสิกที่ในญาณสัมปยุตตจิต 47 ปัญญาก็คือความรู้ โยมเกิดความรู้ขึ้นมั้ย ฟังธรรมะเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นก็เป็นปัญญา ยิ่งเห็นรูปนามเกิดดับเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเป็นปัญญา สติก็กำหนดรู้ปัญญา เกิดปัญญาก็กำหนดรู้ปัญญา ให้เห็นว่าปัญญาก็สักแต่ว่าเป็น นามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เราไม่ใช่สัตว์บุคคล อย่าไปยึดถือ

    อินทรีย์ที่ 20 อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการ รู้แจ้งอริยสัจจะ 4 ที่ตนไม่เคยรู้ องค์ธรรมก็คือปัญญาเจตสิกที่ในโสดาปัตติมรรคจิต อันนี้หมายถึง ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนกระทั่งสำเร็จเป็นอริยบุคคล ในขณะที่บรรลุมรรคที่ 1 นั่นแหละโสดาปัตติมรรค เป็นการรู้แจ้งอริยสัจจ์ รู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญตัวเอง เป็นการบรรลุสิ่งที่ยังไม่เคยรู้มาก่อน นี่ก็เป็นเรื่องสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมได้ถึง ก็กำหนดรู้ได้เหมือนกัน คือผู้ที่สำเร็จ พอสำเร็จแล้วเขาก็กำหนดรู้ปัญญาที่เกิดขึ้น

    อินทรีย์ที่ 21 อัญญินทรีย์ คือธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรู้แจ้งอริยสัจจะ 4 ที่ตนเคยรู้ องค์ธรรมก็คือปัญญาเจตสิกที่ในมรรคจิตเบื้องบน 3 และผลเบื้องต่ำ 3 อันนี้โยม ก็คงจะเข้าไม่ถึงหรอกเพราะว่าเป็นเรื่องของอริยบุคคลคือมรรคในขั้นสูงๆ ขึ้นไป เมื่อผ่านโสดาปัตติมรรคแล้ว จะมีมรรคที่2 คือ สกทาคามิมรรค มรรคที่ 3 อนาคามิมรรค มรรคที่ 4 อรหัตตมรรค ส่วนผลเบื้องต่ำ 3 คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล มรรคเบื้องบน 3 ก็คือ สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค คือมรรคมี 4 ผลมี 4 อย่างที่โยมเคยฟังว่ามรรค4 ผล4 นิพพาน1 มรรค4 ก็คือ 1) โสดาปัตติมรรค 2) สกทาคามิมรรค 3) อนาคามิมรรค 4) อรหัตตมรรค ส่วนผลก็มี 4 เหมือนกันคือ 1) โสดาปัตติผล 2) สกทาคามิผล 3) อนาคามิผล 4) อรหัตตผล เป็นคู่กันคือโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล สกทาคามิมรรคสกทาคามิผล อนาคามิมรรคอนาคามิผล อรหัตตมรรคอรหัตตผล อันนี้เกิดขึ้นจากการที่ปฏิบัติวิปัสสนาที่สมบูรณ์ เจริญวิปัสสนาที่สมบูรณ์แล้วมรรคก็จะเกิดขึ้นผลก็เกิดขึ้น ผลนั้นเป็นวิบากของมรรค นี่เป็นเรื่องของผู้ที่เข้าสู่ความเป็นอริยบุคคล

    อินทรีย์ที่ 22 อัญญาตาวินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นผู้ปกครองในการรู้แจ้งอริยสัจจะ 4 สิ้นสุดแล้ว มีองค์ธรรมคือปัญญาเจตสิกที่ในอรหัตตผลจิต นั่นก็คือหมายถึงเป็นพระอรหันต์แล้ว อันนี้ก็กล่าวไว้ตามหลักฐานที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้ในเรื่องของอินทรีย์ 22 โยมฟังเรื่องนี้แล้ว บางอันก็อาจจะไม่เข้าใจ บางอันก็เข้าใจ ก็แล้วแต่อัธยาศัยของแต่ละคนที่จะน้อมนำมาในการประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งเราจะได้รับผลจริงๆ ก็คือต้องนำมาปฏิบัติกำหนดรู้สภาพธรรมเหล่านี้ ให้เห็นว่า เป็นธรรมชาติเป็นรูปเป็นนาม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ก็มาประ ชุมดูที่กายที่ใจของตนเอง นี่แหละ เราคอยจะยึดว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล ก็ต้องมาปฏิบัติวิปัสสนาเพื่อละความยึดถือผิดทั้งหลาย

    ฉะนั้น ช่วงนี้ก็เข้ามาช่วงภาคที่ 2 ของรายการ คือ การปฏิบัติกรรมฐานจึงขอเชิญญาติโยมได้เตรียมหาสถานที่นั่ง หามุมสงบในการปฏิบัติกรรมฐานโยมจะได้รับ ความลึกซึ้งและได้รับธรรมปิติ ได้รับรสแห่งธรรมะจากการได้นั่งกรรมฐานเจริญภาวนา ต่อไปโยมตั้ง ใจขึ้นกรรมฐาน

    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

    อุกาสะ อุกาสะ ณ โอกาสบัดนี้ ข้าพเจ้าขอสมาทานซึ่งพระกรรมฐาน ขอขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปนาสมาธิ และวิปัสสนาญาณ จงบังเกิดขึ้นในขันธสันดานของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะตั้งสติไว้ที่ปัจจุบันของรูปนาม สามหนและเจ็ดหน ร้อยหนและพันหน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเทอญ

    ขอเชิญญาติโยมได้เตรียมตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ ไม่มีบุญอันใดที่จะเทียบเท่าเจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้ว โดยนั่งสำรวมกาย สำรวมจิต ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม น้อมมากำหนดรู้ที่กายของตัวเอง ปล่อยใจให้สบาย ทำใจให้ว่างจากเรื่องราวต่างๆ เรื่องอันใดที่ผ่านไปแล้วก็ให้ผ่านไปไม่ต้องเก็บมาคิดมานึกให้รำคาญใจ เรื่องอันใดที่ยังมาไม่ถึงก็อย่าไปวิตกคำนึงถึง ไม่มีประโยชน์อะไร มีแต่ทุกข์ ทำจิตใจปล่อยวางจาก อารมณ์ภายนอกทั้งหมด หยุดดูหยุดรู้อยู่กับปัจจุบันอารมณ์ สำรวมรู้อยู่ที่กายของตัวเอง ทำใจนิ่งๆ เฉยๆ ทำสติรู้กายรู้ใจของตนเอง ไม่ต้องหวังอะไรทั้งหมด อย่าไปบังคับกาย อย่าบังคับลมหายใจ ทำกายให้สบาย ทำใจให้สบาย ตรวจสอบดูจิตใจของตนเอง อย่าให้มีความหวัง ความต้องการอะไรทั้งหมด ทำจิตใจให้เป็นปกติ ไม่ยินดียินร้ายต่ออารมณ์ ทำกายให้สบาย คืออย่าไปเคร่งเครียด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกสัดส่วนให้สบายๆ ทำจิตใจไว้นิ่งๆ เฉย ๆ สังเกตดูสภาวธรรมที่ปรากฏที่กาย มีความตึง ความหย่อน ความเคลื่อนไหวที่หน้าอกหน้าท้อง ลมหายใจเข้าลมหายใจออกที่ผ่านกระทบโพรงจมูก ผ่อนหายใจเข้าหายใจออกให้สบาย มีสติรู้ หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ ผ่อนลมหายใจเรื่อยๆ อย่าบังคับ ลมหายใจจะช้าจะเร็ว จะสั้น จะยาว หยาบละเอียด ปล่อยไปตามธรรมชาติ จิตอย่าไปสะกด จิตมันคอยจะไปสะกดร่างกายไว้ทำให้เกิดตึงเครียด ฉะนั้น ต้องรักษาต้องดูจิตให้จิตเป็นปกติคือการรู้เท่าทันนั่นแหละ สติเข้าไปรู้เท่าทันจิตใจว่ามีการบังคับ มีการหวัง มีการจดจ้องอะไรเกินไปก็ทำให้เคร่งเครียด ปฏิบัติให้สบายๆ คลายกล้ามเนื้อทุกสัดส่วน แล้วกำหนดรู้ความตึงความหย่อน ความแข็ง ความไหว ที่กายทั่วทั้งตัว แม้แต่บนสมอง ที่ใบหน้า ที่คอ มันรู้สึกเคร่งตึง บางทีรู้สึกเคร่งตึงในสมอง ทำสติรู้ลงไปที่มันเคร่งตึงมันจะคลายตัว ทำสติรู้มันก็คลายตัว มันคลายไปก็รู้ว่ามันคลาย มันหย่อน มันเคร่งตึงที่ไหน ที่คอ ที่ลำตัว ที่หน้าอก ที่หน้าท้อง ที่ขา ที่แขน ทำสติรู้ คือรู้ลงไปในความรู้สึก นี่เป็นปรมัตถธรรมเป็นของจริงๆ ทิ้งรูปร่างสัณฐาน รูปร่างเราดูตั้งแต่ทีแรกต่อไปก็ทิ้งรูปร่าง ไม่ต้องไปนึกให้มันเห็นเป็นท่อนแขนท่อนขาลำตัวอะไร กำหนดไปจริงๆ แล้ว ต้องละความเห็นเป็นรูปร่างสัณฐานนี้ออกไป กำหนดจดความรู้สึก คือความตึงๆ หย่อนๆ เย็นๆ ร้อนๆ อ่อน แข็ง ไหวที่มีอยู่ทั่ว ร่างกาย ทำสติรู้เท่าทันอยู่ รู้สึกสบายกายมั้ย สบายกายก็กำหนดรู้ความสบายกาย ถ้าไม่สบายกาย เช่นมันปวด มันเมื่อย มันอึดอัด มันไม่สบาย ก็ทำสติรู้ความไม่สบายกาย แต่ต้องไม่ไปบังคับให้มันหาย ศึกษารู้ความเป็นจริง สบายกายก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เราไม่ใช่สัตว์บุคคลบังคับบัญชาไม่ได้ สบายกายสบายใจก็อย่าไปยินดีติดใจ ก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง เป็นอินทรีย์ต่างๆ สบายเขาก็เป็นใหญ่ในความสบาย ไม่สบายก็เป็นใหญ่ในความไม่สบาย ก็ไม่ต้องไปนึกถึงชื่อของอินทรีย์ กำหนดให้จดสภาวะ ในทางการปฏิบัติก็ไม่ต้องไปนึกถึงชื่อ แม้ว่าโยมไม่รู้หนังสือหนังหาตำรับตำราอะไรถ้าไปเห็นสภาวความรู้สึกที่แท้จริงอย่างนี้ เห็นเกิดดับของสภาวะ นี่ก็ถือว่ามีปัญญา ส่วนสำคัญที่สุดก็คือเข้าไปเห็นจริงๆ นี่แหละ เหมือนโยมกินข้าว กินยา ไม่ต้องรู้ชื่ออาหารก็ได้ ไม่ต้องรู้ว่ายานี้ชื่ออะไร แต่เราได้กลืนกินลงไป ได้ลิ้มรสของยา ของอาหารนั้น ได้อิ่มได้หายโรคนั่นแหละก็ได้ผลแล้ว ถือว่าใช้ได้แล้ว ไม่ต้องรู้จักชื่อตัวยา การปฏิบัติธรรมนี่เหมือนกันโยมอย่าไปคิดว่าจะต้องมีความรู้ รู้ชื่อ รู้ภาษามากๆ ไม่ใช่ การรู้ภาษามันเรื่องบัญญัติสมมุติ ไม่ใช่ของจริง เวลามาปฏิบัติต้องทิ้งสมมุติบัญญัติทั้งหมด ภาษาต่างๆ ทิ้งลงไป ชื่อต่างๆ ความหมายต่างๆ รูปร่างสัณฐาน สละออกไปจากจิตใจทั้งหมด ดูแต่สิ่งที่มันมีอยู่จริงๆ โดยที่ไม่ต้องไปมีภาษาพูดมันก็มีอยู่ ความตึง ความหย่อน ความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง สบายกาย ไม่สบายกาย เฉยๆ หายใจเข้า หายใจออก มันมีความรู้สึก อย่างไร มันของจริงๆที่มีเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นใครที่ไหนก็มีอยู่อย่างนี้ ปฏิบัติธรรมนี่ต้องดูของจริง แล้วจึงจะรู้ตามความเป็นจริง ถ้าไปดูของปลอมมันก็รู้ตามของปลอม ฉะนั้นโยมปฏิบัติไม่ต้องไป สร้างอะไรขึ้นมา ไม่ต้องไปสร้างนิมิตอะไรขึ้นมา หยุดดู หยุดรู้ ทำใจนิ่งๆ เฉยๆ ดูสิ่งที่มันมีอยู่จริง อยู่แล้ว ว่าเขามีแล้วเขาเป็นอย่างไร เขาใช่ตัวตนมั้ย เขาเที่ยงมั้ย พิจารณาให้เห็นความจริงของเขา แล้วก็ประจักษ์ว่าอ๋อ ความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง หย่อน ตึง นี้มันก็เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เราไม่ใช่สัตว์บุคคล มีความเกิดดับมั้ย หายใจเข้าแล้วดับมั้ย หายใจออกแล้วดับมั้ย ตึงแล้วดับ มั้ย แข็งแล้วดับไปมั้ย ไหวแล้วดับไปมั้ย เย็นร้อนดับมั้ย สบายกายไม่สบายกายคิดนึกดับมั้ย ใจมัน คิดแว่บมาหรือเปล่า ใจมันสงบไม่สงบ มันเปลี่ยนแปลงมั้ยในกระแสจิตใจ หรือมันคิดอะไรก็ตั้งอยู่ อย่างนั้นตลอด แต่ความเป็นจริงแล้วมันไม่ตั้งอยู่ มันคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ มันเปลี่ยนอารมณ์ อยู่ตลอดเวลา เราก็ดูไป ดูตัวที่มันคิดไปคิดมาๆ นี่มันแสดงความเป็นจริง ยื่นให้พิสูจน์คงทนต่อ การพิสูจน์ เขาแสดงความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ แสดงความเป็นทุกข์ ทุกข์ในที่นี้หมายถึงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ไม่ใช่หมายถึงว่า ไม่สบายกายอย่างเดียว แม้ความสบายกายก็เป็นทุกข์เพราะว่าสบายกายมันก็ทนอยู่ ในสภาพเดิมไม่ได้ ฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างมีแต่ทุกข์ คือมันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ทนอยู่ในลักษณะเดิมไม่ได้ต้องเปลี่ยนแปลงไป นั่นเป็นทุกข์ สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งนั้นควรหรือว่าจะยึดถือเป็นตัวเป็นตน โยมกำหนดดูซิว่าตรงไหนจะยึดเป็นตัวเราเป็นของเราได้บ้าง เป็นตัวเป็นตนบ้าง มันไม่มี ยึดไม่ได้ถือไม่ได้ เพราะมันเป็นธรรมชาติที่บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดดับเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันกระจายเป็นธรรมชาติแต่ละชนิดๆ มารวมกัน เราเผลอก็ไปยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา เป็นสัตว์เป็นบุคคล ดูเข้าไปจริงๆ แล้วก็ไม่มีอะไร ไม่มีสัตว์บุคคล มีแต่ธรรมชาติ โยมปฏิบัติธรรมก็เจริญกรรมฐานอยู่อย่างนี้ในชีวิตประจำวันของเรา นั่งอยู่ก็มีอย่างนี้ ยืนอยู่ก็มีอย่างนี้ เดินอยู่ก็มีอย่างนี้ นอนอยู่ก็มีอย่างนี้ อยู่ที่ไหนก็มีอยู่อย่างนี้ โยมจะไปอยู่จังหวัดไหน ประเทศไหน บ้านไหนมันก็มีอยู่อย่างนี้ เวลาปฏิบัติก็ปฏิบัติอยู่ที่ตัวเองดูตัวเองในปัจจุบันนี้พยายามเฝ้าดูเฝ้ารู้ เป็นเรื่องที่ไม่เกินวิสัยของแต่ละคน ที่จะรู้ที่จะเห็น เพียงแต่ว่าต้องพยายาม พยายามที่จะรู้บ่อยๆ นึกรู้บ่อยๆ มันเผลอไปคิดไปก็กลับมารู้ใหม่ เผลอก็รู้ว่าเผลอ คิดก็รู้ว่าคิด รู้วนเวียนอยู่ที่กายที่ใจ แต่ให้เป็นปกติ ปฏิบัติให้เป็นปกติอย่าไปบังคับบัญชาอย่าไปยินดียินร้าย ให้ได้ปัจจุบันอารมณ์ อย่างนี้แล้ว โยมก็จะได้เห็นธรรมะแจ้งในสัจจธรรมความเป็นจริง

    วันนี้ก็พอสมควรแก่เวลาแล้วขอให้ญาติโยมได้เตรียมตัวตั้งใจอุทิศส่วนกุศล แผ่เมตตา ตั้งสัจจะอธิษฐาน

    อิทัง เม ญาตีนัง โหนตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย

    ขอบุญนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล บุญกุศลแผ่ไปให้ไพศาล ถึงบิดามารดาครูอาจารย์ ทั้งลูกหลานญาติ มิตรสนิทกัน ทั้งคนรักคนชังแต่ครั้งไหน ขอให้ได้ส่วนกุศลผลของฉัน ทั้งเจ้ากรรมนายเวรและเทวัญ ขอให้ท่านได้กุศลผลนี้เทอญ


    สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น อะเวรา จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย อัพยาปัชฌา จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียน ซึ่งกันและกันเลย อะนีฆา จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด

    ข้าพเจ้าขอตั้งสัจจะอธิษฐาน ขออานุภาพแห่งบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้วในวันนี้ จงเป็นพลวปัจจัย เป็นนิสสัยตามส่งให้เกิดปัญญาญาณทั้งชาตินี้และชาติหน้าตลอดชาติอย่างยิ่ง จนถึงความพ้นทุกข์ คือ พระนิพพาน เทอญ

    rabbit_jump
     
  2. ศรีธาตุ

    ศรีธาตุ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    9
    ค่าพลัง:
    +52
    ธรรมะของท่านพระครู เกษมธรรมทัต แห่งวัด มเหยงค์ อยุธยา นั้น เป็นธรรมะสุปฏิปัญโน..มีมากมายหลายหมวด โดยเฉพาะหมวด เจริญกรรมฐาน และ เน้นสอนเกี่ยวกับ ปรมัตถธรรม ซึ่งถือว่าเป็นธรรมขั้นสูง ธรรมะของท่านอาจารย์ ได้เผยแผ่ตามสถานีวิทยุเอ เอ็ม หรือ ตอนนี้ ในเวบ มีธรรมบรรยาย ของท่าน แนะนำให้ สาธุชนสมาชิกทุกท่านให้ฟัง บรรยายเข้าใจง่าย ไม่สับสน และเดินตรงสู่หนทางสงบ..ขออนุโมทนาด้วยครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...