อลังการ'พระพุทธเมตตาฯ สูงใหญ 32 เมตร เบื้องหลังภารกิจสุดสำคัญ

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย navycom33, 27 กันยายน 2015.

  1. navycom33

    navycom33 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    676
    ค่าพลัง:
    +6,732
    [​IMG]

    เบื้องหลังภารกิจสุดสำคัญ อลังการ'พระพุทธเมตตาฯ'
    การก่อสร้างพระพุทธเมตตาฯ เป็นงานที่ท้าทายทางด้านวิศวกรรมและศิลปกรรมอย่างยิ่ง ด้วยขนาดองค์พระประทับยืนที่ สูงใหญ่ขนาด 32 เมตร และมีโจทย์ว่า ต้องอยู่ได้นานเป็นพันปี
    วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน 2558 เวลา 5:29 น.
    คำสำคัญ: เบื้องหลัง ภารกิจสำคัญ น่าทึ่ง พระพุทธเมตตาประชาไทยฯ สุดอลังการ พุทธศิลป์ วิศวกรรม
    ‘เบื้องหลังภารกิจสำคัญ’ ที่น่าทึ่ง!!!
    ‘พระพุทธเมตตาประชาไทยฯ’
    สุดอลังการ ‘พุทธศิลป์ + วิศวกรรม’

    “พระพุทธเมตตาฯ นี้มีเรื่องไม่เหมือนที่ใด 3 เรื่องเด่น ๆ คือมีขนาดใหญ่ที่สุด มีความถูกต้องบนพื้นฐานทางกายวิภาคซึ่งมีลักษณะของความเป็นไทย และเป็นพระพุทธรูปที่สวยไม่ซ้ำแบบใคร เพราะเป็นการสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ตามคตินิยม วัฒนธรรม และประเพณี” ...เป็นเสียงจากคุณ ชลาลักษณ์ บุนนาค ที่อธิบายถึง “พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์” พระพุทธรูปปางยืนขอฝน ณ วัดทิพย์สุคนธาราม ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการอนุรักษ์และทำนุบำรุงศาสนสถานอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และการส่งเสริมการเผยแผ่ศาสนา ที่ดำเนินการโดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

    การดำเนินการสร้างพระพุทธเมตตาฯในขณะนี้ใกล้สำเร็จเสร็จสิ้นในทุกองค์ประกอบ พร้อมให้พุทธศาสนิกชนเข้าชมและสักการะในไม่ช้าไม่นานนี้ ซึ่งพระพุทธรูป พระพุทธเมตตาฯ นี้ ไม่เพียงมีความโดดเด่นด้านพุทธศิลป์ แต่ยังมีความท้าทายมากมายในเชิงวิศวกรรมสำหรับ “ทีมงานจัดสร้าง” โดยวันนี้ทีม “วิถีชีวิต” มีเรื่องราวเบื้องหลังภารกิจการทำงานครั้งนี้มานำเสนอ...

    คุณชลาลักษณ์ ซีอีโอ บริษัท สยามสินธร ซึ่งรับผิดชอบภารกิจในฐานะประธานดำเนินการจัดสร้างพระพุทธเมตตาฯ เปิดออฟฟิศย่านหลังสวนให้ทีม “วิถีชีวิต” สัมภาษณ์ โดยเล่าว่า... การก่อสร้างพระพุทธเมตตาฯ เป็นงานที่ท้าทายทางด้านวิศวกรรมและศิลปกรรมอย่างยิ่ง ด้วยขนาดองค์พระประทับยืนที่ สูงใหญ่ขนาด 32 เมตร และมีโจทย์ว่า ต้องอยู่ได้นานเป็นพันปี ซึ่งแค่ 2 เรื่องนี้ก็เห็นได้ชัดว่าภารกิจนี้ไม่ใช่ง่าย ๆ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องรวบรวมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายแขนงเพื่อการนี้

    เพียงแค่ “รายชื่อทีมงาน” ก็ทำให้ทึ่งได้แล้ว!!

    กล่าวคือ... พลตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ รับหน้าที่ออกแบบสิ่งก่อสร้างทั้งหมดของโครงการ, คุณ อนันต์ เกษเกษมสุข แห่งเทเวศประกันภัย รับหน้าที่วิศวกรและประธานคณะกรรมการฝ่ายก่อสร้างโครงการ, พันโทนภดล สุวรรณสมบัติ เป็นประติมากรผู้ออกแบบและปั้นองค์พระจากต้นแบบของ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม, รศ.ปราโมทย์ ธาราศักดิ์ และ ดร.สุทธิพล วิวัฒนธีปะ รับภารกิจออกแบบฐานรากและโครงสร้างองค์พระ, คุณ ประสิทธิ์ วัฒนวงศ์สกุล ศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ (สถาบัน MTEC) ทำหน้าที่เป็นผู้สแกน (scan) รูปปั้นองค์พระ, ดร.เป็นหนึ่ง วาณิชชัย ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวสถาบัน A.I.T. ควบคุมการทดสอบอุโมงค์ลมเพื่อตรวจสอบความ แข็งแรงของส่วนโครงสร้าง, คุณ เหมือนแก้ว จารุดุล รับผิดชอบการออกแบบภูมิสถาปัตย์, ดร.วีระชัย ณ นคร ที่ปรึกษาด้านพฤกษศาสตร์และสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ดูแลการปรับปรุงภูมิทัศน์และการจัดปลูกต้นไม้, คุณ ปรีชา หัตถพร แห่งเอสซีจี รับหน้าที่วิศวกรและที่ปรึกษาการก่อสร้าง, คุณ ชูชาติ ฉุยกลม ผู้เชี่ยวชาญกรมชลประทาน ดูแลการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและระบบส่งน้ำ และคุณ อนุชา เสมารัตน์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ดูแลโครงการ

    ภารกิจนี้ ไม่ต่างจากการชุมนุมมังกรซ่อนพยัคฆ์ เพราะรวบรวมจอมยุทธมากฝีมือมาทำภารกิจนี้ด้วยกันอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุผลซึ่งคุณชลาลักษณ์ได้บอกเราว่า... “เป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจที่สุด เป็นฝีมือคนไทย 100%”

    นอกจากคุณชลาลักษณ์แล้ว ก็ยังมีคุณอนันต์ และคุณปรีชา อีกส่วนของหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ มานั่งพูดคุยกับทีม “วิถีชีวิต” ด้วย โดยคุณปรีชา บอกว่า... ภารกิจครั้งนี้มีเรื่องที่ท้าทายทีมงานทุกคนตลอด ตั้งแต่การออกแบบก่อสร้างที่ต้องทำให้องค์พระยืนอยู่บนพระบาททั้ง 2 ข้างได้ด้วยองค์เอง ในขณะที่ต้องรับน้ำหนักกว่า 190 ตัน หรือการที่ต้องรองรับความเร็วจากแรงลมพายุในระดับวิกฤติได้ การป้องกันไม่ให้องค์พระเสียหายจากการถูกฟ้าผ่า ไปจนถึงการทำให้ พระพุทธเมตตาฯ สามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวระดับ 7.0 ได้ ซึ่งเหล่านี้ก็ทำให้งานการก่อสร้างครั้งนี้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยที่สุดมาใช้ เพราะ... “องค์พระต้องอยู่ได้นานนับพันปี ทุกอย่างจึงต้องดีที่สุด ต้องเป๊ะ และพลาดไม่ได้เลย” ...คุณปรีชา กล่าว

    นี่ก็ย้ำชัดว่า...ทำไมต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญมากมายขนาดนี้?

    ด้านคุณอนันต์ เล่าว่า... การสร้างพระพุทธรูปครั้งนี้ ไม่เหมือนกับครั้งไหน เพราะปกติจะหล่อมาทั้งองค์ แล้วนำมาติดตั้งหรือประดิษฐาน แต่ครั้งนี้ ด้วยขนาดที่ใหญ่โตถึง 32 เมตรขององค์พระ ทำให้ต้องหล่อมาเป็นชิ้นส่วน ก่อนจะนำมาประกอบและติดตั้งกับ “โครงสร้างเหล็กใยแมงมุม” ด้านในองค์พระ ซึ่งโจทย์นี้ยากและท้าทายทีมงานมาก ๆ เพราะจะไม่สามารถเห็นภาพรวมได้ทั้งหมด โดยกว่าจะเห็นก็ต้องให้ติดตั้งแล้วเสร็จก่อน ซึ่งก็ต้องมีการปรับงานแก้ไขงานกันตลอดเวลา เพื่อให้องค์พระสมบูรณ์แบบที่สุด นอกจากนั้นยังมีการนำ “โดรน” หรือ “อากาศยานไร้คนขับ” และ “เครื่องสแกนเนอร์” มาใช้ในการตรวจสอบองค์พระด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับการก่อสร้างพระพุทธรูป ที่คุณอนันต์ถึงกับเอ่ยปากว่า... “เป็นอีกงานที่พิเศษสุดในชีวิต”

    ขณะที่คุณชลาลักษณ์ เสริมว่า... การก่อสร้างองค์พระนี้ มีรูปแบบและการก่อสร้างไม่เหมือนครั้งไหน ทำให้ทุกอย่างจะพลาดไม่ได้ จึงนำเรื่องของมาตรฐานการตรวจสอบทางวิศวกรรมเข้ามาใช้ทุกอย่าง โดยถ้าไม่ผ่าน หรือไม่เป็นที่พอใจ หรือทีมงานไม่ยอมรับ ก็ต้องนำกลับไปแก้ไขใหม่ นำไปปรับปรุงใหม่ จนกว่าทีมงานที่เกี่ยวข้องจะลงมติว่า... “ให้ผ่านได้”

    “ปกติการสร้างพระจะหล่อเป็นชิ้นเดียวแล้วนำมาเลย แต่ครั้งนี้ต้องนำมาประกอบเป็นชิ้น ความยากจึงอยู่ที่ บางทีเราคิดว่าดีแล้ว แต่พอติดตั้ง ปรากฏไม่ใช่ ไม่ได้ ก็ต้องปรับแก้กันตลอด อย่างช่วงยกส่วนพระเศียรขึ้นประกอบ ตอนแรกคิดว่าดีแล้ว แต่พอติดตั้ง ปรากฏว่าเกิดบวมออก หรือศัพท์ช่างโบราณเรียกว่ากินอากาศ ก็ต้องนำลงมาแก้กันใหม่ ตอนแรก ๆ ก็มีไม่เข้าใจกันบ้าง แต่โชคดีที่ที่สุดแล้วทุกคนก็มีความคิดร่วมกันว่า ถ้าจะให้อยู่เป็นพันปีก็ต้องทำให้ดีที่สุด ซึ่งตอนที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ก็ได้นำเรื่องไปปรึกษากับท่านพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และประธานของโครงการในส่วนนี้ บอกท่านว่ากำหนดงานอาจต้องล่าช้าไปอีก เพราะเราจำเป็นต้องแก้ไข ตอนแรกนึกว่าท่านจะว่า แต่สุดท้ายท่านตบเข่าฉาด บอกว่า ต้องอย่างนี้สิ ต้องอยู่นานอีกเป็นพันปี ช้าไปอีก 6-7 เดือนจะเป็นไรไป ก็เลยสบายใจ ทำให้เราทำงานอย่างมีความสุขมาก” ...เป็นเบื้องหลังการสร้าง “พระพุทธเมตตาฯ” ที่ทางคุณชลาลักษณ์ได้เล่าไว้

    ทั้งนี้ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่คุณชลาลักษณ์ได้เล่าเสริมไว้ ยังมีอีก คือ... ความสูงองค์พระที่ 32 เมตรนั้น จะเท่ากับอวัยวะทั้ง 32 ของร่างกายมนุษย์ และตลอดระยะเวลาที่ได้ทำงานนั้น ไม่เคยมีอุบัติเหตุเกิดเลย นอกจากนี้ยังมี “เรื่องบังเอิญที่น่าเหลือเชื่อ” หลายครั้งหลายคราด้วย ซึ่งทำให้ทีมงานแปลกใจกับเหตุการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้น โดยส่วนนี้ทางคุณปรีชาเป็นผู้เล่าว่า... ครั้งที่ต้องนำพระเศียรไปประกอบ ก่อนหน้าที่จะขนมาถึงวัด ทางโรงงานก็ได้ตรวจสอบความสูงแล้วว่าน่าจะผ่านได้ แต่พอรถขนพระเศียรวิ่งถึง จ.สุพรรณบุรี ปรากฏว่าผ่านไม่ได้ ขณะนั้นเป็นเวลาตี 1 แล้ว ทีมงานก็กังวลว่าจะไม่สามารถติดตั้งได้ทันฤกษ์ที่กำหนดไว้ จังหวะนั้นเองก็มีรถเครนขนาด 400 ตัน มีรถตำรวจนำ วิ่งผ่านมา โดยคนขับรถเครนได้ลงมาสอบถาม และช่วยตรวจสอบ ซึ่งรถเครนจะมีเครื่องตรวจความสูง ก็พบว่ารถขนพระเศียรขับอ้อมไปอีกด้านได้ จึงใช้รถตำรวจช่วยเปิดทาง จนนำส่งติดตั้งได้ทันฤกษ์

    “เหตุการณ์นี้ ก็หาเหตุผลหาคำอธิบายไม่ได้ว่า...ทำไมรถเครนที่ปกติวิ่งจากนครปฐมไปกาญจนบุรีอยู่เป็นประจำ แต่วันนั้นจู่ ๆ เกิดหลงทางไปทางสุพรรณบุรี ได้อย่างไร? แถมไปประจวบเหมาะกับช่วงนั้นอีก” ...คุณปรีชา กล่าว

    ส่วนคุณอนันต์ ก็บอกว่า... ส่วนตัวในฐานะวิศวกร ทุกอย่างต้องมีคำตอบ แต่กับเหตุการณ์ที่เคยพบ ก็ไม่ทราบว่าจะหาคำตอบอย่างไร? คือที่สังเกต ทุกครั้งที่จะทำพิธี ต่อให้อากาศจะครึ้มฟ้าครึ้มฝนแค่ไหน แต่พอถึงเวลา ท้องฟ้าจะสว่าง หรือเป็นวงสว่างเหนือองค์พระทุกครั้ง ซึ่งก็ตอบไม่ได้ว่า...เพราะอะไร? ขณะที่คุณชลาลักษณ์ก็ได้เล่าว่า... มีอีกเรื่องหนึ่ง คือ พระพุทธเมตตาฯ เป็น “ปางคันธารราฐ” หรือ “ปางขอฝน” ซึ่งครั้งหนึ่งที่ต้องทำพิธีปิดทองที่องค์พระ แต่ก่อนหน้าฝนตกไม่หยุดเลยตลอด 7 วัน ใกล้ถึงวันทำพิธีก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตก ซึ่งถ้ารูปการณ์เป็นแบบนี้ก็คงปิดทองไม่ได้แน่ ๆ สุดท้ายทางเจ้าอาวาสวัดทิพย์สุคนธารามไปขอองค์พระว่า...ให้ฝนหยุดช่วงทำพิธี ถ้าฝนหยุดทำพิธีสำเร็จท่านจะมานั่งสวดมนต์ที่หน้าองค์พระทุกเช้าเป็นเวลา 1 เดือน

    “ปรากฏ พอถึงเวลา ฝนก็หยุดตกจริง ๆ ผมยังล้อท่านเลยว่าพระท่านจะไม่งงเหรอ เดี๋ยวขอฝน เดี๋ยวไม่ให้ฝนตก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่อธิบาย
    ไม่ได้ เป็นเรื่องแปลก น่าอัศจรรย์ใจ” ...คุณชลาลักษณ์ กล่าวถึงอีกเรื่องราวที่ “แปลกแต่จริง”

    ทั้งนี้ ด้วยความที่ภารกิจในการสร้าง “พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์” ณ วัดทิพย์สุคนธาราม จ.กาญจนบุรี โครงการนี้ มีคนเก่งหลายสาขามาทำงานร่วมกัน บรรยากาศก็คงหลีกหนีการถกเถียงไม่พ้น ซึ่งกับเรื่องนี้ คุณชลาลักษณ์บอกว่า... ก็เป็นธรรมดาของการทำงาน ยิ่งเป็นงานพิเศษแบบนี้ ย่อมหนีไม่พ้นการโต้แย้งเกี่ยวกับการทำงาน แต่ทุกท่านที่มาก็มาด้วยความตั้งใจ ที่สุดทุกอย่างจึงสำเร็จและผ่านได้ด้วยดี

    “ทุกครั้งที่ประชุมกัน ผมจะไม่ใช้คำว่าผมหรือคุณเลยนะ แต่ใช้คำว่าเราเป็นหลัก เพราะงานนี้ไม่ใช่งานใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นงานส่วนรวม งานเพื่อแผ่นดิน!” ...คุณชลาลักษณ์ กล่าวถึงอีกเบื้องหลัง “การรวมกันเฉพาะกิจ” งานนี้

    ที่คำว่า “เพื่อแผ่นดิน” คือคีย์เวิร์ดสำคัญ!!.

    ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : เรื่อง

    [​IMG]


    พระมหาปฏิมาแห่งประจิมทิศ

    โครงการจัดสร้าง “พระ พุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์” นั้น มีจุดเริ่มจากการที่ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม มีความตั้งใจจัดสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่สูง 32 เมตร ปางคันธารราฐ หรือปางขอฝน เพื่อให้พุทธ ศาสนิกชนได้สักการบูชา ณ วัดทิพย์สุคนธาราม จ.กาญจนบุรี ต่อมาเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงรับโครงการนี้ไว้ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เมื่อปี 2554 โดยมี สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รับสนองพระราชเสาวนีย์ ดูแลโครงการ ทั้งการจัดสร้างพระ และพื้นที่โดยรอบ

    สำหรับนามขององค์พระพุทธ รูปนั้นมี “ความหมาย 3 ประการ” คือ ...
    1. เป็นที่พึ่งของชาวไทยและชาวโลก,
    2. เป็นที่พึ่งของ 3 โลก คือ สวรรค์ โลกมนุษย์ และยมโลก,
    3. เป็นพระ พุทธรูปที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระพุทธ รูปแห่ง บามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ร่วมกันจัดสร้าง พระพุทธเมตตาฯ จึงสร้างได้สำเร็จ จนปรากฏเป็นพระพุทธปฏิมาองค์ใหญ่บนแผ่นดิน ภาคตะวันตกของไทย และเป็น “พระพุทธรูปยืนสำริดปางขอฝนที่สูงที่สุด” อีกด้วย.

    บทความจาก เดลินิวส์
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 กันยายน 2015

แชร์หน้านี้

Loading...