อานิสงส์การเจริญพระกรรมฐาน

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย กุศโลบาย, 6 กุมภาพันธ์ 2014.

  1. กุศโลบาย

    กุศโลบาย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ธันวาคม 2013
    โพสต์:
    323
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +4,608
    อานิสงส์การเจริญพระกรรมฐาน

    [​IMG]

    คำภาวนา

    ผู้ถาม : หลวงพ่อครับ การนั่งวิปัสสนากรรมฐาน บางคนก็ว่า พุทโธ บางคนก็ สัมมาอรหัง บางคนก็ว่า เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ฯลฯ จะเอาอย่างไหนเป็นที่แน่นอนครับ… ?

    หลวงพ่อ : แน่นอนทุกอันน่ะโยม ใช้ได้หมด ไม่ผิดหรอก ยังมีมากกว่านี้ สุดแล้วแต่เขาจะใช้เพื่อความเหมาะสม

    ผู้ถาม : บางคนก็บอกว่า ภาวนาแบบนี้ถูก แบบนั้นไม่ถูก

    หลวงพ่อ : การศึกษาพระกรรมฐาน ถ้าศึกษาไม่ครบ ๔๐ อย่าง พอเขาทำไม่เหมือนกับตัว ก็หาว่าเขาผิด มันก็ใช้อะไรไม่ได้เลย จะต้องศึกษา ถ้าอย่างเป็นลูกศิษย์ก็ไม่เป็นไร ทีนี้อย่างพวกครูซิ ถ้าครูศึกษาไม่ครบ ๔๐ อย่าง ก็นั่งเถียงกันอยู่นั่นแหละ ถ้าศึกษาครบ ๔๐ อย่าง ก็ไม่มีอะไรจะเถียงกัน

    คำภาวนานี่มันไม่แน่นอน เอาอะไรก็ได้ มันสำคัญที่อารมณ์ตั้งใจ จะใช้อะไรก็ได้


    อย่าง พุทธานุสสติ มีคำภาวนาตั้งเยอะแยะ อิติปิโส บทต้นทั้งหมดนั่นแหละ ว่าไป ไม่ใช่ใช้คำว่าพุทโธอย่างเดียว อะไรที่ปรารภพระพุทธเจ้าใช้ได้เลย

    อย่าง ธัมมานุสสติ ไม่ใช่ภาวนาธัมโมอย่างเดียว อะไรที่ปรารภพระธรรมก็ใช้ได้

    และอย่างสังฆานุสสติ ก็ไม่ใช่ภาวนาว่าสังโฆอย่างเดียว


    นี่มันต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจ แกภาวนาไม่เหมือนข้า ของแกสู้ข้าไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปไหนกันละ มันเป็น มานะ มานะตัวเลวเสียด้วย ไอ้มานะกิเลสตัวเลวนี่ มันดึงไปไหนไม่ได้เลย

    ใน อุทุมพริกสูตร คนที่เจริญพระกรรมฐาน ทำจิตเพื่อละกิเลส พระพุทธเจ้าให้ทำจิตเบื้องต้นอย่างไร จิตเบื้องต้น ท่านวางกฎไว้ประมาณ ๖๐ ข้อ ถ้าเราพิจารณากันจริงๆ ก็มีอยู่ ๒ จุด
    ๑. จงอย่าสนใจในจริยาของคนอื่น เขาจะดีเขาจะเลวเป็นเรื่องของเขา ดูว่าเราทำถูกไหม
    ๒. อย่าทำเพื่ออวดเขา เท่านี้เอง สรุปได้แล้ว ๒ อย่าง แต่ท่านเรียงไว้ประมาณ ๖๐ กว่า

    ถ้าเราทำอารมณ์ได้เพียง ๒ อย่างเท่านี้ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า มันเป็น สะเก็ดความดี ของที่ท่านสอนเท่านั้นเอง

    ทีนี้ถ้ายังนึกว่า เขาสู้เราไม่ได้ เราสู้เขาไม่ได้ ก็เลยไม่ถึงสะเก็ด อันนี้เป็นเรื่องจริงๆ ท่านวางไว้ตามเกณฑ์ เราอย่าคิดว่าไอ้วัดนั้นสู้เราไม่ได้ วัดเราสู้วัดเขาไม่ได้ เอาอะไรไปเป็นเครื่องวัด ถ้าอารมณ์ยังมีอย่างนี้อยู่ แสดงว่า จิตเลวมาก ถ้าจิตมันเลว จะดีอย่างไร

    การปฏิบัติ อย่าชูงวงเข้าบ้าน คือ อย่าโอ้อวดเขา อย่านั่งให้เขาเห็น การทำสมาธิเพื่ออวดคน นั่งปั๊ปตรงนี้ คนเดินผ่านไปผ่านมามันจะได้เห็น นี่เป็นอุปกิเลส ไม่ได้อะไรเลย แทนที่จะได้นั่งไล่กิเลสได้ กลับนั่งดึงกิเลสเข้ามา ไอ้ตัวอวดน่ะมันเป็นกิเลส นี่อันนี้ท่านห้าม

    ถ้าหากรักษาความดีขนาดนี้ถือว่า สะเก็ดความดี ที่ท่านสอน ส่วนเปลือก ท่านตรัสไว้ในยาม ๔

    ๑. ท่านเทียบกับ ศีล ๕ คือ
    - เราจะไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง
    - ไม่ยุยงบุคคลอื่นให้ทำลายศีล
    - ไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว


    ๒. เราจะต้องเป็นผู้ไม่ตกเป็นทาสของนิวรณ์ ๕ คือ
    - ไม่หลงรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ
    - ไม่มีอารมณ์ความโกรธ ความพยาบาท ในขณะปฏิบัติ
    - ไม่ยอมให้จิตฟุ้งซ่านและรำคาญเสียงภายนอก
    - ไม่ง่วงเหงาหาวนอนในขณะปฏิบัติ
    - จะไม่สงสัยในผลการปฏิบัติ


    ๓. จิตจะต้องแผ่เมตตา คือ มีความรักไปในจักรวาลทั้งปวง
    - ถือว่าคนก็ดี สัตว์ก็ดี ทั้งโลก ไม่มีใครเป็นศัตรูกับเรา เขาจะประกาศเป็นศัตรูน่ะเรื่องของเขา แต่เราจะไม่เป็นศัตรูกับเขา
    - เราจะไม่อิจฉาริษยาใคร เห็นคนอื่นได้ดี พลอยยินดีกับเขาด้วย ทำดีตามเขา
    - ถ้าเหตุใดมันเกิดขึ้นกับเรา ถ้าเหตุเกินวิสัยที่เราจะช่วยได้ กับเราก็ดี กับบุคคลอื่นก็ดี เราจะวางเฉย ไม่ทำให้จิตขึ้นลง


    ถ้าทำได้ครบถ้วนแบบนี้ แสดงว่าเราเข้าถึง เปลือกความดีที่ท่านสอน

    แค่นี้ก็เป็นการทรงฌาณอย่างเต็มที่แล้ว คือว่าละนิวรณ์ ๕ นิวรณ์ ๕ นี่เป็นศัตรูกับปฐมฌาณ แล้วก็ตัวท้าย ก็คือ พรหมวิหาร ๔ ตัวนี้เป็นตัวเลี้ยงทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา เลยนะ มีความสำคัญมาก อารมณ์ตอนนี้ก็เป็นอารมณ์ทรงฌาณปกติ ถ้าทำได้แบบนี้นะ

    ต่อไป ถ้าทำอย่างนี้แล้ว สามารถทำปุพเพนิวาสานุสสติญาณให้เกิดขึ้น คือระลึกชาติได้ ตอนนี้ละเข้าถึง กระพี้ความดี ที่ท่านสอน และหลังจากนั้น สามารถทำทิพพจักขุญาณ คือ จุตูปปาตญาณให้เกิดขึ้น พอเห็นหน้าคนปั๊ป ก็รู้ทันทีว่าคนนี้ก่อนเกิดมาจากไหน ได้ยินชื่อคนตายปั๊บ เรารู้ได้ทันทีว่าตายแล้วไปไหน อันนี้ เข้าถึง แก่นความดี ที่พระพุทธเจ้าต้องการ

    ถ้าทำได้ถึงขนาดนี้จนจิตคล่องดีแล้ว ถ้าฝึกวิปัสสนาญาณ ถ้าบารมีแก่กล้า คือ มีกำลังเข้มข้น ก็จะเป็นอรหันต์ภายใน ๗ วัน ถ้ามีกำลังจิตปานกลาง จะเป็นอรหันต์ภายใน ๗ เดือน ถ้าขี้เกียจที่สุด เป็นอรหันต์ภายใน ๗ ปี


    ที่มา : หนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ (เล่ม ๑)

    ขอบคุณข้อมูลดีดีจากเพจ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ - พระราชพรหมยาน
     

แชร์หน้านี้

Loading...