อิทธิพลของ ‘ความเชื่อ’ กับชีวิต

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย evatranse, 13 เมษายน 2013.

  1. evatranse

    evatranse เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 กันยายน 2006
    โพสต์:
    182
    ค่าพลัง:
    +571
    สังคมวุ่นวาย สังคมจะแตกแยก ก็เพราะมีมนุษย์หลายพ่อพันธุ์แม่มาอยู่รวมกัน ต่างคนต่างความคิด ต่างมีความเชื่อเป็นอัตตา มองในอีกแง่... การที่สังคมจะสงบ ร่มเย็น ผู้คนมีความสามัคคี ก็เพราะมนุษย์หลายพ่อพันธุ์แม่อีกนั่นเองต้องเป็นผู้สร้าง แม้จะต่างความคิด ความเชื่อ แต่ก็เรียกได้ว่ามีความคิดที่ดี มีความเชื่อที่ดี

    ** “มนุษย์” กับ “ความเชื่อ”

    “ความเชื่อ” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้คนเกิดการยอมรับ เกิดความคิดที่แตกต่างและเกี่ยวโยงไปถึงการดำเนินวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน นั่นเพราะความเชื่อมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต เช่นนั้นแล้ว ความเชื่อก็เปรียบเสมือน “หนทาง” หนึ่งที่จะชี้ถูกชี้ผิดแก่ชีวิตของมนุษย์ได้

    พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือที่รู้จักกันดีในนาม ว.วชิรเมธี พระนักคิด นักเขียน ที่เปลี่ยนยุคธรรมะคือยาขม ให้กลายเป็นยุคธรรมะคือช็อกโกแลต พระอาจารย์มาเล่าเรื่องสนุกๆ ที่เกี่ยวกับความเชื่อเอาไว้หลายเรื่อง โดยได้ข้อสรุปว่า มนุษย์ยึดติดกับความเชื่อใดๆ ก็จะเกี่ยวพันโยงใยไปในทิศทางนั้นๆ

    ครั้งหนึ่งมีชาวบ้านนั่งรถปิกอัพมาหาท่านที่วัดป่า จ.เชียงราย บรรจงกราบอย่างดี แล้วก็มาขอให้ช่วยสงเคราะห์ เอา 2 ตัวพอ ไม่ต้องถึง 7 ในขณะนั้นท่านทำงานสร้างกุฏิจนมือแตก จึงชูมือให้ดูแล้วบอกว่า “ถ้าโยมทำงานจนมือแตกเหมือนพวกอาตมา โยมจะไม่จน” เท่านั้น ผู้มาเยือนแปลกหน้าก็ลากลับแบบทันควัน

    พระมหาวุฒิชัยก็พานเข้าใจว่า “สงสัยโยมโกรธที่ไปพูดแทงใจดำและก็ตรงเกินไป คือสอนเขาตรงๆ ซึ่งๆ หน้า เป็นการสอนธรรมะกันตรงๆ คือทำงานให้มือมันแตกแล้วจะรวย แต่มนุษย์พอมีความเชื่อแล้วมันจะกำหนดความเชื่อคน เราสอนธรรมะโยมโครมๆ มันก็ไม่ฟัง แต่เขามีชุดความเชื่อของเขา เอาธรรมะที่เราให้ตรงๆ ไปถอดรหัส (ลองทายกันเอาเองว่าเลขอะไร) ถ้าเราเชื่ออย่างไรความเชื่อจะกำหนดวิถีชีวิตของเรา ความเชื่อจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ต่อชีวิตของเรา”

    การที่สังคมหนึ่งๆ มีหลายความเชื่อ ย่อมเป็นทางออกที่ดีกว่ามีเพียงความเชื่อเดียว ซึ่งพระมหาวุฒิชัยให้อรรถาธิบายว่า “เชื่อไหมสังคมใดก็ตามที่มีความหลากหลายทางความเชื่อ และคนที่มีความหลากหลายทางความเชื่อสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ นั่นคือสังคมที่มีเสน่ห์มาก ประเทศไหนก็ตามที่มีระบบความเชื่อเดียว ประเทศนั้นจะเป็นประทศที่อึดอัดขัดข้อง ต่างจากประเทศที่คนมีความหลากหลายทางความเชื่อ ซึ่งเหมือนกับว่าเราไปยืนอยู่ในที่โล่งแจ้งที่มีอากาศหายใจได้อย่างโปร่งโล่ง ฉะนั้น ความหลากหลายทางความเชื่อจึงเป็นเสน่ห์ของประเทศที่เจริญแล้ว”

    สำหรับประเทศไทย นับเป็นประเทศที่มีพหุความเชื่อ แต่แม้ว่าเราจะยืนอยู่ในอาณาเขตที่สามารถเลือกเชื่อได้ หรือแม้พุทธศาสนาจะยอมรับว่ามนุษย์มีความหลากหลายทางความเชื่อได้ แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ปล่อยให้มนุษย์เชื่ออะไรก็ได้ ทรงแนะนำชุดคำสอนชุดหนึ่ง แล้วตรัสว่ามนุษย์ควรจะเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ทรงใช้คำว่า “ควรจะ” ไม่ได้ใช้คำว่า “ต้อง”

    “พระพุทธเจ้าขณะทรงแสดงกัณฑ์แรกที่เรียกว่า ปฐมเทศนา สิ่งแรกที่สอนหลังตรัสรู้ นั่นคือเรื่องของ สัมมาทิฐิ การมีระบบความเชื่อที่ถูกต้อง พอเรามีระบบความเชื่อที่ถูกต้อง ชีวิตของเราก็จะถูกต้องทันที

    ทำนองกลับกัน ถ้าเรามีความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ชีวิตของเราก็จะกลับตาลปัตรทันทีเช่นเดียวกัน ฉะนั้น เมื่อพูดถึงความเชื่อ พุทธศาสนาจะยอมรับว่า ความหลากหลายทางความเชื่อเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ใจกว้างจนไม่ได้จัดชุดความเชื่อที่ดีที่สุดเอาไว้ให้ ชุดความเชื่อที่พระพุทธเจ้าได้จัดสรรไว้ให้นั้นมีอยู่ 1 ชุด ชุดความเชื่อที่พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นชุดความเชื่อที่ดี ควรเจริญรอยตามนั้น อย่างน้อยมีอยู่ 4 เรื่อง ขณะเดียวกันก็มีชุดความเชื่ออยู่ 3 เรื่องที่พระพุทธเจ้าบอกว่าพึงระวัง” พระมหาวุฒิชัย กล่าว

    **เส้นบางๆ ระหว่างความเชื่อที่ “ถูก-ผิด”

    ชุดความเชื่อที่พึงระวัง

    พระพุทธเจ้าได้จัดสรรไว้ 3 ข้อ

    1.“เชื่อกรรมเก่า” เกิดมาจนก็บอกว่ากรรมเก่า เกิดมาไม่หล่อ ไม่สวย ก็บอกว่ากรรมเก่า ทั้งๆ ที่เพื่อนบอกว่าเดี๋ยวนี้สวยด้วยมีดหมอได้เธอก็ไม่ปรับปรุง ยอมรับกรรมเก่าตลอดเวลา รัฐบาลคอร์รัปชันก็บอกว่ากรรมของเรา

    2.“เชื่อเทพเจ้าต่างๆ” ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในเงื้อมมือของเทพเจ้าทั้งหมด ชีวิตจะเป็นอย่างไรรอให้เทพบันดาล ถ้าเรารอให้เทพบันดาลมนุษย์จะต้องอ้อนเทพ คนไทยเลยเป็นคนขี้อ้อน

    3.“เชื่อว่าแล้วแต่ชะตากรรมจะพาให้เป็นไป” เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ลัทธิบังเอิญ” อะไรจะเกิดไม่รู้หรอก ทุกอย่างบังเอิญหมดเลย ปฏิวัติก็บังเอิญ คอร์รัปชันก็บังเอิญ

    นี่คือ 3 ลัทธิที่พระพุทธศาสนาบอกให้พึงระวัง เพราะว่ามันเป็นลัทธิที่ทำให้มนุษย์ “ไม่รับผิดชอบตัวเอง” เช่นหากเราเชื่อมั่นในกรรมเก่า 100 เปอร์เซ็นต์ เราจะกลายเป็นมนุษย์พันธุ์ยอมจำนน ไม่ลุกขึ้นสู้

    ขณะที่ชุดความเชื่อแบบเทพเจ้าทำให้เราไม่เชื่อมั่นในตนเอง แล้วยอมมอบกายถวายชีวิตให้เทพ และชุดความเชื่อแบบ “ลัทธิบังเอิญ” ทำให้เราเป็นคนที่หลักลอยและคอยงาน ไม่คิดที่จะลุกขึ้นมาพัฒนาอะไรทั้งสิ้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่มีที่มาที่ไป

    ชุดความเชื่อที่ดี

    ชุดความเชื่อที่พระพุทธศาสนาบอกว่า เราควรจะเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อในทัศนะของพุทธ มีอย่างน้อย 4 เรื่อง

    1.“เชื่อในระบบเหตุปัจจัย” สอดคล้องกับระบบความเชื่อที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันอยู่ทุกวันนี้ นั่นคือ เชื่อว่าเบื้องหลังปรากฏการณ์ทุกอย่างในโลกล้วนมีระเบียบวาระของมันเอง เช่น โยนหินลงน้ำ ไม่ว่าก้อนเล็กก้อนใหญ่ หินต้องจม นี่เป็นกฎของธรรมชาติ หรือภาษาพระเราเรียกว่า ธรรมนิยาม คือ กฎของระบบแห่งเหตุและผล ทุกสิ่งทุกอย่างมีระบบเหตุและผลอยู่ในตัวของมันเอง

    ถ้าเราเชื่ออย่างนี้เราจะกลายเป็น “ปัญญาชน” เพราะเราจะมองอะไรในลักษณะมีที่มาและที่ไป ไม่มองอะไรในลักษณะเป็นเสี้ยวเป็นเศษและขาดเป็นช่วงๆ เราจะกลายเป็นมนุษย์ที่ไม่คิดข้ามช็อต ไม่คิดตัดตอน เราจะมองอะไรในลักษณะมีที่มาที่ไปเสมอ และคิดต่อเนื่องโยงใยเป็นสายสัมพันธ์ นี่เป็นวิธีคิดวิธีเชื่อแบบวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับพระพุทธศาสนา

    2.“ชุดความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์” พระพุทธเจ้าบอกว่า มนุษย์มีศักยภาพพิเศษอยู่ชนิดหนึ่ง นั่นคือศักยภาพในศาสตร์แห่งการเรียนรู้ หรือรู้จักฝึกฝนพัฒนา มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการฝึกฝนพัฒนา เราอยากเก่ง อยากพัฒนาในศักยภาพด้านไหนมันฝึกกันได้ ศักยภาพแบบนี้ภาษาพระเรียกว่า เวไนยสัตว์ คือสัตว์ที่ฝึกกันได้

    3.“เชื่อมั่นในตนเอง” พูดง่ายๆ คือ อัตตาหิอัตโนนาโถ ถ้าเราเชื่อมั่นในตนเองเราจะกลายเป็นบุคคลที่ไม่หวังการดลบันดาลประทานพรจากมือที่ไม่เห็น เราจะพึ่งมันสมอง สองมือของเรา นี่คือระบบความเชื่อมั่นในตนเอง เป็นชุดความเชื่อที่พระพุทธเจ้าเสนอให้กับมนุษยชาติทั่วทั้งโลก

    มีคนเคยถามว่าเชื่อมั่นในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเชื่ออย่างไร พระองค์ก็ตอบว่าเชื่อตัวเองนั่นแหละ ฉะนั้น มนุษย์ที่เชื่อมั่นในตนเองจะสามารถทำอะไรได้มากมาย มนุษย์เป็นผู้เชื่อมั่นในตนเอง จะเป็นบุคคลที่รับผิดชอบในตนเอง จะคิด จะพูด จะทำอะไร ก็ทำที่นี่เดี๋ยวนี้ แก้ปัญหาได้ทันตาเห็น

    4.“เชื่อในกฎแห่งกรรม” คือความเชื่อมั่นที่ว่าทุกครั้งที่เราทำอะไรก็ตามประกอบด้วยเจตนา จะมีผลตามมาเสมอ ผู้ให้เป็นวัยรุ่นหน่อยก็คือ ทุกๆ action ต้องมี reaction เวลาเราทำอะไรที่ประกอบไปด้วยเจตนาจะมีจิตอันหนึ่งที่ทำหน้าที่เหมือนหน่วยความจำ เราเรียกว่าจิตใต้สำนึก จิตใต้สำนึกนี้จะประมวลผลทุกสิ่งทุกอย่างฝังอยู่ในนี้ เป็นจิตใต้สำนึกของเรา จะแสดงตัวตอนหลับ ตอนเพ้อ ตอนอกหักรักคุด ตอนใกล้ตาย ตอนที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ จิตใต้สำนึกจะแสดงตัวออกมา

    พอเราเชื่อกฎแห่งกรรมเราจะเป็นคนที่รับผิดชอบชีวิต เราจะเลือกทำในสิ่งที่ดีงาม เพราะว่าถ้าเราทำสิ่งที่ไม่ดีงาม สิ่งนั้นจะย้อนกลับมาเล่นเราเสมอไปเหมือนบูเมอแรง “มนุษย์เก็บเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองหว่านเสมอไป” นั่นแหละคือกฎแห่งกรรม

    พระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนายอมรับความหลากหลายทางความเชื่อว่าเป็นธรรมดาของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน แต่ถ้าเรามีชุดความเชื่อดีๆ มาเชื่อสักชุดหนึ่ง โอกาสที่เราจะไม่ต้องไปลองผิดลองถูกกับชุดความเชื่อที่อันตรายก็หายไป

    +++++++++

    ต่อความเชื่อด้วยเหตุผล ต่อความสับสนด้วยปัญญา

    “ความเชื่อ” ถูกปลูกฝังอยู่ในวิถีชีวิตของมนุษย์มาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีหลากหลายความเชื่ออยู่ในสังคมไทย ทั้งความเชื่อในเรื่องโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ พุทธศาสตร์ ฯลฯ แม้ว่าความเชื่อจะมีส่วนในการเป็นเข็มทิศกำหนดชีวิต แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นได้ตลอด หากมนุษย์นั้นสามารถมีปัญญาอยู่เหนือความเชื่อ แต่อย่างไรก็ตามจนแล้วจนรอด “มนุษย์” กับ “ความเชื่อ” มักจะแยกกันไม่ออก

    จากเวทีเสวนา “มนุษย์กับความเชื่อ” ในโครงการสัมมนาวิชาการ-วิจัยขึ้นในหัวข้อ ถอดรหัสศาสตร์แห่งมนุษย์ ในความร่วมมือของนักวิชาการ-วิจัย สายมนุษยศาสตร์ 6 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมี พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) แสดงธรรม ร่วมกับ ผศ.ดร.อรพิน สถิรมน นักจิตวิทยา ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ อรรถวิโรจน์ ศรีตุลา โหรชื่อดัง


    ทั้ง 3 ท่าน ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ “ความเชื่อ” ในแง่มุมที่แตกต่างกัน

    **ความเชื่อ ค่านิยม โยงใยชีวิต

    ผศ.ดร.อรพิน สถิรมน นักจิตวิทยา ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

    “ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย นอกจากแนวคิดทางศาสนาที่ศาสนาพุทธให้ชุดความเชื่อที่แนะนำไว้เป็นอย่างดีแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคนี้ก็มีอีกมุมหนึ่งที่สังคมไทยมีความเชื่ออยู่ และนับวันก็จะเห็นว่ามีความเชื่อเหล่านี้มากเพิ่มขึ้นด้วย

    ถ้ามองในมุมของจิตวิทยา ความเชื่อมีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง คำที่มาคู่กับความเชื่อ เช่นคำว่า ทัศนคติ ค่านิยม คือมันบวก เป็นการให้คุณค่ากับสิ่งที่เราเชื่อ และเราก็มีค่านิยมอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งการโน้มเอียงที่จะมีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะเกิดจากความเชื่อของเรา”

    ผศ.ดร.อรพิน ยังได้เปรียบการทดลองทางวิทยาศาสตร์เชิงจิตวิทยากับระบบความเชื่อที่พึงระวัง “ในทางจิตวิทยาเชื่อว่า การเชื่อชะตากรรมเป็นสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ เรามีการทดลอง โดยการเอาสุนัขมาชอร์ตไฟฟ้า แล้วจับให้มันหนีไม่ได้ ทำหลายๆ หนเข้า จะพบว่ามันเกิดการเรียนรู้ การเรียนรู้ที่เรียกว่า learned คือการเรียนรู้ที่จะไม่ช่วยตัวเอง ค้นพบว่าตัวเองไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ หลังจากถูกชอร์ตไปหลายๆ ครั้งมันก็จะยอมแพ้ จะถูกชอร์ตเท่าไหร่มันก็จะนอนยอม ไม่หนีอีกต่อไป ทั้งๆ ที่จริงเปิดประตูเอาไว้ให้มันวิ่งหนี แต่ปรากฏว่ามันไม่ยอมวิ่งหนี เพราะมันเชื่อว่ามันไม่มีทางออก เมื่อมาเทียบกับคนบางทีถ้าเชื่อในเรื่องของกรรมเก่า เราก็จะไม่พยายามแก้ไขเพราะคิดว่าแก้ไม่ได้ ทั้งที่จริงๆ มีทางออก มีวิธีอีกเยอะแยะ ไม่อย่างนั้นสังคมไทยคงจะไม่เจอวัฏจักรที่เห็นว่า จน เครียด กินเหล้า และจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ”

    ผศ.ดร.อรพิน ยังยกตัวอย่างของความ (ไม่) เชื่อมั่นในตัวเองของวัยรุ่น ในมุมมองของนักจิตวิทยา เอาไว้ “วัยรุ่นที่ไปเชื่อและหลงรักเขา จริงๆ แล้วพบว่าในทางจิตวิทยาความเชื่อจากตรงนี้จะนำมาแปลเป็นความเศร้า เป็นอาการในทางจิตเวชเยอะ จะพบได้ในวัยรุ่นเป็นจำนวนมาก รักเขาแล้วเขาไม่รักแล้วเกิดความเศร้า ความเชื่อที่อยู่ใต้ความเศร้านั้นคือความไม่มั่นใจในตัวเอง เกิดจากการที่ไม่ได้รักตัวเอง และไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เกิดเป็นความเศร้า เมื่อเขาไม่รักเราแสดงว่าเรานี่แย่แล้ว เราไม่ดี ไม่มีคุณค่าพอ ใต้ความเชื่อนั้นลงไปอีก คือขนาดเขายังไม่รักเรา เขาทิ้งเราได้ อย่างนี้เราจะไปหาใครได้อีก กลายเป็นความไม่เชื่อมั่นในตัวเอง

    ในทางจิตวิทยาจะพบว่าคนที่เศร้า ผิดหวังจากความรัก ส่วนใหญ่จะมีเซตความเชื่อ คือ เชื่อว่ารักแล้วรักได้หนเดียว รักคนเดียว คนนี้แหละที่ใช่ ไม่ลืมหูลืมตาที่จะเปิดโอกาสให้ตัวเอง”

    **การศึกษา ช่วยยกระดับความเชื่อ

    อรรถวิโรจน์ ศรีตุลา โหรชื่อดัง พูดเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับโหราศาสตร์

    “ความเชื่อของโหราศาสตร์นั้น ต้องเชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง อย่าไปเชื่อทั้งหมด เพราะว่าบัดนี้เป็นเรื่องของการพาณิชย์ ดังนั้นจะแตกแขนงความเชื่อในทางโลกว่าเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเราอยู่ในครอบครัว มีลูกหลายคน ลูกบางคนก็เชื่อพ่อ ไม่เชื่อแม่ บางคนก็เชื่อแม่ ไม่เชื่อพ่อก็มี เวลาไปเรียนหนังสือเราก็เชื่อครูคนโน้นคนนี้ เพื่อนคนนี้เราก็เชื่อ ซึ่งหลากหลาย จนกระทั่งความเชื่อเป็นความหลง เป็นความงมงาย ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อที่ผิดหรือถูกก็เชื่อไปแล้ว”

    อรรถวิโรจน์ยังได้ยกความสำคัญของการศึกษาขึ้นมาช่วยกำกับความเชื่อถูก-ผิดของมนุษย์ตั้งแต่ยังเล็ก “สิ่งที่สำคัญที่สุดของเราก็คือการศึกษา ท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ หรือว่าอธิการบดี อธิบดี หรือว่าปลัดกระทรวงศึกษาฯ การสอนเด็กให้รู้จักความเชื่อตั้งแต่ชั้นอนุบาลให้รู้ว่าเราควรจะเชื่ออะไรด้วยเหตุและผล เหมือนกับเราเรียนปริญญาโท ปริญญาเอก จะเชื่อในการวิจัย จะเชื่ออย่างไร เชื่อแล้วต้องนำมาวิเคราะห์ดูว่าถูกต้องหรือไม่

    แม้แต่ในการเลือกตั้ง ส.ส. เราต้องมาเชื่อว่าเราเชื่อพรรคไหน ฉะนั้น เราต้องมาวิเคราะห์ดูว่าเขาพูดจริงหรือเปล่า ไม่ใช่เชื่อเพราะเขาเอาเงินมาให้เรา อันนั้นคือความเชื่อที่ว่าเขาคงจะดี เราไปหลงเชื่องมงายกับโฆษณาต่างๆ สิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยยากจนหรือทรงตัว เลือกตั้งแล้วเลือกตั้งอีก เพราะว่าเราเชื่ออะไรไม่ถูกต้อง เราจับจุดไม่ถูกว่าอะไรคือความเชื่อที่แท้จริง เพราะฉะนั้น การศึกษาจึงสำคัญมากในการกลั่นกรองความเชื่อว่าถูกหรือผิด”

    **กำกับ ตรวจสอบ ความเชื่อ ด้วยปัญญา

    “พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี” พูดถึงระบบความเชื่อใหญ่ๆ ของคนทั้งโลก

    ท่าน ว.วชิรเมธี ได้ยกตัวอย่างบทกวีจาก “โคลงโลกนิติ” ที่พูดถึงระบบความเชื่อใหญ่ๆ เกือบทั้งหมดของคนทั้งโลกเอาไว้ในกวี

    หมอแพทย์ทายว่าใช้ ลมคุม

    โหรว่าเคราะห์แรงรุม โทษให้

    แม่มดว่าผีกุม ทำโทษ

    ปราชญ์ว่ากรรมเองไซร้ ก่อสร้างมาเอง


    โคลงบทนี้ครอบคลุมความเชื่อถึง 4 อย่าง คือ แบบวิทยาศาสตร์ โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และพุทธศาสตร์ ที่เป็นระบบความเชื่อใหญ่ที่ครอบคลุมมนุษยชาติ แต่โคลงโลกนิตินี้ยังไม่ได้พูดถึงระบบความเชื่ออยู่ระบบหนึ่งที่สำคัญมาก และทำให้สังคมไทยปั่นป่วน ที่ว่าเงินสามารถบันดาลทุกอย่างได้ ทุกอย่างแปรปรวนหมด เพราะเงินมีอำนาจมาก

    ระบบความเชื่อล่าสุดที่ครอบคลุมสังคมไทยและมนุษยชาติทั้งโลกก็คือ “ธนศาสตร์” ศาสตร์ที่ว่าด้วยพลังของเงิน เงินบริหารจัดการทุกอย่างได้หมด ความเชื่อนี้ทำให้ระบบความเชื่อเก่าแก่โบราณของสังคมไทยเปลี่ยนแปรไป นั่นคือความเชื่อที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ตอนนี้คนไทยเริ่มสงสัยว่า ทำไมคนโกงได้ดีเป็นรัฐมนตรีทุกยุคทุกสมัยเลย เงินมันง้างได้แม้กระทั่งกฎแห่งกรรม ระบบความเชื่อนี้ทำให้ความเชื่ออื่นสั่นคลอน

    พระมหาวุฒิชัยยังให้อรรถาธิบายถึงท่าทีต่อความเชื่อว่า “ความเชื่อนั้นสำคัญมาก เราเชื่ออย่างไร ชีวิตเราเป็นอย่างนั้น พุทธศาสนาไม่ได้บอกว่า ความเชื่อมีอิทธิพลต่อชีวิตของเราไปเสียทั้งหมด ดังนั้น พระพุทธเจ้าตรัสถึงความเชื่อจะตรัสถึงปัญหาเสมอไป ดังนั้น หลักความเชื่อในพระพุทธศาสนาจะต้องถูกตรวจสอบ หรือถูกกำกับด้วยปัญญา เพราะมีเหตุผล มีความจริงรองรับ จึงเป็นความเชื่อที่นำมายึดเหนี่ยวดำรงชีวิต

    มนุษย์ไม่ว่าจะเกิดมาในความเชื่อในรูปแบบไหน แต่มนุษย์สามารถก้าวพ้นจากความเชื่อมาอยู่ด้วยความรู้ได้ ในอดีตเป็นไปได้ว่ามนุษย์มีปัญญาไม่มาก เราจึงถูกความเชื่อกำหนด แต่เมื่อใช้ปัญญาตรวจสอบได้ความรู้ ก็สามารถก้าวพ้นมามีชีวิตอยู่ด้วยความรู้

    ดังนั้น มีความเชื่อตรงไหน ควรมีปัญญาอยู่ตรงนั้น เชื่อสิ่งใดก็ตามเอาปัญญาพิสูจน์ เลือกเฟ้น มีเหตุ มีคุณค่า สาระประโยชน์ สามารถนำมาหยิบจับเป็นเข็มทิศนำทางชีวิตได้ ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า ต่อความเชื่อด้วยเหตุผล ต่อความสับสนด้วยปัญญา ถ้าเราไม่มีเหตุผลกำกับความเชื่อ จะเป็นศรัทธาจริต ถูกจูงจมูกได้ไม่ต่างจากวัวควาย ต่อความสับสนด้วยปัญญา ถ้าเราไม่ใช้ปัญญาแก้ปัญหา เราก็จะใช้อารมณ์แก้ปัญหา ปัญหาต่างๆ ต้องใช้การแก้ไข แต่คนไทยชอบการแก้เคล็ด ปฏิวัติจึงเกิดซ้ำซ้อน มนุษย์มีศักยภาพทางปัญญา สามารถทิ้งความเชื่อมายืนเหนือความเชื่อด้วยปัญญาได้



    เรื่อง : มัลลิกา นามสง่า http://www.neutron.rmutphysics.com/teaching-glossary/index.php?option=com_content&task=category&sectionid=1&id=15&Itemid=17
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 เมษายน 2013

แชร์หน้านี้

Loading...